ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เศรษฐกิจกับการสร้างชาติ

3
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • นายทวี บุณยเกตุ สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนในสมัยเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสและเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศเยอรมนีและประเทศญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มีฐานะล้มละลาย แต่ต่อมากลับประสบความสำเร็จเจริญโดยเร็ว 
  • ประเทศทั้งสองกลายเป็นประเทศชั้นนำในทางอุตสาหกรรม มั่งคั่งสมบูรณ์ มีฐานะทางการเงินดี และมีเศรษฐกิจที่มั่นคง ในเวลาเพียง 20 กว่าปี หลังสงครามฯ ยุติลง โดยความสำเร็จดังกล่าวมาจากคุณสมบัติของประชาชนทั้งสองประเทศสนับสนุน อาทิ มีความขยันหมั่นเพียรอย่างดีเลิศ มีความรู้และความสามารถดีมาก และมีระเบียบวินัยสูง เป็นต้น
  • ปัจจัยสำคัญอื่นๆ คือ (1) ประเทศทั้งสองถูกห้ามมิให้มีทหารประจำการ มิให้สร้างอาวุธและสะสมอาวุธ (2) ประเทศทั้งสองสามารถระดมสรรพกำลังในทางการเงินไปบูรณะประเทศในทางเศรษฐกิจและทำความเจริญในด้านต่างๆ (3) การที่โลกแบ่งเป็นค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียตรัสเซีย และค่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกาที่เอาใจและช่วยเหลือ เพื่อให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีตะวันตกอยู่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (4) การมีโรงงานทันสมัยแทนโรงงานเก่าที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม สามารถผลิตสินค้าด้วยวิธีประหยัด มีคุณภาพสูง และมีราคาถูก
  • สมควรที่คนไทยจะดูเป็นแบบอย่าง และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง ร่วมกับนักอุตสาหกรรมและนักเกษตรกรรม ประเทศไทยก็คงจะเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้วในเวลาที่ไม่นาน

 

เรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนในวันนี้คือเรื่อง “เศรษฐกิจกับการสร้างชาติ” สาเหตุที่ข้าพเจ้านำเอาเรื่องนี้มาเขียน ก็เพราะเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย ความจริงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายทราบอยู่เป็นอย่างดีแล้ว หากแต่เมื่อไม่นำมาคิดก็เลยเห็นเป็นของธรรมดาและปล่อยให้ผ่านไปโดยมิได้นำมาวิจารณ์

เรายังคงจำกันได้ดีว่าเมื่อประมาณ 25 ปีเศษมานี้ ได้เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และประเทศไทยก็ถูกดึงเข้าไปพัวพันและได้รับความกระทบกระเทือนไปกับเขาด้วยมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มประเทศที่เป็นตัวการใหญ่ 2 กลุ่ม เรียกว่ากลุ่มอักษะประเทศ ซึ่งมี ประเทศเยอรมนี ประเทศอิตาลี และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาประเทศฝ่ายหนึ่ง กับประเทศสัมพันธมิตร อันประกอบด้วยเสรีประเทศที่เป็นมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งมีประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศโซเวียตรุสเซีย และประเทศจีน (ก่อนที่ จะแยกเป็นจีนคอมมิวนิสต์กับจีนไต้หวัน) ภายหลังที่ได้มีการสู้รบกันมาเป็นเวลาประมาณ 4 ปี มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ก็ได้ยุติลงโดยฝ่ายอักษะประเทศเป็นผู้แพ้สงคราม ประเทศอิตาลี และประเทศเยอรมนีได้ยอมจำนนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนโดยไม่มีเงื่อนไข เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำของประเทศอิตาลีถูกประชาชนจับแขวนคอ ส่วนอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ ผู้นำของประเทศเยอรมนีก็กระทำอัตวินิบาตกรรม ครั้นต่อมาอีกไม่นานนักประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศสุดท้ายที่แพ้สงคราม ทั้งนี้เพราะการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา 2 ลูก คือลูกหนึ่งที่เมืองฮิโรชิมากับอีกลูกหนึ่งที่เมืองนางาซากิ ทำให้เมืองทั้งสองนี้ถูกทำลายอย่างราบคาบเป็นหน้ากลอง ผู้คนต้องประสบเคราะห์กรรมถึงแก่ความตายเป็นเรือนแสน ทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศเยอรมนีต้องประสบกับความหายนะพ่ายแพ้อย่างราบคาบจนเกือบไม่เป็นประเทศ ประเทศเยอรมันนีเองก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศคือ ประเทศเยอรมนีตะวันออกซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของโซเวียตรุสเซีย กับประเทศเยอรมนีตะวันตกซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของฝ่ายสัมพันธมิตรเว้นโซเวียตรุสเชีย หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คืออยู่ในความยึดครองและคุ้มครองของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหราชอาณจักรอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส เมื่อมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ได้ยุติลงนั้น ประเทศเยอรมนีกับประเทศญี่ปุ่น มีฐานะไม่ผิดอะไรกับประเทศล้มละลาย การเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 2 นี้ตกต่ำอย่างไม่เคยมีมาเลยในประวัติศาสตร์ของเขา

