ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

กรุงเทพอภิวัฒน์ : ภาษากับการเมืองจากแนวคิดอภิวัฒน์ของปรีดี พนมยงค์ ถึงรัฐไทย พ.ศ. 2475-2566

9
กุมภาพันธ์
2566
ภาพก่อนการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มา : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
ภาพก่อนการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มา : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
ภาพก่อนการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ที่มา : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

“สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา” เป็นนามพระราชทานแด่ศูนย์กลางระบบรางของประเทศและเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน)[1]

หลังจากนั้น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฯ ก็ปรากฏขึ้นทางสื่ออย่างกว้างขวางจากกรณีการเปลี่ยนป้ายชื่อ[2] ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากการขอพระราชทานชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงในหลายแง่มุม หากยังขาดในด้านภาษากับการเมืองของคำว่า “อภิวัฒน์” ซึ่ง “นายปรีดี พนมยงค์” รัฐบุรุษอาวุโสเป็นบุคคลแรกที่ใช้คำว่า “อภิวัฒน์” เพื่อเรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

บทความนี้จึงขอนำเสนอแง่มุมเล็กๆ คือที่มาของคำว่า “อภิวัฒน์” ทั้งความหมายและภาษากับการเมืองของนายปรีดีเพื่อสะท้อนถึงแนวคิดและบริบททางประวัติศาสตร์ของการบัญญัติศัพท์ที่ภาษาไม่อาจแยกขาดจากความเป็นการเมือง

 

ภาษากับ (สถานที่) การเมือง

“ภาษา (language) มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการเมือง (politics) อย่างแนบแน่นต่างขยายความซึ่งกันและกันจนบ่อยครั้งที่ภาษาคือการเมืองและการเมืองคือภาษา”[3] และบริบททางสังคมหรือสิ่้งแวดล้อมก็ส่งผลต่อการพัฒนาภาษาและความหมายของภาษาทางการเมืองหรือศัพท์ทางการเมือง (Political Terms) อย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้เช่นกัน[4] ทั้งนี้การใช้ศัพท์การเมืองของคำสำคัญ เช่น คำว่า ปฏิวัติ ประชาชน หรือ หัวก้าวหน้า ฯลฯ ในบริบทการเมืองไทยสมัยหนึ่งถือเป็น “กระบวนการใช้ศัพท์ทางการเมืองเพื่อเผยแพร่และตอบโต้ทางอุดมการณ์”[5]

นอกจากนี้ การตั้งชื่อถนนและสถานที่ต่างๆ ในแต่ละยุคสมัยก็สะท้อนให้เห็นว่ามีภาษากับการเมืองเข้ามาเกี่ยวเนื่องโดยชื่อถนน ตรอกและซอย ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มักจะตั้งชื่อถนนสายหลักและถนนชั้นในของกรุงเทพมหานครมาจากชื่อของชนชั้นนำ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนาเป็นหลัก

 

ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493
ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2493

 

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2493 ได้มีการตั้งชื่อถนนทางหลวงแผ่นดินตามนามของสามัญชนและข้าราชการที่มีคุณูปการต่อสังคมสยาม เช่น ถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นเกียรติแก่ พระพิศาลสุขุมวิท อดีตอธิบดีกรมทาง หรือตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินที่ให้ชื่อว่า ถนนพหลโยธิน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญและอดีตนายกรัฐมนตรี

 

กรุงเทพมหานครอนุมัติให้ใช้ชื่อถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อ พ.ศ. 2545
กรุงเทพมหานครอนุมัติให้ใช้ชื่อถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อ พ.ศ. 2545

 

และเมื่อ พ.ศ. 2542 สำนักงานเขตวัฒนา โดยคณะกรรมการพิจารณาตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย และสะพานในพื้นที่เขตวัฒนาได้มีมติให้ตั้งชื่อถนนสุขุมวิท 71 ว่า “ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)” และกรุงเทพมหานครได้อนุมัติให้ใช้ชื่อว่าถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์) เมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี พนมยงค์[6] เป็นต้น

 

อภิวัฒน์ : ความหมายศัพท์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์

ในงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2518 นายปรีดี พนมยงค์ได้เขียนบทความเพื่อลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกของชาวธรรมศาสตร์เรื่อง ความเป็นมาของศัพท์ไทย ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์ ซึ่งสืบเนื่องจากการสนทนา ณ ที่ประชุมสามัคคีสมาคม เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ในประเทศสก็อตแลนด์ ได้มีท่านหนึ่งสอบถามนายปรีดีว่า เหตุใดจึงถ่ายทอดคำอังกฤษ “เรฟโวลูชัน” (revolution) เป็นศัพท์ไทยว่า “อภิวัฒน์” แทนที่จะใช้คำว่า “ปฏิวัติ”

ในวันนั้นนายปรีดีได้ตอบไปอย่างสังเขปเพราะมีเวลาจำกัดจึงได้รวบรวมปัญหาเรื่องศัพท์มาจัดทำเป็นบทความในหนังสือที่ระลึกของชาวธรรมศาสตร์อีกครั้ง

นายปรีดีเริ่มต้นบทความตั้งแต่การอธิบายความหมายคำว่า ศัพท์ ไว้ว่า

 

“...คำว่า “ศัพท์” ในภาษาไทยนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “เสียง, คำ, คำยากที่ต้องแปล; เรื่อง.””

 

และนายปรีดีได้ยกตัวอย่างเรื่องก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าสยามอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สืบต่อกันมาหลายพันปี ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (คำของนายปรีดี — ผู้เขียน) นั้น ยังไม่เคยมีศัพท์ไทยที่เรียกการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ซึ่งต่างจากชาวยุโรปที่ใช้ศัพท์ว่า “เรฟโวลูชัน” ก่อนสยาม โดยนายปรีดีชี้ให้เห็นว่าในช่วงก่อนวันที่ 24 มิถุนายนมีศัพท์การเมืองที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นการพลิกแผ่นดิน (Revolution)[7]

 

ประกาศคณะราษฎรที่ระบุหลัก 6 ประการ
ประกาศคณะราษฎรที่ระบุหลัก 6 ประการ

 

ส่วนนายปรีดีได้เล่าถึงการได้รับมอบหมายให้เขียนแถลงการณ์หรือประกาศคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยได้อธิบายว่าในการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยนั้น เดิมในยุโรปเรียกว่า Revolution แต่ในไทยยังไม่มีคณะหรือพรรคใดทำการสำเร็จมาก่อน จึงเห็นว่ายังไม่ควรคิดศัพท์ขึ้นใหม่ที่คนไทยยังไม่เข้าใจจึงควรใช้วลีที่ประกอบด้วยคำไทยสามัญและนายปรีดีขยายความว่า

 

“...จึงสมควรที่จะใช้วลีที่ประกอบด้วยคำไทยธรรมดาสามัญว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน” แต่วลีนี้ยาวไปจึงตัดคำว่า “แผ่นดิน” ออกคงเหลือ “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” และเรียกสมาชิกแห่งคณะราษฎรว่า “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” โดยย่อว่า “ผู้ก่อการ” เท่านั้น คือเป็นเพียงผู้ที่เริ่มก่อให้มีการเปลี่ยนระบบเก่าเพื่อเข้าสู่ระบบใหม่ที่จะต้องพัฒนาต่อไป”

 

จนภายหลัง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ราวสองเดือน หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พระอิสริยยศในขณะนั้น — ผู้เขียน) ได้ทรงวินิจฉัยว่า การเปลี่ยนหลักมูลของการปกครองแผ่นดินนี้ตรงกับที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Revolution แล้วบัญญัติศัพท์ไทยว่า “ปฏิวัติ” ต่อมาเมื่อราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำปทานุกรมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493 เสร็จสิ้นลงได้ส่งผลต่อความหมายของคำว่า “ปฏิวัติ” เป็นคำนามแปลว่าการหมุนกลับ, การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล (ป.ปฏิวตฺติ) จากมูลศัพท์คำว่า “ปฏิวัติ” ในภาษาบาลีนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ปฏิวัติ” อันหมายถึง การหมุนกลับคือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถอยหลัง โดยนายปรีดีชี้ว่า

 

“...มูลศัพท์ของคำว่า “ปฏิวัติ” นี้หนักไปทาง “การหมุนกลับ” จึงทำให้ตีความได้ว่า การผันแปรเปลี่ยนหลักมูลของคำว่า “ปฏิวัติ” เป็นการผันแปรชนิดถอยหลังกลับไปเป็นระบบเก่าหรือทำนองระบบเก่า”[8]

 

และได้กล่าวถึงคำว่า ปฏิวัติ กับคณะราษฎรไว้ด้วยว่า

 

