ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐสวัสดิการ คือ สิทธิของประชาชน

2
กรกฎาคม
2565

 

สวัสดีท่านผู้มีเกียรติและพี่ๆ น้องๆ ทุกคนนะครับ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสมาพูดในเรื่องของคณะราษฎร การอภิวัฒน์สยาม ปีที่แล้ว 89 ปี ปีนี้ก็ 90 ปี ผมเองนั้นฟังท่านอาจารย์ชาญวิทย์ พูดถึงความประทับใจที่มีต่อท่านปรีดี ผมเองก็เป็นลูกศิษย์ของท่าน ตอนที่ผมได้ทุนรัฐบาลไทยไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีสนั้น ตลอดเวลา 5 ปีที่ผมอยู่ก็มีความใกล้ชิดกับท่านปรีดีและครอบครัวของท่านค่อนข้างมากแทบทุกคนเลย

ปกติแล้วอย่างน้อยก็แทบจะทุก 2 อาทิตย์ก็ต้องไปบ้านอองโตนี คือ อยู่ชานเมืองปารีสของท่าน สิ่งที่ผมประสบและก็ได้รับจากท่านโดยตรงเห็นได้ชัด 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือความรู้ ความคิด ความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ท่านคณบดีพูดไปเมื่อสักครู่ วิทยาศาสตร์หมายความว่า ไม่งมงาย ไม่เชื่ออะไรที่เลอะเทอะ ทุกอย่างต้องตรวจสอบ ต้องดูแล้วดูอีก

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ชีวิตส่วนตัวของท่าน ท่านนั้นเจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุด หลังจากที่หมดจากอำนาจไปทั้งที่มีความตั้งใจดี สิ่งที่ประเทศนี้ทำกับท่าน อย่าว่าประเทศเลยครับ คนส่วนหนึ่งทำกับท่าน คือทำร้ายท่านอย่างถึงที่สุด แต่ท่านสนใจประเทศไทย สนใจพี่น้องคนไทย หาความรู้แล้วท่านยังถูกใส่ร้ายตลอดเวลา เรื่องคดีสวรรคตของ ร.8 มีคนไปเขียนหนังสือ เขียนอะไรต่างๆ ท่านก็ต้องมาทำคดีต่อสู้ ทั้งชีวิตทำแต่อย่างนี้ครับ ไม่ได้ไปเที่ยวเตร่ที่ไหน ไปประชุมสัมมนาท่านก็ไปกล่าวปาฐกถาให้นักเรียนไทยในฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน นี่ก็คือชีวิตของรัฐบุรุษคนหนึ่งของประเทศไทย 

 

 

ผมเองนั้นมีโอกาสไปพบท่านอีกครั้งหนึ่ง อีก 2 - 3 ปีต่อมาหลังจากผมเรียนจบแล้ว ก็มาสอนหนังสือที่รามคำแหง มีโอกาสไปฝึกอบรมด้านการสอนที่ประเทศอังกฤษ พอวันศุกร์บ่ายๆ ก็จะมาเยี่ยมท่านที่บ้านอองโตนี ก่อนท่านจะถึงแก่อสัญกรรมประมาณ 2 วัน ผมก็ไปเยี่ยมท่าน ทานข้าวกับท่าน 2 คน อยู่ๆ ท่านก็บอกว่า “อ้น” ท่านเรียกชื่อเล่นผม แล้วบอกว่า “ถ้าลุงตายไปแล้วอย่าเอาศพกลับไปเมืองไทย อยากอยู่ที่ดีกว่า” ผมก็มาเล่าให้ท่านผู้หญิง เล่าให้พี่ๆ ผู้ซึ่งเป็นลูกๆ ของท่านทุกคนฟัง แต่ก็โชคดีครับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อเอาท่านกลับมาอย่างสมเกียรติ ที่นี่มีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ตรงริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นต้น

นี่คือชีวิตของคนที่เสียสละและซื่อสัตย์สุจริต ก็ต้องขอกราบคารวะอาจารย์

ผมอยากเข้าไปสู่ประเด็นต่อไปนี้นะครับ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น สิ่งที่คณะราษฎรได้นำมา ผมคิดว่ามี 2 เรื่องใหญ่ที่จะสรุปเท่านั้นเอง เรื่องแรกเป็นการเปลี่ยนความคิดเรื่องอำนาจ เดิมทีนั้นก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ความคิดเรื่องอำนาจเป็นของบุคคล จริงอยู่แม้จะมีการกล่าวอ้างว่ามีความพยายามจะทำรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าฉบับ 24 มิถุนายน  ซึ่งหลังจากเปลี่ยนแปลงก็คือ 27 มิถุนายน 2475 จะไม่ได้บอกว่าอำนาจเป็นของราษฎร นี่เป็นครั้งแรกที่ได้บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะยึดอำนาจกี่ครั้งกี่หนก็ไม่เคยเห็นคณะรัฐประหารกล้าบอกว่าอำนาจไม่ใช่ของประชาชน ในรัฐธรรมนูญที่สั้นๆ ไม่กี่มาตรา กดทับด้วยอำนาจนิยมเต็มที่ ก็ยังคงบอกว่าอำนาจนั้นเป็นของประชาชน นี่ก็คือสิ่งที่คณะราษฎรได้ทำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย 90 ปีเต็ม

