ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปาล พนมยงค์ กับเยื้อน พานิชวิทย์และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์

12
ธันวาคม
2566

Focus

  • เรื่องควรรู้เพิ่มเติมในวาระครบรอบ 92 ปีชาตกาลของนายปาล พนมยงค์ บุตรของนายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คือ ปาลผู้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของผองเพื่อนทั้งหลาย มีเพื่อนสองคนที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น คือ นายเยื้อน พานิชวิทย์ ผู้อาวุโสต่างรุ่น และนายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เพื่อนนักเรียนโรงเรียนเตรียมปริญญาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.)
  • เยื้อน พานิชวิทย์  เคยเป็น สส.  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เขต 2) เขตเดียวกับที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้เป็น ส.ส. (ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) เคยเป็นรัฐมนตรี (ไม่สังกัดกระทรวง) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ และเข้าร่วมขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนำโดย นายปรีดี และพลพรรค ในปี 2492 (กบฏวังหลวง)
  • สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เป็นนักศึกษารุ่นพี่ของปาล ผู้ยืนยันถึงการเอาใจใส่ดูแลนักเรียน ต.ม.ธ.ก.เป็นอย่างดีของนายปรีดี โดยสัมผัสได้ต่อสู่ร่วมกันกับปาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารในช่วง พ.ศ. 2494 ยุติการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะเกรงนักศึกษาจะเคลื่อนไหวทางการเมือง (เข้าข้างนายปรีดี) และสัมผัสยังถูกจับและติดคุกร่วมกับปาลในคราวกบฏสันติภาพ พ.ศ. 2495 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

12 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันครบรอบ 92 ปีชาตกาลของ ปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรี กับ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ปาลเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2474) จึงน่าจะสบโอกาสในการนำเสนอเรื่องราวของเขาอีกครั้ง

ปาล คือบุคคลที่ผองเพื่อนทั้งหลายรักใคร่ จนถึงกับมีคำกล่าวขานว่า “ใครๆ ก็รักปาล” ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอย่าง โอฬาริก พยัคฆาภรณ์ ผู้เป็นประธานรุ่น เคยนำมาเขียนถึงไว้ในหนังสือ อนุสรณ์นายปาล พนมยงค์ คราวที่ ปาล อำลาโลกนี้ไปเมื่อวันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2524

 


ปาล พนมยงค์

 

สำหรับคราวนี้ ผมปรารถนาที่จะบอกเล่าถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่าง ปาล กับมิตรสหายอีกสองคน ได้แก่ เยื้อน พานิชวิทย์ และ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์

แท้แล้ว เยื้อน พานิชวิทย์ หาใช่คนรุ่นราวคราวเดียวกับ ปาล แต่มีความอาวุโสกว่าในขั้นที่เป็นคนรุ่นอา ด้วยเพราะอายุคงจะแก่กว่าราว 20 ปี แต่ทั้งสองก็มีเหตุให้โคจรมาสนิทสนมรักใคร่กันเป็นพิเศษ สิ่งที่ยืนยันได้ถึงความสัมพันธ์นี้คือ ถ้อยปาฐกถาธรรมของ พระราชนันทมุนี หรือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ซึ่งแสดงในพิธีไว้อาลัย ปาล ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2524 (ตีพิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์นายปาล พนมยงค์) ดังความตอนหนึ่งว่า

 

“อาตมาเคยไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะว่าคุณปาลแกอยากฟังเทศน์  อยากจะสนทนากับพระ  ก็เลยไปเยี่ยม เมื่อไปเยี่ยมนั้น ไม่มีอาการเจ็บปวดรุนแรง ก็พูดคุยกันได้ และเมื่อเห็นว่าพูดคุยมากก็จะเป็นการเหน็ดเหนื่อยจึงส่งเทปธรรมะมาให้เปิดฟังบ่อยๆ

เมื่อวันที่ใกล้จะสิ้นใจก็ได้มาเยี่ยมอีก  คุณปาลปรารภว่า ร่างกายของผมนี่ยกให้โรงพยาบาลแล้ว ดวงตาก็มอบให้แก่โรงพยาบาลแล้ว ไม่ต้องทำอะไรให้เอิกเกริกในเรื่องเกี่ยวกับงานศพ  ให้ทำแบบคุณเยื้อน พานิชวิทย์ เพราะคุณเยื้อน พานิชวิทย์นี่เป็นที่รักของคุณปาลมาก  คุณเยื้อนก็รักคุณปาลมากเช่นเดียวกัน

เมื่อคุณเยื้อนป่วยด้วยโรคมะเร็งอยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสิน คุณปาลไปเยี่ยมบ่อย  แล้วก็พูดว่าอย่าให้ผมเป็นโรคเหมือนกับคุณอาเลยเพราะทรมานมาก  โดยไม่รู้ว่าตัวมีโรคนั้นอยู่แล้ว  เมื่อรู้เข้าก็เลยบอกว่า เมื่อผมตายแล้วนี่ให้ทำแบบคุณเยื้อนก็แล้วกัน  แบบคุณเยื้อนนั้นทำที่วัดชลประทานฯสามคืน  แล้วก็ยกศพให้โรงพยาบาล  แต่คุณปาลไม่ต้องการให้ทำอย่างนั้นเพราะอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว เมื่อหมดลมหายใจก็ยกศพให้เขาไปเลยเพราะอยู่ใกล้วิทยาลัยแพทย์ที่นั่น  เขาก็มารับศพเอาไป  ไม่ต้องทำอะไรให้เป็นการลำบาก

อันนี้เป็นความรู้สึกเห็นใจผู้อยู่ข้างหลังโดยเฉพาะคุณแม่และญาติทุกคนที่ได้เยียวยารักษามาเป็นเวลานานแล้ว  ไม่ต้องทรมานไปนั่งในงานศพอีกต่อไป  นับว่าเป็นความคิดที่ดี  ความคิดนี้เกิดจากความเป็นผู้มีน้ำใจเห็นอกเห็นใจคนอื่นนั่นเอง ศพนั้นจึงมอบให้ไป"

