สมัยที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลคณะราษฎรได้มีนโยบายส่งเสริมการทำนาโดยจัดให้มีการประกวดพันธุ์ข้าว ซึ่งการประกวดครั้งสำคัญนั้น เกิดขึ้นที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477 ท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและสมาชิกคณะราษฎรบางส่วนยังเดินทางไปมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด อีกทั้งร่วมเกี่ยวข้าวจากแปลงนาของเกษตรกรด้วยตนเอง
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรที่ปฏิบัติภารกิจเคียงข้าง พระยาพหลฯ ณ อำเภอบางบัวทอง ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2477 พระยาพหลพลพยุหเสนา และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รวมถึงสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ปรากฏตัวต่อหน้าชาวบ้านบางบัวทองโดยแต่งกายด้วยชุดชาวนา เริ่มต้นจากเยี่ยมเยียนพบปะคณะข้าราชการและประชาชนแห่งนนทบุรี ซึ่งมาคอยต้อนรับ ณ ปะรำพิธี ก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดพันธุ์ข้าว นั่นคือ นายเทียน พุฒซ้อน กำนันตำบลบางบัวทอง
หลังเสร็จสิ้นภารกิจในปะรำพิธี พระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และคณะผู้ติดตามอีกหลายราย ยังออกไปร่วมเกี่ยวข้าวจากแปลงนาของเกษตรกรบริเวณ ทุ่งศาลเจ้าแม่โพสพ ตำบลโสนลอย ในเขตอำเภอบางบัวทอง
แน่นอนทีเดียวว่า การที่บุคคลสำคัญของประเทศเยี่ยงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย และบุคคลในรัฐบาลคณะราษฎร ได้มาร่วมเกี่ยวข้าวเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวนาท้องถิ่นอย่างเป็นกันเอง ก็ย่อมสร้างความปลื้มปีติให้ชาวตำบลโสนลอยและชาวอำเภอบางบัวทองยิ่งนัก หนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3038 ประจำวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2477 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 2 มกราคม พ.ศ. 2478) ถึงกับนำเอาภาพถ่าย พระยาพหลฯ และ นายปรีดี กำลังเกี่ยวข้าวไปลงพิมพ์ปกหลังสุดโดดเด่นสะดุดตา
กำนันตำบลโสนลอยขณะนั้นคือ ขุนพิทักษ์ปทุมมาศ หรือ นายสิงโต สามวัง และเป็นที่เรียกขานติดปากชาวบ้านว่า “กำนันโตสามวัง”
การมาเยือนบางบัวทองของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย นับเป็นแรงบันดาลใจให้ ขุนพิทักษ์ปทุมมาศ เกิดความมุ่งมั่นจะพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นของตนไปสู่ความรุ่งเรือง ดังถัดต่อมาไม่กี่ปี ชาวบางบัวทองได้รวมตัวกันเสนอต่อทางราชการเพื่อขอจัดตั้งเทศบาลเมืองบางบัวทอง กระทั่งประสบผลสำเร็จ และ “กำนันโตสามวัง” ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง เป็นคนแรกสุด
ตอนที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และสมาชิกคณะราษฎรเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีนั้น จะต้องอาศัยล่องเรือแล่นลำมาทาง คลองพระพิมล ซึ่งเป็นคลองขุดจากคลองบางบัวทองให้ไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีนตรงอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พระราชาภิมณฑ์ (เพ็ง) เป็นผู้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขุดคลองตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2430 แต่เพิ่งขุดเพียงระยะ 20 กิโลเมตรจนมาสุดตรงวัดยอดพระพิมล อำเภอไทรน้อย คุณพระก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน การขุดคลองเลยยังไม่เสร็จสิ้นและหยุดชะงักลง
พอปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477 คณะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยจะเดินทางโดยเรือแล่นในคลองพระพิมลมามอบรางวัลการประกวดพันธุ์ข้าว ก็ต้องเดินทางอย่างยากลำบากทุลักทุเลเพราะคลองตื้นเขินมาก หลังจาก พระยาพหลพลพยุหเสนา กลับคืนกรุงเทพพระมหานครจึงมีคำสั่งให้กรมชลประทานดำเนินการขุดปรับปรุงคลองพระพิมลให้ไปบรรจบกับแม่น้ำท่าจีน รวมถึงขุดให้ลึกและกว้างกว่าเดิม ซึ่งส่งผลให้สะดวกต่อการคมนาคม
แม้จุดเริ่มต้นในการประกวดพันธุ์ข้าวที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีจะเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการทำนาของรัฐบาลคณะราษฎร ทว่าครั้น พระยาพหลพลพยุหเสนา และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รวมถึงสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ได้เดินทางไปเยือนที่นั่น พลันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาอีกหลายประการนอกเหนือจากด้านเกษตรกรรม จนนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองบางบัวทอง อันค่อยๆ ขยับขยายความเจริญมาตราบปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
- นนทบุรีศรีมหานคร. พิศาล บุญผูก และวรนุช สุนทรวินิต (บรรณาธิการ). นนทบุรี : โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนทบุรีศึกษาเพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2560
- สมุดภาพนนทบุรี. เอนก นาวิกมูล และธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (บรรณาธิการ). นนทบุรี : สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2561
- สยามราษฎร์. (2 มกราคม 2477)