ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

กบฏสันติชน

10
พฤศจิกายน
2565

คดีกบฏที่หนังสือพิมพ์เรียกกันว่า “กบฏ 10 พฤศจิกา” ซึ่งเปนเรื่องครึกโครมตั้งแต่วันจับกุมจนถึงวันนี้นั้น ภายหลังที่ผู้ต้องหาได้เปิดเผยความจริงบางประการของกระบวนการสอบสวนขึ้นที่ศาลแล้ว ประชาชนที่ไปฟังคำแถลง และได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่พากันขนานนามกบฏชุดนี้ว่า กบฏสันติภาพบ้าง, กบฏปอลิโอบ้าง, กบฏแฟนซีบ้าง, กบฏสงเคราะห์ประชาชนบ้าง, กบฏเสรีภาพบ้าง, กบฏหนังสือพิมพ์บ้าง รวมทั้งกบฏอิสานสัมพันธ์ เมื่อตำรวจได้จับกุมนักศึกษา ม.ธ.ก. รุ่นเยาว์อีกชุดหนึ่งที่ร่วมกันจัดงานรื่นเริงนักศึกษาชาวอิสานและได้ออกหนังสืออิสานสัมพันธ์มาคุมขังไว้

ที่เขาเรียกกบฏชุดนี้ว่า “กบฏสันติภาพ” ก็เพราะผู้ต้องหาสวนหนึ่งที่เปนนักเขียนและสันติชนถูกสอบสวนในเรื่องศรัทธาที่มีต่อสันติภาพ ที่เรียกว่า “กบฏปอลิโอ” ก็เพราะผู้ต้องหาที่เปนนักศึกษาและนักหนังสือพิมพ์ ได้ถูกสอบสวนในเรื่องชักชวนให้นักศึกษาและประชาชนบริจากทรัพย์ซื้อปอดเหล็กไว้บำบัดโรคปอลิโอ ที่เรียกว่า “กบฏแฟนซี” ก็เพราะนักศึกษาถูกสอบสวนในเรื่องการแต่งแฟนซี มีเทพีสันติภาพเปนอาทิ ที่เรียกว่า “กบฏสงเคราะห์ประชาชน” ก็เพราะเหล่าผู้ต้องหา สันติชน นักหนังสือพิมพ์และนักศึกษา ได้รวบรวมเงินและเสื้อผ้าที่ประชาชนผู้มีเมตตาจิตบริจาคนำไปแจกจ่ายแก่พี่น้องชาวอิสานผู้อดอยากยากจน

ที่เรียกว่า “กบฏเสรีภาพ” ก็เพราะว่าผู้ต้องหาที่เปนนักหนังสือพิมพ์ได้ถูกสอบสวนในเรื่องเรียกร้องเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ที่เรียกว่า “กบฏหนังสือพิมพ์” ก็เพราะมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ถูกจับมารวมทั้งหมดถึง 13 คน ได้แก่บรรณาธิการ “สยามนิกร” “พิมพ์ไทย” “ฉวนหมินเป้า” “หนานเซิง” “ข่าวภาพ” “สัจจา” “ข่าวรายวัน” “อักษรสาส์น” “ปวงชน” “เสียงไทย” “โลกใหม่” “ธรรมจักร” “นิติศาสตร์”

และถ้ารวมคณะผู้จัดทำ “อิสานสัมพันธ์” ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ นักข่าวและนักเขียนหนังสือพิมพ์เข้าด้วยแล้ว ก็นับว่าผู้ต้องหาที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ ประกอบเปนผู้ต้องหากลุ่มใหญ่ และที่เรียกว่า กบฏอิสานสัมพันธ์ก็เพราะผู้ต้องหาที่เปนนักศึกษา ม.ธ.ก. รุ่นเยาว์ 5 คนได้ถูกสอบสวนในเรื่องจัดให้มีการเลี้ยงและทำหนังสือ “อิสานสัมพันธ์”

เพราะว่าผู้ต้องหาว่าเปนกบฏภายในและภายนอกชุดนี้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสันติชน นักเขียน นักศึกษา และบุคคลเหล่านี้ได้มีบทบาทสนับสนุนการกอบกู้สันติภาพมาแล้วไม่มากก็น้อย ทั้งเปนผู้ที่มีใจมั่นอยู่ในแนวทางสันติ ไม่ส่งเสริมการกระทำที่จะนำโลกไปสู่สงคราม ผู้เขียนจึงขอเรียกผู้ต้องหากบฏชุดนี้ว่า “กบฏสันติชน”

