ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บทบาทไทยต่อการส่งเสริมสันติธรรมประชาธิปไตย ในเมียนมาและอาเซียน

24
สิงหาคม
2566

Focus

  • การเรียนรู้ถึง “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 โดยดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง หนังสือ “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และการลี้ภัย 21 ปีในประเทศจีน” และหนังสือโมฆะสงครามของท่านอาจารย์ปรีดีนั้น สะท้อนถึงการปฏิเสธ  “ลัทธิเผด็จการทหาร” และการมุ่งแสวงหาสันติธรรมประชาธิปไตยในสังคม
  • ในขณะที่สำหรับประชาคมอาเซียนแล้ว แม้ว่าการที่ไทยและประชาคมอาเซียนที่เคยมีจุดยืนทางการเมืองต่อหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” แต่เราก็สามารถ “พัวพันอย่างสร้างสรรค์” และ มีนโยบาย“ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” ได้ ดังที่เลขาธิการอาเซียนและรัฐบาลไทยในอดีตพยายามกระทำ
  • การสร้างสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากอาเซียน ประเทศไทย และนานาชาติ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ โดยประเทศไทยต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและความก้าวหน้าที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ 8 ประการ อันเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย การเรียกร้องให้ รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ไทยควรสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติเพื่อให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา เพิ่มแรงกดดันทางการทูต ผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นต้น

 

 

 

เมื่อ 78 ปีที่แล้ว (16 สิงหาคม 2488) ท่าน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” อันมีใจความสำคัญว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น “เป็นโมฆะ” ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย เนื่องจากเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง

ย้อนกลับไปก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น อาจารย์ปรีดีในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เล็งเห็นว่า “ลัทธิเผด็จการทหาร” กำลังจะจุดชนวนให้เกิดสงครามโลก จึงอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้น เพื่อสื่อทัศนะสันติภาพ และคัดค้านการทำสงคราม ผ่านไปยังนานาประเทศ ด้วยพุทธสุภาษิตที่ปรากฏในภาพยนตร์ “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” (ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี) และคำกล่าวที่ว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด” นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ปรีดียังสื่อให้เห็นว่าชาวสยามพร้อมที่จะต่อสู้ เพื่อต่อต้านสงครามรุกรานอย่างมีศักดิ์ศรี

ในหนังสือ “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และการลี้ภัย 21 ปีในประเทศจีน” ของท่านอาจารย์ปรีดีนั้น มีเนื้อหาส่วนหนึ่งแสดงจุดยืนชัดถึงบทบาทของไทยในยุคสงครามเย็นช่วงไฟสงครามในอินโดจีนยังคุกรุ่น ให้ยกเลิกสถานะสงครามโดยไม่ประกาศสงครามของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน

อาจารย์ปรีดี เขียนไว้ในหนังสือโมฆะสงครามว่า “เราต้องระลึกถึงสุภาษิตของไทยที่สอนให้ “นึกถึงอกเขาอกเรา” และได้เล่าให้ฟังว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เกิดที่กรุงศรีอยุธยาภายหลังที่กษัตริย์พม่าได้ทำลายกรุงนั้นแล้ว 133 ปี แต่ชาวกรุงก็ยังไม่ลืมถึงการที่กรุงนั้นถูกทำลายย่อยยับ ตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กพอจำความได้ ก็ได้ยินผู้ใหญ่และชาวบ้านเล่าให้ฟังด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจนานาประการที่บ้านเมืองและผู้คนถูกศัตรูทำลาย ความรู้สึกต่อพม่าเริ่มจางลงไปภายหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะราษฎรพยายามชี้แจงว่าที่กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายนั้น ไม่ใช่ความผิดของราษฎรพม่า แต่เป็นความผิดของกษัตริย์ที่มักใหญ่ใฝ่สูงแสวงการแผ่อำนาจ ก็เมื่อฝ่ายไทยเรามีความรู้สึกต่อพม่าเช่นที่กล่าวนั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษ ราษฎรชาติอื่นที่บ้านเมืองถูกทำลายโดยเครื่องบินที่ไปจากฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย จะมีความรู้สึกสักเพียงใด

 

 

“ขบวนการเสรีไทย” ได้ใช้ความพยายามทำให้อังกฤษและสหรัฐอเมริการับรองว่า การประกาศสงครามที่รัฐบาลไทยทำต่อสองประเทศนั้นเป็นโมฆะ ส่วนจีน ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตที่เป็นสัมพันธมิตรครั้งกระนั้น ก็ไม่ยอมเลิกสถานะสงครามหรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้ง่ายๆ ขบวนการเสรีไทยและรัฐบาลบางชุดภายหลังสงครามได้ใช้ความพยายามให้ประเทศเหล่านั้นยอมเลิกสถานะสงคราม ซึ่งเป็นทางให้ประเทศไทยได้รับการรับรองให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

การที่ไทยและประชาคมอาเซียนที่เคยมีจุดยืนทางการเมืองต่อหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ทำให้การสร้างเงื่อนไขของการเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย อาเซียนและเมียนมา

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในสมัยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้นำเสนอแนวทางการทูตแบบ “พัวพันอย่างสร้างสรรค์” (Constructive Engagement) แต่รัฐบาลสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย จึงปรับมาใช้แนวทางหรือนโยบาย “ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” (Flexible Engagement) แทนและกรอบแนวทางนี้อาเซียนก็ใช้มาจนปัจจุบันนี้ แต่ดูเหมือนการทูตของไทยในยุครัฐบาล คสช. จะไม่ค่อยยึดแนวทางนี้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องเรียกร้องหรือกดดันให้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาต้องเคารพสิทธิมนุษยชน และหยุดใช้กองกำลังปราบปรามประชาชนชาวเมียนมาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

