ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การร่างรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับแรกของสยาม จากทรรศนะของคณะราษฎร นายปรีดี พนมยงค์ และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

27
ธันวาคม
2566

Focus

  • ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ ธรรมนูญการปกครองที่ร่างขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระนามและให้เป็นฉบับชั่วคราว หลังจากนั้น ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงมีการประกาศใช้ฉบับถาวรที่สภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำขึ้น
  • ในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยคณะอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองฯ 9 คน ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ จากคณะราษฎรเพียงคนเดียวร่วมอยู่ด้วยนั้น ผู้เป็นประธานคณะอนุกรรมการ คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรี)
  • ข้อสังเกตที่น่าสนใจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อาทิ สาระของร่างให้เปิดเผยแก่สาธารณะ ไม่ถือเป็นความลับ โดยมีการถกเถียง ต่อรอง และประนีประนอมกัน ในประเด็นสำคัญๆ คือ (1) อำนาจอธิปไตย (2) พระราชอำนาจ (3) การสืบราชสมบัติ (4) การใช้คำเรียกคณะกรรมการราษฎร (5) การกำหนดบทบาททางการเมืองของพระบรมวงศานุวงศ์ และ (6) ข้อกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย
  • รัชกาลที่ 7 ทรงพอพระทัยต่อบทบัญญัติที่จัดทำเสร็จ และทรงถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นของสําคัญ ยิ่งใหญ่ และศักดิ์สิทธิ์ จึงให้เขียนใส่สมุดไทย กำหนดฤกษ์ และจัดพิธีพระราชทานอย่างสมเกียรติ โดยสัญลักษณ์ของการพระราชทานรัฐธรรมนูญและพานแว่นฟ้าแสดงถึงรัฐธรรมนูญในสองทาง คือ คณะราษฎรถวายและรัชกาลที่ 7 ประทานกลับคืนมา ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ใช้บังคับยาวนานที่สุด คือ 13 ปี 4 เดือน​ 29 วัน แต่กระนั้นประชาธิปไตยไทยในทุกวันนี้ ก็ยังไม่เป็นไปตามที่คณะราษฎรคาดหวัง

 


การประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วง 10 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ที่มาของภาพ: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม หรือ รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยาม หรือมีชื่อย่อที่รู้จักกันในแวดวงผู้ที่ศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นี้ มีงานศึกษาอยู่น้อยชิ้น[1] และมักจะกล่าวถึงในทางนิติศาสตร์กับเกร็ดประวัติศาสตร์หรือสารคดีการเมืองเป็นหลัก ดังนี้ เนื่องในวาระที่ระลึกวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมของทุกปี จึงขอพาทุกท่านย้อนกลับไปอ่านแนวคิดและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยามภายใต้รัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะการนำเสนอความคิดนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรปีกพลเรือนที่เป็นหนึ่งในอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินรวมถึงซึบซับบรรยากาศของการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาครั้งแรกของสยาม

อนึ่ง ข้อควรรู้เบื้องต้นในทางวิชาการคือ งานศึกษาที่ผ่านมามักจะสรุปว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรกำเนิดขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อาจเปิดกว้างให้ผู้อ่านวิเคราะห์ หรือค้นพบมุมมองอื่นที่แตกต่างออกไปจากงานศึกษาที่ผ่านมาเองได้เพราะการอ่านประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญและตัวบทมีความสำคัญด้วยประชาชนคือกลไกหลักที่จะผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงและดำรงซึ่งประชาธิปไตย

 

สังเขปประวัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475

ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพียงสองวันถัดมา ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทางนายปรีดี พนมยงค์ (ในเอกสารชั้นต้นใช้นามว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม-ซึ่งเป็นนามในขณะนั้น) และคณะราษฎรได้ทูลเกล้าถวายธรรมนูญการปกครองแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงรับไว้พิจารณาและได้ทรงพระกรุณาลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ให้ประกาศใช้บังคับและทรงเติมคำว่าชั่วคราวต่อท้ายเพื่อมีจุดมุ่งหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป[2]

กระทั่ง ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการประชุมสภาฯ นัดแรกประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง 70 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการราษฎร และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของสยาม[3] ได้เปิดฉากกล่าวถึงระเบียบวาระที่ต้องตั้งอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองฯ ขึ้นใหม่ให้บริบูรณ์ และนายปรีดีได้แถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสอดรับกันว่าควรจะได้ตั้งผู้มีความรู้ความชำนาญเพื่อตรวจแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองฯ ดังนี้

 

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉะบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะว่าเราได้สร้างขึ้นด้วยเวลาฉุกละหุกกระทันหัน อาจจะยังมีที่บกพร่องอยู่บ้างก็ได้ จึ่งควรที่จะได้ผู้มีความรู้ความชำนาญในการนี้เป็นอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์

 

ต่อมาทางเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีจึงขอให้สมาชิกสภาฯ เลือกอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินจำนวน 7 ราย ได้แก่

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการฯ
  2. นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ
  3. พระยาเทพวิฑุร ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  4. พระยามานวราชเสวี ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  5. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  6. พระยาปรีดานฤเบศร์ ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  7. หลวงสินาดโยธารักษ์ ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ[4]

 

และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตั้งอนุกรรมการฯ เพิ่มขึ้นอีก 2 ท่าน ได้แก่ พระยาศรีวิสารวาจา และนายพลเรือโทพระยาราชวังสันด้วยเหตุผลว่าจะได้ช่วยกันร่างธรรมนูญการปกครองฯ ให้สำเร็จเร็วยิ่งขึ้น[5]

เพียงไม่นานคณะอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองฯ ก็พิจารณายกร่างฯ แล้วเสร็จและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างธรรมนูญการปกครองฯ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 จนถึงวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จสมบูรณ์ และจารึกลงสมุดไทยแล้ว เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้นจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตามฤกษ์ที่กำหนดขึ้นในวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ทั้งนี้มีข้อถกเถียงทางวิชาการที่สำคัญคือ เรื่องการช่วงชิงความหมาย นัย หรือสัญลักษณ์ของการพระราชทานรัฐธรรมนูญและพานแว่นฟ้าในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกนี้โดยทาง ศ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิบายนัยของรัฐธรรมนูญที่ถูกวางไว้บนพานแว่นฟ้าว่า

 

“(พานรัฐธรรมนูญที่ถูกวางอยู่บนพานแว่นฟ้า) หมายความว่ามาจาก two ways คือคณะราษฎรยึดอำนาจได้ แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา จากนั้นรัชกาลที่ 7 ก็ทรงลงพระนาม แล้วส่งคืนให้

ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็น two ways มิใช่ one way อย่างที่เข้าใจ และ/หรือ ที่เชื่อถือกันว่า “พระราชทาน” มาให้อย่างในทุกวันนี้”[6]

 


ภาพ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชพิธีทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของรัฐบาลคณะราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ที่มาของภาพ : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

ส่วนข้อมูลพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนั้นจะมีทั้งหมด 68 มาตรา แบ่งออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม หมวด 3 สภาผู้แทนราษฎร หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 ศาล หมวด 6 บทสุดท้าย เป็นหมวดพิเศษเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหมวด 7 การใช้รัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล ส่วนสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 มี 6 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1 อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยามมีพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้โดยอำนาจอธิปไตยแบ่งออก เป็น 3 ประเภท ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้บังคับใช้ อำนาจบริหารจะมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับใช้ และอำนาจตุลาการที่มีศาลเป็นผู้บังคับใช้

ประการที่  2 พระราชสถานะ บทบาท และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้โดยทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ และมีบทบาททางสังคมวัฒนธรรมคือ ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทั้งทรงมีพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ลงนามในสัญญา สันติภาพ และทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ รวมถึงทรงมีพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ ขณะที่บทบาททางรัฐสภาคือ ทรงเรียกประชุมสภาฯ และปิดสมัยประชุมสภาฯ และยุบสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎร

ประการที่ 3 รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่กำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ไม่ว่าจะทรงอิสริยศโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

ประการที่ 4 ฐานะและวาระในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี องค์ประกอบของสภาฯ จะมีสมาชิก 2 ประเภท ได้แก่ สมาชิกประเภทที่ 1 จะมาจากการเลือกตั้งเ และสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีเงื่อนไขคือจะถูกยกเลิกโดยข้อกำหนดว่าหากมีจำนวนราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรที่จบการศึกษาขั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หรือในระยะเวลา 10 ปี

ประการที่ 5 รูปแบบของคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างน้อย 14 คน แต่ไม่เกิน 24 คน โดยต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร​ประการที่ 6 กำหนดสิทธิและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจน เช่น ความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพของบุคคลในด้านต่างๆ

​แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามจะได้ถูกยกเลิกไปในที่สุดแต่ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการประกาศใช้บังคับยาวนานกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยคือ 13 ปี 4 เดือน​ 29 วัน

 

การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 : ทรรศนะและข้อถกเถียงสำคัญ

 


พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร
และประธานอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

 

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยามมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างธรรมนูญการปกครองฯ จากที่คณะอนุกรรมการร่างฯ ขึ้นเริ่มพิจารณารายมาตราตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 จนถึงวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยในการประชุมสภาฯ ณ วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2475 ทางพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาฯ เรื่องการตั้งอนุกรรมการเพิ่ม 2 คนว่า

 

“ตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งข้าพเจ้าเป็นประธานอนุกรรมการ ไปตรวจร่างพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่จะร่างขึ้นใหม่ และมีกรรมการอื่นอีกรวมเป็น 7 คนนั้น การร่างได้ร่างไปได้มากแล้วและก็ได้พยายามขมักเขม้นที่จะให้แล้วโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ และในการที่จะร่างต่อไปนี้ขอเสนอตั้งอนุกรรมการเพิ่มขึ้นอีก 2 คน เพื่อที่จะได้ช่วยกันคิดให้งานสำเร็จไปได้โดยเร็วคือ พระยาศรีวิสารวาจากับพระยาราชวังสัน เป็นอนุกรรมการด้วย รวมทั้งชุดเก่าเป็น 9 คน”[7]

 

การตั้งอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองฯ เพิ่มขึ้นครั้งนี้มีพระยามานราชเสวี รับรอง เมื่อพิจารณาสถานะ บทบาท กลุ่มการเมือง และทรรศนะสามารถวิเคราะห์ได้ว่า มีนายปรีดี เป็นอนุกรรมการฯ ในปีกของคณะราษฎรและจบการศึกษาด้านกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสเพียงท่านเดียวขณะที่ท่านอื่นเป็นนักกฎหมายอาวุโสในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยามานวราชเสวี และพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เป็นนักกฎหมายที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษแม้ในระยะเวลาต่อมาจะเผยให้เห็นว่าพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ มีบทบาทสำคัญในสมาคมคณะราษฎรและค่อนข้างให้การสนับสนุนคณะราษฎรก็ตามหากในการร่างรัฐธรรมนูญยังถือว่ามีบทบาทรองกว่านักกฎหมายอาวุโสท่านอื่น

ในวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ทางพระยามโนฯ เปิดฉากแถลงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพร้อมกับสำเนาลายพระราชหัตถเลขาเรื่องเจ้านายเหนือการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ได้มีการนำไปพิจารณาในช่วงท้ายและกล่าวตอบเรื่องการเปิดเผยหรือปิดลับเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่คณะอนุกรรมการฯ ร่างแล้วนำมาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า

 

“รัฐธรรมนูญนี้ได้เสนอสภาวันนี้ ต่อไปอีก 10 วัน เราจะประชุมกันใหม่คือในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน เดือนนี้ ฉะนั้นถ้าสมาชิกผู้ใดจะมีข้อความที่อยากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้ว ขอให้เสนอเป็นญัตติมายังประธานสภาฯ สามวันก่อนวันประชุม”

พระวุฒิศาสตร์ฯ ถามต่อว่า

“ร่างรัฐธรรมนูญฉะบับนี้จะถือเป็นความลับหรือไม่ ?”

ทางพระยามโนฯ ตอบกลับว่า

“ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะอิสสรภาพสันติภาพและเสรีภาพของราษฎร 12 ล้านคนอยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ เพราะฉะนั้นไม่อยากจะถือเป็นความลับ

 


นายปรีดี พนมยงค์ อนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ในทศวรรษ 2470

 

ส่วนในแง่เวลาของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ นั้นมีนายจรูญ ณ บางช้าง เห็นว่าควรขยายเวลาให้สมาชิกสภาฯ อ่าน และตริตรองให้ดีโดยเสนอให้ขยายเวลาออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์นับจากวันที่ 25 พฤศจิกายน ตามที่ระบุไว้หากทางนายปรีดีได้อรรถาธิบายว่า

 

