ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ยังเข้มแข็ง แต่เราจะช่วยกันฝ่าไปให้ได้

1
กรกฎาคม
2566

Focus

  • ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้มาจากการต่อสู้กับความไม่เป็นประชาธิปไตย ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายครั้ง ไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากมีความพยายามดึงประเทศกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการเข้ามาของเผด็จการทหาร ดังที่พบจากการรัฐประหาร การเขียนรัฐธรรมนูญ และการให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็วนกลับสู่การรัฐประหาร แม้ว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองจนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญปี 2540 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2544 และปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยกินได้” แต่รัฐประหาร 2549 แสดงถึงฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำไม่ยอมให้ขบวนการของประชาชนมากำหนดความเป็นไปของประเทศ ผ่านระบบการเลือกตั้ง และระบบพรรคการเมือง 
  • เมื่อเปรียบเทียบกับคณะราษฎรที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ หนึ่ง ให้มีรัฐธรรมนูญ และสอง ให้มีปาเลียเมนต์ (Parliament) นั้น การรัฐประหารปี 2549 ต่อด้วยรัฐประหารปี 2557 กลับนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญที่มีสารพัดกลไกกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ เช่น ยุบพรรคการเมือง ปลดนายกรัฐมนตรีได้ตามอำเภอใจ ทำให้ประเทศถอยหลัง และนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึง 5 ปี 
  • การจะไปสู่ชัยชนะจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้นั้น ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราจะตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยได้อย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแตกเป็นสองฝ่าย และไม่เกิดการสลับขั้วย้ายข้าง อันเป็นหายนะ และต้องตระหนักว่าปัญหาที่ยิ่งใหญ่ คือความไม่เป็นประชาธิปไตยยังเข้มแข็ง ซับซ้อน ต้องใช้เวลา และความพยายามจนกระทั่งเราฝ่าไปได้

 

 


 

ในฐานะที่เป็นบุคคลที่ผ่านประวัติศาสตร์การเมืองมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งบทบาทในการเป็นนักต่อสู้และในทางการเมือง จะเห็นว่าในจุดอภิวัฒน์ที่ประชาชนน่าจะชนะและได้ประชาธิปไตย แต่จะมีการตอบโต้หรือโต้อภิวัฒน์กลับมาทุกครั้ง แล้วจะกลับไปสู่จุดเดิม ในที่เราก็ไปไม่ถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์สักที การเปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบัน สมัยนี้แตกต่างอย่างไร จะป้องกันได้อย่างไร และปัจจัยในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ

ดังที่อาจารย์ไชยันต์พูดว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีการลดความเข้มข้นลง หรือว่ามีการยื้อกันในช่วงแรก ต่อมาลดความเข้มข้นลงแต่ว่ายังอยู่ หรือว่าขึ้นๆ ลงๆ เข้มข้นขึ้นบ้าง ลดลงบ้าง

ในเวลาต่อมา หลังจากที่พยายามดึงประเทศกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไม่สำเร็จ เพราะว่าโดนตอบโต้ ต่อมามีการประนีประนอม ผ่านไประยะหนึ่งก็ไปสู่ระบบเผด็จการทหาร มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าจะเห็นได้ชัดที่สุดก็ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งปกครองด้วยธรรมนูญการปกครองแล้วมีคณะรัฐประหาร หรือที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ” มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นเวลารวมกัน 11 ปี นี่คือรูปแบบปกครองหลักซึ่งมีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับความเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบที่อาจารย์ไชยันต์พูด

หลังจากนั้นมีการเขียนรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งในปี 2512 ต่อมาในปี 2514 จอมพลถนอมรัฐประหารตัวเอง แล้วเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็ไปจบด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อันนี้เป็นประเด็นที่ถามผมเมื่อสักครู่นี้

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เราเคยพูดถึงว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในแง่พลังประชาชนมาล้มเผด็จการ แต่พอย้อนหลังศึกษาจริงๆ แล้วเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในเวลาต่อมาจะพบว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นชัยชนะร่วมกันของหลายฝ่ายที่ไม่พอใจ 3 ทรราชย์ หลายฝ่ายที่ว่านี้รวมทั้งฝ่ายมีอำนาจในกองทัพ ฝ่ายชนชั้นนำในสังคม และฝ่ายทุนเมื่อได้ชัยชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว ก็เป็นเหตุบังเอิญที่กระแสสังคมนิยมเข้ามาในประเทศไทย ในช่วง 3 ปีนั้นไม่มีการปลูกฝังความคิดอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ต่อมาชนชั้นนำพวกเผด็จการผนึกกำลังเพื่อจัดการกับขบวนการนักศึกษาที่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยว ในเวลาต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และเกิดการรัฐประหาร นำเผด็จการกลับมาอย่างเต็มรูปแบบ แล้วค่อยๆ ผ่อนคลาย กลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่ประมาณ 8-9 ปี