แต่สิ่งที่เรายังต้องวนเวียนอยู่ตลอดเวลาก็คือว่า โดยประชาชนนั้น มันโดยอย่างไร แน่นอนหลายครั้งยึดอำนาจ ตลอด 90 ปีก็คือเป็นประวัติศาสตร์ระหว่างการสร้างรัฐธรรมนูญกับการรัฐประหาร วนเวียนอยู่อย่างนี้

 

 

เรื่องที่สองของคณะราษฎร คือ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีหลักประกัน ที่เราพูดกันวันนี้คือ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏในหลัก 6 ประการ ในข้อหนึ่งว่า ต้องทำสิ่งนี้ และท่านปรีดีก็ได้รับมอบหมายให้ไปเขียนหนังสือ เขียนเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเวลานั้นก็แค่เป็นเพียงทำอย่างไรจะให้เกิด Economy of Scale ทำให้ประชาชนนั้นทำงานร่วมกันได้ เหมือนระบบสหกรณ์ ก็มีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์เพื่อจัดการกับท่าน ในกฎหมายนั้นแค่ Nationalization การโอนกิจการเป็นของรัฐก็ถือเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว คุณอาผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ ได้รับเชิญไปเมืองจีน พร้อมกับคุณอิศรา อมันตกุล แล้วก็คุณรพีพร กลับมาถูกจับในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์เพราะไปประเทศคอมมิวนิสต์ เห็นความบ้าของประเทศนี้ไหมครับ เห็นความบ้าของอำนาจนิยมไหมครับ มันก็มาถึงวันนี้อีก

ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า ประเทศนี้ที่พูดหรูๆ ทั้งหลายมันเป็นวาทกรรมทั้งสิ้น จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมมาไล่ดู ถ้าทำตามแล้วเนี่ยยอดเยี่ยมเลย เดี๋ยวผมจะสรุปตอนท้ายว่า เราพูดถึงรัฐสวัสดิการ เราต้องการดูแลอะไรให้พี่น้องประชาชนบ้าง รัฐธรรมนูญที่เขียนทุกวันนี้ก็ดีมาก แม้แต่บางเรื่องก็บอกเลยว่ากฎหมายที่ล้าหลัง ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ต้องยกเลิก ต้องขจัดไปนะ เชื่อไหมครับยึดอำนาจอยู่กันมา 8 ปี ออกกฎหมายกดทับประชาชนมหาศาล แต่กฎหมายจะปลดปล่อยประชาชนสักฉบับยังแทบไม่มีเลยครับ

ด้วยเหตุนี้ ทุกอย่างมันวนเวียน การสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ การรัฐประหาร คำถามก็คือว่า อะไรเป็นตัวทำให้มันหมุนเช่นนี้ตลอดเวลา เมื่อกี้บางท่านอาจจะบอกว่าต้องย้อนไปดูก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจจะย้อนลึกเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ถ้าเราดูก่อนปี 2475 พลังที่ผลักดันสังคม คือ 1. พลังศักดินานิยม 2. พลังของระบบราชการในเวลานั้น พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เกิดพลวัต คือความร่วมมือคือการต่อสู้กัน ระหว่าง 3 พลังใหญ่ๆ 1. คือพลังศักดินานิยม 2. พลังราชการอำนาจนิยม ที่มักจะนำโดยผู้กองทัพ และ 3. ในยุคของคณะราษฎร คือพลังรัฐธรรมนูญนิยม วันนี้เราเรียกพลังประชาธิปไตย 3 พลังเป็นพลวัตที่หมุนกลับไปกลับมาอยู่ตลอดเวลา

เมื่อสักครู่ที่คุณณัฐวุฒิพูด คือจิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อสันติภาพ เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันไม่เคยเสื่อมคลายจากประชาชน เพราะยิ่งคนตัวเล็กเท่าไหร่ ยิ่งแทบไม่เคยสัมผัสสิ่งเหล่านี้ เขาจึงรู้ว่าชีวิตที่อยู่บนแผ่นดินนี้ เขาทุกข์ เขาเครียด เราอยากให้คนรักแผ่นดิน ถ้าคนที่อยู่บนแผ่นดินไหนเขาทุกข์ เขาเครียด เขาถูกรังเกียจ เขาถูกชัง เขาไม่รักหรอกครับ เขาต้องอยู่แล้วมีความสุข ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เราดูกันเถอะนะครับว่า การล้มจอมพล ป. และพวกไป จอมพล สฤษดิ์ขึ้นมา ช่วงนั้นเอง พลังที่ต่อสู้กันเองก็คือพลังราชการอำนาจนิยม จนมาถึงคุณถนอม ประภาส ก็พยายามจะทำให้ราชการอำนาจนิยม  ไม่ใช่สืบทอดแค่โดยรัฐธรรมนูญแบบที่ฉบับนี้ทำนะครับ แต่ทำกันจนสืบทอดตามตระกูลได้ ยังปกครองต่อกันได้ ในที่สุดก็เกิด 14 ตุลา 16 ครั้งนั้นผมอยู่ที่ธรรมศาสตร์ อยู่คณะนิติศาสตร์ มองไปสนามบอลก็เห็นผู้คนมากมาย โรงเรียนต่างๆ ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงและพระราชินี ทั้งหมดคือประเด็นการต่อสู้กันของ 14 ตุลา คือพลังศักดินานิยมกับราชการอำนาจนิยม ที่นำโดยผู้นำกองทัพ พลังประชาธิปไตยคือพลังที่เกื้อหนุนพลังศักดินานิยม จึงเป็นเหตุให้พลังราชการอำนาจนิยมในเวลานั้นต้องล่มไป

