ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ทัศนะของนายปรีดีต่อการสถาปนาอำนาจเผด็จการ หลังรัฐประหาร 2490

16
กันยายน
2564

**บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์โดยผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำการสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2523



ผู้แทนสหภาพฯ :

ขอเรียนถามว่าภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 แล้วระบอบประชาธิปไตยได้ดำเนินไปอย่างใดบ้าง

ป.พ. :

(1) ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับนั้นแล้วคณะราษฎรก็พ้นจากหน้าที่บริหารและหมดหน้าที่ในการมีส่วนควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ : ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำเสนอของรัฐบาล

ฉะนั้นผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกประเภทที่ 2 ในสภาฯ นั้นจึงหมดหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นประกอบด้วยสภาผู้แทนและพฤฒสภา ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร

ผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎร จึงแยกย้ายกันไปประกอบธุรกิจของตนคือ ส่วนหนึ่งไปประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อีกส่วนหนึ่งสมัครใจรับใช้ชาติทางการเมือง โดยสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ตามทรรศนคติของแต่ละคน อาทิ ‘นายควง อภัยวงศ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งประชาธิปัตย์, ‘พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคแนวรัฐธรรมนูญ, ‘นายสงวน ตุลารักษ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคสหชีพ ฯลฯ

ส่วนผมมิได้สังกัดพรรคใด ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง 9 พ.ค. 2489 จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร ฉะนั้นบุคคลใดในสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคใดแต่ถ้าเป็นรัฐบาลภายหลังวันดังกล่าวนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นต่อการบริหารของตน อาทิ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2489 ผมก็รับผิดชอบในนามของผมเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 29 ส.ค. 2489 ถึง 8 พ.ย. 2490 ก็รับผิดชอบในนามของตนเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคณะราษฎรที่สลายไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่เป็นธรรมที่จะให้นายควงฯ หรือผู้ก่อการฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดังกล่าวรับผิดชอบด้วย

(2) ระบอบประชาธิปไตยได้หยุดชะงักลงตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยมีระบอบปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตย ซึ่งบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบปกครองชนิดดังกล่าวนั้น รวมทั้งผู้นิยมชมชอบด้วยต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

 

ผู้แทนสหภาพฯ :

โปรดกรุณาชี้แจงว่าระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักลงตั้งแต่ 8 พ.ย. 2490 จนถึงปัจจุบันนี้อย่างใดบ้าง

ป.พ. :

เอกสารหลักฐานทางราชการและทางรัฐสภาปรากฏชัดแจ้งแล้ว ซึ่งผมขอสรุปดังต่อไปนี้

(1) เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศไทยโดยล้มระบอบประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 ที่ได้บัญญัติไว้โดยถูกต้องตามวิธีการของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทาน

ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนาระบอบการปกครองใหม่โดยพลการ คือ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 9 พ.ย. 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ซึ่งได้บัญญัติให้มีวุฒิสภาที่สมาชิกได้รับการแต่งตั้ง มิใช่ด้วยการเลือกตั้งจากราษฎร ฉะนั้นจึงเป็นการดึงให้ประเทศไทยเดินถอยหลังเข้าคลองไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ระบอบของคณะรัฐประหารนั้นเป็นแม่บทให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492  และเป็นแม่บทให้แก่ระบอบปกครองต่อๆ มาอีกหลายระบอบ ซึ่งบางครั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง และบางครั้งไม่มีวุฒิสภาแต่ได้ฟื้นเอาวิธีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่เลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 นั้นกลับมาใช้อีก

คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(2) แม้ว่าระบอบปกครองประเทศไทย ได้ดำเนินตามแม่บทของคณะรัฐประหารเป็นเวลารวมได้ 12 ปีเศษ แต่ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 คณะบุคคลอีกคณะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” โดยจอมพลสฤษดิ์ฯ เป็นหัวหน้าได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และใช้อำนาจเด็ดขาดโดยสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิวัติมีอำนาจเด็ดขาดสั่งจำคุกและสั่งประหารชีวิตบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำผิดนั้นได้โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้น ให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2502 ได้ประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตามมาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (จอมพลสฤษดิ์ฯ) โดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งหรือกระทำการใดๆ ได้ซึ่งหมายถึงอำนาจเด็ดขาดสั่งจำคุกและสั่งประหารชีวิตตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรในการปราบปรามการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือราชบัลลังก์หรือการบ่อนทำลายความสงบที่เกิดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร

คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น และผู้นิยมส่งเสริมระบอบนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(3) ในคำปรารภแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย ฉบับดังกล่าวใน (2) นั้นกล่าวไว้ใจความว่า ธรรมนูญฉบับนั้นใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ฉะนั้นในวันที่ 3 ก.พ. 2502 นั้นจึงได้มีประกาศแต่งตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 240 คน

สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลา 9 (เก้า) ปี จึงร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมตามความประสงค์นั้นสำเร็จ ผมขอให้สหภาพฯ กับนิสิตนักศึกษาและประชาชนบันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ในโลกนี้ที่ไม่เคยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใดเลย ที่ใช้เวลานาน ถึง 9 ปีในการร่างรัฐธรรมนูญ และผมขอให้สหภาพฯ โปรดสำรวจด้วยว่าในระหว่างเวลา 9 ปีนั้น ชาติไทยต้องเสียเงินเดือนและค่าใช้จ่ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนเท่าใด

คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น รวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบอบเผด็จการนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

(4) เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20  มิถุนายน 2511 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการร่างนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ใช้ต่อมาได้เพียง 3 ปี 5 เดือนเท่านั้น

ครั้นถึงวันที่ 17 พ.ย. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน 2511 นั้นก็ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศโดยล้มระบอบรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้น แล้วปกครองประเทศโดย “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ได้เหมือนดังที่กล่าวใน (2) และต่อมาได้มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515” ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเหมือนดังที่กล่าวใน (2) นั้น

คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้อีกว่า บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้นรวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบอบเผด็จการนั้น ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ

(5) ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งรัฐบาลจอมพลถนอมฯ พ้นจากตำแหน่งแล้ว รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อมานั้นได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง แล้วได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สภาฯ นั้นพิจารณาเห็นชอบให้มีรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกได้รับเลือกตั้งจากราษฎรและวุฒิสภาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

เมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมนั้น แต่ได้พระราชทานพระราชดำริกับข้อสังเกตบางประการที่ทรงค้านว่า ขัดต่อหลักปกครองประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิก โดยเปลี่ยนจากประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ เช่นเดียวกับวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของคณะรัฐประหารและของฉบับ พ.ศ. 2492

ซึ่งมีผู้โฆษณาให้คนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้น แทนที่จะให้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งวุฒิสมาชิกสภานิติบัญญัติเห็นชอบด้วยตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นแล้วรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้าฯ ลงนามพระปรมาภิไธยให้ใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเดิม พ.ศ. 2518” เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2518

ระบอบปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ดังกล่าวนั้น ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎรที่ต้องรับผิดชอบ

(6) เมื่อได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 2518 ดังกล่าวใน (5) ข้างบนนั้นได้ประมาณ 1 ปีเศษก็มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” โดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินล้มระบอบปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวใน (5) นั้นเมื่อพ.ศ. 2519 และได้ปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งคณะปฏิรูป” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปมีอำนาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 2501 และจอมพลถนอมฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 17 พ.ย. 2514 ที่ได้มีอำนาจดังกล่าวนั้นมาแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2519 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 29 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเด็ดขาดดังกล่าวนั้นด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำนองเดียวกับมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2512 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ฯและฉบับ พ.ศ. 2514 ให้อำนาจเด็ดขาดแก่จอมพลถนอมฯ ดังที่ได้กล่าวแล้วใน (2) และ (4) นั้น

อนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตและจำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา

ระบอบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

(7) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 ก็ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” ภายใต้การนำของ ‘พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่’ ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศ และได้ใช้อำนาจเด็ดขาดปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่าคำสั่งคณะปฏิวัติ ทำนองเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์ฯ และจอมพลถนอมฯ และพล.ร.อ.สงัดฯ นั่นเองได้เคยใช้อำนาจเด็ดขาดมาแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2520 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 27 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเด็ดขาดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติ ทำนองเดียวกันที่ได้กล่าวใน (2), (4), (6),นั้น

อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งลงโทษผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา

ระบอบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

(8) ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2521 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติหลายประการที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2492 ซึ่งสาระสำคัญสืบจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของรัฐประหาร พ.ศ. 2490 อาทิ กำหนดให้มีรัฐสภา คือ สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ระบอบปกครองดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร

 

ผู้แทนสหภาพฯ :

ขอเรียนถามว่าท่านมีความเห็นอย่างไร ต่อความคิดของหลายคนที่เขียนบทความบ้าง เขียนเป็นหนังสือเล่มบ้างพูดปรารภกันบ้างว่าอยากให้มีระบอบปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดอย่างจอมพลสฤษดิ์ฯ ปราบปรามโจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันที่ชุกชุมนั้นให้ลดน้อยหรือหมดสิ้นไป

ป.พ. :

ผมมีความเห็นต่อเรื่องที่คุณถามนั้นดังต่อไปนี้

1. ผมเห็นใจผู้ที่ปรารถนาให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันลดน้อยหรือหมดสิ้นไปในประเทศไทยส่วนวิธีที่จะทำให้เรื่องเหล่านั้นลดน้อยหรือหมดสิ้นไปนั้นก็ต้องวินิจฉัยว่า เรื่องเหล่านั้นเกิดจากสมุฏฐานใดให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงพิจารณาถึงวิธีที่จะแก้ให้เรื่องชั่วร้ายเหล่านั้นลดน้อยลงหรือเสื่อมสลายไปในที่สุดได้

ผมขอให้สหภาพฯ เปรียบเทียบว่าโรคภัยต่างๆ ของมนุษย์นั้น ต้องใช้วิธีแก้ไข 2 ทางประกอบกันคือ วิธีที่หนึ่ง “ป้องกัน” เพื่อมิให้โรคนั้นเกิดขึ้น และวิธีที่สองคือ “รักษา” เมื่อโรคนั้นเกิดขึ้น

ส่วนวิธีรักษาโรคนั้น ผู้ป่วยเจ็บก็ต้องขอให้แพทย์รักษา ผู้ป่วยจะกำหนดเอาเองไม่ได้ว่าขอให้แพทย์ผ่าตัดอวัยวะของตน แพทย์ที่ดีก็จะไม่ยอมทำตามใจผู้ป่วย หากแพทย์ต้องตรวจอาการคนป่วยให้รู้สมุฏฐานถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงใช้วิธีรักษาตามสมุฏฐานนั้นซึ่งอาจใช้วิธีรักษาทางยาหรือวิธีรักษาทางศัลยกรรม หรือผ่าตัดตามสภาพความเหมาะสมแก่สมุฏฐานของโรค มิใช่ศัลยแพทย์ใช้วิธีผ่าตัดเสมอไป เพราะโรคหลายชนิดไม่อาจรักษาให้หายได้โดยวิธีผ่าตัด หากต้องรักษาทางยา ฉันใดก็ดี โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันซึ่งเป็นโรคร้ายของสังคมนั้นก็ไม่อาจรักษาได้โดยวิธีจับคนที่ถูกสงสัยว่ากระทำความผิดมาประหารชีวิต แต่จะต้องใช้วิธีที่เหมาะสมแก่สมุฏฐานที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมนั้นๆ

2. ก่อนที่ผมจะชี้แจงว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ฯ ขัดแย้งต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพียงไรหรือไม่ ผมขอให้สหภาพฯ พิจารณาสถิติที่พิสูจน์ได้ว่าแม้จอมพลสฤษดิ์ฯ ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตบุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้วางเพลิงที่ห้องแถวในตำบลตลาดพลูนั้น แต่การวางเพลิงก็หาได้ลดน้อยลงไม่

การสั่งประหารชีวิต ‘นายครอง จันดาวงศ์’ และ ‘นายรวม วงศ์พันธ์’ ที่ต้องหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้นก็มิได้ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์มีสมาชิกลดน้อยลงในการต่อสู้กับกำลังของฝ่ายรัฐบาล หากขบวนการคอมมิวนิสต์ได้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น การใช้อำนาจเด็ดขาดประหารชีวิตพ่อค้าเฮโรอีนหลายราย ก็ไม่ทำให้การค้าเฮโรอีนลดน้อยลง หากมีการเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายคนไทยติดเฮโรอีนเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน จนบัดนี้มีประมาณหลายแสนคน เป็นที่น่าวิตกถึงอนาคตของชาติไทยจะเสื่อมไปอย่างไรหรือไม่

