ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ชีวิตกับการต่อสู้ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

2
มกราคม
2567

 

ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น

คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคนข้อที่ 2. ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (2 มกราคม พ.ศ. 2455-12 พฤษภาคม พ.ศ. 2550)

 

ชีวประวัติย่อของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นธิดาคนที่ 5 ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (สกุลเดิม สุวรรณศร) ได้รับพระราชทานนาม พูนศุข จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เป็นหลานของมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และมีศักดิ์เป็นหลานของท่านผู้หญิงตลับ ยมราช (พี่สาวของบิดาคือ พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา) ภริยาของเจ้าพระยายมราช ชีวิตในวัยเด็กของพูนศุขจึงมีความสนิทสนมและคุ้นเคยกับญาติทางบ้านศาลาแดง

 


วันเริ่มต้นชีวิตคู่ของปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471

 


บุตรทั้ง 6 คน ของปรีดี-พูนศุข พนมยงค์
(ยืน) ศุขปรีดา สุดา ลลิตา ปาล (นั่ง) วาณี ดุษฎี

 

ต่อมาบิดาของพูนศุขได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศขณะที่พูนศุขมีอายุ 4 ปี แล้วได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ในเวลาต่อมาแล้วเข้าศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 7 โดยมีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ คุณหญิงแร่ม พรหมโมบล คุณหญิงละไม หงส์ยนต์ คุณเจริญ ชูพันธุ์  และม.ล. ต่อ กฤดากร

และพูนศุขได้สมรสกับ ปรีดี พนมยงค์ ดุษฎีบัณฑิตหนุ่มทางกฎหมายจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นญาติของทางฝ่ายบิดาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 6 คน ได้แก่ ลลิตา พนมยงค์ ปาล พนมยงค์ สุดา พนมยงค์ ศุขปรีดา พนมยงค์ ดุษฎี พนมยงค์ และวาณี พนมยงค์

 


พูนศุข พนมยงค์ ในวัยสาว

 

พูนศุขกล่าวถึงชีวิตการแต่งงานกับนายปรีดีไว้ว่า

 

“(นายปรีดี)เป็นญาติห่าง ๆ กัน นายปรีดีแก่กว่าฉัน ๑๑ ปี พ่อของฉันและพ่อนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ นายปรีดีนี่มาอยู่ที่บ้าน จึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุเก้าขวบ พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิต แล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปี พอนายปรีดีกลับมาฉันอายุ ๑๖ ปี นายปรีดีกลับมาถึงเมืองไทยวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๐ กว่าจะแต่งงานก็เดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๑ ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปรกติ… เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอ คุณพ่อฉันก็ยอมและไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง สมัยนั้นดอกเตอร์มีไม่กี่คน ผู้ที่มารดน้ำในงานแต่งงานบางท่านก็อวยพรว่า จะโชคดีมีโอกาสเป็นเสนาบดีแน่นอน ตอนนั้นนายปรีดีเพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เราแต่งงานวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ เราหมั้นกันก่อนประมาณหกเดือน เพราะต้องรอเรือนหอที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม เวลานี้โดนรื้อกลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตรงหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนสายใหม่นั่นแหละ พอเรือนหอสร้างเสร็จเราก็แต่งงาน

 

ชีวิตหลังการสมรสช่วงแรกเป็นไปอย่างสุขสงบ

 

          “เราแต่งงานตั้งปีครึ่งถึงมีลูก ฉันมีเวลาก็ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อที่สมาคมฝรั่งเศส ถนนสาทร เพื่อนร่วมชั้นที่เรียนด้วยกันที่สมาคมฝรั่งเศสมีอยู่หลายคน เท่าที่จำได้ก็มีคุณจำกัด พลางกูร คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ บางคนมาจากเทพศิรินทร์ บางคนมาจากอัสสัมชัญ

 

และได้เล่าถึงรากฐานการศึกษาที่ส่งผลต่อความคิดทางสังคมการเมืองของเธอ

 

ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ เน้นด้านภาษา อย่างข้าพเจ้าเรียนแผนกภาษาอังกฤษ การเรียนการสอนทุกวิชาในห้องเรียน แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์ก็สอนเป็นภาษาอังกฤษ นอกห้องเรียนนักเรียนก็ต้องพูดภาษาอังกฤษกัน… โรงเรียนสอนให้ข้าพเจ้าซื่อสัตย์ มีวินัย มีมารยาทในสังคม มีวิชาความรู้ ทำให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่ภรรยาของนักการเมืองและแม่ของลูกได้อย่างมีความอดทน เชื่อมั่นและไม่ท้อแท้

 