 


เยื้อน พานิชวิทย์

 

เยื้อน มีพื้นเพเป็นชาวกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา แม้ประวัติช่วงก่อนจะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขาจะไม่เป็นที่รับทราบในปัจจุบัน เนื่องจากมิค่อยพบเห็นการบันทึกไว้ แต่ผมคิดว่าเขาน่าจะเคยเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะผมเคยอ่านผลงานเรียงความว่าด้วยเรื่องความเป็นไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เขาส่งเข้าประกวด และได้รับรางวัลที่หนึ่งจากเงินทุนพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เฉกเช่นเดียวกันกับ เตียง ศิริขันธ์  โดย เตียง ได้รับรางวัลประจำปี พ.ศ. 2471 ซึ่งปีนั้น ทางคณะกรรมการกำหนดให้แต่งเรียงความเข้าประกวดหัวข้อ “พระบรมรูปทรงม้า” ขณะที่ เยื้อน ได้รับรางวัลประจำปี พ.ศ. 2472 ซึ่งคณะกรรมการกำหนดให้แต่งเรียงความเข้าประกวดหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงบำรุงพระนครอย่างไรบ้าง”

 


เรียงความเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงบำรุงพระนครอย่างไรบ้าง” ของนาย เยื้อน พานิชวิทย์

 

หลังสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เยื้อน ได้เข้ารับราชการฝ่ายปกครอง เริ่มตั้งแต่เป็นปลัดอำเภอ ก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นนายอำเภอ เท่าที่ผมเคยอ่านข้อมูลผ่านตา พบว่าเขาเคยเป็นนายอำเภออำนาจเจริญในช่วงปี พ.ศ. 2477-2478 ซึ่งยุคนั้นอำเภอนี้ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี (เพิ่งจะยกขึ้นเป็นจังหวัดเช่นปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2536) ผมยังคิดอีกว่าตอนที่ เยื้อน ไปเป็นนายอำเภออาจจะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนไปใช้ชื่ออำเภอบุ่ง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอำเภออำนาจเจริญอีกหนในปี พ.ศ. 2482

ช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และมีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเมื่อวันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เยื้อน น่าจะเข้าเรียนปริญญา “ธรรมศาสตรบัณฑิต” ด้วย เพราะตอนที่เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขาใช้ภาพถ่ายของตนในชุดครุยของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองบนใบปลิวหาเสียง

เยื้อน ตัดสินใจลาออกจากราชการแล้วลงสมัครลงรับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 โดยลงสมัครในเขต 2 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลคือเขาได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ส่วนเขต 1 ผู้ได้รับเลือกคือ ประเสริฐ ธารีสวัสดิ์

เป็นผู้แทนราษฎรยังมิทันครบวาระ เมื่อรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาประกาศยุบสภา จึงมีการกำหนดให้จัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ไม่ทราบแน่ชัดว่า เยื้อน ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ แต่ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขต 1 คือ หลวงประสิทธิ์นรกรรม (เจี่ยน หงสประภาส) ส่วนเขต 2 คือ ฟื้น สุพรรณสาร

ในฐานะชาวอยุธยา เยื้อน ด้วยกัน มีความสัมพันธ์อันดีแนบแน่นกับ นายปรีดี และ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  จึงไม่แปลกเลยที่ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทย (พ.ศ. 2484-2488) เยื้อน จะยินดีเข้าร่วมปฏิบัติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นกับขบวนการเสรีไทยซึ่งนำโดย นายปรีดี อย่างแข็งขัน

เยื้อน ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ลงสมัครในเขต 2 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลคือเขาได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ส่วนเขต 1 ผู้ได้รับเลือกคือ วิโรจน์ กมลพันธ์

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ได้กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มเติม ถัดมาไม่กี่เดือนจึงมีการจัดให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแบ่งออกเป็น 3 เขต จากเดิมที่มีเพียง 2 เขต

ในเขต 2 เยื้อน ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. นายปรีดี พนมยงค์ จึงมาลงสมัครรับเลือกตั้งแทน และก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส. เขต 2 ก่อนที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ดังนั้นเมื่อ พลเรือตรีถวัลย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่กลางปี พ.ศ. 2489 ไปจนถึงปลายปี พ.ศ. 2490 เยื้อนจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี (ไม่สังกัดกระทรวง) และต่อมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตราธิการ

ครั้นเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยคือรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการอันเลวร้ายในเมืองไทย ส่งผลให้ นายปรีดี ต้องลี้ภัยทางการเมืองไประหกระเหินในต่างประเทศ แน่นอนว่า เยื้อน ย่อมถูกมองว่าเป็นกลุ่มก้อนของนายปรีดี เขาจึงถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลเผด็จการทหาร

ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ซึ่งขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนำโดย นายปรีดี  และพลพรรคได้ปฏิบัติการเข้ายึดพระบรมมหาราชวังและประกาศยึดอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. สงคราม เยื้อน ก็เข้าร่วมกับขบวนการนี้เช่นกัน

ตลอดช่วงทศวรรษ 2490 ดูเหมือน เยื้อน จะถูกลดบทบาททางการเมืองไป แต่อุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยของเขามิเคยเสื่อมคลายลง ที่สำคัญคือ ถึงแม้จะไม่มี นายปรีดี อยู่ในเมืองไทยแล้ว แต่เขาก็ยังสานสัมพันธ์กับครอบครัวของรัฐบุรุษอาวุโสชาวอยุธยาด้วยกัน

ความสัมพันธ์ระหว่าง เยื้อน กับ ปาล พนมยงค์ ได้ปรากฏเด่นชัดในคราวที่ทั้งสองคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยกัน

สืบเนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปเมื่อวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งผลออกมาว่าพรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนท่วมท้น แต่กลับยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูถึงกรณีที่พรรคนี้ใช้วิธีฉ้อฉลเพื่อโกงการเลือกตั้งอย่างเลวร้ายที่สุด ถึงกับมีถ้อยคำเอ่ยขานกันว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก”

ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 แล้วแต่งตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ก่อนจะกำหนดให้จัดการเลือกตั้งขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500

ปาล และ เยื้อน ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ชำระเงินค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวน 3,000 บาท ตอนนั้นแบ่งเขตการเลือกตั้งเป็น 14 เขตตามอำเภอต่างๆ ได้แก่ ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา, เสนา, ผักไห่, บางบาล, บางไทร, บางปะอิน, วังน้อย, อุทัย,ท่าเรือ, มหาราช, นครหลวง, บางปะหัน, ลาดบัวหลวง และภาชี  โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 16 ราย ดังต่อไปนี้

 

เบอร์ 1 นายสง่า ฐิติวัฒนา
เบอร์ 2 นายสมศักดิ์ ชมจันทร์
เบอร์ 3 นายวิเชียร นัยฤกษ์
เบอร์ 4 นายนิคม สุขพัฒน์ธี
เบอร์ 5 พันตรี หลวงบรรหารศุภวาท
เบอร์ 6 พันตรี หลวงจบกระบวนยุทธ
เบอร์ 7 นายวิโรจน์ กมลพันธ์
เบอร์ 8 นายปาล พนมยงค์
เบอร์ 9 นายเยื้อน พานิชวิทย์
เบอร์ 10 นายประเสริฐ บุญสม
เบอร์ 11 หม่อมราชวงศ์ชัชวลิน เกษมศรี
เบอร์ 12 นายชิต ชาญไชย
เบอร์ 13 นายตุ๊ โกมลภิส
เบอร์ 14 นายมรกต ศรีดิษฐ์
เบอร์ 15 นายลมูน เมืองขุนรอง
เบอร์ 16 นายประคอง ศรีประพันธ์

 

เนื้อความในลิขิตหรือจดหมายลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2500 จาก พระภิกษุสุพันธ์ วายุภาพ แห่งวัดพนมยงค์เผยให้เห็นว่าในบรรดาผู้สมัครทั้งหมดนั้น มีอยู่สามคนที่อุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยตรงกัน ร่วมเป็นทีมเดียวกันและช่วยกันหาเสียง นั่นคือ นายวิโรจน์ เบอร์ 7, นายปาล เบอร์ 8 และ นายเยื้อน เบอร์ 9

 

“คุณปาลที่รัก

คุณปาล เรื่องราวของคุณ เรื่องผู้แทนนั้น บัดนี้คืบหน้าไปถึงไหนไม่ทราบแล้ว ขอให้คุณส่งข่าวให้ทราบบ้าง ฉันเป็นห่วงคุณอยู่ตลอดเวลา ส่วนทางฉันได้ข่าวคืบหน้ามาอีกเล็กน้อย แต่ก็รู้สึกตื่นเต้น  ในข่าวบ้างเล็กน้อย เพราะข่าวที่ทราบมาก็เกี่ยวกับเรื่องของคุณ

ที่ฉันได้ข่าวมาก็ทราบว่าคะแนนเสียงของคุณเวลานี้เข้าไปถึง 75% แล้ว ฉันขอแสดงความดีใจด้วยเป็นอย่างมาก ส่วนที่ยังตกอยู่มากและก็น่าวิตกก็คือคุณยังเข้าไกล้ชิดประชาชนชั้นตาสีตาสาทางแถบบ้านนอกๆ ยังไม่สมบูรณ์ ขอให้คุณสละเวลาให้มากกว่าที่ปฏิบัติอยู่ทุกๆ วันนี้ เพื่อไปพบกับประชาชนชั้นตาสีตาสา และพูดให้พวกนี้ฟังถึงเรื่องคุณอาว์หลวงว่าแนวทางมันเป็นอย่างไรมาอย่างไร และอธิบายให้พวกนี้ฟังให้เข้าใจว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร เพราะพวกตาสีตาสาทางบ้านนอกๆ ยังเข้าใจผิดอยู่มากตามเสียงพูดกันว่าคุณอาว์หลวงเป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวงทั้งนั้น ฉันได้ยินแล้วฉันเศร้าใจมาก แต่ฉันจะอธิบายอะไรให้เขาเหล่านั้นฟังไม่ได้ เพราะเรื่องอย่างนี้มีบางข้อขัดต่อพระวินัย เพราะฉันเป็นพระ เห็นมีอยู่ก็ตัวคุณเองพอจะพูดให้เขาเหล่านั้นเข้าใจได้ สำคัญอยู่ที่พวกบ้านนอกเท่านั้น ส่วนในเมืองนี้คะแนนเสียงเข้าไปกว่าครึ่งแล้ว ฉันขอให้คุณจงใช้ความพยายามให้มากกว่านี้อีกสักหน่อย ส่วนฉันจะออกไปยุ่งกับเขาไม่ได้เพราะขัดต่อพระวินัยหลายข้อ แต่ก็คงยังไม่หมดความพยายามพูดกับพวกๆ กันที่พอจะไว้ใจกันได้ ให้พิจารณาเบอร์ 7-8-9 ก่อนในอันดับแรก ส่วนทางอื่นก็ขอเอาใจช่วยคุณอยู่ทุกๆ ลมหายใจเข้าออกของฉันเลย ทั้งนี้และทั้งนั้นที่ฉันเขียนจ.ม.มาถึงคุณนี้ เพื่อเล่าให้คุณได้ทราบถึงเรื่องและจิตต์ใจของประชาชนทางแถบบ้านนอกๆ ขอคุณจงอย่าคิดว่าจ.ม.ฉะบับนี้ของฉันเป็นจ.ม.สั่งสอนคุณ เท่าที่เขียนมานี้ก็เพื่อเล่าให้คุณฟังและหวังอยากจะให้คุณได้เป็นผู้ผ่าน การคัดเลือกของประชาชนเข้าไปนั่งในสภาเป็นอันดับที่ 1 และก็หวังว่าคงจะสมหวังของฉัน ในจำนวนผู้แทนสิบกว่าเบอร์

สุดท้ายนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะคุยอีกเพราะยังไม่มีข่าวอะไร ถ้ามีข่าวใหม่อีกจะจ.ม.ไปเล่าให้คุณฟังภายหลัง ในที่สุดนี้ ฉันขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งสักสิทธิ์ในสากลโลกจงบันดาลให้คุณ          และท่านอาจารย์วิโรจน์ กับท่านอาจารย์เยื้อนจงประสพความสุขและความสำเร็จทุกประการเทอญ

รักคุณเสมอ
พระภิกษุสุพันธุ์ วายุภาพ
วัดพนมยงค์ อยุธยา”

 

นายวิโรจน์และนายเยื้อนเคยเป็น ส.ส. เก่าในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ถือว่ามีประสบการณ์และน่าจะช่วยชี้แนะแนวทางให้นายปาลได้เป็นอย่างดี

ยังปรากฏใบปลิวโฆษณายากำลังดีงูเห่าที่แก้อาการปวดเมื่อย แก้กษัย และเลือดลมของผู้หญิง จัดจำหน่ายโดยนายนาม สกุลเนตร และจัดพิมพ์โดยกิ่งแก้วการพิมพ์แห่งบ้านแพรก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอมหาราช ได้นำเสนอบทกลอนโดยของชาวบ้านแพรกที่แสดงออกถึงการสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสามคน โดยมีบทสำคัญที่เอ่ยนามว่า

 

“เลือกผู้แทนคนดีมีประโยชน์     เลือกวิโรจน์ ปาล เยื้อน เป็นเพื่อนท่าน
จะช่วยทุกข์ บำรุงสุขตลอดกาล     เป็นปากเสียงแทนท่าน ทุกวันเอย”

 

ปาล, วิโรจน์ และเยื้อน ได้ร่วมเดินทางไปหาเสียงด้วยกันเนืองๆ ตามท้องที่ต่างๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นการพบปะชาวบ้านในพื้นที่กิ่งอำเภอบางซ้ายซึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอเสนา การหาเสียงที่ตำบลเจ้าเจ็ด เขตอำเภอเสนา หรือการพบปะชาวบ้านที่อำเภอผักไห่ จึงทำให้คนรุ่นอาอย่างวิโรจน์ และเยื้อนกับคนรุ่นหลานอย่างปาลรักใคร่สนิทสนมราวกับเป็นครอบครัวเดียวกันแท้ๆ เพราะได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ผลปรากฏออกมาทั้งปาล, วิโรจน์ และเยื้อนไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎร เพราะสู้กับการซื้อเสียงหนักหน่วงมิได้  ทั้งสามคนยังถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับ นายปรีดี ซึ่งยังมีคนจำนวนมากหลงเชื่อว่ามีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ตามที่ฝ่ายตรงข้ามของมักหยิบยกมาโจมตี โดยเฉพาะ ปาล ผู้เป็นบุตรชาย ย่อมจะโดนโจมตีอย่างหนัก ส่วน วิโรจน์ และ เยื้อน แม้จะเป็น ส.ส. เก่า น่าจะมีฐานเสียงและได้รับความนิยมจากชาวอยุธยา แต่พอถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเดียวกับ นายปรีดี คะแนนเสียงก็ตกต่ำลงไปอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้กระมัง ปาล จึงระลึกว่าทั้ง วิโรจน์ และ เยื้อน เป็นคนรุ่นอาที่เขาควรเคารพรัก เพราะในวันที่ไม่มีบิดาอยู่ใกล้ชิดในเมืองไทย อย่างน้อยก็มีคุณอาทั้งสองเป็นมิตรแท้  โดยเฉพาะ คุณอาเยื้อน ที่ในวัยชราต้องเจ็บไข้ได้ป่วยถูกโรคมะเร็งเล่นงานจนนอนซม ณ โรงพยาบาลเลิดสิน ปาลจึงเดินทางไปเยี่ยมบ่อยๆ และเอ่ยปากว่า “อย่าให้ผมเป็นโรคเหมือนกับคุณอาเลยเพราะทรมานมาก...”  ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ในร่างกายของ ปาล เองได้บังเกิดโรคมะเร็งขึ้นแล้ว แต่ยังไม่รู้ตัว ต่อมาเมื่อรู้เข้า จึงสั่งเสียว่าถ้าจะต้องตายก็ขอให้จัดการศพแบบคุณอาเยื้อน นั่นคือยกร่างให้กับทางโรงพยาบาล เพื่อนักศึกษาแพทย์จะได้ใช้ศึกษาทางกายวิภาค

ความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นหลานอย่าง ปาล พนมยงค์ กับคนรุ่นอาอย่าง เยื้อน พานิชวิทย์ จึงเป็นอะไรที่น่าประทับใจและมีแง่มุมให้ใคร่ครวญขบคิดเกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิตมนุษย์เรา

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ กับ ปาล นับเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งสองเคยเป็นนักศึกษาโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเฉกเช่นเดียวกัน

ปาล เข้าเรียน ต.ม.ธ.ก เป็นรุ่นที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2489  ส่วน สัมผัส เข้าเรียน ต.ม.ธ.ก. เป็นรุ่นที่ 7  เมื่อปี พ.ศ. 2487 และเรียนจบเมื่อปี พ.ศ. 2489 แล้วก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

สัมผัส เป็นชาวพิษณุโลก เกิดในตระกูลชาวนาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 เขาจึงอายุแก่กว่า ปาล ราว 5 ปี โชคดีที่พี่ชายของเขาเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนจนสำเร็จวิชาครู มีเงินเดือนพอใช้ จึงรับน้องชายอย่างเขามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ด้วย

สัมผัส เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดอนงค์ ก่อนจะไปเข้าเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข จบ ม.6 ก็สอบเข้าเรียน ต.ม.ธ.ก. ซึ่งเป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ยุคนั้นยังใช้อาคารเรียนหลังคามุงจาก

