ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พฤษภาประชาธรรม : พลังของชนชั้นกลางในการปกป้องประชาธิปไตยจากการรัฐประหาร

17
พฤษภาคม
2566

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์ แสดงทัศนะต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยมตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และการรัฐประหารครั้งอื่นๆ ที่ตามมา กระทั่งถึงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ภายใต้การนำของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ อันทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยหยุดชะงักลง
  • การต่อต้านเผด็จการทหารของประชาชนนำโดยชนชั้นกลางระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 สามารถหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ที่ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2534 ทำให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร หนึ่งในแกนนำของคณะ รสช. ที่เสียสัตย์กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องลาออกไปในที่สุด หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงไกล่เกลี่ย โดยให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุมเข้าเฝ้าเพื่อยุติความขัดแย้ง
  • 31 ปี หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนถึง พฤษภาคม 2566 การต่อต้านรัฐประหาร และกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้มีความชอบธรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะปกป้องประชาธิปไตย หยุดวิกฤติการณ์ทางการเมือง และการรัฐประหารโดยกองทัพ อีกทั้งสะท้อนว่าพลังชนชั้นกลางที่ยืนหยัดในการปกป้องประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันชอบธรรมนั้นสำคัญ เพื่อนำระบอบการปกครองไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

“บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น และผู้นิยมส่งเสริมระบอบนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย…”

ปรีดี พนมยงค์, วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523

 

บรรยากาศการชุมนุมฯ ในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
บรรยากาศการชุมนุมฯ ในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

 

เดือนพฤษภาคมถือเป็นเดือนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเดือนนี้มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์พฤษภา’35 เหตุการณ์พฤษภา’53 และการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยบทความนี้จะนำเสนอเหตุการณ์แรกเนื่องในวาระ 31 ปี พฤษภา’35 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อ พ.ศ. 2534[1] ภายหลังการยึดอำนาจทางคณะฯ รสช. ได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นโดยเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนักการทูตและนักธุรกิจมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[2] แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ที่มีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมีบทบัญญัติว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งเพื่อเปิดทางให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในผู้นำของคณะฯ รสช. เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

จากสาเหตุของความไม่ชอบธรรมทางรัฐธรรมนูญประกอบกับการครอบงำทางการเมืองและการที่คณะฯ รสช. ไม่ทำตามสัญญาโดยเสียสัตย์ต่อประชาชนว่าจะไม่เข้ามาบริหารประเทศจึงนำมาสู่การชุมนุมทางการเมืองของชนชั้นกลางที่ต่อต้านคณะรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นครั้งแรก โดยพลังของชนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่มีมือถือจึงรู้จักกันอีกชื่อว่า ม็อบมือถือ การชุมนุมทางการเมืองได้นำไปสู่การนองเลือดและสลายการชุมนุมฯุ โดยรัฐบาลของคณะฯ รสช. ในระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 จากการปะทะและปราบปรามผู้ชุมนุมฯ ที่รุนแรงต่อมาจึงเรียกว่า พฤษภาเลือด และเหตุการณ์ได้ยุติลงในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เมื่อ พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง[3]

จุดตั้งต้นของระบอบเผด็จการทหารสมัยใหม่ได้เริ่มขึ้นที่เหตุการณ์นี้หากการต่อต้านรัฐบาลที่มีลักษณะเผด็จการอำนาจนิยมครั้งแรกได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา บทความนี้นอกจากจะเสนอให้เห็นพลังของชนชั้นกลาง การเข้าสู่การเมืองของทหารในการเมืองร่วมสมัยดังกล่าวแล้วยังชี้ให้เห็นแนวคิดและบริบททางประวัติศาสตร์ของการต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยมผ่านปากคำประวัติศาสตร์ของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ไว้อีกด้วย

 

ทัศนะร่วมสมัยของนายปรีดี พนมยงค์ ในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยม

 

บรรยากาศการสนทนาของนายปรีดี พนมยงค์ กับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนและสัมภาษณ์ในทศวรรษ 2520
บรรยากาศการสนทนาของนายปรีดี พนมยงค์ กับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนและสัมภาษณ์ในทศวรรษ 2520