 

 

พอมาถึงตอน 6 ตุลา 19 ผมเข้าใจดีนะครับว่า ปี 18 เนี่ย ลาว เขมร เวียดนาม เป็นคอมมิวนิสต์ ไทยมีความหวาดกลัวแล้วก็จะเป็นโดมิโน ทั้งที่ความจริงแล้ว โอกาสแทบเป็นไปไม่ได้เลยเนื่องจากอเมริกาไปเปิดสัมพันธ์กับจีน จีนทะเลาะกับรัสเซีย เวียดนามนี่ต้องสู้สงครามท่ามกลางความอึดอัดที่สุด ที่มหาอำนาจ 2 ประเทศ ที่ช่วยเหลือตัวอย่างเต็มที่นั้นทะเลาะกัน ผมคงไม่ลงรายละเอียดแล้วกันนะครับ

ไทยก็หวาดกลัวตรงนี้ ดังนั้นเราจะเห็นว่าขบวนการสร้างขวาจัด จะเป็นนวพล กระทิงแดง จิปาถะเกิดขึ้นตอนนั้น เพื่อทำร้ายใครครับ? ก็เหมือนปัจจุบันนี่แหละครับ ผู้ที่อยู่ในโซนประชาธิปไตย และผู้ที่อยู่ในโซนสังคมนิยม อาจจะมีเลยเถิดเพราะยังมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่ ก็เลยเป็นการสู้รบระหว่างซ้ายกับขวา การยึดอำนาจไว้แล้วนั้นก็จะบอกว่าอีกฝ่ายเป็นคอมมิวนิสต์ คอร์รัปชัน ไม่จงรักภักดี วันนี้จะกล่าวหาพรรคคอมมิวนิสต์มันกล่าวหายาก ก็เลยเหลือเฉพาะ 2 อันหลังที่เป็นหลัก หรืออาจจะมีแถมหน่อยก็คือเป็น Terrorist เป็นผู้ก่อการร้ายไป เห็นภาพไหมครับที่เมื่อกี้ท่านคณบดีบอกว่า นี่ก็กรอบความคิดแบบจารีต ก็คือต้องยึดสถาบันหลักๆ ยึด Status quo ต่างๆ ไว้ ซึ่งทั้งหมดมันไม่ได้ถูกหรือผิดไปทั้งหมด แต่มันก็เป็นวัฒนธรรมเป็นกระบวนการเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ

เราจะเห็นว่าพอมาเดือนพฤษภา ก็แบบเดียวกันนะครับ พลังศักดินานิยมนั้นสู้กับพลังราชการอำนาจนิยม และได้พลังฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้พลังฝ่ายราชการนั้นต้องพ่ายแพ้ไป แล้วก็พัฒนามาถึงทุกวันนี้ครับ หมุนกันไป ในยุคของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็กลายเป็นการร่วมกันระหว่าง 3 พลังอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ ทั้ง 90 ปีตั้งแต่เปลี่ยนแปลงมานี้ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ ถามว่าการวนเวียนนี้ก่อให้เกิดอะไรขึ้น ผมสรุปได้ 2 อย่าง

อย่างแรกก่อให้เกิดการตกผลึกของความคิดอำนาจนิยม ผมพูดพวกเราอย่าไปมองคนที่ยึดอำนาจนะครับ มันฝังอยู่แม้แต่ในสถาบันการศึกษาทั้งหมด ผมไปพูดไปต่อสู้ตลอดเวลา เมื่อกี้มีท่านใดพูดเรื่องระบบโซตัส นี่ก็คือการสะท้อนอำนาจนิยม ผมเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ในกระทรวงมหาดไทยมีสิงห์ดำ สิงห์แดง สิงห์ทอง แบ่งแยกกันอย่างนี้หมดทั้งประเทศเลยครับ นี่คือผลผลิตอำนาจนิยมทั้งสิ้น ถ้าเราขจัดความคิดนี้ไม่ได้ อย่าหวังจะขจัดเผด็จการได้

