ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

บทสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

12
มกราคม
2567

ผู้สัมภาษณ์

ขอทราบนามบิดามารดาขอท่านปรีดีและท่านผู้หญิง และมีบุตรกี่คนครับ ?

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

นายปรีดีเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ณ บ้านตรงข้ามวัดพนมยงค์ ตำบลวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของ นายเสียง และ นางลูกจันทน์ พนมยงค์ ส่วนฉันเป็นบุตรของ พระยาชัยวิชิตฯ (ขำ ณ ป้อมเพชร์) และ คุณหญิงเพ็งฯ มีบุตรทั้งหมด ๖ คน คือ ลลิตา, ปาล, สุดา, ศุขปรีดา, ดุษฎี และวาณี

 


ภาพถ่ายครอบครัวปรีดี - พูนศุข
ณ ทำเนียบท่าช้าง

 

ผู้สัมภาษณ์

ท่านปรีดี มีอายุห่างจากท่านผู้หญิงเท่าใดครับ กรุณาเล่าถึงความเป็นมาตั้งแต่รู้จักกัน

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

นายปรีดี พนมยงค์ คู่ครองของฉันนั้น มีอายุแก่กว่า ๑๑ ปี และมีศักดิ์เป็นญาติห่างๆ กัน เพราะมีเซียดเดียวกัน คุณพ่อของฉันกับบิดาของนายปรีดีที่มาจากอยุธยาก็รู้จัก และมีการติดต่อกันเสมอ จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนวิชากฎหมายในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ครอบครัวของเรายังอยู่ที่บ้านคลองสาน ฉันจึงรู้จักมักคุ้นกับนายปรีดีมาตั้งแต่ตอนนั้น คุณพ่อรู้จักทนายความมีชื่อท่านหนึ่ง คือ พระวิชิตมนตรี (สุด กุณฑลจินดา) คุณพ่อบอกนายปรีดีว่า ไหนๆ ก็จะเรียนกฎหมายแล้ว ควรจะฝึกว่าความด้วย จึงส่งไปอยู่สำนักงานทนายความท่านนั้นระยะหนึ่ง ต่อมาคุณพ่อให้ไปทำงานเป็นเสมียนในกรมราชทัณฑ์ ได้เงินเดือนๆ ละ ๒๐ บาท เป็นค่าโสหุ้ยในระหว่างเรียน ไม่ต้องเดือดร้อนผู้ปกครอง และมาอาศัยที่บ้านของเราด้วย

 

ผู้สัมภาษณ์

ท่านผู้หญิงบอกว่าเป็นญาติห่างๆ กัน มีเชียดเดียวกัน ขอทราบความสัมพันธ์ที่เป็นญาติกันครับ?

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

แม้ว่าจะเป็นญาติกัน แต่นายปรีดีเรียกคุณพ่อว่า “เจ้าคุณ” และเรียกลูกๆ ของท่านว่า “คุณ” รวมทั้งฉันด้วย เมื่อแต่งงานกันแล้ว นายปรีดี ได้ขอเรียกฉันว่า “พูนศุข” เฉยๆ และใช้สรรพนามแทนตัวเวลาพูดคุยกันว่า “ฉัน” กับ “เธอ”

 

ผู้สัมภาษณ์

ผลการเรียนของท่านปรีดีเป็นอย่างไรบ้างครับ?

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

นายปรีดีเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง สำเร็จวิชากฎหมายภายใน ๑ ปี แทนที่จะเป็น ๒ ปี

ตามหลักสูตรการเรียนในสมัยนั้น พอสอบเสร็จ คุณพ่อพาไปพบเสนาบดียุติธรรมเวลานั้น คือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) บอกว่า พาหลานชายซึ่งสอบได้เป็นเนติบัณฑิตเรียบร้อยแล้ว มาแสดงความเคารพ และนายปรีดีได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา ๗ ปี จนสำเร็จระดับ Docteur en Droit กลับมา แล้วมาอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์และเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย พร้อมกับเป็น อาจารย์สอนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมด้วย

 


นายปรีดี พนมยงค์ในชุดครุยระดับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส

 

ผู้สัมภาษณ์

ขอความกรุณาท่านผู้หญิงเล่าถึงความหลังในวันแต่งงานด้วยครับ?