 

 

ชัยชนะครั้งนั้นเกิดวูบเดียว แต่ไม่ได้กระจายไปยังมวลชนและประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่มีการสะสมกำลัง ที่สำคัญคือหลายปีต่อมาสังคมไทยไม่มีการปลูกฝังอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ไม่มีการปลูกฝังความคิดเรื่องเสรีภาพสำคัญอย่างไร ระบบกระบวนการยุติธรรมที่ดีเป็นอย่างไร

หลังจากนั้นมีการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ในสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่นานนักก็เกิดการยึดอำนาจอีกโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประชาชนร่วมกับฝ่ายต่างๆ โค่นล้มเผด็จการ ยุติการสืบทอดอำนาจ เมื่อรัฐบาลนั้นล้มไป เราก็ดีใจ แต่ก็เกิดอะไรที่ขัดแย้งในตัวเองแบบตลกร้าย คือเรียกร้องนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อชนะ กลับได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วก็ชัยโยโห่ร้องกันทั้งประเทศ รวมทั้งผู้ที่ต่อสู้จำนวนมากในครั้งนั้นด้วย

พอมาไล่ย้อนหลังเราจะพบว่าเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมเป็นการร่วมกันของหลายฝ่ายที่ไม่พอใจ จปร.5 ที่มีอำนาจรวมทั้ง จปร.6 จปร.7 อะไรก็แล้วแต่ กล่าวคือชนชั้นนำ คนในกองทัพ ชนชั้นนำหลายส่วนที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ร่วมกับพลังประชาชน สื่อมวลชน ล้มรัฐบาลสุจินดา คราประยูร ลงไป แต่ก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนระบบโครงสร้าง หรือสร้างระบบที่มีลักษณะถาวร แต่ยังดีที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง คือมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้อยู่หลายรัฐบาล มีการปฏิรูปการเมืองในรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้น เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เกิดการเลือกตั้งในปี 2544 โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก็เป็นความก้าวหน้า

 

 

เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยกินได้” คือพรรคการเมืองเสนอนโยบาย ประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นไปเป็นรัฐบาล เมื่อประชาชนได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง แล้วรู้สึกว่าการเลือกตั้งมีประโยชน์ต่อชีวิตของเขาจริงๆ มีประโยชน์ต่อประชาชนเกินครึ่งของประเทศ ในขณะนั้นที่รู้สึกอย่างนั้น และยังรู้สึกและมีความทรงจำที่ดี นี่เป็นในแง่ของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาและระบบพรรคการเมือง ซึ่งได้ฝังรากลงพอสมควรในความรู้สึกของคนไทย

แต่ผ่านไปก็เกิดการรัฐประหาร 2549 ฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำยอมไม่ได้ที่จะให้ขบวนการของประชาชนมากำหนดความเป็นไปของประเทศ ผ่านระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมือง พวกเขาให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ก็ต้องยึดอำนาจ ก็เกิดการรัฐประหารปี 2549

รัฐประหารปี 2549 ต่อด้วยรัฐประหารปี 2557 ที่เห็นว่ารัฐประหารปี 2549 ยังเป็นรัฐประหารเสียของ คือเมื่อยึดอำนาจแล้ว เขียนรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องการให้ประเทศปกครองโดยพรรคการเมืองบางพรรค กลไกรัฐธรรมนูญสารพัดอย่างสามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ ไม่ชอบรัฐบาลไหนก็ถอดถอนออก ยุบพรรคการเมืองได้เป็นว่าเล่น ปลดนายกรัฐมนตรีได้ตามอำเภอใจ แต่ยังไม่ได้ดั่งใจ ยังเป็นรัฐประหารเสียของอยู่ คือเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2554 ก็ยังได้พรรคการเมืองที่คณะรัฐประหารไม่ต้องการ ไม่ชอบ เลยเกิดการรัฐประหารในปี 2557

 

 

สำหรับประเทศไทยจากปี 2549 ถึงปี 2557 ถ้าเทียบไปที่คณะราษฎรมีจุดมุ่งหมายหลายข้อ แต่ข้อที่สำคัญและโยงกับที่เราคุยกันอยู่นี้ คือ หนึ่ง ให้มีรัฐธรรมนูญ และสอง ให้มีปาเลียเมนต์ (Parliament)

ให้มีรัฐธรรมนูญ หมายความว่าให้มีกฎหมายสูงสุด ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายสูงสุด อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ประชาชนมีเสรีภาพ ประชาชนกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ นี่คือความหมายของรัฐธรรมนูญ ปาเลียเมนต์ คือมีสภา มีการเลือกตั้ง

การรัฐประหาร 2 ครั้งทำให้เกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์ของคณะราษฎร คือเกิดรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง แต่เป็นเครื่องมือในการปกครองที่จะให้หลักประกันว่าบ้านเมืองนี้จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตย อำนาจจะต้องไม่อยู่ที่ประชาชน แต่อำนาจจะอยู่ที่คณะหรือองค์กร ที่ไม่ยึดโยงกับประชดังาชนเท่านั้น แยบยลและซับซ้อนมากขึ้นในรัฐธรรมนูญปีล่าสุด 

 

 

เป็นเรื่องแปลกประหลาด อาจจะมีน้อยประเทศที่เป็นแบบนี้ คือคณะรัฐประหารใช้กลไกของระบอบประชาธิปไตย 3 อย่าง คือ รัฐธรรมนูญ ประชามติ และการเลือกตั้ง ใช้สิ่งที่อารยประเทศมองว่าเป็นเรื่องของประชาธิปไตย แต่กลับถูกใช้ไปในทางที่ทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้อย่างฉ้อฉลและไม่ถูกต้องตามกติกา ทำให้ได้กติกาที่พิกลพิการไม่เป็นประชาธิปไตย โดยประชามติที่โกง กดหัวประชาชนไม่ให้ฝ่ายเห็นต่างได้แสดงความคิดเห็น

เมื่อมีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความหมาย เพราะเลือกตั้งมาแล้ว กลับมี สว. 250 คน แล้วยังมีกลไกตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ศาลรัฐธรรมนูญที่พร้อมจะจัดการกับพรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะถ้าจะเป็นรัฐบาลไม่สอดคล้องหรือไม่อยู่อยู่ฝ่ายเดียวกับผู้มีอำนาจจริงๆ จากการยึดอำนาจ

การรัฐประหารปี 2557 ทำให้ประเทศถอยหลัง นำไปสู่การปกครองแบบเผด็จเสร็จเด็ดขาดถึง 5 ปี หัวหน้าคณะรัฐประหารมีอำนาจปลดประธานศาลฎีกาก็ได้ เข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระทั้งหมด แล้วยังคงปัญหานั้นมาจนถึงทุกวันนี้ คือ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ยังเป็นผู้รับรองประธานตุลาการศาลปกครอง รับรองอัยการ เป็นต้น เข้ามาแทรกแซงและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปหมด นอกจาก 5 ปีนั้นแล้ว อำนาจนั้นก็ยังต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

 

 

หัวข้อบอกว่าจะรักษาชัยชนะอย่างไร ที่พูดมาไม่ใช่ชัยชนะเลย คือมีปัญหาใหญ่มากอยู่กับเรา ประเทศนี้ยังอยู่กับปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีอะไรที่เรามองเป็นชัยชนะ ประสบความสำเร็จ ถ้าจากคณะราษฎรเปลี่ยนจากการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสมบูรณ์ลดลงมาระดับหนึ่ง เราได้ตรงนั้น แล้วก็ได้ผ่านอะไรตามที่ได้พูดมา

ถ้าจะบอกว่ามีชัยชนะก้าวหนึ่งหรือก้าวสำคัญ คือว่าอย่างน้อยใน 20 ปีมานี้เกิดความรับรู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับระบบรัฐสภา เพราะคณะราษฎรต้องการมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา ความรับรู้เกี่ยวกับระบบรัฐสภาว่าสามารถเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้ การเลือกตั้งระบบพรรคการเมืองทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้ จะเห็นชอบพรรคการเมืองไหน ต่างกันอย่างไรก็ว่าไป

ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนตื่นตัวอย่างกว้างขวางกว่ายุคสมัยใดๆ เทียบ 14 ตุลาฯ กับปัจจุบันนี่แตกต่างกันอย่างมาก ความรู้ การรับรู้ และความเข้าใจของประชาชนกว้างขวางและลึกกว่ามาก ลึกในความหมายเรื่องอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ลึกในเรื่องต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้าง เพื่อให้อำนาจเป็นของประชาชน เราได้ยิน “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับคณะราษฎร

ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาซึ่งประชาชนได้แสดงออกถึงความไม่ยอมรับพวกที่มาจากการยึดอำนาจ พรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับผู้ทำรัฐประหาร และสนับสนุนพรรคการเมืองที่ต้องการยุติการสืบทอดอำนาจและต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อันนี้เป็นชัยชนะ เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ

 

 

แต่ว่าภายใต้กติกาอะไร ก็ยังคงภายใต้กติกาที่ สว. 250 คน ลงมติได้ หมายความว่า 312 - 313 เสียงนี้ ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากนักการเมือง พรรคการเมืองอื่น หรือ สว. ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เท่าที่ดูเวลานี้มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ได้เกิดการตั้งรัฐบาลโดยที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เรากำลังเผชิญกับสิ่งนี้