ผมอยากเรียนว่า วันนี้เรามองเผด็จการมันมี ก. มี ข. มี ค. มี ป. พวกนี้มาได้เพราะอะไรครับ เพราะความคิดอำนาจนิยมและรัฐราชการ ที่ผมเรียนเมื่อสักครู่นี้ที่มันอุ้มไว้ให้ พวกนี้คือขยะ ความคิดอำนาจนิยมรัฐราชการคือขยะ ตราบใดมีขยะ มีขยะก็มีแมลงวันมาเกาะไม่จบสิ้น พี่น้องจะขจัดแมลงวันหรือขจัดขยะ ถ้าขจัดแมลงวันก็มาไม่จบสิ้นหรอกครับ หมด ป. ผมก็ไม่รู้จะเป็นอะไรต่อไปอีก ดังนั้นเราต้องร่วมกันขจัดกองขยะนี้ แล้วถ้าเราเปลี่ยนกองขยะให้เป็นสวนดอกไม้ได้ เราก็จะได้ผึ้งมาทำน้ำหวาน ประชาชนดี กินดีอยู่ดี ถูกต้องไหมครับ เราต้องคิดแบบนี้ ถ้าเราไม่คิดแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้

ผมมีโอกาสไปเจอพี่น้องทางใต้ ได้มีโอกาสเห็นเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ เขาก็มาหา มาบอก ผมบอกว่าผมเข้าใจว่ามันเป็นเพราะอะไร และเขาโกรธแค้น รู้สึกถูกรังแก ถูกอะไรต่างๆ ผมก็พูดกับเขาง่ายๆ เลย ก็บอกว่า “พี่ๆ น้องๆ มันไม่ได้เกิดแค่กรือเซะตากใบ แต่มันเกิดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมเรียนอยู่” แทบทุกครั้ง วันที่ 6 ตุลา ปี 19 วันที่ 4 ที่ 5 ผมกลับไปฝรั่งเศสก่อน ก็ไปนั่งร้องไห้อยู่หน้าทีวี ที่ฝรั่งเศสได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็เพราะปั้นเท็จขึ้นทุกอย่างว่าคนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวียดกง เป็นสารพัด นี่ก็คือกระบวนการสร้างความเกลียดชัง ทำลายล้างซึ่งกันและกัน ตำรวจทหารที่เข้ามาฆ่าผมไม่โกรธเขาหรอกครับ เพราะเขามีความเชื่อว่าคนอยู่ในนี้เป็นปีศาจร้าย ก็เหมือนกับทางใต้ แล้วท่านเชื่อไหมครับว่า เอาเงินให้ปัตตานีจังหวัดเดียวเนี่ย เอาเงินไปช่วยพัฒนาปัตตานี 10 กว่าปีแล้วเนี่ย 200,000 ล้าน ตอนนี้ปัตตานีเป็นอย่างไรครับ ยังเป็นจังหวัดที่จนที่สุดของประเทศไทย

เมื่อกี้หลายท่านก็บอกว่าถ้าตราบใดที่เราโง่ ไม่มีองค์ความรู้ ตราบใดที่เราจน และโลภ วันนี้อะไรที่เฟื่องฟู ยาเสพติด หวย บ่อน ซ่อง เพราะเขาอับจนไงครับ ถ้ารุ่นใหม่ก็คริปโตไงครับ  ผมน่ะชอบคำของบิล เกตส์เหลือเกิน เป็นทฤษฎีของคนโง่ที่หลอกคนที่โง่กว่า คนเหล่านี้น่าสงสาร เราต้องปลดปล่อยเขาจากสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ถ้าปลดปล่อยไม่ได้ ประวัติศาสตร์จะซ้ำแล้วซ้ำอีกตายแล้วตายอีกไม่จบสิ้น

ผมเลยเสนออย่างนี้ครับ เราจะต้องเปลี่ยนแบบไหนดี  หนึ่งคือต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่า คำว่าเพื่อประชาชน หมายความว่าเราต้องทำอะไร ผมอยู่กับการเมืองมานาน แต่ก่อนพรรคการเมืองไปหาเสียง ก็จะบอกว่าถ้าถนนลูกรังจะราดยาง ถนนราดยาง 2 เลนส์ จะเป็น 4 เลนส์ ยกเว้นตุลาการบางท่านครับที่บอกว่าไปราดยางถนนลูกรังให้หมดก่อน ค่อยไปทำโครงการรถไฟ อันนั้นต้องปล่อยท่านไป ที่ท่านบอกว่าถนนลูกรังในประเทศยังไม่หมด อย่าเพิ่งไปทำอย่างอื่นเลย

