ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐประหาร และ ความอ่อนแอของระบบพรรคการเมือง

2
กรกฎาคม
2565

 

เมื่อย้อนไปดูเจตจำนงในอดีตซึ่งก็พบว่าไม่มีอะไรซับซ้อนแต่กลับต้องมาดูระบอบที่วางไว้อย่างซับซ้อนพิสดารมากในปัจจุบัน ต้องถอดรหัส ต้องวิเคราะห์ เพื่อจะรู้ว่าระบบแบบนี้ต้องการอะไรกันแน่ แล้วก็พบความแตกต่างกันอย่างมาก บางท่านพูดถึงเรื่องว่าเจตจำนงของคณะราษฎรยังไม่บรรลุผล แต่ว่าสภาพของระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมือง มันหนักกว่าการไม่บรรลุผลเจตนารมณ์ของคณะราษฎรมาก

 

 

เมื่อดูเจตจำนงของคณะราษฎรในเรื่องรัฐสภา ซึ่งไม่ซับซ้อน คือในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม 2475 คณะราษฎรกำหนดอำนาจของ 4 ฝ่าย คือ อำนาจของพระมหากษัตริย์ อำนาจคณะราษฎรซึ่งคือฝ่ายบริหาร อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรคือฝ่ายนิติบัญญัติ และอำนาจของศาล ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรคือมีอำนาจในการออกกฎหมาย ยืนยันกฎหมาย และมีอำนาจถึงขั้นถอดถอนฝ่ายบริหารทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล แค่เพียงเท่านี้เอง แต่เพียงแค่นี้กลับมีความหมายมากกว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือเมื่อก่อนเขาเรียกกันว่า “ปาเลียเม้นต์” (Paliament) ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันเป็นของต้องห้าม มันเป็นของที่มีไม่ได้ แล้วคณะราษฎรเขาก็ให้มีขึ้นมา แล้วเขาก็เขียนสั้นๆ ว่าให้มีอำนาจอย่างนี้

 

 

หลังจากนั้น 90 ปีมาถึงวันนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับสภาผู้แทนราษฎร อย่างแรกที่สุดบางครั้งก็มีการยึดอำนาจ แล้วก็ไม่ให้มีสภาผู้แทนราษฎรเลย เป็นเวลาหลายๆ ปี 10 กว่าปีก็มี ในช่วงที่มีสภาผู้แทนราษฎรสิ่งที่เป็นปัญหาตลอดการของเมืองไทย คือ การมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และการกำหนดให้วุฒิสภานี้มีอำนาจในการที่จะค้ำจุนหรือล้มรัฐบาล ซึ่งก็ทำให้ผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนนั้นไม่สามารถกำหนดได้ว่าให้ใครเป็นรัฐบาล แต่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นฝ่ายกำหนด

ในช่วงหลังนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้ารัฐประหาร มีอำนาจเลือกนายก มีอำนาจร่วมออกกฎหมายสำคัญ ซึ่งมากกว่าสมัยก่อนไปอีก ร่วมออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ร่วมออกกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายปฏิรูป ซึ่งพอไปดูจริงๆ แล้ว มีอำนาจมากกว่าผู้แทนราษฎรอีก เพราะว่าได้เสียงบางส่วนของผู้แทนราษฎรมา เขาก็กลายเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา ส.ว. ยังมีอำนาจในการกำกับให้รัฐบาลต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ส.ว. มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง ยึดโยงกับองค์กรอิสระและศาล อย่างศาลปกครอง และโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

