ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ถอยเพื่อรุก

30
กรกฎาคม
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 5  ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ควบรวมกระทรวงกลาโหม - มหาดไทย

 

จากคัมภีร์พิชัยสงครามของซุนหวู่ ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “เมื่อฝ่ายข้าศึกมีกำลังที่เข้มแข็งกว่าในทุกด้าน จึงมีความจำเป็นที่ฝ่ายเราต้องถอยออกมาเพื่อตั้งหลัก ถือได้ว่าเป็นการถอยอย่างมีชั้นเชิง ทั้งนี้เพื่อเตรียมการรุกเผด็จศึกในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป”

เหตุการณ์ภายหลังการประกาศเอกราชในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ที่ประสบกับมรสุมนานัปการนั้นจะเห็นได้ว่า หวอเหงียนย้าปประยุกต์คัมภีร์พิชัยสงคราม “ถอยเพื่อรุก” อย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างไร

ความสำเร็จในการเจรจาให้ทหารจีนก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คจำนวน 200,000 นาย ที่เข้ามาทำการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทางภาคเหนือของเวียดนาม จนสามารถถอนกำลังทั้งหมดกลับประเทศจีนได้ เท่ากับยกภูเขาออกจากอกของชาวเวียดนามลูกหนึ่ง

หากแต่ว่าคู่กรณีที่สำคัญที่สุดของเวียดนามในระยะเริ่มแรกของการประกาศเอกราช หรือเรียกว่ายังอยู่ระยะตั้งไข่นั้น คือ ฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองเวียดนาม เขมร และลาวมาก่อน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงฝรั่งเศสจึงต้องการกลับมาปกครองอาณานิคมของตนอีก

การปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเวียดนามจากใต้เส้นขนานที่ 17 ลงมา เป็นหน้าที่ของทหารอังกฤษ ฝรั่งเศสนั้นเท่ากับว่าได้เกาะหลังทหารอังกฤษเข้ามา เพราะยังไม่มีความพร้อมขณะสงครามโลกเพิ่งเสร็จสิ้นลง

 

การชุมนุมเดินขบวนประท้วงของประชาชนฮานอย ต่อต้านทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ปี 1945
การชุมนุมเดินขบวนประท้วงของประชาชนฮานอย ต่อต้านทหารอังกฤษและฝรั่งเศส ปี 1945

 

เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามสถาปนาขึ้นแล้ว ทางเวียดนามจึงเจรจากับฝรั่งเศสอย่างสันติวิธี ให้มีการรับรองเอกราชของเวียดนาม ถึงกับยอมให้เวียดนามเป็นประเทศเสรีมีเอกราชแต่อยู่ร่วมภายใต้สหภาพฝรั่งเศส

ในกลางปี ค.ศ. 1946 โฮจิมินห์เดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อร่วมประชุมหาข้อยุติระหว่างกัน ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสระดับอาวุโสหลายคน เคยรู้จักสนิทสนมกับโฮจิมินห์ในสมัยที่ร่วมกันก่อตั้งพรรคคอมมินิสต์ฝรั่งเศส รวมทั้งส่วนใหญ่ของสมาชิกพรรคสังคมนิยม ได้ให้การต้อนรับโฮจิมินห์อย่างอบอุ่น พร้อมทั้งสนับสนุนให้เวียดนามเป็นเอกราช และให้ฝรั่งเศสถอนกำลังออกไป แต่ก็ไม่อาจบรรลุความประสงค์ได้

ทั้งนี้เพราะพลังฝ่ายขวาของฝรั่งเศส และกลุ่มทหารฝ่ายขวาที่กระหายอำนาจได้ยับยั้งไว้ทุกวิถีทาง การประชุมที่เมืองฟองเตนโบล มีการลงนามในข้อตกลง “MODUS VIVENDI” (โมดุสวิวองดี) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1946 อันเป็นข้อตกลงกว้างๆ ให้ทุกฝ่ายนำไปปฏิบัติ แต่ก็ไม่มีผลบังคับอะไร