ประเด็นก็คือว่า “โดยประชาชน” ก็ถูกบิดเบือนมากมาย เพราะอะไรรู้ไหมครับ พรรคการเมืองต่างๆ ก็เข้ามา นี่ไม่พูดถึงคนยึดอำนาจเข้ามา ฉะนั้นคำว่าโดยประชาชนมันไม่ใช่อยู่แล้ว มันจะใช่ก็ต่อเมื่อมาสู่ระบบเลือกตั้ง ที่พวกเราคาดหวังว่าถ้าอยู่กันครบเทอม ปีหน้าก็ต้องมีการเลือกตั้งกัน ถามว่าพรรคการเมืองต่างๆ พร้อมจะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันการเมืองไหม หรือเป็นของกลุ่ม ของก๊วน อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนต่างๆ ไม่จบสิ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นความหวังก็ริบหรี่ เราต้องช่วยกันสอดส่องตรงนี้ ผมจึงมองต่อไปว่า คำว่าเพื่อประชาชน ดูจากทั้งหมดแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว คือต้องดูแลผู้คนตั้งแต่เกิดจนแก่ รัฐธรรมนูญบอกว่า มารดาและลูกในครรภ์ต้องได้รับการดูแล เด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียน รัฐต้องดูแล เรียนฟรี 12 ปี จากนั้นก็ต้องหางานให้ทำ มีสวัสดิการต่างๆ มีประกันต่างๆ ให้เขาอยู่อย่างมีความมั่นคง เขาไม่ต้องกังวลว่า ช่วงวัยนี้เขาจะมีตังค์เรียนหนังสือไหม จบมาแล้วเป็นหนี้ กยศ. ไปทำงานก็ยังตกงาน แต่ต้องใช้หนี้ ชีวิตมันวนอยู่อย่างนี้หมด จึงหนีไม่พ้นสิ่งที่ผมเรียนตอนนั้น อบายมุขทั้งหลายเพราะหวังเผื่อจะรวยเร็ว วันนี้เพราะเด็กรุ่นใหม่อยากอายุน้อยร้อยล้าน ทำอะไรก็ได้ที่อายุน้อยร้อยล้าน มันไม่ใช่สิ่งที่ถูก สิ่งนี้เราต้องพูดจากับพี่น้องเราทุกคนว่า มันเดินอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะถ้าเดินอย่างนี้ต่อไปผู้คนจะไม่มีเสถียรภาพในชีวิตเลย ผมจึงเห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งเริ่มต้นที่สำคัญ

ประการต่อมาคือว่าที่ผมเสียดายมาก  ได้ยกร่าง ได้ผลักดัน รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หมายถึงว่าเราอยากมีสักฉบับที่เขียนโดยประชาชน เห็นชอบโดยประชาชน ก็ปรากฏไปส่งศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะทำอย่างนี้ให้มาถามประชาชนจะเอาหรือไม่ สุดท้ายก็ตกไป แต่ก็มาแก้จุกจิกๆ เรื่องระบบเลือกตั้ง เพียงเพราะได้เปรียบเสียเปรียบกัน หวังว่าจะมาเอาอำนาจบนวิธีแบบนี้ แต่ไม่หวังว่าให้ประชาชนกำหนดกฎเกณฑ์บ้านเมืองของตัวเอง เราต้องผลักดันอันนี้ต่อไป นอกจากที่อาจารย์พวงทองพูดเรื่องของความยุติธรรมที่ว่ามาแล้ว ถ้าอันนี้ไม่ผลักดัน ยังเป็นอยู่แบบนี้ เราหวังได้อย่างไรว่ามันจะเป็นไปได้

ประการที่สามก็คือประเทศจะขับเคลื่อนไปได้นั้น มันขับเคลื่อนโดยแบบมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน สภาพัฒน์มี 10 กว่าด้าน ปฏิรูปมีอีก 6 ด้าน แนวนโยบายของรัฐ หน้าที่ของรัฐ ฯลฯ ผมว่าประเทศนี้มียุทธศาสตร์เยอะที่สุดในโลกแล้ว สรุปก็คือวาทกรรมไม่รู้ใครทำอะไร ผมว่าจริงๆ ในประเทศนี้ควรเดินไปใน 4 ทิศทางใหญ่ๆ เท่านั้น 1. ต้องเก่งเรื่องอาหาร เพราะเป็นเมืองเกษตร 2. ต้องเก่งเรื่องสุขภาพ 3. ต้องเก่งเรื่องท่องเที่ยว เพราะเรามีทุกอย่าง 4. เป็น Network ของการคมนาคม และโลจิสติกส์ ของภูมิภาคนี้ทั้งหมด ที่เหลือเป็น Ecosystem  เรื่องการศึกษา เรื่องนวัตกรรมเทคโนโลยี ฯลฯ เอามาส่งเสริม4 ด้านนี้ เด็กจะได้รู้เลยว่า เขาจะไปทางไหนที่รัฐเดินทางไปแล้วเขาโอเค แต่ถ้าอยากจะไปเป็นนักบินอวกาศ อันนั้นก็ไปสมัครที่นาซ่า  เพราะประเทศนี้ไปทำแบบนั้นก็ยังคงเป็นไปไม่ได้

ผมคิดว่าถ้ามีทิศทางแบบนี้ การใช้ทรัพยากร การใช้งบประมาณแผ่นดินมันจะชัดเจน ไม่ใช่เป็นแบบดั้งเดิมทุกอย่าง นี่ขนาดจะเกิด Food Security ขึ้นมา เราไม่ได้ปรับงบประมาณของที่เหลือ และที่จะตั้งขึ้นใหม่เพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้เลยแม้แต่นิดเดียว