องค์กรอิสระในช่วงหลังรัฐประหารมา คสช. มีอำนาจสูงสุด อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหมด ก็เข้าแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาด ถ้าเปรียบเทียบแล้วก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย ที่เมื่อยึดอำนาจแล้วไม่มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านั้นเขายุบศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ไม่ใช่ศาลมายุบพรรคการเมืองต่างๆ จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญก็จึงมีศาลรัฐธรรมนูญขึ้น แต่ในการรัฐประหารครั้งหลังนี้ ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังจะวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ พอเขายึดอำนาจมาศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยอะไรเลย ก็หมายความว่าไม่ได้ทำหน้าที่อะไรเลย แต่คณะรัฐประหารก็ไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ต่อไป เท่ากับว่าในระบบนี้คณะรัฐประหารได้ผนวกควบรวมเอาศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือ มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเผด็จการไปแล้ว

หลังจากนั้นเวลาตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนต่อๆ มา เฉพาะครบอายุไปหรืออะไรก็ตาม ก็มีการแทรกแซงโดย คสช. และรัฐบาล เข้าไปเกี่ยวข้องได้ จากรัฐธรรมนูญเมื่อมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งแล้ว วุฒิสภามีอำนาจในการสรรหา รับรอง การตั้งองค์กรอิสระ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้มีการรับรองตั้งประธานศาลปกครองโดยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร แล้วเราก็พูดมาตลอดว่าศาลต้องเป็นอิสระ องค์กรอิสระต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล เป็นอิสระจากทุกฝ่าย แต่กลายเป็นทั้งองค์กรอิสระ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ มาเกี่ยวข้องกับการสรรหา รับรองแต่งตั้งโดย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร อันนี้ก็คือบทบาทที่เปลี่ยนไปของรัฐสภา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และอีกส่วนหนึ่งที่มาจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

การที่รัฐสภามีบทบาทไปแบบนี้ มันเป็นความแตกต่างจากเจตจำนงของคณะราษฎรอย่างสิ้นเชิง คณะราษฎรเขียนไว้สั้นๆ บอกว่ามีสภาผู้แทนราษฎร ความตั้งใจเขาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา แล้วก็ให้มีอำนาจออกกฎหมาย ให้อำนาจถอดถอนฝ่ายบริหาร แต่ระบบที่ในรัฐธรรมนูญนี้ที่เขียนหลายหมวด หลายมาตราเต็มไปหมด เขียนไปแล้วเพื่อจะลดทอนอำนาจของประชาชนอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งประชาชนแทบไม่เหลืออะไรเลย จากที่บอกว่าให้อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย เขาเขียนรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นมาต่อระบบรัฐสภา จนกระทั่งประชาชนไม่เหลืออำนาจอะไร

ในส่วนของพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็เป็นของคู่กันกับระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ คือ จะให้คนลงสมัครรับเลือกตั้งกันไปโดยไม่ต้องสังกัดพรรคอะไรกันเลย แล้วก็ใครจะพูดอย่างไร ใครจะคิดอย่างไรก็ว่าไป ถึงเวลาไปลงมติกันในสภา ว่าจะเอานโยบายไหน อย่างไร ทีละเรื่องๆ เขาให้คนมารวมกัน คิดเหมือนกัน คิดคล้ายกันมารวมกัน แล้วไปทำสัญญาประชาคมกับประชาชนว่าเรื่องนั้นจะเอาอย่างไร เรื่องนี้จะเอาอย่างไร แล้วให้ประชาชนเลือก เลือกไปแล้วถ้าไม่ทำตามนั้นเขาก็ไม่เลือกอีก อันนี้เป็นเรื่องง่ายมาก ที่เขาทำกันทั่วโลก

 

 

มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ต้องการใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือรับฟังความต้องการของประชาชน เพื่อไปผ่านระบบการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภาแล้วไปเปลี่ยนแปลงประเทศ พัฒนาประเทศ แต่ว่าพรรคการเมืองเจออะไรใน 90 ปีมานี้จนถึงปัจจุบัน คือมีการรัฐประหาร บางครั้งยุบพรรคการเมืองทั้งหมด และไม่ให้มีพรรคการเมืองอยู่เลยเป็น สิบๆ ปี สลับกับการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็ต้องเกิดขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นใหม่ต่อเรื่องเก่าไม่ติด อยู่ได้ไม่ทันไรยึดอำนาจ ยุบพรรคการเมืองอีกแล้ว มันล้มลุกคลุกคลานมาแบบนี้