ตามคำแถลงของผู้ต้องหาที่ได้แถลงต่อศาลหลายครั้งหลายคราว ประชาชนได้ทราบว่าการสอบสวนผู้ต้องหาเหล่านี้ เปนการสอบสวนที่ห่างไกลจากประเด็นข้อหาว่าเปนกบฏภายในและภายนอกอย่างยิ่ง ผู้ต้องหาสันติชนที่ไปประชุมสันติภาพที่โรงแรมสุริยานนท์ถูกสอบสวนแต่เฉพาะในเรื่องการสนับสนุนสันติภาพ

ในเรื่องการสงเคราะห์ประชาชนชาวอิสานและในเรื่องหาตลาดสินค้ายาง เพื่อช่วยให้ราคายางสูงขึ้นอันจะอำนวยผลดีแก่เจ้าของสวนยางและคนงานสวนยางทางภาคใต้ ผู้ต้องหานักศึกษา ม.ธ.ก. ก็ถูกสอบส่วนในเรื่องสนับสนุนสันติภาพ เรื่องสงเคราะห์ประชาชนอิสาน เรื่องบำบัดโรคโปลิโอ รวมทั้งเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน เรื่องการโต้วาที เรื่องแต่งแฟนซี เรื่องหนังสือธรรมจักร ผู้ต้องหาบรรณาธิการบางคน ถูกสอบสวนในเรื่องเปนปากเสียงให้แก่ชาวนากรณีภาษีที่ดินในเรื่องช่วยเหลือกรรมกรสวนยางและเรื่องเรียกร้องเสรีภาพหนังสือพิมพ์

ภาระกระทำเพื่อสันติภาพ เพื่อมนุษยธรรม และเพื่อประชาชนเหล่านี้ ในเวลาต่อมารัฐบาลที่ได้กระทำเหมือนกัน เปนต้น ได้ชักนำขบวนการ เอ็ม.อาร์.เอ. เข้ามาว่าเปนอุปกรณ์ที่จะกอบกู้สันติภาพของโลกไว้ได้ ในเรื่องสงเคราะห์ประชาชน รัฐบาลก็ตั้งกรรมการสงเคราะห์ไปแจกจ่ายผ้าห่มกันหนาวแก่ประชาชนในภาคอิสานและภาคอื่นๆ อีก ในเรื่องบำบัดโรคปอลิโอ รัฐบาลก็ได้ตัดสินใจซื้อปอดเหล็ก 12 เครื่องเพื่อแจกจ่ายไปตามโรงพยาบาลในต่างจังหวัด

ในเรื่องราคายางตกต่ำรัฐบาลก็ได้ตั้งกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไข ในเรื่องภาษีที่ดินรัฐบาลก็ได้ยอมลดค่าภาษีลงมา และที่ประเมินภาษีไว้อย่างผิดพลาดเช่นที่จังหวัดสุราษฎร์ฯ ซึ่งชาวนาได้เรียกร้องให้ประเมินใหม่ และทางราชการก็ได้ยอมรับข้อผิดพลาดและประเมินให้ใหม่ โดยลดจากอัตราไร่ละ 5 - 6.50 บาท เปนไร่ละ 1 บาท แม้กระทั่งการเรียกร้องเสรีภาพหนังสือพิมพ์ ก็ปรากฏว่าอธิบดีกรมตำรวจได้ตกลงจะปรับปรุง พ.ร.บ.การพิมพ์ จะงดการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และจะขอประทานคำแนะนำการปรับปรุงจากพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์

การกระทำของรัฐบาลเหล่านี้ ก็เปนการกระทำซ้ำกับที่บรรดาผู้ต้องหาเหล่านั้นได้กระทำมาแล้ว ข้อต่างกันอย่างสำคัญก็มีอยู่แต่ว่าบุคคลผู้ริเริ่มกระทำการเหล่านั้น ในนามของประชาชน และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน กลับมาตั้งข้อหาว่าเปนกบฏทั้งภายในและภายนอก และต้องคุมขังอยู่จนกระทั่งบัดนี้