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ในตอนเช้าของวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งเป็นวันแต่งงานของเราทั้งสอง ฉันสวมเสื้อสีชานอ้อย นุ่งซิ่นป้าย สีเดียวกัน เคียงคู่กับนายปรีดีในชุดราชปะแตน นุ่งผ้าม่วง สีน้ำเงิน สวมถุงเท้าขาว และรองเท้าดำ ออกมาทำบุญเลี้ยงพระตามประเพณี และถือโอกาสนั้นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ที่เป็นเรือนหอด้วย พระที่นิมนต์มาก็รู้จักสนิทชิดเชื้อกับคุณพ่อ พิธีในตอนเช้ามีแต่ญาติพี่น้องที่สนิท อาหารก็ทำกันเอง เพราะสมัยนั้นมีบริวารที่บ้านมาก ในตอนเย็นซึ่งเป็นฤกษ์รดน้ำ ฉันเปลี่ยนมาสวมเสื้อทำด้วยผ้าลาเม่ ไม่มีแขน ติดดอกไม้แห้งช่อหนึ่ง นุ่งผ้าซิ่นยกสีน้ำเงิน ซึ่งคุณแม่เป็นผู้จัดหา และออกแบบ แล้วให้พี่ๆ น้องๆ ช่วยกันตัดเย็บ

เนื่องจากว่าก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ ๗ นายปรีดีเพิ่งรับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมมาได้เพียงไม่กี่วัน

 


วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2471
เริ่มต้นชีวิตคู่ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับ นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์

 

แขกที่มารดน้ำนั้นคุณพ่อเลือกเชิญแต่ผู้หลัก ผู้ใหญ่ที่เป็นมงคล มีประวัติดี มีครอบครัวดี เพื่อที่จะได้เป็นมงคลแก่เราทั้งสอง พอแขกรดน้ำเสร็จก็กลับ ไม่มีงานเลี้ยงอะไร หลังจากวันแต่งแล้วก็ต้องไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ ทั้งสองฝ่ายตามบ้านของท่าน เท่าที่ฉันจำได้ เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่มารดน้ำนั้น มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้สวมมงคลและเจิมหน้าผาก กับ ท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) ซึ่งท่านทั้งสองเป็นญาติสนิทกับทั้งฝ่ายคุณพ่อและคุณแม่ แล้วมีพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (ภายหลังได้รับการเลื่อนพระยศเป็นกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ในรัชกาลที่ ๙) ตอนนั้น พระองค์ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ กับ หม่อมประยูร (สกุลเดิม สุขุม) แล้วยังมี พระยาจินตาภิรมย์ (จิตร ณ สงขลา) ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และอีกหลายท่านราว ๑๐๐ คน

 


สมุดลงนามในงานแต่งงานระหว่างนายปรีดีและนางสาวพูนศุข

 

ผู้สัมภาษณ์

ทราบว่า หลวงวิจิตรวาทการได้แต่งโคลงบทหนึ่ง พร้อมกับมอบสมุดลงนามมาให้ในวันแต่งงาน มีใจความว่าอย่างไรบ้างครับ

 


สมุดอวยพรพิธีแต่งงานระหว่างนายปรีดีกับนางสาวพูนศุขที่หลวงวิจิตรวาทการมอบให้

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการเดิมท่านชื่อว่า กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ได้แต่งโคลงบทหนึ่ง พร้อมกับมอบสมุดลงนามให้เราทั้งสองเป็นของขวัญด้วย

โคลงนั้นมีความว่า...

พูน เพิ่มเฉลิมเกียรติล้ำ ลือนาม
ศุข สบายภัยขาม คลาดพ้น
ปรี ดาอย่ารู้ทราม จิตต์เสน่ห์
ดี จักมียิ่งล้น หากรู้รักกัน

แล้วในสมุดเล่มนั้น แต่ละท่านก็ได้ลงพระนาม และลงนามไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่นิยม การเซ็นชื่อในสมุดอวยพรกันนัก สำหรับของชำร่วยนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ ประทานมาให้ เป็นบุหงาชำร่วยในถุงผ้าแพรต่วนเย็บเป็นรูปต่างๆ คลุมด้วยลูกไม้ทองสวยงามมาก

 

ผู้สัมภาษณ์

เริ่มชีวิตแต่งงานเป็นอย่างไรบ้างครับ?