ใน 30 ปีมานี้ก็เปลี่ยนไปบ้างก็คือว่า ยึดอำนาจแล้วเขาไม่ได้ยุบหายไปเลย แต่ห้ามทำกิจกรรมต่างๆ แต่ใน 20 ปีมานี้ ก็เกิดวิธีการแบบใหม่ คือไม่ได้ยุบพรรคการเมืองทั้งหลาย ตลอดเวลาที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการโดยเฉพาะครั้งหลังนี้ ปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบตั้ง 5 ปี พรรคการเมืองไม่ต้องทำกิจกรรม แต่ว่าใน 20 ปีมานี้ เขาสร้างระบบที่จะสามารถยุบพรรคการเมืองได้ง่าย โดยไม่ต้องมีเหตุอันสมควร ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยุบพรรคการเมืองได้ง่ายและไม่มีเหตุผล ง่ายที่สุดในโลก

แล้วก็ตามมาด้วยมาตรการสำคัญ เพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ทั้งๆ ที่กรรมการบริหารพรรคเกือบทุกคนไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดๆ รวมทั้งบางพรรคถูกยุบไปทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำผิดใดๆ เลยด้วยทั้งพรรค ยุบพรรคการเมืองไป เพิกถอนสิทธิ์กรรมการจาก 5 ปี เดี๋ยวนี้เป็น 10 ปีแล้ว เพื่อทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงมา

ในอดีตสิ่งที่ทำกับพรรคการเมืองที่เป็นการทำลายพรรคการเมืองอย่างมาก คือการที่คณะรัฐประหารต้องการจะสืบทอดอำนาจ เป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเอง ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเองนี่มีตั้งแต่ช่วงปี 2490 ช่วงปี 2500ปี 2514 และปี 2534 ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาโดยใช้อำนาจ ใช้ผลประโยชน์เข้าล่อ แล้วก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แล้วมีการทำซ้ำในปี 2557 เมื่อมีการยึดอำนาจ มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ 

ทำไมผมถึงบอกว่าการตั้งพรรคการเมืองแบบนี้เป็นการทำลายพรรคการเมือง ทำลายระบบพรรคการเมือง เวลาเขาตั้งพรรคการเมืองนอกจากใช้อำนาจ ใช้ผลประโยชน์ต่างๆ ใช้โอกาสความเป็นไปได้ในการเป็นรัฐบาลมากกว่าพรรคอื่นๆ แล้ว ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำอย่างน่าเกลียดมากคือ นักการเมืองไม่มีคดีก็หาคดีให้ นักการเมืองไม่มีคดี คนจะเป็น ส.ส. ไม่มีคดี แต่ญาติพี่น้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเป็นข้าราชการไปหาคดีให้ แล้วบอกว่าถ้ามาอยู่ก็จะเป่าคดีให้ แล้วก็เกิดกรณีแบบนี้หลายกรณีมาก เป็นการกวาดต้อนนักการเมืองให้เข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองแบบนี้ กวาดต้อนเข้าไปแล้วในทางระบอบก็ออกแบบว่าให้พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง แตกกันง่าย ลงมติได้อิสระ ไม่ต้องไปตามมติพรรค ที่เคยบอกว่าต้องไม่ให้ย้ายพรรคกันง่ายๆ เพราะว่าประชาชนเขาเลือกคุณมาอยู่พรรคหนึ่ง พอเสร็จแล้วย้ายพรรคไปอยู่พรรคหนึ่งแบบนี้ไม่ได้ พูดกันมาแบบนี้นานแล้ว

 

 

