ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : แรกพบโฮจิมินห์

11
มิถุนายน
2565

ความเดิมตอนที่แล้วศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : นักอภิวัฒน์หนุ่ม

ณ สถานีรถไฟชายแดนเวียดนามตอนเหนือติดชายแดนจีนแห่งมณฑลยูนนาน รายงานจากตำรวจลับของฝรั่งเศสในอินโดจีนระบุว่า มีชายหนุ่มชาวเวียดนามสองคน เข้าใจว่าคนหนึ่งคือ ‘หวอเหงียนย้าป’ อีกคนหนึ่งคือ ‘ฟ่ามวันด่ง’ ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกไม่นาน กำลังวนเวียนอยู่ในเขตสถานีรถไฟเพื่อหาทางลักลอบเข้าไปในประเทศจีน ทั้งนี้ก็คือ การเดินทางดั้นด้นของสองนักอภิวัฒน์หนุ่มเพื่อไปพบปะกับโฮจิมินห์ และรับฟังความคิดเห็นในการกู้ชาติบ้านเมืองต่อไป

เส้นทางรถไฟสายฮานอย-คุนหมิงนั้น เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสก่อสร้างขึ้นภายหลังสร้างทางรถไฟสายเหนือใต้ฮานอย-ไซ่ง่อนเสร็จสิ้นลง โดยใช้งบการลงทุนที่ขูดรีดเอาจากประชาชนเวียดนาม และใช้แรงงานชาวเวียดนาม ซึ่งฝรั่งเศสอวดอ้างว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นความสำเร็จทางวิศวกรรมอันน่าภาคภูมิใจ เพราะเป็นเส้นทางที่ยากลำบากมาก เมื่อผ่านแนวที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงมุ่งเข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือภูมิประเทศเป็นแนวเขาสลับซับซ้อน

แต่กระนั้น ขบวนรถไฟก็ยังสามารถวิ่งได้อย่างสบาย วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง ด้านหนึ่งเพื่อการพัฒนาขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ซึ่งยังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างเต็มที่ อีกด้านหนึ่งก็คือการเปิดทะลวงเข้าไปในดินแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อันมีมณฑลยูนนานเป็นหลัก และเมืองคุนหมิงเป็นเมืองเอก เพื่อแข่งขันกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่ใช้ดินแดนพม่าเป็นช่องทางจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าเจาะเข้าไปยังจีนทางชายแดนมณฑลยูนนานเช่นเดียวกัน

 

โปสเตอร์เส้นทางปฏิวัติของสหายเหวียนอ๋ายก๊วก ค.ศ. 1930
โปสเตอร์เส้นทางปฏิวัติของสหายเหวียนอ๋ายก๊วก ค.ศ. 1930

 

สหายนักอภิวัฒน์กู้ชาติชาวเวียดนาม อาศัยบริเวณเส้นทางรถไฟสายนี้เคลื่อนไหวในเขตป่าเขาแนวชายแดนจีน-เวียดนาม ซึ่งเป็นถิ่นที่พักอาศัยของชนชาติหมู่น้อยเผ่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไทดำ, ไทขาว, นุง, จ้วง เป็นต้น จากผลพวงของการเข้าร่วมคลุกคลีใช้ชีวิตกับชนชาติหมู่น้อยเผ่าต่างๆ ที่อยู่กระจัดกระจายทั้งในจีนและเวียดนาม ชาวพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสามารถจัดตั้งองค์กรกู้ชาติขึ้นมาได้ ด้วยการให้ความคิดแก่ชนเผ่าเรื่องต่อสู้เจ้าอาณานิคมร่วมกับชาวเวียดนาม เพราะอันที่จริงแล้วชนชาติหมู่น้อยเหล่านี้เป็นผู้ถูกกดขี่มากที่สุด การร่วมกันต่อสู้จึงเป็นหนทางที่จะทำให้ชนชาติหมู่น้อยพัฒนาไปสู่อนาคตอันสดใส

 

เส้นทางรถไฟที่สร้างเพื่อความยิ่งใหญ่ของเจ้าอาณานิคม
เส้นทางรถไฟที่สร้างเพื่อความยิ่งใหญ่ของเจ้าอาณานิคม