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

สำหรับในช่วงแรกๆ หลังเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่ ฉันยังพอมีเวลาว่าง จึงไปสมัครเรียนภาษาฝรั่งเศส ถนนสาทร พร้อมกับเพื่อนนักเรียนเซนต์โยเซฟอีกคนหนึ่ง และได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนนักเรียน จากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก อีกหลายคน อาทิเช่น คุณกนต์ธีร์ ศุภมงคล คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคุณจำกัด พลางกูรซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์

ส่วนนายปรีดีนั้น นอกจากรับราชการที่กระทรวงยุติธรรมแล้ว ยังมีกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นเป็นของตัวเอง ตั้งแต่ก่อนแต่งงาน สำหรับพิมพ์ตำรับตำราวิชาการทางกฎหมาย โดยไปเช่าตึกแถวสองชั้น ย่านศาลาแดง เป็นโรงพิมพ์ และยังเปิดสอนวิชากฎหมายให้กับลูกศิษย์ในตอนค่ำด้วย

 

ผู้สัมภาษณ์

ชีวิตเริ่มตันการทำงานของท่านปรีดี เป็นอย่างไรบ้างครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

นายปรีดีอายุ ๒๘ ปี รับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบัน คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา) และเป็นครูสอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ ๓๒๐ บาท และค่าสอนอีกสัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมงๆ ละ ๑๐ บาท แต่งงานแล้วพำนักอยู่ที่เรือนหอ ซึ่งบิดาฉันปลูกให้ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม อาหารการกิน เราขึ้นไปรับประทาน พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่บนตึกใหญ่

เมื่อนายปรีดีรับเงินเดือนมา ได้มอบให้ฉันทั้งหมด โดยไม่หักไว้ใช้ส่วนตัวเลย เนื่องจาก นายปรีดีมีรายได้พิเศษจากค่าสอน และจากโรงพิมพ์ส่วนตัว ซึ่งออกหนังสือนิติสาส์นเป็นรายเดือน ส่วนเงินเดือนทั้งหมดที่มอบให้ฉันในฐานะแม่บ้าน ได้ใช้จ่ายเป็นเงินเดือนคนรับใช้ และของเบ็ดเตล็ดประจำบ้าน เมื่อมีบุตรก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น เช่น ค่าจ้างคนเลี้ยงลูกและค่านมผง

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นายปรีดีได้รับเงินเดือน ๓๖๐ บาท การสอนที่เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ ๔ ชั่วโมง นอกจากนี้รายได้จากการจำหน่ายหนังสือประชุมกฎหมายไทย ฝากธนาคารไว้เพื่อใช้ส่วนตัว เช่น สั่งซื้อหนังสือตำราจากต่างประเทศ ต่อมา นายปรีดีได้โอนเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท จากบัญชีส่วนตัวมาใส่บัญชีฉัน (ตามจดหมายที่ถึงฉันลงวันที่ ๓ กรกฏาคม ๒๔๗๕) ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดีมีภาระหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เริ่มตั้งแต่เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก กรรมการคณะราษฎร และรัฐมนตรี พันจากเป็นข้าราชการประจำและครูสอนกฎหมาย แต่จะรับเงินเดือนเท่าใด ฉันจำไม่ได้

 


จดหมายลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ที่ นายปรีดี พนมยงค์  เขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุข

 

ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทน แถะงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ส่งนายปรีดีให้ไปดูการเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่าใช้จ่ายให้ปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์

 

ผู้สัมภาษณ์

ขอทราบชีวิตการทำงานต่อไปของท่านปรีดี จนถึงการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

เมื่อเจ้าคุณพหล (พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา - ผู้สัมภาษณ์) พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อเปิดสภาผู้แทนฯ และให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร นายปรีดี จึงกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนในปลายเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น รัฐบาลได้บรรจุให้รับเงินเดือนตำแหน่งศาสตราจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเงินเดือนๆ ละ ๕๐๐ บาท ต่อมาในปลายปี ๒๔๗๖ (นับปีอย่างเก่า) โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับเงินเดือนๆ ละ ๑,๕๐๐ บาท นายปรีดีได้มอบเงินเดือนทั้งหมดให้ฉัน เช่นเดียวกับเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อต้องการสิ่งใดก็ให้ฉันจัดหาให้ บางเดือนเมื่อรับแล้วลืมทิ้งไว้ที่โต๊ะทำงาน จนเจ้าหน้าที่ต้องนำมาให้ที่บ้าน

ต่อมาจึงสั่งให้เลขานุการนำมามอบให้ฉันโดยตรง และปฏิบัติเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาที่นายปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประชุมที่เป็นกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ซึ่งนายปรีดีมอบให้ คุณปพาฬ บุญ-หลง ทำงานอยู่ที่สภาฯ เป็นผู้รักษาไว้ เพื่อใช้ในกรณีจำเป็น เมื่อรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็มีเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งไม่เคยเบิกมาใช้ แต่จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน

ในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย นายปรีดีจึงพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติให้เป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้รับเงินเดือนเท่าเดิมและเมื่อเป็นผู้สำเร็จฯ คนเดียว (Sole Regent) ได้เพิ่มอีก ๑๐๐ บาท กับมีเงินค่ารับรองจำนวนหนึ่ง ซึ่งมอบให้เลขานุการรักษาไว้เพื่อใช้สอยเบ็ดเตล็ด

เมื่อพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จฯ แล้วได้รับบำนาญเดือนละ ๖๐๐ บาท (บำนาญสูงสุดในขณะนั้น) และมีรายได้ส่วนตัวจากค่าเช่าบ้าน ถนนสีลม นอกจากนี้ ธนาคารเอเซียได้สมนาคุณเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง และได้ให้คำแนะนำในการดำเนินการที่ทำให้ธนาคารมีผลกำไรหลังสงคราม โดยที่นายปรีดีหรือครอบครัวไม่มีหุ้นในธนาคารแห่งนี้

 

ผู้สัมภาษณ์

เคยมีผู้กล่าวว่า ท่านปรีดีไม่สนใจเรื่องทรัพย์สินเงินทอง

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร มิตรสนิทของครอบครัวเรา เป็นผู้ที่ทราบและประสบเรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง ได้เขียนในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือ “วันปรีดี'๓๕” ตอนหนึ่งว่า “ท่านปรีดีไม่เคยสนใจในทรัพย์สินเงินทองเลย ท่านรำคาญคนที่พูดเรื่องมรดก ท่านไม่เคยใช้เงินไม่เคยแตะต้องเงิน…” และอีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกันว่า “ท่านไม่เคยแตะต้องเงินเดือนของท่าน ไม่สนใจจะเป็นเท่าไร…”

เมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นายปรีดีจำต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ไม่มีเงินติดตัวเลยต้องยืมจากกัปตันเรือน้ำมันที่โดยสารไปสิงคโปร์ เมื่อถึงสิงคโปร์แล้ว จึงได้โทรเลขยืมเงินจาก คุณดิเรก ชัยนาม ซึ่งในขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ ในระหว่างที่นายปรีดีระหกระเหิน ฉันได้ทำ Letter of Credit ให้ไว้ใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง

 

ผู้สัมภาษณ์

ท่านปรีดีเคยให้ของขวัญที่มีค่าอะไรให้ท่านผู้หญิงบ้างไหมครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

นายปรีดีไม่เคยให้ของขวัญมีค่าแก่ฉันเช่นสามีหลายท่านกระทำกัน แต่ภายหลังวายชนม์ ฉันค้นเอกสารได้พบพินัยกรรมที่นายปรีดีเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดฉัน จึงทำให้ฉันได้รับบำเหน็จตกทอดนายปรีดี เป็นเงิน ๑๒๓,๙๖๐ บาท ขณะมีชีวิตอยู่ นายปรีดีได้รับบำนาญเดือนละ ๔,๑๓๒ บาท ดังนั้น ฉันจึงได้รับบำเหน็จตกทอด ๓๐ เท่าของบำนาญ

เมื่อฉันรำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละ และไม่เห็นแก่ตัวให้ความไว้วางใจฉันอย่างเต็มที่ และอดภูมิใจไม่ใด้ว่าเป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือกอบโกยผลประโยชน์ เพื่อตัวเองและครอบครัวเลย

 

 

ผู้สัมภาษณ์

ขอทราบความปรารถนาสุดท้ายของท่านปรีดีที่ท่านผู้หญิงยังจำได้ครับ?