ในด้านความทรงจำเกี่ยวกับ นายปรีดี นั้น สัมผัส เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่มสอง (พ.ศ. 2486-2490) เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีความตอนหนึ่งว่า

 

“ท่านผู้ประศาสน์การท่านให้ความเมตตานักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์  แจกสมุด แจกดินสอ  สมัยนั้นสงครามอัตคัด หนังสือหนังหา แล้วบางทีท่านก็เดินมาดู ท่านมาเยี่ยมมาเยียน เอาใจใส่เหมือนลูกเหมือนหลาน  และก็สร้างโรงอาหาร (เดี๋ยวนี้มันถูกรื้อไปแล้ว) ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ โดยเฉพาะกับท่านอาจารย์ มันเหมือนพ่อกับลูก โดยเฉพาะพวกที่มาจากบ้านนอก  กับพวกครูก็เหมือนกัน  สมัยนั้นเราไม่เรียกอาจารย์หรอก  เรียกกันแต่ว่า “ครู” มันไม่เหมือนครูบาอาจารย์สมัยนี้หรอก  สอนเสร็จแล้วก็กลับบ้านไปแล้ว สมัยนั้นถึงเวลากลับบ้านไปแล้ว  บางทียังมานั่งเล่นอยู่ใต้ร่มโพธิ์บ้าง อะไรบ้าง คือมีอะไรก็เข้าไปหาได้ตลอดเวลาทุกคน ทุกท่านเลย ไม่ต้องมานัดล่วงหน้าแบบสมัยนี้”

 

บ่ายวันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2566 ผมสบโอกาสร่วมสนทนาและสัมภาษณ์ คุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ในวัย 96 ย่าง 97 ปี ซึ่งคุณลุงได้เล่าถึง นายปรีดี ว่า นักศึกษา ต.ม.ธ.ก. พอแลเห็นอาจารย์ปรีดีเดินเข้ามาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็จะส่งเสียงแซวกันว่า “พ่อมาเว้ย”  อาจารย์ปรีดีนั่งทำงานอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง พอเลิกงานมักจะเดินเข้ามาในมหาวิทยาลัย บางทีแต่งกายเพียงสวมเสื้อยืด นุ่งกางเกงขาก๊วย สวมรองเท้าแตะ เดินเข้าทักทายพูดคุยกับนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาที่มาจากบ้านนอก เป็นคนต่างจังหวัด หรือนักศึกษาที่มีฐานะฝืดเคืองยากจน อาจารย์ปรีดีจะสนใจเป็นพิเศษ ท่านจะถามว่า “ไอ้หนู มาจากจังหวัดไหน พ่อแม่ทำอะไร"” คุณลุงสัมผัสย้ำอีกว่า ทั้งนักศึกษา ต.ม.ธ.ก. และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองล้วนรักใคร่อาจารย์ปรีดี เพราะท่านไม่ค่อยวางมาดขึงขัง แสดงตนเป็นกันเองกับนักศึกษาทุกคน

 

"ปรีดิวิชญ์ บุตรชายของปาล พนมยงค์ และทีมงาน เข้าเยี่ยมพูดคุยกับคุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ในวัย 90 ปี" จากซ้าย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ์, ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ บุตรชายของปาล พนมยงค์ พร้อมทีมงาน เข้าเยี่ยมพูดคุยกับคุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ในวัย 96 ปี
 

หลังเหตุการณ์รัฐประหารต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ส่งผลให้ นายปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยต้องลี้ภัยทางการเมือง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็ถูกคุกคามจากรัฐบาลเผด็จการทหารสารพัดรูปแบบ ยิ่งภายหลังที่ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 นำโดย นายปรีดี ประสบความพ่ายแพ้ รัฐบาลก็พยายามเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานและควบคุมพื้นที่สถานศึกษาแห่งนี้ เริ่มด้วยการส่งกองทหารรักษาดินแดนมาประจำในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนคณะผู้บริหารให้มีคนของรัฐบาลเข้ามาดำเนินงาน ยิ่งพอหลังจากเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 รัฐบาลก็ส่งกำลังทหารบกเข้ายึดมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่า “ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย” ทั้งยังไม่สนใจว่านักศึกษาจะไม่มีที่สำหรับเรียนหนังสือ สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่นักศึกษาอย่างมาก

แล้วในที่สุดก็มีความเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องทวงคืนมหาวิทยาลัยจากรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยแกนนำนักศึกษาคนสำคัญก็มี ปาล และ สัมผัส ร่วมอยู่ด้วย

สัมผัส ส่งเสียงเล่าถึงเรื่องนี้ว่า

 

“ตอนนั้นเราก็คิดว่าขบวนการนักศึกษาธรรมศาสตร์คงถึงกาลล่มสลายแล้ว  เพราะเราสู้ลูกปืนไม่ได้  ตอนนั้นผมอยู่ปี 4 เป็นเลขานุการ คณะกรรมการนักศึกษาด้วย แต่เราก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียวการต่อสู้ของเราเริ่มต้นด้วยการวิ่งเต้นหาที่เรียน  คณะต่างๆของธรรมศาสตร์ตอนนั้นยังพอ มีเรี่ยวแรงเหลืออยู่ คณะนิติศาสตร์ไปอาศัยที่เรียนที่เนติบัณฑิต  คณะบัญชี เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ไปเรียนเตรียมอุดมของจุฬาฯ เพราะของจุฬาฯ เขาไม่ได้โดนยึดด้วย คือขอใช้พื้นที่ในโรงเรียนเตรียมฯ แล้วก็เรียนกันเวลากลางคืนอย่างเปิดเผย

ผลที่สุด นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนก็ได้คิดว่าเราต้องรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแล้วต่อสู้เพื่อเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน  คณะกรรมการนักศึกษาก็เป็นแกนนำ ไอ้เรื่องรวมพลังนักศึกษามันรวมอยู่แล้ว  ไม่มีปัญหา  เพราะมันต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 เราจึงได้กระจายกำลังกัน ส่วนหนึ่งก็ไปหารุ่นพี่ที่จบไปทำงานอยู่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อีกส่วนหนึ่งก็ไปในหมู่นักหนังสือพิมพ์และการสื่อสารมวลชน  ก็ให้หนังสือพิมพ์ช่วยลงบทความ  ตอนนั้นก็มีเดลินิวส์สมัยนั้นชื่อเดลิเมล์ ข่าวภาพพิมพ์ไทย ซึ่งมีศิษย์เก่า อาจารย์นิกร สิงหสมัยทำงานอยู่ และอีกคนหนึ่งก็ไปหานักการเมือง หาพวกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปเรียกร้องหาความเป็นธรรมว่าพวกผมไม่มีที่เรียนแล้ว ไม่รู้จะเรียนที่ไหนอนาคตมืดมนแล้ว แล้วมหาวิทยาลัยที่อาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ ก่อสร้างมาเพื่อเป็นรากฐานประชาธิปไตยถูกทำลายหมดแล้ว แล้วอนาคตของประเทศจะให้เป็นยังไง มันก็กลายเป็นพลัง”

 

สัมผัส ยังขยายความต่อ

 

และแล้วในวันที่ 11 ตุลาคม 2494 ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์อย่าง ส.ส. เพทาย โชตินุชิต ส.ส. ธนบุรี ก็ได้ยื่นกระทู้ถามเรื่องการที่คณะนายทหารเข้ายึดธรรมศาสตร์ว่า มีวัตถุประสงค์อะไร จะคืนให้ไหม เมื่อไร พวกเราได้ข่าวเรื่องนี้ก็รวมพลนักศึกษา คือไม่เชิงเป็นขบวนเพราะจัดกระจายกันไป ขึ้นรถเมล์ไปบ้าง เดินไปบ้าง อะไรไปบ้าง เพราะถ้าเป็นขบวนเดี๋ยวถูกปราบ พอไปถึงสภาก็เข้าทางหน้าบ้าง หลังบ้าง หลายๆประตูแล้วก็รวมตัวกันได้สำเร็จในสภาเต็มไปหมด  พอราวสัก 11 โมง รัฐบาลก็ให้พลโทสวัสดิ์ ส. สวัสดิเกียรติ  ซึ่งเป็นอธิการบดีและรัฐมนตรีศึกษาฯสมัยนั้น เป็นผู้ตอบกระทู้ในสภาว่า ไม่สามารถจะคืนให้ได้เพราะเป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว

ตอนนั้นมันใกล้จะเที่ยงแล้ว พวกเราที่ยืนกระจายกันฟังมาตั้งแต่สิบเอ็ดโมง พอได้ยินรัฐบาลตอบว่าไม่ให้แล้วก็รวมกันมาชุมนุมที่หน้าสภาเลย พวกเราไปฟังกันเป็นพันๆคน  มันมีการกระจายเสียงไปตามสโมสรสภาบ้าง อยู่หน้าประตูบ้าง อยู่ใต้ต้นไม้บ้าง  พอตอบว่าไม่ให้ปุ๊บ ในกลุ่มนักศึกษาก็มีคนถามขึ้นมาเสียงดังว่า “รัฐบาลได้ตอบแล้วว่าไม่ยอมคืนมหาวิทยาลัยให้พวกเราจะทำยังไง” พวกเราทั้งหมดก็ตอบพร้อมกันว่า “สู้ สู้”

ว่าแล้วก็ยกขบวนมารวมพลอยู่หน้าทางลงสภา  พอจอมพล ป. ลงมาจากสภากำลังจะกลับ  พวกเราก็กรูเข้าไปล้อมเลย  จอมพล ป.อยู่ในวงล้อมของนักศึกษาแล้ว  ทหารตำรวจที่คุ้มกันเขาก็ยืนอยู่ แต่จะทำอะไรล่ะ  พวกเรามีกันอยู่ราว 3,000 คน  เยอะแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน  ทีนี้จอมพลก็ตกอยู่ในวงล้อม

พวกเราต่างคนต่างก็พากันเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืน  บ้างก็ว่า “ผมไม่มีที่เรียน” “ผมต้องไปเรียนที่เนฯ” “ผมต้องไปเรียนที่จุฬาฯ” “กลางคืนก็ฝนตก เปียก เรียนไม่เต็มเม็ด ไม่เต็มหน่วย ต้องกลับบ้านค่ำมืด” ฯลฯ เราก็ช่วยกันโอดครวญ คนโน้นพูดมั่ง คนนี้พูดมั่ง  ทีนี้จอมพลอยู่ในฐานะที่อยู่ในวงล้อมนักศึกษา และเมื่อฟังเหตุผลที่นักศึกษาเสนอกันไปเขาก็เถียงไม่ออก  ตอนนั้นแดดจวนเที่ยง ในความรู้สึกของพวกเราตอนนั้น ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยคืนเราก็ไม่กลับ ตายเป็นตาย”

 

เมื่อถูกนักศึกษากดดันอย่างหนัก  ในที่สุด จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีจึงเอ่ยถามว่าจะสอบเมื่อไร พอนักศึกษาตอบว่าจะสอบเดือนพฤศจิกายน จอมพล ป. ก็รับปากว่าจะคืนมหาวิทยาลัยให้ก่อนสอบ

นักศึกษาส่งเสียงโห่ร้องไชโย ไชโย กันเสียยกใหญ่ แต่การณ์มิได้ราบรื่นเป็นไปดั่งที่ สัมผัส และผองเพื่อนคนหนุ่มในขณะนั้นคาดคะเน

 