จะรักษาชัยชนะนี้อย่างไร ในขั้นแรก คือ จะตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยได้อย่างไร ให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนที่มีทิศทางนโยบายไปในทางประชาธิปไตยคล้ายๆ กัน ได้ตั้งรัฐบาลอย่างไร? ทำอย่างไรไม่ให้พรรคการเมืองที่ 313 เสียงนี้ แตกเป็นสองฝ่าย? ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการสลับขั้วย้ายข้าง? ซึ่งนั่นคือหายนะ คือการเอาพลังที่ประชาชนให้มาเกิดถูกแยกแล้วหันมาชนกันเอง แล้วทำให้ฝ่ายที่ประชาชนไม่ยอมรับแล้ว กลายเป็นฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก

ตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างไรโดยที่มีต้นทุนที่สำคัญ? คือ มีของวิเศษที่สำคัญอย่างหนึ่ง สว. อยู่ได้แค่อีกปีเดียว เมื่อ สว. หมดอำนาจ 313 เสียง ตั้งรัฐบาลได้แน่ ถ้าไม่แตกกันไปเสียก่อน ถ้าไม่สลับย้ายขั้วย้ายกันไปเสียก่อนก็ต้องตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องคิดว่า 1 ปีจะไปนานเท่าไหร่ เพราะ 9 ปียังอยู่กันมา แล้ว 9 ปีอยู่กันมาโดยบ้านเมืองแย่มาก ไม่เป็นประชาธิปไตย บ้านเมืองเสียหายมาก บอกว่าไม่ได้แล้วรออีก 3 เดือนไม่ได้แล้วต้องตั้งรัฐบาล ตั้งอย่างไรก็ได้ รัฐบาลอย่างไรก็ได้ จะผสมพันธุ์ จะสลับขั้วกันอย่างไรก็ช่างมัน ถ้าอย่างนี้สำหรับประชาชนนั้น ไม่ใช่แค่ 25 ล้านเสียง ผมว่ามากกว่านั้นนะ ประชาชนที่ไม่เลือกบางทีเขาก็ไม่อยากเห็นรัฐบาลที่ย้อนหลังไปแบบเผด็จการคืนชีพ ชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ที่สำคัญมากกว่านั้นอีกด้วยซ้ำก็คือว่า รักษาศักยภาพ ความเข้าใจของประชาชนไทย ความหวังของประชาชนไทยเอาไว้ ให้ประชาชนที่มีความเข้าใจอย่างมากนี้ ได้เข้าใจมากขึ้น กว้างขวางขึ้น ลึกซึ้งขึ้น และรู้สึกว่าตนเองมีพลัง นี่จะเป็นประโยชน์ต่อไปข้างหน้า เพราะว่าเรากำลังจะตั้งรัฐบาล แต่เรื่องใหญ่กว่านั้นเราต้องมาแก้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเราต้องทำเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นของยากมากเพราะเขียนรัฐธรรมนูญไว้แบบไม่ให้ใครแก้ได้ แต่ก็ต้องแก้กันจนได้ ถ้าแก้ไม่ได้ประเทศก็ล้าหลังถอยหลัง ลูกหลานไม่มีอนาคตไปหมดทั้งประเทศ ซึ่งคนไทยจะยอมทำไมในเมื่อเลือกตั้งก็แสดงออกมาให้แล้ว 313 เสียงเขาก็ให้มาได้ แล้วถ้าจะบอกว่าต่อไปข้างหน้าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญร่วมกัน หาพลังประชาชนมาสนับสนุนร่วมกัน

 

 

ถ้าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเอกภาพ องค์กรต่างๆ ที่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยไปทางเดียวกัน ต้องรักษาพลังประชาชนนี้ไว้ และมีทิศทางร่วมกันว่าจะก้าวไปสู่การทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ให้มีรัฐธรรมนูญจริงๆ ปัจจุบันไม่มีสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่กฎหมายสูงสุดที่ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน

ผมคิดว่าจะรักษาชัยชนะในขั้นนี้ต้องผลักดันด้วยความเข้าใจตระหนักว่าปัญหานี้ใหญ่เหลือเกิน ความไม่เป็นประชาธิปไตยยังเข้มแข็ง ซับซ้อน ถูกสร้างไว้แบบซีเมนต์ที่เข้มแข็งมาก แต่ว่าต้องช่วยกันฝ่าไปให้ได้ ใช้เวลาแล้วก็ความพยายามจนกระทั่งเราฝ่าไปได้

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : 

 

 

ที่มา : จาตุรนต์ ฉายแสง. PRIDI Talks #21: “เราจะรักษาชัยชนะก้าวแรกของประชาชน (และก้าวต่อๆ ไป) ไว้ได้อย่างไร?” วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.