“ที่ประธานคณะกรรมการราษฎร (พระยามโนฯ-ผู้เขียน) ได้กล่าวมาแล้ว ได้กล่าวในฐานะที่เป็นอนุกรรมการของสภาฯ (9 คน) ซึ่งสภาได้มอบอำนาจไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มิใช่พูดไปในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร และการที่มาแสดงเช่นนี้ โดยที่ว่าก่อนที่จะแจกร่างรัฐธรรมนูญ สมควรจะอธิบายชี้แจงให้ทราบความเป็นเลาๆ ไว้ก่อน และที่ว่าจะผ่อนเวลาออกไปอีกนั้นก็จะช้าเกิน ส่วนที่ให้เวลา 10 วันก่อนประชุมนั้นก็เชื่อว่าสมาชิกทั้งหลาย คงจะมีโอกาสได้ตริตรองเพียงพอแล้ว และการที่จะพิจารณานั้นเราก็จะได้ปรึกษากันไปเป็นมาตราๆ ไป”

 

แล้วพระยามโนฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการราษฎรฯ กล่าวแถลงต่อว่า

 

“เมื่อได้นําร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร์ทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนําว่า การประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสําคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ 3 ฤกษ์ ฤกษ์ 1 ตกวันที่ 1 ธันวาคม ฤกษ์ 2 ตกวันที่ 10 ธันวาคม ฤกษ์ 3 ไปตกกลางเดือนมกราคม จึงได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 10 ธันวาคม คือฤกษ์ที่ 2 ส่วนฤกษ์ 1 นั้น เวลานานไป

ฉะนั้นจึ่งอยากรีบเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันในวันที่ 10 ธันวาคม โดยหวังว่าจะแล้วเสร็จจากสภาภายในวันที่ 10 เดือนนี้ โดยเราประชุมกันตั้งแต่ 4 โมงเช้าเรื่อยๆ ไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จเพื่อให้แล้วก่อนวันฤกษ์ 10 วัน โดยที่ทรงเห็นว่า รัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการจะเขียนใส่สมุดไทยซึ่งจะกินเวลาหลายวัน ใคร่รีบประชุมเสียให้เสร็จก่อนกําหนดดังกล่าวแล้ว”

 

ก่อนปิดประชุมฯ ยังมีข้อสงสัยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ถือเป็นความลับหรือไม่ในแง่ถ้าจะส่งเผยแพร่ให้แก่หนังสือพิมพ์นำไปเผยแพร่หรือจะส่งไปอ่านกระจายเสียงทางวิทยุได้หรือไม่โดยพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์สังเกตว่าที่หัวเรื่องมีตราประทับว่าลับแต่ทางพระยามโนฯ กล่าวตอบเช่นเดิมว่าไม่ลับ

 

คำว่าลับที่หัวเรื่องนั้นได้พิมพ์ขึ้นก่อนที่จะนำเข้าสู่สภา และบัดนี้ก็ได้กล่าวแล้วว่า ไม่ถือเป็นความลับ ส่วนการที่ว่าจะให้แก่หนังสือพิมพ์ได้หรือไม่นั้น ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้เป็นพนักงานในเรื่องนี้จะพิจารณาและตัดสินใจเอง…[8]

 

จากนั้นจึงได้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของอนุกรรมการฯ ในหน้าหนังสือพิมพ์ยุคนั้นอยู่บางฉบับ และในการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นไปจะพบว่ามีการถกเถียงในประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. เรื่องอำนาจอธิปไตย
  2. เรื่องพระราชอำนาจ
  3. เรื่องการสืบราชสมบัติ
  4. เรื่องการใช้คำเรียกคณะกรรมการราษฎร
  5. เรื่องการกำหนดบทบาททางการเมืองของพระบรมวงศานุวงศ์
  6. เรื่องข้อกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้สิ่งที่สะท้อนความใส่ใจรายละเอียดในการร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยเฉพาะถ้อยคำ นัยของคำนั้นยังปรากฏว่าการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเข้ามาช่วยขัดเกลาคำในรัฐธรรมนูญให้สละสลวยยิ่งขึ้น โดยพระยามโนฯ ในบทบาทประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าจะมีผู้ช่วยเกลาภาษา อาทิ เสนาบดีกระทรวงธรรมการและพระธรรมนิเทศทวยหาญ  เมื่อพิจารณาเนื้อหา ข้อถกเถียง และทรรศนะในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดจะพบว่ามีประเด็นสำคัญทั้งหลักการของระบอบใหม่ในสยามจนถึงข้อกำหนดพื้นฐานของระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยใน 6 ประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงข้างต้นมีดังต่อไปนี้

1. เรื่องอำนาจอธิปไตย

เรื่องอำนาจอธิปไตยปรากฏอยู่ในมาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยพระยามโนฯ ประธานอนุกรรมการฯ ชี้แจงความหมายอย่างย่อของมาตรา 2 ว่า

 

พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งชาติและปวงชนทั้งปวงและดํารงอยู่ในฐานะอันจึงพ้นจากความถูกติเตียนในทางใดๆ เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญของบ้านเมืองใดที่ปกครองโดยกษัตริย์และมีรัฐธรรมนูญ เขาก็วางหลักการไว้เช่นเดียวกันนี้ทุกแห่ง และในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นกว่า (Sacred) ซึ่งท่านนักแปลคนหนึ่งได้แปลว่า เคารพ ก็ถูกอยู่ แต่ถ้าจะให้ถูกดีแล้วก็ควรมีคำว่า สักการะ ด้วย ซึ่งอนุกรรมการได้เห็นชอบด้วยแล้ว คําว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้เราหมายความว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องร้องท่านไม่ได้แล้วจะทําอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้วก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่และเขียนมานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆ เลย จึ่งขอเติมคําว่า “สักการะ” ต่อคำว่า “เคารพ”

 

จากคำชี้แจงข้างต้นของพระยามโนฯ ทำให้เห็นถึงความหมายของอธิปไตยและสถานะของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกในมุมมองของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายอาวุโสในระบอบเดิมและยังแสดงให้เห็นว่าทางอนุกรรมการฯ ได้ใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบในการร่างรัฐธรรมนูญสยามจากที่มีการกล่าวถึงความหมายของถ้อยคำว่า Sacred ในรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นฉบับสมัยเมจิไว้ด้วย

2. เรื่องพระราชอำนาจ

เรื่องพระราชอำนาจได้ระบุไว้ใน 3 มาตรา คือ

  1. มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดย คำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร
  2. มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
  3. มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำว่า พระราชอำนาจการบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการโดยพระยามโนฯ ประธานอนุกรรมการฯ เสนอให้ตัดคำว่า “พระราช” ออก โดยให้เหตุผลว่า อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (Sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (Fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า

ประธานอนุกรรมการฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) นั้นพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารแตกต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์(absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร[9] เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการโดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งนายปรีดีกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารหากมีความสุภาพนุ่มนวลและไม่ขัดกับความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวนเพราะว่าไม่ต้องการให้ชอกช้ำ แต่ที่ประชุมสภาฯ ก็เห็นชอบให้ตัดคำว่า “พระราช” ออกเหลือเพียงคำว่า อำนาจการบริหาร[10]

3. เรื่องการสืบราชสมบัติ

ปัญหาการสืบราชสมบัตินั้นเนื่องมาจากการกำหนดว่า พระมหากษัตริย์จะต้องทรงปฏิญาณว่าจะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 9 ระบุว่า “การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

มาตรา 9 นี้ สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีข้อกำหนดในกฎมณเฑียรบาลเป็นลำดับของการสืบราชสันตติวงศ์แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงเลือกรัชทายาทโดย ไม่ต้องคำนึงถึงกฎมณเฑียรบาลก็ได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้ได้บุคคลที่ไม่เหมาะสมจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ พระยามโนฯ  แถลงว่า ตรงกับประเพณีการสืบราชสมบัติของสยามที่ว่า“พระมหากษัตริย์ทรงเสด็จเถลิงถวัลย์สมบัติด้วยประชาชนอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ”

นายหงวน ทองประเสริฐ สอบถามในที่ประชุมฯ ว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณว่าจะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ทางพระยามโนฯ กล่าวตอบว่า ต้องทรงปฏิญาณด้วยรวมทั้งตามประเพณีราชาภิเษกก็ได้มีการปฏิญาณอยู่ หากนายหงวนและนายจรูญ สืบแสง แสดงทัศนะว่าต้องการให้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อปฏิญาณตามข้อกำหนด

ขณะที่นายปรีดีอธิบายว่าการที่ไม่บัญญัติหรือเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นไม่ได้เป็นการยกเว้นว่า พระมหากษัตริย์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณเพราะถือเป็นพระราชประเพณีของการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และพระยามโนฯ ได้เล่าประสบการณ์ของตนเสริมว่า ตนได้เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยทรงมีรับสั่งว่าพระองค์ได้ทรงปฏิญาณเพื่อเสวยราชสมบัติและในช่วงเวลาที่รับเป็นองค์รัชทายาทก็ต้องทรงปฏิญาณเสียก่อน ดังนั้นจึงถือเป็นพระราชประเพณีมาแต่เดิมหากนายจรูญยังยืนยันจะให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้ทางพระยามโนฯ จึงขอให้ลงมติในที่ประชุมฯ มีผลออกมาว่าให้ยืนยันตามร่างเดิมด้วยเสียงข้างมากมี 48 คะแนน และเสียงที่ยืนยันให้เติมมีเพียง 7 คะแนน[11]

4. เรื่องการใช้คำเรียกคณะกรรมการราษฎร

ปัญหาเรื่องการใช้คำว่ากรรมการราษฎร คณะกรรมการราษฎร และประธานคณะกรรมการราษฎร มีข้อถกเถียงหลัก[12]มาจากพระราชหัตถเลขาทักถาม และเป็นเรื่องของแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความสำคัญกับการเลือกสรรถ้อยคำและขัดเกลาสำนวนภาษาจากที่มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาที่กล่าวไว้ในข้างต้น หากกลุ่มคำว่า กรรมการราษฎรนี้ทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งมาว่าไม่ไพเราะและอาจไม่ถูกต้องตามแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญโดยทรงรับสั่งแล้วทางประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามได้นำมาแถลงตั้งแต่ก่อนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร(สมัยสามัญ) ครั้งที่ 34/2475 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475

และในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกทางนายปรีดีได้เสนอให้ พิจารณาในหลักการเสียก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาพิจารณาเรื่องกลุ่มคำกรรมการราษฎร โดยนายปรีดีเสนอให้นำไปพิจารณาในหมวด 4 คณะกรรมการราษฎร เมื่อข้อถกถามไม่ยุติทางที่ประชุมสภาฯ จึงเปิดให้โหวตเสียงและที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 26 คะแนนเท่ากัน ในท้ายที่สุดพระยามโนฯ จึงป็นผู้ชี้ขาดว่าให้รอจนถึงบทที่เกี่ยวข้องจึงนำเรื่องถ้อยคำนี้กลับมาพิจารณา[13]

กระทั่งมาถึงวาระในการพิจารณาหมวด 4 คณะกรรมการราษฎร ก็ได้มีผู้เสนอญัตติให้ใช้คำอื่นแทนคำว่า กรรมการราษฎรอันเป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่งของรัชกาลที่ 7 อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา, นายประยูร ภมรมนตรี, หลวงเดชสหกรณ์ และ นายสงวน ตุลารักษ์ เสนอให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี”

นายเนตร พูนวิวัฒน์  เสนอให้ใช้คำว่า “อนุสภาผู้แทนราษฎร” ส่วน นายซิม วีระไวทยะ ยืนยันให้ใช้คำว่า “กรรมการราษฎร” ดังเดิมโดยในกลุ่มผู้ที่สนับสนุนให้ใช้คำว่า “กรรมการราษฎร” อาทิ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีชี้ว่า คำว่า “กรรมการราษฎร” เป็นชุดคำเดียวกันกับคำว่า “สภาผู้แทนราษฎร” ควรให้สอดรับกัน

ขณะที่นายปรีดีอธิบายว่าคำว่า “กรรมการราษฎร” นั้นเป็นคำธรรมดาสามัญที่เข้าใจง่ายและการที่นายปรีดีขอสงวนการพิจารณาเรื่องถ้อยคำกรรมการราษฎรนี้ในการประชุมสภาฯ เนื่องมาจากการที่พระยามโนฯ แถลงว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงทักท้วง และมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าตนจะนำลัทธิบางประเทศมาเผยแผ่ และคำว่า รัฐมนตรีในทัศนะของนายปรีดียังเชื่อมโยงให้ตนนึกถึงรัฐมนตรีสภาฯ ที่ไม่เคยทำงาน และต้องแก้ไขพระราชบัญญัติรัฐมนตรีในกาลที่ผ่านมา

ทางนายมังกร สามเสน กล่าวสนับสนุนว่าควรใช้คำว่ากรรมการราษฎรเพราะเป็นคำที่ใช้กันอยู่แล้ว