“จริงๆ แล้วหลังจากทวงคืนมหาวิทยาลัยคืนได้แล้วเรื่องก็ยังไม่ยุติ  ยังมีการติดตามคุกคามนักศึกษาจนถึงวันที่เราจัดงานครบรอบปีในการทวงมหาวิทยาลัยคืนได้  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2495 เฉลิมฉลองการได้มาซึ่งมหาวิทยาลัย  มีการทำบุญ ใส่บาตร การจัดอภิปราย แล้วกลางคืนก็มีการแสดงละคร  ตรงข้างหลังสนามบอล  ก็แต่งละครเรื่องพลิกแผ่นดิน  แล้วก็ปล่อยนกพิราบ 5-6 ตัวเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ  เริ่มงานพิธีปุ๊บ  ก็ปล่อยนกพิราบ  นกพิราบมันก็บิน  พวกเราร้องไชโย  วันนั้นมันไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาธรรมศาสตร์ พวกจุฬาก็มา เกษตรก็มา สวนกุหลาบก็มา มาร่วมฉลองยินดีกับเราด้วย  เอาช่อดอกไม้มาร่วมงาน  มันกลายเป็นไม่ใช่ขบวนการนักศึกษาธรรมศาสตร์แล้ว  มันกลายเป็นขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษาของประเทศไทย  เป็นพลังขึ้นมาเกิดเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อสันติภาพ เพื่อประชาธิปไตย ทีนี้คณะรัฐบาลมันก็ตกใจสิ พอหลังจากนั้นผมก็กลับบ้านนอน 3 วัน 3 คืน  เพราะก็เหนื่อยมาก ต่อมาวันที่ 5 6 7 8 9 10 พฤศจิกา เกิดการกวาดล้างใหญ่  คณะกรรมการนักศึกษาชุดนั้นถูกจับไปเกือบหมด”

 

ส่วนเหตุที่ สัมผัส ถูกจับกุมตัวไปนั้นก็เพราะ

 

“ผมนี่วันนั้นก็แวะมาที่สโมสรนิติบัณฑิต  เพราะปกติก็จะมีนักศึกษาที่อื่นมาพบ  มาปรึกษา มาเยี่ยมเยือนตลอด  เด็กพนักงานสโมสรก็ขึ้นมาตามบอกว่า “พี่ๆ” มีแขกเขามาขอพบข้างล่าง” “เออ  บอกให้เข้ามา” เขาบอกว่าเขาขอเวลาประเดี๋ยวเดียว” เราก็ลงไป เห็นเป็นคนรูปร่างใหญ่ ใส่เสื้อคอกลม ใส่สร้อยเส้นเบ่อเริ่มเลย เราก็เห็นท่าไม่ดี เขาก็ว่า “มีท่านผู้ใหญ่รออยู่หน้ามหาวิทยาลัย” ไอ้เราก็ใจดีสู้เสือเดินตามมันไป  ไปถึงปุ๊บมันก็เอาขึ้นรถเก๋งไปคนเดียว  ปรากฏว่ามาเอาผมไปขังไว้ที่ตึกสันติบาล ตั้งแต่เช้ายันเย็น เราก็ไม่รู้มันเรื่องอะไร แต่พอสัก 5 โมงเย็น เขาก็เอาบรรดาพวกที่ถูกจับมามีทั้งมารุต คุณชาญ คุณประเสริฐ หัวหน้ารัฐศาสตร์ คุณเฉลียว หันไปก็เห็นคุณสมบัติ สุวรรณชีพ หัวหน้านักศึกษาหญิง เห็นเพื่อนหลายคนเราค่อยใจชื้นหน่อย

ตอนหลังก็ได้รู้ว่ายังมีคนถูกจับอีกหลายคนทั้งคุณปาลและท่านผู้หญิง คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คุณเจริญ สืบแสง คุณสมัคร บุราวาส เรียกว่าโดนจับกันทั้งหมด  เสร็จแล้วมันก็แยกพวกเรา ไปขังตามโรงพัก  ผมนี่มันส่งไปขังที่บางซื่อซึ่งผมไปเจอคุณกุหลาบที่นั่น  แกถูกเอาไปขังก่อน แล้วผมก็ตามไป แกก็ถามว่า “อ้าว คุณมาจากที่ไหน” “ผมมาจากธรรมศาสตร์” “อ้าว มาๆ มาอยู่ด้วยกัน” พอขังได้ 7 วัน มันก็ฝากขังในข้อหากบฏภายในภายนอกราชอาณาจักร พอครบอำนาจขังตำรวจ 7 วัน มันก็ไปสร้างเรือนจำชั่วคราวอยู่ในกองสันติบาล เอาพวกเราไปรวมกัน 100 กว่าคนด้วยข้อหากบฏ ที่ ไปเจอกันในนั้น เท่าที่จำได้ก็ยังมีคุณเปลื้อง วรรณศรีที่เปิดไฮด์ปาร์ค คุณอุทธรณ์ พลกุล ก็เป็นทำงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แล้วก็มี ส.ส. เจริญ สืบแสง พวกต่างจังหวัดก็มีพวกศรีสะเกษ พวกชาวนา เราถูก  ขังอยู่ด้วยกัน 3 เดือน  แต่ท่านผู้หญิงแยกขัง ส่วนคุณปาลถูกขังอยู่ด้วยกันกับเรา

 


จากซ้ายคือ ปาล พนมยงค์, อารีย์ อิ่มสมบัติ, สิงหชัย บังคดานรา (เจ้าของนามปากกา "นเรศ นโรปกรณ์") และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ นักศึกษาที่ถูกจับในกรณีกบฏสันติภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2495

 

ก็ด้วยการที่ต้องมาเป็นเพื่อนร่วมคุกกันนี่แหละ ความสัมพันธ์ระหว่าง ปาล กับ สัมผัส จึงกระชับแนบแน่นขึ้น เพราะมิใช่แค่เพื่อนร่วมอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมเท่านั้นแล้ว บัดนี้ยังเป็นเพื่อนร่วมเผชิญชะตากรรมแสนทุกข์เข็ญในคุก สัมผัส ย้อนรำลึกความหลังว่า

 

