ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สังคมไทยกับนิติรัฐที่ยังมาไม่ถึง

1
กรกฎาคม
2565

 

ประเด็นที่ดิฉันตั้งใจจะพูดในวันนี้ เกี่ยวข้องกับ “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎร” บางประการของคณะราษฎรที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย นั่นก็คือการสถาปนา “นิติรัฐ” ขึ้นในสังคมไทย

 

 

เราทราบกันดีว่าการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่คณะราษฎรพยายามที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น วางอยู่บนอุดมคติที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือการทำให้สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย ซึ่งคณะราษฎรก็ได้มีการพยายามที่จะผลักดันกฎหมายหลายฉบับ เพื่อที่จะให้เป็นเครื่องมือในการจัดการปกครอง กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า คณะราษฎรต้องการทำให้สังคมไทยนั้นมี Rule of law หรือ นิติรัฐ เป็นนิติรัฐในความหมายที่ว่ากฎหมายมีไว้สร้างสันติภาพไม่ใช่มีไว้กดปราบประชาชน

อย่างไรก็ดีในวาระ 90 ปีของการอภิวัฒน์สยาม เราต่างก็ประจักษ์แก่ใจกันดีว่าประเทศไทยไม่ได้ปกครองโดยระบอบนิติรัฐอย่างแท้จริง หนึ่งในสาเหตุสำคัญก็คือคนในกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน พวกเขาทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐ และความมั่นคงของผู้มีอำนาจเป็นหลัก

ในปีที่ 90 ของการอภิวัฒน์สยาม เราจึงได้เห็นการปรากฏตัวขึ้นของขบวนการคนรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจอันฉ้อฉลของระบอบอำนาจนิยม แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการใช้กฎหมายที่กดปราบประชาชนและเพื่อปกป้องระบอบอำนาจนิยมนั้น

ในปีที่ 90 ของการอภิวัฒน์สยาม เราจึงได้ยินเสียงเรียกร้องให้ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่ดังเซ็งแซ่ แต่คนเหล่านั้นก็กลับดูไม่ยี่หระ ไม่สนใจว่าพวกเขาเองกำลังเผชิญกับวิกฤติความชอบธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

ในขณะนี้ที่คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้คนในกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเที่ยงธรรม เคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะมีหนทางใดหรือไม่ที่จะฟื้นฟูความยุติธรรมให้สังคมไทยได้บ้าง มีหนทางใดบ้างที่จะยุติภาวะที่ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงสังหารประชาชน แล้วยังลอยนวลพ้นผิดครั้งแล้วครั้งเล่านี้ เป็นประเด็นที่ดิฉันต้องการนำเสนอในวันนี้

ข้อเสนอในวันนี้ของดิฉันก็คือ เราต้องพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมจากภายนอกประเทศ เพื่อกระตุ้นให้บรรดาผู้มีอำนาจตระหนักว่า เมื่อพวกท่านไม่ทำหน้าที่ของท่านอย่างเที่ยงตรง เราควรเชิญองค์กรยุติธรรมสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน

คำถาม คือ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบที่ดิฉันจะให้ในวันนี้ก็คือ เราต้องผลักดันกรณีใดกรณีหนึ่ง นั่นก็คือ “กรณีการสังหารประชาชนเมื่อปี 2553 คือ ประชาชนเสื้อแดงที่ถูกสังหาร”

ดิฉันเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ICC

มีเหตุผลอะไรที่ดิฉันเสนอข้อนี้

 

 

ก่อนอื่นดิฉันขออนุญาตให้ข้อมูลพื้นฐานก่อน ในปี 2556 ในยุคของรัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องร้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่า ซึ่งศาลอาญาก็ประทับรับฟ้องแต่โดยดี

เรื่องทำท่าจะไปด้วยดีแต่เพียงไม่ถึง 3 เดือน แต่หลังการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557 เรื่องก็กลับตาลปัตร เมื่อศาลอาญามีคำวินิจฉัยตามคำร้องเรียนของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีปี 53

ศาลอาญาบอกว่านี้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. หรือ คณะกรรมการปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผลก็ออกมาว่า ป.ป.ช. มีมติไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นมติที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการเรียกพยานหรือข้อมูลหลักฐานใดๆ เพิ่มทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจว่าตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น ป.ป.ช. ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะมีตัวแทนญาติของผู้เสียชีวิตและแกนนำ นปช. บางท่าน พยายามอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยตามศาลชั้นต้น เพราะฉะนั้น เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมในกรณีปี 53 ในประเทศไทยล้มเหลวและถึงทางตันแล้ว