ในชั่วระยะเวลา 20 กว่าปีที่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง ประเทศทั้งสองนี้คือ ประเทศเยอรมนีตะวันตกกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง? ทั่วโลกต้องยกย่องสรรเสริญให้เป็นอย่างมาก เพราะทั้งประเทศเยอรมนีและประเทศญี่ปุ่นกลายมาเป็นประเทศชั้นนำในทางอุตสาหกรรม เป็นประเทศที่มั่งคั่งสมบูรณ์มีฐานะทางการเงินดีและมีเศรษฐกิจที่มั่นคง ข้าพเจ้าเคยไปท่องเที่ยวอยู่ในประเทศทั้งสองนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายที่ไปก็ประมาณ 3 ปีเศษมานี่เอง ได้พยายามค้นหาความจริงและหาทางพิจารณาดูว่าอะไรเป็นเหตุให้ทั้งสองประเทศนี้ซึ่งเป็นประเทศที่แพ้สงคราม กลับกลายมาเป็นประเทศที่มั่งคั่งสมบูรณ์มีเศรษฐกิจมั่นคงและฐานะการเงินก็อยู่ในเสถียรภาพที่ดีมาก ดีกว่าประเทศที่ชนะสงครามบางประเทศเสียอีก จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญแก่คนทั่วโลก ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นว่าทั้งสองประเทศนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก อาคารต่างๆ ที่ถูกทิ้งระเบิดจนแหลกลานนั้น บัดนี้ได้กลายเป็นตึกรามบ้านช่องใหญ่โตจนแทบไม่เห็นสิ่งสลักหักพังเหลืออยู่อีกเลย ถนนหนทางใหญ่โตกว้างขวาง บ้านเมืองสวยงาม ผู้คนมีสีหน้าเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส การเศรษฐกิจของเขาก็เฟื่องฟู โรงงานอุตสาหกรรมที่เคยมีอยู่เมื่อก่อนสงครามต้องถูกทิ้งระเบิดพังทลายเกือบหมด บัดนี้โรงงานอันทันสมัยที่มีประสิทธิภาพสูง ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่แทนที่ การจราจรคับคั่ง ฯลฯ เมื่อข้าพเจ้าได้ไปเห็นประเทศเยอรมนีตะวันตกและประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก็เกิดความสนใจมากและตั้งปัญหาถามตัวเองว่า อะไรเป็นเหตุให้ประเทศทั้งสองนี้เจริญรุ่งเรืองถึงขนาดนี้ทั้งๆ ที่เป็นประเทศแพ้สงคราม เป็นประเทศที่อยู่ในสภาพที่เกือบล้มละลายหรือล้มละลายแล้วก็ได้ ข้าพเจ้าได้ค้นหาเหตุผลและหาทางวิจัย ในที่สุดก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า ประเทศเยอรมนีตะวันตกกับประเทศญี่ปุ่นมีอะไรๆ หลายอย่างเหมือนกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็พลเมืองของประเทศทั้งสองนี้มีบุคลิกลักษณะคล้ายคลึงกันมาก กล่าวคือ

  1. คนของเขามีความขยันมั่นเพียรอย่างดีเลิศ
  2. คนของเขามีความรู้และความสามารถดีมาก
  3. คนของเขามีระเบียบวินัยดีที่สุดอย่างที่จะหาตัวจับได้ยาก
  4. คนของเขามีความมานะอดทนดีเป็นเลิศ
  5. คนของเขามีนิสัยเป็นคนประหยัดอย่างดียิ่ง
  6. คนของเขามีความรักชาติอย่างแรงกล้าจนในบางยุคบางสมัยกลายเป็นคนหลงชาติ ไป
  7. คนของเขามีความสามัคคีทันดี
  8. คนของเขารู้จักหน้าที่ซื่อสัตย์ต่องานที่รับมอบหมายให้กระทำและรู้จักรับคำสั่งไปปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ
  9. คนของเขาเป็นคนเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ

ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติและคุณลักษณะอันดีเลิศของคนเยอรมนีและคนญี่ปุ่น เมื่อคนในชาติใดมีคุณสมบัติและคุณลักษณะดังที่ได้กล่าวมานี้ ชาตินั้นก็จะต้องมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่มีปัญหา แต่นอกจากคุณสมบัติของคนของเขาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ชาติทั้งสองนี้ฟื้นตัวได้รวดเร็วยังมีอีกคือ

1. ประเทศเยอรมนีกับประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม และถูกบังคับให้ลงนามในสัญญาสงบศึกด้วยมีเงื่อนไขหลายประการ แต่ประการสำคัญที่สุดนั้น ทั้งประเทศเยอรมนีตะวันตกและประเทศญี่ปุ่นถูกห้ามมิให้มีทหารประจำการ มิให้สร้างอาวุธและสะสมอาวุธ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้พิทักษ์ส่งกองทหารเข้าไปยึดครองสำหรับประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศเยอรมนีตะวันตกนั้นก็มีทหารฝ่ายสัมพันธมิตรคือทหารสหรัฐอเมริกา ทหารของสหราชอาณาจักรอังกฤษ และทหารของประเทศฝรั่งเศสไปตั้งประจำอยู่เพื่อให้ความคุ้มครองและดูให้การปฏิบัติของประเทศทั้งสองนี้ เป็นไปตามสัญญา

2. เมื่อประเทศเยอรมนีวันตกและประเทศญี่ปุ่นมีทหารไม่ได้และสะสมอาวุธก็ไม่ได้ เช่นนี้แล้ว ประเทศทั้งสองนี้จึงสามารถระดมสรรพกำลังในทางการเงินไปบูรณะประเทศในทางเศรษฐกิจ และในทางทำความเจริญด้านต่างๆ ให้แก่ประเทศ ไม่ต้องมาพะวงในการสะสมอาวุธและเลี้ยงดูทหาร แม้จะต้องออกค่าใช้จ่ายให้แก่ทหารสหรัฐที่ทำการยึดครอง แต่ก็ยังน้อยกว่าที่จะมีทหารของตัวเองและสะสมอาวุธเอง

3. เมื่อมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โลกของเรานี้ก็เกิดแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือค่ายคอมมิวนิสต์ค่ายหนึ่ง ได้แก่ประเทศสหภาพโซเวียตรุสเซียเป็นหัวเรือใหญ่ทางยุโรป และประเทศจีนคอมมิวนิสต์เป็นหัวหน้าใหญ่ทางเอเชีย ส่วนอีกค่ายหนึ่งนั้น ได้แก่ประเทศเสรีประชาธิปไตยซึ่งได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหน้าใหญ่ และก็มีประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส นอกจากนั้นก็มีประเทศเยอรมนีตะวันตก (ภายหลังที่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลงแล้วนั้น ประเทศเยอรมนีได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศคือ เยอรมนีตะวันตกซึ่งอยู่ในค่ายเสรีประชาธิปไตยกับประเทศเยอรมนีตะวันออกอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์) เมื่อโลกได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่ายเช่นนี้ ฝ่ายประเทศเสรีประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ประเทศเยอรมนีตะวันตกและประเทศญี่ปุ่นอยู่ข้างฝ่ายตน ไม่ให้เขาไปอยู่ในอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และเมื่อสหรัฐอเมริกามีนโยบายเช่นนี้ ก็ต้องพยายามเอาใจและหาทางช่วยเหลือในทางการเงินเพื่อให้ประเทศทั้งสองนี้ฟื้นตัวโดยเร็ว จึงได้ช่วยในเรื่องการเงิน ช่วยในเรื่องการเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ เท่าที่จะทำได้

4. เมื่อก่อนมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้นนั้น มหาประเทศทุกประเทศมีสภาพเหมือนกันหมด โรงงานอุตสาหกรรมก็อยู่ในสภาพเดียวกัน ครั้นเมื่อมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง โรงงานอุตสาหกรรมของประเทศเยอรมนีตะวันตกกับของประเทศญี่ปุ่นได้ถูกทำลายลง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นี้จึงเป็นโรงงานทันสมัยที่สุดและมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ด้วยวิธีประหยัดและมีราคาถูกทั้งมีคุณภาพสูง ส่วนโรงงานของประเทศสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามนั้นเล่า แม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมของเขา เช่นในประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งศสจะถูกทำลายบ้างก็ไม่มากมายนักเหมือนกับ ของประเทศเยอรมนีตะวันตกและประเทศญี่ปุ่น ยิ่งของสหรัฐอเมริกาด้วยแล้วเกือบจะกล่าวได้ว่าไม่ได้ถูกทำลายลงเลย ฉะนั้น โรงงานของเขาจึงจะทันสมัยน้อยกว่าของประเทศเยอรมนีตะวันตกและประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับคนของประเทศเยอรมนีตะวันตกและคนของประเทศญี่ปุ่นมีความขยันหมันเพียร มีวินัยดีเลิศ และมีคุณลักษณะอย่างอื่นๆ ดีมากดังที่ข้าพเจ้ายกมาให้เห็นแล้วข้างต้น ประกอบกับไม่มีสหภาพแรงานที่คอยหนุนหลังเพื่อขอค่าแรงขึ้นและมีการนัดหยุดงานอยู่เรื่อยๆ เช่นในประเทศเสรีประชาธิปไตยบางประเทศ ฉะนั้นการเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีตะวันตกและประเทศญี่ปุ่นจึงรุดหน้าอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพมั่นคงอย่างดียิ่ง

ข้าพเจ้าได้เคยไปเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ของประเทศเยอรมนีตะวันตกที่เมืองสะตุ๊ดกาต (Stuttgart) ดูเหมือนจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ยี่ห้อเบ๊นซ์และไปชมโรงงานทำปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ต่างๆ กับได้ไปชมโรงงานผลิตเหล็กกล้าของบริษัทกรุปป์ที่เมืองเอสเซ็น ส่วนในประเทศญี่ปุ่นก็ได้ไปชมโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้าและโรงงานนิสสันกับโรงงานต่างๆ อีกหลายโรง ได้สังเกตเห็นว่าคนงานของประเทศทั้งสองนี้ทำงานกันตัวเป็นเกลียว ต่างคนต่างทำงานในหน้าที่ของตน ไม่มีการพูดคุยกันเลยและรู้สึกว่าเขาทำงานด้วยความสนใจและพอใจในหน้าที่ของเขา มีอยู่หลายโรงงานเขาเปิดวิทยุให้คนงานฟังระหว่างทำงาน เพลงที่เปิดนั้นเป็นเพลงที่มีจังหวะคล้ายเพลงมาร์ช แล้วคนงานของเขาก็ทำงานให้เข้ากับจังหวะเพลง แปลว่าต่างคนต่างทำไม่เล่นหัวกันจนแทบจะไม่มองดูหน้ากันเลย พอมีสัญญาณดังขึ้นให้พักงานเช่นเวลารับประทานอาหารกลางวัน คนงานทุกคนก็วางเครื่องมือลุกขึ้นไปยังห้องน้ำล้างมือล้างหน้าแล้วก็รับประทานอาหารของตน แล้วก็นั่งพัก พอได้เวลาสัญญาณดังขึ้นอีกเพื่อให้เข้าทำงาน คนงานทุกคนก็ลุกขึ้นเดินเข้าประจำที่ของตนเริ่มทำงานต่อไป จนมองดูเวลาสัญญาณดังขึ้นเหมือนว่าคนงานเหล่านี้เป็นเครื่องจักรก็ว่าได้