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ฉันจำได้ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

“เศษเถ้าธุลีสีขาวขุ่นกับมวลดอกไม้สีสด กำลังจะกลืนสลายไปกับผืนน้ำสีครามเบื้องล่าง และผสมผสานกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนต่างๆ ที่เคยประกอบกันเป็นชีวิตเป็นจิตใจของนายปรีดี สุดท้ายก็เหลือเพียงเท่านี้”

 


นายปรีดี พนมยงค์ กลับคืนสู่ธรรมชาติ
11 พฤษภาคม 2529 ณ อ่าวไทย

 

ฉันยืนพิจารณาอัฐิของนายปรีดีทั้งหมดที่กำลังลอยอยู่เหนือน้ำในเขตประเทศไทย ท่ามกลางสายตาของเหล่าชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้เกียรติจัดพิธีต้อนรับและร่วมลงเรือมาร่วมลอยอัฐิในวันนั้น แม้ว่าแต่เดิม นายปรีดีตั้งใจจะเดินทางกลับมาตายในมาตุภูมิ หากความประสงค์นั้นหาบรรลุผลไม่ ด้วยเหตุปัจจัยนานัปการ แม้เมื่อภายหลังนายปรีดีก็ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้อีก

ความปรารถนาครั้งสุดท้ายของนายปรีดีฉันสามารถทำให้ได้เพียงแค่นี้

พ.ศ. ๒๕๓๑ ฉันตัดสินใจขายบ้านในประเทศฝรั่งเศส และเดินทางกลับมาอยู่ในเมืองไทย ท่ามกลางความอบอุ่นใกล้ชิดของครอบครัวและญาติมิตรอย่างเป็นการถาวร

 

ผู้สัมภาษณ์

ชีวิตที่ผ่านมา ๙๐ ปี ท่านผู้หญิงได้เห็นสัจจะของโลกอย่างไร บ้างครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

กว่า ๙๐ ปีของชีวิตฉันที่ผ่านมาเหตุการณ์มากมายหลายอย่างได้เข้ามาสู่ชีวิตของฉัน ล้วนสอนให้ฉันได้เข้าใจใน “สัจจะ” ของโลก อย่างแจ่มชัด แม้ในอดีตจะมีความแปรผันที่ทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป และต้องผจญกับความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่โถมกระหน่ำเข้ามา

 

 

หากฉันตั้งอยู่ในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต อโหสิกรรมกับทุกสิ่ง ทุกอย่าง ไม่ถือโกรธเคืองแค้นใดๆ อีก ตลอดเวลา ฉันไม่เคยลืมตัวหรือรู้สึกว่าต้องสวมหัวโขนจึงไม่เคยคิดว่าชีวิตได้มีความแปรเปลี่ยนแต่อย่างใด…

สิ่งที่ฉันกระทำลงไปทั้งหมด ฉันถือว่าเป็นหน้าที่ที่พึงจะกระทำในฐานะภรรยาของสามีและแม่ของลูก ฉันเชื่อเสมอว่าครอบครัวยังคงเป็นสถาบันที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์ แม้ว่าเราจะต้องผจญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่บีบบังคับเสียจนบ้านแตกสาแหรกขาด

หากครอบครัวของเราก็ยังคงอยู่ ลูกๆ ทุกคน ได้ร่วมกันต่อสู้ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เคียงข้างกับฉันและนายปรีดีอย่างเข้มแข็ง และอดทนมาโดยตลอด นั่นคือความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของฉันแล้ว

เพราะฉะนั้น หากจะต้องปิดฉากชีวิตลง ก็ถือว่าเป็นการปิดโดยธรรมชาติ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะรับไม่ได้ เพราะฉันเชื่อว่า “สรรพสิ่งในโลกย่อมเปลี่ยนผันไปตามกรรม”

 

ผู้สัมภาษณ์

ท่านผู้หญิงเชื่อเรื่องธรรมะและหลักกรรมอย่างไรบ้างครับ

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

“รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ น ชีรติ” ร่างกายของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ต้องแตกดับไป แต่คุณธรรมคุณงามความดีนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะสูญสลายได้ ธรรมะตอนหนึ่งที่ท่านปัญญานันทภิกขุกล่าวเทศน์ในพิธีฌาปนกิจศพนายปรีดี เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่สุสานแปร์ ลาแชส กรุงปารีส

 


พิธีฌาปนกิจศพนายปรีดี เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่สุสานแปร์ ลาแชส กรุงปารีส

 

ตลอดเวลากว่า ๕๔ ปี ที่ฉันได้ร่วมชีวิตกับนายปรีดีนั้น เราได้อยู่กันด้วยความเข้าใจเห็นใจ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองทำให้เราต้องแยกกันอยู่บางขณะ แต่ในที่สุดเราก็ได้มาอยู่ร่วมกันในบั้นปลายของชีวิต จนได้จากกันไปตามกฎของธรรมชาติ แม้ยามมีเคราะห์กรรมก็ไม่หวั่นไหว เพราะเราทั้งสองได้อาศัยหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง โดยยึดพุทธภาษิต “ธมฺโม หเว รกฺติ ธมฺมจารึ” คือ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ในการดำเนินชีวิตเสมอมา

ครั้งหนึ่งในยามที่นายปรีดียังมีชีวิตอยู่ ฉันเคยถามถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด และได้รับคำตอบว่า “มันเป็นเวรเป็นกรรมน่ะ” คำสรุปสั้นๆ นั้นคือความกระจ่างแจ้งทั้งมวล

 

ผู้สัมภาษณ์

ในงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านปรีดี พนมยงค์ สะท้อนหลักพุทธวจนะอย่างไรบ้าง?