แต่ความล้มเหลวนี้ยิ่งทำให้กรณีปี 53 สอดรับกับหลักการสำคัญของ ICC มากยิ่งขึ้น หลักการนั้นในภาษาอังกฤษเรียกว่า Complementarity หลักการนั้นหมายความว่า ICC จะรับพิจารณาคดีที่พิสูจน์แล้วว่ารัฐที่ให้สัตยาบันรองรับอำนาจศาลของ ICC นั้นไม่เต็มใจดำเนินคดี หรือไม่มีความสามารถดำเนินคดีอย่างยุติธรรมได้ หลักการ Complementarity ได้พิสูจน์ชัดเจนว่ามันเกิดขึ้นในปีนี้คือชัดเจนมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2555 อีก

เกิดอะไรขึ้นในปี 2555 ในปีนั้น อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. คุณพะเยาว์ อัคฮาด คุณแม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด หนึ่งใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของ นปช. ได้เดินทางไปขอเข้าพบกับอัยการของ ICC ที่กรุงเฮก ถึงแม้ว่ากรณีปี 53 นั้นจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจะมีน้อยกว่ากรณีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่อัยการของ ICC ก็แสดงความสนใจอย่างยิ่ง

ประเด็นสำคัญก็คือ เป็นประเด็นที่อาจารย์ธงชัยได้เสนอให้กับ ICC ได้รับทราบ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ ว่ามันเกิดเหตุการณ์ที่รัฐใช้อำนาจใช้ความรุนแรงอย่างเกินเลย ปราบปรามประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมา แต่ผู้มีอำนาจไม่เคยต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น

พวกเขาสามารถลอยนวลพ้นผิดได้ ฉะนั้น หากกรณีปี 53 เราสามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นได้ กรณีนี้อาจจะช่วยทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยได้ยุติลง และอาจจะช่วยสกัดกั้นโอกาสที่รัฐจะใช้อำนาจปราบปรามประชาชนในอนาคตได้

หลังจากนั้นไม่กี่เดือนอัยการของ ICC คุณเบญสุดา เดินทางเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสที่รัฐบาลไทยจะเข้าสู่ ICC มีอะไรบ้าง แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันกับ ICC

ในขณะนั้นเมื่อปี 53 กระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงดำเนินไปได้อยู่ ก่อนรัฐประหาร ICC ยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาตรวจสอบกรณีนี้ รวมถึงกระตุ้นให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม คือ การยอมรับอำนาจศาลของ ICC ปี 55 เขาก็ยังให้ความสนใจ

ณ ปัจจุบันปรากฏการณ์ในเมืองไทยชัดเจน เราสามารถไปยืนยันกับ ICC ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นมันมาถึงทางตันแล้ว เราจึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิง ICC ฉะนั้น ดิฉันจึงต้องการเสนอถึงผู้ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากญาติของผู้เสียชีวิต ต้องการจะเสนอต่อนักการเมือง พรรคการเมือง แกนนำ นปช. ประชาชนทั่วไป คนรุ่นใหม่ที่แคร์ต่อชีวิตของผู้เสียชีวิตในปี 53 มันถึงเวลาที่เราจะต้องผลักดันเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

ดิฉันอยากจะกล่าวถึงกรณีประเทศอื่น เป็น 2 ประเทศที่ให้อำนาจที่ยอมรับเขตอำนาจศาลของ ICC เป็นตัวอย่างเพื่อที่จะทำให้ท่านผู้มีเกียรติในที่นี้ ได้พอมองเห็นภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้นบ้าง ว่าถ้าในอนาคตเรายอมรับเขตอำนาจของ ICC แล้ว โอกาสที่จะเกิดความยุติธรรมของไทยนั้นมันจะเป็นอย่างไร

ในที่นี้ดิฉันอยากจะขอยกตัวอย่างของประเทศ 2 ประเทศ คือประเทศโคลอมเบียและอังกฤษ 2 ประเทศนี้มีระบอบการเมืองที่ตรงกันข้ามกันประเทศหนึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารต่อเนื่องยาวนาน อีกประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข แบบเดียวกับประเทศไทย 

 

 

กรณีของโคลอมเบีย มีเหตุการณ์ที่ทหารใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างกว้างขวาง ในช่วงปี 2545 ถึง 2551 อาจเป็นช่วงที่รัฐบาลต่อสู้กับกลุ่มกบฏ โดยทหารพยายามที่จะใช้วิธีลักพาตัวชาวบ้าน เพื่อหลอกล่อให้เข้าไปในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยหลอกว่ามีงานให้ทำแล้วก็ลงมือสังหารเสีย

วิธีลงมือสังหาร คือ ลงมือสังหารแล้วก็เอาอาวุธร้ายแรงยัดเข้าไปข้างกาย แล้วก็บอกว่าคนเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่ม เสียชีวิตจากการต่อสู้กับทหาร พวกนี้เป็นกบฏ คนที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการเหล่านี้มีเป็นพันคน ปฏิบัติการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปีในพื้นที่ชนบทห่างไกลของโคลอมเบีย มีชาวบ้านร้องเรียนแต่รัฐก็ไม่สนใจที่จะดำเนินคดีอย่างจริงจัง