ประการที่สี่ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ผมอยู่กับระบบราชการมาตั้งแต่เป็นอาจารย์จนกระทั่งไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ผมก็ไปคิดแบบราชการ ผมเรียนเลยว่า นักการเมืองที่มาจากภาคเอกชน พอเข้าไปอยู่ในระบบถูกครอบงำหมด รัฐบาลนี้ตอนยึดอำนาจก็ประกาศออกกฎฉบับว่าด้วยการบริการประชาชน ถ้าจำไม่ผิดประมาณปี 2557 แล้วก็บอกว่าทุก 45 ปีต้องมาสำรวจว่าจะจัดบริการให้ดีขึ้น กฎหมายล้าหลังให้เลิกไป ผมว่ายังไม่ได้ทำสักเรื่อง มีทำเรื่องเดียว ก็คือการแขวนการบังคับใช้กฎหมายโรงในปี 2562 แล้วหมดลงในปี 2564 โดยไม่ได้ปรับปรุงกฎหมายอะไรเลย สุดท้ายก็คือว่าส่วนใหญ่ก็ยังผิดกฎหมายเหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่เกิดว่า ดังนั้นผมก็เลยมองเห็นว่าถ้าประเทศนี้ไม่ Liberate คือปลดปล่อยประชาชน และ Empower ประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็ก เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดจากพี่น้องประชาชนที่อดอยากและขาดความรู้ เป็นไปไม่ได้

ผมจึงเสนอว่าการปลดปล่อยประชาชน ให้เขาทำมาหากิน TDRI เขาศึกษามา มีกฎหมายอนุมัติ อนุญาต ขั้นตอนต่างๆ 1,500 กว่าฉบับ แล้วเขาบอกต้องทำกิโยตินกฎหมายคือขจัดที่มันไม่มันไม่จำเป็นออกไป ปรับปรุงให้มันดี ให้เหมาะสม ท่านรู้ใช่ไหมกลไกการตรากฎหมายอยู่ที่กรม เสนอเป็นขั้นเป็นตอนมา นี่ขนาดพอเสนอเข้าไปรัฐบาลไม่มีร่างอยู่ ก็ขอแขวนไว้ก่อนเพื่อเอาร่างรัฐบาลมาประกบ เป็นกลไกแบบนี้รัฐบาลมาจากเลือกตั้งก็ทำอย่างนี้ ตอนรัฐบาลท่านบรรหาร กฎหมายตกสภาหมด นับหนึ่งกลับไปกรมใหม่ ต้องไปขอท่านบอกว่า 10 ฉบับนี้ขอรัฐบาลเสนอเลยได้ไหม ไม่ต้องกลับไปใหม่เพราะเป็นกฎหมายที่ดี ดีที่ท่านน่ารัก ท่านโอเค จากรัฐธรรมนูญ 40 จึงช่วยกันผลักดันว่า ตกตรงไหนต่อตรงนั้น ให้รัฐบาลใหม่ Endorse ก็จบ คือบางทีเราพูดเรื่องได้เยอะแยะ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง คือกลไกและกระบวนการที่เราต้องใช้กฎหมายให้เป็นและเป็นประโยชน์

ผมคิดว่าถ้าเราสามารถแขวนการบังคับใช้กฎหมายไว้สัก 3 ปี ผมว่าพี่น้องประชาชนจะทำมาหากินระเบิดเลย หลายเรื่องไม่มีความจำเป็นเลย นอกจากเรื่องสำคัญ เช่น หมอผ่าตัดต้องมีใบอนุญาต นักบินต้องมีใบอนุญาต สิ่งที่อันตรายมากๆ ต้องตรวจสอบ แต่โดยทั่วไปเยิ่นเย้อไม่จำเป็นเกือบทั้งสิ้น เช่น กฎหมายโรงแรม โรงแรมโตตามเศรษฐกิจ มีนักท่องเที่ยวหลากหลาย เดี๋ยวจะเป็นทัวร์มาอยู่โรงแรม 5 ดาวมันไม่ใช่อีกต่อไปแล้วนะครับ เขาปรับถนนข้าวสารเป็นโรงแรมเขาก็ใช้ห้องโถงห้องแถว แต่กฎหมายบอกว่าเป็นอาคารสาธารณะ บันไดต้อง 1.50 เมตร แต่ห้องแถว 3.50 เมตร คุณจะทำบันได 1.50 เมตร มันไร้สาระ แล้วก็ยังอยู่เหมือนเดิม เขาก็เรียกร้องคุยกัน ก็คือได้คุย แล้วก็คุยใหม่ แล้วก็คุยใหม่ จนหมดอายุ รัฐบาล แล้วก็มาคุยรัฐบาลใหม่ นี่คือภาวะที่เป็นอยู่ทั้งหมด เราต้องเข้าใจ ถ้าเราให้คนตัวเล็กเขาโตขึ้นได้ และตรงที่เราจะ Empower เขา เราต้อง Empower เรื่องอะไร?