 

ในวาระครบรอบการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน เมื่อ พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเน้นไปที่การเสนอแนวคิดเรื่องการต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยมภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ว่า ระบอบประชาธิปไตยได้หยุดชะงักลงตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าวและนายปรีดี ได้สรุปเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมหลัง พ.ศ. 2490 ถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 จากเอกสารหลักฐานทางราชการและทางรัฐสภาไว้ดังนี้

 

สาเหตุ 8 ประการ และทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงักลง ตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521

“(1) เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอำนาจปกครองประเทศไทยโดยล้มระบอบประชาธิปไตยแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 ที่ได้บัญญัติไว้โดยถูกต้องตามวิธีการของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทาน
ครั้นแล้วคณะรัฐประหารได้สถาปนาระบอบการปกครองใหม่โดยพลการ คือ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 9 พ.ย. 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ซึ่งได้บัญญัติให้มีวุฒิสภาที่สมาชิกได้รับการแต่งตั้ง มิใช่ด้วยการเลือกตั้งจากราษฎร ฉะนั้นจึงเป็นการดึงให้ประเทศไทยเดินถอยหลังเข้าคลองไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ระบอบของคณะรัฐประหารนั้นเป็นแม่บทให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และเป็นแม่บทให้แก่ระบอบปกครองต่อๆ มาอีกหลายระบอบ ซึ่งบางครั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง และบางครั้งไม่มีวุฒิสภาแต่ได้ฟื้นเอาวิธีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่เลิกไปโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พ.ค. 2489 นั้นกลับมาใช้อีก
คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ
(2) แม้ว่าระบอบปกครองประเทศไทย ได้ดำเนินตามแม่บทของคณะรัฐประหารเป็นเวลารวมได้ 12 ปีเศษ แต่ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 คณะบุคคลอีกคณะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” โดยจอมพลสฤษดิ์ฯ เป็นหัวหน้าได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และใช้อำนาจเด็ดขาดโดยสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิวัติมีอำนาจเด็ดขาดสั่งจำคุกและสั่งประหารชีวิตบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำผิดนั้นได้โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้น ให้ศาลยุติธรรมพิจารณาพิพากษา
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2502 ได้ประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย” ซึ่งตามมาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี (จอมพลสฤษดิ์ฯ) โดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งหรือกระทำการใดๆ ได้ซึ่งหมายถึงอำนาจเด็ดขาดสั่งจำคุกและสั่งประหารชีวิตตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรในการปราบปรามการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือราชบัลลังก์หรือการบ่อนทำลายความสงบที่เกิดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร
คุณและสหภาพฯ ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น และผู้นิยมส่งเสริมระบอบนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ
(3) ในคำปรารภแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย ฉบับดังกล่าวใน (2) นั้นกล่าวไว้ใจความว่า ธรรมนูญฉบับนั้นใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ฉะนั้นในวันที่ 3 ก.พ. 2502 นั้นจึงได้มีประกาศแต่งตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 240 คน
สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลา 9 (เก้า) ปี จึงร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมตามความประสงค์นั้นสำเร็จ ผมขอให้สหภาพฯ กับนิสิตนักศึกษาและประชาชนบันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ในโลกนี้ที่ไม่เคยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใดเลย ที่ใช้เวลานาน ถึง 9 ปีในการร่างรัฐธรรมนูญ และผมขอให้สหภาพฯ โปรดสำรวจด้วยว่าในระหว่างเวลา 9 ปีนั้น ชาติไทยต้องเสียเงินเดือนและค่าใช้จ่ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนเท่าใด
คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น รวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบอบเผด็จการนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย
(4) เมื่อได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน 2511 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เสียค่าใช้จ่ายสูงมากในการร่างนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ใช้ต่อมาได้เพียง 3 ปี 5 เดือนเท่านั้น
ครั้นถึงวันที่ 17 พ.ย. 2514 จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน 2511 นั้นก็ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศโดยล้มระบอบรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นั้น แล้วปกครองประเทศโดย “คำสั่งคณะปฏิวัติ” ได้เหมือนดังที่กล่าวใน (2) และต่อมาได้มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2515” ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเหมือนดังที่กล่าวใน (2) นั้น
