Focus
- สงครามทั่วไปและสงครามโลกในอดีต ประเทศที่รบกันได้อาศัยอาวุธที่เฝ้าคิดค้นเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นอาวุธตามมาตรฐาน หรือนอกมาตรฐาน เช่น แกสพิษ อาวุธเคมี รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์หรือระเบิดปรมาณูที่พัฒนาขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองและในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตที่เร่งทดลองและผลิตกันอย่างคลุ้มคลั่ง
- นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลหนึ่งที่สนใจเรื่องแรงทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศมหาอำนาจสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และเห็นว่าจำเป็นต้องปรึกษาหารือพลเมืองเพื่อช่วยกันหาทางป้องกันมิให้ประเทศไทยพัวพันในการสงครามระหว่างชาติ และไม่ต้องการให้ไทยเข้าร่วมสงครามในทุกกรณี
- สังคมไทยของเราสนใจเรื่องระเบิดปรมาณูหรือระเบิดนิวเคลียร์ในปลายทศวรรษ 2490 สมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และต่อมามุ่งไปในการใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ไปในทางสันติ โดยมีพระราชบัญญัติพลังงานปรมานูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้งบประมาณช่วยเหลือ
- ความสำเร็จของสหรัฐอเมริกาในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก่อนเยอรมนี เกิดขึ้นโดย จูเลียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ผู้อำนวยการโครงการแมนฮัตตัน แต่ในที่สุดเมื่อสงครามยุติ เขาต้องขึ้นศาลเสมือนอาชญากรสงครามเพราะการพัวพันกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดการซึมเศร้าจนหลีกหนีจากสังคม (ดูประกอบภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer) จุดจบของฉากชีวิตเช่นนี้ อาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่นายปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกกล่าวหาและต้องลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ
การรำลึกถึงสันติภาพและการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยในไทยครั้งแรกคือ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ประกาศว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง จึงเป็นโมฆะ ก็เพื่อให้ไทยได้รอดพ้นจากการตกเป็นประเทศในฝ่ายที่พ่ายสงคราม โดยปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งในการประกาศสันติภาพในครั้งนั้น ในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองภายในได้คำนึงถึงความเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสงบสุขของราษฎรไทยเป็นหลักโดยเนื้อหาของประกาศสันติภาพมีดังนี้
ประกาศสันติภาพ
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2487)
ปรีดี พนมยงค์
โดยที่ประเทศไทยได้เคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ เมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษณ์แล้ว ในเมื่อญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ ประชาชน พลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก
เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติ ดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว
บัดนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้
บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริด เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้ และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมื่อบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป
ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่นๆ ใด อันมีผลเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิ ก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ จากกฎหมายเหล่านั้น ก็จะได้รับชดใช้โดยธรรม
ในที่สุดนี้ ขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ตลอดจนชนต่างด้าวซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย จงตั้งอยู่ในความสงบ และไม่กระทำการใดๆ อันจะเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อย พึงยึดมั่นในอุดมคติ ซึ่งได้วางไว้ในข้อตกลงของสหประชาชาติ ณ นครซานฟานซิสโก
ประกาศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2488 เป็นปีที่ 12 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทวี บุณยเกตุ
รัฐมนตรี
จากสงครามสู่สันติภาพและความผันผวนทางการเมืองภายในไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ส่งผลให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศฝรั่งเศสอย่างยาวนาน หากในระหว่างนั้นนายปรีดีได้ค้นคว้าความรู้ต่างๆ รวมทั้งสนใจการเมืองไทย โดยจริย์วัฒน์ สันตะบุตร เล่าถึงกิจวัตรหลักอันเรียบง่ายของนายปรีดีช่วงที่ลี้ภัยในปารีสไว้ว่า
“มีคราวหนึ่งท่านชวนผมไปร้านหนังสือ ตอนนั้นท่านกำลังสนใจเรื่องแรงทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสมัยนั้นเรื่องกำลังอาวุธทั้งหลายหาอ่านได้จาก Jane’s Defence ซึ่งมีทั้งแบบรายปี (Yearbook) และรายสัปดาห์ (Weekly) แต่แบบที่รวมเล่มเป็นรายปีจะแพงมาก ท่านใช้วิธีซื้อของปีเก่าๆ ที่เขาลดราคามาอ่าน ส่วนของใหม่ๆ ใช้วิธียืนเปิดอ่านที่ร้านเพิ่มเติมเอา เลือกซื้อเฉพาะที่ต้องใช้อ้างอิงตอนนั้น
ผมมานึกดู อดีตผู้นำประเทศที่ซื่อสัตย์อย่างท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ได้ร่ำรวย แม้เงินจะซื้อหนังสือก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ท่านก็มุ่งมั่นในการหาความรู้อยู่เสมอ ท่านสนใจเทคโนโลยี จนเอามาเขียนเป็นหนังสือเตือนรัฐบาลไทยเรื่อง ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์) ซึ่งคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นผู้จัดพิมพ์ในปี 2517
ถ้าคุณอ่านดูหนังสือเล่มนี้ จะพบว่ามีการกล่าวถึงประสิทธิภาพของอาวุธสมัยใหม่ต่างๆ มีการยกตัวอย่างประเทศไทยด้วยว่าจำเป็นต้องหาทางป้องกันประเทศให้ดีเพราะ “จรวดพื้นดินสู่พื้นดินระยะกลางที่ตั้งฐานจากนอกเขตแดนไทยก็สามารถยิงมาสู่กรุงเทพฯ ได้ เราจึงต้องปรึกษาหารือพลเมืองเพื่อช่วยกันหาทางป้องกันมิให้ประเทศไทยพัวพันในการสงครามระหว่างชาติ” ท่านเป็นผู้รักสันติภาพและเสรีภาพยิ่งนัก และไม่อยากให้ไทยเข้าร่วมสงครามในทุกกรณี”[1]
จากกิจวัตรง่ายงามในความธรรมดาของนายปรีดีที่ทำเป็นปกติคือ การถ่ายทอดความรู้ ความคิดร่วมสมัย เผยแพร่สู่สังคมไทยในบริบทของทศวรรษ 2510 เกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ปรมาณู ยังมีความร่วมสมัยและเชื่อมร้อยกับประเด็นสำคัญในหนัง Oppenheimer ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่เพิ่งเข้าฉายช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาและได้รับความนิยมไปทั่วโลก
สันติภาพ ปรมาณู และความคิดทางวิทยาศาสตร์ของนายปรีดี พนมยงค์
งานเขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของนายปรีดีไม่ค่อยมีผู้ศึกษาค้นคว้าอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์หรือปรมาณูที่นายปรีดีอธิบายปัญหา และยุคของปรมาณูจากหนังสือ ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์) จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517 ตั้งแต่ในมิติประวัติศาสตร์ไปจนถึงความรู้ด้านอาวุธอย่างค่อนข้างละเอียดดังนี้
นายปรีดีเริ่มต้นจากความหมายของยุคปรมาณูว่าคือบริบทหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
“ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคปรมาณูหรือนิวเคลียร์ คือเป็นยุคที่มนุษย์สามารถทำให้นิวเคลียส์ (NUCLEUS) ซึ่งเป็นแกนกลางของปรมาณูแยกหรือผนึกรวมกันก่อให้เกิดพลังงานและความร้อนและกัมมันตภาพรังษีอย่างมหาศาล
มนุษย์ได้ใช้ความรู้นั้นทำสาตราวุธปรมาณูหรือนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายมนุษย์ให้ถึงตาย และบาดเจ็บทุพพลภาพครั้งหนึ่งๆ เป็นจำนวนหลายล้านคนได้ แต่มนุษย์ก็ได้ใช้ความรู้นั้นในทางสันติเพื่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น
ยุคปรมาณูมิได้หมายความเพียงแต่ว่าวิทยาศาสตร์สาขาปรมาณูพัฒนาไปเท่านั้น คือหมายรวมถึงการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคนิครวมทั้งวิทยาศาสตร์สังคมทุกๆ สาขาที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง”
ปัญหาในยุคปรมาณูที่นายปรีดีชี้ให้เห็นมาจากความขัดแย้งอันเป็นพื้นฐานของสังคมมนุษย์โดยมิใช่เฉพาะความขัดแย้งในการสงครามที่เป็นสงครามร้อนตามทรรศนะของนายปรีดีเท่านั้น แต่ในยุคสมัยของทศวรรษ 2510 ปัญหาความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดสงครามเย็นคือ เศรษฐกิจ สังคม และสงครามทางจิตวิทยาดังนี้
“ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์ภายในชาติหนึ่งๆ ที่มีทั้งชนชั้นวรรณะแตกต่างกันก็ดี ระหว่างมนุษย์ต่างชาติหรือต่างกลุ่มชาติก็ดี ยังคงมีอยู่ในยุคนี้ ความขัดแย้งนั้นมีทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางทัศนะ คติธรรม ดังนั้นการต่อสู้ระหว่างแต่ละฝ่ายจึงยังคงมีอยู่
ตามธรรมดานั้นมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตวชาติที่พัฒนาสูงสุดกว่าสัตวชาติชนิดอื่นๆ นั้น ก็ต้องการแก้ไขความขัดแย้งโดยวิธีสันติเป็นเบื้องต้นก่อน ถ้าแก้ไขทางสันติไม่ได้ หรือถูกกีดกันโดยทางกฎหมายหรือทางพฤตินัย มิให้ใช้วิธีสันติแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่มนุษย์ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น นอกจากวิธีใช้สาตราวุธทุกชนิด ทั้งสาตราวุธมาตรฐานที่มนุษย์ใช้มาแต่โบราณกาลและที่พัฒนามีประสิทธิภาพสูงตามการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคนิค และสาตราวุธนอกมาตรฐาน อาทิ สาตราวุธเคมี สาตราวุธชีววิทยา และสาตราวุธนิวเคลียร์
สนามรบที่มนุษย์ต่อสู้ระหว่างกัน เพื่อแก้ข้อขัดแย้งนั้น มิใช่มีเพียงสนามรบทางทหารประจำการเท่านั้น คือมีสนามรบทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางทัศนะคติธรรม คู่สงครามตั้งแต่โบราณกาลมาได้ ต่อสู้ในสนามรบเหล่านี้ตามกาลสมัย ต่อมาการต่อสู้ดังกล่าวนี้ได้พัฒนาเป็นระบบขึ้นจนถึงขนาดปัจจุบันนี้เรียกว่า สงครามเศรษฐกิจ สงครามจิตวิทยา สงครามการเมือง ซึ่งดำเนินอยู่เป็นประจำตลอดเวลาที่เรียกว่า “สงครามเย็น” คือในระหว่างเวลาที่ “สงครามร้อน” ที่ใช้สาตราวุธยังไม่เกิดขึ้น และดำเนินรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อสงครามร้อนเกิดขึ้น และภายหลังที่สงครามร้อนได้ระงับไปแล้ว
ชาติที่มีความสำนึกถึงความสำคัญแห่งสงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง สงครามจิตวิทยา ที่มีบทบาทสำคัญจึงไม่หนักไปแต่หวังเอาชัยชนะโดยสงครามสาตราวุธอย่างเดียว เราจะเห็นได้ว่าบางชาติที่แม้เปลือกนอกแสดงว่าเป็นเอกราช แต่ในทางพฤตินัยตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ โดยแพ้สงครามเย็นอย่างง่ายดาย”
นายปรีดียังวิจารณ์การตั้งฐานทัพในประเทศอื่นของประเทศมหาอำนาจผ่านแนวคิด Extra-Territoriality หรือสภาพนอกอาณาเขตไว้อย่างละเอียดว่า
“...เมื่อแพ้ทางเศรษฐกิจแล้ว แล้วก็ยอมแพ้ทางการเมืองโดยยอมทำตามนโยบายของต่างชาติผู้เป็นนาย และยอมแพ้ทางทัศนะคติธรรมที่เป็นหลักนำในการปฏิบัติทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร การศาล การศุลกากร โดยยอมให้ทหารต่างด้าวเข้ามาตั้งฐานทัพและให้มีสิทธิพิเศษที่ทหารต่างด้าวมีอำนาจ “สภาพนอกอาณาเขต” ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Extra-Territoriality” คือทหารต่างด้าวทำผิดในประเทศฐานทัพโดยไม่ต้องขึ้นศาลของประเทศนั้น และมีสิทธิพิเศษในการนำพัสดุของกินของใช้เข้ามาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ในทางพฤตินัยก็คือ ประเทศที่ยอมแพ้สงครามเย็นเช่นนั้นเป็นอาณานิคมของฝ่ายชนะสงครามเย็นที่เป็นเจ้าอาณานิคมสมัยใหม่ จึงขอให้พลเมืองไทยผู้รักชาติพิจารณาตนเองว่า ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราถูกนำไปแพ้สงครามเย็นดังกล่าวนั้น หรือไม่และเราควรปรับปรุงเครื่องมือในการทำสงครามเย็นทั้งหลายนั้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขความเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามเย็น ให้เราได้เอกราชสมบูรณ์ทุกประการหรือไม่”
ส่วนการวิเคราะห์เรื่องสงครามแนวใหม่ของนายปรีดีคือ ประชาชนสำคัญไม่ต่างจากทหารในการสงครามโดยมองว่าเป็น “สงครามประชาชน” อันหมายความถึงประชาชนสามารถทำสงครามโดยเรียกร้องต่อต้านด้วยตนเอง และควรมีการหารือกับพลเมืองไทยมิใช่ให้อำนาจการสงครามอยู่กับทหารฝ่ายเดียว ดังข้อความต่อไปนี้
