ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สตรีเพศ การต่อสู้ และกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง

3
กรกฎาคม
2565

 

สวัสดีวันชาติครับ

วันนี้จะขอพูดเรื่องของ “บทบาททางเพศกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” เพราะเวลาเราพูดถึงห้วงเวลาเหล่านี้ก็จะมองไม่ออกว่าสตรีนั้นอยู่ตรงไหน

ส่วนหนึ่งก็เพราะคณะราษฎรเองเป็นกลุ่มชายล้วนด้วย แต่ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสธารการเคลื่อนไหวของขบวนการของผู้หญิงมาก่อนหน้านี้ รวมถึงสภาพสังคมในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทั้งเพศชายและเพศหญิงในด้านความคิด เพศ และการต่อสู้กับสภาพสังคมที่มีลักษณะเป็นปิตาธิปไตยอยู่แล้วด้วย 

 

 

เมื่อย้อนความไปก่อนหน้านั้นได้มี คณะมิชชันนารี เพรสไบทีเรียน เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและได้สร้างโรงเรียนผู้หญิงที่จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2408 ซึ่งการสร้างโรงเรียนสะท้อนให้เห็นการสร้างพื้นที่ทางความรู้ในสังคมสมัยใหม่ โดยผู้คนสามารถสมัครเข้าไปเรียนได้ หลักสูตรการสอนประกอบด้วยการสอนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ 

ในบางโรงเรียนก็มีสอนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมด้วย เพื่อทำให้ผู้หญิงสามารถอ่านออกเขียนได้และมีวิชาชีพติดตัว เช่น การเย็บปักถักร้อย งานครัวเรือน ทำให้ผู้หญิงสามารถมีบทบาททางความคิดได้มากขึ้น

เมื่ออ่านออกเขียนได้ก็สามารถเข้าถึงนิตยสาร แมกาซีนภาษาต่างประเทศได้ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่แต่เคยพบเห็นได้ในแอฟริกา ญี่ปุ่น และเมียนมา เมื่อมิชชันนารีเดินทางเข้าไปหรือช่วงถูกล่าอาณานิคมก็ทำให้เกิดโรงเรียนสมัยใหม่ขึ้นมากจนทำให้เกิด ‘ผู้หญิงสมัยใหม่’ (Modern Girl) ที่มีความรู้ ความคิด ความอ่าน และมีวิชาชีพติดตัว

หลังจากโรงเรียนผู้หญิงในจังหวัดเพชรบุรี ปี พ.ศ. 2508 แล้วก็มีโรงเรียนหญิงล้วนเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อีกมากมาย เช่น โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง พ.ศ. 2417 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ใน พ.ศ. 2447 โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ในปี พ.ศ. 2449

โรงเรียนเหล่านี้ส่งผลให้เมื่อพวกเธอจบออกมาแล้วก็สามารถออกไปทำมาหากินได้ ไม่ว่าจะเป็นเสมียน ครู อาจารย์ นางพยาบาล เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐ ซึ่งเมื่อพวกเธอได้ออกมาทำงานนอกบ้านก็ทำให้มีอำนาจจับจ่ายเป็นของตัวเอง ได้เจอสังคมใหม่ๆ ในพื้นที่สาธารณะ และสามารถหาเลี้ยงชีพตนเองได้ เมื่อมีอำนาจการบริโภค พวกเธอจึงสามารถเลือกซื้อสิ่งต่างๆ ได้ หนึ่งในนั้นคือ หนังสือ เนื่องจากพวกเธอสามารถอ่านออกเขียนได้แล้ว 

 

 

หนังสือและสิ่งพิมพ์ในช่วงนั้นถือเป็นพื้นที่สาธารณะแบบสมัยใหม่ที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนกันได้ จะเห็นได้ว่าในหนังสือพิมพ์นั้นมีพื้นที่ให้ราษฎรได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของรัฐ ราชาธิปไตย และสังคมศักดินาในตอนนั้นด้วย ซึ่งเป็นบทความที่มีความเข้มข้นและรุนแรงมาก อาจลองจินตนาการเทียบได้กับแฮชแทกในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในปัจจุบันซึ่งสามารถเทียบเคียงกันได้ เนื่องจากเป็นการแสดงออกที่ต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม และเป็นการเรียกร้องความเป็นเสรีนิยมและความเสมอภาคทางชนชั้นด้วย