ส่วนโจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันในสังคมนั้น ผมขอให้สหภาพฯ ช่วยสอบถามสำนักนายกรัฐมนตรีว่าจอมพลสฤษดิ์ฯ สั่งประหารชีวิตหรือจำคุกแก่โจรหรือผู้ร้ายรายใดบ้าง และสอบถามสถิติของกรมตำรวจว่าอาชญากรรมได้ลดน้อยลงเพียงใดบ้าง และโปรดศึกษาค้นคว้าด้วยว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่หลายคนเรียกทับศัพท์อังกฤษว่า “คอร์รัปชั่น” ที่เป็นยอดของโจรกรรม คือ การเอาทรัพย์สินส่วนรวมของชาติเป็นจำนวนหลายแสนหลายล้านหรือหลายพันล้านบาทนั้นได้ลดน้อยลงหรือทวีขึ้นเป็นประวัติการณ์

อนึ่ง จอมพลสฤษดิ์ฯ ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 ซึ่งไม่มีทางที่จะฟื้นคืนชีพได้ ฉะนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการระบอบปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดอย่างจอมพลสฤษดิ์ฯนั้น ก็ควรพิจารณาถึงบุคคลที่เป็นผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดต่อจากจอมพลสฤษดิ์ฯ และผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดอีกหลาย ท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ

(1) เมื่อจอมพลสฤษดิ์ฯ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ครั้นถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2506 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก (ยศขณะนั้น) ถนอม กิตดิขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับ 2502 นั้น ต่อไปจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 อันเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลา 9 ปีในการร่างนั้น…………

ก่อนใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้น จอมพลถนอมฯ ก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายราย โดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา ฉะนั้นผู้ใดคิดว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดดังกล่าวทำให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงได้ไซร้ ผู้ต้องการระบอบเด็ดขาดเช่นนั้นก็อาจจะสนับสนุนจอมพลถนอมฯ ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ฯ และเคยใช้อำนาจเด็ดขาดมาแล้วอย่างจอมพลสฤษดิ์ฯ นั้นให้กลับมาปกครองประเทศต่อไปอีก

(2) เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิ.ย. 2511 แล้ว ครั้นถึงวันที่ 17 พ.ย. 2514 จอมพลถนอมฯ ที่เป็นผู้ลงนามรับสนองรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้นเองก็ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศโดยล้มระบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้นแล้วปกครองประเทศโดยคำสั่งคณะปฏิวัติเหมือนจอมพลสฤษดิ์ฯ และต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515 ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรี เหมือนดังที่จอมพลสฤษดิ์ฯ และจอมพลถนอมฯ เคยมีอำนาจเด็ดขาดตามธรรมนูญนั้นมาแล้ว

จอมพลถนอมฯ ยังมีชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ ผู้ต้องการระบอบปกครองที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดนั้น จึงอาจคิดถึงจอมพลถนอมฯ เพื่อหวังเชิญท่านใช้อำนาจเด็ดขาดอย่างจอมพลสฤษดิ์ฯ

(3) เมื่อ พ.ศ. 2519 พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์ฯ และจอมพลถนอมฯ ได้ปฏิบัติมาตามที่ผมได้กล่าวแล้ว ฉะนั้นถ้าผู้ใดเห็นว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดทำให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันในสังคมลดน้อยลงไปแล้ว ผู้นั้นก็อาจขอให้ พล.ร.อ. สงัดฯ กลับมาใช้อำนาจเด็ดขาดอีก

(4) เมื่อ พ.ศ. 2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับวันที่ 22 ต.ค. 2519 โดยสั่งประหารชีวิตและจำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายราย โดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา ถ้าผู้ใดเห็นว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นทำให้โจรกรรมและการประทุษร้ายต่อกันในสังคมลดน้อยลงไปและนายธานินทร์ฯ ก็ยังมีชีวิตอยู่ ผู้นั้นอาจเรียกร้องให้นายธานินทร์ฯ กลับมาใช้อำนาจเด็ดขาดอีก

(5) เมื่อ พ.ศ. 2520  พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งเปลี่ยนสภาพจากการเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปนั้นมาเป็น “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศและได้ใช้อำนาจเด็ดขาดปกครองประเทศเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ฯ และจอมพลถนอมฯ และนายธานินทร์ฯ และ พล.ร.อ. สงัดฯ ถ้าผู้ใดเห็นว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นทำให้โจรกรรมและประทุษร้ายต่อกันในสังคมลดน้อยลงไป ผู้นั้นอาจขอร้องให้ พล.ร.อ. สงัดฯ กลับมาใช้อำนาจเด็ดขาดอีก

