ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ไทย-ญี่ปุ่น ผูกมั่นพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2

22
มกราคม
2564

ข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่ได้ทำกันในตอนสายของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ที่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย โดยญี่ปุ่นจะเคารพในเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทยนั้น มีผลอยู่เพียง 3 วันเท่านั้น เพราะในวันที่ 11 ธันวาคม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้แจ้งต่อคณะรัฐมนตรีว่า ญี่ปุ่นได้เสนอให้ไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อญี่ปุ่นจะได้ไม่ต้องมีความกังวลข้างหลัง ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นกำลังทำการรบอยู่เบื้องหน้า

ในขณะนั้นทหารญี่ปุ่นจำนวนนับแสนนายได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไทยปฏิเสธไม่ยอมเป็นพันธมิตร ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ญี่ปุ่นจะต้องเข้ายึดครองไทย และปลดอาวุธกองทัพไทย ดังนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงแสดงความคิดเห็นว่า ไทยคงจะไม่มีทางเลือก นอกจากจะยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว แล้วไปคิดอ่านแก้ไขกันต่อไปในภายหน้า

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอให้พยายามยับยั้งมิให้ประเทศไทยต้องถลำลึกในการร่วมมือกับญี่ปุ่นยิ่งไปกว่าข้อตกลงเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ทั้งนี้เพราะนายปรีดีมีความมั่นใจว่า ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีความได้เปรียบในระยะแรกของสงคราม แต่ในที่สุดก็ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะศักยภาพในทางเทคโนโลยี ทรัพยากร และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่อาจเทียบกับสหรัฐอเมริกาได้ นายปรีดีเคยเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นและอเมริกามาแล้ว อีกทั้งได้ติดตามศึกษาสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด

ความจริงจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งร่วมเป็นร่วมตายมาด้วยกันในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และขอพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475 มีความคิดเห็นตรงกันว่า เพื่อความอยู่รอดของชาติ ประเทศไทยจะต้องอยู่ข้างประเทศที่จะชนะสงคราม ความแตกต่างมีเพียงว่า นายปรีดีมองเห็นชัดว่าญี่ปุ่นจะต้องแพ้สงครามอย่างแน่นอน ในขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ และเห็นว่าถึงอย่างไรไทยก็ควรที่จะถนอมกำลังเอาไว้ใช้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องไม่ขัดใจญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้น มีทหารอยู่ในประเทศไทยจำนวนนับแสนนาย

เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่เห็นทางเลือกเป็นอย่างอื่น ในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ก็ได้มีการลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ต่อหน้าพระแก้วมรกตในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ทั้งประเทศจะเป็นพันธมิตรกันในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร อีกทั้งมีพิธีสารลับต่อท้ายสัญญาว่า ญี่ปุ่นจะช่วยให้ไทยได้รับดินแดนคืนจากที่เคยเสียไป และไทยจะช่วยญี่ปุ่นทำสงครามเพื่อ “สถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก”

 

พิธีลงนามกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
พิธีลงนามกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

 

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เสนอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการให้นายปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง ขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2484 แต่นายปรีดีก็ยังอยู่ในตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต่อไป

กติกาสัญญาพันธไมตรีดังกล่าวนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่มีความตึงเครียดมาตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม ค่อยผ่อนคลายลง โดยญี่ปุ่นไม่มีความระแวงไทยอีกต่อไป และถือว่าไทยเป็นพันธมิตรที่ญี่ปุ่นสามารถจะพึ่งพาได้ในหลายๆ ด้าน ญี่ปุ่นได้ใช้ความระมัดระวังไม่กระทำการใดๆ ที่จะกระทบกระเทือนสัมพันธไมตรี

ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยเห็นว่า การนั้นจะช่วยเสริมฐานะของไทยให้มีศักดิ์ศรีและมั่นคงยิ่งขึ้น ในฐานะชาติพันธมิตรที่ร่วมทำสงครามกับญี่ปุ่น การมีสิทธิเข้าไปควบคุมดูแลทรัพย์สินของอังกฤษและสหรัฐฯ มิให้ตกไปอยู่ในความครอบครองของญี่ปุ่น การรับตัวบุคคลพลเรือนสัญชาติอังกฤษและอเมริกามาอารักขาดูแล และสิทธิในการแลกเปลี่ยนเชลย ซึ่งสามารถนำคนไทยในอังกฤษและสหรัฐฯ กลับคืนสู่ประเทศไทยได้ ฯลฯ รัฐบาลไทยในขณะนั้นดูเหมือนจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่า ญี่ปุ่นจะชนะสงครามเพราะกำลังพิชิตศึกในทุกสมรภูมิ

อังกฤษและประเทศในเครือจักรภพอังกฤษบางประเทศได้ประกาศสงครามตอบประเทศไทย ในขณะที่สหรัฐอเมริกามิได้กระทำการตอบโต้ เพราะถือว่าประเทศไทยในขณะนั้นเป็นดินแดนภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม อังกฤษ สหรัฐฯ ตลอดจนจีนซึ่งเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและสหรัฐฯ ต่างก็มีความเชื่อว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบาลไทยเป็นพวกเดียวกับญี่ปุ่น โดยไม่ต้องสงสัย