คือหนึ่ง เขาต้องการแหล่งเงินทุน เราต้องให้เขาเข้าถึง เห็นไหมครับปีก่อน ที่รัฐบาลออกพระราชกำหนดแบงค์ชาติ ต้องการให้ Soft Loan กับ SME 5 แสนล้าน แต่เขาปล่อยผ่านธนาคาร ปรากฏว่า SME 3 ล้านกว่าราย อยู่ในระบบธนาคาร 4 - 5 แสนราย ที่เหลือคือไม่อยู่เลย เขาเข้าไม่ถึงระบบธนาคาร เมื่อเข้าไม่ถึง เขาจะไปพัฒนาตัวเขาได้อย่างไร มันจึงต้องเอา Soft Loan มาตั้งเป็นกองทุนที่มันผ่อนปรนกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า แล้วให้เขารวมตัวกัน เป็นระดับเล็ก เป็นระดับกลาง แล้วเอาตัวแทนเขามานั่งปล่อยสินเชื่อ เขาจะได้รู้ว่าเขาทำอย่างไร

ประเทศไม่สามารถบริหารโดยข้าราชการแบบ Full Scale ได้อีกต่อไป ต้องบริหารโดยผู้คน มีส่วนร่วมโดยผู้คนทุกระดับ ไม่ใช่แค่ว่าเลือกตั้ง สิ่งนี้ต้องเปลี่ยนหมด ถ้าไม่เปลี่ยนเป็นไปไม่ได้  ดังนั้นถ้าเผื่อเรามีรัฐบาลใหม่ ผมเชื่อว่าเราออกพระราชกำหนด 10 ฉบับเปลี่ยนประเทศ เขายึดอำนาจ เขาออกหลายร้อยฉบับกดทับประเทศ แล้วยังไม่ได้เปลี่ยนสักอัน ถ้าเราทำอย่างนี้มันเปลี่ยนหมด อยากได้เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เชื่อไหมครับว่า 3 จังหวัดชายแดน บวกสงขลาอีก 4 - 5 อำเภอ อยู่ใต้กฎอัยการศึก รวมทั้งชายแดนทั้งหลาย อยากโปรโมทการค้าชายแดน แต่ถ้าเขตใดอยู่ใต้กฎอัยการศึก ทหารยึดอำนาจเยอะแยะ เรื่องหนึ่งก็คือไปยึดเขาแล้วไม่ต้องใช้ตังค์เขาสักบาทก็ได้ ถามใครจะไปลงทุนครับ ผมคิดว่าผมออกกฎหมายเศรษฐกิจชายแดนหนึ่งฉบับ จะลงตรงไหน เรื่องอะไร ก็ไปออก พ.ร.ก. อยู่ในเขตกฎอัยการศึกก็ยกเลิกกฎอัยการศึกตรงนั้นไป เรื่องอนุมัติอะไรจบที่นั่นให้หมด เราได้ผู้ว่าอย่างผู้ว่าชัชชาติ ถ้า กทม. ไปอนุมัติ อนุญาต ไม่จบที่ กทม. จบที่ไหนบ้างก็ไม่รู้ ผู้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง นี่คือสภาพที่เป็นจริง ฉะนั้นเรื่องกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องการตั้งองค์กรใหม่ แต่มันต้องทำให้อำนาจในการที่จะดูแลประชาชนจบที่เขา

อีกเรื่องที่สำคัญมาก ผมว่าคือเรื่องการเปลี่ยน Mindset ของผู้คน ผมยังเห็นวาทกรรม ยังเห็นการเสียดสี ถากถางเต็มไปหมด เราอยากเห็นประเทศเดินไปด้วยกัน ผมคิดว่าเราต้องสร้าง Mindsetเราเป็นพี่น้องกัน ไม่ใช่เรื่องซ้ายเรื่องขวา ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยเผด็จการ แต่เราเป็นพี่น้อง เดินไปบนพื้นฐานของ 1. สันติภาพ 2. ประชาธิปไตย 3. หลักนิติรัฐนิติธรรม ให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาเป็นคนไทยที่มีศักดิ์ศรี มีความมั่นคงในชีวิต มีอนาคต

และที่สำคัญก็คือความสัมพันธ์ระหว่างราชการกับประชาชน ประชาชนต้องรู้สึกว่าราชการเป็นนาย ราชการก็มองประชาชนเป็นลูกน้อง ไปติดต่อที่ไหนก็เป็นเช่นนั้น มันต้องเปลี่ยนใหม่ อันแรกพวกทุกคนคือพี่น้อง อันที่สองเรากับราชการ เราคือหุ้นส่วนกัน ช่วยกันทำมาหากิน ยกตัวอย่างเช่น ปลูกข้าวมันไม่เวิร์ค เปลี่ยนเป็นปลูกมันได้ไหม ถ้าคุณปลูกมันหรือปลูกอ้อย คุณต้องดึงโรงงานอ้อย โรงงานมัน คนส่งออก เอามาคุยกันหมด นี่เราคือหุ้นส่วนกัน รัฐมีหน้าที่ช่วยตรงนี้ ผลักดันให้เดินไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่ารัฐใช้งบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก อยู่ทุกซอกทุกมุม งบกลางอันเดียวก็อยู่ทุกซอกทุกมุม เอาไปฝังนู่น ฝังนี่ ฝังนั่น กอ.รมน. ก็กลายเป็นรัฐบาลเงา ทำทุกเรื่องทุกอย่าง แม้แต่ว่าเรื่องการทำมาหากินของผู้คน ไม่นับการทำไอโอ (IO : Information Operations) ต่างๆ มันสิ้นเปลืองอย่างเหลือเชื่อ