 

เตรียมการเพื่อถอยรุก
เตรียมการเพื่อถอยรุก

 

โฮจิมินห์ เดินทางกลับประเทศในขณะที่ความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้น หวอเหงียนย้าปรับหน้าที่เจรจากับทางทหารฝรั่งเศส การเจรจาที่เมืองดาลัดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 1946 เมืองนี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของไซ่ง่อนที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นที่พักตากอากาศของพวกตน ฝรั่งเศสได้สร้างวิทยาลัยชั้นดีตามหลักสูตรของเมืองแม่ คนไทยที่มีฐานะจำนวนหนึ่งเคยศึกษาในวิทยาลัยนี้มาแล้ว ภูมิประเทศของดาลัดสวยสดงดงาม มีพรรณไม้ดอกปลูกเรียงรายเป็นระยะ แต่ก็ยากที่จะทำให้ความร้อนรุ่มจากการเจรจาผ่อนคลายลง

หวอเหงียนย้าป อ่านกโลบายของฝรั่งเศสได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และแนวความคิดนี้ก็ได้เห็นพ้องต้องกัน ทั้งโฮจิมินห์และสหายผู้รับผิดชอบทั้งหลาย นั่นก็คือฝรั่งเศสต้องการยื้อเวลาเพื่อเตรียมสรรพกำลังกลับเข้ามายึดครองอีก ฉะนั้น การรับมือกับฝรั่งเศสจึงจัดวางแผนไว้อย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด

“สงครามประชาชนเป็นสงครามที่เป็นธรรม ประชาชนทุกคนก็คือทหาร” การใช้ยุทธวิธีแห่งสงครามจรยุทธ์ที่เคยมีประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวขบวนการเวียดมินห์ ก่อสร้างฐานที่มั่นในเขตชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ จากรูปแบบยุทธวิธีจรยุทธ์ปรับปรุงเสริมสร้างเป็นฝ่ายโจมตีข้าศึกเพิ่มทวีขึ้น และต้องนำยุทธวิธีจรยุทธ์ในตัวเมืองมาใช้เพื่อทำให้ข้าศึกหลงทิศหลงทาง

การเจรจาที่ดาลัดกับ มองซิเออร์ดาจองลิเออร (D'Argenlier) ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสในอินโดจีน ทำให้หวอเหงียนย้าปรู้เช่นเห็นชาติฝรั่งเศสทั้งการยั่วยุทางทหารของฝรั่งเศสก็ทวีความรุนแรงและถี่ขึ้น

ทหารของหวอเหงียนย้าปได้ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด และก็เห็นแล้วว่าสงครามต่อต้านจะเป็นทางออกสุดท้าย ทั้งๆ ที่ฝ่ายฝรั่งเศสมีกำลังเข้มแข็งกว่า ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์แห่งสงครามของกองทัพประชาชนเวียดนาม ภายใต้การบังคับบัญชาการของหวอเหงียนย้าป จึงได้กำหนดขึ้นตามสภาพความเหมาะสมของแต่ละภาคเพื่อนำไปสู่ยุทธวิธีในการต่อสู้ ดังเช่นทางภาคใต้ของเวียดนาม อันมีไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลางที่สำคัญฝรั่งเศสได้เปรียบด้านกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์

เมื่อประเมินดูแล้วหากฝรั่งเศสบุกยึดไซ่ง่อน หวอเหงียนย้าปกำหนดใช้ยุทธวิธีรบประวิงเวลาถอนกองกำลังออก มิใช่เข้าประจัญบานจนเกิดความสูญเสียโดยไม่จำเป็น ให้ถอนตัวออกมาทางทิศตะวันตกสู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ เสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ และด้วยภูมิปัญญาของมวลชนท้องถิ่น พวกเขาทำการขุดอุโมงค์มีเส้นทางติดต่อกันหลายกิโลเมตรเพื่อใช้พักพิงสะสมกำลังเข้าต่อกรกับข้าศึก และแม้กระทั่งในสงครามต่อต้านอเมริกา อุโมงค์ก็ได้ขยายพัฒนาต่อไป ดังเช่นอุโมงค์กู่จีซึ่งเริ่มขุดเจาะตั้งแต่สมัยต่อต้านฝรั่งเศส ก็พัฒนาขยายขึ้นในสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้ และเป็นสถานที่ที่นิยมเยี่ยมชมของคนทั่วไปจนทุกวันนี้ การต่อสู้ทางภาคใต้จึงเท่ากับว่าดึงกำลังของฝรั่งเศสมิให้ได้โอกาสรวบรวมกำลังเข้าโจมตีในสมรภูมิทั่วประเทศ