(6) พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก็เคยใช้อำนาจเด็ดขาดตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับ 9 พ.ย. 2520 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ฯ และบุคคลหลายคน ที่เคยมีอำนาจเด็ดขาดตามที่ผมได้กล่าวแล้วนั้น ถ้าผู้ใดเห็นว่าการใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นทำให้โจรกรรมและการประทุษร้ายในสังคมลดน้อยลงไป และพล.อ.เกรียงศักดิ์ฯ ก็ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ ผู้ต้องการระบอบปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาดนั้นก็อาจเรียกร้องให้ พล.อ. เกรียงศักดิ์กลับมาใช้อำนาจเด็ดขาดอีก

3. ระบอบปกครองของจอมพลสฤษดิ์ฯ ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” ก็ดี และระบอบปกครองที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะการเมืองและหัวหน้าคณะรัฐบาลใดๆ ก็ดีนั้น มิเพียงแต่เป็นระบอบที่ผิดต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น หากยังเป็นระบอบที่ผิดต่อ “ราชธรรม” แห่งระบอบพระมหากษัตริย์ด้วย

(1) นักเรียนและประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยทราบแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นแบ่งอำนาจรัฐออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร, อำนาจตุลาการ ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา, ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี, ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

ฉะนั้นระบอบของจอมพลสฤษดิ์ฯ ที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” ก็ดีและระบอบที่ให้อำนาจเด็ดขาดของหัวหน้าคณะการเมืองและหัวหน้ารัฐบาลใดๆ ที่เป็นเพียงฝ่ายบริหารนั้นประหารชีวิตหรือจำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดได้โดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษานั้น จึงเป็นระบอบที่ผิดต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง และเป็นการละเมิดต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แม้มุสโสลินีจอมเผด็จการฟาสซิสต์ หรือเผด็จการของคณะนายพลญี่ปุ่น (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) ไม่เคยบังอาจล่วงล้ำพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ของตน

(2) เมื่อ พ.ศ. 2474 (ก่อนเปลี่ยนการปกครอง) สภานิติศึกษาได้มอบให้ผมเป็นผู้สอนกฎหมายปกครองที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมนั้น ผมได้กล่าวถึงทศพิธราชธรรม, จักรวรรดิวัตร,ราชจรรยานุวัตร ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสได้เคยถวายวิสัชนาในงานพระราชพิธีรัชฎาภิเษก ร.ศ. 112 และผมได้กล่าวถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัซกาลที่ 5) ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกเมื่อ พ.ศ. 2470 นั้น มีพระราชดำรัสของรัซกาลที่ 5 ตอนหนึ่งว่า

“............ข้าพเจ้าเห็นสมควรว่าราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินควรจะกำหนดตามแบบเดิมแต่ในข้อนี้เป็นข้อจริงอย่างไร คือ เหมือนหนึ่งไม่กำหนดตามคำพูดอันนอกแบบ เช่น เรียกพระนามว่าเจ้าชีวิต ซึ่งเป็นที่หมายว่ามีอำนาจอันจะฆ่าคนให้ตายโดยไม่มีผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ซึ่งความจริงสามารถจะทำได้ แต่ไม่เคยทำเลยนั้น ก็จะเป็นการสมควรแก่บ้านเมืองในเวลานี้อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ความปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคหลังนั้นไม่เคยทรงสั่งประหารชีวิตผู้ใดเลย ถ้าบุคคลใดต้องหาว่ากระทำความผิด อัยการก็ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลยุติธรรมให้พิจารณาพิพากษาตามกระบวนความ ถ้าศาลยุติธรรมได้ตัดสินคดีถึงที่สุดแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ

ส่วนจอมพลสฤษดิ์ และบุคคลอื่นๆ ที่มีอำนาจเด็ดขาดดังกล่าวมาแล้วนั้น เมื่อได้สั่งประหารชีวิตบุคคลใดแล้ว ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการประหารชีวิตบุคคลนั้นๆ โดยไม่ชักช้า จึงไม่มีการพิจารณาอภัยโทษเช่นที่เคยปฏิบัติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จอมพลสฤษดิ์ฯและบุคคลอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้นจึงมีอำนาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และมีอำนาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคหลังนั้น

ถ้าจะเรียกอำนาจที่ยิ่งใหญ่นี้เป็นศัพท์ไทยก็ควร ได้แก่ “อภิสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แต่ถ้าจะพิจารณาธาตุแท้ตามหลักวิทยาศาสตร์สังคมไซร้ สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” และอำนาจเด็ดขาดของฝ่ายบริหารที่สั่งประหารชีวิตบุคคลใดนั้นก็คือ “ระบอบเผด็จการทาส” (Slave dictatorship) ดึกดำบรรพ์ซึ่งประมุขสังคมทาสมีอำนาจเด็ดขาดที่จะประหารชีวิตมนุษย์ในสังคมได้ โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดจริงหรือไม่

(3) ตามธรรมนิยมของอารยประเทศ ซึ่งสมเด็จกรมพระสวัสติวัตนวิศิษฐ์ อดีตอธิบดี ศาลฎีกาและอดีตประมุขตุลาการสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ทรงวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคำพิพากษาฎีกา ที่ 326/2455 ว่า

“........ในคดีที่เป็นอุกฤษฎโทษถึงตาย ถ้าการพิจารณามิกระจ่างจะฟังเอาพิรุธนายถมยาลงโทษถึงตายนี้ยังหมิ่นเหม่มิบังควรและธรรมภาษิตปล่อยคนทำผิดเสีย 10 คน ก็ยังดีกว่าลงโทษคนที่หาผิดมิได้คนหนึ่งดังนี้”

ประเทศอารยะยอมรับความจริงว่า แม้ศาลยุติธรรมที่เป็นคณะประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคนนั้นก็อาจตัดสินผิดข้อเท็จจริงได้ ฉะนั้นจึงได้บัญญัติให้ผู้ที่ถูกศาลตัดสินผิดนั้น แต่ต่อมาได้หลักฐานใหม่แสดงความบริสุทธิ์ของตนก็มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ส่วนประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งบัญญัติในสมัยรัชกาลที่  แล้วใช้อยู่จนถึง พ.ศ. 2499 นั้นก็มีบทลงโทษพยานเท็จอันเป็นเหตุให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาผิดข้อเท็จจริง

ดังนั้น ถ้าผู้เผด็จการคนเดียวมีอำนาจตัดสินลงโทษบุคคลไซร้ ก็อาจตัดสินผิดข้อเท็จจริงได้มากกว่าศาลที่ประกอบเป็นคณะผู้พิพากษาหลายคน

ผมขอให้ผู้ที่ต้องการระบอบเผด็จการทาสดังกล่าว โปรดคิดถึงอกท่านเองว่า ถ้าท่านหรือบิดามารดาบุตรหลานของท่านถูกเผด็จการตัดสินประหารชีวิตผิดข้อเท็จจริงไซร้ ท่านจะมีความรู้สึกอย่างไร

(4) ผมขอให้สหภาพฯ สังเกตว่า ชาติไทยต้องเสียคำใช้จ่ายแพงมากในการรักษาไว้ซึ่งระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ฯ คือ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ฯ ถึงแก่อสัญกรรมแล้วปรากฏว่าท่านได้นำเงินของรัฐไปใช้ส่วนตัวกว่า 2,000 ล้านบาท และยังต้องเสียความเป็นพรหมจารีของหญิงสาวอีกหลายสิบคนให้เป็นอนุภรรยาของท่านผู้นี้

สำหรับจอมพลถนอมฯ นั้น ชาติไทยก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงในการรักษาไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาดของท่านจึงปรากฏว่ารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินจำนวนมากของจอมพลถนอมเป็นของรัฐ

(5) ฉะนั้นผมจึงเห็นว่าการทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงนั้น ก็ต้องวิจัยสมุฏฐานให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงใช้วิธีป้องกันและวิธีแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมแก่สมุฏฐานนั้นซึ่งมิใช่วิธีเผด็จการทาสที่ล้าสมัยหรือวิธีเผด็จการฟาสซิสต์นาซีซึ่งเป็นซากของเผด็จการทาส-ศักดินา

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย), น. 67-74

หมายเหตุ:

  • ตั้งชื่อบทความและจัดรูปแบบอักษร โดย บรรณาธิการ