ทั้งหมดนี้เราต้องสื่อสารให้ถึงประชาชนเพื่อไปตอบโจทย์การเลือกตั้งครั้งต่อไป เงินไม่มีความหมาย อำนาจไม่มีความหมาย อิทธิพลไม่มีความหมายที่เราต้องสร้างร่วมกัน ฉะนั้นพรรคการเมืองต้องทำเช่นนี้ร่วมกัน ไม่ใช่หวังเพียงชัยชนะเพื่อประโยชน์ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือรับใช้ทุนใหญ่ หรือทุนพรรคพวกตัวเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นยากมากที่เราจะก้าวข้ามกองขยะนี้กวาดออกไปแล้วปลูกสวนดอกไม้ได้

สุดท้ายผมคิดว่าสำคัญ ทุกคนอึดอัดมากที่สุด คือระบบการให้ความยุติธรรมของศาลทั้งหลาย ความจริงแล้วคนที่ช่วยส่งเสริมอำนาจนิยม เผด็จการ คือศาล เพราะว่าเวลาเขายึดอำนาจมีคนไปฟ้องศาลตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้ว ศาลฎีกาก็บอกว่าคนยึดอำนาจได้ถ้าสำเร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ต่อมาคดีคุณอุทัย พิมพ์ใจชนก็คงจำได้นะครับ ยึดอำนาจเขาก็ไปฟ้องศาลอาญาว่าเป็นข้อหากบฏ ศาลก็ยกฟ้องด้วยอ้างว่าคุณอุทัยไม่ใช่ผู้เสีย เขาบอกว่าเสียหาย เพราะเป็น ส.ส. เงินเดือนเขาไม่ได้รับเพราะไม่ได้เป็น ส.ส. วันรุ่งขึ้นก็เลยจับคุณอุทัยกับพวกขังคุก 

 

 

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อกี้ท่านคณบดีพูดถึงศาลรัฐธรรมนูญ ผมตอนทำศาลปกครอง ผมระมัดระวังที่สุด เรื่องละเมิดอำนาจศาล ถึงระบุไว้เลยว่า ถ้าเขาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรมและทางวิชาการ เขาทำได้นะ แต่วันนี้เลอะเทอะไปหมดแล้ว จริงๆ ตามหลักการ ควรวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในบริเวณศาล เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก ระบบมันเป็นแบบนี้ไปหมด ดังนั้นถ้าไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไปพูดเรื่องตำรวจต้องทำ แต่สำคัญที่สุดคือเรื่องศาล ต้องทำ ซึ่งก็มีแผนงานอยู่ว่าเราต้องปรับ ต้องแก้ตรงไหนบ้าง

ท้ายที่สุดถ้าเราสามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ ผมก็ฝากไว้ตรงนี้ว่าผมจะมีสัก 1 มาตรา ผมได้ไอเดียมาจากรัฐธรรมนูญปี 17 ที่บอกว่าการยึดอำนาจเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญและพระมหากษัตริย์จะนิรโทษกรรมไม่ได้ แต่เขาทำได้เพราะเขายกเลิกรัฐธรรมนูญที่ห้ามไป และหนักหนาสาหัสจนถึงทุกวันนี้ก็คือ เดิมเขาจะไม่เขียนในรัฐธรรมนูญ เขาจะไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่างหากไป และที่คณะราษฎรทำก็คือเมื่อยึดอำนาจจากในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็ไปกราบขอพระราชทานอภัยโทษ คือผู้กระทำไปขอโทษผู้ถูกกระทำ และผู้ถูกกระทำก็ยกโทษให้ จึงทรงลงพระปรมาภิไธยของพระองค์ท่านเอง ไม่มีใครรับสนอง เดี๋ยวนี้คนกระทำยกโทษให้ตัวเอง แล้วบอกให้คนทั้งประเทศต้องถือตามที่ตัวเองยกโทษ คือถือว่าไม่ผิดกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการกระทำที่ต่อเนื่องต่อไปอีก ซึ่งอันนี้ต้องยกความอัจฉริยะให้กับประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ 

ดังนั้น ศาลจึงไม่มีเครื่องมือที่จะเอาผิด ถ้าหากมีศาลรูปแบบใหม่ที่กล้าพอ ที่จะบอกว่าการยึดอำนาจมามันไม่ชอบ ผมก็เลยคิดไอเดียนี้ว่าจะเขียนไว้สัก Clause หนึ่งว่า การกระทำนี้นิรโทษกรรมไม่ได้ และให้ถือเป็นความผิด โดยถือให้บทบัญญัตินี้เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ ดำรงอยู่ตลอดไปแม้ว่าคุณจะฉีก ศาลจะได้อ้างว่านี่คือประเพณีการปกครอง การปกครองคือการรักษาประชาธิปไตย คุณฉีกประชาธิปไตยแล้วบอกว่าฉีกก็เป็นการรักษาประชาธิปไตยมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องสู่ร่วมกันอย่างนี้ ก็ขอพวกเราช่วยกันนะครับ ขอบคุณครับ

 

ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/596090475158070