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการทำสงครามเพียงระยะครึ่งปีแรก เพราะภายหลัง “ยุทธนาวีที่มิดเวย์” ในเดือนพฤษภาคม 2485 ญี่ปุ่นก็หมดโอกาสที่จะเป็นเจ้าทะเลและเจ้าอากาศในมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการรบไกลจากประเทศหลายพันกิโลเมตรก็ประสบปัญหาการส่งกำลังบำรุง ดังนั้น การรุกของกองทัพญี่ปุ่นจึงหยุดชะงัก และจากนั้นก็ค่อยๆ ถอยร่น ขณะที่เป็นฝ่ายรับการโจมตีอย่างหนักหน่วงจากฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีอังกฤษและสหรัฐฯ เป็นแกนนำ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โอกาสที่ญี่ปุ่นจะชนะสงครามได้หมดไปแล้ว เหลือแต่ความพ่ายแพ้จะมาถึงเมื่อใดเท่านั้น

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งให้กองทัพพายัพส่วนหน้าซึ่งยึดครองสหรัฐไทยใหญ่ที่อยู่ติดกับพรมแดนจีนที่ยูนนาน พยายามติดต่อกับกองทัพจีนซึ่งตั้งมั่นเผชิญหน้ากันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ เพื่อทำความเข้าใจว่า กองทัพไทยจะร่วมมือกับกองทัพสัมพันธมิตรในการขับไล่กองทัพญี่ปุ่นจากประเทศไทย การติดต่อกับทางจีนโดยกองทัพพายัพตามคำสั่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2486 ซึ่งก็ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันในระดับของหน่วยทหารซึ่งตั้งมั่นเผชิญหน้ากันอยู่ โดยไม่มีการสู้รบกันหากไม่มีผลใดๆ ในทางการเมือง

ขณะเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้พยายามปลีกตัวออกห่างจากญี่ปุ่นเท่าที่จะพึงกระทำได้ ในขณะที่ญี่ปุ่นก็พยายามที่จะผูกสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะต้องพึ่งพาความร่วมมือของไทยมากขึ้น

ตั้งแต่ปลายปี 2485 กองทัพญี่ปุ่นได้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลา 1 ปี จึงสำเร็จเรียบร้อย เพื่อใช้ในการส่งกำลังบำรุงของกองทัพญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการอยู่ในพม่า

ต้นปี 2486 ญี่ปุ่นได้จัดตั้ง “กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย” ขึ้น ที่เรียกว่า “กองทัพงิ” ภายใต้บังคับบัญชาของนายพลอาเคโตะ นากามูระ ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

ในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2485 พล.ท.พจน์ พหลโยธิน อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้เป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรีเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น และต่อมาในเดือนกรกฎาคม ศกเดียวกัน นายโกกิ ฮิโรโต อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็ได้เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ ในฐานะหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรี และต่อมาอีกในเดือนมีนาคม 2486 นายคาซูใน อาโอกิ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพาก็มาเยือนกรุงเทพฯ

ที่สำคัญก็คือ ในต้นเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน พลเอก ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ นายพลโตโจได้นำ “ของขวัญ” คือ ดินแดนในสหรัฐไทยใหญ่ คือเชียงตุงและเมืองพาน และดินแดนในมลายู คือ ไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู และปะลิส มามอบให้แก่ไทยด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน 2486 นายกรัฐมนตรีโตโจได้จัดให้มีการประชุมวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาขึ้นที่กรุงโตเกียว และได้เชิญบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ในเอเชียที่เป็นพันธมิตรร่วมมือกับญี่ปุ่นไปร่วมประชุม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ปฏิเสธไม่ไปร่วมประชุม แต่ได้ส่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เป็นผู้แทนไปร่วมประชุม

 

การโจมตีสะพานพระราม 6 ของฝ่ายสัมพันธมิตร
การโจมตีสะพานพระราม 6 ของฝ่ายสัมพันธมิตร

 

ปลายปี 2486 กรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงเป็นครั้งแรก โดยฝูงบินสัมพันธมิตร 30 เครื่อง ซึ่งเป็นการพิสูจน์ความเป็นเจ้าอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยที่ทั้งญี่ปุ่นและไทยไม่มีขีดความสามารถที่จะต้านทานได้

การเพลี่ยงพล้ำในการทำสงครามของญี่ปุ่นที่ชัดเจนขึ้นได้ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เร่งหาทางปลีกตัวออกจากญี่ปุ่นโดยผ่านการติดต่อกับกองพลที่ 93 ของจีนในยูนนาน การเร่งสร้างฐานทัพที่เพชรบูรณ์และการเร่งสร้างถนนสายยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อใช้ในกรณีที่จะต้องสู้รบกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แพ้การลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 เป็นผลทำให้รัฐบาลต้องลาออกจากตำแหน่งไป

รัฐบาลที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อจากนั้นยังคงปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีกับญี่ปุ่นตามกติกาสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรต่อไป แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นรัฐบาลที่มีขบวนการเสรีไทยอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ จนกระทั่งสงครามได้สงบลง โดยญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยปราศจากเงื่อนไข และฝ่ายสัมพันธมิตรได้แนะให้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ประกาศสันติภาพ ให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สถานภาพเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 โดยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม

“ประกาศสันติภาพ” ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ได้ประกาศเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 

 

ที่มา: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ขบวนการเสรีไทยกับวีรกรรมกู้ชาติ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555), น. 19-25.