พูนศุขยังให้บุตรสาวทั้งสามคน คือ สุดา ดุษฎี และวาณี เรียนที่โรงเรียนเดียวกันกับตนและในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะส่งผลให้นักบวชชาวฝรั่งเศสในเมืองไทยถูกจับกุมคุมขังและถูกขับไล่ออกนอกประเทศทางนายปรีดีก็ได้ช่วยเหลือคณะนักบวชเหล่านี้ของโรงเรียนเซ็นโยเซฟคอนแวนต์ไว้จนเมื่อครอบครัวของนายปรีดี-พูนศุข ประสบภัยทางการเมืองทางนักบวชหรือแม่ชีในโรงเรียนก็ได้ดูแลบุตรของท่านเป็นอย่างดี ต่อมาใน พ.ศ. 2543 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จึงได้รับเลือกจากสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้เป็นศิษย์เซนต์โยเซฟตัวอย่างในสาขาการเมือง

แรกเริ่มของชีวิตพูนศุขที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองกลายๆ นับตั้งแต่ในช่วงของการอภิวัฒน์สยามเกิดขึ้นภายหลังการสมรสเพียง 4 ปี พูนศุขร้อยเรียงเรื่องราวจากความทรงจำก่อนหน้าวันที่ 24  มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่านายปรีดีได้บอกตนว่าจะไปอยุธยา และเล่าเรื่องราวก่อนย่ำรุ่งวันอภิวัฒน์ไว้อย่างละเอียด

 

ตอนนั้นอายุ ๒๐ ไม่รู้เรื่องว่าจะเกิดอะไร ก่อนหน้านี้นายปรีดีเคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดีบอกว่าวันที่ ๒๓ จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมลูกตัวเล็ก ๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ นั่นคือเหตุการณ์วันที่ ๒๓ พอตกกลางคืน ลูกคนที่ ๒ ร้องไห้ เวลานั้นมีลูกสองคน คือลลิตาและปาล ลูกปาลส่งเสียงร้องไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ท่านก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดคืนใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ ๒๔ มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกปรอย ๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูก ๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบหกเดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ราว 1 ปี หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

หนึ่งเดือนหลังจากก่อการนายปรีดีได้เขียนจดหมายเรื่องการอภิวัฒน์สอดคล้องกับที่พูนศุขเล่าว่าไม่ทราบเรื่องการอภิวัฒน์มาก่อนหน้า

 


จดหมายปรีดี ถึงพูนศุข ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม

 

พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

พูนศุข น้องรัก

ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยาฯ เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเปนแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้น เวลา ๑๐ นาฬิกาเท่าที่ได้ทราบมา การที่ทำอะไรไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเปนส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เปนห่วงและคิดไว้ว้าถ้าตายลงไปก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอ โดยมีประกันชีวิตและเงินสดในธนาคารที่ได้โอนให้เมื่อก่อนหน้ากระทำการสักสองสามวัน เรื่องโรงพิมพ์ต้องขอให้ช่วยดู ที่สั่งเขาไปนั้นไม่หมายความว่าจะเอาตราไปทำอะไร ให้เอาตราไปรับเงิน C.O.D. เพื่อส่ง C.O.D. เท่านั้นแล้วให้นำเงินมามอบเธอ นับประสาอะไรเงินและ C.O.D. เงินตั้งหมื่นห้าพันฉันยังโอนให้ได้ นอกจากนั้นเงินเดือนก็ให้เขาเอามาให้ทั้งหมดไม่ได้ชักหรือหักไว้ ค่าส่ง C.O.D.

วิจิตร์ว่าจะต้องใช้เงินราว ๓๐๐ บาท ฉันไม่ให้มากวนเธอ ให้วิจิตร์เขาเอาจากหลวงประกอบ ไม่พอให้เขาเอาเงินเขาทดรอง หักเหลือเท่าใดให้ส่งเธอเท่านั้น ขอเธออย่าเข้าใจผิด ให้เข้าใจเสียใหม่ต่อไปการโรงพิมพ์ทั้งหมดเธอจะต้องดูและบัญชาการทั้งนั้น ที่ไม่บอกมาแต่ต้นเพราะฉันไม่มีเวลาจริงๆ งานเหลือมือทำแทบไม่ไหว เผอิญขณะนี้ว่างลงหน่อยก็มีเวลาพอเขียนหนังสือมา คิดถึงเธอและลูก ตั้งใจจะมาบ้านแต่เห็นว่าเวลานี้ควรอยู่ที่นี่กับทหารดีกว่า ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่าถ้าฉันบวชสัก ๔ เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ความจริงบ่นถึงทุกวันกับหัวหน้าทหารที่นี่ว่า เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตร์ของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีศ เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว พวกบ้านมาทีไร หรือเมื่อมีใครไปเยี่ยมกลับมาก็ถามข่าวคราวทุกข์ศุขเสมอ คิดถึง หนู [ลลิตา-ลูกสาวคนโต] และปาน [ปาล -ลูกชายคนโต] อยู่เปนนิตย์เหมือนกันไม่ใช่นิ่งเฉยเสีย

เรื่องโรงพิมพ์เธอต้องรับควบคุมต่อไป
คิดถึงเสมอ
ปรีดี

 

นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศแล้วในห้วงยามของการอภิวัฒน์นี้ภายในครอบครัวของนายปรีดี-พูนศุข ก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นที่พูนศุขเล่าเรื่องโรงพิมพ์นิติสาส์น และเมื่อนายปรีดีก้าวสู่แวดวงการเมืองเต็มตัวทางพูนศุขก็ดูจะกลายเป็นเสาหลักเรื่องภายในครอบครัวไปพร้อมกัน

 

ตั้งแต่แต่งงานมา นายปรีดีมอบเงินเดือนให้ฉันหมดเลย เมื่อต้องการอะไรก็ให้ฉันหาให้ คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรายได้จากโรงพิมพ์ นายปรีดีตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น พิมพ์ นิติสาส์น รายเดือน พิมพ์หนังสือชุด ประชุมกฎหมายไทย เพื่อเผยแพร่ มีคนสั่งจองซื้อมาก และรายได้อีกทางจากค่าสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เวลานั้นได้ชั่วโมงละ ๑๐ บาท พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เลิกโรงพิมพ์ ยกให้เป็นโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมทั้งพนักงาน จึงไม่มีรายได้ทางโรงพิมพ์ต่อไปอีก พอเป็นรัฐมนตรีมีรายได้เดือนละ ๑,๕๐๐ บาทก็ให้ฉันอีก บางทีก็ลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ต้องเอาไปให้ถึงบ้าน แล้วตอนหลังนายปรีดีก็ไม่รับเงินเดือนเอง ให้เลขาฯ นำเงินมาส่งให้ฉันเลย ตอนรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงิน ประจำตำแหน่ง แต่ไม่เคยเบิกมาใช้ จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน

 

การต่อสู้ในยามสงครามของพูนศุข พนมยงค์

ในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงราวทศวรรษ 2480 เริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรป ฟาสซิสต์อิตาลี และนาซีเยอรมันเริ่มรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนทางทวีปเอเชียนั้นญี่ปุ่นก็ได้รุกคืบและยึดครองภาคอีสานของจีน และในไทยทางครอบครัวของนายนายปรีดี เริ่มตระหนักถึงภยันตรายของสงครามที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อประเทศไทยทางนายปรีดีจึงได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก จากนวนิยายชื่อเดียวกันที่นายปรีดีเป็นผู้ประพันธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใช้เค้าโครงของสงครามช้างเผือก และสงครามยุทธหัตถีของพระมหาจักรพรรดิ โดยหวังให้ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกเป็นบรรณาการเพื่อสันติภาพ นายปรีดีกล่าวว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด” โดยนายปรีดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้อำนวยการสร้าง ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ช่างภาพ หรือผู้แสดง ต่างก็ไม่ได้รับค่าตัว ล้วนมาร่วมงานด้วยความสมัครใจ มีทั้งเพื่อนสนิทมิตรสหาย ครูบาอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และนักศึกษา ต.ม.ธ.ก. รุ่น 1-3 ร่วมแสดง และการที่ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกได้ให้ผู้แสดงพูดภาษาอังกฤษในฟิล์มนั้นเป็นเพราะนายปรีดีต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศจะได้ประกาศให้ชาวโลกทราบว่าราษฎรไทยรักสันติภาพ คัดค้านสงคราม หลังจากถ่ายทำเสร็จได้นำออกฉายครั้งแรกที่นิวยอร์ก สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484

และการสร้างภาพยนตร์รวมทั้งข่าวต่างประเทศจึงทำให้พูนศุขเริ่มรับรู้ถึงภัยสงคราม โดยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 ก็เกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีน ฝรั่งเศส รัฐบาลได้ปลุกระดมชาวไทยให้เดินขบวน เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส นายปรีดีเห็นว่าเรื่องนี้ควรแก้ไขด้วยการเจรจา ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2484 สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติผ่านพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ ให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่ป้องกันการรุกรานของต่างชาติทุกวิถีทาง แม้กระทั่งการใช้หมามุ่ยเพื่อสกัดกั้นศัตรูผู้รุกราน จนสถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้นมาถึงในคืนวันที่  6 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่พูนศุขเขียนเล่าไว้ว่า

 

นายปรีดีและข้าพเจ้าได้ไปงานเลี้ยงนักฟุตบอลที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นปีแรกในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีที่ฝ่ายธรรมศาสตร์ฯ แพ้จุฬาฯ เมื่อกลับมาถึงบ้านเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม (๒๒.๐๐ น.) คนที่บ้านรายงานให้ทราบว่า พันเอกโมรียา อดีตผู้ช่วยทูตทหารบกญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โทรศัพท์มาเพื่อขอพบข้าพเจ้า อ้างว่ามีธุระด่วน นายปรีดีรู้สึกแปลกใจจึงให้เขามาพบในคืนวันนั้น พันเอกโมรียา ถามทุกข์สุขแล้วก็พูดว่า ขณะนี้สถานการณ์ตึงเครียดมาก ซึ่งเขาพูดย้ำอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่บอกรายละเอียด   