 

คณะบุคคลในเมืองหลวงประชุมปรึกษาร่วมต่อสู้
คณะบุคคลในเมืองหลวงประชุมปรึกษาร่วมต่อสู้

 

ภาคกลางของเวียดนาม อันมีเมืองเว้ เมืองหลวงแห่งราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม และเมืองดานัง เมืองท่าสำคัญทางภาคกลางของประเทศ ทั้งสองเมืองนี้ย่อมต้องถูกฝรั่งเศสเข้ายึดครอง รวมไปถึงหัวเมืองชายทะเลทางภาคกลางของประเทศ เท่ากับฝรั่งเศสยึดครองตัวเมืองที่ติดฝั่งทะเล แต่ในขณะเดียวกัน ในเขตจังหวัดภาคกลาง นับตั้งแต่ วินท์, เหงะอาน, ห่าติ่ง, กว๋างบินห์, กว้างตริ ในเขตชนบทนอกตัวเมือง เขตติดต่อกับป่าและแนวเขา กองกำลังฝ่ายประชาชนขยายฐานที่มั่นเดิมแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทำให้ฝรั่งเศสไม่สามารถยกกำลังเข้ามาปราบปรามได้

บริเวณที่ราบสูงเปลกู บวนเมถวด ซึ่งมีแนวเขตติดต่อกับลาวตอนใต้และกัมพูชานั้น ฐานที่มั่นของฝ่ายกองทัพประชาชนได้ลงรากลึกอย่างมั่นคง และได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากชนชาติหมู่น้อยในท้องถิ่น ฝรั่งเศสไม่สามารถเข้ามาครอบครองได้เลยอีกทั้งภูมิประเทศป่าเขามีความทุรกันดารจนไม่อาจอำนวยความสะดวกให้กองกำลังพลจำนวนมากได้

หวอเหงียนย้าป ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนทหารที่ผ่านการสู้รบมาด้วยกันอย่างแนบแน่น จึงแบ่งภาระหน้าที่ความรับผิดชอบไปยังเขตทหารต่างๆ ประกอบกับการเอาใจใส่ยกระดับความคิด เสริมกำลังใจในการสู้รบของเหล่ากำลังพล แต่กระนั้นก็ตาม ท่านก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตการต่อสู้ทางนครหลวงฮานอยและทางภาคเหนือของเวียดนาม ซึ่งเป็นยุทธภูมิสำคัญที่สุด ประดุจความเป็นความตายในการต่อกรกับกองทัพฝรั่งเศส

โฮจิมินห์เคยถามหวอเหงียนย้าปว่า “ถ้าหากสงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราจะสามารถป้องกันนครฮานอยได้นานเท่าใด” ก็ได้รับคำตอบว่า “เราจะยันไว้ได้ไม่น้อยกว่า 15 วัน คณะเสนาธิการได้วางแผนทางยุทธวิธีไว้เรียบร้อยแล้วสำหรับการนี้” แต่เมื่อกองทหารฝรั่งเศสบุกเข้าฮานอยก็ต้องประสบกับการต่อต้านขนาดหนักเป็นเวลาหลายเดือน