ตัดสลับกลับมาที่ฝ่ายผู้สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ อาทิ นายประยูร ภมรมนตรี เสนอให้ใช้คำว่ารัฐมนตรีมีเหตุผลอธิบายว่าไพเราะกว่าคำว่ากรรมการราษฎร และนายประยูรยังแสดงทัศนะส่วนตนว่า กรรมการราษฎรนั้นฟังดูเป็นโซเวียต ส่วน พระยามานวราชเสวี ชี้ว่าคำว่ารัฐมนตรีเป็นคำที่เคยใช้กันมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกว่ารัฐมนตรีกันจนมาคุ้นปากแล้ว ข้อถกเถียงเรื่องคำว่า กรรมการราษฎรนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น และขับเคี่ยวทางความคิดส่งผลให้พระยาราชวังสันเสนอให้พิจารณาการใช้ถ้อยคำในการประชุมสภาครั้งถัดไป[14]

กระทั่งในการประชุมสภาฯ พิจารณาเรื่องคำว่า คณะกรรมการราษฎร ครั้งถัดมาก็ได้มีการลงมติเสียงข้างมากจำนวน 28 เสียง ให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” โดยงดออกเสียงมากถึงจำนวน 24 เสียง และเห็นควรใช้คำอื่นจำนวน 7 เสียง สรุปจึงใช้คำว่า รัฐมนตรี แทนกรรมการราษฎร และเปลี่ยนแปลงกลุ่มคำนี้ทั้งชุดโดยให้ใช้คำว่าคณะรัฐมนตรี แทนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” และให้ใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทนคำว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” นับตั้งแต่นี้

และน่าจะเป็นเพราะการอภิปรายเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐมนตรีในอดีตที่ไม่เหมาะสมของนายปรีดีจึงมีการกำหนดความหมายของคำว่ารัฐมนตรีขึ้นใหม่ว่าหมายถึงข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดินมิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินตามความหมายเก่า[15]

5. เรื่องการกำหนดบทบาททางการเมืองของพระบรมวงศานุวงศ์

ข้อถกเถียงที่เข้มข้นอีกประการคือ การกำหนดบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปให้อยู่เหนือการเมือง และบทบาทของผู้ที่มีบรรดาศักดิ์กับการเมืองชั้นต่างๆ ดังในมาตรา 11 พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตามย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

ในเรื่องนี้ทางพระยามโนฯ ได้ขอเข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลถามต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับพระราชปฏิบัติ พระองค์จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาและพระบรมราชวินิจฉัยว่าทรงเห็นด้วยกับบทบัญญัติให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมืองดังความว่า

 

“ในหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ เหนือความที่จะพึงถูกติเตียนไม่ควรแก่ตำแหน่งการเมืองซึ่งเป็นงานที่นำมาทั้งในทางพระเดช และพระคุณ”

 

รัชกาลที่ 7 ทรงอรรถาธิบายถึงความไม่เหมาะสมอีกหลายประการ อาทิ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะต้องมีการโจมตีซึ่งกันและกันอันสอดคล้องกับเหตุผลในข้อทูลเกล้าเสนอของพระยามโนฯ ว่าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปดำรงอยู่เหนือการเมือง

แน่นอนว่าย่อมมีผู้ไม่เห็นด้วยเมื่อนำมาเสนอในที่ประชุมสภาฯ ทางพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ กล่าวว่าไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการตัดสิทธิเจ้าซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันและดูจะไม่เหมาะ ส่วนนายมังกรชี้แจงว่าหม่อมเจ้าบางพระองค์มีความรู้เรื่องการเมือง หากจะทรงสละฐานันดรศักด์มาเป็นสามัญชนก็ควรจะให้เข้าวงการเมืองได้เช่นเดียวกับกรณีหม่อมเจ้าหญิงทรงสละสิทธิเดิมเพื่อสมรสกับสามัญชน เป็นต้น

ส่วนพระยามานวราชเสวี และ นายดิเรก ชัยนาม เห็นพ้องกันว่าการเป็นเจ้าเป็นฐานะตามกำเนิดแม้หม่อมเจ้าหญิงจะสละฐานันดรศักดิ์มาสมรสกับสามัญชนก็ยังคงนับว่าเป็นเจ้า และนายสงวน ตุลารักษ์ กล่าวสนับสนุนว่า การเข้ามาในวงการเมืองโดยเฉพาะการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ต้องมีการเสียดสีด้วยถ้อยคำย่อมจะทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศของเจ้านาย

แม้แต่พระยาศรีวิสารวาจา นักกฎหมายอาวุโสในระบอบเก่าที่จงรักก็เห็นว่าการให้เจ้าอยู่เหนือการเมืองหมายถึงไม่ให้ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังเช่นเสนาบดีและผู้แทนราษฎรนั้นมีจุดประสงค์สำคัญก็เป็นเพราะว่าระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยอำนาจจำกัดนั้นได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะและอยู่เหนือการเมือง ดังนั้น พระบรมวงศานุวงศ์จึงควรอยู่ในฐานะเฉกเช่นเดียวกันและยังเห็นสอดรับกับนายสงวนและท่านอื่นๆ ว่าเพื่อมิให้มีการกล่าวโจมตีพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งรวมถึงพระมหากษัตริย์พระยาศรีวิสารวาจาจึงเห็นชอบว่าเจ้านายควรอยู่เหนือการเมือง

เมื่อมองออกมานอกสภาฯ ทาง ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ (พระอิสริยศในขณะนั้น) เจ้านายผู้สนใจการเมืองได้เขียนหนังสือเรื่องคำอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญโดยทรงแสดงความเห็นต่างถึงข้อความในมาตรา 11 ดังกล่าวว่าเป็นการตัดสิทธิการเมืองของเจ้ารวมถึงสิทธิเลือกตั้งจึงผิดหลักประชาธิปไตย และหลักสิทธิรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นเรื่องการกำหนดบทบาทของผู้ที่มีบรรดาศักดิ์กับการเมืองนั้น นายซิม วีระไวทยะ เสนอญัตติต่อประธานสภาว่า “บุคคลทุกคนซึ่งมีบรรดาศักดิ์ไม่ว่าชั้นใด โดยแต่งตั้งหรือประการใดก็ตาม ย่อมอยู่เหนือการเมืองทั้งสิ้น แต่ชอบที่จะเวนคืนบรรดาศักดิ์ เพื่อเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรได้” โดยให้เติมท้ายมาตรา 11 และให้เหตุผลว่า บุคคลย่อมเสมอภาคตามกฎหมาย บรรดาศักดิ์ที่ได้รับแต่งตั้งไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์ใดๆ จึงไม่ควรอนุญาตให้ผู้มีบรรดาศักดิ์เกี่ยวข้องกับการเมือง อีกทั้งเราไม่มีสภาขุนนางจึงควรกำหนดให้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับเจ้าเว้นแต่จะสละบรรดาศักดิ์นั้นเสีย ชเพื่อมิให้ถูกดูหมิ่นระหว่างการรณรงค์หาเสียง