ครั้งหลังนี้ใช้วิธีซิกแซ็กตามรัฐธรรมนูญนี้ จนกระทั่งกลายเป็นว่าจงใจให้ขับออกจากพรรค เพื่อที่จะได้ย้ายพรรคไปอยู่อีกพรรคหนึ่ง ข่าวการต่อรองอะไรต่างๆ ก็เกิดเต็มไปหมด มันก็เลยกลายเป็นว่าถ้าการเมืองมันไม่ใช่ที่รวมของคนมีอุดมการณ์ คนคิดเหมือนกัน มีนโยบายเหมือนกัน อย่างที่นักคิดนักรัฐศาสตร์พูดอยู่ตลอด เรียกร้องเอาจากนักการเมือง แต่สุดท้ายคณะรัฐประหารและระบบที่พวกเขาสร้างขึ้น ต้องการใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือ และเขียนกติกาเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ จนในที่สุด คนก็จะบอกว่า พรรคการเมืองเลว นักการเมืองเลว ที่เลวก็เพราะพวกคุณใช้เป็นเครื่องมือ ต้องการสร้างเครื่องมือเพื่อการสืบทอดอำนาจ 

เรื่องที่ทำกับพรรคการเมืองและเป็นเรื่องใหญ่มากและมีผลต่อประชาชนโดยตรงอย่างมากก็คือ การขัดขวางการไม่ยินยอมให้พรรคการเมืองได้ทำหน้าที่ในระบบพรรคการเมืองตามระบบรัฐสภา ในการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง ในการนำเสนอนโยบายต่อประชาชน ในการรับฟังความเห็นประชาชนมาแล้วไปทำนโยบาย แล้วไปหาเสียงแข่งกัน แล้วเอาไปทำนโยบายรัฐบาล แล้วนำไปบริหารประเทศ ซึ่งเหตุการณ์อย่างนี้มันเคยเกิดขึ้น ปรากฏการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นและทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาธิปไตยมันดี เลือกตั้งนี่มันดี มันเปลี่ยนชีวิตเราได้ ที่พูดว่าประชาธิปไตยกินได้ ประชาธิปไตยกินได้ ก็คือสิ่งนี้ 

และสิ่งที่เขาทำในรัฐธรรมนูญปี 60 เรื่อยมานี้ ก็คือขัดขวางไม่ให้เกิดขบวนการนี้อีก ทำอย่างไรไม่ให้เกิด เมื่อก่อนบอกว่าเป็นนายกคนกลาง พรรคการเมืองใครเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถใช้นโยบายของพรรคคุณได้ ต้องใช้นโยบายคนกลาง บริหารที 8 ปี ไม่มีปรากฏนโยบายของพรรคการเมืองเลย มาตอนหลังนี้ก็บอกว่าเป็นรัฐบาลผสม ขึ้นจอโฆษณาไว้ทั่วประเทศหมด นโยบาย 5 ข้อ 8 ข้อ พอถึงเวลาเป็นรัฐบาล ไม่ต้องทำตามเลยแม้แต่ข้อเดียว เหมือนไม่ทุกข์ร้อนอะไรเลย

มากกว่านั้นคือ โดยระบบแล้ว เขาไม่ต้องการให้มีการแข่งขันกันทางนโยบาย ไม่ต้องการให้ประชาชนกำหนดนโยบายรัฐบาล ด้วยการเขียนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้ให้ละเอียดมากๆ ใครอยากจะแก้ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ 

ที่สำคัญและเลวร้ายกว่านั้นก็คือเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเอาไว้ แล้วมี ส.ว. มาคอยกำกับ รัฐบาลปัจจุบันนี้ถ้าหากมีคนมาตรวจสอบว่าทำตามยุทธศาสตร์หรือไม่ จะพบว่าไม่ได้ทำเลย ซึ่งก็จะถูกถอดถอนไปแล้ว ถ้าเขาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บังเอิญว่าเขาเป็นพวกเดียวกัน ก็เลยไม่มีการตรวจสอบ แต่ปัญหานั้นไม่ใหญ่เท่ากับ การเขียนยุทธศาสตร์ชาติไว้ ถ้ามีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จะแก้ปัญหาที่ต่างจากยุทธศาสตร์ชาติก็จะทำไม่ได้ แล้วยุทธศาสตร์นี้เขียนด้วยคนที่อยู่ในสภาพที่คิดอะไรไม่ได้แล้วทั้งนั้นมาทำยุทธศาสตร์ชาติกัน 

การหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าพูดถึงนโยบายจะต้องแสดงที่มาของงบประมาณ ทำไมพรรคการเมืองหลายพรรคไม่กล้าเสนอนโยบายอะไรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะเขาบอกว่าไม่อย่างนั้น กกต. จะระงับคุณ การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วทำได้น้อย เพราะว่ารัฐบาลมีโครงการที่แจกเงินประชาชน โดยใช้งบประมาณ 4 - 5 หมื่นล้านบาท แล้วตั้งชื่อโครงการให้มันพ้องกับชื่อพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วคนอื่นจะแข่งอย่างไรครับ ก็แจก 4 - 5 หมื่นล้านได้ คนของพรรคนี้ไปรวบรวมบัตรประชาชนมา แล้วก็บอกว่าเดี๋ยวได้เข้าโครงการนี้ เดี๋ยวจะมีเงินมาแจก แล้วเดี๋ยวก็มาแจกจริงๆ บอกอีก 3 อาทิตย์จะมาแจกอีกก็มาแจกจริงๆ แล้วบอกว่าสงกรานต์จะแจกอีก เลือกตั้งมีนาคมก็พอดีเลย นี่คือการทำลายการแข่งขันทางนโยบายของพรรคการเมืองลงไป

หลังสุดก็เหมือนเรื่องเล็กๆ มีบัตร 2 ใบ แต่ว่าบัตร 2 ใบนี้ต้องเป็นคนละเบอร์ เพื่อให้สับสน เพื่อให้คนไม่คิดถึงพรรคการเมืองมากเกินไป ให้คิดถึงตัวบุคคลมากๆ ทั้งหมดนี้ทำมาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิ์ มียุทธศาสตร์ชาติ หาทางสกัดทุกอย่างไม่ให้แข่งขันทางนโยบาย มุ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ มุ่งทำลายพรรคการเมืองในทุกมิติที่พวกเขาจะทำได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง

เพราะฉะนั้นถ้าเรารวมเรื่องที่เกิดกับรัฐสภา และเรื่องที่เกิดกับพรรคการเมืองเราก็จะพบว่า มันแตกต่างจากเจตจำนงของคณะราษฎร แบบฟ้ากับเหว เพียงมาตราเดียวที่ไม่ซับซ้อนอะไรเลย บอกว่าให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมาก อำนาจนั้นมาจากราษฎร เสร็จแล้วคุณมาเขียนอะไรที่ซับซ้อนเต็มไปหมด เพื่อจะให้มีผลว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน ไม่ต้องเหลืออำนาจอะไรเลย นี่คือการเทียบเคียงระหว่างเจตจำนงของคณะราษฎรกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นเวลานี้ที่พูดกันอยู่เรื่อยๆ ว่าเมื่อก่อนนี้มีประชาธิปไตยครึ่งใบ บางคนก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ต้องเรียกเผด็จการครึ่งใบ พอให้ผมไปศึกษาเจตจำนงของคณะราษฎรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ระบบการปกครองแบบปัจจุบันนี้อย่างมากก็เป็นประชาธิปไตยสลึงเดียวหรือ 25 สตางค์

ให้ไปวิเคราะห์แบบนี้ผมอิจฉาอาจารย์ชาญวิทย์ที่พูดตอนต้น พูดเรื่องอดีตแล้วรู้สึกว่ามีชีวิตชีวา มีความสุขที่จะคุยถึงอดีตในส่วนที่ดีงาม ถ้าให้ผมมาพูดเรื่องปัจจุบันแต่กลายเป็นปัจจุบันที่น่าเศร้า แต่ขณะเดียวกันผมคิดว่า พอศึกษาสภาพของบ้านเมืองดีๆ ก็มีความหวังเหมือนกัน เพราะระบบแบบนี้มันเป็นระบบเผด็จการสุดๆ แล้ว มันเผด็จการมากไปกว่านี้คือต้องยึดอำนาจ ยึดอำนาจก็คราวนี้คงจะสู้กันใหญ่ทั้งประเทศ แต่ว่าอะไรที่เลวสุดๆ แล้วมันไม่น่าจะเลวไปกว่านี้ มันก็น่าจะดีขึ้น นี่คิดแบบตรรกะง่ายๆ ก่อน 

