ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #18 × SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

13
ธันวาคม
2565

เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ในวาระ “วันรัฐธรรมนูญ” อันเป็นผลสืบเนื่องจากการสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามอย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ปีเดียวกันภายหลังสยามได้ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักการสูงสุด ด้วยการอภิวัฒน์สยาม โดยคณะราษฎร

“สถาบันปรีดี พนมยงค์” ร่วมกับ “สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย” จัดงานเสวนาวิชาการ PRIDI Talks #18 x SDID ในหัวข้อ “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ อาทิ กล้า สมุทวณิช, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน, รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และอาจารย์ วิโรจน์ อาลี เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ในช่วงกล่าวเปิดงานศาสตราจารย์ ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นด้วยจุดหมายเพื่อเปิดพื้นที่ทางความรู้และมุมมอง รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจต่อรัฐธรรมนูญซึ่งมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และหนทางจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญโดยประชาชนอย่างแท้จริง

การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ระบุว่าการสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมายเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งการมี “รัฐธรรมนูญ” ก็มิได้หมายความว่าเป็น “ประชาธิปไตย” แต่การเป็นประชาธิปไตย คือการมี “รัฐธรรมนูญ” เฉกเช่นเดียวกันกับ “นิติรัฐ” ที่ไม่เพียงเป็นการปกครองโดยกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องเป็น “กฎหมาย” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมอันมีที่มาจากประชาชน

การสถาปนาและการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” หรือ กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองของประเทศมีลักษณะสำคัญด้วยกันอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก เพื่อเป็นหลักประกันแก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนรวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านอื่นๆ ฉะนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนที่เป็นที่มาของการใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติออกกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภา อำนาจในการออกกฎหมาย จะต้องมีที่มาและยึดโยงกับประชาชน และ

ประการที่ 2 รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นกติการสูงสุดในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสถาบันทางการเมือง เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์และหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองต่อประชาชน และประชาชนต่อสถาบันการเมืองต่างๆ

นอกจากนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ยังได้เสนอแนวทางออกระบอบประชาธิปไตยให้สอดรับกับการพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อค่านิยมวัฒนธรรม อันจะนำมาซึ่งความเกื้อกูลต่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของระบอบการเมืองในวิถีประชาธิปไตย อาทิ การเปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางมากที่สุด, การหาฉันทามติของสังคมในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ, จัดตั้งองค์กรอิสระซึ่งทำหน้าที่ประเมินผลการทำงานของสถาบันทางการเมืองทั้งหลายโดยใช้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญเป็นตัวชี้วัดเป้าประสงค์ ตลอดจนการใช้หลักนิติรัฐและนิติธรรมอย่างเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

ทฤษฎีอำนาจกับการสถาปนารัฐธรรมนูญ

กล้า สมุทวณิช

กล้า สมุทวณิช กล่าวถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Le Pouvoir Constitaunt) คือ อำนาจเบื้องต้นดั้งเดิมก่อนที่จะมีองค์กรของรัฐทั้งหลาย ก่อนที่จะมีรัฐ หรือก่อนที่จะมีประมุขรัฐ อีกทั้งรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนตัวบทที่เป็นลายลักษณ์อักษรอันเกิดจากอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ดังนั้นใน รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติไว้ว่า จะให้ประเทศนั้นชื่ออะไร มีประมุขแห่งรัฐเป็นใคร รัฐสภาแบบใด เลือกตั้งอย่างไร มีกี่สภา รัฐบาลมีที่มาจากอะไร ประเทศเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม รวมไปถึงรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ

อำนาจดังกล่าวปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อไทยก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยคณะราษฎร ประกาศของคณะราษฎรฉบับแรกยืนยันว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” รวมถึงในปฐมรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เช่นกันที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

กล้ายังกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เป็นที่มาเมื่อมีการรัฐประหาร และคณะรัฐประหารจำเป็นจะต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไป ส่งผลให้องค์กรทางการเมืองต่างๆ นั้นจำต้องถูกยกเลิกตามไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้ระบุถึงวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบัน ที่ส่งผลให้คุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นลดน้อยลงอันเนื่องมาจากการถูกฉีกทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่าหลังการรัฐประหาร

พร้อมกันนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของเส้นทางไปสู่การเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ด้วยกรณีตัวอย่างผ่านคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันมิให้หนทางไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องพบกับอุปสรรค โดยอาศัย “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม” ที่อยู่ในมือประชาชนว่าจะต้องใช้อย่างไรให้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด

รัฐธรรมนูญในมุมมองรัฐศาสตร์

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

กล่าวถึงการทำความเข้าใจต่อการจดจำความสำคัญของวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ให้มุมมองว่าเป็น The Great Compromise พร้อมกับให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญมิมีทางเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด หากแต่เป็นพื้นที่ที่เปิดให้เกิดการต่อสู้และต่อรองทางอำนาจ อันเป็นจุดตั้งต้นการผจญภัยของสังคมที่เต็มไปด้วยการปะทะตลอดเวลา และระบุอีกว่าสิ่งนี้มิใช่สิ่งที่แปลกเพราะนี่คือพื้นที่เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้ต่อสู้ผ่านกฎกติกาเพื่อภารกิจของตนเอง

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีสิ่งที่ต้องพึงระวังคือคำว่า “ประชาชน” หากมองย้อนกลับไป ฝ่ายเผด็จการมักอ้างถึง “ประชาชน” มากพอๆ กับฝ่ายประชาธิปไตย ผศ.ดร.พิชญ์เชื่อว่า รัฐธรรมนูญมิมีทางที่จะเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดได้ พร้อมยกตัวอย่างว่าหากย้อนกลับไปในอดีต เช่นรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ใครหลายคนบอกว่าดีที่สุดนั้น ก็เคยผ่านการวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วแทบทั้งสิ้น แต่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการที่จะเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นในขั้นต่อๆ ไป

ผศ.ดร.พิชญ์กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีข้อจำกัด อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจและการช่วงชิงทางอำนาจอยู่เสมอ ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ประชาชน” จึงต้องคำนึงว่า หนึ่ง ประชาชนในฐานะผู้กระทำทางการเมือง (Political Actor) แล้วนั้น การที่ประชาชนจะลุกขึ้นต่อสู้ต้องอาศัยเวลาที่ยาวนาน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวห้อมล้อมไปด้วยเหตุผลและปัจจัยหลายประการ ซึ่งส่งผลต่อทั้งประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง หรือแม้กระทั่งประชาชนที่ไม่ได้เคลื่อนไหว ซึ่งมิได้แปลว่าคนในกลุ่มหลังไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ในทางกลับกันนั้นความนิ่งเงียบดังกล่าวอาจจะอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณทรัพยากรและวิธีการต่อสู้ที่แตกต่างกัน

และ สอง ประชาชนที่มองว่าสิ่งที่เป็นแนวคิดกว้างๆ เป็นสิ่งที่ถูกอ้างอิง ทุกฝ่ายทำเพื่อประชาชนทั้งนั้น โดย ผศ.ดร.พิชญ์ตั้งข้อสังเกตว่า ระบอบเผด็จการมีอ้างอิงถึงประชาชนเช่นเดียวกัน ดังเช่นคำว่า “โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เผด็จการอิงแอบกับ “เพื่อประชาชน” อยู่บ่อยครั้งดังจะเห็นได้จากการรัฐประหารที่ผ่านๆ มา ฉะนั้นแล้วคำถามสำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็น “โดยประชาชน” มากกว่า ฉะนั้นสิ่งสำคัญของการเดินทางเพื่อรัฐธรรมนูญ คือการทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะเดินต่อไปร่วมกันภายใต้กฎกติกา

นอกจากนี้ ผศ.ดร.พิชญ์ยังระบุอีกว่า แนวคิดรัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับสังคมไทย ในทางรัฐศาสตร์มีกับดักที่สำคัญอยู่ กล่าวคือความเชื่อที่ว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมาย แต่ในสายรัฐศาสตร์กลับมองว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นกฎหมาย มิติทางนิติศาสตร์เป็นเพียงด้านเดียวของรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญมีมุมมองที่ลึกซึ้งกว่านั้น การมีรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นประชาธิปไตย

ฉะนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประชาชนไม่ได้เรียกร้องอำนาจที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร แต่เป็นการเรียกร้องหาจุดกึ่งกลางเพื่อข้อตกลงอย่างเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย โดยกำหนดอำนาจที่มีในสังคมว่าจะคานอำนาจกันอย่างไร

