
และแล้ววันหนึ่ง ความสงบสุขของครอบครัวปลายกับคนไทยอีก 17 ล้านคนก็มลายหายไป
“เราจะยอมให้ญี่ปุ่นมาย่ำยีบ้านเราเมืองเราไม่ได้” พ่อปลายบอกกับแม่ปลายด้วยใบหน้าอันแดงก่ำ
“แล้วเราจะทำยังไงล่ะพ่อ ทหารญี่ปุ่นมีอาวุธครบครัน เราจะสู้เขาไหวหรือ” แม่ปลายถามด้วยความวิตก
“พ่อเชื่อว่า คนไทยที่เป็นพวกญี่ปุ่นมีไม่กี่มากน้อย คนไทยส่วนใหญ่เหมือนเราสองคน ไม่ชอบผู้รุกราน ต้องการขับไล่ให้พ้นจากผืนแผ่นดินไทย” พ่อปลายกล่าวอย่างหนักแน่น
สภาวะสงครามนำความเดือดร้อนสู่ทุกหย่อมหญ้า สู่ทุกครัวเรือน ข้าวยากหมากแพง สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน
ปลายร้องไห้โยเยอีกแล้ว นมผงที่ปลายกินอยู่ขาดตลาด ตอนนี้ปลายโตพอที่จะกินอาหารที่อ่อนนิ่มได้แล้ว กล้วยน้ำว้ากลายเป็นอาหารเสริมของโปรด มื้อเช้ากล้วยน้ำว้า มื้อกลางวันกล้วยน้ำว้า มื้อเย็นก็กล้วยน้ำว้าอีก หน้าตาของปลายอูมอ้วนคล้ายกล้วยน้ำว้าเข้าไปทุกวัน ดวงตาแป๋วแหววหยีเล็กลง แต่คงดำขลับเป็นประกาย

พ่อปลายพ้นจากตำแหน่งราชการเดิม มาดำรงตำแหน่งราชการที่สูงกว่า ครอบครัวปลายย้ายจากบ้านสีลมมาที่บ้านท่าช้าง ริมฝั่งเจ้าพระยา เย็นๆ พ่อปลายออกมานั่งรับลมรับแขกที่ศาลาริมน้ำ
บนผืนน้ำเจ้าพระยา...เรือยนต์ลากจูงเรือบรรทุกข้าวลำหนึ่ง พ่วงต่ออีกลำหนึ่ง บางครั้งพ่วง 3-4 ลำ กระสอบข้าวสารบรรทุกมาเต็มลำ ขอบเรือจมเกือบเท่าระดับแม่น้ำ ขบวนเรือพ่วงค่อยๆ เคลื่อนผ่านศาลาน้ำไปอย่างเอื่อยช้า
พ่อปลายมีเพื่อนสนิทมิตรสหายและลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทุกคนมีจิตใจรักชาติ จึงไม่เป็นการยากเลยที่พ่อปลายชักชวนให้เข้าร่วม “ขบวนการเสรีไทย” มีบางคนถูกส่งไปติดต่อกับสัมพันธมิตร บางคนถูกส่งไปฝึกทหารในต่างแดน บางคนถูกสั่งให้กลับสู่พื้นที่เพื่อจัดตั้งพลพรรคใต้ดิน รอคอยวันเผด็จศึกกองทัพทหารญี่ปุ่น
ยามค่ำคืนดึกสงัดขณะที่ปลายกำลังหลับสบาย พ่อกับแม่ยังไม่นอน คอยเวลาฟังข่าวติดต่อกับสัมพันธมิตร บางครั้งแม่ปลายบรรจงคัดลอกรหัสติดต่อกับสัมพันธมิตรด้วยลายมือ
“หวอ...หวอ…” เสียงหวูดสัญญาณภัยทางอากาศดังขึ้น แม่รีบอุ้มปลายลงหลุมหลบภัย “ตูม” เสียงดังสนั่นกัมปนาทกลบเสียงร้องไห้จ้าด้วยความตกใจของปลาย แสงพระเพลิงลุกโชติแดงฉาน เครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดขบวนรถไฟทหารญี่ปุ่นที่สถานีบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี บ้านท่าช้างที่อยู่อีกฟากหนึ่งพลอยสั่นสะเทือน
“เราอพยพไปอยุธยากันเถอะ อยู่กรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัย” พ่อปลายปรึกษาแม่ปลาย
อยุธยาเป็นบ้านเกิดของพ่อปลาย ตอนแรกครอบครัวปลายพักที่คุ้มขุนพรหม แล้วย้ายมาที่บางปะอิน ที่นี่มีความสงบท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงามและอุดมสมบูรณ์ รวงข้าวเหลืองอร่ามพลิ้วไหวไปมาลู่ตามลม ดอกบัวหลากสีชูคอบานสะพรั่งเหนือผิวน้ำตามหนองบึง
“กล้วย” ปลายรู้จักกล้วยดี มือน้อยๆ ชี้ไปที่ต้นกล้วย
“หนึ่ง สอง สาม สี่……” ปลายหัดนับเลข ต้นกล้วยหาได้มีแค่ 4 ต้น มีเป็นดงๆ เชียวล่ะ แต่ปลายนับได้แค่นี้เอง
ตอนอยู่อยุธยา ปลายได้ไปกราบหลวงพ่อมงคลบพิตร ซึ่งประดิษฐานสูงตระหง่านเสียดท้องฟ้าสีคราม ท่ามกลางซากปรักหักพังของวัดวาอารามและพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงศรีอยุธยา ปลายแหงนคอมองยอดพระเศียรที่มีรอยหัก แสงอาทิตย์อันเจิดจ้าสะท้อนมากระทบ ทำให้ปลายรู้สึกแสบตา