แต่ปฏิบัติการนี้ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศและทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง ในปี 2551 เมื่อมีเด็กหนุ่มในหมู่บ้านหนึ่งอย่างน้อย 16 คน หายไปพร้อมกัน แล้วก็พบร่างของเขาตายในแบบเดียวกันคือมีอาวุธอยู่ข้างกาย ทหารบอกว่าคนเหล่านั้นเป็นกบฏ แต่ว่ากรณีนี้มันอื้อฉาวเกินไป สกปรกเกินไปจนในที่สุดอัยการของรัฐโคลอมเบียก็ไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยอยู่ได้ ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน แต่ประชาชนก็กลัวอีกว่าจะเกิดการยื้อ การซื้อเวลา หรือหาทางปกป้องแต่ตัวเอง โดยในที่สุดกรณีนี้เลยทำให้ ICC ตั้งทีมงานของตัวเองขึ้นมาตรวจสอบหาความจริงเบื้องต้น

แน่นอนว่ารัฐบาลโคลอมเบียไม่ยินดีเท่าไหร่นัก แต่เนื่องจากโคลอมเบียเองได้เคยลงนามให้สัตยาบันรองรับเขตอำนาจศาลของ ICC ฉะนั้นก็เป็นอำนาจของ ICC ที่จะเข้ามาตรวจสอบด้วยตนเอง ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ให้ข้อมูล แต่กระนั้น ICC ก็ยังเดินหน้าทำงานของตัวเองต่อไป ไปพบปะพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศกับ NGO ในประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน กับญาติของผู้เสียชีวิตซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ICC ออกรายงานชี้ให้เห็นจุดบกพร่องของการดำเนินคดีของศาลในโคลอมเบีย อันนี้คือการทำให้อับอาย (Shaming) ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลในการบังคับใช้ลงโทษในทันที แต่รายงานพวกนี้จะมีผลในการทำให้รัฐนั้นอับอาย ถูกองค์กรระหว่างประเทศวิจารณ์ว่าระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้นล้มเหลว

การกดดันของ ICC ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมมีความคืบหน้า ในปีที่ 2561 ผลปรากฏว่ามีคดีมากกว่า 2,000 คดีที่อยู่ภายใต้การสอบสวนของอัยการของรัฐโคลอมเบีย มีเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกลงโทษไปแล้วถึง 1,600 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารระดับนายพันจำนวน 11 คน มีนายพล 11 คนถูกเรียกมาสอบสวน มีนายพลที่เกษียณอายุแล้ว 1 คนถูกตั้งข้อหา

แน่นอนว่าผลของการลงโทษมันไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่เป็นที่พอใจของคนบางส่วนเพราะสาวไปไม่ถึงระดับนายพล แต่มันก็ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าและส่งผลต่อการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน ที่จะไม่สามารถทำอะไรที่มันอุจาดตาอย่างเดิมได้อีกต่อไป

ใน กรณีที่ 2 ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยและยอมรับเขตอำนาจของ ICC เช่นเดียวกัน ทหารอังกฤษถูกฟ้องร้องโดยญาติของผู้เสียชีวิตที่ถูกซ้อมทรมาน ในสงครามที่อังกฤษร่วมกับสหรัฐอเมริกาบุกอิรักในปี 2547 ถึง 2552 มีคนนับพันรายถูกซ้อมทรมาน ทหารประมาณ 300 นาย ถูกสังหารในลักษณะที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ญาติของเหยื่อพยายามฟ้องร้องเอาผิดและเรียกร้องการเยียวยาจากอังกฤษ อังกฤษก็ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน แต่ก็เป็นไปแบบไม่เต็มใจ เชื่องช้า ไม่มีความก้าวหน้า เตะถ่วงไปเรื่อยๆ เป็นเวลาเกือบ 8 ปีที่แทบจะไม่มีความก้าวหน้า

ในที่สุด ICC ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง ผลก็คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษ ทั้งอัยการและรัฐบาลก็ให้ความร่วมมือกับ ICC ในฐานะของประเทศที่อ้างว่าตนเองให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ต้องแชร์ข้อมูลกับ ICC แล้วส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง รัฐมนตรีของอังกฤษต้องให้สัมภาษณ์กับสื่อของตัวเองบ่อยขึ้นว่า รัฐบาลอังกฤษและเจ้าหน้าที่จะให้ความสำคัญกับการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ แน่นอนว่าคดีเหล่านี้ยังไม่ได้สิ้นสุด แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงว่ารัฐบาลอังกฤษต้องลุกขึ้นมาจัดการกับกระบวนการยุติธรรมของตนเองในกรณีนี้

