ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

นิวเคลียร์และสงคราม ​: ทรรศนะของปรีดี พนมยงค์ เรื่องสงครามและสันติภาพในยุคปรมาณู

25
มีนาคม
2565

ปฐมทรรศนะเรื่อง “สงครามและสันติภาพของปรีดี พนมยงค์” ปรากฏชัดตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2480 ทั้งงานเขียนและถ้อยคำผ่านทางวิทยุกระจายเสียงเพื่อแสดงนโยบายสันติภาพของรัฐบาลไว้หลายครั้ง

จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2480 กระทรวงการต่างประเทศ ได้รวบรวมพิมพ์เอกสารภาษาฝรั่งเศสชื่อ “ประเทศสยามผู้รักความสงบ และนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสยาม” (Le Siam Pacifiste et la Politique Etrangere du Gouvernement Siamois) ที่มีคำอธิบายในปกด้านในว่า “ข้อความจากสุนทรพจน์และคําแถลงต่อหนังสือพิมพ์ของ ฯพณฯ หลวงประดิษฐมนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสยาม”[1] ขึ้น

ต่อมาในสมัยที่ปรีดี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ช่วงรัฐบาลนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ปรีดีชี้ให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศได้รับผลประจักษ์เป็นรูปธรรมโดยอาศัยการวางพื้นฐานประชาธิปไตยภายในประเทศและมีการประคับประคองสันติภาพไว้ ทำให้เป็นฝ่ายกุมดุลแห่งอำนาจระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับสยามได้ จึงสามารถบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 15 ประเทศและเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่โดยถือหลักเสมอภาค, ถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน, ความเป็นธรรม, เอื้อประโยชน์แก่กันและกัน นานาประเทศเห็นใจและยินยอมทำสนธิสัญญาอันเป็นผลให้ปวงชนชาวสยามมีความเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ทุกประการ[2]

ขณะที่ความสนใจเรื่อง “นิวเคลียร์และสงครามของปรีดี” ได้เริ่มก่อตัวในช่วงระยะลี้ภัยครั้งที่ 2 มายังสาธารณรัฐราษฎรจีน ภายหลังความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492

การต้อนรับจากนายกเทศมนตรีของเมืองชิงเต่าโดยรัฐบาลจีน ทำให้ปรีดีมองเห็นแนวทางสันติของรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรก ในงานร่วมรับประทานอาหารเย็นทำให้ปรีดีพบว่า เมืองนี้ได้รับการปลดปล่อยและกองทหารนาวิกโยธินอเมริกันได้ถอนกำลังออกไปทันทีที่กองทัพราษฎรจีนเคลื่อนทัพเข้ามาใกล้ตัวเมือง

ในยุคนั้นเป็นสมัยสงครามที่มีความขัดแย้งระหว่างจีนและจักรวรรดินิยมโดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา หากในเมืองชิงเต่า ปรีดีได้สังเกตว่ามีการชักธงของทั้งสองชาติไว้ที่นี่และยังมีสถานกงสุลอังกฤษกับอเมริกันตั้งอยู่ จึงสรุปว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นดำเนินนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศที่มีระบอบการปกครอง และสังคมที่ต่างไปจากประเทศจีน[3]

 

เอกสารเดินทางที่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งราษฎรจีนออกให้นายปรีดี พนมยงค์
เอกสารเดินทางที่รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งราษฎรจีน
ออกให้นายปรีดี พนมยงค์[4]

ในช่วงที่ปรีดีพำนักอยู่ในประเทศจีนพร้อมกับภรรยาและลูกๆ (พูนศุข  ศุขปรีดา สุดา วาณี และดุษฎี) ปรีดีได้ติดตามข่าวสารของประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์ความเป็นไปทั่วโลกจากการที่รัฐบาลจีนเปิดโอกาสให้ฟังวิทยุจากทุกสถานี และยังได้อ่านหนังสือพิมพ์ วารสารไทย อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส[5] จากบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานทางภูมิปัญญาทำให้ในขณะที่อยู่จีนนี้ ปรีดีได้เขียนงานสำคัญหลายชิ้น เช่น ความเป็นอนิจจังของสังคม และ งานเขียนเชิงปรัชญา

หากแต่ปรีดีไม่ได้อ่านเขียนเฉพาะงานเชิงปรัชญา การเมือง หรือศาสนาเท่านั้น แต่ยังศึกษาขยายองค์ความรู้อ่านเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ การสงครามและนิวเคลียร์ ซึ่งใน พ.ศ. 2507 ได้มีการทดลองระเบิดลูกระเบิดปรมาณูลูกแรกในจีน