ความเห็นเรื่องนี้จึงแตกออกเป็นสองฝ่ายและอภิปรายกันอย่างซีเรียสเครียดขึงอาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาวิชัยราชสุมนตร์ และ พระยาราชวังสันมีความเห็นสอดรับกันว่าการมีบรรดาศักดิ์เป็นประเพณีแต่โบราณ รวมทั้งการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์คือ ลำดับศักดิ์ของการรับราชการซึ่งการจะเวนคืนบรรดาศักดิ์ดูจะเป็นการจองหอง และมองว่าการได้รับเกียรติยศหรือบรรดาศักดิ์นั้นไม่กีดขวางความเสมอภาคแต่อย่างใด

ในช่วงท้ายของการประชุมสภาฯ ทางนายปรีดีจึงมีท่าทีไกล่เกลี่ยโดยกล่าวว่า เคยเสนอต่อประธานคณะกรรมการราษฎรแล้วแต่ได้รับความเห็นว่าไม่ควรทำเพราะจะกระทบกระเทือนพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การขอเวนคืนบรรดาศักดิ์ควรใช้วิธีทางอ้อมโดยการไม่ตั้งบรรดาศักดิ์ใหม่และส่งเสริมให้เห็นว่าบรรดาศักดิ์ไม่สร้างความแตกต่างจากคนสามัญและให้ถือว่าเป็นคำนำหน้าชื่อชนิดหนึ่ง

ส่วนวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้คนเสมอภาคนั้นได้กำหนดให้มีมาตรา 12 ว่า ฐานันดรศักดิ์ใดๆ ไม่ทำให้เกิดเอกสิทธิ์ใดๆ เลย เมื่อการไกล่เกลี่ยถึงที่สุดทางพระยามโนฯ และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และอนุกรรมการระดับผู้ใหญ่จึงขอให้ลงมติแล้วชี้แจงเชิงสรุปว่าในที่ประชุมฯ ต่างยอมรับแล้วว่าฐานันดรศักดิ์ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนไม่เสมอภาคหากเป็นการเคารพซึ่งกันและกันก็เพราะวัยวุฒิหรือคุณวุฒิ ไม่ใช่เพราะฐานันดรทำให้นายซิมและหลวงนฤเบศร์มานิตจึงยอมถอนญัตตินี้[16]

6. เรื่องข้อกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เรื่องการกำหนดสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญและสมัยวิสามัญ กับการเปิดปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้นระบุไว้ในมาตรา 29 ตามร่างรัฐธรรมนูญของคณะอนุกรรมการ[17] โดยกำหนดให้มีการประชุมสมัยสามัญปีละหนึ่งสมัย และตามมาตรา 30 ระบุว่า สมัยการประชุมมีระยะเวลา 90 วัน แต่พระมหากษัตริย์อาจทรงขยายเวลาต่อไปก็ได้

ข้อถกเถียงในที่ประชุมสภาฯ โต้แย้งกันว่าการประชุมปีละหนึ่งสมัยนั้นน้อยเกินไป เห็นควรให้เพิ่มเป็น 120 วัน ถึง 180 วัน และยังมีข้อเสนอให้มีการประชุมสมัยสามัญมากกว่าหนึ่งสมัย ต่อประเด็นนี้ทาง หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เสนอว่า อำนาจการเรียกประชุมสมัยวิสามัญที่ระบุว่าเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องมีคณะกรรมการราษฎรลงนามรับพระบรมราชโองการกล่าวคือ ถ้ากรรมการราษฎรไม่ลงนามก็จะเปิดประชุมสภาฯ ไม่ได้

นายปรีดีเห็นว่า ข้อเสนอเรื่องการกำหนดสมัยประชุมสมัยสามัญอาจแก้ไขให้มีหลายสมัยได้แล้วแต่สภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดและยืดหยุ่นได้ตามภาระงานของสภาฯ ส่วนการขยายเวลาประชุมตามวิธีการต้องให้กรรมการราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและทั้งสภาฯ หรือคณะกรรมการราษฎรอาจเสนอให้ขยายเวลาได้ตามแต่ฝ่ายใดจะเห็นสมควร

การถกเถียงในประเด็นนี้ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนจนท้ายที่สุดได้ข้อสรุปว่า ในหนึ่งปีอาจมีการประชุมสมัยสามัญหนึ่งสมัยหรือหลายสมัยได้แล้วแต่สภาฯ กำหนดส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญเป็นอำนาจของสภาฯ และการเรียกประชุมสมัยวิสามัญนั้นให้อำนาจประธานสภาฯ เป็นผู้กราบบังคมทูลให้ทรงสั่งเปิดประชุมได้แต่มีปัญหาที่ถกเถียงกันว่าฝ่ายบริหารอาจไม่ยอมลงนามสนองพระบรมราชโองการจะมีผลให้ไม่สามารถเปิดประชุมฯ ได้ ดังนั้น จึงกำหนดเพิ่มว่าให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ[18]

เจตจำนงของคณะราษฎรต่อการอภิวัฒน์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ในสุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน

เจตจำนงของคณะราษฎรต่อการอภิวัฒน์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญนั้นปรากฏเป็นหมุดหมายนับตั้งแต่การอภิวัฒน์แล้วประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับแรกและเป็นรากฐานส่งต่อมาในการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามซึ่งมีอยู่หลายประการ หากนายปรีดี เสนอให้เห็นจาก “สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” เมื่อ พ.ศ. 2525 ไว้ในประการสำคัญโดยเฉพาะทัศนะต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือการเปลี่ยนแปลงจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยโดยในทัศนะของนายปรีดี ชี้ว่า

“ก่อนอื่นขอให้ท่านทั้งหลายระลึกว่า การปกครองแผ่นดินสยามตามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่มีบทกฎหมายกำหนดระบบปกครองแผ่นดิน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย มีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองแผ่นดินตามพระราชอัธยาศัย

ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรจึงได้ยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็นขั้นๆ ตามลำดับ…”

2 ความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามหรือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 นั้นนายปรีดีเสนอข้อสังเกตที่แสดงถึงหัวใจของการมีรัฐธรรมนูญหรือกำเนิดระบอบรัฐธรรมนูญไว้ว่า

“(1) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 จึงตราขึ้นโดยถูกต้องทั้งทางนิตินัยและพฤตินัยตามหลักนิติศาสตร์ทุกประการ ซึ่งต่างกับรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่เป็นโมฆะ

(2) ธรรมนูญฯ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ได้สถาปนาระบบราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรรมนูญประชาธิปไตย ในระยะหัวต่อระหว่างระบบสมบูรณาฯ ที่ปกครองสยามเป็นเวลาหลายพันปีกับระบบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น”