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะผูกขาดศัพท์ไทยว่า “ปฏิวัติ” ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอองค์นั้นบัญญัติขึ้น (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ — ผู้เขียน) แม้ว่าคณะราษฎรนี้มีอำนาจในรัฐบาลอยู่จนกระทั่งเสร็จสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งมีทางที่จะใช้ศัพท์ “ปฏิวัติ” เรียกการกระทำของตนแต่คณะราษฎรก็คงเรียกการกระทำของตนเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ตามการกระทำที่เป็นจริงว่าเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และสมาชิกคณะราษฎรก็ไม่ได้ทนงตนในการที่จะเรียกตนเองว่า “นักปฏิวัติ” คือคงเรียกว่า “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเรียกย่อๆ ว่า “ผู้ก่อการ”[9]

 

นายปรีดียังชี้ให้เห็นว่าบริบททางการเมืองได้ส่งผลต่อคำว่า “ปฏิวัติ” โดยในระหว่าง พ.ศ. 2489 - 2500 ได้มีบางกลุ่มมิให้ถือว่าการเปลี่ยนแปลงโดยคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นการปฏิวัติและเมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวกได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นคณะเรียกว่า “คณะปฏิวัติ” เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 แล้วปกครองตามระบอบเผด็จการในระยะแรกใช้วิธีการปกครองโดยคำสั่งคณะปฏิวัติที่มีผลเป็นกฎหมายสูงสุด ในทัศนะของนายปรีดีมองการกระทำของจอมพล สฤษดิ์ว่า

 

“...เป็นอันว่าจอมพล สฤษดิ์ กับพวกได้ถือเอาคำว่า “ปฏิวัติ” ไปใช้เรียกการกระทำของตน สมดังความหมายตามมูลศัพท์ว่า การเปลี่ยนหลักมูลกลับหรือถอยหลังกลับไปสู่ระบบเผด็จการอย่างเจ้าทาสเจ้าศักดินายิ่งกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยพระปกเกล้าฯ

คำสั่งของคณะปฏิวัตินั้น รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มารวมทั้งฉบับ 2517 ก็รับรองว่าเป็นกฎหมายใช้อยู่จนทุกวันนี้ (ยกเว้นรัฐสภาให้ยกเลิกบางฉบับ)”

 

จากการรัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ของจอมพล สฤษดิ์ และพวกนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้นายปรีดีเริ่มเสนอคำใหม่ขึ้น โดยกล่าวถึงแนวคิดปฏิเสธคำว่าปฏิวัติที่รัฐสภารับรองความหมายหลัง พ.ศ. 2501 ไว้ว่า

 

“จึงเป็นว่าคำว่า “ปฏิวัติ” ในภาษาไทยนั้นได้รับรองโดยรัฐสภาไทยตามความหมายที่แสดงออกโดยการกระทำของจอมพล สฤษดิ์ กับพวก ผม (นายปรีดี — ผู้เขียน) จึงเห็นว่า ไม่สมควรที่ผู้รักชาติประชาธิปไตยไทยซึ่งต้องการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เพื่อเรียกการกระทำของตน คือการปล่อยให้เป็นคำไทยที่มีความหมายเฉพาะเรียกการกระทำของจอมพล สฤษดิ์ กับพวกซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบให้ถอยหลังกลับ”

 

นายปรีดีจึงเสนอให้ถ่ายทอดคำอังกฤษว่า Evolution เป็นศัพท์ไทยว่า “วิวัฒน์” ไว้ในหนังสือความเป็นอนิจจังของสังคม ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500 และได้ถ่ายทอดศัพท์อังกฤษว่า Revolution เป็นศัพท์ไทยว่า “อภิวัฒน์” ไว้ดังนี้

 

“อภิวัฒน์ประกอบด้วยคำ “อภิ” ซึ่งเป็นคำใช้นำหน้าศัพท์ มีความหมายว่า ยิ่ง วิเศษ เหนือ คำว่า “วัฒน์” ซึ่งแปลว่าความเจริญ ความงอกงาม เมื่อรวมความหมายของคำทั้งสองแล้วได้ความว่า 

ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ ทั้งนี้ตรงกับความหมายทางวิทยาศาสตร์สังคมดังกล่าวมาแล้วคือการเปลี่ยนระบบเก่าตามแนวทางกู้อิสรภาพของมนุษย์ที่ถูกกดขี่เบียดเบียนนั้น เป็นการเปลี่ยนที่ก้าวหน้าซึ่งเป็นการเปลี่ยนอย่างวิเศษ…