“ถ้าสงครามในยุคนี้ที่คู่สงคราม ใช้สาตราวุธที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งกว่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วพลเมืองก็จะต้องตายหรือบาดเจ็บยิ่งกว่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อสงครามเย็นเกิดขึ้นก็ดี สงครามร้อนที่ใช้สาตราวุธก็ดี พลเมืองชายหญิงก็ต้องถูกกระทบกระเทือนจากสงครามทุกอย่าง โดยทางพฤตินัยนั้นพลเมืองทุกคนอยู่ในสนามรบ
สงครามยุคปัจจุบันนี้จึงเป็นสงครามประชาชนที่จะต้องดำเนินโดยประชาชนทั่วประเทศ มิใช่สงครามที่ทำโดยทหารประจำการเท่านั้น รัฐบาลของประเทศใดเข้าใจลักษณะของสงครามประชาชนก็สามารถนำชาติให้ได้เปรียบในกรณีที่จำเป็นต้องทำสงครามบางประเทศได้มีคติธรรมมาตั้งแต่โบราณกาลว่า ทหารเปรียบเหมือนปลา ประชาชนเปรียบเสมือนน้ำ ปลาไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงปลาก็ตาย ดังนั้นนายทหารชั้นสูงเพียงไม่กี่คนจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะผูกขาดเรื่องที่ตนพูดด้วยถ้อยคำว่า “ทางทหาร” ไว้เป็นของตน แล้วอาศัยทหารประจำการทั้งปวงเป็นเครื่องมือค้ำจุนอภิสิทธิ์ของตน”
นายปรีดียังได้อธิบายเรื่องปัญหาสงครามในยุคปรมาณูช่วงทศวรรษ 2510 ผ่านบริบทของสงครามเย็น และเน้นวิพากษ์จักรวรรดินิยมอเมริกันและรัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร รวมถึงจอมพล ประภาส จารุเสถียร ที่ได้ปฏิบัติตามคำเรียกร้องของจักรวรรดินิยมอเมริกันในการส่งทหารไปสมรภูมิเวียดนามและลาว นายปรีดียังติดตามอ่านข่าวสงครามเวียดนามและชี้ให้เห็นข่าวในบริบทนั้นว่า สหรัฐอเมริกาอาจจะยกระดับสงครามโดยการใช้อาวุธนิวเคลียร์
“ภายหลังที่จักรวรรดินิยมอเมริกันไม่สามารถเอาชนะราษฎรเวียดนามโดยการใช้อาวุธนอกมาตรฐานคือ อาวุธเคมีและอาวุธเชื้อโรคชีววิทยาแล้ว พวกเขาดำริจะยกระดับสงครามให้สูงขึ้นถึงขั้นสูงสุด โดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ (ปรมาณู) ตามที่มีข่าวแพร่ออกทางหนังสือพิมพ์และนิตยสารอเมริกัน
ครั้นแล้ว เราก็ได้ยินข่าวแพร่ออกมาจากฝ่ายโซเวียตว่าถ้าฝ่ายจักรวรรดินิยมอเมริกันใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อราษฎรเวียดนามไซร้ ฝ่ายโซเวียตก็จะให้อาวุธนิวเคลียร์แก่ราษฎรเวียดนามเพื่อใช้โต้ตอบจักรวรรดินิยมอเมริกัน”
ที่สำคัญคือนายปรีดีได้การกล่าวถึงองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของกำเนิดและชนิดของนิวเคลียร์ไว้ค่อนข้างละเอียดว่า
“ชนิดต่างๆ ของอาวุธนิวเคลียร์ที่พัฒนาจนถึง ค.ศ. 1967มีดังต่อไปนี้
ก. ระเบิดปรมาณูลูกแรกทดลองเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 1945 ที่อาลาโมกอร์โดในมลรัฐนิวเม็กซิโกของ ส.ร.อ. เป็นชนิดแยก (FISSON) ปรมาณูมีพลังเท่ากับดินระเบิด ที.เอ็น.ที. 20,000 ตัน หอคอยเหล็กซึ่งใช้เป็นที่ทดลองนั้นได้ถูกทำลายเป็นผุยผงโดยสิ้นเชิง มีความร้อนบัลลัยทำให้ทรายในทะเลทรายถูกความร้อนเผากลายเป็นก้อนแก้วในรัศมี 800 หลา มีแสงส่องรุ่งโรจน์ในรัศมี 10 ไมล์
ข. วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1944 เครื่องบินอเมริกันได้ทิ้งลูกระเบิดปรมาณูลงยังเมืองฮิโรชิมา มีพลังเท่ากับ 20,000 ตัน ที.เอ็น.ที. ได้ทำลายกลางเมืองนั้นโดยฉับพลันในบริเวณ 4 ตารางไมล์ คนตายทันที 66,000 คน และบาดเจ็บกับถูกกัมมันตภาพรังษีตายต่อมาอีก 69,000 คน ร้อยละ 67 ของอาคารแห่งเมืองนั้นถูกทำลายหรือเสียหายอย่างหนัก
ต่อมาอีก ๓ วัน คือวันที่ 9สิงหาคม 1945 เครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดปรมาณูลงยังเมืองนางาซากิ จำนวนคนตายทันที 39,000 คน และบาดเจ็บถูกกัมมันตภาพรังษีอีก 25,000 คน
ค. เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1951 ส.ร.อ. ได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ชนิดใหม่เรียกว่า ลูกระเบิดไฮโดรเจ็น หรือลูกระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์อันเป็นชนิดผนึกรวม (FUSION) ซึ่งต่างกับชนิดแยก (FISSON) ชนิดใหม่นี้มีพลังมากกว่าชนิดที่ทิ้งลงยังฮิโรชิมาและนางาซากิหลายเท่า
(1) ขนาดที่ทดลองครั้งแรกนั้นมีพลัง 5 เมกาตัน หรือเท่ากับ 5ล้านตันดินระเบิด ที.เอ็น.ที. มีพลังทำลายบริเวณ 150 ตารางไมล์ราบคาบทันที และก่อให้เกิดความร้อนเป็นบัลลัยไฟในบริเวณ 800 ตารางไมล์