ยุทธวิธีหลักสำหรับการต่อสู้ในตัวเมือง เป็นยุทธวิธีที่ต่อสู้เพื่อประวิงเวลาในการถอนตัวอย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรในการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการสู้รบที่จะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน การโยกย้ายวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลเป็นงานที่มีความยากลำบาก เพราะฝ่ายข้าศึกมีกำลังทั้งทางบก เรือ อากาศ เข้าติดตามโจมตีอย่างไม่ลดละ ต้องอาศัยความมืดในเวลากลางคืน เส้นทางทางแม่น้ำลำคลองที่ไหลสู่แม่น้ำแดงกองทัพได้อาศัยประชาชนที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความชำนาญในภูมิประเทศ ร่วมกันทำให้การถอนกำลังประสบความสำเร็จ

 

การต่อสู้บนถนน
การต่อสู้บนถนน

 

อย่างไรก็ตาม ภายในตัวเมืองฮานอย ทั้งทหารและพลเมืองได้ต่อสู้อย่างทรหด มีการขุดรื้อพื้นถนนทำเป็นกำแพงกั้นการเคลื่อนตัวของรถถังข้าศึก ส่วนอาวุธในการต่อสู้รถถังก็มีไม่ครบถ้วน ทหารต้องติดดินระเบิดที่ปลายแป๊บน้ำประปาเข้าประชิดทำลายรถถัง แม้จนถึงขั้นต้องเสียสละชีวิตไปก็ตาม

 

นักรบหญิงชายกองกำลังรักษาเมืองหลวงประจำอยู่ตามมุมต่างๆ
นักรบหญิงชายกองกำลังรักษาเมืองหลวงประจำอยู่ตามมุมต่างๆ

 

ณ ตลาดแห่งหนึ่งใจกลางฮานอย ชาวบ้านร้านตลาด ประชาชนชาวเวียดนามทั่วไป ได้ร่วมต่อสู้กับการบุกรุกของฝรั่งเศส ถึงขนาดเข้าประจัญบานด้วยมีดพร้าดาบขวานตามมีตามเกิด ฝรั่งเศสต้องเสียกำลังไปไม่น้อยกว่าจะผ่านตลาดแห่งนี้ไปได้ ในปัจจุบันทางการได้สร้างพิพิธภัณฑ์การสู้รบของชาวตลาดแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์

จะเห็นได้ว่าระยะเวลาที่โฮจิมินห์ประกาศสถาปนาประเทศเมื่อ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 จนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1946 เป็นเวลาเพียง 1 ปีกับ 4 เดือนแห่งการเจรจาด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ เพื่อการกลับมาครอบครองประเทศเวียดนามของฝรั่งเศส จนกระทั่งไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการทำสงครามต่อต้านผู้รุกราน ซึ่งได้ขยายวงเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 1946

ชาวเวียดนามทุกเพศทุกวัยได้ลุกขึ้นสู้อย่างองอาจกล้าหาญ ด้วยความเชื่อมั่นในชัยชนะของสงครามที่เป็นธรรม เชื่อมั่นในตัวโฮจิมินห์และพรรค และเชื่อมั่นในตัวผู้บัญชาการทหารกองทัพประชาชน คือ หวอเหงียนย้าป ซึ่งยังถือว่าอยู่ในวัยกลางคน มีอายุเพียง 35 ปีเท่านั้น ท่านเปี่ยมด้วยความตั้งใจ มีพละกำลังแข็งแรง บัญชาการกองกำลังเวียดมินห์ต่อสู้กับฝรั่งเศสในขอบข่ายทั่วประเทศ และที่สำคัญที่สุด ในการรบเพื่อถอนกำลังส่วนใหญ่ออกไปสู่ฐานที่มั่นเดิมทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ นับตั้งแต่ต้นปี 1947 เป็นต้นมา การถอนกำลังออก หรือที่เรียกว่า “ถอยเพื่อรุก” เป็นอย่างไรก็จะได้ติดตามกันต่อไป

นั่นคือ บทแห่งการเริ่มต้นเพื่อจบสิ้นลงของฝรั่งเศส

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), “ถอยเพื่อรุก” , ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 52 - 59.