มีพฤติการณ์ใหม่อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลได้กระทำไปสดๆ ร้อนๆ คือการออกกฎหมายว่าด้วยการสำรวจออกโฉนดที่ดิน เพื่อความเปนธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้มีมูลเหตุมาแต่กรณีที่ดินตำบลบางบ่อและบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งชาวนาได้ “ถูกแย่งสิทธิในที่ดินไปโดยอุบายของผู้มีกำลังทรัพย์และอิทธิพล” เรื่องความเดือดร้อนของชาวนาตำบลบางบ่อ บางพลีนี้ หนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” ได้เปนตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องความเปนธรรมให้แก่ชาวนาผู้ยากจน[1] เคราะห์ดีที่รัฐบาลเห็นพ้องด้วยและเข้าสนับสนุนด้วยการออกกฎหมายดังกล่าวแล้ว หากว่ารัฐบาลไม่เห็นด้วย ก็เปนที่น่าสงสัยอยู่ว่า บรรณาธิการ “ข่าวภาพ” ซึ่งตกเปนผู้ต้องหากบฏอยู่ในขณะนี้จะถูกสอบสวนว่าเปนผู้ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องขึ้นในแผ่นดิน และเปนผู้มีท่าทีเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่? แต่เมื่อรัฐบาลมีความเห็นพ้องด้วยแล้ว บรรณาธิการ “ข่าวภาพ” จึงมิได้ถูกสอบสวนในเรื่องนี้ แต่กลับไปถูกสอบสวนในเรื่องเรียกร้องเสรีภาพ ซึ่งเปนเรื่องธรรมดาสามัญเหลือเกินของระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลในเรื่องการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน เพื่อ “ปกป้องรักษาผลประโยชน์ประชาชน” นี้ เราขอสนับสนุนการกระทำของรัฐบาลด้วยจริงใจ และขอให้รัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จ เราย่อมสนับสนุนการกระทำอันกล้าหาญของรัฐบาลทุกกรณีที่กระทำไปเพื่อ “ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชน” โดยแท้จริง ในทางกลับกันเราย่อมคัดค้านการกระทำใดๆ ที่เปนไปเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์และความผาสุกของประชาชนส่วนน้อย ซึ่งส่งผลเปนความเดือดร้อนไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่

ตั้งแต่วันจับกุมมาจนบัดนี้ ประชาชนต่างก็เฝ้าดูความคลี่คลายของพฤตติการณ์เกี่ยวกับผู้ต้องหา “กบฏสันติชน” ด้วยความสนใจเพราะว่าบทบาทของบรรดาผู้ต้องหาเหล่านั้นได้เปนที่ประจักษ์แจ้งอยู่ว่าประกอบด้วยจิตใจที่ใฝ่สันติภาพ มนุษยธรรม และจิตที่มุ่งพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าเขาเหล่านั้นได้ถูกจับกุมแลถูกฟ้องว่าเปนกบฏเพราะเหตุนั้น ก็เปนที่คาดหมายได้ว่าประชาชนจะได้ติดตามศึกษาข้อเท็จจริงของคดีเรื่องนี้ด้วยความสนใจยิ่ง

บัดนี้ เรื่องของผู้ต้องหา “สันติชน” นักเขียนและนักศึกษาซึ่งมีบทบาทในทางพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนก็ได้ผ่านจากการสอบสวนของตำรวจไปสู่มือนักกฎหมายอัยการแล้ว ประชาชนผู้เห็นใจในพฤติการณ์ของบุคคลเหล่านี้ย่อมจะเฝ้าดูความคลี่คลายของพฤติการณ์ด้วยความสนใจต่อไป ประชาชนต่างก็หวังว่าคดีเรื่องนี้เขาคงจะได้รับบทเรียนที่มีค่ามากมาย

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ รายวัน วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2496

ที่มา : กุหลาบ สายประดิษฐ์, กบฏสันติชน, ใน กุหลาบ สายประดิษฐ์ มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ, (กรุงเทพฯ: แอล. ที.เพลซ, 2548), หน้า 531-535.

 

สั่งซื้อ : หนังสือ มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : ข้อเขียนการเมืองของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์

 


[1] เรื่องความเดือดร้อนของชาวนาที่ตำบลบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการนี้ ได้มีผู้นำเนื้อหาบางส่วนมาเขียนเป็นนวนิยาย ในชื่อเรื่องว่า ‘ปีศาจ’ เมื่อ พ.ศ. 2496 โดยใช้นามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ ― บก.