(2) วันที่ 1พฤศจิกายน 1952 ได้ทดลองที่มหาสมุทรแปซิฟิคด้วยขนาดมีพลัง 5 ถึง 7 เมกาตัน หรือเท่ากับ 5 ล้านตันดินระเบิด ที.เอ็น.ที. ได้ทำให้เกาะที่ถูกระเบิดนั้นหายสูญไปและทำให้เกิดหลุมลึก 175 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ไมล์ และก่อให้เกิดความร้อนบัลลัยกับกัมมันภาพรังษีในบริเวณ 1,000 ตารางไมล์
(3) มีนาคม ค.ศ. 1954 ได้ทดลองขนาด 12 ถึง 14 เมกาตัน ซึ่งมีอานุภาพมากกว่าชนิด 5 เมกาตันตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นมาก เรือหาปลาญี่ปุ่นที่ทำการอยู่ห่างจากศูนย์กลางทดลอง 90 ไมล์ นั้นได้ถูกเถ้าถ่านของกัมมันตภาพรังษีทําให้ลูกเรือญี่ปุ่นทั้ง 23 คนต้องบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา ส่วนอีกคนหนึ่งตายทันที
(4) ฝ่าย ส.ร.อ. และโซเวียตแข่งขันกันทดลองระเบิดไฮโดรเจ็นขนาดมีพลังมากขึ้นทุกที ถ้าคิดเพียง ค.ศ. 1961 มีขนาด 25 เมกาตันก็มีพลังมากกว่าลูกระเบิดที่ลงยังฮิโรชิมา 1,200 เท่า ลูกระเบิดขนาดนี้เพียงลูกเดียวสามารถทำลายมลรัฐของ ส.ร.อ. ให้พินาศแหลกลาญได้และถ้าใช้ขนาดนี้ 2,000 ลูกก็สามารถทำลาย ส.ร.อ. ทั้งประเทศได้
(5) ลูกระเบิดปรมาณู ซึ่งจีนทดลองลูกแรก เมื่อตุลาคม ค.ศ. 1965 แล้วพัฒนาลูกระเบิดไฮโดรเจ็นได้โดยเร็วกว่าที่ฝ่ายอื่นๆ ทำนั้น มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับ ส.ร.อ. และโซเวียต
ง. จรวดหัวนิวเคลียร์ขนาดต่างๆ สำหรับยิงในระยะใกล้เป็นอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี และระยะไกลเกินกว่า 6 พันไมล์ ที่เรียกว่า จรวดข้ามทวีปเป็นอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์
จ. กระสุนปืนใหญ่หัวปรมาณูยิงจากปืนใหญ่ทำเมื่อ ค.ศ. 1955 ขนาด 280 ม.ม. ต่อมาใน ค.ศ. 1957 มีขนาดเล็กลงมา 216 ม.ม. และมีข่าวต่อมาว่าทำขนาดเล็กลงอีกสำหรับยิงจากรถถังขนาดหนักเป็นอาวุธปรมาณูทางยุทธวิธี
นอกจากอาวุธมาตรฐานแล้ว อาวุธเคมี, อาวุธชีววิทยา, อาวุธรังษีวิทยา ฝ่ายนับถือธรรมะระหว่างประเทศเห็นว่าเป็นสาตราวุธนอกมาตรฐาน แต่ฝ่ายจักรวรรดินิยมอเมริกันถือว่าเป็นอาวุธมาตรฐาน
ก. การทำสงครามโดยการใช้อาวุธเคมีนั้นเรียกว่า “สงครามเคมี” (Chemical Warfare) อักษรย่อ “CW” สัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899 ได้ห้ามมิให้ผู้ลงนามในสัญญานั้นใช้แก๊สพิษ ในการทำสงคราม แต่ ส.ร.อ. ไม่ยอมลงนามในสัญญานั้น โดยถือว่าการใช้เคมีทำสงครามไม่ผิดศีลธรรม ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมันเป็นผู้ลงมือใช้แก๊สพิษก่อน ต่อมาสัมพันธมิตรสมัยนั้นก็ใช้โต้ตอบ และต่างฝ่ายต่างพัฒนาแก๊สพิษขึ้นจนหน้ากากไม่อาจป้องกันได้ ครั้นแล้วกระสุนปืนใหญ่ที่ใช้ยิงกันนั้นเป็นกระสุนแก๊สพิษร้อยละ 50 ทหารฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกัน ถูกแก๊สพิษเฉลี่ยประมาณร้อยละ 25 แต่เฉพาะทหารอเมริกันเฉลี่ย ร้อยละ 27 อิตาลีได้ใช้แก๊สพิษแก่อิธิโอเปียใน ค.ศ. 1935 ต่อมาในปัจจุบันอาวุธเคมีได้พัฒนามาก มีทั้งชนิดทำอันตรายแก่ คน สัตว์ พืช และใช้เป็นควันกำบัง ใช้เผาสิ่งต่างๆ เช่นที่ฝ่ายจักรวรรดินิยมอเมริกันใช้อยู่ในเวียดนาม ยกเว้นแก๊สพิษทำลายคนยังไม่ปรากฏว่านำไปใช้แต่ปรากฏจากข่าวว่าอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนอเมริกัน ได้ทำการสอบสวนฝ่ายทหารอเมริกันเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากฝ่ายทหารได้ทดลองพ่นแก๊สพิษในระดับสูง ทำให้แกะ 6,000 ตัวในทุ่งหญ้ามลรัฐอูตาตาย และมีการขนย้ายถังแก๊สพิษโดยทางรถไฟซึ่งใช้รถตู้ 170 หลัง
ข. การทำสงครามโดยการใช้เชื้อโรคเรียกว่า “สงครามชีววิทยา” (Biological Warfare) อักษรย่อ “BW” ปรากฏว่าฝ่ายจักรวรรดินิยมอเมริกันใช้ในสงครามเกาหลี และมีข่าวว่าใช้ในสงครามเวียดนาม แพร่เชื้อโรคให้แก่คนและสัตว์เลี้ยงและพืช
ค. การทำสงครามโดยใช้รังษีเรียกว่า “สงครามรังษีวิทยา” (Radiological Warfare) อักษรย่อ “RW” ซึ่งเอกสารฝ่ายตะวันตกได้อ้างถึง แต่ยังไม่รู้ว่าใช้รังษีอย่างใดบ้าง ซึ่งอาจเป็นรังษีอื่นนอกจากกัมมันตภาพรังษีอันเป็นผลิตผลพลอยได้ของอาวุธนิวเคลียร์
อาวุธทั้ง 3 อย่างดังกล่าวแล้วถ้าเรียกรวมกัน ใช้อักษรย่อว่า “CBR Warfare” ถ้าจะถ่ายทอดเป็นคำไทยก็คือ “สงคราม ค.ช.ร.”