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

วันที่ ๑๑ พฤษภาคมปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๓-ผู้สัมภาษณ์) ครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศในปฏิทินการเฉลิมฉลอง บุกคนสำคัญ และเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ค.ศ. ๒๐๐๐ - ๒๐๐๑ ว่านายปรีดีเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก

ทางเมืองไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้จัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ปาฐกถา อภิปราย จัดพิมพ์หนังสือที่เป็นผลงานของนายปรีดี ในด้านศิลปะ มีทั้งละคร ลิเก จิตรกรรม แล้วก็ดนตรี จะมีอะไรอีกบ้าง ฉันก็จำไม่ได้ เพราะเยอะไปหมด ส่วนดนตรีนั้น สมเถา สุจริตกุล ได้ประพันธ์ ซิมโฟนี “ปรีดีคีตานุสรณ์” ดนตรีเป็นสื่อสากล และดุริยนิพนธ์นี้ได้สะท้อนชีวิตและผลงานของ นายปรีดี ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ที่น่าสนใจก็คือ กระบวนที่ ๔ ของซิมโฟนีหมายเลข ๔ ของสมเถา สุจริตกุล ได้นำพุทธวจนะในธรรมบทภาษาบาลีมาเป็นเนื้อร้อง อย่างเช่นที่อ่านให้ฟังดังนี้

 

“ยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ
ย่อมมองเห็นได้แต่ไกล ฉันใด
ความดีของมนุษย์
ก็ย่อมมองเห็นได้แต่ไกล ฉันนั้น”

 

หรืออีกตอนหนึ่ง

 

“ข้าฯ จะอดทนและวางเฉย
ต่อคำนินทาว่าร้าย
เสมือนเช่นช้างศึก
ที่อดทนและฝ่าฟันคมศรที่กระหน่ำมา”

 

หรือ

 

“จงยินดีต่อสิ่งที่รู้ ปกป้องจิตไว้
พาตนเองให้พ้นจาก
หนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม
เช่นเดียวกับ
ช้างที่พาตนเองให้พ้นจากดินโคลน”

 

“ผู้ใดสละแล้ว และวางเฉยต่อคำติฉิน
ปรามาสและโช่ตรวน
ด้วยพละอันยิ่งใหญ่เช่นกองทัพแห่งขันติ
ข้าฯ เรียกเขาผู้นั้นว่า พราหมณ์ที่แท้จริง
ผู้ใดเป็นผู้มีญานอันล้ำลึก
ผู้ใดเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ
ผู้ใดที่รู้แจ้งตามมรรคาและอมรรคา
ผู้ใดที่ได้ไปถึง ณ จุดสูงสุดแล้ว
ข้าฯ เรียกเขาผู้นั้นว่า พราหมณ์ที่แท้จริง
พฤษภอันงามเลิศแกล้วกล้า
ปราชญ์ผู้สามารถ
ผู้ชนะอันปราศจากแล้วซึ่งกิเลส
ผู้ซึ่งได้ชำระล้างมลทินสิ้นแล้ว
ผู้ที่ตื่นแล้ว
ข้าฯ เรียกเขาผู้นั้นว่า พราหมณ์ที่แท้จริง”

 

พุทธวจนะเหล่านี้ สอนให้เรามุ่งทำความดี เมื่อนำมาร้องเป็นเพลง ย่อมง่ายที่จะซึมซาบ คิดว่าผู้ฟังคงจะได้นำมาตรึกตรอง นำมาเป็นหลักธรรมในชีวิต มากบ้าง น้อยบ้าง

 

 

หมายเหตุ :

  • บทสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดย คุณอัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ เนื่องในโอกาส 100 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ไม่ปรากฏวันสัมภาษณ์

 

ที่มา : พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง, 2455-2550 (2550). ธรรมะท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์. ม.ป.พ., น.15 - 45.