‘ปรีดี พนมยงค์’ จึงแสดงทรรศนะสนับสนุนจีนในการเปิดประชุมประมุขนานาชาติเพื่ออภิปรายในเรื่อง การห้ามและทำลายอาวุธนิวเคลียร์ และในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2507 ได้ส่งจดหมายถึง โจว เอินไหล โดยในจดหมายนอกจากถ้อยคำอวยพรต่อการทดลองระเบิดลูกระเบิดปรมาณูลูกแรกสำเร็จแล้ว ยังได้กล่าวถึงเรื่องการทดลองนิวเคลียร์ ว่า 

“การทดลองอย่างสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศจีนและการป้องกันมนุษยชาติทั้งมวลให้พ้นจากการข่มขู่และการคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของจักรวรรดินิยมซึ่งมีอเมริกาเป็นตัวการ…”

และโจว เอินไหล ได้มีจดหมายตอบกลับถึงปรีดี พนมยงค์ ที่สะท้อนความงดงามแห่งมิตรภาพ ไว้ดังนี้[6]

 

จดหมายจากโจวเอินไหลถึงปรีดี พนมยงค์ เรื่องการทำสงครามในยุคสมัยปรมาณู​
จดหมายจากโจว เอินไหล ถึง ปรีดี พนมยงค์
เรื่องการทำสงครามในยุคสมัยปรมาณู​

 

“ปักกิ่ง

วันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๔

ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เคารพ

จดหมายของท่านลงวันที่ ๑๗ เดือนตุลาคม ได้รับแล้ว ขอบคุณท่านที่ได้ให้คำอวยพรต่อการทดลองระเบิดลูกระเบิดปรมาณูลูกแรกอย่างสำเร็จของประเทศจีน ขอบคุณท่านที่ได้ให้ความสนับสนุนต่อข้อเสนอในการเปิดประชุมประมุขนานาชาติเพื่ออภิปรายในเรื่องการห้ามและทำลายอาวุธนิวเคลียร์อย่างรอบด้านและสิ้นเชิงของรัฐบาลจีน

ดังเช่นคำกล่าวของท่าน การทดลองอย่างสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลประโยชน์ต่อการป้องกันประเทศจีนและการป้องกันมนุษยชาติทั้งมวลให้พ้นจากการข่มขู่และการคุกคามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของจักรวรรดินิยมซึ่งมีอเมริกาเป็นตัวการ และก็ได้เพิ่มพูนความมั่นใจของราษฎรประเทศเมืองขึ้นและกึ่งเมืองขึ้นในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเอง นี่เป็นครั้งแรกที่ราษฎรเอเชียได้ยึดกุมอาวุธนิวเคลียร์ ท่านกับผู้รักชาติประชาธิปไตยของประเทศไทยสามารถเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าอยู่ในกาลเวลาใดและไม่ว่าอยู่ในสภาพเช่นใด ประเทศจีนจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อนอย่างแน่นอน จุดมุ่งหมายอันสุดยอดในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศจีนก็เพื่อห้ามและทำลายอาวุธนิวเคลียร์อย่างรอบด้านและสิ้นเชิง

ขอให้ท่านและเพื่อนของท่านได้รับความสำเร็จยิ่งขึ้นในการคัดค้านอเมริกาควบคุมประเทศไทยซึ่งเป็นภารกิจที่เป็นธรรม

โจว เอินไหล (ลงนาม)”[7]

 

จดหมายทั้งสองฉบับแสดงถึงทรรศนะของปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2500 ต่อเรื่องนิวเคลียร์และสงครามที่เชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศซึ่งจักรวรรดินิยมและประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้อาวุธทันสมัยอย่างนิวเคลียร์ และใช้กำลังทหารคุกคามประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย ส่งผลให้ปรีดีสนับสนุนการทดลองนิวเคลียร์ของจีนเพื่อป้องกันประเทศจากภัยคุมคามของจักรวรรดินิยมในยุคสงครามเย็น

 

ปรีดี พนมยงค์ เข้าเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ณ กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2506
ปรีดี พนมยงค์ เข้าเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล
ณ กรุงปักกิ่ง พ.ศ. 2506

จวบจนเมื่อชีวิตของปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวผันผวนอีกครามาสู่ปารีส ณ บ้านอองโตนี ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นการลี้ภัยครั้งสุดท้ายของท่าน ณ ห้วงยามนี้ทำให้ปรีดีได้ศึกษาเรื่องสงครามและนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง จากปากคำประวัติศาสตร์ของ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร[8] ลูกศิษย์คนสนิทชิดใกล้ของปรีดี เล่าถึงช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันไว้ว่า

“...มีคราวหนึ่งท่านชวนผมไปร้านหนังสือ ตอนนั้นท่านกำลังสนใจเรื่องแรงทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสมัยนั้นเรื่องกำลังอาวุธทั้งหลายหาอ่านได้จาก Jane’s Defence ซึ่งมีทั้งแบบรายปี (Yearbook) และรายสัปดาห์ (Weekly) แต่แบบที่รวมเล่มเป็นรายปีจะแพงมาก ท่านใช้วิธีซื้อของปีเก่าๆ ที่เขาลดราคามาอ่าน ส่วนของใหม่ๆ ใช้วิธียืนเปิดอ่านที่ร้านเพิ่มเติมเอา เลือกซื้อเฉพาะที่ต้องใช้อ้างอิงตอนนั้น

ผมมานึกดู อดีตผู้นำประเทศที่ซื่อสัตย์อย่างท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ได้ร่ำรวย แม้เงินจะซื้อหนังสือก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ท่านก็มุ่งมั่นในการหาความรู้อยู่เสมอ ท่านสนใจเทคโนโลยี จนเอามาเขียนเป็นหนังสือเตือนรัฐบาลไทยเรื่อง ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์)

ถ้าคุณอ่านดูหนังสือเล่มนี้ จะพบว่ามีการกล่าวถึงประสิทธิภาพของอาวุธสมัยใหม่ต่างๆ มีการยกตัวอย่างประเทศไทยด้วยว่าจำเป็นต้องหาทางป้องกันประเทศให้ดีเพราะ “จรวดพื้นดินสู่พื้นดินระยะกลางที่ตั้งฐานจากนอกเขตแดนไทยก็สามารถยิงมาสู่กรุงเทพฯ ได้ เราจึงต้องปรึกษาหารือพลเมืองเพื่อช่วยกันหาทางป้องกันมิให้ประเทศไทยพัวพันในการสงครามระหว่างชาติ” ท่านเป็นผู้รักสันติภาพและเสรีภาพยิ่งนัก และไม่อยากให้ไทยเข้าร่วมสงครามในทุกกรณี...

 

หนังสือ “ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์)” จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517
หนังสือ “ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์)”
จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517

หนังสือ ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์) เล่มที่จริย์วัฒน์ เล่าถึงนี้ มีปราโมทย์ พึ่งสุนทร มิตรผู้ซื่อสัตย์ของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้จัดพิมพ์ เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2517 

งานเขียนชิ้นนี้มีเนื้อหาหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประสิทธิภาพของอาวุธสมัยใหม่ การเมืองระหว่างประเทศในช่วงสงครามเวียดนาม และชนิดของอาวุธนิวเคลียร์ และมีการอธิบายลักษณะสงครามที่เสมือนเตือนรัฐบาลไทยในช่วงวิกฤติความขัดแย้งภายในหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อย่างแยบคายไว้ด้วยว่า

“...สงครามยุคปัจจุบันนี้จึงเป็นสงครามประชาชนที่จะต้องดำเนินโดยประชาชนทั่วประเทศ มิใช่สงครามที่ทำโดยทหารประจำการเท่านั้น รัฐบาลของประเทศใดเข้าใจลักษณะของสงคราม ประชาชนก็สามารถนำชาติให้ได้เปรียบในกรณีที่จำเป็นต้องทำสงคราม

บางประเทศได้มีคติธรรมมาตั้งแต่โบราณกาลว่า ทหารเปรียบเหมือนปลา ประชาชนเปรียบเสมือนน้ำ ปลาไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงปลาก็ตาย ดังนั้น นายทหารชั้นสูงเพียงไม่กี่คน จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะผูกขาดเรื่องที่ตนพูดด้วยถ้อยคำว่า “ทางทหาร” ไว้เป็นของตนแล้วอาศัยทหารประจำการทั้งปวงเป็นเครื่องมือค้ำอภิสิทธิ์ของตน”

ทั้งนี้ การอธิบายเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ของปรีดีนั้น สอดรับกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสงครามและความขัดแย้งครั้งสำคัญทั่วโลก โดยลำดับเหตุการณ์การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ลูกแรกที่เริ่มทดลองเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ที่มลรัฐนิวเม็กซิโก ในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นชนิดแยก หรือ (Fission)

ในครั้งที่ 2 คือ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ที่เครื่องบินอเมริกันได้ทิ้งลูกระเบิดปรมาณูลงในเมืองฮิโรชิมา และได้ทำลายเมืองนั้นโดยฉับพลันในบริเวณ 4 ตารางไมล์ และมีผู้เสียชีวิตทันทีจำนวน 66,000 คน

และ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เครื่องบินอเมริกันได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงในเมืองนางาซากิ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 39,000 คนและบาดเจ็บถูกกัมมันตภาพรังสีอีก 25,000 คน

และ ครั้งที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2494 ที่สหรัฐอเมริกาได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ชนิดใหม่เรียกว่า ลูกระเบิดไฮโดรเจน หรือ ลูกระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์อันเป็นชนิดผนึกรวม (Fusion) ที่มีพลังมากกว่าชนิดที่สหรัฐอเมริกาทิ้งลงไปยังเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิหลายเท่า 

ปรีดีได้ชี้ให้เห็นว่ามุมมองต่ออาวุธเคมี อาวุธชีววิทยา อาวุธรังสีวิทยาของศีลธรรมระหว่างประเทศกับจักรวรรดินิยมหรือสหรัฐอเมริกานั้นแตกต่างกัน โดยฝ่ายที่ถือศีลธรรมระหว่างประเทศเห็นว่า อาวุธเหล่านี้เป็นอาวุธนอกมาตรฐาน แต่ฝ่ายจักรวรรดินิยมอเมริกันถือว่าเป็นอาวุธมาตรฐาน และสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมลงนามใน ‘สัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1899’ ที่ห้ามมิให้ใช้แก๊สพิษในการทำสงครามอีกด้วย[9]

สงคราม สันติภาพ และ อาวุธนิวเคลียร์ จึงเป็นสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ สนใจอย่างลึกซึ้ง จริงจังในช่วงท้ายของชีวิต สะท้อนให้เห็นในงานชิ้นถัดมาที่ตีพิมพ์ในหนังสือ ที่ระลึกวันธรรมศาสตร์ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ของสมาคมธรรมศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา คือ บทความเรื่อง สงครามประสาท (War of Nerves) กับ สงครามโดยตัวแทน (War by Proxy)[10]

ในปีเดียวกันนี้ ปรีดียังมีงานเขียนเรื่อง ข้อสังเกตบางประการของนายปรีดี เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมไทยและการพิทักษ์เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทยในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์) ที่มีต้นฉบับจำนวน 50 หน้า มอบให้แก่คณะกรรมการนิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมอบให้หนังสือพิมพ์ตะวันใหม่ อีกหนึ่งสำเนา[11]

ดังนี้ คุณูปการสำคัญยิ่งของทรรศนะปรีดี พนมยงค์ เรื่องสงครามและสันติภาพ คือ การส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่ให้ฉุกคิดถึงความสำคัญของทุกชีวิตที่ไม่ควรจากไปเพราะสงครามอันเป็นผลประโยชน์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ที่มิใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชน

 

บรรณานุกรม

หนังสือภาษาไทย :

  • ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต ๒๑ ปี ในจีน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555)
  • ปรีดี พนมยงค์, ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์), (กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2517)
  • ปรีดี พนมยงค์, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย, (กรุงเทพฯ: มิตรสยาม, 2524)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2525)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • สมจิตต์ อินสิงห์, ท่านปรีดี พนมยงค์ กับความสำคัญของศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ใน วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กษิดิศ อนันนทนาธร. (30 มีนาคม 2563). รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น : คุยกับ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เรื่องอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘คุณลุง’. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/03/36
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 สิงหาคม 2564). ประกาศสันติภาพ โดย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/08/797
  • สมจิตต์ อินสิงห์. (6 สิงหาคม 2563). ความสําคัญของศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/370
  • สุรชาติ บำรุงสุข. (7 มีนาคม 2565). สงครามนิวเคลียร์ยูเครน!. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_3219373

[1] สมจิตต์ อินสิงห์, ท่านปรีดี พนมยงค์ กับความสำคัญของศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ใน วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536), น. 68.

[2] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 46-51.

[3] ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2525), น. 125-139.

[4] คำแปลเอกสารเดินทาง: หน้าซ้าย เอกสารนี้ออกให้คนต่างด้าวเพื่อเดินทางไปต่างประเทศและการถือเอกสารนี้ไม่กระทบถึงสัญชาติของผู้ถือ หน้าขวา สาธารณรัฐแห่งราษฎรจีน เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว เลขที่ T. 000955 นามสกุลและนามผู้ถือ “ปรีดี พนมยงค์” สัญชาติไทย 

[5] ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2525), น. 146.

[6] ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต ๒๑ ปี ในจีน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555), น. 100-101.

[7] คำแปลโดยสำนักนายกรัฐมนตรีของจีน

[8] กษิดิศ อนันนทนาธร. (30 มีนาคม 2563). รู้ทุกข์ รู้ธรรม รักถิ่น: คุยกับ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร เรื่องอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือ ‘คุณลุง’. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/03/36

[9] ปรีดี พนมยงค์, ปัญหาสงครามในยุคปรมาณู (นิวเคลียร์), (กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2517), น. 23-26.

[10] ปรีดี พนมยงค์, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย, (กรุงเทพฯ: มิตรสยาม, 2524), น. 83-106.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 55.