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2507) ประเทศจีนได้ทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรกสำเร็จแล้วแถลงว่า การทดลองนั้นเป็นการทำลายการผูกขาดของมหาอำนาจอื่นที่ทำอาวุธนิวเคลียร์ไว้ได้เพียงพวกของตนเท่านั้น ฉะนั้น เพื่อสันติภาพรัฐบาลจีนจึงเสนอให้มีการประชุมสุดยอดของทุกๆ ประเทศในโลกเพื่ออภิปรายการห้ามใช้เด็ดขาดและการทำลายสิ้นเชิงซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อเสนอของจีนเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์รวมทั้งมวลราษฎรไทย จึงได้มีจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลสนับสนุนข้อเสนอของจีนเพราะเห็นว่าเป็นวิถีทางเดียวที่จะป้องกันมิให้การใช้อาวุธล้างผลาญเช่นนี้ในสงคราม และเพื่อให้ประเทศทั้งหลายใช้นิวเคลียร์เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ในทางสันติ”
จะเห็นได้ว่านายปรีดีค้นคว้าเรื่องนิวเคลียร์ หรือปรมาณูอย่างละเอียดทั้งในมิติประวัติศาสตร์ การต่างประเทศ และประวัติศาสตร์ของอาวุธสงคราม สอดรับกับที่นายจริย์วัฒน์ ได้เล่าถึงการที่นายปรีดีชอบเข้าร้านหนังสือเป็นกิจวัตรและสนใจหนังสือวิทยาศาสตร์กับนิวเคลียร์เป็นอย่างมากในช่วง พ.ศ. 2516-2517
จากปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์) ของปรีดี พนมยงค์ ถึง Oppenheimer ของคริสโตเฟอร์ โนแลน
ความรับรู้เรื่องผู้คิดค้นนิวเคลียร์ปรมาณูในสังคมไทย เริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2490 สมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยในยุคนี้มีการกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยระเบิดนิวเคียร์คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์และต่อมาประเทศไทยมีพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็ได้มีโครงการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติและการจัดสรรงบประมาณ ภายใต้รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ โดยมีสหรัฐอเมริกาได้ให้งบประมาณช่วยเหลือเมื่อ พ.ศ. 2503[2]
“การพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (Atomic Energy for Peaceful Purpose)
ก. คำอธิบายโครงการ
เป็นการดำเนินงานต่อจากปีก่อน ซึ่งเริ่มแต่ 2498 ประมาณจะสิ้นสุดในปี 2506 โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือจัดตั้งหน่วยค้นคว้าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูที่จะใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติโดยให้เครื่องอุปกรณ์และช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้จะได้ดำเนินการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ห้องทดลองให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมให้แก่กรมวิทยาศาสตร์ในเรื่องรังษีปรมาณู และให้ Cobalt แก่โรงพยาบาลศิริราชใช้รักษาโรคด้วยรังษี
ข. งานที่ทำแล้ว
ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไทย 35 คน ได้ศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานและใช้พลังปรมาณูเพื่อสันติ เมื่อผู้ไปศึกษาเหล่านี้ได้กลับมาจะได้ทำการวิเคราะห์และเป็นอาจารย์สอนในคณะวิทยาศาสตร์และในคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลศิริราชได้รับ Cobalt-60 เพื่อใช้ในการรักษาโรคด้วยรังษี
ค. งานที่กำลังทำ
จัดส่งเจ้าหน้าที่ไทยไปศึกษาในสหรัฐอีก 6 คน
ง. งานที่จะทำต่อไป
คงดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไทยต่อไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ
จ. ค่าใช้จ่ายปีก่อนๆ
ปี 2498 กำหนดไว้ 316,000 บาท
ปี 2499 ” 286,000 บาท
ปี 2500 ” 580,000 บาท
ปี 2501 ” 1,880,000 บาท
ปี 2502 ” 872,000 บาท
ปี 2503 ” 1,186,000 บาท
รวม 5,300,000 บาท
ฉ. ค่าใช้จ่ายปี 2503
เป็นค่าใช้จ่ายเจ้าหน้าที่ไทยไปศึกษาต่างประเทศ 1,040,000 บาท ทั้งนี้แยกได้เป็น :-
- เงินที่สหรัฐช่วยเหลือ 500,000 บาท
- เงินที่รัฐบาลไทยและสหรัฐออกร่วมกัน 240,000 บาท
- เงินที่รัฐบาลไทยออก 300,000 บาท
รวม 1,040,000 บาท”
หากเรื่องราวของจูเลียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) ในภาพยนตร์ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ดัดแปลงมาจากหนังสือเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์เรื่อง American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer จนกลายมาเป็นภาพยนตร์ความยาว 180 นาที นั้นมีเนื้อหาเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสิ้นสุดลงช่วงต้นของยุคสงครามเย็น
ชีวประวัติย่อของออพเพนไฮเมอร์ที่ได้รับการเผยแพร่ทางสาธารณะระบุตรงกันว่าเขาเกิดที่นิวยอร์กเมื่อ ค.ศ. 1904 ในครอบครัวชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่อพยพมาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าออพเพนไฮเมอร์เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่กลับขี้อาย ค่อนข้างผอมจึงถูกเพื่อนรังแกบ่อยครั้ง จนทำให้เขาหลีกไปขลุกตัวอยู่กับการเรียนกับการอ่านหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ และยังชอบภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รวมถึงภาษาอื่นๆ ออพเพนไฮเมอร์เรียนเก่งมากจนสามารถเรียนเกรด 3-4 จบได้ภายใน 1 ปี แล้วข้ามไปเรียนเกรด 8 กระทั่งฉายแววทางวิทยาศาสตร์ในวัยเพียง 12 ปี เมื่อ New York Mineralogical Club หรือสมาคมที่ศึกษาเกี่ยวกับแร่วิทยาเชิญไปบรรยายแล้วเพิ่งทราบว่าเขาไม่ใช่ผู้ใหญ่
ต่อมาออพเพนไฮเมอร์ได้เข้าศึกษาที่ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งมีเพอร์ซีย์ บริดจ์แมน (Percy W. Bridgman) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลเป็นอาจารย์ผู้สอนแล้วจึงเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ประเทศสหราชอาณาจักร และไปจบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (University of Göttingen) ประเทศเยอรมนี ในขณะมีอายุเพียง 23 ปี สมัยที่ออพเพนไฮเมอร์เรียนที่ฮาร์วาร์ดเขาลงเรียนวิชาหลากหลาย ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญาที่ส่งผลต่อตัวตน ความคิดทำให้มีความสนใจหลายศาสตร์และมีบุคลิกภาพซับซ้อน ส่วนการเรียนที่เคมบริดจ์เขากลับไม่ถูกกับผู้สอนคือแพทริก แบล็กเก็ตต์ ถึงกับได้ฉีดสารเคมีอันตรายในแอปเปิลเพื่อหวังจะให้อาจารย์กินแต่ไม่สำเร็จ