นอกจากนั้น ผู้หญิงก็ไม่เพียงซื้อหนังสือเพื่ออ่านคนเดียวอย่างเดียว เนื่องจากในเวลากลางวันพวกเธอออกไปทำงานนอกบ้าน ก็อาจมีการเอาหนังสือมาอ่านเล่าสู่กันฟังหรืออ่านให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งหนังสือในขณะนั้นแม้จะเป็นนวนิยายแต่ก็สอดแทรกแนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยม ความรักเชิงโรแมนติก ปัจเจกนิยมและเสรีภาพ ซึ่งความเป็นปัจเจกนิยมและเสรีภาพนี้ นำไปสู่แนวคิดการเลือกคู่ครองของตนเองและเกิดการต่อต้านการคลุมถุงชนในสังคม

นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นอันถือเป็นการท้าทายราชสำนักมาก เนื่องจากหลายบทความในหนังสือพิมพ์ต่อต้านชนชั้นเจ้าและพฤติกรรมแบบ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ อันถือเป็นการกดขี่สตรี รวมถึงในแง่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสามีภรรยาชนชั้นสูงด้วยเช่นกัน เรื่องการมีคู่ครองของชนชั้นสูงในสมัยนั้นมักทำให้สตรีเป็นบริวารมากกว่าคู่ครองหรือคนรัก

ด้วยความที่พวกเธอมีแนวคิดแบบเสรีนิยม จึงทำให้ต่อมามีการออกสิ่งพิมพ์และนิตยสารสำหรับผู้หญิง เช่น นิตยสารกุลสตรี ปี 2449 นิตยสารสตรีนิพนธ์ ปี 2457 รวมถึงนิตยสารสตรีสาร ปี 2465 ที่ได้มีการระบุในคำนำเลยว่า “เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับสตรีที่รับทุกข์ สตรีมีความทุกข์หรือได้รับความเดือดร้อนอันมีบุรุษเพศได้กระทำด้วยความมิเป็นธรรม เชิญบอกนามและเรื่องจริงมายังเรา” จึงกลายเป็นว่านิตยสารและสิ่งพิมพ์ที่ผู้หญิงเป็นคนก่อตั้งขึ้นมาเองในช่วงนั้นก็ก่อตั้งมาเพื่อผู้หญิง โดยผู้หญิง ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ขณะเดียวกัน ในคอลัมน์นิตยสารเหล่านี้ก็ยังมีเรื่องของศาล กฎหมาย การเมือง เต็มไปหมด รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์และให้ความรู้ด้านการเมืองการปกครองในประเทศต่างๆ อันทำให้พวกเธอมีบทบาททางความคิดมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ราชาธิปไตยและปิตาธิปไตยในขณะนั้น นิตยสารสุภาพสตรี สุภาพนารี นิตยสารหญิงสยาม ก็มีการเรียกร้องให้สิทธิของครูผู้หญิงเท่าเทียมกับครูผู้ชาย เนื่องจากว่าระบบราชการในขณะนั้นคล้ายว่าผู้หญิงเป็นเพียงคนรับจ้าง รับงานจากหน่วยงานราชการเป็นงานๆ ไปเท่านั้น ไม่ได้ถูกมองว่ามีคุณค่าใด และเงินเดือนก็น้อยกว่าข้าราชการชาย ครูผู้หญิงที่เป็นอาชีพใหม่ขณะนั้นก็มีเงินเดือนน้อยกว่าครูผู้ชายและไม่ถือว่าเป็นข้าราชการสัญญาบัตรชั้นราชบุรุษด้วย บำเหน็จบำนาญก็ไม่ได้รับ คุณค่าทางสังคมก็น้อยกว่า ทำให้หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นก็เริ่มมีการตีพิมพ์บทความที่เรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมให้กับข้าราชการหญิงและอาชีพครูผู้หญิง

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2479 มีการปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนใหม่ทำให้สถานะข้าราชการหญิงได้เท่าเทียมกับข้าราชการชาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน เสมอภาคตามระบอบรัฐธรรมนูญและได้บำเหน็จบำนาญเท่ากัน

ในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือว่าสถาบันการปกครองนั้นสั่นคลอนมาก ผู้หญิงเองก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว เขียนฎีกาไปยังรัชกาลที่ 7 เรื่องให้ออกกฎหมายคุ้มครองการมีผัวเดียวเมียเดียวด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่ารัฏฐาธิปัตย์ก็ไม่ได้ให้คุณค่ากับเสียงของราษฎรในขณะนั้น จึงทำให้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรจึงได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวให้เป็นการแต่งแบบผัวเดียวเมียเดียว

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้เปลี่ยนราษฎรกลายเป็นประชาชน เปลี่ยนรัฐสมัยใหม่ให้เป็นรัฐประชาชาติ พวกเราจึงได้เป็นประชาชนไม่ใช่ราษฎรภายใต้การปกครอง พวกเราจึงได้มีอำนาจปกครองเป็นของตัวเอง เป็นตัวแทนของรัฐที่เราอยู่ ถือว่าเราเป็นเจ้าของประเทศในขณะนั้นแล้ว

มีบทความหนึ่งที่เกี่ยวกับผู้หญิงได้นำเสนอมาว่า เนื่องจากเราได้สิทธิพลเมืองที่ผู้ชายและผู้หญิงสามารถเลือกตั้งเท่าเทียมกันได้อันถือว่าก้าวหน้าในขณะนั้น อย่างในสหรัฐฯ เอง กว่าที่ผู้หญิงจะมีสิทธิพลเมืองสามารถลงคะแนนเลือกตั้งและลงสมัครเลือกตั้งได้ก็ในปี ค.ศ. 1920 ในอังกฤษเองก็ ค.ศ. 1928 ซึ่งของประเทศไทยเอง ปี 2475 เทียบเคียงได้กับ ค.ศ. 1932 ซึ่งเร็วกว่าฝรั่งเศสด้วยซ้ำที่เกิดขึ้นในปี 1944 - 1945 อันมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 1909 และอาจเป็นไปได้ว่าคณะราษฎรที่ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ได้เห็นขบวนการเคลื่อนไหวจึงมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในตอนนั้น ประกอบกับราษฎรหญิงในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีความคิดความอ่านอย่างหัวก้าวหน้าที่พร้อมต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ถึงแม้ว่าพวกเธอจะไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรแต่ก็ถือว่าเป็นอีกแรงกระเพื่อมหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้

ในช่วงเวลานั้นเองหลังจากที่ผู้หญิงได้รับสิทธิพลเมืองแล้ว นิตยสารหญิงไทยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงไทยมีสิทธิพลเมืองเสมอภาคกับผู้ชายก็จริง แต่การที่ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในรัฐสภาไม่กี่คน อาจเป็นเพียงเกียรติยศของเฉพาะบุคคลเท่านั้นและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหญิงหมู่มากได้ หากคำนึงถึงความลำบากของผู้หญิงอีกกว่าเจ็ดล้านคนจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงพร้อมที่จะตรวจสอบทั้งระบอบการปกครองเก่าหรือระบอบการปกครองใหม่ ณ ตอนนั้น ซึ่งที่เป็นเรื่องที่ดีมาก

ขณะเดียวกันได้เกิดการเลือกตั้งช่วง 1 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรประจำจังหวัด ในช่วงนี้มีผู้ที่เข้ามาสมัครเป็นผู้แทนตำบลจำนวนมาก ซึ่งก็มีผู้สมัครเป็นผู้หญิงจำนวนมากเช่นกัน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายคนก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนตำบลไปเลือกผู้แทนราษฎร เช่น จังหวัดพระนคร ปทุมธานี ลำปาง เลย ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ปัตตานี ฯลฯ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจคะแนนเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ซึ่งก็มีผู้หญิงจำนวนมากที่เข้าไปทำหน้าที่ในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่หวังค่าตอบแทนหรือเบี้ยเลี้ยงค่าพาหนะ ถือได้ว่าเป็นอาสาสมัครที่พร้อมจะผลักดันประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

จนเมื่อเกิดกบฏบวรเดชโดยฝั่งเจ้าที่พยายามจะยึดระบบการปกครองแบบเดิมกลับมาแต่ก็พ่ายแพ้ไป ปีต่อๆ มาก็มีการจัดเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2476 และได้เกิดหนังสือที่ชื่อว่า ‘เทิดรัฐธรรมนูญ 2476’ ซึ่งในนั้นมีบทความที่ผู้หญิงเขียนจำนวนมาก เช่น บทความของ คุณบุญฉวี จันทรวัฒน์ “รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของใหม่สำหรับมนุษย์” เป็นบทความที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศส เธอเขียนว่า

“ราษฎรยึดอำนาจจากกษัตริย์ที่เกิดทั่วโลกนั้นเป็นการเรียกคืนอำนาจรัฏฐาธิปัตย์กลับคืนมา อำนาจเดิมสูงสุดเป็นของราษฎรอยู่แล้ว เพียงแต่มอบให้กษัตริย์ในระยะหนึ่ง กษัตริย์เป็นแต่เพียงผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เทวดาเสกมา แต่กษัตริย์กลับลืมตน เข้าใจว่าตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของแปลกใหม่ในสยามหรือเป็นสินค้าจากต่างประเทศ หากแต่เป็นสัญญาระหว่างราษฎรกับกษัตริย์ เมื่อถึงเวลาแล้วกษัตริย์ก็ต้องคืนให้กับราษฎร”

เช่นเดียวกับอีกบทความหนึ่ง คุณอนงค์ บุนนาค ทำเป็นตารางแสดงข้อมูลว่าประเทศแบบสาธารณรัฐและประเทศแบบราชอาณาจักร มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญยาวนานแค่ไหน บ้างก็เขียนกวี เช่น คุณทิพย์ เจนวิจิตร จากหาดใหญ่ เขียนปลุกระดมให้ผู้คนหันมาปกป้องรัฐธรรมนูญด้วยกายและใจ ถ้าหากมีใครมาทำลายต้องช่วยกันกอบกู้ 

 

 

ในช่วงเวลาเดียวกันมีการจัดประกวดเรียงความในช่วงวันชาติและวันรัฐธรรมนูญ ในปี 2483 ก็มีคุณบุญเจือ มิ่งขวัญ อายุ 17 ปี ได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ในหัวข้อ “รัฐนิยมส่งเสริมอารยธรรมของชาติอย่างไร” ในปีต่อมา 2484 นักเรียนวัย 16 ปี ชนะในหัวข้อ “พลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ช่วยเหลือการป้องกันประเทศชาติอย่างไร” ซึ่งเมื่อรวบรวมแล้วมีกว่า 200 ฉบับ

นอกจากนี้ก็ยังมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “ประชาชาติสตรี” ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงจำนวนมากก็ระดมความสามารถร่วมกันเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเอาเงินมาบำรุงขวัญและกำลังใจทหารในภาวะสงคราม และหาทุนสะสมเพื่อซื้ออุปกรณ์เวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็มีบทความจากหลายบุคคลที่เราคุ้นหูคุ้นตากัน เช่น จาก ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ลงไปในนั้น รวมถึงนิยาย เรื่องสั้น คำกลอนด้วยในเรื่องว่าผู้หญิงจะมีบทบาทในการไปช่วยชาติอย่างไร แม้จะไม่ได้ไปออกรบแต่ก็มีสิทธิ์ในการสร้างชาติ พัฒนาชาติได้ ช่วยเหลือชาติในยามสงครามได้ และที่สำคัญจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ด้วย

เมื่อมองกลับไปในช่วง 90 ปี ที่เราผ่านมา จะเห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทอย่างมาก และเมื่อมองกลับมาในปัจจุบัน การเกิดขึ้นของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ที่พวกเราเรียกกันเองด้วยและถูกนิยามด้วยนั้น มีผู้หญิงจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่ชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นข้อที่น่าดีใจตรงที่ว่าจากคณะราษฎร 2475 ที่เสนอหลัก 6 ประการที่ทำให้ประเทศเรามีพัฒนาการระดับหนึ่งแล้ว ในตอนนี้เหลือเพียง 3 ประการ ซึ่งสามข้อนี้ก็มีเพดานความคิดที่สูงขึ้นเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมมากขึ้น เข้าใจบริบททางสังคมและการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น แม้ว่าเราจะมองว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่พวกเธอเองก็เป็นแกนนำด้วย 

 

 

คนรุ่นใหม่อาจไม่ใช่เรื่องของคนอายุน้อยเท่านั้น มีหลายคนที่เราสามารถเรียกว่าคนรุ่นใหม่ได้ อย่างเช่น “ป้าเป้า” เพราะว่าเธอก็อายุมากแล้ว และเป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมกับคณะราษฎร 2563 ด้วย

เราก็หวังอย่างยิ่งว่าเมื่อเรามองย้อนกลับไปก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผู้หญิงก็มีบทบาทมาก แล้วก่อนที่จะถึงวันครบรอบ 100 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475 เราจะได้เห็นบทบาทของผู้หญิงและเนื้อหาสาระของข้อเรียกร้องในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อสิทธิ สถานภาพทางสังคม สถานภาพทางเพศ ที่เข้มข้นมากขึ้น และก็หวังว่าจะได้เห็นผลสำเร็จในเร็ววันนี้ 

 

ที่มา : PRIDI Talks #16: 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/596090475158070