คราวนี้หันมาดูคนงานคนไทยตามโรงงานต่างๆ ของเราดูบ้าง เท่าที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นจากโรงงานต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมมานั้น คนงานของเรานั้นเป็นจำนวนไม่น้อยทำงานชนิดสักแต่ว่าทำคือไม่กระวีกระวาด และการทำงานของคนไทยเราเป็นส่วนมากก็ทำกันไปคุยกันไป บางทีก็ร้องเพลงไปพูดคุยกันไปทำงานไปการทำงานแบบนี้จึงไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เสียเวลาอันเป็นเหตุให้ต้นทุนในการผลิตสูง การที่คนไทยที่ทำงานตามโรงงานต่างๆ ไม่ขะมักเขม้น ทำงานชนิดที่ขาดความเอาใจใส่ มัวแต่พูดกันคุยกัน หรือไปห้องน้ำ ดื่มกาแฟ หรือเล่นไปทำไป สมมุติว่าชั่วโมงหนึ่งเสียเวลาไป 10 นาที วันหนึ่งก็จะเสียเวลาไปถึง 240 นาทีหรือ 4 ชั่วโมง เดือนหนึ่งก็จะเสียเวลาไปแล้วถึง 120 ชั่วโมง หรือเท่ากับ 5 วัน หากเราต้องเสียค่าจ้างแรงงานชั่วโมงละ 3 บาท เดือนหนึ่งเราก็จะต้องเสียเงินไปเปล่าๆ โดยไม่ได้ทำงานถึง 360 บาท หรือปีละ 4,320 บาท ถ้าเรามีคนทำงานในโรงงาน 100 คน เราก็จะต้องเสียเงินไปถึงปีละ 432,000 บาท ซึ่งเป็นค่าแรงที่จ่ายไปเปล่าๆ โดยไม่ได้งานเป็นจำนวนไม่น้อยเลย เมื่อเราต้องจ่ายเงินแต่ไม่ได้งานเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้นทุนในการผลิตจะต้องสูงที่ข้าพเจ้ายกเอาคนงานไทยกับคนงานของประเทศเยอรมนีตะวันตกกับประเทศญี่ปุ่นมาเปรียบเทียบให้เห็นนี้ก็เพื่อเป็นตัวอย่างจะได้เห็นถึงความแตกต่างกันว่ามีอยู่อย่างไร

เรื่องคนนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก การเศรษฐกิจของประเทศจะมีเสถียรภาพดีเพียงใดหรือจะมั่นคงแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับคนที่จะช่วยบันดาลอยู่มิใช่น้อย เราคงจะเคยได้ยินคำพูดว่า “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” อยู่เสมอๆ ฉะนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ หากเราทำงานโดยปล่อยให้เวลาเสียไปมากเท่าใด ผลของงานก็จะได้น้อยเท่านั้น เช่นคนที่ขยันทำงานได้ผลวันละ 100 ชิ้น แต่ถ้าคนงานไม่มีสมรรถภาพในการทำงาน โดยทำงานแบบขาดความขะมักเขม้น ขาดความเอาใจใส่ เช่นทำงานไป เล่นไป หรือพูดคุยกันไป ก็อาจทำงานได้เพียงวันละ 80 ชิ้นหรือ 90 ชิ้น ปีหนึ่งผลของงานก็จะขาดไปเป็นจำนวนมิใช่น้อย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล้ากล่าวได้ว่าเรื่องของคนนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการทำงาน

เมื่อประมาณ 7-8 ปีมานี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปร่วมประชุมสหภาพรัฐสภาที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อการประชุมได้เสร็จสิ้นลงผู้แทนรัฐสภาของแต่ละประเทศก็ได้กล่าวคำขอบใจแก่ประเทศเจ้าภาพ มีผู้แทนสหราชอาณาจักรอังกฤษได้กล่าวเป็นใจความยืดยาว ในคำกล่าวประโยคแรกๆ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกฉงนว่า เหตุใดผู้แทนอังกฤษจึงพูดเช่นนั้น คือเขาพูดว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แพ้สงคราม ประเทศญี่ปุ่นต้องสูญเสียทุกอย่างทั้งทรัพย์สินและชีวิต ประเทศญี่ปุ่นเหลือซากสิ่งสลักหักพัง ซึ่งเมื่อเขาได้มาเห็นแล้วเขาก็นึกในใจว่า ประเทศญี่ปุ่นเห็นจะหมดตัวไม่เป็นประเทศคราวนี้เอง อย่างไรเสียก็คงจะไม่เป็นชาติใหญ่โตได้อีก แต่ชั่วระยะเวลา 20 ปีเศษที่เขาได้มาเห็น บัดนี้เขาได้มาพบแต่สิ่งที่น่าฉงนสนเท่ห์ คือจำไม่ได้เลยว่านี่คือกรุงโตเกียว จะมองไปทางไหนก็มีแต่ความจริญรุ่งเรืองจนไม่ทราบว่าจะหาคำใดมาพูดได้ นอกจากจะขอเปิดหมวกให้ด้วยความยินดีและภาคภูมิใจในความสามารถที่ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจชั้นนำประเทศหนึ่งของโลก ทั้งนี้ก็เพราะความมีระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นกอบกับคนญี่ปุ่นเป็นคนขยันและมานะอดทน นี่เป็นคำพูดย่อๆ ของผู้แทนอังกฤษแต่จับใจมาก แม้ข้าพเจ้าจะไม่ใช่คนญี่ปุ่นแต่ก็อดที่จะภาคภูมิใจแทนคนญี่ปุ่นไม่ได้ในฐานะที่เป็นคนเอเชียด้วยกัน