ส่วนวิธีการที่จะทำให้บรรลุถึงการ “อภิวัฒน์” นั้น เป็นเรื่องของ “วิธีการ” ซึ่งทุกตำราของเมธี สอนให้พิจารณาตามความเหมาะสมแก่สภาพ ท้องที่ กาละของแต่ละสังคม”[10]

 

การบัญญัติศัพท์การเมืองคำว่า “อภิวัฒน์” แทนคำว่า “ปฏิวัติ” ในทศวรรษ 2500 ของนายปรีดีจึงถือว่าเป็นกระบวนการใช้ศัพท์ทางการเมืองเพื่อเผยแพร่และตอบโต้ทางอุดมการณ์ต่อรัฐบาลเผด็จการของจอมพล สฤษดิ์ และพวกอย่างแยบยลหากชัดเจน

 

จาก “อภิวัฒน์” ของปรีดี พนมยงค์สู่ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

 

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา ที่มาของภาพ : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา
ที่มาของภาพ : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา” คือนามพระราชทานแด่ศูนย์กลางระบบรางของประเทศไทยและเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งนี้ การเปลี่ยนชื่อสถานีกลางเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้นมาจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) โดยโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อได้รับพระราชทานนามของสถานีต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า  “นครวิถี”
  2. พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”
  3. พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

 

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา ที่มาของภาพ : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา ที่มาของภาพ : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นครวิถี ธานีรัถยา
ที่มาของภาพ : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีความหมายว่า ความเจริญรุ่งเรืองแห่งกรุงเทพมหานคร และขณะที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม  พ.ศ. 2565 ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างระหว่างบริษัทฯ ที่ก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยมีมูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)[11]

ดังนี้ จะเห็นได้ว่าความหมายของศัพท์บัญญัติคำว่า “อภิวัฒน์” ใน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” จากหน่วยงานรัฐไทย ณ ปัจจุบันมิได้ยึดโยงกับการเปลี่ยนแปลงของระบอบทางการเมืองโดยตรง หากในด้านกำเนิดของคำศัพท์ได้สะท้อนให้เห็นการใช้ภาษากับการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านทางสถาบันการเมืองอย่างแยบคาย และยิ่งเมื่อเราทราบความหมายของศัพท์คำว่า “อภิวัฒน์” จากข้างต้นว่าหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

อาจชวนกันตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “มรดกคณะราษฎร” ได้มีการถูกทำให้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่ว่าจะเป็นหมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธินและค่ายพิบูลสงคราม แต่ไฉนเลยอยู่ๆ กลับมีการนำคำว่า “อภิวัฒน์” ซึ่งผู้ที่ให้ความหมายใหม่ของคำคำนี้คือ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ แกนนำคนสำคัญสายพลเรือนของ “คณะราษฎร”

 

ภาพประกอบ : ราชกิจจานุเบกษา, ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย และสถาบันปรีดี พนมยงค์

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. เรื่องตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 ธันวาคม 2493, เล่ม 67, ตอนที่ 67, หน้า 6377-6389.
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.). หนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565. เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต).

หนังสือภาษาไทย :

  • กนกวลี ชูชัยยะ, พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม, (กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2548)
  • ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและสิ่งพิมพ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551)
  • ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, (กรุงเทพฯ: สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519)
  • ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2552)
  • สมบัติ จันทรวงศ์, ภาษาทางการเมือง: พัฒนาการของแนวอธิบายการเมืองและศัพท์การเมืองในงานเขียนประเภทสารคดีทางการมืองของไทย พ.ศ. 2475-2525, (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533)

วิทยานิพนธ์ :

  • นพปฎล ศรีวงษ์รัตน์, “การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย: ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร,” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560)
  • ปนิตา จิตมุ่ง, “การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร,” (วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

[1] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.). หนังสือที่ นร 0508/ท 4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565. เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต).

[3] ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โครงการตำราและสิ่งพิมพ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551), (21).

[4] สมบัติ จันทรวงศ์, ภาษาทางการเมือง: พัฒนาการของแนวอธิบายการเมืองและศัพท์การเมืองในงานเขียนประเภทสารคดีทางการมืองของไทย พ.ศ. 2475-2525, (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533), น. 9.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 263.

[7] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, (กรุงเทพฯ: สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519), น. 1-9.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 10-13.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 15.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 30-32.