3.ทัศนะของนายปรีดีต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

3.1 เรื่องอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองและบทบาทของนายปรีดี โดยนายปรีดีกล่าวว่า จากรายชื่ออนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คนนั้นมีสมาชิกคณะราษฎรคนเดียวคือนายปรีดี หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นามในเวลานั้น ส่วนอีก 8 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่สมาชิกคณะราษฎรดังนี้ นายปรีดีจึงชี้แจงไว้ว่า

“...ฉะนั้น การที่ผู้สอนบางคนได้สอนให้สานุศิษย์ของตนหลงเข้าใจว่าการร่างธรรมนูญฯ ซึ่งต่อมาเรียกชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม”(ฉบับ พ.ศ. 2475) ได้เป็นไปตามความประสงค์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นั้น จึงเป็นการบิดเบือนความจริง คือประการที่หนึ่งในทางปฏิบัตินั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมคนเดียวไม่สามารถที่จะบังคับหรือใช้อิทธิพลต่อผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน ให้ต้องยอมตามความเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ คนเดียวได้ ประการที่สอง พระยามโนปกรณ์ฯ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ก็ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2475 ว่าธรรมนูญฯ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2475” นั้นได้มีการติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (ตลอดเวลา-คำแถลงของพระยามโนปกรณ์ฯ)”

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35-36/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

3.2 เรื่องที่มาของสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร  นายปรีดีอธิบายไว้ว่า

“ท่านที่สอนและท่านที่ศึกษาตัวบทรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ย่อมพบว่า มาตรา 16 อันเป็นบทถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นบัญญัติไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น

ทั้งนี้ แสดงว่าบทถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เป็นไปตามระบบประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้ว คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา มิใช่โดยการแต่งตั้ง”

3.3 เรื่องระบบรัฐสภาในระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2475 หรือภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว โดยมิได้มีพฤฒิสภาหรือวุฒิสภา

3.4 เรื่องหมวด 7 บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยทางพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ไว้ว่า

“หมวด 7 เป็นบทเฉพาะกาล ในพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวกำหนดเวลาไว้เป็น 3 สมัย คือ สมัย 1 สมัย 2 สมัย 3 บทเฉพาะกาลนี้เป็นบทบัญญัติเฉพาะระหว่างเวลาที่ก่อนถึงสมัยที่ 3 อันเป็นสมัยสุดท้าย ความสำคัญชองหมวดนี้มีอยู่ในมาตรา 65 บัญญัติลักษณะแห่งการก่อตั้งสภาขึ้นให้มีสมาชิกประเภทที่ 1 ราษฎรเลือกตั้งขึ้่น สมาชิกประเภทที่ 2 พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้น ที่มีสมาชิก 2 ประเภทนี้ก็เพราะเหตุว่า เราพึ่งมีรัฐธรรมนูญชึ้น ความคุ้นเคยในการปฏิบัติการรัฐธรรมนูญยังไม่แพร่หลายทั่วถึง ฉะนั้น จึ่งให้มีสมาชิกประเภทซึ่งเห็นว่าเป็นผู้คุ้นเคยการงานแล้วช่วยพยุงกิจการ ทำร่วมมือกันไปกับสมาชิกประเภทที่ 1 ที่ราษฎรเลือกตั้งมา

การทำเช่นนี้ ถ้าแม้เราอ่านรัฐธรรมนูญที่มีใหม่แล้ว มีอย่างนี้เสมอ เมื่อต่อไปสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นทำงานไปได้เองแล้วก็จักดำเนินการต่อไป”

 

จากกรณีนี้ทางนายปรีดีเสนอข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นเบื้องหลังของการร่างฯ บทเฉพาะกาลนี้ว่า

 

“อนึ่ง ก่อนแถลงต่อสภาฯ พระยามโนฯ ได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงเห็นชอบด้วยที่ให้มีบทเฉพาะกาลดังกล่าว โดยรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาฯ มาเป็นการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฯ นั้นเป็นการ “เปลี่ยนหลักมูลสำคัญ” ของระบบปกครองแผ่นดิน ฉะนั้นจึงต้องมีเวลาพอสมควรที่ระบบใหม่จะรับช่วงต่อไปโดยเรียบร้อยได้”

 

ดังนี้ เมื่อข้อมูลใหม่เรื่องบทเฉพาะกาลจากการประชุมอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเปิดเเผยจึงทำให้เกิดความเข้าใจอีกมุมหนึ่งต่อมาตรา 65 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามที่มีหลักการสำคัญเรื่องการที่สภาฯ ต้องมีสมาชิก 2 ประเภท แทนที่จะมีสมาชิกฯ ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งเพียงประเภทเดียวซึ่งบทเฉพาะกาลนี้ทำให้คณะราษฎรถูกวิจารณ์กันมากว่ายื้อเวลาและไม่ได้ปกครองตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งยังถูกทำให้เป็นการเมืองของการต่อรองในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการขยายเวลาบทเฉพาะกาลให้ยืดเวลาออกไปอีก[19]

จากทัศนะของนายปรีดี และข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างต้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจข้อจำกัด เงื่อนไขในการออกแบบสถาบันการเมืองของรัฐบาลสมัยคณะราษฎรยุคแรกและยังขยายมุมมองต่อการศึกษาเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของสยามให้กว้างขึ้นโดยไม่ด่วนสรุปจากมุมมองใดมุมมองเดียว

 


ประชาชนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชพิธีทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญของรัฐบาลคณะราษฎร 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ที่มาของภาพ : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

การค้นคว้าเบื้องต้นเรื่องกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ข้างต้น ปรากฏให้เห็นการต่อรอง ช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจ การไกล่เกลี่ยประนีประนอม และวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยในการโหวตลงมติเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งนี้ยังสะท้อนว่าการตั้งต้นของระบอบใหม่โดยรัฐบาลคณะราษฎรไม่ราบรื่นนัก รวมถึงภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แล้ว กลับมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีกหลายระลอก อาทิ การรัฐประหารโดยการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เหตุการณ์กบฏบวรเดช กรณีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และความขัดแย้งเรื่องบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

 


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 แต่เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก และเป็นฉบับเดียวที่ใช้คำว่าราชอาณาจักรสยามและไม่ระบุพุทธศักราชไว้ท้ายฉบับ

 