แม้ว่าทั้ง 2 กรณีนี้ ทั้งโคลอมเบียและอังกฤษจะชี้ว่า ICC ไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมที่สมบูรณ์แบบได้ แต่เราก็จะเห็นผลกระทบของการแทรกแซงขององค์กรระหว่างประเทศที่มีความชอบธรรม องค์กรระหว่างประเทศที่สังกัดสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ องค์กรนี้เมื่อตัดสินอะไรมา มีความคิดเห็นอย่างไร ลงมือทำอะไร มันจะกลายเป็นแรงกดดันที่สำคัญ ที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง

สำหรับไทย หากไทยประกาศยอมรับอำนาจของ ICC บางทีเราอาจจะเห็นคนในกระบวนการยุติธรรมของไทย ยอมลุกขึ้นมาจัดการบ้านของตัวเองบ้าง แต่ถ้าหากว่าเขาไม่ทำ เราก็ควรหาทางให้องค์กรจากภายนอกเข้ามาทำแทน บางทีพวกเขาอาจจะกลัวการแทรกแซงจากภายนอก มากกว่ากลัวประชาชนของตนเองก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี เราก็รู้กันดีอยู่ว่าเจตจำนงในเรื่องนี้ในสังคมไทยไม่แข็งแกร่งมากนัก นอกจากครอบครัวของผู้เสียชีวิตคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ที่ยังเจ็บปวดกับการที่เพื่อนฝูงพี่น้องของตนเองถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด เราพบว่าฝ่ายการเมืองกลับไม่มีเจตจำนงในเรื่องนี้ชัดเจนพอ ไม่เคยบอกกับประชาชนชัดๆ ว่าจะให้สัตยาบันต่อ ICC หรือไม่

การชุมนุมเพื่อรำลึกการปราบปรามประชาชนปี 53 เกิดขึ้นทุกปี แต่เราต้องไม่ทำให้มันกลายเป็นแค่งานเช็งเม้ง เป็นแค่งานรวมญาติมาพูดถึงอดีตแต่ไม่พูดถึงอนาคตว่าเราจะทวงความยุติธรรมได้อย่างไร เราจะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้ เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หนทางยังมีอยู่เราจำเป็นที่จะต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังและทำอย่างจริงจัง

ฉะนั้น ดิฉันจึงอยากเสนอว่า นี่เป็นความรับผิดชอบของประชาชนที่ยังให้ความสำคัญกับชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน เป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองที่อ้างว่าตนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย จะต้องผลักดันเรื่องนี้มากกว่าใคร

สุดท้ายนี้ ดิฉันตระหนักดีว่าการที่พรรคการเมืองจะมีนโยบายว่าตนจะให้สัตยาบันต่อ ICC หรือไม่ คงไม่ส่งผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งของท่านเท่าไหร่นัก ในการเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ดิฉันเชื่อว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เชื่อว่าอย่างไรเสีย Voter ของตัวเองก็คงจะเลือกตัวเอง แต่ดิฉันก็เชื่อว่าท่านจะไม่หลอกตัวเองว่าความยุติธรรมสำหรับผู้สูญเสียในปี 53 ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ 

 

 

แน่นอนว่าสำหรับประชาชน โดยเฉพาะสภาวะที่เรากำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ เรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับพรรคการเมืองที่เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวในปี 53 รวมถึงพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่อ้างเรื่องประชาชน อ้างเรื่องประชาธิปไตย ดิฉันหวังว่าท่านจะบอกกับตัวเองว่าเรื่องนี้สำคัญต่อท่านไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ

ดิฉันไม่ได้หวังว่าท่านจะทำเรื่องนี้ ในวันนี้ หรือทันทีที่ท่านได้เป็นรัฐบาล แต่ดิฉันอยากเห็นเจตจำนงที่ชัดเจนอยากเห็นคำมั่นสัญญาว่าท่านจะทำ สัญญากับประชาชนในช่วงเวลาที่ท่านกำลังหาเสียงเลือกตั้งว่าท่านจะรับเขตอำนาจของ ICC สัญญาว่านี่คือภารกิจที่สำคัญของพรรคการเมืองของท่าน เป็นภารกิจของการทวงความยุติธรรมให้กับประชาชน ทวงคืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ที่เสียชีวิต เป็นภารกิจของการยุติการลอยนวลพ้นผิดของสังคมไทย ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย เป็นภารกิจที่จะป้องกันไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนอย่างไร้เหตุผลอีกในอนาคต 

 

 

สุดท้ายในระยะยาวดิฉันเชื่อว่าถ้าเราทำได้ นี่จะเป็นภารกิจที่จะส่งผลต่อการสร้างนิติรัฐ ต่อการทำให้กฎหมายเป็นกฎหมายเสียทีในประเทศนี้ 

 

ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/596090475158070