ในขณะที่ประเทศไทยสงวนท่าทีต่อการคว่ำบาตรและโดดเดี่ยว รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา เพื่อกดดันให้เกิดการคืนอำนาจให้ประชาชน มีการจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม

 

 

นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทเชิงรุกในการทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพในเมียนมา แต่รัฐบาล คสช. ก็ไม่ได้สนใจต่อบทบาทดังกล่าว ที่จะช่วยรักษาชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาผู้บริสุทธิ์ รักษาความสงบสันติภาพ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝั่งตามแนวชายแดน

การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา จะเป็นผลโดยตรงจากความมุ่งมั่นและจริงจังของกลุ่มพลังต่างๆ ภายในประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากอาเซียน ไทยและนานาชาติ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ

การที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศที่ปกครองแบบอำนาจนิยมเผด็จการทหารให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง เป็นประเทศที่มีสันติธรรม ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน

การมีแนวทางพัวพันอย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ต่อเมียนมาของไทยและอาเซียนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ และอาจต้องเริ่มต้นให้มีการหยุดยิงและเจรจากันก่อน บทบาทของไทยมีความสำคัญและไทยเคยทำสำเร็จมาแล้ว กรณีการเจรจาสันติภาพและยุติสงครามกลางเมืองในกัมพูชา มีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากสนามรบเป็นสนามการค้า

การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาสมรรถนะของการเมืองการปกครองเป็นสิ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้เงื่อนไขต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศด้วย การส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพของระบอบการปกครองต้องมาพร้อมกับการเมืองที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

 

 

ไทยแสดงบทบาทต่อสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมาและอาเซียนได้ และไทยต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานและความก้าวหน้าบางอย่างที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ต้องมีการแก้ไขกติกาสูงสุดรัฐธรรมนูญของไทยให้ยึดถือหลักการประชาธิปไตยเสียก่อน เนื้อหาส่วนไหนที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย และเป็นเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมต้องตัดออก ต้องปลดปล่อยนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมืองออกจากการจองจำ ยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น

สอง ไทยควรมีบทบาทนำในการเรียกร้องให้ รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และคณะกรรมการปรึกษาหารือเพื่อยุติสงครามกลางเมืองและฟื้นฟูประชาธิปไตยและสันติภาพในเมียนมา 

สาม ไทยควรสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ยังมีปัญหาความเป็นประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่

สี่ เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ตกอยู่ในอันตรายหรือหลบหนีจากเมียนมา และประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตอย่างรุนแรง ร่วมกับอาเซียนในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยพลการ รวมทั้งผู้ที่ถูกจำคุกโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมด

ห้า เพิ่มแรงกดดันทางการทูต ผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและที่ประชุมสมัชชาเพื่อหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในเมียนมา

หลังการรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดย มิน อ่อง หลาย ผู้นำกองทัพพม่า มีผู้ถูกสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตไปแล้ว 123 คนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ถูกจับกุม 23,894 คน ทรัพย์สินของพลเรือนในพื้นที่ขัดแย้งเสียหายอย่างหนัก บ้านเรือนถูกเผาทำลายมากกว่า 70,000 หลัง ความทุกข์ยากแร้นแค้นปกคลุมไปทั่ว เกิดสงครามรุนแรงขึ้นระหว่างกองกำลังต่อต้านรัฐประหาร กองกำลังชนกลุ่มน้อย กับ กองทัพพม่า คลื่นผู้อพยพหนีภัยความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและสงครามหลายแสนคน

หก เรียกร้องกดดันให้กองทัพพม่ายุติปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อพลเรือน

เจ็ด รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการกวดขันตามแนวชายแดนเพื่อยุติการส่งมอบอาวุธและทรัพยากรอื่นๆ ที่ถูกใช้เพื่อปราบปรามประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเมียนมา รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามขบวนการค้าอาวุธค้ายาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง

แปด ต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือของขบวนการประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน และรักษาเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยภายในแต่ละประเทศ และสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิด “สันติธรรมประชาธิปไตย” ภายในประเทศและสร้างพลังเครือข่ายร่วมกันเพื่อให้ภูมิภาคนี้ เป็นภูมิภาคที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน ยึดถือมนุษยธรรม เป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพและความมั่นคง สงบสันติ สิทธิเสรีภาพเบ่งบาน เป็นภูมิภาคอาเซียนของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ปัญหาความเป็นเผด็จการและอำนาจนิยมในแต่ละประเทศในภูมิอาเซียนนั้นไม่เหมือนกัน ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอำนาจนิยมในไทย อาจดูโหดร้าย ใช้ความรุนแรงน้อยกว่า

เผด็จการทหารเมียนมาเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉลาดกว่า เนียนกว่าและหลอกล่อให้ขบวนการประชาธิปไตยแตกแยกลงและอ่อนแอลง กรณีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 อันบิดเบี้ยวเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นอย่างชัดเจน และขอให้ท่านติดตามความพยายามในการตัดสิทธินักการเมืองและยุบพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ดี

การกระทำดังกล่าวจะนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง และการเผชิญหน้าขัดแย้งรอบใหม่ได้ ผู้ปรารถนาในสันติธรรมประชาธิปไตย ย่อมต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายยึดถือการปกครองด้วยความถูกต้องเป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ :