Focus
- บทความนี้บอกเล่าชีวประวัติของชนิด สายประดิษฐ์ ตั้งแต่ภูมิหลัง อาทิ เป็นลูกสาวคนโตของขุนชาญรถกล กับนางเขียว ปริญชาญกล ชนิดอยากเป็นครูเลยเลือกเรียนอักษรศาสตร์ ได้เจอกับ “ป๋า” กุหลาบ สายประดิษฐ์ และต่อมาได้สู่ขอแต่งงานกันตามประเพณี
- กุหลาบและชนิดได้ร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” โดยชนิดได้ช่วยเหลืองานของกุหลาบมากมายจนกุหลาบเคยเขียนชมเชยไว้ว่า “ระหว่างที่ไปใช้เวลาศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ตลอดจนได้กลับมาเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลืออันมีค่ายิ่งจาก “จูเลียต” นามปากกาของชนิด นอกจากทำหน้าที่ภรรยา และผู้จัดการสำนักพิมพ์ได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ในฐานะแม่ก็ได้เลี้ยงดูลูก ๆ อย่างสุดความสามารถเช่นกัน
เรื่องต่อไปนี้เป็นประวัติที่แม่ (ชนิด สายประดิษฐ์) เล่า และความรู้สึกประทับใจของผมเอง ผมบันทึกไว้ค่อนข้างละเอียด เพราะงานของแม่เป็นการปิดทองหลังพระ แม่ไม่ค่อยจะเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นฟัง แต่จะเล่าเรื่องของป๋า (กุหลาบ สายประดิษฐ์) อย่างมีชีวิตชีวา ถ้าไม่บันทึกไว้เรื่องต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนตามกาลเวลาที่ผ่านไป
เด็กหญิงกำพร้าพ่อ-เรียนจบมหาวิทยาลัย
แม่เกิดวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๕๖ จากไปเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ สิริอายุรวม ๙๗ ปี ๕ เดือน
แม่เป็นลูกสาวคนโตของขุนชาญรถกลและนางเขียว ปริญชาญกล ซึ่งมีลูกทั้งหมด ๖ คน คุณตา (ขุนชาญรถกล) ทำงานกรมรถไฟเป็นพนักงานขับรถไฟ สมัยนั้นรถไฟเป็นยานพาหนะที่ทันสมัยที่สุดของเมืองไทย เหมือนกับเครื่องบินเป็นยานพาหนะที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน คนขับรถไฟสมัยนั้นจึงเทียบได้กับนักบินสมัยนี้ ขุนชาญรถกลนอกจากขับรถไฟแล้วยังเป็นช่างที่เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์กลไกของรถไฟจึงได้รับ บรรดาศักดิ์เป็น “ขุนชาญรถกล” และได้รับนามสกุล “ปริญชาญกล” คุณตาเสียชีวิตเมื่อแม่ยังเรียนชั้นมัธยม แม่จึงเป็นเด็กกำพร้าพ่อ แต่คุณยายเป็นคนขยันและเก่งในการทำมาหากิน แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือก็เปิดร้านขายของสารพัดอย่างเลี้ยงดูลูกและส่งเสียให้เรียนหนังสือ แม่เรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนวังหลังวัฒนา (ต่อมาคือวัฒนาวิทยาลัย) แล้วเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบปี ๒๔๗๗ เนื่องจากคุณยายอ่านหนังสือไม่ออกจึงให้แม่อ่านสัญญาต่าง ๆ ให้ฟัง แล้วพินิจพิจารณาให้ดี หลังจากนั้นจึงเซ็นชื่อและให้แม่ช่วยทำบัญชีด้วย แม่จึงชอบวิชาคำนวณตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ตาม คุณยายใจกว้างให้แม่เลือกเรียนตามใจชอบ ไม่ได้ผลักดันให้แม่เรียนบัญชีเพื่อสืบทอดงานค้าขาย แม่อยากเป็นครูจึงเลือกเรียนอักษรศาสตร์ ความใจกว้างที่ให้ลูกเลือกเรียนตามใจชอบนี้ป๋ากับแม่ก็ทำสืบต่อมาร่วมกัน ป๋ากับแม่เป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ นักแปลวรรณกรรม แต่ก็ให้ลูกเลือกเรียนวิชาที่ชอบ พี่แอ๊ว (สุรภิน) จึงเรียนแพทย์ ส่วนผมเรียนวิศวะ เพราะชอบวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์
เมื่อแม่เรียนหนังสือได้อาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ (ต่อมาได้เป็นกรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์) พระยาอุปกิตศิลปสาร หลวงวิจิตรวาทการ พระราชธรรมนิเทศน์ หลวงสําเร็จวรรณกิจ และ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำชั้น เมื่อแม่มีลูกคนแรก (พี่แอ๊ว) ม.ล.ปิ่น ก็มา เยี่ยมถึงบ้าน
แม่รู้จักป๋าครั้งแรกตั้งแต่เป็นเด็กวัยรุ่นอายุราว ๑๒ ปี แต่ตอนนั้นยังไม่ได้รักกันเพราะอายุยังน้อย แม่ไปเรียนภาษาอังกฤษตอนค่ำที่สำนักรวมการสอนและรวมการแปล สำนักนี้ตั้งอยู่ที่ถนนรองเมืองใกล้บ้าน เวลานั้นแม่เรียนอยู่ชั้นมัธยมที่โรงเรียนสายปัญญา ป๋าเป็นครูหนุ่มสอนภาษาอังกฤษในคณะ “รวมการสอน” และเป็นนักแปลและเรียบเรียงในคณะ “รวมการแปล” โดยแปลและเรียบเรียงบทภาพยนตร์จากอังกฤษเป็นไทยพิมพ์ออกขายเป็นเล่มเล็ก ๆ
ความรัก - การแต่งงาน - การงาน - ชีวิตครอบครัว
แม่กับป๋าได้พบกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นราวเกือบ ๑๐ ปี ตอนนั้นแม่เรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนป๋าเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ที่มี ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นเจ้าของและผู้อำนวยการ ป๋าได้ไปพบ ม.จ. วรรณไวทยากรที่คณะอักษรศาสตร์ เพราะท่านเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น แม่เข้ามาไหว้ป๋าในฐานะที่เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ตอนนั้นแม่เป็นนิสิตสาวและป๋าเป็นบรรณาธิการหนุ่ม ป๋าเห็นว่าแม่เก่งภาษาอังกฤษ ท่าทางดี และทราบว่าแม่สนใจการแปล จึงชวนแม่ส่งเรื่องแปลมาลงในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” เพื่อให้หนังสือพิมพ์นี้มีสีสันยิ่งขึ้น เมื่อแม่เรียนอยู่ปีสุดท้ายจึงแปลเรื่อง “เยนแอร์” ส่งให้หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ลงเป็นตอน ๆ สัปดาห์ละครั้ง โดยคุณมาลัย ชูพินิจ ตั้งชื่อเรื่องให้ว่า “ความรักของเยนแอร์” และป๋าตั้งนามปากกาให้แม่ว่า “จูเลียต” เพราะทั้งป๋าและแม่ชื่นชมงานของเชคสเปียร์
ความรักของป๋ากับแม่เริ่มต้นเมื่อพบกันครั้งที่สองนี้เอง คบกันอยู่ ๓ ปีตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ ถึง ๒๕๗๘ ป๋ากับแม่มีประวัติชีวิตและความชอบที่ร่วมกันหลายอย่าง ทั้งสองคนกำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก รู้ซึ้งถึงหัวอกของเด็กที่กำพร้าพ่อในขณะที่เพื่อน ๆ มีทั้งพ่อและแม่ การขาดพ่อทำให้ฐานะความเป็นอยู่ เป็นแบบสามัญชนครอบครัวต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่ทั้งป๋ากับแม่ก็มีแม่ที่ขยันและทำงานเก่ง สามารถหาเลี้ยงครอบครัวและส่งเสียลูกให้เรียนหนังสือ มีวิชาสำหรับประกอบอาชีพด้วยลำแข้งของตนเอง ป๋ากับแม่ชอบงานวรรณกรรมเอกของโลก โดยเฉพาะเรื่อง “โรมิโอกับจูเลียต” ของเชคสเปียร์ คำคมที่ชื่นชอบเป็นพิเศษจากเรื่องนี้คือข้อความที่ว่า “คนขลาดตายหลายครั้ง แต่คนกล้าตายครั้งเดียว”
แม่กับป๋าชอบอัธยาศัยกันที่เป็นคนซื่อจริงใจนึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ เมื่อดูใจกันพอควรแล้วก็ไปเที่ยวสวนด้วยกัน แต่ไม่ได้ไปกันสองต่อสองเหมือนหนุ่มสาวสมัยนี้ แม่จะชวนน้องไปด้วย ส่วนป๋าบางครั้งก็ชวนเพื่อนไปด้วยเพื่อกันคนครหา หลังจากนั้นป๋าก็ชวนแม่ไปที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ทำให้แม่ได้เห็นการทำงานของป๋าที่เพื่อน ๆ ให้ความเชื่อถือ และมีความรู้ความสามารถ บางครั้งตอนเย็นป๋าก็ชวนแม่ไปกินข้าวครั้งหนึ่งไปเจอท่านวรรณไวทยากร ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติที่ป๋าทำงานและเป็นอาจารย์ของแม่ที่จุฬาฯ ท่านจำแม่ได้ ทำให้แม่รู้สึกขวยเขิน
ต่อมาป๋าก็สู่ขอแม่ตามประเพณี ถือว่าเป็นการหมั้น ท่านวรรณฯ เมื่อทราบว่าป๋ากับแม่เป็นคู่รักกันแล้วก็พาไปที่ต่าง ๆ เพื่อให้รู้จักชีวิตอีกแบบหนึ่งที่เพลิดเพลินเจริญใจ เช่น พาไปเลี้ยงข้าวที่เหลา (ภัตตาคารจีนชั้นดีราคาแพง) พาไปสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ พาไปสวนสราญรมย์ซึ่งสมัยนั้นมีการจัดงานเต้นรำบ่อย ๆ ทำให้ป๋ากับแม่ได้รู้จักบุคคลที่เป็นสังคมชั้นสูงสมัยนั้นหรือที่สมัยนี้เรียกว่า “ไฮโซ” ซึ่งทั้งสองคนไม่เคยรู้จักคุ้นเคยชีวิตเช่นนี้มาก่อน แต่ป๋ากับแม่ก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ถือว่าตนเป็นสามัญชนและไม่คิดทะเยอทะยานจะเป็นคนชั้นสูง ชีวิตใหม่ ๆ ที่พบเห็นทําให้หนุ่มสาวคู่รักมีความสุขเพลิดเพลิน
หลังจากเรียนจบจากจุฬาฯ แล้ว แม่ก็ไปสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูพิทยาลงกรณ์ที่ราชเทวี ต่อมาก็ย้ายไปสอนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา โดยสอนวิชาคำนวณที่แม่ชอบ สมัยนั้นแม่เป็นครูสาวที่รักสวยรักงามเวลาสอนหนังสือจะแต่งตัวสวยเป็นประจำ ทำให้บางคนคิดว่าครูสาวแต่งตัวสวยคนนี้คงจะสนใจเรื่องการแต่งตัวยิ่งกว่าการสอน แต่เมื่อถึงปลายปีหลังจากการสอบผ่านไปแล้ว นักเรียนชั้นที่แม่สอนได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่านักเรียนชั้นของครูผู้มีประสบการณ์มานานอย่างเด่นชัด ทำให้ครูใหญ่และเพื่อนครูต่างรู้สึกทึ่ง ลูกศิษย์แม่คนหนึ่งชื่อคุณสมปอง สิงหศิริ ได้พบแม่อีกเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว เล่าว่า พวกนักเรียนชอบมองดูครูชนิด เวลาสอนนักเรียนในชั้น เพราะคุณครูสาวสวย แต่งตัวเก๋ตามสมัย เดินเหินกระฉับกระเฉง ครูชนิดใจดีให้ความสนใจคุณสมปองเป็นพิเศษ เพราะคุณสมปองเป็นนักเรียนประจำมาจากจังหวัดหนองคาย เมื่อคุณสมปองเหงาเพราะคิดถึงบ้าน ครูชนิดก็จะชวนคุณสมปองไปทานไอศกรีมแถวถนนราชดำเนิน
ก่อนแต่งงาน ท่านวรรณฯ ประทานที่ดินให้ประมาณ ๓๐๐ ตารางวาสำหรับป่าปลูกเรือนหอ เมื่อเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ท่านวรรณฯ ให้เงินเดือนป๋าสูง ป๋าเป็นคนประหยัดจึงเก็บเงินไว้ได้ ไม่น้อยและขอยืมจากมิตรบางคนเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งเพื่อสร้างบ้าน ป๋ากับแม่แต่งงานเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๗๘ ขณะนั้นป๋าอายุ ๓๐ ปี แม่อายุ ๒๒ ปี ม.จ.วรรณไวทยากร เป็นเจ้าภาพจัดงานแต่งงานให้ที่วังเพลินจิตของท่าน มีผู้ใหญ่ของบ้านเมืองในสมัยนั้น รวมทั้งเพื่อนพ้องมาร่วมงานมากมาย ผู้ที่มาร่วมงาน เช่น พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายาในรัชกาลที่ ๖ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยายมราช พระยาพหลพลพยุหเสนา (นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น) พ.อ.พิบูลสงคราม (ต่อมาคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา พระยามานราชเสวี ม.จ.หญิงพิจิตรรุจิราภา เทวกุล (อาจารย์ใหญ่ ร.ร.ราชินี) ขุนจง จัดนิสัย คุณเอ๊กโป้ย (เอก) วีสกุล คุณสนิท เจริญรัฐ น.พ.บุญส่ง เลขะกุล โดยมีคุณโชติ แพร่พันธ์ (ยา ขอบ) เป็นผู้เตรียมน้ำสังข์ พิธีแต่งงานของป๋ากับแม่คงจะเป็นงานที่มีเกียรติงานหนึ่งของยุคนั้น ซึ่งป๋ากับแม่คงไม่คาดคิดมาก่อน เพราะทั้งสองคนเป็นสามัญชน
เมื่อแต่งงานแล้ว ป๋ากับแม่มาอยู่บ้านซอยพระนางที่เป็นเรือนหอ ชื่อซอยมาจากชื่อพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของ ม.จ.วรรณไวทยากร บ้านที่อยู่ใกล้เคียงเป็นเจ้านายชั้นสูงราชสกุลวรวรรณ และข้าราชการชั้นสูง ป๋ากับแม่แวะเวียนไปวังของพระนางเธอลักษณมีลาวัณบ้าง วังของท่านหญิงวรรณีศรีสมรบ้าง วังของท่านหญิงบรรเจิดวรรณวรางค์บ้าง บางทีก็ไปเยี่ยมบ้านพระยาพนานุจร อธิบดีกรมป่าไม้สมัยนั้น บางวันก็ไปบ้านพระยาสุนทรพิพิธ ฯลฯ เจ้านายชั้นสูงไม่ถือพระองค์ ป๋ากับแม่เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัวจึงได้รับความเมตตาจากเจ้านายชั้นสูงและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทุกท่าน เพื่อนบ้านคนอื่นก็สัมพันธ์กันดี เช่น หลวงราชเบญจา ทนายความที่อยู่บ้านติดกัน ชีวิตที่บ้านซอยพระนางเป็นชีวิตใหม่สำหรับแม่ที่แต่เดิมอยู่ในบ้านและร้านของคุณยาย หรือไปเรียนหนังสือ และต่อมาสอนหนังสือที่โรงเรียนเท่านั้น ท่านหญิงบรรเจิดวรรณวรางค์ ที่ป๋าเอาลักษณะของท่านที่เป็นคนสวยและเก่งหลายอย่าง รวมทั้งการเรือน แต่เป็นโสด ไปแต่งเป็นลักษณะของ ม.ร.ว.กีรติในนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ท่านเมตตาแม่เป็นพิเศษ ช่วยตัดเย็บเสื้อผ้าชุดแต่งงานที่สวยงามให้แม่
ความยากลำบาก-ป๋าถูกจับครั้งแรก
ป๋ากับแม่มีชีวิตที่ราบรื่นและมีสุขในบ้านซอยพระนางระยะหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นในชีวิตการงานของป๋า นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นเชิญท่านวรรณฯ ไปเป็นที่ปรึกษา เมื่อมีการเขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ท่านวรรณฯ ทรงบอกอย่างเกรงใจว่า ขอให้เบา ๆ หน่อย ท่านขอร้องถึง ๒-๓ ครั้ง ทำห้ป๋าทำงานด้วยความลำบากใจ เพราะเป็นปากเสียงให้ประชาชนไม่สะดวก พอดีตอนนั้นหนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่นเชิญไปดูงาน 5 เดือน ป๋าจึงปรึกษาแม่ว่าจะรับเชิญเพื่อเลี่ยงจากการเป็นบรรณาธิการ โดยมอบให้คุณมาลัย ชูพินิจเป็นบรรณาธิการแทน ท่านวรรณฯ ผู้มีเมตตา ก็ไปส่งที่ท่าเรือพร้อมกับประทานพวงมาลัย ทั้งยังติดต่อให้ไปพักอยู่บ้านน้องชายของท่านคือ ม.จ.ฉันทนากร วรวรรณ ซึ่งกำลังทรงศึกษาต่อที่นั่น (ลักษณะของนพพร นักศึกษาหนุ่มในญี่ปุ่นในเรื่อง “ข้างหลังภาพ” อาจเอามาจากลักษณะของ ม.จ.ฉันทนากร) ท่านวรรณฯ ยังให้เงินเดือนป๋าด้วย ช่วยให้พอใช้อย่างประหยัดระหว่างอยู่ในญี่ปุ่น
เมื่อป๋าเดินทางไปญี่ปุ่นแม่กำลังตั้งท้องพี่แอ๊ว (สุรภิน) ลูกสาวคนแรก ป๋าจึงขอให้ย่าขายบ้านใกล้สวนจิต ย่ากับป้าจึงมาอยู่ด้วยกันที่บ้านซอยพระนาง ย่ากับป้าดูแลแม่อย่างดี ช่วยรับภาระต่าง ๆ ทางบ้าน ป้าผู้มีเมตตาช่วยเลี้ยงดูแลแอ๊วและอิ๊ดเหมือนลูกของตนเอง แม่สอนหนังสือที่โรงเรียนและแปลหนังสือ (เรื่อง “ความรักของเยนแอร์” ลงในหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ”) อีกทำให้มีรายได้พอใช้จ่ายในบ้าน ระหว่างป๋าอยู่ในญี่ปุ่น แม่ก็คลอดลูกสาวคนแรก (พี่แอ๊ว) หมอที่ทำคลอดชื่อหลวงพรหมทัตเวที ป๋าฝากท่านช่วยทำคลอดเมื่อป๋ากลับมาจากญี่ปุ่นก็ไม่รับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” อีก แต่ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาไปสำนักพิมพ์เป็นครั้งคราว แต่ไม่ต้องนั่งทำงานประจำ ป๋าจึงมีเวลาเขียนนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ที่มีฉากเป็นประเทศญี่ปุ่น ป๋ายังได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งสมัยนั้นเป็น มหาวิทยาลัยเปิด และเรียนจนจบธรรมศาสตร์บัณฑิต ต่อมาปี ๒๔๘๐ ทหารก็ไปล้อมวังท่านวรรณฯ เพราะหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ลงข้อเขียนขัดขืนต่อต้านรัฐบาล ท่านวรรณฯ จึงเรียกบรรณาธิการและกรรมการที่ปรึกษาทั้งหมดให้มาพบทหารด้วยกัน ทั้งหมดก็เลยได้โอกาสลาออก เพราะเดิมอยากลาออก แต่ก็เกรงใจท่าน
ปี ๒๔๘๒ ย่าป่วยหนัก ขณะแม่กําลังท้องลูกคนที่สอง ย่าอยากเห็นหลานคนเล็กมาก แต่ก็จากไป ก่อนที่หลานคนเล็ก (อิ๊ด) จะลืมตาดูโลกเพียงเดือนเดียว
ต่อมาปี ๒๔๘๕ มีการแจกใบปลิวคัดค้านนโยบายรัฐจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ยอมให้ญี่ปุ่นยึดครองไทย และป๋าก็เขียนบทความคัดค้านเรื่องนี้พอดี เช้าตรู่วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๕ ป๋าตื่นนอนเวลา ๖ น. เพื่อทบทวนวิชากฎหมายที่เดิมทีจะต้องไปสอบในวันนั้น หลังจากเปิดไฟลงมือดูหนังสือได้ประมาณ ๕ นาที ก็ได้ยินเสียงคนร้องเรียกจากภายนอกว่า “คุณกุหลาบครับ คุณกุหลาบครับ คุณกุหลาบอยู่ไหมครับ” เมื่อเปิดประตูกระจกที่ระเบียงข้างบน ก็แลเป็นตำรวจยืนเรียงรายอยู่หน้าบ้านหลายคน แต่ก็ไม่ตื่นเต้นตกใจเท่าใด เพราะระหว่างนั้นดูมีเคราะห์ภัยเข้ามาพัวพันอยู่ไม่หยุดหย่อน เมื่อได้ตอบขานรับออกไปแล้วก็ลงไปข้างล่าง ขณะนั้นแม่ซึ่งตื่นนอนแล้วได้ร้องถามออกมาจากในมุ้งว่า “ใครมาคะ” แต่ป๋าไม่ได้ตอบให้ทราบ นายตำรวจที่เป็นผู้นำตำรวจ ๗-๘ คนมาล้อมบ้าน ได้แจ้งให้ทราบว่าป๋าต้องหาว่าเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร ป๋ารู้สึกสะเทือนใจเมื่อได้รับทราบข้อหา แต่ก็ไม่ตกใจเท่าใด เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน เมื่อได้นำคณะตำรวจเข้ามาในบ้านแล้ว แม่ได้ร้องถามลงมาจากข้างบนว่า “ใครมาคะ” ป๋าร้องตอบไปว่า “ตํารวจมา” แม่บอกว่า “อย่าหลอกนะ” ป๋าตอบไปว่า “จริง ๆ ” แม่ยังพูดต่อไปอีกว่า “ไม่เชื่อ” นายตำรวจยิ้ม ป๋าได้ร้องตอบไปว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ลงมาดูเอาเองเถอะ”
เมื่อแม่ลงมาพบตำรวจเข้าจริง ๆ ป๋าก็ชี้แจงเรื่องราวให้ฟัง แม่ไม่ได้แสดงความตระหนกตกใจอะไรเกินไป เป็นแต่แสดงฉงนสนเท่ห์เท่านั้น ป๋าได้เชิญให้นายตำรวจตรวจค้นได้ตามความพอใจ การตรวจค้นผ่านไปด้วยความเรียบร้อยไม่ปรากฏเอกสารที่เป็นข้อผิดกฎหมายและเป็นเครื่องแสดงมลทินอะไรแก่ป๋าเลย ระหว่างที่กำลังตรวจค้นอยู่นั้น พี่แอ๊ว (สุรภิน) ได้เข้ามาอยู่ด้วย แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังมีภัยมาถึงป๋า และป๋ากำลังถูกจับตัวไปคุมขังไว้ เมื่อป้าและแม่เตรียมข้าวของลงหีบห่อที่ป๋าจะนำไปใช้ในที่คุมขัง พี่แอ๊วพูดขึ้นด้วย ความไม่เดียงสาว่า “ป๋าจะหอบอะไรไปมากมายก็ไม่รู้” ป๋าได้แต่ยิ้ม ก่อนจากบ้านไปได้มาจูบลูกอีกครั้งหนึ่งและอิ๊ด (ไม่ถึง ๓ ขวบ) ก็หัวเราะร่าเริงตามเคย
สมัยนั้นข้อหา “กบฏภายในราชอาณาจักร” น่ากลัวมาก ก่อนหน้านั้น ณ เณร ตาละลักษณ์กับพวกอีก ๑๘ คนถูกจับข้อหากบฏแล้วถูกยิงเป้าไปหลายคน พอแม่ได้ยินเข้าก็ใจไม่ดี ป๋าไม่มีท่าทีตกใจอะไร ตำรวจได้นำป๋าไปส่งที่สถานีตำรวจสำนักพระราชวัง เจ้าหน้าที่ได้เปิดประตูห้องขัง ความคิดของป๋าสะท้อนในทิณกรณ์ (บันทึก) ว่า “เมื่อเราเข้าไปอยู่ภายในและได้ยินเสียงเขาลั่นประตูดังแกร๊ก เราก็รู้สึกว่าอิสรภาพของเราได้ถูกเขาริบไปเสียแล้ว แต่เราโต้แย้งอยู่ในใจว่า ไม่เป็นไรดอก อิสรภาพทางใจของเรายังมีอยู่อย่างสมบูรณ์” ตลอดเวลาที่ถูกจับกุมคุมขังแม่ก็เอาหนังสือไปให้ป๋าอ่าน ป๋าทำงานอยู่ในห้องขัง มีผลงานส่วนหนึ่งเขียนในช่วง ที่ถูกคุมขังอยู่ เช่น “เรื่องของเขา” แม่ทำใจให้เข้มแข็ง ไม่ให้ป๋าร้อนใจเลยไปในเรื่องทางบ้าน แม่ไปเยี่ยมป๋าสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง เมื่อป๋าต้องการอะไรแม่ก็ส่งไปให้ทุกอย่างรวมทั้งปิ่นโตอาหาร แม่ไม่เคยร้องไห้ เข้าใจป๋าดี มีแต่สนับสนุนสิ่งที่ป๋าทำดีและถูกต้อง ไม่เคยห้ามเลย ป๋ามักจะพูดให้แม่ฟังว่า เราทำตามหน้าที่ เราก็ต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ แม่บอกป๋าว่าไม่ต้องกังวลทางบ้าน
ตอนที่ป๋าอยู่ในที่คุมขังระยะแรก มีปัญหาเรื่องไม่ได้อาบน้ำ ๓ อาทิตย์ แม่ก็ไปบอกหลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท (รองผู้บังคับการสันติบาล) หลวงสัมฤทธิ์ฯ ก็เซ็นมาเลยว่าอนุญาตให้อาบน้ำได้ อาบน้ำแล้วก็เดินเล่น ๔๕ นาทีได้ ครั้งหนึ่งแม่พาพี่แอ๊ว (สุรภิน) ลูกสาวคนโตมาเยี่ยมป๋า ตอนนั้นอิ๊ด (สุรพันธ์) ยังเล็กมาก ยังไม่ถึง ๓ ขวบ ก็เลยไม่พาไป พอเห็นลูก ป๋าก็สะเทือนใจ ตอนลูกจะลา ป๋าหันหลังให้เพราะสะเทือนใจ กลัวน้ำตาจะไหล ตั้งแต่นั้นมาป๋าก็ไม่ให้แม่เอาลูกมาเยี่ยมอีก ป๋าถูกขังอยู่เกือบ ๓ เดือนก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพเพราะคดีไม่มีมูล
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อแม่ทราบว่าป๋าร่วมเป็นเสรีไทย เพื่อรับใช้ชาติในยามที่ต่างชาติมารุกราน แม่ก็สนับสนุนให้กำลังใจ เมื่อมีการทิ้งระเบิดกรุงเทพฯครอบครัวเราย้ายไปอยู่บริเวณป้อมเพชร จังหวัดอยุธยา เรือนที่พักอยู่ริมน้ำกว้างขวางอยู่สบาย ต่อมาย้ายไปอยู่แสนแสบ ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากกว่าที่แสนแสบมีครอบครัวชาวกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติอพยพมาอยู่ชั่วคราวกันมาก
ไปออสเตรเลีย
หลังจากนั้นบ้านเมืองปั่นป่วน เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง สุดท้าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกฯ อีก สภาวะสงครามทำให้กระดาษแพง หนังสือพิมพ์ “ประชามิตร สุภาพบุรุษ” ที่ป๋าทำกับเพื่อน ๆ ประสบปัญหาทางการเงิน พระยาศราภัยพิพัฒนมิตรรุ่นพี่ได้ไปอยู่ออสเตรเลียเล่าให้ป๋าฟังว่า ที่นั่นเป็นเมืองฝรั่งที่ฐานะความเป็นอยู่ของคนไม่ต่างกันมาก น่าศึกษา ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ ป๋าจึงออกเดินทางพร้อมกับแม่ไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์และการเมืองที่ออสเตรเลีย โดยอ่านหนังสือศึกษาเองและไปพบปะสนทนากับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบินสัปดาห์ละครั้ง ตอนนั้นลูกทั้งสองคนอยู่โรงเรียนประจำและป้าช่วยดูแล ป๋ากับแม่เดินทางไปออสเตรเลียโดยมีพูนพันธ์ รังควร ลูกชายเจ้าของโรงพิมพ์อักษรนิติร่วมเดินทางไปด้วย พูนพันธ์เป็นหนุ่มรูปหล่อ เป็นนักกีฬา เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วได้แสดงภาพยนตร์เป็นพระเอกเรื่อง “สันติ-วีณา” เป็นภาพยนตร์มีชื่อและได้มีรางวัลสมัยนั้น ป๋าได้เอาลักษณะของพูนพันธ์มาเขียนเป็นลักษณะของ “โกเมศ” พระเอกในนวนิยายเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ทั้งสามคนเดินทางโดยรถไฟไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์ เพื่อไปออสเตรเลีย ตอนนั้นป๋ากับแม่อยู่ในบ้านที่เจ้าคุณศราภัยฯ จัดให้ ในบ้านมีนักเรียนไทยในออสเตรเลียรุ่นแรก ๆ อยู่ด้วยกัน นักเรียนไทยให้ความนับถือป๋ากับแม่ ใครมีปัญหาอะไรก็ปรับทุกข์ให้ป๋ากับแม่ฟังเหมือนกับเป็นญาติผู้ใหญ่ สมัยนั้นเจ้าหน้าที่กรมตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียไม่อยากให้คนผิวสีจากเอเชียเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านเมืองเขามากเกินไป นักเรียนไทยรุ่นแรก ๆ ถูกเจ้าหน้าที่รบกวนอยู่พอควร เช่นมาคอยสอบถามและ สืบสวนอย่างกีดกัน มีนักเรียนไทยรุ่นเยาว์คนหนึ่ง ที่ป๋ากับแม่เรียกอย่างเอ็นดูว่า “ตาน้อย” (บุตรชายนายตำรวจใหญ่คนหนึ่ง) วันหนึ่งตาน้อยกลับมาบ้าน เล่าให้ฟังว่า หนังสือพิมพ์ “เฮรัลด์” ขอสัมภาษณ์เรื่องเจ้าหน้าที่กรมนี้รบกวน ตาน้อยนึกคำภาษาอังกฤษจะเล่าให้ฟังไม่ค่อยได้ จึงได้แต่ด่าเจ้าหน้าที่พวกนี้ไปแรง ๆ เช่น เป็นพวกเกสตาโป พวกฮิตเลอร์ ป๋าฟังแล้วไม่สบายใจบอกตาน้อยว่าเขากำลังเข้าเรียนได้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่พวกนี้โมโหขึ้นมาอาจหาเหตุให้ออกจากประเทศของเขาอย่างที่เคยได้ข่าวอยู่บ่อย ๆ ปรึกษากันแล้ว จึงขอให้แม่ไปขอให้หนังสือพิมพ์ “เฮรัลด์” ตัดคำแรง ๆ พวกนี้ออกไป แม่ไปถึงสำนักพิมพ์ของ “เฮรัลด์” ทันเวลาอย่างหวุดหวิดพอดี เพราะเรื่องนี้กำลังจะขึ้นแท่นพิมพ์ เขาให้ความร่วมมืออย่างดี ยอมให้ตรวจและยอมให้แก้ไขตัดด่าแรง ๆ ออกไปได้ทันที
อยู่ที่ออสเตรเลียป๋ากับแม่มีเพื่อนชาวออสเตรเลียที่ดีหลายคน คนที่ป๋ากับแม่พูดถึงบ่อย ๆ และเขียนจดหมายติดต่อกันอยู่นานหลังจากกลับจากออสเตรเลียแล้วชื่อมิสเตอร์มาแซล เป็นท่านผู้สูงอายุที่ช่วยดูแลนักเรียนไทยที่เมลเบิน เป็นคนมีน้ำใจมาก นอกจากนั้นก็มีอดีตที่ปรึกษาของทางการไทยที่รู้จักกับป๋าและเชิญให้ป๋าพูดวิทยุภาคภาษาไทยที่ส่งกลับมาเมืองไทย เพื่อนชาวออสเตรเลียชวนไปเยี่ยมตามบ้านพาไปเที่ยวพาไปเลี้ยง ได้รู้จักชีวิตชาวออสเตรเลีย เมื่อตอนป๋ากับแม่จะเดินทางกลับกำลังหากระเป๋าใบใหญ่ ๆ ใส่หนังสือของป๋า เพื่อนชาวออสเตรเลียชั้นอธิบดีมีน้ำใจมาก เอากระเป๋าใบใหญ่ของเขามาให้
เมื่ออยู่ในออสเตรเลีย ตอนแรกป๋ากับแม่พักอยู่ที่นครเพิธแห่งรัฐเวสต์ออสเตรเลีย ต่อมาอยู่ประจำที่เมลเบินเมืองหลวงของรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของออสเตรเลีย เป็นเมืองที่สงบน่าอยู่ระหว่างอยู่ในออสเตรเลียป๋ากับแม่ได้เดินทางไปเมืองและสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ออสเตรเลียเป็นทวีปหนึ่งเนื้อที่กว้างใหญ่ทิวทัศน์แตกต่างหลากหลายสวยงาม การเดินทางที่ประทับใจที่สุดคือการเดินทางท่องเที่ยวจากเมลเบินไปซิดนีย์เมืองหลวงของรัฐนิวเซ้าท์เวลส์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย การท่องเที่ยวใช้เวลา ๑๑ วันจากรัฐวิกตอเรียข้ามสู่รัฐนิวเช้าท์เวลส์ รวมระยะทางทั้งไปและกลับ ๑,๒๐๐ ไมล์ (ประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร) กลางคืนเขาจัดให้พักในโรงแรมชั้นดีตลอด ค่านำเที่ยว ค่าโรงแรมชั้นดี ค่าอาหารชั้นดี ๓ เวลาในการท่องเที่ยว ๑๑ วันนั้น บริษัทท่องเที่ยวคิดเงินแก่ผู้เดินทางไม่แพง เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างของคนงานที่ไม่ต่ำ ทำให้ช่างตัดผมหรือบริกรตามโรงแรมสามารถพาภรรยาและบุตรไปตากอากาศในที่ที่พวกรัฐมนตรีจะไปได้เหมือนกัน รถนำเที่ยวเป็นรถที่มีความสะดวกสบายจุผู้โดยสาร ๒๐ คน คนขับรถทำหน้าที่เป็นคนนำเที่ยวด้วย เขาจะอธิบายเรื่องภูมิประเทศและตอบคำถามนักท่องเที่ยวตลอดทาง เปิดวิทยุรับดนตรีหรือฟังข่าวเป็นพัก ๆ เขาเป็นคนสนุกร่าเริง เขาร้องเพลงนำและผู้โดยสารก็ได้ร่วมร้องเพลงกับเขาอย่างสนุกสนาน และคิดหาวิธีให้ผู้โดยสารสนุกตลอดเวลา เช่นให้ทุกคนทายกันว่า กว่าจะถึงที่หมายในตอนเย็นจะต้องข้ามสะพานกี่สะพาน รถผ่านชุมนุมบ้านเรือนออกสู่ท้องทุ่งอันยาวเหยียด มีม้าขนาดใหญ่เป็นฝูง ๆ เดินเล็มหญ้าอยู่กลางทุ่ง ผ่านทุ่งเลี้ยงวัว เนินหญ้าเขียวสด บางคราวขึ้นไปบนเนินสูงแลเห็นท้องทุ่งราบอันไพศาล ฝูงแกะเชื่องเดินเอื่อยอ้อยอิ่งอาบแสงแดดอยู่ในท้องทุ่ง ต่อมาผ่านเข้าป่าต้นกัมซึ่งมีอยู่ทุกหนแห่ง บางคราวก็ผ่านป่ารกทึบระหว่างทางผ่านหมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ มีลักษณะเรียบร้อยน่าอยู่ ผ่านชุมชนใหญ่ หยุดแวะชมโบสถ์งามสร้างโดยสถาปนิกอิตาเลียน จากนั้นก็ผ่านลำธารและไปถึงทะเลสาบ คนขับพาผู้โดยสารข้ามทะเลสาบไปยังชายมหาสมุทรแปซิฟิก ดูชาวท้องถิ่นตกปลา กลางคืนที่โรงแรมมีการเล่นเปียโนและเต้นรำทำเพลงรื่นเริงแบบพวกชาวบ้าน เช้าวันรุ่งขึ้นก็ไปที่เกาะในทะเลสาบ เห็นนกนางนวลบินฉวัดเฉวียนอยู่เหนือทะเลสาบ แล้วเช่าเรือยนต์พาคณะท่องเที่ยวแล่นชมทะเลสาบ ใกล้ฝั่งเป็นป่าที่อาศัยของนกที่มีเสียงกังวานประดุจเสียงระฆังสุดท้ายก็มาถึงฝั่งทะเลของนครซิดนีย์ ทางข้างหน้างามด้วยความเว้าแหว่งที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้ แรมคืน ที่ซิดนีย์ ๔ คืน ระหว่างพักอยู่ที่ซิดนีย์ เขาพาชมบ้านเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ ขากลับเดินทางโดยเส้นทางใหม่แวะชมนครหลวงแคนเบอรา ซึ่งเป็นเมืองสวยงาม ชมภูมิภาคที่มีรสแปลกใหม่ไม่ซ้ำกัน การเดินทางครั้งนี้ พูนพันธ์ รังควร นักเรียนไทยที่เดินทางมาออสเตรเลียพร้อมกับป๋าและแม่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน
กลับมาประเทศไทย-ป๋าถูกจับข้อหากบฏครั้งที่ ๒
ป๋ากับแม่อยู่ในออสเตรเลียประมาณ ๒ ปีก็เดินทางกลับประเทศไทยทางเรือเมื่อเดือนมกราคม ๒๔๙๒ มีนักเรียนไทยที่นั่นและมิตรชาวออสเตรเลียมาส่งที่ท่าเรือหลายคน ขึ้นบกที่ท่าเรือสิงคโปร์ พำนักอยู่ในสิงคโปร์ ๒ สัปดาห์จึงลงเรือกลับประเทศไทย กลับมาถึงเมืองไทยวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ มีเพื่อนฝูงญาติมิตรมารอรับจำนวนมาก วันที่เดินทางกลับพอดีเกิดกรณีที่เรียกว่า “กบฏวังหลวง” หลังจากนั้นก็เกิดกรณียิงทิ้ง นักการเมืองที่รักชาติ ๔ ท่านคือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถวิล อุดล จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ เหตุการณ์นี้ทำให้ป๋ากับแม่คาดคิดว่าสักวันหนึ่งครอบครัวเราอาจต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตอีกครั้ง
ป๋ากับแม่เอาบ้านซอยพระนางที่เป็นตึก ๒ ชั้น บริเวณกว้างให้เช่า และพาครอบครัวมาเช่าบ้านที่ซอยภูมิจิตร พระโขนง ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับผ่อนส่งธนาคารที่กู้เงินตอนไปออสเตรเลีย ป๋ากับแม่ตั้งสำนักพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” พิมพ์หนังสือของป๋าและแม่ขาย แม่เป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์ใช้บริษัทปรีชาของคุณยาย ที่ถนนราชดำเนินเป็นที่ตั้งสำนักพิมพ์ แม่ได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยช่วยคุณยายทำการค้าให้เป็นประโยชน์ในคราวนี้ การเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์สมัยนั้น แม่ต้องทำเรื่องเบ็ดเตล็ดเองหลายอย่างเช่น บางครั้งต้องนั่งรถสามล้อไปส่งหนังสือและเก็บเงินตามร้านเอง หนังสือที่ขายนอกจากประเภทนวนิยายแล้ว ยังมีหนังสือประเภทวิชาความรู้ทางการเมือง จัดพิมพ์เป็นเล่มย่อม ๆ จำหน่ายในราคาถูก ระหว่าง ๓-๕ บาทเพื่อผู้มีรายได้น้อยจะได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ทางการเมือง แม่นอกจากเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์แล้วยังมีรายได้จากการแปลนวนิยายต่างประเทศลงในหนังสือรายคาบด้วย ช่วงที่ป๋าเขียนหนังสืออยู่ที่บ้านไม่ต้องไปทำงานที่ไหนนี้ แม่มีความสุข แม่ช่วยเตรียมข้อมูลไว้ให้ป๋า เช่น เวลาป๋าเขียนเรื่อง “ข้าพเจ้าได้เห็นมา” เล่าถึงออสเตรเลีย เวลาป๋าแปลหนังสือ แม่ก็หาคำแปลไว้ให้ แม่ปลื้มใจมากที่ป๋าเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ข้าพเจ้าได้เห็นมา” ว่า “ระหว่างที่ไปใช้เวลาศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ตลอดจนได้กลับมาเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลืออันมีค่ายิ่งจาก “จูเลียต” ผู้ซึ่งได้รวบรวมเอกสารข้อความรู้และจัดทำบันทึกบางอย่างตลอดมา ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความขอบคุณเธอ ผู้มีมุทิตาจิตเป็นนิจต่องานศึกษาและงานเขียนหนังสืออันไม่สู้มีค่าเป็นเงินทองของข้าพเจ้าไว้ ณ ที่นี้”
ครอบครัวเราอยู่อย่างเป็นสุขได้ระยะหนึ่ง เมฆทะมึนก็ตั้งเค้ามาให้เห็น ช่วงนั้นบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวายไม่สงบ มหาอำนาจพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐบาลไทย แม้ป๋าจะทำงานอยู่กับบ้าน แต่ก็ไม่ได้เลิกความคิดที่จะทำเพื่อส่วนรวม ป๋าได้เป็นนักหนังสือพิมพ์ชั้นนำคนหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้หนังสือพิมพ์ คัดค้านพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ควบคุมหนังสือพิมพ์มาก ทั้งยังร่วมก่อตั้งคณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย คัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ๒๔๙๕ เกิดภัยแล้งหนักในภาคอีสาน สมาคมหนังสือพิมพ์ฯ ขอให้ป๋าเป็นหัวหน้าคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคให้ประชาชนอีสาน ป๋ากลับมาถึงบ้านวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๕
วันรุ่งขึ้น ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ หลังจากมีเมฆทะมึนบอกลางมาระยะหนึ่ง ฟ้าก็ผ่าเปรี้ยงลงมาที่บ้านเรา วันนั้นตำรวจมาล้อมบ้านเป็นครั้งที่สอง และจับตัวป้าไปด้วยข้อหาฉกรรจ์ “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” ทั้ง ๆ ที่ป๋าไม่ได้ทำความผิดคิดร้ายตามข้อกล่าวหา เพียงแต่ทำหน้าที่นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ด้วยความชื่อสัตย์ต่อประชาชน แม่ ป้า และเราลูกทั้งสองตกตะลึงกับเหตุการณ์นี้ แต่ก็พยายามตั้งสติ
แม่ไม่ได้ร้องไห้เมื่อป๋าถูกจับ ยิ่งมีมรสุมแม่ก็ยิ่งเข้าใจป๋ามากขึ้น และเชื่อถือไว้วางใจมากขึ้นว่า ป๋าเป็นคนดี การจับครั้งนี้เป็นการจับแบบเหวี่ยงแห ผู้ที่ถูกจับนอกจากนักเขียนนักหนังสือพิมพ์แล้ว ยังมีนักศึกษา นายทหาร นักการเมือง ทนายความและชาวบ้าน รวมทั้งหมดถึง ๑๐๔ คน บางคนเคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก็มีคนไม่น้อยเพิ่งมารู้จักกันเมื่อถูกจับในข้อหา “คบคิด” กันก่อกบฏทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ในเดือนมีนาคม ๒๔๙๘ ศาลตัดสินจำคุกจำเลย ๔๘ คน คนละ ๑๓ ปี ๔ เดือน ป๋ากับแม่รู้สึกผิดหวัง เพราะไม่ได้ทำความผิด ข้อกล่าวหาทุกข้อสามารถโต้แย้งในศาลด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ป๋ากับแม่เผชิญกับสภาพเป็นจริงที่โหดร้ายด้วยความสงบ ไม่หลั่งน้ำตา เรือนจำสุดท้ายที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังคือเรือนจำบางขวาง ป๋าและผู้ต้องหาอีกหลายคนถูกจับเพราะเรียกร้องสันติภาพ คนทั่วไปจึงเรียกข้อหากบฏครั้งนี้ว่า “กบฏสันติภาพ”