รุ่งขึ้นในคืนวันที่ ๗ ธันวาคม ข้าพเจ้าไปเที่ยวงานวันซ้อมใหญ่ของงานรัฐธรรมนูญซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ ๘ ธันวาคม ที่สวนอัมพรกับพี่ๆ น้องๆ ระหว่างทางกลับบ้านเห็นคนเดินกันขวักไขว่ที่ถนนสีลม หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกไทยแล้วจึงทราบว่าเป็นชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาประกอบอาชีพบังหน้าในเมืองไทย เป็นช่างตัดผมบ้าง ช่างถ่ายรูปบ้าง หมอฟันบ้าง ฯลฯ หน้าที่ของบุคคลเหล่านี้คือทำหน้าที่จารกรรม และในคืนวันนั้นเวลาประมาณสองยาม (๒๔.๐๐ น.) ได้มีโทรศัพท์จากวังสวนกุหลาบ เชิญนายปรีดีไปประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในพระนครไปราชการต่างจังหวัด พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ขณะนั้นนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ในการประชุมคืนนั้น คณะรัฐมนตรีมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งไม่สู้ญี่ปุ่นกับอีกฝ่ายหนึ่งคือนายปรีดี ต้องการสู้เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตย และอ้างถึงพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบว่า หากประเทศไทยถูกรุกรานจากศัตรูภายนอก ราษฎรไทยจะต้องทำการต่อสู้จนถึงที่สุดขณะที่นายปรีดีประชุมอย่างเข้มข้นทางพูนศุขก็อยู่ที่บ้านติดตามข่าวผ่านทางวิทยุ

 

ส่วนข้าพเจ้าอยู่ทางบ้านเห็นนายปรีดีหายไปทั้งคืน ยังไม่กลับบ้านเปิดวิทยุรับฟังจากสถานีต่างประเทศ ทราบว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ขึ้นตามจุดต่างๆ หลายแห่งในประเทศไทย เกือบเที่ยงวันของวันที่ ๘ ธันวาคม นายปรีดีจึงกลับบ้านด้วยความอิดโรย เพราะประชุมคณะรัฐมนตรีตลอดคืน และตลอดช่วงเช้าในวันต่อมาและที่สำคัญ นายปรีดีรู้สึกเสียใจที่คณะรัฐมนตรีกลับคำจากมติเดิม ยอมจำนนต่อทหารญี่ปุ่น อนุญาตให้ยกทัพผ่านแดนประเทศไทย

 

และเมื่อนายปรีดีกับคณะฯ ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในยามสงครามขึ้นทางพูนศุขก็ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นครั้งแรก

 

ตามปกตินายปรีดีไม่เคยปรึกษาราชการบ้านเมืองกับข้าพเจ้า เรามักจะคุยกันเรื่องข่าวสารความเป็นมาของเหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อการต่อสู้เพื่อคัดค้านผู้รุกรานเป็นหน้าที่ของราษฎรไทยทุกคน ข้าพเจ้าได้ช่วยนายปรีดีรับฟังวิทยุต่างประเทศเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของสัมพันธมิตรข่าวการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ ทั่วโลก และบางครั้งข้าพเจ้าก็ช่วยเขียนรหัส ด้วยลายมือโดยไม่ใช้พิมพ์ดีด นอกจากนั้นก็อำนวยความสะดวก แก่เสรีไทยที่มาปรึกษางานกับนายปรีดี ศาลาริมน้ำที่ทำเนียบท่าช้างเป็นเสมือนสถานที่ทำงานของบรรดาเสรีไทย

 

และพูนศุขยังช่วยสอบถามที่อยู่ในสก็อตแลนด์ของ แอนดรูว์ กิลคริสต์ (Andrew Gilchrist) อดีตนักการทูตอังกฤษประจำประเทศไทยจากกรณีของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

การติดต่อกับสัมพันธมิตรในต่างประเทศนั้นมีเสรีไทยจากอังกฤษและอเมริกาเป็นตัวเชื่อม บางคนกระโดดร่มเข้ามาในประเทศ บางคนเข้ามาทางเรือดำน้ำ อย่างเช่น คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสรีไทยจากอังกฤษที่มากระโดดร่มที่จังหวัดชัยนาท ก็มีหน้าที่เป็นพนักงานรับส่งวิทยุ หลังจากถูกตำรวจไทยจับกุมและนำตัวมากรุงเทพฯ หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ซึ่งก็เป็นเสรีไทยด้วยเช่นกัน ได้เปิดโอกาสให้คุณป๋วยทำหน้าที่พนักงานวิทยุติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การควบคุมของตำรวจไทย แต่ในขั้นต้นสัมพันธมิตรต้องการตรวจสอบว่าคุณป๋วยมิได้ถูกญี่ปุ่นบังคับให้ส่งข่าว จึงโทรเลขถามที่อยู่ที่สก็อตแลนด์ของ แอนดรูว์ กิลคริสต์ (Andrew Gilchrist) อดีตนักการทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