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกประหลาดอะไรที่ผู้เคลื่อนไหวอภิวัฒน์ได้รับการดูแลปกปักรักษาจากชนชาติหมู่น้อยอย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าด้านอาหารการกิน ที่พำนักอาศัย การเดินทางเคลื่อนไหว มีการให้ความคุ้มครองรับส่งกันเป็นทอดๆ ไป และไม่ปรากฏว่าสหายนักอภิวัฒน์จะอ้างแนวลัทธิมาร์กซ์-เลนิน หรือ ทฤษฎีทางปรัชญาที่ยังยากแก่ความเข้าใจมาสอนให้กับเหล่าชนชาติหมู่น้อย เอาแต่เพียงการต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดและการกู้เอกราชจากพวกล่าอาณานิคม

หวอเหงียนย้าป และ ฟ่ามวันด่ง ก็ได้อาศัยชนชาติหมู่น้อยแห่งองค์กรจัดตั้งเป็นผู้นำทางข้ามไปในแดนจีน สู่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งของชนชาติหมู่น้อยที่ได้รับการจัดตั้งแล้ว เพื่อรอพบกับโฮจิมินห์ที่เดินทางมาจากสหภาพโซเวียต

ในที่สุด หวอเหงียนย้าป และ ฟ่ามวันด่ง ก็ได้พบ โฮจิมินห์ ครั้งแรก ณ ชายแดนจีน-เวียดนาม ทั้งสองฝ่ายมิได้เคยพบหรือรู้จักกันมาก่อน เพียงแต่ได้ยินชื่อเสียงความเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ และบทความชี้แนะแนวทางต่อสู้ การพบกันในครั้งนี้ทำให้ทั้ง หวอเหงียนย้าป และ ฟ่ามวันด่ง มีความเชื่อมั่นในแนวทางที่จะไปสู่ความสำเร็จยิ่งขึ้น ด้วยวัยต่างกันเกือบ 20 ปี โฮจิมินห์ มีอายุย่าง 50 ปี ขณะที่นักอภิวัฒน์ทั้งสองย่างเข้า 30 ปี และตามธรรมเนียมของชาวเวียดนาม ผู้น้อยนิยมเรียกผู้อาวุโสว่า ลุง (บ๊าค) ด้วยความเคารพนับถือ และเรียกตนเองเป็นหลาน แม้กระทั่งในทุกวันนี้ ชาวเวียดนามทั้งประเทศไม่ว่าผู้เฒ่าผู้แก่เด็กเล็กเด็กน้อยจะเรียกโฮจิมินห์ว่า "บ๊าคโฮ่" หรือ "ลุงโฮ่" นั่นเอง

การสนทนาระหว่างผู้อาวุโสและนักอภิวัฒน์หนุ่มเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทะลุปรุโปร่งต่อความเข้าใจในเหตุการณ์ของโลกโดยทั่วไป เหตุการณ์ของโลกที่เกี่ยวข้องกับเวียดนาม และเหตุการณ์ภายในเวียดนามเอง

โฮจิมินห์บรรยายสถานการณ์แห่งยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่อยู่ระยะเริ่มต้น แต่ก็ชี้ให้เห็นชัดว่าฝ่ายอักษะ (เยอรมนี, อิตาลี และญี่ปุ่น) จักต้องปราชัยอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะเป็นฝ่ายที่ทำสงครามอธรรม ถึงแม้สหภาพโซเวียตจะถูกนาซีเยอรมันบุกโจมตีขนาดหนัก แต่ประชาชนโซเวียตต่างลุกขึ้นมาทำสงครามปกป้องปิตุภูมิ สถานการณ์สงครามเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อสหภาพโซเวียตป้องกันการล้อมเลนินกราดไว้ได้ สามารถยันกองทัพเยอรมันที่รุกเข้ามาประชิดใกล้กรุงมอสโคว์เพียง 50 กิโลเมตร และถึงที่สุดอันเป็นจุดเปลี่ยนก็คือชัยชนะในการบดขยี้กองทัพเยอรมันในศึกเมืองสตาลินกราด