“ขอให้พระท่านคุ้มครองลูก” แม่ปลายบอก
ปลายกวาดสายตาไปรอบๆ เจดีย์น้อยใหญ่ก่อด้วยอิฐมอญสีแดงปรักหักพัง พระพุทธรูปบางองค์แลดูสง่างาม บางองค์พระกรหัก บางองค์พระเศียรขาดหายไป ปลายยังเด็กเกินกว่าจะรับรู้ความเป็นมาว่า กาลครั้งหนึ่งที่นี่เป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง พระราชวังและวัดวาอารามงามวิจิตรตระการตา จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่ชาวตะวันตกที่มาเจริญสัมพันธไมตรี มิใช่เพราะสงครามดอกหรือ รบราฆ่าฟันกัน ทำลายล้างงานศิลปะชิ้นเอกอุที่มนุษย์บรรจงสร้าง ชิ้นแล้วชิ้นเล่า
แล้วอยู่มาวันหนึ่ง พ่อปลายซึ่งบัดนี้มีผมหงอกแซมประปรายบนศีรษะยิ้มแย้มด้วยความดีใจ เป็นรอยยิ้มที่ปลายไม่ได้เห็นมานานแล้ว
“สงครามสิ้นสุดแล้ว”
“ญี่ปุ่นยอมแพ้ เราชนะแล้ว”
ปลายได้ยินผู้ใหญ่ป่าวร้องบอกต่อๆ กัน 4 ปีเต็มในสภาวะสงคราม ถึงคราที่คนไทยจะได้มีชีวิตพร้อมหน้าพร้อมตาอย่างสงบสุข
ผู้เป็นภรรยารอการกลับมาของสามี ผู้เป็นลูกรอการกลับมาของพ่อ แต่หลายต่อหลายครอบครัวต้องผิดหวัง สามีของครูสายชลเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ได้กลับบ้านชั่วนิจนิรันดร์ คุณจัดการเป็นเสรีไทยที่ทำหน้าที่ในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทย สนองคุณชาติโดยมิได้มุ่งหวังลาภยศศฤงคารเป็นสิ่งตอบแทน

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า,” ใน วันวานในโลกกว้าง (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, 2543), น. 5-8.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว