ในประกาศคณะราษฎร ลงวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 มีหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรวางไว้ให้เป็นหัวใจของการดำเนินนโยบายภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อบำรุงชีวิตของราษฎรให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลักข้อ 6. คือ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” [1]
ราว 8 เดือนหลังการอภิวัฒน์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม[2] และรัฐบาลได้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามหลัก 6 ประการ ด้วยการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง[3]เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 แล้วตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476[4] และเสนอพิจารณาร่างฯ นี้อย่างเป็นทางการในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476
จากหลักประการที่ 6 สู่ผู้ประศาสน์การ
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2476 เป็นการพิจารณาวาระสำคัญโดยมีการลงมติวาระที่ 3 ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยคือ มีการแก้ไขถ้อยคำคลุมเครือ และไม่ชัดเจน ในครั้งนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวถึงการจัดการศึกษาสาขานิติศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์ ที่สำคัญต่อระบบราชการสมัยใหม่ในแง่ตลาดวิชาและคำนึงถึงความยุติธรรมแก่นักศึกษาจากระบบเดิมด้วยว่า
“สำหรับฐานะของนักเรียนทั้ง 2 ประเภท ที่ยังคงอยู่ในเวลานี้ ก็จะได้โอนมายังมหาวิทยาลัยใหม่...
ส่วนผู้นั้นควรจะรับราชการอย่างไร…ตามเดิม รัฐบาลก็หางานให้ ต่อไปเราถือหลักอีกอย่างหนึ่ง คือถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นตลาดวิชา ผู้ที่สอบไล่ได้แล้วก็ต้องสอบแข่งขันอีก...
สำหรับหัวข้อนี้ต้องไปพิจารณาในพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนว่าผู้ที่เข้าเรียนอยู่ในเวลานี้ และจะเข้ารับราชการ เราควรจะทำอย่างไรโดยไม่ให้เขาเสียประโยชน์ไปได้ ข้อนี้เราได้ระวังและรักษาความยุตติธรรมอย่างยิ่ง”[5]
ล่วงมาในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ดังนี้ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นผลโดยตรงจากการอภิวัฒน์เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาฯ คณะราษฎรชี้ชัดว่า “เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยะประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว…”[6]
ในการควบคุมดูแลมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น มีตำแหน่งสำคัญประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และคณบดีของคณะต่างๆ ส่วนกิจการภายในขึ้นตรงกับผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าชั้นปริญญาเอกในวิชาที่เกี่ยวกับวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และได้ทำการสอนวิชาในมหาวิทยาลัยและในโรงเรียนชั้นสูงของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดในสยามมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี[7]
กระทั่งในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2477 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นผู้ประศาสน์การคนแรก ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง[8]ซึ่งตำแหน่งผู้ประศาสน์การนี้ แปลโดยตรงหมายถึง ผู้ให้ หากแปลโดยนัย หมายถึง ผู้ให้การสถาปนามหาวิทยาลัยขึ้น
ช่วงแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้วางรากฐานทั้งด้านการจัดการระบบในมหาวิทยาลัย และการจัดการความรู้ในการวางแผนหลักสูตร เมื่อจัดระบบการศึกษาเรียบร้อยจึงอุทิศเวลาให้การบริหารงานราชการของรัฐบาลต่อ และในส่วนงานของมหาวิทยาลัยจึงมี ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการคนแรกของมหาวิทยาลัยฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยงานธุรการเป็นอย่างดี[9] และทางด้านงานวิชาการก็มีศาสตราจารย์ แอล ดูปลาตร์ คณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ช่วยเหลืองานอีกทางหนึ่ง[10]
ปณิธาน ม.ธ.ก. “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”
การเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ราษฎรตามหลัก 6 ประการคือ หัวใจของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ม.ธ.ก. ที่เปิดโอกาสทั้งในด้านคุณสมบัติที่รับผู้จบชั้นมัธยม 8 และผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาชั้นมัธยม 8 เช่น ผู้แทนตำบล ข้าราชการการเมือง ฯลฯ รวมถึงได้ขยายโอกาสทางการศึกษาออกไปยังต่างจังหวัดและชนบทห่างไกล ตั้งแต่การเผยแพร่ข่าวสารการเปิดรับสมัครรับนักศึกษาและการจัดสอบไล่ยังต่างจังหวัดในเวลาต่อมา
ครั้งหนึ่งในการแปรญัตติร่างพระราชบัญญัติฯ ม.ธ.ก. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวในสภาฯ ถึงเรื่องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎรไว้ว่า
“ความจริงมหาวิทยาลัยนี้ ได้เปิดโอกาสในการศึกษาให้เต็มที่ แต่ว่าการศึกษานั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือศึกษาเพื่อได้ปริญญานั้นอย่างหนึ่ง และศึกษาเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรธรรมดา…
ในขณะที่ได้ตั้งมหาวิทยาลัยนี้รัฐบาลได้คำนึงถึงบุคคลบางคนที่ไม่มีโอกาส หรือว่าได้มีอายุมากอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะกลับไปเรียนชั้นมัธยม 8 ได้อีก จึงได้เปิดโอกาสไว้อีก แต่ได้กำหนดเวลาฉะเพาะหนึ่งปี…”[11]
ถือเป็นการเปิดกว้างทางการศึกษาแก่ราษฎรทุกกลุ่มในเบื้องแรกและความพิเศษของ ม.ธ.ก. อีกประการคือ ระบุในพระราชบัญญัติฯ ให้เปิดสอนระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ตั้งแต่เริ่มต้น [12]
ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมทางมหาวิทยาลัยจัดเก็บค่าสมัครเข้าเรียน 10 บาท ค่าเล่าเรียนปีหนึ่ง 20 บาท และมีค่าสมัครสอบไล่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ถึงปริญญาเอก ลักษณะวิชาละ 3 บาท 5 บาท และ 10 บาท ตามลำดับ ส่วนค่าสมัครสอบไล่เพื่อประกาศนียบัตร ลักษณะวิชาละ 3 บาท[13] ในระยะแรก ม.ธ.ก. จัดการศึกษา 3 สาขาวิชาหลักคือ วิชากฎหมาย วิชาการเมือง และวิชาเศรษฐการ แล้วให้โอนคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณมาขึ้นต่อ ม.ธ.ก.[14]
จากแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบของผู้ประศาสน์การภายใต้พระราชบัญญัติฯ ม.ธ.ก. มีลักษณะตลาดวิชา มีอัตราค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่ามหาวิทยาลัยอีกแห่ง และนักศึกษายังแบ่งชำระค่าธรรมเนียมได้เป็น 4 งวด จึงส่งผลให้ในปีแรกมีผู้มาสมัครเข้าเรียน ม.ธ.ก. ถึง 7,094 คน[15]
หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ ได้ราว 3 เดือน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 7 เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เวลา 17 นาฬิกา ณ อาคารโรงเรียนกฎหมาย เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนิน[16] ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่คณะราษฎรประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ยังกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ ที่แสดงถึงเป้าหมายของรัฐบาลสมัยคณะราษฎรอย่างเด่นชัดว่าการพัฒนาการศึกษาและพลเมือง คือประโยชน์ต่อชาติและสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศไว้ว่า
“ในปัจจุบันนี้ ประเทศสยามมีความประสงค์อันใหญ่ยิ่งที่จะปรับระดับการศึกษาของราษฎรให้เจริญถึงขนาดเหมาะแก่กาลสมัย
ถ้าระดับการศึกษายังไม่เจริญถึงขนาด ตราบใดความก้าวหน้าของประเทศ ก็จะยังเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอีกนาน
ยิ่งในสมัยที่ประเทศของเราดำเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเช่นนี้แล้วเป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยสำหรับประศาสน์ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแก่พลเมืองให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้…”[17]
ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
การจัดการความรู้และหลักสูตรของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สะท้อนให้เห็นความคิดของผู้ประศาสน์การและรัฐบาล ณ ขณะนั้นว่าจำเป็นต้องให้ความรู้แก่นักศึกษาและราษฎรใน 3 ลักษณะวิชาเป็นหลักคือ กฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ และวิชาธรรมศาสตร์คือการศึกษาขั้นพื้นฐานของชั้นปริญญาตรี โดยระบุรายวิชาหลักไว้ในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476[18] ดังนี้
“การศึกษาชั้นปริญญาตรี ผู้ศึกษาจำต้องเรียนวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (ธรรมศาสตร์) ธรรมนูญศาลยุตติธรรม กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายปกครอง กฎหมายอาชญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาชญา กฎหมายลักษณะล้มละลาย กฎหมายลักษณะพะยานและจิตตวิทยา ลัทธิเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ กฎหมายการคลัง
และระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทะบวงการเมือง ตามที่มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้เลือก และวิชาอื่นซึ่งมหาวิทยาลัยจะกำหนดเพิ่มเติม”
และน้อยคนที่จะทราบว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในบทบาทผู้ประศาสน์การฯ เป็นผู้กำหนดแนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี, โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเองอย่างละเอียด และพิมพ์แจกในงานพิธีเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งสรุปคร่าวๆ ว่า ม.ธ.ก. ในขั้นปริญญาตรี เรียนกัน 6 ภาค แบ่งเป็นสองสมัยๆ ละ 3 เดือน เปิดการสอนวันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 30 กันยายน และสมัยที่ 2 เปิดการสอนวันที่ 15 ธันวาคม จนถึงวันที่ 15 มีนาคม
ตัวอย่างการวางรากฐานทางความคิด ความรู้ของนักศึกษา ม.ธ.ก. เริ่มตั้งแต่การศึกษาในภาคหนึ่ง เรียกว่าเรียนหนักกันตั้งแต่ภาคแรกโดยเน้นที่วิชากฎหมายและการปกครอง ประกอบด้วย 5 วิชา ได้แก่ 1. วิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (ธรรมศาสตร์) 2. วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ 3. วิชากฎหมายเลือกตั้ง 4. ธรรมนูญศาลยุตติธรรม และ 5. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล
ข้อสังเกตที่น่าพิจารณาเกี่ยวเนื่องกับผลของบริบทภายหลังการอภิวัฒน์ ที่ทำให้วิชากฎหมายสอดผสานกับการเมืองการปกครอง คือวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและวิชากฎหมายการเลือกตั้ง ที่จัดการเรียนการสอนเชิงรัฐศาสตร์ มีการเรียนทั้งเรื่องรัฐ เรื่องอำนาจอธิปไตย ลัทธิประชาธิปไตย ลัทธิเผด็จการอันขัดต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และประวัติการปกครองตั้งแต่โบราณจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และการปกครองตามแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 รวมถึงเรียนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง กับคณะพรรคการเมืองต่าง ๆ และการเลือกตั้งเปรียบเทียบสยามและต่างประเทศ[19] ซึ่งถือว่าร่วมสมัยในยุ
ท้ายที่สุด บทความนี้ไม่ได้เล่าเพียงประวัติของผู้ประศาสน์การฯ ประวัติการก่อตั้ง ม.ธ.ก. หรือเล่าเค้าโครงประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา[20]อย่างที่นิยมกัน หากมีจุดมุ่งหมายที่จะย้อนพินิจกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ความคิดและภูมิปัญญาของผู้ประศาสน์การฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับคณะราษฎรว่า ‘คิดอะไร’ และ ‘ทำอย่างไร’ เพื่อวางระบบการศึกษาและหลักสูตรของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในบริบทภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475
ที่มาของภาพ : สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, 78 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2555) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555) และ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, ธรรมศาสตรานุกรม 80 ปี (2477-2557), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557)
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476, เล่มที่ 50, หน้า 3220-3221.
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1007-1026.
- ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง พ.ศ. 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 205-206.
- ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 , เล่มที่ 51, หน้า 902.
- ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบการเข้าเรียนและอัตราค่าธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 พฤษภาคม 2477, เล่มที่ 51, หน้า 462-466.
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2478, เล่มที่ 52, หน้า 23-26.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 6-7.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1352-1377.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 24 มกราคม พุทธศักราช 2477 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 687-709.