ข้าพเจ้าเห็นผู้แทนประเทศต่างๆ ซื้อสิ่งของที่ทำในประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยจะมีความสนใจอะไรมากนัก แต่พอเห็นผู้แทนรัฐสภาเยอรมนีซื้อกล้องถ่ายรูปของญี่ปุ่นก็แปลกใจมาก เพราะกล้องถ่ายรูปเยอรมนีนั้นมีชื่อมากทีเดียว นับว่ามีชื่อมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่เมื่อมาเห็นเขามาชื้อกล้องถ่ายรูปของญี่ปุ่นเข้า ข้าพเจ้าก็อดที่จะถามไม่ได้ ว่าทำไมเขาจึงต้องมาซื้อกล้องถ่ายรูปของญี่ปุ่น ในเมื่อเขาก็มีกล้องถ่ายรูปดีๆ เช่นกล้องถ่ายรูปยี่ห้อ ไลก้า เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าถามเขานั้นก็ถือวิสาสะที่รู้จักกันในเวลาประชุม ผู้แทนรัฐสภาเยอรมนีคนนั้นได้อธิบายว่า เป็นความจริงที่ว่ากล้องของประเทศเยอรมนีเคยมีชื่อว่าดีที่สุดในโลก แต่นั่นมันนานมาแล้ว บัดนี้ของเขาสู้ของญี่ปุ่นไม่ได้ เช่น เลนซ์ของกล้องถ่ายรูปเยอรมนีทำได้อย่างดีก็ 1.1 แต่ของญี่ปุ่นเขาทำได้ 1 ถ้วน ทั้งราคาก็ถูกกว่ามาก

เวลาที่ข้าพเจ้าไปประเทศเยอรมนีตะวันตกกับประเทศญี่ปุ่นนั้น เมื่อได้เห็นสินค้าของประเทศทั้งสองนี้และได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนการเศรษฐกิจของเขาแล้ว ข้าพเจ้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าประเทศใดจะมีการเศรษฐกิจดีกว่ากัน ยิ่งมานึกถึงว่าประเทศทั้งสองนี้เป็นประเทศที่แพ้สงคราม เลยทำให้ข้าพเจ้ามาหวนคิดถึงประเทศไทยของเราบ้าง ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าประเทศไทยก็มีอะไรๆ ดีเท่ากับประเทศอื่นเหมือนกัน หากจะคิดเปรียบเทียบกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศแล้ว ประเทศไทยยังได้เปรียบประเทศอื่นอยู่มาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัตถุดิบเกือบทุกอย่างรวมทั้งทรัพยากรณ์ธรรมชาติด้วย ดินฟ้าอากาศก็อำนวย พลเมืองของประเทศไทยก็มีถึง 33 ล้านคนเศษ นับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร หากคนไทยเราร่วมใจกันทำงานจริงๆ โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่เห็นแก่อามิส ไม่แก่งแย่งชิงดีกันมีความขยันหมั่นเพียรและทำตนให้เป็นคนประหยัดและมีระเบียบที่ดีเหมือนกับคนญี่ปุ่นหรือคนเยอรมนีแล้ว ข้าพเจ้าก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่าประเทศไทยจะต้องมีเศรษฐกิจมั่นคงและมีฐานะการเงินดี สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาทั้งหลายแล้วได้เป็นอย่างดี

ในขณะนี้รัฐบาลกำลังพัฒนาประเทศด้วยการเร่งการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมควบคู่กันไปกับงานด้านอุตสาหกรรม อันเป็นหัวใจของการเศรษฐกิจอยู่แล้ว หากเราจะประหยัดในการใช้จ่ายและเพิ่มความขยันหมันเพียร มีมานะอดทนในการทำงานด้วยความขะมักเขม้นและรักงาน เอาใจใส่ในงานที่ตนทำ และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจังกับนักอุตสาหกรรมและกับนักเกษตรกรรมแล้ว ข้าพเจ้าก็เชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตอันไม่นานนักนี้ประเทศไทยคงจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายได้.

ทวี บุณยเกตุ
102 ถนน เศรษฐศิริ
สามเสนใน พระนคร.

 

ที่มา : ทวี บุณยเกตุ. เศรษฐกิจกับการสร้างชาติ ใน ทวี บุณยเกตุ 2447-2514 คำบรรยายและบทความบางเรื่อง. [ม.ป.ท.]: คุรุสภา; 2515.