ดังนั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามจะมีการประกาศใช้บังคับยาวนานที่สุดกว่าฉบับอื่นคือ 13 ปี 4 เดือน​ 29 วัน และรัฐบาลคณะราษฎรพยายามปลูกฝังความคิด ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย รวมทั้งใช้กลวิธีในการผสานระบอบเก่าเข้ากับระบอบใหม่ หรือในมิติวัฒนธรรมที่จัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษแรก แต่เมื่อพิจารณานับจากการก่อร่างระบอบรัฐธรรมนูญมาถึง 91 ปี ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 นี้กลับพบว่าสังคมไทยขาดการเคารพต่อหลักการรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ความสำคัญต่อหลักการประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพ อันเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับการช่วงชิงอำนาจในทางเผด็จการของกลุ่มการเมืองต่างๆ

การที่รัฐธรรมนูญไทยไม่ยั่งยืนหรือไม่มีฉบับที่ประกาศใช้บังคับได้เกิน 13 ปี อีกภายหลัง พ.ศ. 2475 คือโจทก์สำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์และถือเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่ประชาชนไทยควรมีส่วนช่วยกันขบคิดเพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่มั่นคงถาวรต่อไปในอนาคต

 

ภาคผนวก

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จำนวน 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1  รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482
วันที่ประกาศใช้บังคับ : 6 ตุลาคม พ.ศ. 2482
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม : มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นคำว่า “ประเทศไทย” และบทแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นใดซึ่งใช้คำว่า “สยาม” ให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “ไทย”

ครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483
วันที่ประกาศใช้บังคับ : 4 ตุลาคม พ.ศ. 2483
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม : มีการขยายระยะเวลาให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท จากเวลา 10 ปี เป็น 20 ปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เหลือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งประเภทเดียว

ครั้งที่ 3 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2485
วันที่ประกาศใช้บังคับ :  3 ธันวาคม พ.ศ. 2485
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม : มีการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 ขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้ไม่อาจจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้จึงขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปจำนวน 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2485 และ พ.ศ.  2487

 

ที่มา : ปรับปรุงข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

ภาพประกอบ: สถาบันปรีดี พนมยงค์ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา ราชกิจจานุเบกษา และคลังสารสนเทศบัญญัติ

 

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 529-551.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 (สมัยสามัญ) วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-14.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 253-277.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2475 (สมัยสามัญ) วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 346-368.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 370-395.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 396-449.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 37/2475 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 450-488.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 38/2475 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 489-521.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 39/2475 (สมัยสามัญ) วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 522-543.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 40/2475 (สมัยสามัญ) วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 544-558.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 41/2475 (สมัยสามัญ) วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 559-570.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 42/2475 (สมัยสามัญ) วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 577-585.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 43/2475 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม  พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 586-591.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44/2475 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 592-621.
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. ส.ค.ก. 1.1/127 เรื่อง รัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475. 

หนังสือภาษาไทย :

  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล. ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์, (พิมพ์ครั้งที่ 2) ฉบับสมบูรณ์ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544).
  • นรนิติ เศรษฐบุตร. เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ม, 2542).
  • เบนจามิน เอ. บัทสัน. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2), กาญจนี ละออศรี, ยุพา ชุมจันทร์ บรรณาธิการแปล (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547)
  • ปรีดี พนมยงค์. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (พิมพ์ครั้งที่ 2) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552).
  • ปูนเทพ ศิรินุพงศ์. ร่างรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของนายเรอเน กียอง (René Guyon's draft constitution) (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2566).
  • ไสว สุทธิพิทักษ์. ดร.ปรีดี พนมยงค์, (พิมพ์ครั้งที่ 2) (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).
  • สำนักงานวิจัยและพัฒนา. เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่องคณะราษฎรในประวัติศาสตร์ไทย จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ วิทยาบลัยเกริก วันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 (กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยและพัฒนาฯ, 2528) .

วิทยานิพนธ์ :

  • กัญญา นะรา. รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475. นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542.
  • กษิดิศ อนันทนาธร. ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490. นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560.

นิตยสารและวารสาร :

  • แถมสุข นุ่มนนท์. (กันยายน 2534). “คณะกรรมการราษฎร อำนาจเบ็ดเสร็จหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475”, ศิลปวัฒนธรรม, 12 (11), 190-206.
  • สุพจน์ ด่านตระกูล. (พฤศจิกายน 2534). “อันเนื่องมาจากรายงานพิเศษของศาสตราจารย์ ดร. แถมสุข นุ่มนนท์”, ศิลปวัฒนธรรม, 13 (1), 67-72.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


 

[1] นรนิติ เศรษฐบุตร, เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ม, 2542), กัญญา นะรา. รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475. นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542. และกษิดิศ อนันทนาธร. ชีวิตของระบอบรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2490. นิติศาสตรมหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560.

 

[2] สถาบันปรีดี พนมยงค์, “สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” ใน กึ่งศตวรรษ ประชาธิปไตย (2475 – 2525), กรุงเทพ : โครงการกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, 2525.” สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566.

[3] โปรดดูเพิ่มเติม นรนิติ เศรษฐบุตร, เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ม, 2542) และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 (สมัยสามัญ) วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-14.

[4] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 (สมัยสามัญ) วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-14.

[5] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 253-277.

[6] Charnvit Kasetsiri, (12 ธันวาคม 2566), “งานวันรัฐธรรมนูญสยามประเทศไทย 2475-2566 = 1932-2023,” [online], สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 270.

[8] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2475 (สมัยสามัญ) วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 346-368.

[9] ต่อมาสภา ฯ มีมติให้เรียกว่ากรรมการราษฎรว่า รัฐมนตรี

[10] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 370-395.

[11] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 396-449.

[12] อ่านการถกเถียงทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเรื่องคำว่ากรรมการราษฎรใน 2 มุมมอง ได้ที่ แถมสุข นุ่มนนท์ (กันยายน 2534). “คณะกรรมการราษฎร อำนาจเบ็ดเสร็จหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475.” ศิลปวัฒนธรรม, 12 (11), 190-206. และสุพจน์ ด่านตระกูล (พฤศจิกายน 2534). “อันเนื่องมาจากรายงานพิเศษของศาสตราจารย์ ดร. แถมสุข นุ่มนนท์.” ศิลปวัฒนธรรม, 13 (1), 67-72.

[13] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 370-395.

[14] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 37/2475 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 450-488.

[15] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 41/2475 (สมัยสามัญ) วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 559-570.

[16] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 370-395.

[17] ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือมาตรา 28

[18] กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ, (28 มีนาคม 2565), “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566. และสถาบันพระปกเกล้า, “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475,” wiki.kpi.ac.th/index.php?title=รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ._2475 สืบค้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566.

[19] สถาบันปรีดี พนมยงค์, “สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” ใน กึ่งศตวรรษ ประชาธิปไตย (2475–2525), กรุงเทพ : โครงการกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, 2525.” สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566.