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0601.4.1/9 กล่อง 1. เอกสารกรมที่ดิน เรื่อง คำบรรยายระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทะบวงการเมือง ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง [26 มิ.ย. 2477-18 เม.ย. 2479]
หนังสือภาษาไทย :
- ชิต เวชประสิทธิ์, สงัด ศรีวณิก, สรุปวิชาธรรมศาสตร์ ตอนที่ 1, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2481)
- เดือน บุนนาค, ฮัตเจสสัน, เจ. เอฟ และทวี ตะเวทิกุล, เศรษฐศาสตร์, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2477)
- แลงกาต์, โรแบรต์, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย (กฎหมายเอกชน), [ม.ป.ท.]: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, 2478
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี, โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2477)
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 115 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์, (ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558)
- สมาน สุวรรณโชติ, ประวัติการต่อสู้ของนักศึกษา ม.ธ.ก., (กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2540)
- สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, 78 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2555) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555)
- สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, ธรรมศาสตรานุกรม 80 ปี (2477-2557), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557)
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2477, (ม.ป.ท.: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2477)
- เอกูต์, เอช., ธรรมศาสตร์ (ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป), (ม.ป.ท.: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2477)
บทความในหนังสือและวารสาร :
- กษิดิศ อนันทนาธร, “บางเรื่องของโรงเรียนกฎหมาย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”, ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2565), น. 39-56.
- ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2495)”, ใน ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), น. 18-64.
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกับการเมืองไทย : เค้าโครงประวัติศาสตร์ 50 ปี”, วารสารธรรมศาสตร์ 13, 4 (ธ.ค. 2527): 8-33.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- ปรีดี เกษมทรัพย์. (25 มิถุนายน 2563). ท่านผู้ประศาสน์การของเรา. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/06/316
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สืบค้นจาก https://tu.ac.th/history_tu
- อัศนี พลจันทร. (15 กันยายน 2563). ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/418
[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 7.
[2] บรรดาศักดิ์ของปรีดี พนมยงค์ ในเวลานั้น โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2477-2495
[3] ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อาจมีความหมายตามนัยได้ 3 ลักษณะ ก. พิเคราะห์ตามที่มาแห่งศัพท์ คำว่า ธรรมศาสตร์ คือระบบกฎหมายโบราณของสยาม ข. พิเคราะห์ตามธรรมเนียมวิชาการของฝรั่งเศส คำนี้จะครอบคลุมทั้งมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ค. พิจารณาโดยคำนึงถึงหลักสูตรการศึกษาและรายวิชาต่าง ๆ ที่ผู้ประศาสน์การ กำหนดขึ้น โปรดดูเพิ่มเติม ใน ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2495)”, ใน ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), น. 56.
[4] กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติฯ ได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ดร. เดือน บุนนาค พระสารสาสน์ประพันธ์ และ น.อ. พระเรี่ยมวิรัชชพากษ์ ร.น. ใน ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและตรวจร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476, เล่มที่ 50, หน้า 3220-3221.
[5] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 5 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1375-1376.
[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1008.
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 1009-1012.
[8] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 205-206.
[9] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2495)”, ใน ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), น. 24-26.
[10] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณบดีแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477, เล่มที่ 51, หน้า 902.
[11] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันที่ 24 มกราคม พุทธศักราช 2477 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 688-689.
[12] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1015.
[13] ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบการเข้าเรียนและอัตราค่าธรรมเนียมของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 พฤษภาคม 2477, เล่มที่ 51, หน้า 465.
[14] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1009.
[15] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สืบค้นจาก https://tu.ac.th/history_tu
[16] เรื่องโรงเรียนกฎหมาย โปรดดูเพิ่มเติมที่ กษิดิศ อนันทนาธร, “บางเรื่องของโรงเรียนกฎหมาย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”, ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2565), น. 39-56.
[17] ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, “ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (พ.ศ. 2477-2495)”, ใน ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), น. 52.
[18] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 มีนาคม 2476, เล่มที่ 50, หน้า 1016.
[19] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี, โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2477), น. 1-10.
[20] หากสนใจการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาและประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ โปรดดูเพิ่มเติมที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกับการเมืองไทย: เค้าโครงประวัติศาสตร์ 50 ปี”, วารสารธรรมศาสตร์ 13, 4 (ธ.ค. 2527): 8-33. และสมาน สุวรรณโชติ, ประวัติการต่อสู้ของนักศึกษา ม.ธ.ก., (กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2540)
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- ปรีดี พนมยงค์
- วัลยา
- ม.ธ.ก.
- หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- คณะราษฎร
- ประกาศคณะราษฎร
- เดือน บุนนาค
- แอล ดูปลาตร์
- L. DUPLATRE
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
- รัชกาลที่ 7
- การอภิวัฒน์สยาม 2475
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475