เมื่อป๋าถูกจับ แม่และลูก ๆ ไปเยี่ยมป๋าทุกอาทิตย์ ทุกครั้งแม่เอาปิ่นโตอาหารและสิ่งที่ป๋าต้องการโดยเฉพาะหนังสือไปให้ เช่นหนังสือเรื่อง “ภูเขาแห่งพุทธธรรม” ของท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อทราบว่าครูครอง จันดาวงศ์ จากอีสานสนใจศึกษาภาษาอังกฤษ แม่ก็หาตำราภาษาอังกฤษ “Essential English” ตั้งแต่เล่ม ๑ ถึง ๔ ไปให้ ผู้ที่เรียนจบเล่ม ๔ ก็เท่ากับจบระดับมหาวิทยาลัย แม่ยังหาตำราสมุนไพรไปให้ลุงภู ชัยชาญ หมอยาไทยได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญ แม่ต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวแทนป๋า ดูแลครอบครัวอย่างดีให้ลูกได้เรียนต่อไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แม่ต้องทำงานหนักทั้งแปลหนังสือ สอนภาษาไทยให้ชาวต่างประเทศ ลูกศิษย์ของแม่มีทั้งชาวอเมริกันและรัสเซีย และยังต้องดูแลเรื่องการพิมพ์หนังสือด้วย ป้าก็ช่วยดูแลทางบ้านอย่างดีให้ทุกอย่างเรียบร้อย
เมื่อป๋าอยู่ในที่คุมขัง ทางเรือนจำจัดให้นักโทษคดีอาญาชั้นดีมาช่วยดูแลป๋า เช่นช่วยเท “ถังเมล์” หรือกระโถนอุจจาระปัสสาวะให้ทุกวัน นายติ้วนักโทษผู้นี้ถูกคุมขังคดีฆ่าคนตาย แต่ที่จริงไม่ใช่คนชั่วร้าย เขาฆ่าคนตายเพราะบันดาลโทสะที่ผู้นั้นมารังแกเหยียดหยามเขาก่อน ต่อมานายติ้วพ้นโทษ ยังไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนั้นก็เท่ากับถูกผลักให้อยู่ในวังวนของขุมนรก ป๋าจึงขอให้แม่รับไปช่วยงานที่บ้านก่อนแม่ก็รับไว้ด้วยความเต็มใจ เนื่องจากเขาเป็นคนชนบทต่างจังหวัด สมัยนั้นไม่เคยขึ้นรถเมล์มาก่อน เวลาขึ้นรถเมล์จากเรือนจำกลับบ้านเขาจึงนั่งบนพื้นรถแทนที่จะนั่งเก้าอี้เหมือนผู้โดยสารทั่วไป แม่ให้เขาช่วยทำสวนในบ้าน ต่อมาเขาได้ภรรยา จึงขอลาไปตั้งครอบครัวที่บ้านเดิมในจังหวัดชลบุรี
ในปี ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีฉลองใหญ่กึ่งพุทธกาล มีการจัดงานบุญครั้งใหญ่ รัฐบาลจอมพล ป. จึงส่งคนสนิทมาเจรจากับตัวแทน “กบฏสันติภาพ” รวมทั้งป๋าว่าจะอภัยโทษให้ ป๋าและเพื่อนร่วมคุกขอให้เปลี่ยนเป็นนิรโทษกรรม คือถือว่าไม่มีความผิด เพราะไม่ได้ทำผิด สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมตกลงตามข้อเสนอ
ป๋าได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ รวมเวลาที่ถูกคุมขังครั้งนี้ ๔ ปีเศษ ป๋ากลับมาอยู่บ้านใหม่ที่ซอยศิริพจน์ ซึ่งเป็นบ้านที่แม่สร้างขึ้นจากเงินมรดกของคุณยาย มีเพื่อนผู้ต้องขังบางคนไม่มีเงินพอที่จะขอประกันตัวออกมา แม่ก็ช่วยติดต่อญาติบางคนที่พอจะช่วยให้เขาได้ประกันตัวออกมาจากที่คุมขังได้ หลังจากป๋าได้รับอิสรภาพ แม่ต้องออกไปทำงานที่สำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ ที่ใช้สำนักงานบริษัทปรีชาของคุณยายที่ถนนราชดำเนินทุกวัน เพื่อดูแลการพิมพ์หนังสือของป๋าหลายเล่ม
จากเมืองไทยไปเยือนจีน แล้วต้องลี้ภัยอยู่ในจีน
เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้าน ป๋ามีงานเขียนมาก ทั้งนวนิยายและบทความทางการเมือง และยังมีมิตรสหายมาเยี่ยม ปรึกษาเรื่องการงานและคุยเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองที่ส่อเค้าในทางน่าเป็นห่วง พี่แอ๊วบอกว่า ช่วงนั้น “หัวกระไดไม่แห้ง” ปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๐๑ ป๋าได้รับเชิญจากสมาคมวิเทศสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของจีนให้นำคณะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมไปเยือนจีน คณะนี้มีนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักกฎหมายอาจารย์มหาวิทยาลัย และนักกิจกรรมทางสังคม รวม ๑๒ คน การเดินทางครั้งนี้เป็นการไปเยือนในฐานะทูตทางวัฒนธรรม โดยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการเดินทางโดยเปิดเผย มีญาติมิตรไปส่งที่สนามบินมาก ป๋าและคณะออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๑ คิดว่าไปเยือนจีนราว ๑ เดือน ตามคำเชิญก็จะกลับบ้าน โดยไม่ได้คาดคิดว่าการไปครั้งนี้จะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนที่รักไปตลอดชีวิต ไม่ได้กลับมาอีก
ทางการจีนต้อนรับทูตวัฒนธรรมไทยอย่างอบอุ่น จัดให้ไปเยือนเมืองต่าง ๆ หลายแห่ง เมื่อใกล้จะถึงกำหนดกลับเมืองไทย ก็เกิดเหตุการณ์ที่เหมือนกับฟ้าผ่าลงมาอีกครั้งหนึ่ง วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ฯ ทำรัฐประหารและแต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปกครองประเทศภายใต้กฎอัยการศึก ยุบสภา จับกุมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองฝ่ายค้าน รวมทั้งผู้เชื่อมสัมพันธไมตรีที่ไปเยือนจีนกว่า ๑๐๐ คน ทางการจีนบอกป๋าว่า ถ้าป๋าจะลี้ภัยอยู่ในจีน ทางจีนก็ยินดี ป๋าพิจารณาเห็นว่าเพิ่งได้รับอิสรภาพมาไม่นาน หลังจากถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมนาน ๔ ปีเศษ ถ้ากลับไปก็จะถูกอำนาจมืดจับกุมคุมขังอีก ไม่รู้ว่านานเท่าไร ขณะนั้นก็อายุมากแล้วจึงตัดสินใจลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนด้วยกันกับคุณสุชาติ ภูมิบริรักษ์ ส่วนคนอื่น ๆ ในคณะที่กลับไปก็ถูกจับกุมคุมคุมขังตามที่คาด
แม่ทราบข่าวการลี้ภัยของป๋าด้วยความห่วงใยและคิดถึง ป๋าจะต้องอยู่คนเดียวระยะยาวในจีน ใจแม่โบยบินอยากไปอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับป๋าโดยเร็วที่สุด แต่ต้องจัดการภาระหน้าที่ในเมืองไทยให้เรียบร้อยก่อนหลังจากป๋าไปจีนไม่นาน อิ๊ด (สุรพันธ์) ก็ได้รับทุนจากรัฐบาลสหภาพโซเวียตให้ไปเรียนต่อที่นั่น พี่แอ๊วหลังจากเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒ ปีแล้วก็ข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรียนแพทย์ต่อที่ศิริราชอีก ๔ ปี ช่วงนี้แม่ให้พี่แอ๊วเดือนละ ๖๐๐ บาท บางครั้งการเงินขัดข้องแต่ก็มีให้พี่แอ๊วไม่ขาด และต้องชำระเงินคืนให้ธนาคารจากการกู้เงินเมื่อไปออสเตรเลีย โดยเอาบ้านซอยพระนางค้ำประกัน แม่มีรายได้จากการแปลหนังสือ เช่นเรื่อง “เหยื่ออธรรม” ของวิคเตอร์ ฮูโก ลงในวารสาร “ชาวกรุง” รายเดือน และสอนภาษาไทยครึ่งวันให้ฝรั่งมิชชันนารี และยังมีรายได้จากการพิมพ์หนังสือของป๋า บางช่วงก็มีรายได้จากค่าเช่าบ้านซอยพระนาง ช่วงที่ป๋าอยู่ในจีน แม่ต้องอดทนมาก เพราะถึงจะมีรายได้ ก็มีรายจ่ายไม่น้อย ทั้งยังต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง ต้องพยายามแก้ปัญหาตามลำพัง เช่นบางครั้งผู้เช่าบ้านซอยพระนางก็มีปัญหา แม่ต้องเดินเข้าออกซอยขณะแดดร้อนเปรี้ยง
ระหว่างป๋าอยู่ในจีน แม่ติดต่อกับป๋าทางจดหมายลับ สมัยนั้นรัฐบาลไทยเป็นปฏิปักษ์กับประเทศ “คอมมิวนิสต์” การติดต่อกับประเทศสังคมนิยมทำไม่ได้เลย มีการตรวจสอบเข้มงวดเสมอ จึงต้องติดต่อผ่านทางพวกพ้อง ให้ช่วยหาทางส่งจดหมายต่อให้ป๋า โดยส่งต่อกันเป็นทอด ๆ เวลาป๋าส่งจดหมายถึงแม่ ก็ต้องส่งต่อกันเป็นทอด ๆ เหมือนกัน ซึ่งต่างกับสมัยนี้ เพียงแค่จ่าหน้าซองปิดแสตมป์และส่งไปรษณีย์ จดหมายก็ถึงมือผู้รับอย่างสะดวกสบาย ก่อนแม่จะไปอยู่กับป๋าในจีนเป็นการถาวร แม่ไปเยี่ยมป๋าครั้งหนึ่ง สมัยนี้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปักกิ่งง่ายนิดเดียว ขึ้นเครื่องบินไม่กี่ชั่วโมงก็ไปถึง แต่สมัยนั้นต้องไปทางลับ ผ่านฮ่องกงและมาเก๊า นัดพบกับตัวแทนของทางการจีนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน กว่าจะพบกันและเข้าประเทศจีนได้ ก็ทุลักทุเล ตื่นเต้นเหมือนภาพยนตร์ประเภทนักสืบ เมื่อพบกันและอยู่ด้วยกันไม่กี่วันแม่ก็เห็นชัดว่าป๋ายังเหมือนเดิม มีความมั่นใจในความถูกต้องเป็นธรรม ความมั่นใจมีแต่เพิ่มขึ้นและมีความซื่อสัตย์ ทางการจีนให้เกียรติและดูแลป๋าอย่างดี แม่เล่าให้มิตรบางคนฟังว่า ป๋าเคยถามว่า อยากให้กลับเมืองไทยหรือไม่ เพราะรู้ว่าแม่ต้องเผชิญชีวิตคนเดียว รับผิดชอบคนเดียว แต่แม่รู้สถานการณ์ดีจึงบอกป๋าว่า ไม่ต้องกลับ แม่จะตามป๋ามาอยู่ด้วยที่ประเทศจีน
แม่ดูแลพี่แอ๊วจนเรียนจบ แม่รู้จักหมอที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงให้พี่แอ๊วไปสอนที่นั่น แม่ชำระหนี้ธนาคารทุกงวดจนหมดเกลี้ยง ไม่ต้องเป็นห่วงว่าบ้านชอยพระนางจะถูกธนาคารยึด และรอพี่แอ๊วพร้อมจะแต่งงานกับพี่บุญศรี ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนด้วยกันตั้งแต่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จนกระทั่งจบแพทย์ที่ศิริราช และมีการงานที่มั่นคงได้เป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งสองคน ก่อนไปจีนแม่ยังได้ฝากเจ้าคุณศราภัยฯ มิตรรุ่นพี่ผู้อารีของป๋าให้ช่วยดูแลแลและเป็นผู้รับรองอิ๊ด ซึ่งกำลังเรียนอยู่ในสหภาพโซเวียต เพราะรัฐบาลสมัยนั้นมีอคติต่อประเทศสังคมนิยม พี่แอ๊วแต่งงานกับพี่บุญศรีวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๕ แม่ให้ทั้งสองคนใช้บ้านชอยศิริพจน์เป็นเรือนหอ วันรุ่งขึ้นหลังจากพี่แอ๊วแต่งงาน แม่ก็เดินทางไปอยู่กับป๋าในจีน ด้วยความโล่งใจที่ได้จัดทำสิ่งที่ควรทำในเมืองไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว แม่รอจนกระทั่งพี่แอ๊วแต่งงาน เพราะเป็นห่วงว่า ถ้าลูกสาวจะแต่งงานโดยไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ คนเขาจะดูถูกเอาได้ น้องสาวแม่คนหนึ่ง ช่วยดูแลการเงินระหว่างแม่ไม่อยู่เมืองไทย แม่บอกน้องคนนี้ว่า เมื่อมีรายได้ ญาติมิตรคนไหนอยากยืมไปใช้ก็ยืมได้ ต่อมาก็มีรายได้จากค่าเช่าบ้านซอยพระนาง และมีผู้ขอพิมพ์หนังสือของป๋า เงินที่เข้ามาจึงค่อย ๆ เป็นก้อนเป็นกำขึ้น ญาติคนหนึ่งมีความจำเป็นจึงได้ยืมเงินไปก้อนโต ต่อมาเมื่อญาติท่านนี้มีรายได้เข้ามา และมีกำไรจากการลงทุนก็เอาเงินมาคืนให้พร้อมดอกเบี้ยจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท แม่ให้น้องสาวคืนดอกเบี้ยให้ญาติ
การเดินทางไปจีนเพื่อไปอยู่กับป๋าตลอดไป ก็เหมือนการเดินทางไปเยี่ยมป๋าครั้งแรก คือต้องแอบไปลับ ๆ ไม่สามารถตรงไปจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ต้องไปฮ่องกงและมาเก๊าก่อน ต้องเรียกแท็กซี่ไปโรงแรมที่รู้แต่ชื่อ และคอยพบคนของทางการจีนที่นัดหมายกันผ่านคนกลาง เป็นสภาพที่คนไทยสมัยนี้ที่ไปเที่ยวเมืองจีนกันอย่างง่ายดายคงคาดคิดไม่ถึง
แม่มีความสุขที่ได้มาอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับป๋าในจีน ส่วนใหญ่อยู่ในโรงแรมสันติภาพ กรุงปักกิ่ง ที่พักเป็นเรือนเล็ก ๆ ที่สบายและสวยงาม เรือนเล็ก ๆ นี้มีหลายเรือน เดิมเป็นตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ของพระจักรพรรดิจีน เรือนเพื่อนบ้านอีกสองเรือนเป็นครอบครัวมิตรชาวลาว เวลาพบกันก็พูดคุยกันอย่างพี่น้องไม่ต้องมีล่าม ด้านหน้าเป็นลานโล่ง ข้างหนึ่งเป็นภูเขาจำลอง ไปนั่งเล่นได้ ตรงทางเดินมีชายคาที่มีภาพวาดสวยงาม เวลาไปทานข้าวก็เดินเลาะไปตามทางเดิน ฝนตกก็ไม่เปียก อยู่ในจีนมีความสะดวกสบาย อยู่ที่บ้านก็มีรถใช้ ไม่สบายก็มีล่าม กลางคืนก็โทรบอกล่ามขอให้พาไปโรงพยาบาลได้ อาหารที่โรงแรมสันติภาพรสดี ชาวต่างประเทศมักมารับประทาน เราจะสั่งอะไรทานก็ได้ แต่ป๋ากับแม่มักเลือกอาหารที่ราคาไม่แพงเกินไป มีครั้งหนึ่งป๋าถามล่ามว่า