สำหรับนายปรีดีแล้วเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ถามใครก็ไม่มีใครทราบ นายปรีดีร้อนใจมาก ในที่สุดเอ่ยปากถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าตอบทันที โดยไม่ลังเลว่าให้ถามที่ คุณหญิงจีรี ธิดา ใน ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ เพราะสมัยก่อนสงคราม ในงานราตรีสโมสรของวงการทูต เห็น แอนดรูว์ กิลคริสต์ คุ้นเคยกับคุณหญิงจีรี และในที่สุดก็ได้ที่อยู่ของแอนดรูว์ กิลคริสต์

การตอบที่อยู่ของแอนดรูว์ กิลคริสต์ อย่างถูกต้องทำให้กองกำลังพิเศษ ๑๓๖ ของฝ่าย สัมพันธมิตร เชื่อถือในข่าวที่คุณป๋วยส่งไปในระยะต่อมา หลังสงครามนักการทูตอังกฤษผู้นี้เป็น Sir Andrew Gilchrist อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอินโดนีเซีย

 

การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ถ้าหากแพร่งพรายให้ญี่ปุ่นรู้เข้าจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ความลับเป็นวินัยสูงสุดของพลพรรคเสรีไทย และต้องการผู้ที่ไว้วางใจได้โดยพูนศุขถือเป็นหนึ่งในพลพรรคของเสรีไทยที่ได้รับความไว้วางให้ร่วมปฏิบัติงาน

ขณะที่เรื่องการบ้านและงานในครอบครัวในระหว่างสงครามนั้นทางราษฎรได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขาดเครื่องอุปโภคบริโภคโดยบุตรคนสุดท้องของพูนศุขยังไม่อดนม แต่ขณะนั้นหาซื้อนมไม่ได้จึงต้องเลี้ยงด้วยมะละกอสุกและกล้วยน้ำว้า รวมถึงยังขาดแคลนยารักษาโรค และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 ทางฝรั่งเศสกำลังดำเนินเรื่องเรียกร้องเอาดินแดนที่ได้มาจากกรณีพิพาทอินโดจีนดังกล่าวส่งผลให้นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงได้เดินทางไปพระตะบอง เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรที่นั่นซึ่งมีทั้งชาวไทยและเขมร ขณะเดียวกันก็ได้ทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระตะบองและพูนศุขได้ร่วมเดินทางด้วยรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงพระตะบอง นับเป็นห้วงเวลาที่ยากลำบากและเป็นครั้งแรกที่พูนศุขได้ช่วยเหลืองานทางการเมืองอย่างจริงจังรวมถึงการดูแลหลังบ้านให้ราบรื่น

การต่อสู้ในช่วงกบฏสันติภาพของพูนศุข พนมยงค์

“ไม่ต้องเอาคุกมาขู่ ปู่ฉันเป็นคนสร้างคุกนี้เอง” เป็นคำกล่าวของพูนศุข พนมยงค์ในช่วงที่ถูกควบคุมจากกรณีกบฏสันติภาพ พ.ศ. 2495 อันเป็นการเข้าคุกจากคดีทางการเมืองครั้งแรกของพูนศุขและบุตรชายนายปาล พนมยงค์

ความขัดแย้งทางการเมืองในทศวรรษ 2490 ทำให้ครอบครัวนายปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ต้องประสบภัยทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์ขบวนประชาธิปไตย พ.ศ. 2492 ที่ส่งผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยไปยังต่างประเทศถาวรแต่พูนศุขยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงต้องทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงลูกทั้ง 6 คน ด้วยการทำขนมเค้กขายเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว พูนศุขฟื้นความหลังครั้งนั้นว่า

“ลูกทั้ง ๖ คนเลี้ยงมาเอง แต่ก็มีพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วย ฉันให้นมลูกคนละประมาณ ๑ ถึง ๓ เดือน ต่อมาไม่มีน้ำนมก็ให้นมผง แล้วก็เสริมอาหารประเภทน้ำข้าว กล้วยน้ำว้า มะละกอ… ลูกฉันทั้ง ๖ คน เว้นคนโต (ลลิตา) ซึ่งสมองไม่พัฒนา ทุกคนมีการมีงานที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและต่อสังคม แค่นี้สำหรับผู้เป็นแม่ก็พอใจแล้ว”

และยังตกเป็นเป้าหมายทางการเมือง อาทิการถูกตำรวจติดตามแทบทุกฝีก้าว กระทั่งในยุคสงครามเกาหลีที่มีการปะทะทางสงครามและอุดมการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา เกาหลี และประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์  จนใน พ.ศ. 2495 ได้มีเสียงเรียกร้อง “สันติภาพ” ขึ้น มีการต่อต้านการใช้ระเบิดปรมาณูจนนำมาสู่การจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย”

แต่ทางรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สงสัยว่าคณะกรรมสันติภาพฯ นี้จะมีเป้าหมายล้มล้างการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์จึงสั่งตัดไฟแต่ต้นลมโดยในเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 สั่งให้ตำรวจออกจับกุมกลุ่มประชาชนที่ออกมาชักชวนให้คัดค้านสงคราม และเรียกร้องสันติภาพอย่างเปิดเผย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักหนังสือพิมพ์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สำคัญคือ มีการจับกุมพูนศุข พนมยงค์ และบุตรชายนายปาล พนมยงค์ โดยตำรวจแจ้งข้อหาว่า

 

“…รวมตัวกันยุยงก่อให้เกิดความแตกแยกไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง…อันเป็นความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร”

 

นายปาลได้ถูกจับกุมก่อนและต่อมาทางตำรวจจึงจับกุมพูนศุขซึ่งทำให้ไม่มีผู้ดูแลบุตรจนพูนศุขต้องพาดุษฎี และวาณี บุตรสาวทั้งสองไปนอนที่สันติบาลด้วย เมื่อการสอบสวนเริ่มต้นกลับพบว่าไม่ได้สอบถามเกี่ยวข้องกับเรื่องขบวนการสันติภาพแต่กลับสอบถามว่า นายปรีดี พนมยงค์ หลบหนีไปอยู่ที่ไหน โดยชนวนเหตุที่พูนศุขถูกจับกุมนั้น หนึ่ง มาจากจดหมายที่พูนศุขเขียนติดต่อกับ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้ช่วยเหลือครอบครัวของนายปรีดี-พูนศุข มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 พูนศุขเล่าถึงมูลเหตุนี้ไว้ว่า

 

“ทีนี้มีคนมาติดต่อ บอกว่าคุณทหารเข้าป่า ฉันก็ฝากข้าวของไปให้ เขียนโน้ตใส่เศษกระดาษฝากคนไป บอกว่าถ้ามีหนทางอะไรก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ พอคุณทหารถูกจับได้ ก็พบเศษกระดาษที่มีลายมือของฉัน ดังนั้นเมื่อตำรวจถาม ฉันก็ไม่ปฏิเสธ เขาถามว่านี่ใช่ลายมือของฉันไหม ฉันก็รับว่าใช่ ฉันเขียนจริง ๆ ข้อหาฉันมีข้อนี้เท่านั้นเท่าที่ดูในสำนวนฟ้อง

นอกนั้นถามว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน ฉันก็ไม่ทราบทั้งนั้น ตอบไม่ได้ ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร ลูกไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจทำลายทุกอย่างหมด อิสรภาพเรื่องเล็ก จิตใจนี่เรื่องใหญ่ ถูกขังติดลูกกรงเหล็กอยู่ ถ้าเผื่อไฟไหม้เราก็ตายในนั้น…ผู้ต้องหาหญิงคนเดียวไม่รู้ใช้กำลังเท่าไหร่ ไปศาลแล้วพวกหนังสือพิมพ์ก็จะมาถ่ายรูป ตำรวจพยายามจะเอาฉันหลบกล้อง พอถึงศาลแล้วก็เห็นพวกผู้ต้องหาคนอื่น ๆ นั่งเป็นแถว แต่ของฉันไปนั่งเฉพาะ มีตำรวจคุม แหม ทุเรศจริง ๆ เชียว ทำกับฉันขนาดนี้”

 

และพูนศุขระบุว่าถูกพระพินิจฯ สอบสวนอีก 2-3 คร้ัง ด้วยคําถามวกไปวนมาซ้ำๆ ว่า “นายปรีดีอยู่ที่ไหน” ชนวนเหตุที่สอง อันเป็นข้ออ้างให้พูนศุขถูกจบคือ ปาล บุตรชายได้ขอให้ร่วมเซ็นชื่อคัดค้านสงคราม เรียกร้องสันติภาพสากล พูนศุขจึงเซ็นชื่อในกระดาษที่มีผู้ลงนามก่อนหน้านี้อยู่แล้วจำนวนหนึ่ง

 


ภาพประวัติศาสตร์ ถ่ายโดย น.ส.พ. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ขณะที่ตำรวจนำไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง อายุ 40 ปี 10 เดือน 19 วัน ข้อหา ขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร (คำบรรยายโดยพูนศุข พนมยงค์)

 


พูนศุข พนมยงค์ ถูกตำรวจคุมตัวกลับจากศาล

 


พูนศุข พนมยงค์ ในวันที่ตำรวจนำไปฝากขังในข้อหาขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร

 

นอกจากขั้นตอนการสอบสวนข้างต้นแล้วทางพูนศุขได้เขียนเล่าถึงวันที่สูญสิ้นอิสรภาพอย่างละเอียดภายใต้เงื้อมมือของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตํารวจว่า

 

ข้าพเจ้าสูญสิ้นอิสรภาพ ณ บัดนั้น พ.ต.อ. อัศนี อนุญาตให้ข้าพเจ้านั่งรถส่วนตัวโดยมีตํารวจนั่งหน้ารถไปด้วย ก่อนที่ข้าพเจ้าจะขึ้นรถ ได้วานคุณศักดิชัยโทรศัพท์บอกคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร มิตรแท้ของข้าพเจ้า วานเธอช่วยดูแลการตรวจค้นที่บ้านถนนสาทร แต่เผอิญว่า วันน้ันคุณฉลบฯ ทําบุญเลี้ยงพระ ไม่สามารถมาที่บ้านถนนสาทรได้ทันที

ตํารวจพาข้าพเจ้าไปยังกองสันติบาล และให้ข้าพเจ้ายืนรออยู่หน้าห้องทํางานห้องหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังลั่นลอดบานประตูบังตาออกมา

“จับเอามาทําไม?”