มากกว่านั้นก็คือ ระบบแบบนี้ได้รัฐบาลไม่ต้องคิดจะตอบสนองต่อประชาชน ไม่มีใครคิดจะไปร่วมมือ คนมีความรู้ความสามารถไม่มาร่วมรัฐบาลแบบนี้ แล้วรัฐบาลแบบนี้จะไม่สามารถมีประสิทธิภาพได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประเทศได้ ในขณะที่ประเทศกำลังประสบวิกฤต อยู่ในวิกฤตกันทั่วโลก แล้วประเทศไทยก็อยู่ในวิกฤต แต่คุณเอารัฐบาลแบบนี้ภายใต้ระบบแบบนี้ที่ประชาชนไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ในขณะที่ทั่วโลกเขาไปถึงไหนแล้ว และที่สำคัญคือประชาชนและคนรุ่นใหม่ก็เรียนรู้ว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว ซึ่งเขามองไปข้างหน้า ถ้าอยู่กับรัฐบาลแบบนี้มันไม่มีอนาคต เขาก็ต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการให้รัฐบาลดีขึ้นเพราะฉะนั้นระบบแบบนี้มันกำลังทำลายตัวมันเอง กำลังทำให้คนมีข้อสรุปว่าต้องเปลี่ยนระบบ แบบนี้ปล่อยเอาไว้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แล้วถ้าถามผมว่า ถ้าจะเปลี่ยนต้องทำอย่างไร ได้รัฐบาลแบบนี้เพราะมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ ถ้าอยากเปลี่ยนต้องเปลี่ยนกติกา แต่ว่าคนพวกนี้ก็ไม่ยอมอีก ส.ว. มีอำนาจพิเศษอีกข้อหนึ่งคือสามารถยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ 

แต่ถ้าจะเปลี่ยนจะต้องเรียงลำดับให้ดี บ้านเมืองแย่ รัฐบาลแบบนี้ยิ่งอยู่ ประชาชนยิ่งแย่ ประเทศยิ่งหายนะ เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนรัฐบาลก่อน แล้วก้าวไปอีกขั้นหนึ่งคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทีนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ไขว่าอย่างไร ผมว่าแก้ไขยืนยันหลักการว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาข้อที่ 1 แล้วเขียนสั้นๆ แล้วมาตราว่าด้วยสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องเขียนยาว ขอยืมคำพูดของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกกฎหมาย มีอำนาจยืนยันกฎหมาย มีอำนาจถอดถอนฝ่ายบริหารได้ ทั้งคณะและตัวบุคคล

 

 

ท่านก็อาจจะบอกว่าเขียนอย่างนี้มันก็มีในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เขาก็ให้อำนาจแบบนี้อยู่แล้ว แต่ผมบอกไปแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันเขียนอะไรอีกหลายหมวด หลายมาตราระโยงระยางกันเต็มไปหมด เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรสุดท้ายไม่มีอำนาจอะไรเลย เพราะฉะนั้นผมก็เสนอว่าเขียนมาตราเดียวเรื่องสภาผู้แทนราษฎรแบบนี้ และความรกรุงรังทั้งหลายที่ให้อำนาจองค์กรอิสระ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจ ส.ว. อะไรทั้งหลาย เราก็อย่าไปเขียนมันก็เท่านั้นเอง จึงจะได้รัฐธรรมนูญที่อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายจริงๆ ขอบคุณครับ

 

ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/596090475158070