“นั่นกระป๋องอะไร ดูน่ากิน”
“เป๋าฮื้อ” ล่ามตอบ
“ราคาเท่าไร” ป๋าถาม
“ราคาหลายเหรียญ” ล่ามตอบ
ป๋าก็ตอบว่า “ไม่เอา มันแพง”
ล่ามจึงล้อว่า “แหม คุณกุหลาบทำยังกับว่าจะไปซื้อเอง”
เคยมีชาวต่างประเทศที่เป็นแขกของหน่วยงานที่ดูแลเรา เชิญเพื่อนฝูงมาร่วมทานอาหารเป็นประจำเพราะเขาไม่ห้าม ป๋าบอกว่า “ไม่ใช่สตางค์ของเรา อย่าทำอย่างนั้น” ถ้าใครทำอะไรให้ป๋ากับแม่จะยิ่งใช้จ่ายประหยัด คือดูแลให้ฝ่ายต้อนรับใช้จ่ายสะดวกไม่ฟุ่มเฟือย เมื่อป๋ากับแม่ทำเช่นนี้ทางจีนก็นับถือและชื่นชม
บางครั้งทางจีนก็พาไปทัศนศึกษาที่ต่างจังหวัดของมณฑลต่าง ๆ หลายแห่ง บางครั้งก็พาไปพักผ่อนที่สถานตากอากาศ ป๋ากับแม่เคยไปพักบนภูเขาหลูซานซึ่งเป็นสถานตากอากาศที่มีธรรมชาติและโบราณสถานสวยงาม อากาศดี สมัยก่อนอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเช็คและพวกขุนศึก ชอบมาพักที่นี่ ที่ปักกิ่งก็ได้ไปเที่ยวชมวังโบราณและสวนพระนางซูสีที่สวยงาม กำแพงเมืองจีน และที่อื่น ๆ ระหว่างอยู่ในจีนป๋าได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติหลายครั้ง โดยเฉพาะการประชุมนักเขียนอาเชีย-อัฟริกา ทั้งการประชุมใหญ่และประชุมย่อย แม่ก็เข้าร่วมประชุมด้วย ช่วยป๋าพูดคุยกับแขกประเทศต่าง ๆ และเจ้าภาพจีน ช่วยจดบันทึก ช่วยหาข้อมูล สำหรับป๋าพูดในฐานะตัวแทนนักเขียนไทย ป๋ากับแม่ยังมีโอกาสพบผู้นำจีน เช่น ประธานเหมาเจ๋อตุง นายกรัฐมนตรีโจวเอินหลาย บางครั้งในงานวันชาติจีนที่เทียนอันเหมิน บางครั้งในการประชุมนักเขียนอาเชีย-อัฟริกา ป๋าเคยพบสัมภาษณ์อดีตจักรพรรดิปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน และแม่เคยพบทักทายอดีตจักรพรรดิปูยีในโรงพยาบาลเซียะเหอ ขณะป่วยอยู่ที่นั่น และนั่งดูโทรทัศน์ในห้องเดียวกัน ระหว่างอยู่ในจีน ป๋ากับแม่ได้เยี่ยมคารวะและสนทนากับท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทั้งที่กวางตุ้งและปักกิ่ง
ในปี ๒๕๐๙ แม่ได้รับเชิญจากวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งให้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับภาษาไทยแก่นักศึกษาแผนกภาษาไทย วิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งได้มีจดหมายขอบคุณที่แม่ได้พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาภาษาไทย
อิ๊ด (สุรพันธ์) เดินทางมาอยู่กับป๋าและแม่ในจีนหลังจากเรียนจบจากสหภาพโซเวียตในปี ๒๕๐๙ และอยู่ในจีนด้วยกันกับพ่อแม่ตลอด ส่วนพี่แอ๊ว (สุรภิน) และสามี หลังจากแต่งงานและทำงานในเมืองไทยระยะหนึ่งแล้ว ก็ไปศึกษาวิชาแพทย์เพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกาและทำงานอยู่ที่นั่น ระยะหลังสุขภาพของป๋าไม่ค่อยแข็งแรง ในปี ๒๕๑๗ หลังจากเกิดกรณี ๑๔ ตุลา ที่นักศึกษาและประชาชนรวมตัวกันครั้งใหญ่ เรียกร้องประชาธิปไตย เพียง ๑ ปี ป๋าต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโรคปอดบวม ต่อมามีโรคแทรกช้อน เส้นโลหิตหัวใจตีบตัน ขณะที่ป๋าป่วยแม่ก็ป่วยเป็นไข้หวัด รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเซียะเหอแห่งเดียวกัน นอนป่วยอยู่ในห้องไม่ไกลจากป๋า เนื่องจากการป่วยของป๋ามีโรคแทรกช้อน ป๋าเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๗ การจากไปของป๋าทำให้แม่และอิ๊ดสะเทือนใจมาก เพราะป๋าเป็นสามีที่ดีของภรรยาและพ่อที่ดีของลูก ป๋านึกถึงเมืองไทยตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่รัก แม่ได้มาอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับป๋า จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทางการจีนจึงจัดพิธีไว้อาลัยป๋าอย่างให้เกียรติ นายกรัฐมนตรีโจวเอินหลาย ส่งหรีดพร้อมกับคำไว้อาลัยว่า คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็น “มิตรที่บริสุทธิ์ใจของประชาชนจีน” ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ในฝรั่งเศสก็ส่งหรีดมาร่วมไว้อาลัยด้วย ทางจีนเก็บอัฐิของป๋าไว้ที่สุสานปฏิวัติปะเป่าซาน ในห้องเดียวกับที่เก็บอัฐิของจอมพลจูเต๋อ แม่ทัพใหญ่ และจอมพลเฉินอี้ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ต่อมาในปี ๒๕๓๗ ลูก ๆ ได้นำอัฐิของป๋ากลับบ้านและปัจจุบันบรรจุไว้ที่แท่นใต้ต้นนิโครธ วัดเทพศิรินทราวาสฯ
หลังป๋าจากไปปีเดียว ก็มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน และตั้งสถานทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง เวลานั้นแม่ลูกพักอยู่ที่โรงแรมหัวเฉียว โรงแรมนี้ขึ้นชื่อว่าอาหารจีนรสดี ชาวต่างประเทศที่พักอยู่ที่อื่นชอบมาทานอาหารที่นี่ บางครั้งก็มีข้าราชการสถานทูตไทยบางคนมาทานอาหารกลางวัน ขณะนั้นในเมืองไทยมีการแบ่งแยกคนไทยจำนวนหนึ่งเป็น “ซ้าย” กับ “ขวา” ที่จริงเมื่อเห็นคนไทยด้วยกันเราก็อยากไปทักทายพูดคุยด้วย แต่เกรงใจไม่แน่ใจว่าข้าราชการสถานทูตจะมีความคิดเห็นต่อเราเป็นอย่างไร วันหนึ่งหลังจากทานอาหารเสร็จก็มีข้าราชการสถานทูต ชายหญิงมาทักและแนะนำตัวเองว่าชื่อคุณประธาน เป็นเลขานุการเอก และคุณมัลลิกาเป็นผู้ช่วยทูตพาณิชย์ แม่ก็พูดคุยด้วยความยินดีและเชิญทั้งสองคนไปคุยกันต่อที่ห้องพัก หลังจากนั้นคุณประธาน คุณมัลลิกา ก็มาเยี่ยมคุยกันเรื่อยมา ต่อมาก็มีข้าราชการสถานทูตหญิง ๒ คนชื่อคุณอรุณี และคุณเล็ก
มาเยี่ยมคุยกับแม่บ่อย ๆ คุยกันอย่างกันเอง หลังจากนั้นท่านทูตทหารก็แวะมาเยี่ยมแม่ ท่านทูตทหารมียศพันเอก ผมสีดอกเลา หน้าตาเปล่งปลั่ง พูดคุยนุ่มนวล
ท่านเล่าว่า เป็นทหารประชาธิปไตยที่เป็นการรวมกลุ่มของนายทหารที่มีความคิดแนวใหม่ อยากให้บ้านเมืองมีการแก้ปัญหาโดยทั้งสองฝ่ายที่ต่างก็รักชาติ แต่มีความเห็นบางเรื่องต่างกันไม่มีอคติต่อกัน บางครั้งข้าราชการสถานทูตบางคนเชิญแม่ลูก และข้าราชการสถานทูตคนอื่น ๆ ไปฟังเพลงและทานอาหารเย็นที่บ้าน คุณวาณี พนมยงค์ คู่หมั้นของผม ซึ่งต่อมาแต่งงานกันในจีน เล่าว่า ภรรยาของท่านทูตชื่อคุณหญิงตุ๊กตา (ม.ร.ว. สุดานนท์ สวัสดิวัตน์ สินธวานนท์) เป็นเพื่อนเก่าร่วมชั้นเรียน
คุณวาณีฝากความระลึกถึงคุณหญิงตุ๊กตาด้วย ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยือนจีนครั้งแรก ท่านมีขนมไทยรสดีมาฝากข้าราชการสถานทูตไทย ทางสถานทูตก็แบ่งส่วนหนึ่งมาให้แม่ทานด้วย ในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาทางสถานทูตก็เชิญแม่ลูกมาร่วมงานด้วย ได้คุยกับท่านทูต ดร.โกศล สินธวานนท์ และคุณหญิงตุ๊กตา อย่างเป็นกันเอง คุณบรรพต หงษ์ทอง ทูตพาณิชย์ขณะนั้นก็แสดงไมตรีจิตอย่างอบอุ่น (ต่อมาคุณบรรพตได้เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก และปลัดกระทรวงเกษตรฯ) ต่อมาพี่แอ๊วและสามีที่เป็นหมอเหมือนกัน เดินทางจากอเมริกามาเยี่ยมแม่ที่ปักกิ่ง พี่แอ๊วชวนแม่ไปอยู่อเมริกาด้วยกัน เพราะแม่อายุมากแล้วสุขภาพไม่แข็งแรง เมื่อก่อนป้าจำรัสอยู่ด้วยกันกับพี่แอ๊ว ต่อมาป้าเสียชีวิตด้วยโรคชรา แม่ลูกดีใจมากที่ได้พบกัน ทางจีนก็จัดพาไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญและสวยงามต่าง ๆ
วันหนึ่ง คุณประธานเลขานุการเอกของสถานทูต มาคุยกับแม่ ถามว่าอยากกลับบ้านไหม แม่บอกว่าคิดถึงเมืองไทย แต่หนังสือเดินทางหมดอายุนานแล้ว ลูกสาว ลูกเขยที่เป็นหมออยู่ในอเมริกา ชวนให้ไปอยู่ด้วยกันที่นั้น วันต่อมาคุณประธานมาบอกว่าได้ติดต่อถามกระทรวงต่างประเทศแล้ว ทางกระทรวงจะออกหนังสือ เดินทางชั่วคราวให้ก่อน แล้วให้เดินทางมาทำหนังสือเดินทางฉบับสมบูรณ์ในเมืองไทย แม่ก็ตอบตกลงเรื่องการติดต่อกับสถานทูต และเตรียมจะมาเมืองไทย แม่ได้เล่าให้เพื่อนไทยในปักกิ่งทุกคนฟังเป็นระยะ ๆ เพื่อนไทยก็ดีใจด้วย และหวังว่าต่อไปคงมีโอกาสกลับเมืองไทย เพื่อนไทยที่นี่ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งซึ่งมีสอนภาษาไทย ที่สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศที่พิมพ์วารสารและหนังสือภาษาไทย และที่สถานีวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทย
ก่อนเดินทางมาเมืองไทย แม่เขียนจดหมายถึงนายตำรวจยศพล.ต.อ. ที่เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และเคยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับป๋าหลายครั้งก่อนป๋าเดินทางไปจีน นายตำรวจผู้นี้ได้แสดงความเป็นมิตรกับป๋า ช่วงนั้นแม่มือสั่นเวลาเขียนหนังสือ ตัวหนังสือจึงขยุกขยิก เห็นได้ชัดว่าสุขภาพไม่แข็งแรง แม่เขียนบอกว่า เตรียมจะออกเดินทางจากจีนมาเมืองไทยแล้วจะไปอยู่กับลูกสาวที่อเมริกา เพราะสุขภาพไม่แข็งแรง ลูกสาว ลูกเขยเป็นหมอ
เดินทางออกจากจีน อยู่เมืองไทย ๒ เดือน แล้วไปอยู่อเมริกา ๗ ปี เยี่ยมลูกที่ฝรั่งเศส
ปลายปี ๒๕๒๔ พอดีเป็นช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศ แม่ลูกก็ออกเดินทางโดยเครื่องบินจากปักกิ่งกลับเมืองไทย รวมเวลาที่แม่อยู่ในจีนเกือบ ๒๐ ปี เพื่อนไทยและจีนไปส่งที่สนามบิน เมื่อออกเดินทางก็หวนนึกถึงช่วงชีวิตเกือบ ๒๐ ปีที่อยู่ในจีน นึกถึงป๋าที่เป็นคนมีเมตตารักครอบครัวและรักเพื่อนมนุษย์ นึกถึงไมตรีจิตของมิตรชาวจีนที่ดูแลเราอย่างดี ทั้ง ๆ ที่ช่วงนั้นประชาชนจีนต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ประหยัดมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ นึกถึงประเทศจีนที่มีโบราณสถานและธรรมชาติที่สวยงามมากมาย นึกถึงเพื่อนไทยในจีนที่ได้อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน นึกถึงไมตรีจิตของข้าราชการสถานทูตไทย นึกถึงเมืองไทย บ้านเกิดเมืองนอนที่รักและจากไปหลายปี ที่จะได้กลับมาสู่อ้อมกอดของบ้านเกิด พบญาติมิตรสนิทในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า พร้อมกันนั้นก็รู้สึกกังวลนิดหน่อยว่า เมื่อเดินทางจากประเทศจีนซึ่งถือกันว่าเป็นประเทศ “คอมมิวนิสต์” กลับสู่เมืองไทย ที่ยังมีบรรยากาศต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” อยู่ระดับหนึ่งจะเป็นอย่างไร แต่ก็มั่นใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” นอกจากนั้นก็นึกถึงชีวิตใหม่ของแม่ในอเมริกาและของผมในฝรั่งเศสที่จะไปอยู่กับภรรยา ความรู้สึกเหล่านี้ประดังกันขึ้นมาเมื่อเครื่องบินเหินทะยานจากสนามบินปักกิ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อกลับมากรุงเทพฯ
เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินดอนเมือง แม่ลูกก็รู้สึกหัวใจเต็มตื้นที่ได้กลับบ้าน มีญาติมิตรมารอรับที่สนามบิน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทางการด้วย คุณครูฉลบชลัยย์ พลางกูร เจ้าของโรงเรียนดรุโณทยาน มิตรเก่าของแม่กับป๋า ผู้มีน้ำใจอย่างมาก ชวนแม่มาพักที่บ้าน ชอยปรีดี งามดูพลี ถนนสาทรใต้ บ้านหลังนี้พอดีว่างอยู่ เพราะคุณครูพักอยู่ในบ้านอีกหลังหนึ่ง บ้านมีห้องหลายห้อง บริเวณสวยงาม ระหว่างกรุงเทพฯ ๒ เดือน มีญาติมิตรมาเยี่ยมเยียนไม่ขาด วงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ จัดงานเลี้ยงต้อนรับแม่ที่บ้านทรงไทยของคุณพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ผู้บริหารเครือมติชน มีนักเขียนนักหนังสือพิมพ์มีชื่อมาร่วมหลายท่าน อยู่เมืองไทยช่วงนั้นทางตำรวจเชิญแม่ไปคุยด้วยพอเป็นพิธีครั้งหนึ่งสำหรับคนที่มาจากประเทศสังคมนิยม โดยมีคุณครูฉลบชลัยย์ พลางกูร ไปเป็นเพื่อน และฝ่ายทหารด้านความมั่นคงเชิญผมไปพูดคุยฉันมิตรใช้เวลาไม่นาน ต่อมาได้ทราบว่ามีความช่วยเหลือให้ทุกอย่างราบรื่นจากมิตรในวงการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนายตำรวจยศพล.ต.อ. ที่แม่เขียนจดหมายถึงแล้ว ก็มีเพื่อนเก่าของสุรพันธ์ที่ขณะนั้นมียศพันเอกทำงานอยู่ในฝ่ายความมั่นคง และยังมีสามีของเพื่อนสนิทของพี่แอ๊ว (สุรภิน) ที่มีตำแหน่งใหญ่อยู่ในตำรวจสันติบาลขณะนั้นด้วย หลังจากได้รับหนังสือเดินทางแล้ว แม่ลูกก็ไปทำวีซ่าที่สถานกงสุลสหรัฐอเมริกา การไปขอวีซ่าก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างเงียบๆ จากมิตรผู้มีมีน้ำใจอีก อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ รู้จักเจ้าหน้าที่แผนกกงสุลของอเมริกา ได้ฝากให้เขาช่วยดูแลแม่ลูก นอกจากนั้นเพื่อนเก่าของสุรพันธ์ที่เป็นนายทหารรู้จักคุ้นเคยกับลูกสาวของนายทหารยศพลเอก ที่ทำงานอยู่ในสถานกงสุลสหรัฐก็ฝากช่วยดูแลด้วยเช่นกัน ช่วงนั้นมีคนไทยต้องการเดินทางไปอเมริกามาก บางคนต้องมารอเข้าแถวที่สถานกงสุลก่อนฟ้าสาง บางคนได้รับอนุมัติวีซ่า บางคนก็ไม่ได้รับอนุมัติ เมื่อแม่ลูกเดินทางไปถึงก็มีคนเชิญเข้าไปนั่งข้างใน และอีกไม่นานก็ทำวีซ่าให้เรียบร้อย
หลังจากได้รับวีซ่าไปอเมริกา และฝรั่งเศสสำหรับอิ๊ด (สุรพันธ์) ก็ขึ้นเครื่องบินออกเดินทางไปลอสแอนเจลิส รัฐคาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเครื่องบินออกก็นึกในใจว่าลาก่อนเมืองไทยที่รัก อีกไม่นานเกินไปลูกจะกลับมาสู่อ้อมกอดมาตุภูมิ แล้วจะไม่จากไปอยู่ที่ไหนอีก เครื่องบินแวะจอดที่สนามบิน เครื่องบินแวะจอดที่สนามบินนาริตะใกล้กรุงโตเกียว ต้องเปลี่ยนเครื่องแล้วบินต่อข้ามทวีปข้ามมหาสมุทรไปอีกหลายชัวโมง กว่าจะถึงสนามบินลอสแอนเจลิส พี่แอ๊วและพี่เขยมารับที่สนามบิน แม่ลูกพี่น้องดีใจมากที่ได้พบกันอีก พี่เขยขับรถตู้หลายชั่วโมงก็มาถึงบ้านที่เมืองเฟรสโน เมืองใหญ่ที่สุดที่อยู่กลางรัฐคาลิฟอร์เนียระหว่างลอสแอนเจลิสกับซานฟรานซิสโก บ้านพี่สาวพี่เขยเป็นบ้านที่พวกหมอและครอบครัวที่มีรายได้ค่อนข้างดีอยู่ บริเวณกว้างขวางสวยงาม มีต้นผลไม้ลูกดกและหวานต่าง ๆ หลายต้น รัฐคาลิฟอร์เนียมีดินฟ้าอากาศ เหมาะสำหรับปลูกผลไม้ประเภทต่าง ๆ ผลไม้ที่นี่จะผลงามรสดี ไม่ว่าจะเป็นส้ม สตอเบอรี่ แอปเปิ้ล ลูกท้อ ลูกพลับ ลูกพลัม และอื่น ๆ หมู่บ้านที่พี่แอ๊วอยู่ระหว่างบ้านไม่มีรั้วกั้น แม่ได้มีชีวิตใหม่จากประเทศจีนสังคมนิยมที่สมัยนั้นคนต้องอยู่อย่างประหยัด แต่ก็พอมีพอกินถ้วนหน้า และเป็นประเทศปิดมานาน เพิ่งเปิดประเทศตอนออกเดินทางมาสู่อเมริกาที่เป็นประเทศเสรีนิยมและเจริญทางวัตถุสุดในโลก ผมอยู่บ้านพี่สาวที่เมืองเฟรสโนราว ๑ เดือนก็เดินทางต่อไปอยู่กับภรรยาที่ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ครอบครัวพี่แอ๊วพี่บุญศรี (หมอผ่าตัดโรคกระดูก) มีลูกสองคนคือโจ (ธันวา) ลูกชาย กับจูน (รสา) ลูกสาวและต้อยที่ช่วยงานในบ้านและสนิทกันเหมือนญาติ ครอบครัวนี้ชอบขับรถตู้ไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ในวันหยุด แม่ได้ไปชมเมืองซานฟรานซิสโก และเมืองเบิร์กเลย์ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยมีชื่อที่หลานโจเรียน วนอุทยานแห่งชาติและสถานที่ต่าง ๆ ที่มีธรรมชาติที่แปลกและสวยงาม อยู่ที่เฟรสโนไม่นาน ในปี ๒๕๒๕ ครอบครัวพี่แอ๊วก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองอัพแลนด์ทางตอนใต้ของรัฐคาลิฟอร์เนีย ไม่ไกลจากเมืองลอสแอนเจลิส บ้านใหม่ก็มีบริเวณกว้าง ปลูกต้นผลไม้ต่าง ๆ มีสระว่ายนำ เมืองอัพแลนด์มีครอบครัวคนไทยอยู่มากหลายครอบครัวและถ้าขับรถไปเมืองลอสแอนเจลิสราวชั่วโมงเศษ ก็จะไปถึงชุมชนใหญ่ของคนไทยในฮอลลีวู้ด ซึ่งมีตลาดใหญ่และร้านต่าง ๆ สารพัดของคนไทย ในเมืองอัพแลนด์และเมืองใกล้เคียงก็มีตลาดไทย ร้านอาหารไทยและร้านขายของต่าง ๆ จากเมืองไทย พี่แอ๊ว พี่บุญศรี ได้พาแม่ไปชมสถานที่สำคัญและสวยงามต่าง ๆ ในแคลิฟอร์เนีย และรัฐใกลเคียง ก่อนแม่จะเดินทางกลับเมืองไทยพี่แอ๊วก็ได้พาแม่เดินทางข้ามทวีปไปชมบ้านเมืองและสถานที่สำคัญอีกฟากฝั่งมหาสมุทร เช่น นครหลวงวอชิงตัน นิวยอร์ก น้ำตกไนแองการา ฯลฯ
ระหว่างแม่อยู่บ้านพี่แอ๊ว แม่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ หลายโรค พี่แอ๊ว พี่บุญศรี ได้พาแม่ไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญโรคต่าง ๆ ทั้งไทยและฝรั่ง หมอไทยบางคนชอบอ่านหนังสือของป๋ากับแม่ ที่บ้านพี่แอ๊วแม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับหลานโจ (หลานชาย) และหลานจูน (หลานสาว) รวมทั้งนก (น้ำผึ้ง ธนะโสภณ วงศ์สมิทธิ์) ลูกสาวของพี่ชายพี่บุญศรีซึ่งมาเรียนต่อในอเมริกา และมาพักที่บ้านอาเป็นครั้งคราว ต่อมาเมื่อนกกลับมาทำงานในเมืองไทย มีตำแหน่งสำคัญในวงการเงินการธนาคาร ก็ยังมาเยี่ยมแม่เป็นประจำปีละครั้งสองครั้ง แม่ให้ความรักความเมตตา ความเอาใจใส่แก่หลาน หลานโจกับหลานจูน รู้สึกว่าแม่ไม่ใช่ญาติผู้ใหญ่ธรรมดา แต่เป็นคุณยายที่รักเช่นเดียวกับคุณยายจำรัสที่จากไปแล้ว แม่ได้สอนภาษาไทยให้หลานโจกับหลานจูน ต่อจากที่คุณยายจำรัสเคยสอนให้ แม่ยังได้สอนและเอาใจใส่ในเรื่องต่าง ๆ ให้คำแนะนำที่มีค่าแก่หลานทั้งสอง หลานทั้งสองพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้ จูนยังได้ไปเรียนภาษาไทยเพิ่มเติมภาคฤดูร้อนที่โรงเรียนวัดไทยในลอสแอนเจลิส โดยมีอาจารย์จากณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หลายท่านมาสอน เช่น อาจารย์อำไพ สุจริตกุล อาจารย์สุมล อมรวิวัฒน์ และอาจารย์ประภาศรี สีหอำไพ หนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่นั่นลงรูปแม่ที่พาหลานไปเรียนภาษาไทยด้วย หลานจูนได้เรียนภาษาไทยจนสอบได้ประกาศนียบัตรของกระทรวงศึกษาธิการระดับประถมปีที่ ๖ ส่วนหลานโจ เมื่อเรียนที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ต้องการจะศึกษารากเหง้าความเป็นคนไทยของตน นอกจากเรียนวิชาหลักแล้วจึงสมัครเรียนที่แผนกไทยศึกษาด้วย ศาสตราจารย์ผู้สัมภาษณ์รับสมัครรู้จักการทำงานของป๋ากับแม่ดี โจได้รับการแนะนำให้รู้จักศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ด ฟิลลิปส์ (Professor Herbert Phillips) หัวหน้าแผนกมนุษยวิทยา ท่านผู้นี้ต้องการพบโจ เพราะได้ศึกษาประวัติการงานของคุณตากุหลาบ และคุณยายชนิดอย่างละเอียด โจได้จัดให้ศาสตราจารย์ท่านนี้กับคุณยายชนิดได้พบคุยกันที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์
เนื่องจากที่เมืองอัพแลนด์มีครอบครัวหมอไทยอยู่หลายครอบครัว มีเด็กไทยลูกของหมออยู่หลายคน พวกหมอจึงจัดให้มีการสอนภาษาไทยที่วิทยาลัยคอลโปลี (Colpoly) ซึ่งเป็นวิทยาลัยมีชื่อเสียง แม่ก็ได้ร่วมสอนด้วย ลูกของหมอครอบครัวหนึ่งมาเรียนพิเศษกับแม่ที่บ้าน ลูกสาวหมอเวลามาเมืองไทยก็เรียนภาษาไทยเพิ่มเติม ส่วนลูกชายคนโตมาเรียนกับแม่แล้วไปสอบ ก็สอบได้ แม่ยังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินภาพวาดของเด็กไทยที่วัดไทยในลอสแอนเจลิสด้วย
พวกหมอหลายคนในเมืองอัพแลนด์และเมืองใกล้เคียง ได้จัดตั้งโพธิธรรมสมาคม เพื่อประชุมศึกษาและสนทนาธรรม หลังจากนั้นก็ทานอาหารร่วมกัน โดยผลัดกันไปตามบ้านหมอต่าง ๆ เดือนละครั้ง แม่ไปร่วมด้วยทุกเดือน ในการประชุมจะมีการกำหนดหัวข้อธรรม ถ้ามีพระไทยจากเมืองไทยมา ก็จะนิมนต์ท่านให้มาบรรยาย โดยจะให้ท่านกล่าวนำก่อน แล้วสมาชิกคนอื่น ๆ จึงร่วมอภิปราย ตั้งคำถาม ให้ความเห็นหรืออธิบายขยายความเพิ่มเติมในหัวข้อธรรมะนั้น ๆ ท่านปัญญานันทภิกขุก็เคยมาตามคำเชิญของพวกหมอ เพื่อชี้แจงปัญหาทางพุทธศาสนาที่ยังไม่ชัดเจน ท่านปัญญาฯ พอรู้ว่าแม่มาก็บอกว่าป๋าได้เคยเขียนช่วยชี้แจงเรื่องที่ท่านบรรยายเรื่องพุทธศาสนาและมีผู้โต้แย้ง ป๋าได้เขียนสนับสนุนท่าน แม่ได้ร่วมพูดในที่ประชุมด้วย วันต่อมามีคนขอกระดาษร่างที่แม่พูด การเข้าร่วมศึกษาพุทธศาสนาเป็นมูลเหตุสำคัญที่แม่สนใจศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาต่อมาจนตลอดชีวิต ทำให้แม่ได้มีที่พึ่งทางใจอันประเสริฐ
ระหว่างแม่อยู่ในอเมริกา และผมอยู่ในฝรั่งเศส ผมได้เขียนจดหมายชวนแม่มาพักที่บ้านผมในฝรั่งเศสระยะหนึ่ง และผมกับภรรยาจะพาแม่ชมบ้านเมืองที่นั้นที่สวยงามแบบยุโรป แม่ก็เดินทางมาเยี่ยมผมกับภรรยา บ้านผมและภรรยาอยู่ตึกบ้านเช่าหรืออพาร์ตเมนต์ที่เมืองอองโตนี เมืองเล็ก ๆ ชานกรุงปารีส ใกล้กับบ้านของท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คุณพ่อคุณแม่ของภรรยาผม แม่ได้มาบ้านของท่าน เพื่อกราบอัฐิท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ป๋ากับแม่เคารพนับถือ และคุ้นเคยกันมาตั้งแต่อยู่ในเมืองไทยและเมืองจีน ได้คุยถามทุกข์สุขกับครอบครัวพนมยงค์ และทางบ้านพนมยงค์ได้ชวนทานอาหารไทยที่ทำเองที่บ้านด้วยกัน ระหว่างอยู่ในปารีส ผมและภรรยาได้พาไปชมสถานที่สำคัญและสวยงามต่าง ๆ รวมทั้งถนนชองเซลิเซ่ที่ลือชื่อ นั่งดื่มกาแฟและทานขนมที่ร้านเล็ก ๆ ริมถนน ดูผู้คนที่ผ่านไปมา ชมประตูชัยที่สง่างาม ชมและขึ้นหอไอเฟล ที่เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส ชมพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ที่มีภาพวาดและศิลปวัตถุที่สวยงามและมีค่ามากมายชมพระราชวังแวร์ชายที่สง่างาม และนั่งเรือชมบ้านเมืองไปตามแม่น้ำแซนของปารีส นั่งรถตู้ที่ญาติขับพาไปชมปราสาทที่สวยงามริมฝั่งแม่นำลัวร์ และไปปิกนิกนั่งทานอาหารที่ป่าละเมาะริมแม่น้ำลัวร์ อีกทั้งไปทัศนาจรแคว้นนอร์มังดี เยี่ยมชมบริเวณชายหาดและหน้าผาที่ทหารสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผมและภรรยายังพาแม่นั่งรถไฟความเร็วสูงจากปารีสไปเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ชมบ้านเมือง ทะเลสาบ และไปงานเทศกาลในสวนสาธารณะ จากนั้นเดินทางไปเมืองซูริคที่ใช้ภาษาและมีวัฒนธรรมแบบเยอรมนี ทานอาหารเยอรมันที่นั่น เมื่อแม่จะเดินทางกลับจากฝรั่งเศส ญาติมิตรได้มารวมกันที่บ้านสุรพันธ์ วาณี เป็นการมาส่ง แม่มีความสุขมากที่ได้มาเยี่ยมลูกและเยือนยุโรปครั้งนั้น
หลังจากนั้นอีกระยะหนึ่ง ผมและภรรยาก็ไปเยี่ยมแม่และพี่แอ๊วที่อเมริกา พักอยู่บ้านพี่แอ๊ว พี่บุญศรี อยู่ในอเมริการาว ๓ สัปดาห์ พี่แอ๊วพี่บุศรีได้พาแม่ ผมกับภรรยา และอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ๓ ท่าน คือ อาจารย์อำไพ อาจารย์สุมล และอาจารย์ประภาศรี นั่งรถตู้ไปชมสถานที่สำคัญและสวยงามต่าง ๆ เช่น โรงถ่ายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ไบรส์แคนยอน ที่มีหินเก่าแก่ตามธรรมชาติที่แปลกและสวยงามมาก มีกระรอกตัวน้อยเชื่อง ๆ มาให้เราจับลูบคลำได้ นอกจากนั้นก็ไปชมเขื่อนแกรนด์ฮูเวอร์ ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำใหญ่ระดับโลก และยังไปเที่ยวเมืองลาสเวกัสที่ขึ้นชื่อว่ามีบ่อนการพนันใหญ่ พี่แอ๊วพี่บุญศรีได้พาเราไปชมสถานที่น่าชมในอเมริกาหลายแห่ง
จากอเมริกากลับเมืองไทย
อิ๊ด (สุรพันธ์) และภรรยา (วาณี) เดินทางจากฝรั่งเศสกลับมาอยู่เมืองไทยที่บ้านชอยพระนาง เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๑ พอมาถึงก็ต้องลงมือซ่อมและต่อเติมบ้านชอยพระนาง หลังจากซ่อมและต่อเติมบ้านเสร็จ สุรพันธ์กับวาณีก็ชวนแม่มาอยู่ด้วยกันที่บ้าน หลังจากที่ไปอยู่อเมริกากับพี่แอ๊ว ๗ ปี ถ้ารวมเวลาที่แม่ไปอยู่กับป๋าที่เมืองจีนด้วยก็เกือบ ๓๐ ปี แม่ปรึกษาพี่แอ๊วแล้วก็ตกลงจะกลับมาอยู่เมืองไทย ตอนแรกพี่แอ๊วพี่บุญศรีอยากให้แม่แต่ละปีอยู่เมืองไทยครึ่งปี และไปอยู่ที่อเมริกาอีกครึ่งปี แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้ว แม่คิดดูเรื่องอายุ และสุขภาพ จะเดินทางไกลข้ามทวีปไปครึ่งโลกลำบาก จึงอยู่ที่บ้านชอยพระนางตลอดมาจนตลอดชีวิต
แม่กลับมาเมืองไทยปลายปี ๒๕๓๑ อายุใกล้ ๘๐ ปี เมื่อกลับมาสุขภาพแม่แข็งแรงพอควร เมื่อเทียบกับคนอายุใกล้เคียงกัน ถึงแม้จะมีโรคต่าง ๆ หลายโรค แต่ก็ไม่ร้ายแรง โรคที่ทำให้ทำงานเขียนหนังสือไม่สะดวกคือโรคตาที่เป็นทั้งต้อหินและต้อกระจก ที่อเมริกาเคยผ่าตัดแล้ว มาเมืองไทยก็ต้องผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง การผ่าตัดทำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย หลังการผ่าตัดตาดีขึ้นขั้นหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัญหาการใช้สายตาตลอดมา แม่ยังมีความคิดแจ่มใสและความจำเป็นปกติไม่ได้หลงลืม (หรือที่เรียกว่าโรคอัลไซเมอร์) จนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อกลับมาแม่ได้ทำงานต่าง ๆ เกี่ยวกับป๋า เป็นงานที่มากมายสำหรับคนอายุเกือบ ๘๐ ปี จนถึง ๙๗ ปี เมื่อกลับมาแม่ก็จัดสะสางเอกสารต่าง ๆ ของป๋า รวมทั้งหนังสือเก่า ๆ ที่ป๋าเคยอ่านทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ต้นฉบับนวนิยายและข้อเขียน รวมทั้งสมุดและกระดาษบันทึกของป๋า เพราะป๋าเป็นคนชอบจดบันทึก เช่น บันทึกการใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งที่พบเห็นและข้อเตือนใจต่าง ๆ เอกสารเหล่านี้อยู่ในห้องเก็บของที่ถูกน้ำท่วม ส่วนหนึ่งเสียหายต้องทิ้งไป อีกส่วนหนึ่งยังค่อนข้างดีอยู่ แม่ได้นักศึกษาธรรมศาสตร์ ๕-๖ คน มาช่วยคัดทิ้งหนังสือและเอกสารที่ผุเปื่อย แม่ยังเป็นแม่งานจัดทำห้องสมุดศรีบูรพา โดยมีคุณสันติสุข โสภณสิริ กับน้อง และนักศึกษาธรรมศาสตร์บางคนมาช่วยเลือกเอาหนังสือและเอกสารจำนวนหนึ่งมาเก็บไว้ในตู้ห้องสมด และจัดทำเป็นนิทรรศการประจำเกี่ยวกับศรีบูรพา มีทั้งหนังสือ รูปถ่าย รูปวาด ข้าวของที่ป่าเคยใช้และเก็บไว้ จากห้องเปล่า ก็กลายเป็นห้องศรีบูรพา เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์นักเขียนแห่งแรกของเมืองไทย เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นที่เยี่ยมเยือนของผู้ศรัทธาและสนใจตั้งแต่นั้นมา
เมื่อมีคนมาเยี่ยมเยือนบ้านศรีบูรพา แม่จะต้อนรับอย่างอบอุ่น เล่าประวัติ ผลงาน และคุณลักษณะของป๋าให้แขกผู้มาเยือนฟัง บางครั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยนำกลุ่มนักศึกษามา บางครั้งครูจากต่างจังหวัดพานักเรียนมาครูโรงเรียนนานาชาติก็พานักเรียนใจเรียนภาษาไทยและอ่านนวนิยาย “ข้างหลังภาพ” เป็นหนังสือประกอบการเรียน บางครั้งมีอาจารย์และนักเขียนชาวต่างประเทศที่สนใจเรื่องศรีบูรพามาเยี่ยมเยียน โทรทัศน์และนักข่าววารสารบางฉบับก็มาสัมภาษณ์แม่เป็นครั้งคราว บางทีก็มีผู้ศรัทธาและสนใจ นัดมาเยี่ยมเยือนทีละคน แม่จะคุยกับแขกที่มาเยือนอย่างกระตือรือร้น แม้จะอายุมากแล้ว จนกระทั่งหลังจากอายุ ๙๔ เมื่อร่างกายอ่อนล้าลง แม่ก็จะให้ลูกคุยกับแขกก่อนครู่หนึ่ง แล้วแม่ก็มาคุยด้วย หรือเชิญแขกไปคุยที่ห้องที่แม่ชอบนั่งพักอ่านหนังสือ เมื่อแม่มาถึงเมืองไทยระยะแรกได้ไปร่วมมอบรางวัลศรีบูรพาด้วยตนเอง ในงานวันนักเขียน ๕ พฤษภาคมทุกปี จนกระทั้งสุขภาพไม่อำนวยจึงให้ลูกไปแทน
แม่ตรวจดูกองสมุดบันทึกส่วนตัวของที่ไม่ถูกน้ำท่วมเสียหาย พบกระดาษบันทึกข้อคิดเห็นและข้อเตือนใจจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นบันทึกรุ่นหลังที่ป๋าบันทึกไว้ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๕ - ๒๕๐๐ ในเรือนจำบางขวาง ที่ซึ่งถูกคุมขังในคดีที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” นอกจากนั้นข้อเขียนของป้าทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความและอื่น ๆ ก็สอดแทรกข้อคิดเห็นที่มีคุณค่าน่าสนใจไม่น้อย ถ้าได้เลือกสรรแล้วรวมพิมพ์เป็นเล่มก็จะได้หนังสือที่มีคุณค่าน่าอ่านมากเล่มหนึ่ง และป้าก็ได้ปฏิบัติตนสอดคล้องกับแนวคิดที่เขียนไว้ แม่จึงรวบรวมเป็นหนังสือ "ข้อคิดจากใจ" แบ่งหัวข้อเป็นหมวดหมู่ โดยมีอาจารย์สิทธิชัย สังฆรักษ์ ที่เคยสอนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้สนใจติดตามและศรัทธาในผลงานและการประพฤติปฏิบัติตนของป๋า ช่วยรวบรวมจนเป็นรูปเล่มและพิมพ์ออกมาได้ครั้งแรกในปี ๒๕๓๗ เมื่อแม่อายุ ๘๑ ปี และพิมพ์ซ้ำต่อมาอีกหลายครั้ง
คุณอาจิณ จันทรัมพา และคุณช่วย เพิ่มพูน ผู้ริเริ่ม “โครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก” ได้ รวบรวมข้อเขียนของป๋าที่เป็นข้อคิดที่น่าอ่าน มีประโยชน์ไว้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งจากหนังสือแจกงานศพ และได้ขอให้อาจารย์สมบัติ จำปาเงิน ช่วยค้นหารวบรวมเพิ่มเติม แบ่งเป็นหมวดหมู่และจัดพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อมาปรึกษากับแม่ แม่ก็เห็นด้วยและสนับสนุนร่วมมือเต็มที่ แม่ได้มอบข้อเขียนของป้าจำนวนหนึ่ง ทั้งที่เขียนด้วยลายมือและอยู่ในหนังสือเก่าให้อาจารย์สมบัติ ยังไปค้นหาเพิ่มเติมจาหอสมุดแห่งชาติ และได้รับความร่วมมือจากนักเขียนและนักอ่านที่เก็บรวบรวมและรักหนังสือเก่า ในที่สุดหลังจากความพยายามอย่างมากก็สำเร็จออกมาเป็นหนังสือชุด ๒ เล่มชื่อ “นิพนธสารศรีบูรพา” ในปี ๒๕๓๖
เมื่อใกล้จะถึง ๑๐๐ ปีวันเกิดของป๋า มีผู้แนะนำว่าองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ หรือยูเนสโก มีการประชุมประจำปีเพื่อประกาศยกย่องบุคคลที่ดีเด่นในโลกด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกและร่วมเฉลิมฉลองในวาระชาตกาล ๑๐๐ ปี จึงน่าจะเตรียมเสนอชื่อและผลงานของป๋าให้ยูเนสโกพิจารณา สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป และกระทรวงศึกษาธิการ ก็พร้อมให้ความสนับสนุน แม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้และให้ความร่วมมือเต็มที่ ให้รายละเอียด ข้อมูล ประวัติและผลงานของป๋า ในที่สุดคณะกรรมการขององค์การยูเนสโกก็ลงมติในปี ๒๕๔๖ ประกาศยกย่องให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก และจะร่วมเฉลิมฉลอง วันชาตกาล ๑๐๐ ปีในปี ๒๕๕๘ แม่ปลื้มใจมากที่ป๋าได้รับการยกย่องจากองค์การสากลที่สำคัญว่ามีผลงานดีเด่นระดับโลกผู้หนึ่ง หลังจากที่เมื่อยังมีชีวิตอยู่เคยถูกใส่ร้ายป้ายสีและกลั่นแกล้งมาเป็นเวลานาน มีการตั้งคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปีศรีบูรพา ที่มีคุณจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ อีกหลายคณะ ทุกคนร่วมกันทำงานเตรียมงาน ๑๐๐ ปี ศรีบูรพาอย่างกระตือรือร้น งาน ๑๐๐ ปี ศรีบูรพาได้รับความสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน แม่ให้ความร่วมมือเต็มที่ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือที่ป๋าเขียนและจะพิมพ์เป็นชุดว่าควรมีเรื่องอะไรบ้าง และจะแบ่งให้สํานักพิมพ์ต่าง ๆ แต่ละแห่งพิมพ์เรื่องไหนบ้าง รวบรวมบทความและข้อเขียนเก่า ๆ ของป๋าให้พิมพ์เป็นเล่มสำหรับแจกโดยได้รับเงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งรวบรวมทินกรณ์หรือบันทึกส่วนตัวของป๋าหลายเรื่องมาให้พิมพ์ใน
โอกาสนี้ ช่วงนั้นมีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่าง ๆ มาสัมภาษณ์แม่หลายครั้ง แม่ก็ให้ความร่วมมืออย่างไรไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้ง ๆ ที่อายุ ๙๐ กว่าปีแล้ว กิจกรรม ๑๐๐ ปีป๋าที่แม่ร่วมด้วยเองและรู้สึกปลื้มปิติมาก มีงานเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี วันเกิดป๋าที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาร่วมงานด้วย วันที่นักเขียนจากประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมสัมมนานานาชาติเกี่ยวศรีบูรพา มาเยี่ยมบ้านศรีบูรพา และงานรับมอบรูปปั้นทองสำริดที่หน้าแท่นบรรจุอัฐิป๋าที่วัดเทพศิรินทราวาส มีรัฐมนตรีศึกษาฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว มาร่วมงานด้วย
เมื่ออายุมากขึ้นโรคภัยไข้เจ็บก็มาเยือน สุขภาพร่างกายก็อ่อนแอลง นอกจากโรคประจำหลายโรคที่เป็นมานานแล้วแต่ไม่รุนแรง เมื่อสิบกว่าปีก่อนหมอพบว่าแม่เป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง ต้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเพื่อนพี่แอ๊ว ลูก ๆ มีความเป็นห่วงกังวลมาก แต่แม่ตัดสินใจให้ผ่าตัดโดยไม่แสดงความตกใจกลัว ผลการผ่าตัดสำเร็จด้วยดี แต่ต้องตามด้วยการฉายแสงหลายครั้ง ผลจากการผ่าตัดครั้งนี้ แม้โรคมะเร็งจะหายแต่เนื่องจากปลายประสาทถูกตัดไปด้วย ทำให้มีอาการแสบหน้าอกเป็นประจำ มากบ้าง น้อยบ้าง แม่ล้ม ๒ ครั้ง กระดูกสะโพกหักต้องผ่าตัดเอาเหล็กดามทั้ง ๒ ข้าง ต่อมาปี ๒๕๔๙ หมอตรวจพบว่าแม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ การรักษามีทางเดียวคือต้องผ่าตัด เอาก้อนมะเร็งออก เวลานั้นแม่อายุ ๙๓ ปีแล้ว สุขภาพทั่วไปพอใช้ได้ แต่เนื่องจากอายุมากแล้ว การผ่าตัดก็มีความเสี่ยงขั้นหนึ่ง แม่ตกลงให้ผ่าตัดโดยไม่ลังเล การผ่าตัดได้ผลดี เอาก้อนมะเร็งและบริเวณใกล้ ๆ ออกหมด แต่คุณหมอก็เตือนว่าเซลล์มะเร็งอาจยังหลงเหลืออยู่นิดหน่อยได้ ถ้าคนอายุไม่มากก็ต้องทำเคมีบำบัดหรือฉายแสงต่อ แต่เมื่อแม่อายุมากแล้วก็รักษาด้วยยาสมุนไพรแทน ทั้งของญี่ปุ่นและจีน ตัวเลขค่ามะเร็งก็ควบคุมได้ตลอดมา
แม่กลับมาอยู่ที่บ้านซอยพระนางด้วยความสุข ได้รับความอบอุ่นจากลูกหลาน อาหารทุกมื้อที่ทานก็เป็นอาหารที่ชอบ เจ็บป่วยก็มีลูกพาไปโรงพยาบาล ระยะหลังเมื่อร่างกายอ่อนกำลังลง การทรงตัวมีปัญหาก็มีผู้ช่วยมาคอยดูแล แม้อายุเกิน ๙๕ ปีแล้ว แม่ยังใช้เวลาอย่างเป็นระเบียบ ตื่นแต่เช้า ออกกำลังเป็นประจำ ตามวิธีที่พี่แอ๊วแนะนำ และแกว่งแขนวันละไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ทุกวันแม่อ่านหนังสือพุทธศาสนา ถ้าศัพท์คำไหนไม่เข้าใจชัดเจนก็วานผู้ช่วยให้เปิดพจนานุกรมและช่วยจดหัวข้อคำสอนที่สำคัญ เช่น อริยสัจ ๔ พรหมวิหาร ๔ ศีล ๕ ขันธ์ ๕ ว่ามีอะไรบ้าง แม่ทำสมาธิทุกวัน เมื่อกลับมาเมืองไทยแม่มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกข์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้สนทนาธรรมกับท่านธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ด้วย แม่ติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์เป็นประจำ แต่เนื่องจากระยะหลังมีปัญหาสายตาจึงอ่านย่อ ๆ แค่หัวข่าวและบางส่วน บางครั้งแม่จดบันทึกนิดหน่อยหรือไม่ก็วานผู้ช่วยให้จุดแทน บางครั้งก็เขียนจดหมายสั้น ๆ หรือส่งบัตรอวยพรให้ญาติมิตรบางคน แม่คุยกับแขกที่มาเยี่ยมเยือนด้วยความกระตือรือร้น กับลูกหลานแม่ รักและเอาใจใส่ ถามทุกข์สุข และคอยตักเตือนเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความเป็นห่วง เช่นลูกที่อายุ ๗๐ ปีแล้ว เวลาออกไปข้างนอกถ้าอากาศเย็นแม่จะเตือนว่าใส่เสื้อผ้าอุ่นพอหรือยัง ถ้าท้องฟ้ามืดครึ้มก็จะเตือนว่า เอาร่มไปด้วยหรือเปล่า ตั้งแต่อายุน้อยแม่เคยช่วยคุณยายดูแลเรื่องบัญชี เรื่องการทำหนังสือสัญญา เมื่อเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษก็ต้องรอบคอบเรื่องการเงิน แม่จึงเป็นคนละเอียด บางทีคล้ายกับจุกจิกจู้จี้ ผู้ใกล้ชิดจึงต้องปรับตัว แต่ก็รู้ว่าแม่มีความหวังดีและได้รับความเคยชินที่ดีและมีประโยชน์ในการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ
๒-๓ ปีหลังก่อนจากไป แม่รู้ตัวว่าสุขภาพเสื่อมถอยลงมาก การศึกษาพุทธศาสนาทำให้แม่มีมรณานุสติเตรียมพร้อมทุกด้านที่จะจากโลกนี้ไป สั่งเสียลูกไว้ล่วงหน้า จดประวัติย่อไว้นิดหน่อย และให้ลูกช่วยจดต่อเตรียมเรื่องจัดงานศพให้ทำอย่างเรียบง่ายที่วัดเทพศิรินทราวาส ให้พระสวด ๓ วันแล้วเผา หลังจากนั้นก็ไปลอยอังคารที่ปากน้ำ แม่ให้คำแนะนำการทำหนังสือระลึกถึงแม่ และให้พี่แอ๊วช่วยเลือกรูปถ่ายตามที่แม่แนะนำ แม่ปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์สอนว่า จะต้องทำใจอย่างไรจึงจะจากโลกนี้ไปอย่างสงบสุข ไม่มีความทุกข์ความกังวลหรือความกลัว
ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๓ เมื่อแม่อายุ ๙๗ ปี แม่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง เพราะปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ทำให้ติดเชื้อมีไข้ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง หมอตรวจพบว่า ลำไส้ใหญ่อุดตัน วิธีเดียวที่อาจช่วยชีวิตได้คือต้องรีบผ่าตัด แต่การผ่าตัดครั้งนี้ก็มีความเสี่ยงมาก เพราะแม่อายุ ๙๗ ปีแล้ว มีโรคหลายอย่าง ร่างกายก็ทรุดโทรมลงกว่าเมื่อผ่าตัด ๔ ปีก่อน ผมบอกแม่ตามที่คุณหมอบอกและปรึกษาแม่เวลานั้นแม่อ่อนเพลียมาก พูดลำบาก แต่ก็พยักหน้าตกลงให้ผ่าตัดโดยไม่ลังเล คุณหมอผ่าตัดวันนั้น การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี คุณหมอบอกว่าลำไส้เปื่อยมาก และโป่งพองเนื่องจากอุดตันมาระยะหนึ่ง ที่สำคัญเกรงจะมีการติดเชื้อเกิดโรคแทรกซ้อน ต่อมาระยะหนึ่งก็เกิดการติดเชื้อ มีโรคแทรกซ้อน อย่างที่คุณหมอพูดถึงความเป็นไปได้ตั้งแต่ต้น ระยะแรกแม่มีความรู้สึกตัว แต่พูดไม่ได้ เพราะมีท่ออยู่ที่คอ ผมและผู้ช่วยพยาบาลช่วยนวดมือเท้าให้ พี่แอ๊วและโจลูกชายคนโตของพี่แอ๊ว เดินทางจากอเมริกามาเยี่ยมแม่ได้ทันเมื่อแม่ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ แม่รู้สึกตื้นตันใจน้ำตาไหล ต่อมาเมื่อการหายใจลำบากขึ้น หมอจึงให้ยาฉีดมอร์ฟีนเพื่อไม่ให้ทรมาน แม่จึงดูเหมือนไม่รู้สึกตัว ในที่สุดแม่ที่รักยิ่งก็จากเราไปเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๔๘ น. สิริอายุรวม ๙๗ ปี ๕ เดือน วันที่ ๑๕ มิถุนายนที่แม่จากไปก่อนวันที่ ๑๖ มิถุนายนที่ป๋าจากไปเพียง ๑ วัน คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาลวิชัยยุทธ พยายามรักษาแม่อย่างเต็มที่ พยาบาลก็ดูแลแม่อย่างดี แม่จากไปด้วยความสงบ ลูกรู้สึกว่าต่อไปนี้จะไม่มีแม่ที่รักและห่วงใยเรามาตลอดชีวิตอีกแล้ว
คุณสมบัติของแม่
แม่เป็นปุถุชนและสามัญชนคนหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงาม พยายามขัดเกลาตนเองตามคำสอนของพุทธศาสนา และมีคุณสมบัติที่ลูกหลานจะศึกษาเอาเป็นแบบอย่าง
แม่เป็นคนซื่อตรง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับป๋าตลอดชีวิต เมื่อป๋าทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แม้จะต้องเผชิญกับความยากลลำบากแค่ไหน ก็สนับสนุนป๋าทุกอย่าง แม่เป็นผู้ปิดทองหลังพระ เป็นเพราะป๋ามีแม่เป็นคู่ชีวิต ป่าจึงได้รับความสำเร็จ และมีชีวิตที่อบอุ่น มีความสุขตามอัตภาพ
แม่เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เช่น แม่ได้ให้ที่ดินหลังบ้านส่วนที่น้องสาวของแม่ ขอใช้เป็นทางเข้าออกบ้านต่อมาเมื่อน้องของแม่ป่วยหนัก ต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นปี ตอนนั้นขัดข้องเรื่องเงิน แม่ก็ช่วยค่ารักษาพยาบาลผ่านลูกสาวของน้าทุกเดือน ต่อมาเมื่อมีรายได้เข้ามาลูกสาวของน้าก็เอามาคืนแม่ทั้งหมด และเมื่อแม่ป่วยหนักลูกสาวของน้าก็มีน้ำใจ ช่วยค่ารักษาพยาบาลแม่ไม่น้อย
แม่เป็นคนเข้มแข็ง อดทนต่อความยากลำบาก โดยเฉพาะเมื่อป๋าเดินทางไปจีน และพี่แอ๊วกำลังเรียนแพทย์อยู่ บ้านซอยพระนางก็มีปัญหาผู้เช่า แม่ต้องแก้ปัญหาตามลำพังด้วยความอดทน
เมื่อป๋าไม่อยู่ แม่ดูแลครอบครัวด้วยความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รอจนแก้ปัญหาทุกอย่างของครอบครัวเสร็จ และจัดงานแต่งงานของพี่แอ๊วเรียบร้อยแล้ว แม่จึงเดินทางไปอยู่กับป้าในวันรุ่งขึ้น หลังพี่แอ๊วแต่งงาน
แม่เป็นคนขยัน ขณะเดียวกันก็แต่งตัวสวยเก๋เป็นประจำตั้งแต่วัยสาว ใคร ๆ ที่เคยพบแม่สมัยนั้นจะพูดถึงเรื่องนี้ ต่อมาเมื่ออายุมากแล้ว เวลาจะออกจากบ้านแม่ก็สนใจแต่งตัวให้ดี เหมาะกับอายุ สมัยเมื่ออายุไม่มาก แม่ทำงานที่ใช้แรงด้วย หลังจากแม่แต่งงานกับป๋ามาอยู่ที่บ้านซอยพระนาง สนามหญ้าหน้าบ้านมีหญ้าแห้วหมูซึ่งเป็นวัชพืชขึ้นมาแซมเป็นประจำ พอเลิกงานจากการสอนแล้ว แม่นั่งขุดรากหญ้าแห้วหมูที่สนามหญ้าเองและใช้จอบฟันดินเพื่อปลูกหญ้า เวลามีแขกมานั่งคุยทานของว่างที่บ้าน เมื่อปูเสื่อแล้วจะได้นั่งสบาย เมื่อป๋าทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ มักต้องกลับดึก แม่ก็คอยจนป๋ากลับ แล้วหาอาหารมาให้ทาน นั่งคุยด้วยเมื่ออายุมาก แม่ก็มีวินัยแก่ตนเอง ใช้ชีวิตประจำวันทำสิ่งต่าง ๆ ตามเวลาที่กำหนด แม่ใช้จ่ายอย่างประหยัดเป็นประจำ
แม่เช่นเดียวกับป๋า เมื่ออยู่ไม่ว่าที่ไหน ประเทศใด ก็สามัคคี ผูกมิตรกับผู้คนรอบข้าง แม่พูดเพราะนุ่มนวลมีเมตตา
มีคนถามว่า ป๋าเป็นคนโรแมนติคหรือเปล่า ป๋ากับแม่รักกันตลอดชีวิต แต่ไม่ได้แสดงความรักกันแบบหวานแหววเหมือนหนุ่มสาวบางคนสมัยนี้ ถึงกระนั้นชีวิตคู่ก็มีความเบิกบานแจ่มใส ป๋าเป็นคนมีอารมณ์ขันมักพูดถึงปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องขำขัน เมื่อป่าถูกจับครั้งแรก ตำรวจตะโกนเรียกหน้าประตูรั้วบ้าน ป๋าเดินไปดูที่ระเบียงชั้นบน แม่กำลังนอนอยู่ร้องถามว่า “ใครมาคะ” ป๋าตอบว่า “ตำรวจมา” แต่แม่ไม่เชื่อคิดว่าป๋าพูดเล่น เรื่องนี้สะท้อนว่าป๋ากับแม่คงมีการพูดเล่นกันบ้างเป็นครั้งคราว แม่เคยพูดว่า “ต้องมีความเข้าใจกัน ต้องมีความศรัทธาเชื่อถือกัน...ความซื่อสัตย์ ความเข้าใจกันดี ความศรัทธาเชื่อถือกัน มันผูกพันกันมากกว่า” แม่บอกว่าชีวิตหลังแต่งงานกับป๋าเป็นชีวิตใหม่ที่มีค่า ป๋าเคยเขียนเกี่ยวกับความรักว่า “สิ่งที่เรียกว่าความรักนั้นควรจะตั้งต้นจากจุดของความสละให้ มิใช่จากจุดของการเรียกร้องเอา” ป๋ายังเขียนถึงความรักไว้ว่า “ความรักของเราเป็นแต่จุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งในวงความรักอันไพศาล” และเราควรมี “ความรักที่แผ่กว้างไปในชุมนุมมนุษย์ความรักที่พึ่งให้แก่มนุษย์ผู้เกิดมาอาภัพ ยากจนข้นแค้น ทั้งที่เขาเหล่านั้นก็มีความรู้สึกเหมือนอย่างเราที่ประสบโชคดีกว่าเขา” เวลาแปลหนังสือแม่จะเลือกแปลเรื่องที่เป็นวรรณกรรมให้สิ่งที่ดีแก่ผู้อ่าน ต่อมาระยะหลังสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมด้วย เช่นเรื่อง “เหยื่ออธรรม” ซึ่งแปลจากเรื่อง “Les Misérables” ขอวิคเตอร์ ฮูโก นักเขียนเอกชาวฝรั่งเศส
ป๋ากับแม่เป้นคนที่ “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” แม้จะลำบากอย่างไร อยู่ที่ไหนก็มีมิตรที่เห็นใจ คอยช่วยเหลือกัน รักนับถือกันตลอดเวลา แม้เมื่อประสบมรสุมชีวิตก็มีคววามสุขพอควร
แม่ของคนทั้งหลายที่เป็นปุถุชนสามัญชนต่างก็มีคุณสมบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานเช่นเดียวกัน ลูกหลานของแม่จะสืบทอดคุณสมบัติเหล่านี้ต่อไปเป็นการตอบแทนพระคุณของแม่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ป๋าเคยเขียนในเรื่อง “แม่ทำอะไรบ้างหนอ?” เกี่ยวกับความรักของแม่ว่า
“แม่...จะรักเราไปจนกว่าท่านจะตาย…”
แม่ทำอะไรบ้างหนอ? งานของแม่ราวกับสิ่งที่สถิตอยู่บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งยากที่ใครจะเห็นงานนั้นได้ตามสภาพที่เป็นจริง
ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายของแม่ปิดฉากลงแล้วอย่างงดงาม แม่คงได้พบกับป๋าที่รออยู่และจะได้อยู่ด้วยกันในภาพหน้าความสุข ลูกทั้งสองมีความภาคภูมิใจสุขใจที่ได้เป็นลูกของป๋ากับแม่ และจะเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ตลอดไป
เอกสารอ้างอิง :
- สุรพันธ์ สายประดิษฐ์, แม่ทำอะไรบ้างหนอ? รำลึกถึงแม่ที่รักยิ่ง, ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย ระลึกถึง ชนิด สายประดิษฐ์ ‘จูเลียต’ คู่ชีวิต กุหลาย สายประดิษฐ์ ‘ศรีบูรพา’ (กรุงเทพฯ: ม.ป.ป. , 2554), น. 39-77.