บุคลิกและนิสัยของออพเพนไฮเมอร์นั้น ภายนอกเขาเป็นชายที่สูบบุหรี่จัด หมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองสนใจ ภายในจะมีลักษณะซึมเศร้าบางช่วงเวลาหลังจบการศึกษาแล้ว ออพเพนไฮเมอร์ได้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) โดยร่วมงานกับนักฟิสิกส์ชื่อดังมากมาย และยังศึกษาปรัชญากับตำราสังคมการเมือง โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออกและมาร์กซิสม์
ความสามารถที่โดดเด่นอีกอย่างของออพเพนไฮเมอร์คือ ความสามารถทางภาษานอกจากภาษาอังกฤษแล้ว เขายังสื่อสารเข้าใจได้ถึง 6 ภาษา ได้แก่ กรีก ละติน ฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ และสันสกฤต ทั้งสนใจศึกษาคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและความคิดมาร์กซิสม์รวมถึงได้ปรากฏกายในการสังสรรค์พบปะของเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์ในหลายครั้ง ซึ่งเหตุการณ์นี้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์และยังเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้โจมตีเพื่อกำจัดออพเพนไฮเมอร์อีกด้วย
ความผกผันของชีวิตออพเพนไฮเมอร์นั้นเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนายพลเลสลี โกรฟส์ (Leslie Groves) ยื่นข้อเสนอให้เขาคุมโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) เพื่อคิดค้นและพัฒนาอาวุธปฏิกิริยาลูกโซ่ให้สำเร็จก่อนประเทศเยอรมนี ซึ่งที่นั่นมีแวร์เนอร์ ไฮเซ็นแบร์ก (Werner Heisenberg) นักวิทยาศาสตร์เพื่อนเก่าสมัยมหาลัยเป็นกำลังสำคัญอยู่ สาเหตุที่เลสลี โกรฟส์ เลือกออพเพนไฮเมอร์มาคุมโปรเจกต์แมนฮัตตัน (Manhattan Project) นอกจากความฉลาดและมีความรู้กว้างขวางแล้ว สิ่งสำคัญที่ออพเพนไฮเมอร์มีและแตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ คือทักษะการประนีประนอมกับทุกฝ่าย ทำงานเป็นทีมได้ดี และสามารถเชื่อมโยงผู้คนจำนวนมากเข้าไว้ด้วยกันได้ รวมทั้งยังรู้จักคนหลายกลุ่ม
โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) เริ่มต้นจากทุนสนับสนุนเพียง 6,000 ดอลลาร์และมีคนเพียงไม่กี่คน จนขยับขยายกลายเป็นโครงการขนาดใหญ่ภายในเวลา 2 ปี มีเงินทุนสนับสนุนประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์ และมีการจ้างแรงงานในโครงการนี้นับแสนอัตรา โดยสถานที่ตั้งของโครงการทดลองปรมาณูนี้เป็นสถานที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ คือลอส อลามอส (Los Alamos) ตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการประสานที่โดดเด่นของออพเพนไฮเมอร์ทำให้โครงการนี้สามารถรวบรวมนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะจำนวนมากเข้ามาร่วมทีมได้ อาทิ ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) , ฮันส์ เบธ (Hans Bethe) , เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) , เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ (Ernest Lawrence) และลีโอ ซีลาร์ด (Leo Szilard) โดยทำงานแบบปกปิดเป็นความลับนานกว่าสองปี ไม่ให้ใครทราบที่อยู่และไม่มีการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง คล้ายดังเป็นผู้สาบสูญและทุกคนจะมีบัตรประจำตัวตามลักษณะงาน คือบัตรสีขาวเป็นของนักวิทยาศาสตร์ ส่วนบัตรสีน้ำเงินจะเป็นของคนทำงานในส่วนอื่น
16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 เวลา 05.30 น. ในพื้นที่ซึ่งห่างจากลอส อลามอส ประมาณ 300 กว่ากิโลเมตร อะตอมมิกบอมบ์ลูกแรกของโลกที่ทำสำเร็จก็มีการทดสอบครั้งแรกโดยเรียกว่า Trinity Test ออพเพนไฮเมอร์จึงเสมือนเป็นเทพโพรมีธีอุส (Prometheus) เทพผู้นำไฟมาให้แก่มนุษย์คืออาวุธนิวเคลียร์หรือปรมาณู
ภายหลังจากการทดสอบระเบิดปรมาณูไม่กี่วันในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ระเบิดนิวเคลียร์ที่ชื่อว่า ลิตเติลบอยและแฟตแมนก็ถูกทิ้งลงสู่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิทำให้ชาวญี่ปุ่นประมาณ 100,000-200,000 คนเสียชีวิตและผู้ที่มีชีวิตรอดก็มีอาการสาหัสและไม่อยู่ในสภาพปกติหรือมีสภาพพิการ
นิวเคลียร์สองลูกส่งผลให้สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงอย่างเป็นทางการโดยการยอมยกธงของฝ่ายอักษะโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและไฮเซ็นแบร์ก ผู้ทดลองของฝ่ายนาซีเยอรมันพ่ายแพ้ต่อออพเพนไฮเมอร์เพื่อนเก่าอย่างราบคาบ โดยสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะ และก่อกำเนิดการขนานนามออพเพนไฮเมอร์ว่าเป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณูจากนิตยสาร TIME ทว่าชีวิตของเขากลับเข้าสู่เกมการเมืองของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ผลักไสให้ออพเพนไฮเมอร์ต้องขึ้นศาลเสมือนเป็นอาชญากรสงครามเสียเอง ประกอบกับข้อหาสำคัญคือ การเข้าไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนท้ายที่สุดทำให้เขาซึมเศร้าจนหลีกหนีจากสังคมไปใช้ชีวิตที่เกาะห่างไกลกับครอบครัวในบั้นปลาย
ไม่น่าเชื่อว่าจุดบรรจบของฉากชีวิตระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ และออพเพนไฮเมอร์กลับมีส่วนคล้ายคลึงกันคือ การถูกเกมการเมืองของรัฐให้ต้องขึ้นศาลจนนำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองและการเนรเทศตนเองจากสังคมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั่นคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงไม่นาน
หมายเหตุ :
คงอักขรตัวสะกดและการเว้นวรรคตามต้นฉบับ และใส่ภาพประกอบจากราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สถาบันปรีดี พนมยงค์ และหอสมุดปรีดี พนมยงค์
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา. “กระทู้ถามที่ ว. ๔๘/๒๔๙๘ ของนายน้อม อุปรมัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ,” ๑๒ ก.ค. ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๕๑ ง, น. ๑๕๕๑.