คุณและสหภาพฯ ก็ย่อมวินิจฉัยได้อีกว่า บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้นรวมทั้งผู้นิยมส่งเสริมระบอบเผด็จการนั้น ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย มิใช่คณะราษฎรต้องรับผิดชอบ
(5) ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งรัฐบาลจอมพลถนอมฯ พ้นจากตำแหน่งแล้ว รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ซึ่งรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อมานั้นได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง แล้วได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สภาฯ นั้นพิจารณาเห็นชอบให้มีรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกได้รับเลือกตั้งจากราษฎรและวุฒิสภาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
เมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 แล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมนั้น แต่ได้พระราชทานพระราชดำริกับข้อสังเกตบางประการที่ทรงค้านว่า ขัดต่อหลักปกครองประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิก โดยเปลี่ยนจากประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ เช่นเดียวกับวิธีแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของคณะรัฐประหารและของฉบับ พ.ศ. 2492
ซึ่งมีผู้โฆษณาให้คนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้น แทนที่จะให้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งวุฒิสมาชิกสภานิติบัญญัติเห็นชอบด้วยตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นแล้วรัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโปรดเกล้าฯ ลงนามพระปรมาภิไธยให้ใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2518” เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2518
ระบอบปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ดังกล่าวนั้น ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎรที่ต้องรับผิดชอบ
(6) เมื่อได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 2518 ดังกล่าวใน (5) ข้างบนนั้นได้ประมาณ 1 ปีเศษก็มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” โดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินล้มระบอบปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวใน (5) นั้นเมื่อ พ.ศ. 2519 และได้ปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่า “คำสั่งคณะปฏิรูป” ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปมีอำนาจเด็ดขาดเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 2501 และจอมพลถนอมฯ หัวหน้าคณะปฏิวัติ 17 พ.ย. 2514 ที่ได้มีอำนาจดังกล่าวนั้นมาแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2519 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 29 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเด็ดขาดดังกล่าวนั้นด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำนองเดียวกับมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2512 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ฯ และฉบับ พ.ศ. 2514 ให้อำนาจเด็ดขาดแก่จอมพลถนอมฯ ดังที่ได้กล่าวแล้วใน (2) และ (4) นั้น
อนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งประหารชีวิตและจำคุกผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา
ระบอบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร
(7) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2520 ก็ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะปฏิวัติ” ภายใต้การนำของ ‘พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่’ ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศ และได้ใช้อำนาจเด็ดขาดปกครองประเทศโดยสิ่งที่เรียกว่าคำสั่งคณะปฏิวัติ ทำนองเดียวกับที่จอมพลสฤษดิ์ฯ และจอมพลถนอมฯ และพล.ร.อ.สงัดฯ นั่นเองได้เคยใช้อำนาจเด็ดขาดมาแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2520 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 27 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเด็ดขาดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติ ทำนองเดียวกันที่ได้กล่าวใน (2), (4), (6),นั้น
อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดสั่งลงโทษผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดหลายรายโดยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ศาลพิจารณาพิพากษา
ระบอบเผด็จการดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร
(8) ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2521 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติหลายประการที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ซึ่งสาระสำคัญสืบจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มของรัฐประหาร พ.ศ. 2490 อาทิ กำหนดให้มีรัฐสภา คือ สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ระบอบปกครองดังกล่าวนั้นไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร”

 

บรรยากาศการสนทนาของนายปรีดี พนมยงค์ กับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนและสัมภาษณ์ในทศวรรษ 2520
บรรยากาศการสนทนาของนายปรีดี พนมยงค์ กับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนและสัมภาษณ์ในทศวรรษ 2520

 

จะเห็นได้ว่านายปรีดี อธิบายระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่สำคัญของแต่ละยุคไว้อย่างละเอียดตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยเน้นไปที่เหตุการณ์การรัฐประหารในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2502 - 2516 จนถึงคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พ.ศ. 2520 หากสะท้อนให้เห็นพลังของมวลชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และกติกาใหม่ของทหารในการร่างรัฐธรรมนูญ บทสรุปความคิดต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการอำนาจนิยมของนายปรีดีได้ปรากฏชัดเจนในคำกล่าวที่ว่า

 

“บุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบเผด็จการนั้น และผู้นิยมส่งเสริมระบอบนั้นต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย…”[4]

 

พฤษภาประชาธรรม : พลังของชนชั้นกลางในการปกป้องประชาธิปไตยจากการรัฐประหารโดยกองทัพ

“พฤษภาประชาธรรม” หรือพฤษภา’35 เป็นเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ประท้วงคณะฯ รสช. ของประชาชนที่กว่าครึ่งเป็นชนชั้นกลางใหม่ซึ่งประกอบอาชีพธุรกิจ พ่อค้า นายทุน ผู้มีฐานะดีและผู้ชุมนุมฯ บางส่วนได้ใช้มือถือที่ขณะนั้นมีราคาสูง และในทศวรรษ 2530 ประชาชนทั่วไปยังไม่มีมือถือใช้กันแพร่หลายจึงมีการเรียกชื่อการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้อีกชื่อว่า “ม็อบมือถือ”[5] โดยผู้ชุมนุมฯ ออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะฯ รสช. ที่ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2534 และต่อมา พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในแกนนำของคณะฯ รสช. ได้เสียสัตย์กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่พล.อ.สุจินดา เคยกล่าวไว้ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ว่า

 

“ผมยืนยันไม่เล่นการเมือง ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่เป็นนายกฯ โดยเด็ดขาด การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน”[6]

 

ภาพ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำของการชุมนุมฯ กำลังใช้มือถือในม็อบช่วงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม
ภาพ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำของการชุมนุมฯ กำลังใช้มือถือในม็อบช่วงเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม

 

การเมืองของกองทัพในระบบรัฐสภา ท่ามกลางบริบทร่วมสมัยของยุคโลกาภิวัตน์ที่สังคมปรากฏชนชั้นกลางใหม่จากการเติบโตของระบบทุนนิยมระหว่างประเทศและในสังคมไทย การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ของคณะฯ รสช. จึงเป็นการรัฐประหารโดยกองทัพในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย หลังการรัฐประหารทางคณะฯ รสช. ได้มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในระหว่างวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ถือเป็นการปรับตัวของคณะรัฐประหารที่จัดให้มีการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนทั้งเพื่อเสริมภาพลักษณ์ต่อประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสร้างความชอบธรรมให้แก่คณะรัฐประหารว่าไม่ได้ต้องการครองอำนาจในการปกครอง โดยเหตุผลที่เลือกนายอานันท์นั้นมี 3 ประการหลัก ได้แก่

  1. ประสบความสำเร็จในชีวิตราชการ
  2. เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
  3. ต่างประเทศให้การยอมรับคณะรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือน

ในประการที่สองแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลางใหม่ที่ทหารได้คำนึงถึงเนื่องจากนายอานันท์ เคยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หากต่อมาได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ส่งผลให้นายอานันท์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[7] โดยพรรคสามัคคีธรรมชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด คือ 79 ที่นั่ง และเมื่อรวบรวมกับพรรคการเมืองอีก 5 พรรคฯ ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 195 เสียง จึงรวมตัวกันเสนอชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายณรงค์ กลับไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้เนื่องจากอุบัติเหตุทางการเมืองบางประการทำให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะฯ รสช. ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 โดยพลเอก สุจินดา ได้กล่าววลีสำคัญในการเข้ามารับตำแหน่งฯ ครั้งนี้ว่าเป็นการ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากทั้งนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง และอาจารย์ เช่น

ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักศึกษาไทยในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า

 

“หากพล.อ.สุจินดา คิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่ปฏิเสธมาโดยตลอด ขอให้แสดงสปิริตด้วยการเข้าสังกัดในพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากการยื่นหนังสือแล้วทางนักศึกษาไทยจากบอสตันและนิวยอร์กจะนำหรีดดำไปมอบให้รัฐบาล รสช. ผ่านทางสถานทูต พร้อมทั้งปิดข้อความไว้อาลัยที่หน้าสถานทูตด้วย”

 

ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2535 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า

 

“รู้สึกแย่ที่คนกลางที่ทำการรัฐประหารกลับได้เป็นผู้นำประเทศ รู้สึกหมดศรัทธาที่ผู้ใหญ่ไม่รักษาคำพูด...วันเด็กปีหน้า ใครจะกล้าให้คำขวัญสอนให้เด็กไทยซื่อสัตย์ได้”

 

และในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2535 นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญวิชาสันติวิธีและความขัดแย้งทางการเมืองไทย กล่าวว่า

 

“ประชาธิปไตยในเมืองไทยที่มีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี้เกี่ยวพันกับการเกษตรอย่างแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพารา เพราะปีไหนยางมีน้อย คนเราก็อายน้อย ปีไหนมียางมาก คนเราก็อายมาก”[8]

 

บรรยากาศสลายการชุมนุมฯ ในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
บรรยากาศสลายการชุมนุมฯ ในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

 

การเสียสัตย์เพื่อชาติที่ทหารเข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภาครั้งนี้จึงนำมาสู่การนองเลือดในเวลาต่อมา โดยการประท้วงก่อตัวขึ้นทันทีหลังจากที่ พล.อ.สุจินดา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาหลากหลายมหาวิทยาลัย การอดอาหารประท้วงด้านหน้ารัฐสภาของ ร.ต.อ.ฉลาด วรฉัตร ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 ต่อมามี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เข้าร่วมการประท้วงและเป็นแกนนำฯ จึงทำให้การชุมนุมฯ ครั้งนี้ขยับขยายไปในวงกว้าง จนเพิ่มจำนวนผู้ชุมนุมที่เป็นชนชั้นกลางขึ้นนับแสนคน โดยมีข้อเรียกร้องหลักคือ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ที่ปิดช่องว่างทางกฎหมายไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ หรือปิดสวิตช์นายกฯ คนนอกนั่นเอง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงปะทุสูงขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 จากการชุมนุมฯ ใหญ่ ณ ท้องสนามหลวงโดยมีผู้ชุมนุมประมาณ 500,000 คน แล้วเคลื่อนขบวนประชาชนผ่านถนนราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาลและปะทะกับเจ้าหน้าที่ฯ ของรัฐบาลที่เข้ามาสลายการชุมนุมฯ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุมฯ เข้าเฝ้าฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุมฯ เข้าเฝ้าฯ

 

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่มีการปะทะ นองเลือด จับกุม และสลายการชุมนุมฯ ราว 3-4 วัน จนล่วงมาถึงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ก็มีการเผยแพร่เทปบันทึกภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงมีพระราชดำรัสให้พล.อ.สุจินดา นายกรัฐมนตรี และพล.ต.จำลอง แกนนำผู้ชุมนุมฯ เข้าเฝ้าฯ เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองกระทั่งในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ทาง พล.อ.สุจินดา ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง[9]

จากเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 44 ราย มีผู้สูญหายจำนวน 48 ราย มีผู้พิการจำนวน 11 ราย มีผู้บาดเจ็บสาหัส จำนวน 47 ราย และมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 1,728 ราย และยังมีผู้สูญหายกว่า 500 ราย หากไม่ทราบจำนวนผู้ถูกจับกุมที่แน่ชัด[10]

31 ปีผันผ่านจากเหตุการณ์พฤษภาคม’35 จนถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2566 กงล้อประวัติศาสตร์ดูจะหมุนกลับไปมาระหว่างการออกแบบสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภาของกองทัพ การต่อต้านรัฐประหารจากพลังของชนชั้นกลาง และกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้มีความชอบธรรม หากสิ่งสำคัญที่จะปกป้องประชาธิปไตย หยุดวิกฤติการณ์ทางการเมือง และการรัฐประหารโดยกองทัพที่พยายามสวมทับรูปแบบการปกครองพลเรือนได้คือ การเริ่มต้นของประชาชน จากเหตุการณ์พฤษภา’35 ยังสะท้อนว่าพลังชนชั้นกลางที่ยืนหยัดในการปกป้องประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันชอบธรรมนั้นสำคัญและเป็นไปได้เพื่อนำระบอบการปกครองไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

ที่มาของภาพ : หนังสือที่ระลึกวันปรีดี, siamcollection, gettyimage และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้นและหนังสือพิมพ์ :

  • ผู้จัดการรายวัน. 27 มกราคม 2536. หน้า 1, 20, 22.
  • กองบรรณาธิการ ผู้จัดการ. บันทึก “ภาพ-คำพูด-เหตุการณ์” ประวัติศาสตร์พฤษภาทมิฬ. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, มปท.

หนังสือ :

  • คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35. ประชาธิปไตยฉบับน้ำตา : ประมวลกิจกรรมของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (2535-2545). กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2545.
  • คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35. จดหมายเหตุวันที่ 17 พฤษภาคมประชาธรรม. กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2547.
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร กบฎในการมืองไทยปัจจุบัน : บทวิเคราะห์และเอกสาร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550.
  • ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. ตัดวงจรรัฐประหาร. กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2563.
  • ปรีดี พนมยงค์. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย.
  • ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์บุคส์, 2542.
  • วาสนา นาน่วม. สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช.. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สดุดีวีรชนประชาธิปไตย 17-21 พ.ค. 2535. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535.
  • อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. เปรมาธิปไตย การเมืองไทยระบอบไฮบริด. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชัน, 2563.
  • เอนก เหล่าธรรมทัศน์. ม็อบมือถือ ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: มติชน, 2536.
  • Dominic Faulder. Anand Panyarachun and the making of modern Thailand. Singapore: Editions Didier Millet, 2018.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 


[1] วาสนา นาน่วม, สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช., พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555), น. 183.

[2] โปรดดูเพิ่มเติม Dominic Faulder, Anand Panyarachun and the making of modern Thailand, (Singapore: Editions Didier Millet, 2018).

[3] อ่านเนื้อหาและลำดับเหตุการณ์พฤษภา’35 โดยละเอียดได้ที่ กองบรรณาธิการ ผู้จัดการ, บันทึก “ภาพ-คำพูด-เหตุการณ์” ประวัติศาสตร์พฤษภาทมิฬ, (กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, มปท.), คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35, จดหมายเหตุวันที่ 17 พฤษภาคมประชาธรรม, (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2547) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สดุดีวีรชนประชาธิปไตย 17-21 พ.ค. 2535, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535).

[4] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย), น. 64-74.

[5] เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ม็อบมือถือ ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2536).

[6] กองบรรณาธิการ ผู้จัดการ, บันทึก “ภาพ-คำพูด-เหตุการณ์” ประวัติศาสตร์พฤษภาทมิฬ, (กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, มปท.), น. 9.

[7] วาสนา นาน่วม, สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช., พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555), น. 193-194.

[8] กองบรรณาธิการ ผู้จัดการ, บันทึก “ภาพ-คำพูด-เหตุการณ์” ประวัติศาสตร์พฤษภาทมิฬ, (กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, มปท.), น. 11-17.

[9] กองบรรณาธิการ ผู้จัดการ, บันทึก “ภาพ-คำพูด-เหตุการณ์” ประวัติศาสตร์พฤษภาทมิฬ, (กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, มปท.) และ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35, จดหมายเหตุวันที่ 17 พฤษภาคมประชาธรรม, (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2547)

[10] คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35, ประชาธิปไตยฉบับน้ำตา: ประมวลกิจกรรมของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (2535-2545), (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2545)