แม้จะไม่เห็นตัวผู้พูด แต่ก็รู้ว่าต้องเป็นผู้เป็นใหญ่ในกรมตํารวจ คือ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตํารวจ เจ้าของคําขวัญ “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตํารวจไทยทําไม่ได้”

 

ภายหลังพูนศุขได้เล่าบรรยากาศช่วงที่ถูกจับกุมว่า

 

ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เดินเล่นตรงทางเดินหน้าห้องขัง หลังอาหารค่ำข้าพเจ้าออกมาเดินเล่นรับลมหนาวเสมอ และสามารถเห็นการเคลื่อนไหวของผู้คนในกรมตํารวจ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ มักต้อนรับแขกยามวิกาล  ในจํานวนน้ัน มีชาวผิวขาวสองคน คนหนึ่งข้าพเจ้ารู้จักดี เป็นชาวอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยเมื่อครั้งเป็น O.S.S. และต่อมา องค์กรนี้ได้กลายเป็น C.I.A.  ส่วนอีกคนข้าพเจ้าไม่รู้จัก ต่อมาทราบว่า เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองสถานทูตอเมริกัน และเป็นคนคนเดียวกับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลอเมริกันประจําเซี่ยงไฮ้ที่ขีดฆ่าวีซ่าผ่านแดนสหรัฐอเมริกาบนพาสปอร์ตของนายปรีดีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑

ชีวิตในที่คุมขังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเคยชินของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีนิสัยส่วนตัวตรงที่เป็นคนตื่นเช้า และต้องดื่มกาแฟทันที จึงให้นายเวียง คนขับรถ นํามาจากบ้าน แต่กว่าจะได้ดื่มกาแฟถ้วยแรกก็สายมากๆ ข้าพเจ้าชะเง้อมองลงไปดูข้างล่าง นายเวียงมาพร้อมกับกระติกกาแฟร้อน แต่ประตูเหล็กข้างล่างยังปิดสนิทอยู่ ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่า นี่ถ้าเกิดไฟไหม้แล้วจะทําอย่างไร

ใกล้เที่ยง พี่ๆ น้องๆ และญาติสนิทนําอาหารใส่ภาชนะน่ารับประทานมาเยี่ยม ตํารวจคุ้ยดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมซ่อนอยู่ในอาหารหรือไม่ อาหารที่น่ารับประทานกลายเป็นขยะในทันที จมูกของข้าพเจ้าไม่สามารถสัมผัสกลิ่นของข้าวสวยที่หอมกรุ่น ลิ้นไม่สามารถพิสูจน์ความอร่อยของน้ําพริกปลาทู อาหารจานโปรด กอปรกับจิตใจที่พะวงถึงอนาคตของตนเองว่าจะถูกคุมขังอีกนานเท่าใด น้ําหนักตัวลดจาก ๔๘ กิโลกรัม เหลือเพียง ๔๒ กิโลกรัม  ความเครียดทําให้ความดันต่ำ มึนศีรษะบ่อยๆ นพ.โกวิท อัศวนนท์ และ นพ.ทวี ตันติวงษ์ ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ตรวจรักษาตามคําร้องของข้าพเจ้า

 

พูนศุขได้ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนที่มองไม่เห็นคือ ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุกเป็นเวลา 84 วัน และหลังออกจากคุกใน พ.ศ. 2498 พูนศุขได้เดินทางมาใช้ชีวิตร่วมกันกับนายปรีดีที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แล้วได้ฟังรายการวิทยุภาคภาษาอังกฤษ จึงทราบว่านายปาล บุตรชายได้ถูกศาลอาญาตัดสินจําคุกเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งต่อมาได้รับการลดโทษลงเหลือ 13 ปี 4 เดือน และได้รับการพระราชทานนิรโทษกรรมพร้อมกับผู้ต้องหาคดีกบฏสันติภาพอีกหลายคนเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ในวัยราว 50 ปี ณ ประเทศจีน

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ในวัยราว 50 ปี ณ นครกวางโจว ประเทศจีน

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ภาพถ่ายคู่ในวันชาติจีน 1 ตุลาคม 2508 บนประตูเทียนอันเหมิน (ศานติสวรรค์)

 

การต่อสู้ทางการเมืองของพูนศุขนับเนื่องจากหลังการอภิวัฒน์มาจนถึงการลี้ภัยครั้งสุดท้ายในปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จึงได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสงบพร้อมกับนายปรีดี มีเวลาอ่าน เขียน ทำอาหาร และเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งการรับรองญาติ มิตร และลูกศิษย์ที่มาเยี่ยมเยือนนายปรีดี กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในวันที่นายปรีดีถึงแก่อสัญกรรม พ.ศ. 2526 ทำให้พูนศุขและบุตรเดินทางกลับไทยย้ายภูมิลำเนากลับสู่มาตุภูมิอย่างถาวร

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 


พูนศุข พนมยงค์ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ในช่วงบั้นปลายของชีวิตกับป๋วย อึ๊งภากรณ์
และปาล พนมยงค์

 


พูนศุข พนมยงค์ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

 


พูนศุข พนมยงค์ ในวันอสัญกรรมของปรีดี พนมยงค์
ณ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 


พิธีมอบรางวัล บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านประชาธิปไตยและด้านสันติภาพ แด่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ณ อาคารรัฐสภา

 

ตราบจนใกล้วาระสุดท้ายในวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มีอาการโรคหัวใจจึงเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในค่ำวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงตามลำดับ กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา 02.00 น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ 95 ปี 4  เดือน 9 วัน ซึ่งในการจัดพิธีศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทายาทได้ปฏิบัติตาม “คำสั่งถึงลูก” ที่ท่านผู้หญิงได้เขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 หรือราว 9 ปีก่อนวาระสุดท้ายมีความว่า

 

คำสั่งถึงลูกๆ ทุกคน

เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแน่แล้ว
  2. ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น
  3. ประกาศทางวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
  4. ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
  5. มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่แม่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก
  6. ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ
  7. เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
  8. ให้นำอัฐิและอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่เกิด
  9. หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่าง ๆ ที่ทำสาธารณกุศล
  10. ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูก ๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งแม่จงมีความสุขความเจริญ

พูนศุข พนมยงค์

 

ภาคผนวก

ภาพงานฌาปนกิจท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร

 

 

หมายเหตุ: คงอักขร วิธีการสะกด และเลขไทยจากเอกสารต้นฉบับ

ที่มาของภาพ: คลังภาพจากเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข และสถาบันปรีดี พนมยงค์

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

  • ชานันท์ ยอดหงษ์. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564).
  • ดุษฎี พนมยงค์. ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555).
  • พูนศุข พนมยงค์.  ใจคนึง: ตํานาน 100 ปี ชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2555).
  • พูนศุข พนมยงค์.  ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2551).
  • พูนศุข พนมยงค์. ธรรมะท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2550).
  • นรุตม์. หลากบทชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2551).
  • สุดา พนมยงค์ และคณะฯ. หวนอาลัย พูนศุข พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2551).
  • หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 11 มิถุนายน 2550-พฤษภาคม 2551 (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551)

วิทยานิพนธ์ :

  • วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์. กบฏสันติภาพ. รัฐศาสตรมหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

  • กองบรรณาธิการ. (3 กรกฎาคม 2560). 85 ปี จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก”, https://www.the101.world/letter-from-pridi-to-phoonsuk, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.
  • กษิดิศ อนันทนาธร. (2 มกราคม 2564), ใครคือคนดีคนนั้น … ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์,  https://pridi.or.th/th/content/2021/01/555 , สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.
  • กษิดิศ อนันทนาธร. (8 มกราคม 2563). ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์: “ดิฉันเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่สุดที่ได้มีคู่ครองเช่นนี้, https://www.the101.world/phoonsuk-banomyong-marriage/ , สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.
  • เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต. ปรีดี พนมยงค์ : ผู้อภิวัฒน์ รัฐบุรุษซึ่งถูกป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่งในฉากการเมืองไทย, https://www.sarakadeelite.com/faces/120-years-of-pridi-banomyong/, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.
  • พูนศุข พนมยงค์. (21 พฤศจิกายน 2563). ‘โรงพิมพ์นิติสาส์น’ สู่ ‘บ้านพูนศุข’ https://pridi.or.th/th/content/2020/11/508 , สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566.
  • พูนศุข พนมยงค์. (13 กุมภาพันธ์ 2564). ปรีดี-พูนศุข ตราบนานเท่านาน, https://pridi.or.th/th/content/2021/02/604, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (10 มิถุนายน 2563). ช่วงหนึ่งแห่งชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ , https://pridi.or.th/th/content/2020/06/295 สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (3 มกราคม 2563). พูนศุข พนมยงค์ สตรีผู้ไม่ขอรับเกียรติใด ๆ ทั้งสิ้น, https://onetonion.com/2020/01/03/พูนศุข-พนมยงค์-สตรีผู้ไ/  , สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.
  • สันติสุข โสภณสิริ. (2 มกราคม 2566). พูนศุข พนมยงค์ : สตรีในประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ไทย, https://pridi.or.th/th/content/2023/01/1383, สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566.