เหตุการณ์แห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ โฮจิมินห์ได้หยิบยกอธิบายให้หวอเหงียนย้าป เข้าใจ และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผสมผสานกับเหตุการณ์ในประเทศเวียดนามเพื่อวางยุทธศาสตร์กอบกู้เอกราช และการปรับยุทธวิธีให้เหมาะสมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์

ทั้งหวอเหงียนย้าปและฟ่ามวันด่ง รายงานสภาพการณ์ภายในประเทศให้โฮจิมินห์ได้ทราบ โดยแบ่งให้หวอเหงียนย้าปรายงานเรื่องการตระเตรียมกำลังทางด้านการสู้รบและการทหาร ส่วนฟ่ามวันด่งรายงานเกี่ยวกับการบริหารเขตงานฐานที่มั่นให้กว้างขวางและมั่นคงยิ่งขึ้น

 

หวอเหงียนย้าปกับโฮจิมินห์
หวอเหงียนย้าปกับโฮจิมินห์

 

ขั้นต้นโฮจิมินห์เสนอให้หวอเหงียนย้าปและฟ่ามวันด่ง ไปเข้าร่วมกับกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการต่อสู้กับญี่ปุ่น เพื่อฝึกฝนยุทธวิธี ศึกษาแนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคจีนที่ประธานเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำ แต่สถานการณ์ได้ผันแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่นาซีช่วงต้นสงคราม ทางด้านอินโดจีน ญี่ปุ่นถือโอกาสยาตราทัพเข้ามาตั้งมั่นในอินโดจีน เพื่อเตรียมเปิดฉากสงครามในเอเชีย นอกเหนือจากการทำสงครามกับจีน อันเป็นเหตุให้ พรรคก๊กมินตั๋ง และ พรรคคอมมิวนิสต์ จีนต้องจับมือกันยุติสงครามกลางเมือง ร่วมกันทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวจริงจังมากกว่า ทำให้ประชาชนชาวจีนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นจำนวนมากและผลพวงนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในสงครามปลดแอกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โฮจิมินห์และคณะพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน เห็นถึงความสามารถความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์การทหาร ซึ่งจะได้นำไปประยุกต์อย่างถูกต้องเหมาะสมในสงครามกู้เอกราช จึงมีมติมอบหมายหน้าที่นี้ให้หวอเหงียนย้าปเป็นผู้รับผิดชอบ หวอเหงียนย้าปได้เคยกล่าวไว้ในเวลาต่อมาว่า ตัวท่านเองมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งและเชื่อมั่นในความมีสายตายาวไกลของโฮจิมินห์  ทั้งๆ ที่ตัวท่านเองมิเคยผ่านการเรียนวิชาด้านการทหารมาก่อน แต่เมื่อได้รับมอบหมายก็มุ่งมั่นอย่างที่สุดเพื่อไปสู่ความสำเร็จ

การกลับเข้าประเทศและประจำในเขตฐานที่มั่นชายแดนจีน-เวียดนาม ของโฮจิมินห์ ทำให้การทำงานของพรรคเป็นไปอย่างก้าวหน้า มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการแบ่งภาระหน้าที่ทางการทหารให้หวอเหงียนย้าปแล้ว สหายผู้รับผิดชอบคนอื่นต่างก็ได้รับผิดชอบในหน้าที่สำคัญ เช่น สหายฟ่ามวันด่งดูแลด้านการบริหารงานทั่วไปและงานด้านวิเทศสัมพันธ์ สหายเจรื่องจริงดูแลด้านองค์กรจัดตั้งของพรรค เป็นต้น ทั้งนี้ สหายบางคนเคยร่วมงานกับโฮจิมินห์มาแล้วที่สยามก็ดี ที่เมืองกวางเจาในมณฑลกวางตุ้งก็ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เพิ่งได้ร่วมงานกับโฮจิมินห์ครั้งแรก ณ บริเวณชายแดน เช่น หวอเหงียนย้าป เป็นต้น

การคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นทหาร ในขั้นแรกคัดเฟ้นเอาจากผู้มีความคิดทางการเมืองที่แน่วแน่มั่นคง มีความกล้าหาญ สุขภาพแข็งแรง ทรหดอดทนต่อความยากลำบากที่แสนสาหัสได้

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), แรกพบโฮจิมินห์, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 15-23.

บทความที่เกี่ยวข้อง :