“ตอนนั้นคุณปาลเป็นพลทหาร  ขนาดเป็นลูกรัฐบุรุษอาวุโส นายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการมันยังเอาไปเป็นทหารอยู่คอกม้า  พวกเราก็ยังหวังว่าเราไม่ผิดนี่ อัยการก็คงปล่อย  แต่แล้วมันก็ปล่อยเฉพาะบางคน  อย่างมารุตกับบัญชานี่เขาปล่อย

แต่คนที่เป็นแกนๆอย่าง ผม อารีย์ อิ่มสมบัติ บก.ธรรมจักร คุณปาล คุณนเรศ นโรปกรณ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นคนที่เอาบทความของคุณอุทธรณ์ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับราชบัลลังก์กษัตริย์ รวมมีคนถูกฟ้อง ทั้งหมด 58 คน ก็ถูกเอาขึ้นรถไปเข้าเรือนจำลหุโทษ

ตอนนั้นพวกรุ่นใหญ่ก็มีคุณกุหลาบ คุณสมัคร คุณอุทธรณ์ คุณเปลื้อง ส่วนพวกเรามีผม มีคุณปาล มีคุณนเรศ ไปอยู่ในห้องเดียวกัน

นักศึกษาหญิงตอนขึ้นไปฟังคำสั่งว่าจะฟ้อง หรือไม่ฟ้อง เขาร้องไห้ เราก็บอกว่า “คุณไม่ต้องร้องไห้หรอก เราต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม” แต่พอเข้าไปถึง โอ้โห บรรยากาศในเรือนจำ มันกลับไปอยู่ในโลกที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เสียงโซ่ เสียงตรวนของพวกนักโทษ กระทบกันดังเกร๊ง กร๊างๆ เดินถอดเสื้อ นุ่งกางเกงชั้นใน มันรู้สึกว่า อ๋อ นรกมันมีจริง

ข้างนอกพวกรรมการนักศึกษาชุดใหม่เขาก็ดำเนินการต่อไป  แต่ว่ามันก็ถูกจำกัดสิทธิ ไอ้ความรู้สึกลึกๆ มันก็ยังอยู่ แต่มันยังสู้ไม่ได้ กิจกรรมนักศึกษาก็ยังมีดำเนินต่อไป ส่วนพวกเราก็ถูกส่งต่อไปอยู่บางขวางเป็นเวลา 3 ปีกว่า วันไหนพิจารณาคดีเขาก็เอารถไปรับจากบางขวางมาศาล ก็ได้มาพบปะญาติพี่น้อง ระหว่างพิจารณาคดีตำรวจล้อมรอบ

ตอนนั้นคุณปาลอายุน้อยกว่าเพื่อน เป็นทหารอายุแค่ 22 ปี ผมตอนนั้นราว 24, 25 นเรศก็ราว 23, 24 อารีย์ปีเดียวกับผม พวกนักศึกษา ทีนี้ระหว่างอยู่ในคุก เราก็มีอาจารย์กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นนักเขียน คุณสมัคร บุราวาสเป็นราชบัณฑิต และก็คุณสุภัทร มหาบัณฑิต จึงเปิดการเรียนการสอนในคุก คุณกุหลาบก็สอนวิชาการประพันธ์ การเขียน คุณสมัครก็สอนปรัชญา คุณสุภัทรก็สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ พวกศรีสะเกษ เป็นชาวนาก็มาเรียนหนังสือ อ่านออกเขียนได้กันในคุก บางคนก็ไปเรียนภาษาจีน ภาษาอังกฤษกับคนที่มีความรู้ในนั้น คือเปิดโรงเรียนกันในคุกเลย ก็กลายเป็นมหาวิทยาลัยติดคุก”

 

ปาล ยังคงตราตรึงในความรู้สึกของ สัมผัส นั่นคือสิ่งที่ผมสัมผัสได้จากการสนทนาเมื่อบ่ายวันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2566 แม้ความชราในอายุเฉียดร้อยจะทำให้ความทรงจำเริ่มเลือนๆ ลงไปบ้าง

ความสัมพันธ์ที่ ปาล พนมยงค์ ได้แสดงต่อ เยื้อน พานิชวิทย์ และ สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนที่มีน้ำใจเปี่ยมล้นมิตรภาพของเขา ซึ่งก็คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยถ้าจะบอกว่า ใครๆ ก็รักปาล” ไม่ว่าจะเป็นมิตรสหายรุ่นราวคราวเดียวกันหรือผู้ที่อาวุโสกว่าก็ตามที

 


คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ บุตรชายของคุณปาล พนมยงค์ และคุณลุงสัมผัส พึ่งประดิษฐ์

 

เอกสารอ้างอิง

เอกสารชั้นต้น

  • จดหมายของพระภิกษุ สุพันธ์ วายุภาพ ถึงคุณปาล พนมยงค์ ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).
  • บัญชีแสดงสถิติการรวมคะแนนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).
  • เอกสารที่ 6212/2500 เรื่อง อนุญาตให้มีการชุมนุมโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้เครื่องขยายเสียง ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2500 (ยังไม่ตีพิมพ์).

แหล่งอ้างอิงอื่นๆ

  • พระราชกรณียกิจ ร.5 5 เรื่อง. ธรรมบรรณาการงานพระราชทานเพลิงศพ พระมงคลวัตรกวี (คอน จิตตนิธิ) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม พระนคร 12 ธันวาคม 2504. พระนคร: โรงพิมพ์สีไทย, 2504
  • เรียงความยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับได้รับรางวัลที่ 1 เริ่มแต่พุทธศักราช 2467-2499. พิมพ์ในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระปิยมหาราชาธิราชเจ้า. พระนคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510
  • วิชชุกร นาคธน. นักการเมืองถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2555.
  • อนุสรณ์นายปาล พนมยงค์ คำไว้อาลัยกับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525.
  • อังคาร จันทร์เมือง, กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล. ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. 2481-2490 เล่มสอง (พ.ศ. 2486-2490). วารุณี โอสถารมย์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554