- ราชกิจจานุเบกษา. “กระทู้ถามที่ ส. ๓๔/๒๕๐๐ ของนายทนง นิยมะสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนนทบุรี เรื่อง ระเบิดปรมาณูหรือระเบิดไฮโดรเย็น,” ๒๔ ก.ย. ๒๕๐๐, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๘๐ ง, น. ๒๓๕๑.
- ราชกิจจานุเบกษา. “ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ....,” ๒๘ มี.ค. ๒๕๐๔, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๒๗ ง, น. ๘๒๐.
- ราชกิจจานุเบกษา. “พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๐๔,” ๒๕ เม.ย. ๒๕๐๔, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๓๖ ก, น. ๔๒๓.
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ,” ๒๐ มิ.ย. ๒๕๐๔, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๕๐ ง, น. ๑๔๖๔.
หนังสือ :
- ดุษฎี พนมยงค์, “ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต ๒๑ ปี ในจีน,” กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.
- ดิเรก ชัยนาม, “ไทยกับสงครามโลก ครั้งที่ 2,” (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, . 2549.
- แถมสุข นุ่มนนท์, “เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง,” (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ: สายธาร, 2544.
- ทอมโชน, “คริสโตเฟอร์ โนแลน ความลับในภาพเคลื่อนไหว,” แปลโดย พิมพ์ชนก พุกสุข และชาญชนะ หอมทรัพย์, กรุงเทพฯ: บิบลิโอ, 2566.
- ปรีดี พนมยงค์, “ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์),” กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2517.
- ปรีดี พนมยงค์, “ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน,” กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2525.
- ปรีดี พนมยงค์, “โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์,” กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558.
- วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, “เสรีไทยอุดมการณ์ที่ไม่ตาย : บทบันทึกความเป็นมาและบทเรียนขบวนการเสรีไทยต่อสังคมไทย,” กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ (1984), 2546.
- สำนักงบประมาณ, “งบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2505 เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 4 รายงานการคลัง,” พระนคร: การพิมพ์พระนคร, 2504.
- Kai Bird, Martin J. Sherwin, “American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer,” NewYork: Vintage Books, 2006.
วารสาร :
- รัฐสภาสาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 22 (14 พ.ค.2497)
- รัฐสภาสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 18 (14 เม.ย.2498)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กษิดิศ อนันทนาธร (30 มีนาคม 2563). “รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น: คุยกับ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เรื่องอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘คุณลุง’,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566.
- ก้อง ฤทธิ์ดี (23 กรกฎาคม 2566). “Oppenheimer,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566.
- โจนี่ วิวัฒนานนท์ (26 กรกฎาคม 2566). “Oppenheimer,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566.
- ประวิทย์ แต่งอักษร (24 กรกฎาคม 2566). “Oppenheimer (2023) ชายผู้เด็ดแอปเปิ้ลต้องห้ามจากสวนเอเดนของพระผู้เป็นเจ้า,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566.
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (22 มกราคม 2564). “ไทย-ญี่ปุ่น ผูกมั่นพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 สิงหาคม 2564). “ประกาศสันติภาพ โดย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์,” สืบค้นจาก [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566.
- สมาชิกหมายเลข 6883994 (18 กรกฎาคม 2566). “เกร็ดความรู้เล็กน้อยก่อนชมภาพยนตร์ “Oppenheimer”,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566.
- The MATTER (20 กรกฎาคม 2566). “ชวนรู้จักบิดาแห่งระเบิดปรมาณูก่อนดู ‘Oppenheimer’ หนังใหม่ของคริสโตเฟอร์ โนแลน,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566.
[1] กษิดิศ อนันทนาธร (30 มีนาคม 2563). “รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น: คุยกับ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เรื่องอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘คุณลุง’,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566.
[2] สำนักงบประมาณ, “งบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2505 เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 4 รายงานการคลัง,” พระนคร: การพิมพ์พระนคร, 2504. น. 211-212.
- นิวเคลียร์
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- ปรีดี พนมยงค์
- Oppenheimer
- คริสโตเฟอร์ โนแลน
- ประวัติศาสตร์การเมือง
- ประวัติศาสตร์สากล
- ปรมาณู
- สงคราม
- สันติภาพ
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- วันสันติภาพไทย
- ทวี บุณยเกตุ
- จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
- ปราโมทย์ พึ่งสุนทร
- ถนอม กิตติขจร
- ประภาส จารุเสถียร
- แปลก พิบูลสงคราม
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- โครงการแมนแฮตตัน