รัฐธรรมนูญในมุมมองของนิติศาสตร์

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน กล่าวว่ารัฐธรรมนูญของไทยเป็นเพียงกฎหมายสูงสุดในทางทฤษฎี แต่ไม่ใช่กฎหมายสูงสุดในทางปฏิบัติ ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีการรับรองฐานะเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองคุณค่าที่สูงสุดของระบบกฎหมาย คือ หนึ่ง การจัดสรรอำนาจอธิปไตย และ สอง การรับรองสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.มุนินทร์ขยายความต่อว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญในต่างประเทศเป็นหลักการที่แข็งแรง ดังเช่นรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ไม่อาจละเมิดได้ หลักการดังกล่าวนี้เปรียบเสมือนโครงสร้างบ้านที่เข้มแข็ง ดังนั้นหากมองย้อนเปรียบเทียบกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ของไทยตั้งแต่อดีตจากปัจจุบัน จะเห็นว่าในปี พ.ศ. 2440 มีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งกระทรวงยุติธรรมตามแบบตะวันตก โดยได้รับอิทธิพลองค์ความรู้จากประเทศอังกฤษ เส้นทางการปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ของไทย ไทยใช้เวลาเกือบ 40 ปี ถึงจะมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ. 2475 ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475

รศ.ดร.มุนินทร์จึงได้ตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมรัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริง พร้อมให้เหตุผลว่า หนึ่ง รัฐธรรมนูญของไทยไม่ถูกใช้เป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานของระบบกฎหมายตั้งแต่แรกเริ่ม และไม่ถูกทำให้เป็นฐานรากของกฎหมายอื่นๆ สอง รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น กว่ารัฐธรรมนูญจะถูกศึกษาอย่างเป็นทางการอย่างจริงจังต้องรอถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งถูกจัดอยู่ในการศึกษาของ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และ สาม การฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่าโดยคณะรัฐประหาร ทำให้คุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นลดลงไป

นอกจากนี้ รศ.ดร.มุนินทร์ยังระบุถึงความย้อนแย้งในคุณค่าของรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญจะมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดก็ต่อเมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิทางการเมือง ปลดนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ในทางกลับกัน รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นกฎหมายไม่สูงสุดทันที เมื่อใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิในการพิจารณาคดีอาญา การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน ฯลฯ เหตุดังกล่าวส่งผลต่อทัศนคติในหมู่นักกฎหมายและประชาชนทั่วไปว่าในท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแค่เพียงในนาม

พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำว่า หน้าที่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญมิใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เฉกเช่นคำปฏิญาณของเหล่าข้าราชการทั้งหลายว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แต่สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นควรกระทำคือการปฏิญาณว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตลอดจนพิทักษ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างถึงที่สุด

หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ เกริ่นนำถึงหนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนความว่า “รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนอัตชีวประวัติของประเทศนั้นๆ ที่สะท้อนความต้องการ ปัญหา อุปสรรค และประสบการณ์ของประเทศ หากพิจารณารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่อมโยงถึงกัน มีสิ่งที่พยายามรักษาไว้เพื่อส่งต่อไปยังอนาคต และมีสิ่งที่พยายามแก้ไขหรือถูกทำให้หายไปอยู่เสมอ”

นอกจากนี้ รศ.ดร.วรรณภายังระบุว่าการมีรัฐธรรมนูญมิได้เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตย หากรัฐธรรมนูญยังรับใช้ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หรือเผด็จการ ซึ่งนำไปสู่คำถาม 2 ประการ คือ ประการแรก รัฐธรรมนูญนั้นมีขึ้นเพื่ออะไร รศ.ดร.วรรณภาได้ระบุว่ารัฐธรรมนูญจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างประชาธิปไตยในรัฐ ซึ่งเป็นกลไกรากฐานสำคัญในการแสดงถึงอัตลักษณ์ของรัฐนั้นๆ ว่าอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองแบบใด

“เราไม่ได้เกิดมาเป็นพลเมือง แต่เราเป็นพลเมืองเพราะรัฐธรรมนูญทำให้เราเป็นพลเมือง” รศ.ดร.วรรณภากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นพลเมืองและรัฐธรรมนูญ

และประการที่ 2 รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพื่อรับใช้ประชาชน ที่เกิดขึ้นได้ด้วยกลไกใด กล่าวคือ กลไกแรก ได้แก่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิดความเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เช่น พลเมืองทุกคนเสมอภาคกัน เท่าเทียมกันต่อกฎหมาย ดังนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับต่อพลเมือง มิใช่เป็นตรากฎหมายที่บัญญัติแล้วจบสิ้น แข็งทื่อตายตัว หรือไม่สามารถแก้ไข แต่จะต้องเป็นกฎหมายเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามพลวัตของสังคมได้

กลไกต่อมา คือการออกแบบระบบตัวแทนในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้แทนเหล่านั้น ว่าท้ายที่สุดผู้ที่ประชาชนเลือกมานั้นสามารถรักษาเจตนารมณ์ของประชาชนไว้ได้หรือไม่ อีกทั้งยังเห็นสมควรถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะแก่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและกำหนดเจตจำนงของตน อันจะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

การเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวถึงภาพรวมของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างของภาคประชาชนและพรรคการเมือง การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้มีอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันอยู่ 2 ประการ 

ประการแรก คือ ต้องมีประชาชนเข้าชื่อกัน อย่างน้อย 50,000 คน และ

ประการที่สอง คือ ต้องมี ส.ว. เห็นด้วยอย่างน้อย 84 คน หรือหนึ่งในสาม

ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกปัดตกไป คะแนนเสียงเห็นด้วยของ ส.ว. นั้นยังไม่เพียงพอ อีกทั้งความพยายามจากฝ่ายพรรคการเมืองที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ก็ยังไม่สำเร็จ รวมไปถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชนเพื่อพิจารณาถึง 4 ครั้ง แต่ทุกครั้งไปไม่ถึงฝันด้วยเงื่อนไขข้างต้น

นอกจากนี้ยิ่งชีพยังชวนมองความหวังของหนทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต โดยมีหลักสำคัญสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมีถึง พร้อมฝากคำถามไปถึงพรรคการเมืองในความเป็นไปได้ที่จะให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนต่อประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยิ่งชีพตั้งคำถามไปถึงพรรคการเมืองว่า พร้อมหรือไม่ที่จะเคียงข้างประชาชนและร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้

ช่วงเสวนารวมและตอบคำถาม 

คำถาม : ในระบบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์มีปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้ผู้เรียนไม่ศรัทธาระบอบประชาธิปไตย

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ช่วงที่เรียนหนังสือเราไม่ได้เรียนวิชาประชาธิปไตย ในยุคนั้นเรียนวิชาหลักรัฐศาสตร์ จะให้ความสนใจกับการท่องระบอบการเมืองว่าในโลกนี้มีระบอบการเมืองแบบใดบ้าง อีกทั้งการเรียนรัฐศาสตร์ในยุคนั้นก็ไปสอดคล้องกับวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่แนวคิดของการปฏิวัติ 2475 ยังไม่อยู่ในตำราเรียนด้วยซ้ำไป

ความตื่นตัวของเด็กกลับเป็นสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนมากกว่า ในคณะรัฐศาสตร์ตื่นตัวจากการเรียนเรื่องประชาสังคมและขบวนการภาคประชาชน จุดเปลี่ยนของสังคมไทยเกิดขึ้นในปี 2549 รวมไปถึงการตั้งมองไปยังจุดหักเหประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น การอภิวัฒน์ 2475 และการรัฐประหาร 2490

 

คำถาม : เราในฐานะพลเมืองจะขับเคลื่อนร่วมกันได้อย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมายของการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ : นอกจากตัวบทกฎหมายแล้ว การมีวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย และการใช้ชีวิตประจำวันด้วยการสมาทานการเป็นประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องสำคัญ การเรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างไร เราเรียนรู้ที่จะพูดความเห็นของเรา ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้ที่จะฟังความเห็นของผู้อื่นด้วย ไปพร้อมๆ กับการถกเถียงกับผู้อื่น แต่จำเป็นที่จะต้องมีความเห็นอกเห็นใจกันและเข้าใจถึงความแตกต่างที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายของมนุษย์ เมื่อนั้นกฎหมายสูงสุดก็จะตามมาเอง

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน : ส่วนแรกเส้นทางในการนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของสิทธิต้องร่วมกันสร้างความตระหนักให้แก่ฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งนี่คือวาระที่สำคัญมาก และส่วนที่สองคือวัฒนธรรมการเคารพรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุด เมื่อไหร่ก็ตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญถูกละเมิด สิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องร่วมใจกันเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมและรัฐเพื่อให้เป็นไปตามหลักแห่งรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง

กล้า สมุทวณิช : “อย่าตาย” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ห้ามกันยาก แต่อยากให้รักษาชีวิตเพื่อรอดูความเป็นประชาธิปไตย และ “อย่าทิ้งความฝัน” ประการหลังนั้นมีอยู่ 2 ปัญหา คือทางแรก ทิ้งความฝันเมื่อเห็นว่าความฝันนั้นไม่มีทางสำเร็จแน่ๆ จึงละทิ้ง แต่เมื่อมีท่าว่าจะเป็นไปได้ก็จะกลับ ส่วนทางที่สอง เป็นการละทิ้งความหวังที่น่ากลัวที่สุด คือการมองว่าความฝันนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิตอีกต่อไปแล้ว สิ่งนี้น่ากลัวกว่า

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : ไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จ ธงข้างหน้าไม่ใช่การพูดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 นั้นไม่ดีอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังความฝันให้แก่ประชาชนให้ได้ คือ ความต้องการที่จะเห็นรัฐธรรมนูญที่มีการร่วมกันออกแบบและมาจากความเห็นยินยอมพร้อมใจของประชาชนในระดับหนึ่งในแง่ของที่มาอย่างชอบธรรม

 

คำถาม : สังคมไทยเชื่อเรื่องของการประนีประนอมมากแค่ไหน เพราะมีอำนาจบางอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างเดียว อีกฝ่ายก็แพ้อย่างเดียว จะทำอย่างไรในแง่ของการประนีประนอม

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : “Contested Compromise” คือการกำหนดเกมการเมืองที่ทุกคนคิดว่าตนเองเล่นได้ คำว่า “ของประชาชน” จะเป็นไปอย่างไรต่อนั้น เพราะประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่ถูกยอมรับว่าเป็นระบอบที่ดีที่สุด จนกระทั่งถูกบวกเข้ากับหลักการเสรีนิยม ในตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยไปไกลกว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมนับตั้งแต่จุดตั้งต้นแล้ว เป็นประชาธิปไตยที่คำนึงไปถึงความเป็นสังคมนิยม แต่ไม่ใช่ในความหมายที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ ประเทศไทยไปไกลกว่านั้น แต่เพียงแค่กระบวนการตามไปไม่ทัน

ประชาชนต้องมีความใฝ่ฝันที่มากกว่าคำอธิบายว่าอำนาจเป็นของเรา หมายความว่าการใช้เสรีภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะต้องการเสรีภาพเพื่อหนีไปจากเผด็จการ แต่สิ่งสำคัญคือว่า หากมีประชาธิปไตยแล้วทำอะไรต่อบ้าง และตั้งคำถามว่าประเทศจะมีประชาธิปไตยเพื่อก้าวต่อไปอย่างไรโดยไปให้ไกลกว่าการยืนยันว่าประชาธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชน นี่คือโปรเจกต์ที่เราต้องร่วมกันคิด

 

คำถาม : สมมติประชาชนได้มาซึ่งประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : จะต้องกำหนดให้เขามีที่อยู่ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่สะเปะสะปะ หากขอบเขตชัดเจนก็มีโอกาสที่จะกำหนดอะไรได้บ้าง แต่อาจจะไม่ 100 เปอร์เซ็น

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน : นี่เป็นปัญหาด้านวัฒนธรรมและทัศนคติที่มิได้มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จึงเป็นช่องให้เกิดการรัฐประหารขึ้นง่าย เมื่อคณะรัฐประหารมองสิ่งอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า โดยมิได้มองคุณค่าของรัฐธรรมนูญ หากเราคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สูงสุดและควรหวงแหน จะต้องไม่มีช่องให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการยอมรับและเชื่อมั่นในคุณค่าของรัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับการร่างรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ : วัฒนธรรมของการรู้ทัน และรู้ว่าอะไรคือสิ่งถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ผิด เพื่อให้เกิดการเข้าใจว่าหากทำเช่นนี้อีก เขาจะไม่มีที่ยืนในสังคม ท้ายที่สุดแล้วต่อให้คนมีความคิดเห็นต่างกันสักเพียงใด สิ่งสำคัญคือกฎ ระบบ และกติกา

 

 

พร้อมกันนี้ ยังได้มีการเปิดตัวหนังสือ “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” โดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ซึ่งพัฒนามาจากปาฐกถาในวาระ 90 ปีแห่งการอภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เนื้อหาภายในเล่มกล่าวถึงการขยายเพดานความรู้และอธิบายถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส คือ “ประชาธิปไตย” “สังคมนิยม” และ “วิทยาศาสตร์” หัวใจสำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาธิปไตยอย่างมีเหตุและผล สามารถตั้งคำถามต่อทุกเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เพราะอะไร อย่างไร และทำไม

 

ในช่วงท้ายได้มีการนำเสนอรายงานการวิจัย เรื่อง ความคิดทางรัฐธรรมนูญและความมุ่งหมายทางการเมืองในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ : ศึกษาผู้ร่วมออกแบบร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550, 2558 และ 2560 โดย ดร.ชาย ไชยชิต และ และ ดร.เอกลักษณ์ ไชยภูมี นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการที่ศึกษารัฐธรรมนูญในมุมมองความคิดและความรู้สึกผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์บอกเล่าจากผู้ที่มีส่วนร่วมและวิเคราะห์ฐานคิดของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อปูทางไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในอนาคต

 

 

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

 

ที่มา : PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”  วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์