ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน

1
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • การจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยพยายามรวมเอาพรรคการเมืองหลายๆพรรคเข้ามาเป็นฐานของรัฐบาล ดังสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2492 มิได้สร้างหลักประกันว่ารัฐบาลจะมั่นคงเสมอไป เพราะมีการแตกแยกของพรรครัฐบาลเกิดขึ้น  ทั้งหากไม่มีฝ่ายค้าน ก็ย่อมเป็นผลเสียจากการที่ไม่มีการวิพากษ์กิจการของรัฐบาลได้
  • การทำหน้าที่ของฝายค้านและวุฒิสมาชิก ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล ดังกรณีการอภิปรายทั่วไปในสภาเป็นเวลารวม 15 วัน สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (อีกครั้ง)  เมื่อ พ.ศ. 2492 ย่อมมีประโยชน์ในเชิงข้อคิดและความรู้เพื่อบำบัดความเสื่อมโทรมในทางการเมือง
  • การที่รัฐบาลจะพึงรักษาสัญญาและเคารพต่อหลักการที่ดีงาม เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ แต่ก็ไม่เพียงพอ สภาผู้แทนราษฎรยังต้องการการมีอยู่ของกลุ่มหรือพรรคการเมืองฝ่ายค้านเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลให้ทำหน้าที่ตามสัญญา คือ “เชิดชูหลักการปกครองประชาธิปไตย โดยจะจัดการมิให้อิทธิพลของทหารและตำรวจเข้ามาพัวพันกับการเมือง...”

 

ภายหลังที่ได้ฝ่ามาในพายุแห่งการวิพากษ์ในสภาผู้แทน 12 วัน และในวุฒิสภา 3 วัน รวมเปน 15 วันแล้ว รัฐบาลจอมพลพิบูลสงคราม ก็ได้รับมติไว้วางใจจากสภาผู้แทนโดยคะแนนเสียง 63 ต่อ การที่รัฐบาลพิบูลสงครามได้รับมติไว้วางใจจากสภาผู้แทนนั้นก็จะต้องถือว่าเปนเหตุการณ์ธรรมดา เพราะว่าก่อนหน้าที่รัฐบาลปัจจุบัน

จะได้รับการแต่งตั้งก็เปนที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เสียงสนับสนุนรัฐบาลพิบูลสงครามในสภาผู้แทนเปนเสียงฝ่ายข้างมาก เหตุฉะนั้นถ้าเห็นในชั่วเวลาไม่กี่วันและรัฐบาลก็ยังมิทันจะลงมือทำอะไร เสียงสนับสนุนรัฐบาลก็จะพลันแตกแยกออกเปนเสี่ยงๆ เสียแล้ว ก็จะกลับเปนเครื่องแสดงอย่างน่าอนาถว่า ในวงการเมืองของเราไม่ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์อะไรกันเลย และเต็มไปด้วยความเลอะเทอะสิ้นดี อันที่จริงใน

ทุกวันนี้ การปฏิบัติในวงการเมืองของเราก็หาระเบียบกฎเกณฑ์ได้ยากอยู่แล้ว จึงควรช่วยกันประคับประคองไว้อย่าให้ถึงแก่สิ้นเนื้อประดาตัวเสียเลยทีเดียว

เมื่อรัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาแล้ว ต่อนี้ไปก็เปนเวลาที่รัฐบาลจะต้องลงมือทำงานต่อไป ตามที่ได้รับรองไว้แก่รัฐสภา อย่างไรก็ดีเมื่อรัฐสภาได้ใช้เวลาถึง 15 วัน วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งเปนรัฐบาลสืบเนื่องมาแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เราก็ควรจะแสวงประโยชน์จากการศึกษาพฤติการณ์ที่ล่วงมาแล้วว่า ได้ให้ข้อสอบหรือข้อคิดอันใดบ้าง ซึ่งอาจจะรวบรวมเปนทุนความรู้ สำหรับที่ประเทศของเราจะได้ใช้บำบัดความเสื่อมโทรมในทางการเมืองที่ได้เปนมาและกำลังเปนอยู่

ในเบื้องต้นเราใคร่จะชี้ให้เห็นว่า ตามที่ได้เคยมีเสียงเรียกร้องให้กลุ่มการเมืองทั้งหมดเข้ารวมกันเปนรัฐบาลผสมจนไม่มีกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านเหลืออยู่เลย ซึ่งหมายความว่านักการเมืองหัวหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายควง อภัยวงศ์ และม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ตลอดทั้งนักการเมืองหัวหน้าของพรรคอื่นเช่น พรรคสหชีพอันได้แก่ นายเตียง ศิริขันธ์ เข้าร่วมเปนรัฐบาลเสียทั้งหมด ดังนั้นกลุ่มการเมืองฝ่ายค้านก็จะไม่มีเหลือ เมื่อเปนดังนั้น การแถลงนโยบายของรัฐบาลก็จะผ่านสภาผู้แทนไปโดยปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด

เมื่อเป็นดังนั้นก็จะไม่มีการพูดกันถึงเรื่องการละเมิดหลักการประชาธิปไตยในประการต่างๆ, ไม่มีการพูดถึงเรื่องความข่มขี่ในทางการเมืองรูปแบบต่างๆ, ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ทหารและตำรวจบางส่วนเข้ามาพัวพันเปนฝักเปนฝ่ายในทางการเมือง, ไม่มีการพูดถึงเรื่อง 4 อดีตรัฐมนตรีถูกยิงตาย ไม่มีการพูดถึงความอ่อนแอของคำแถลงนโยบายและจะไม่มีข้อวิพากษ์ถึงกิจการสำคัญอื่นๆ อีกที่ได้วิพากษ์กันมาแล้วมากมายหลายหลาก

มาตราว่าไม่มีข้อวิพากษ์ดังที่ได้กระทำกันมาแล้ว 12 วันในสภาผู้แทน ผลก็จะเปนว่าหัวหน้ารัฐบาลก็จะไม่ต้องให้คำมั่นสัญญามากมายหลายข้อแก่สภาดังที่ได้ให้ไว้แล้ว ผลก็จะเปนว่ารัฐบาลก็จะปกครองประเทศไปได้ตามอำเภอใจ โดยมิต้องเคารพหลักการที่ดีงามอะไรเลย ดังที่ได้รู้สึกกันว่าได้เปนมาแล้วก่อนหน้านี้ และรัฐบาลก็จะปกครองประเทศไปอย่างลอยนวลเช่นเคย จริงอยู่ในชั้นนี้เราก็ยังรู้ไม่ได้ว่ารัฐบาลจะปกครองไปอย่างลอยนวลโดยไม่แยแสต่อหลักการที่ดีงามหรือไม่ แต่เมื่อหัวหน้ารัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาไว้เปนอันมากแล้ว เราก็ควรจะให้โอกาสและคอยดูผลต่อไป หากรัฐบาลละเมิดหรือไม่เคารพคำมั่นสัญญาเปนคำรบสองหรือสามแล้ว ฐานะของรัฐบาลในทางธรรมจริยาก็จะตกต่ำลงถึงขีดสุดจนยากที่จะแก้ไขให้กลับคืนดีได้ ด้วยเหตุดังนี้ สืบแต่นี้ไปรัฐบาลก็คงจะใช้ความระมัดระวังในการปกครองเปนพิเศษ ซึ่งก็น่าจะเปนผลดีแก่ประเทศชาติไม่น้อย

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ากลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เปนสิ่งสาระสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ ถ้าเรายังไม่ประสงค์จะแลเห็นบ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยความเลอะเทอะจนถึงขีดหมดหวัง อนึ่งความคับขันชนิดที่จะต้องการรัฐบาลผสม จนถึงจะมิให้มีกลุ่มหรือพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาเสียเลยนั้น ยังอยู่ห่างไกลจนไม่สามารถจะแลเห็นได้ หากจะมีข้อน่าเปนห่วง ข้อเปนห่วงมิได้อยู่ที่ว่าเพราะมีฝ่าย

ค้าน หากอยู่ที่ว่าเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รู้จักคุณธรรมแห่งการปฏิบัติหน้าที่ของตนเท่านั้น อย่างไรก็ดี การปกครองที่ไม่มีฝ่ายค้านนั้นยากที่จะเปนการปกครองประชาธิปไตยไปได้ การอภิปรายในสภาผู้แทนเมื่อ 12 วันที่แล้ว ได้พิสูจน์ให้เห็นประโยชน์ของการมีฝ่ายค้านอย่างชัดแจ้งที่เดียว

อนึ่ง ควรเปนที่สังเกตว่า ในการอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาลในวุฒิสภารวม 3 วันนั้น สมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยคน ซึ่งเราเข้าใจว่าไม่มีพันธะจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานที่เปนฝ่ายค้านก็ได้แสดงข้อตำหนิติเตียนรัฐบาล ด้วยถ้อยคำหนักเอาการอยู่ซึ่งใครๆ ก็ออกจะมิได้คาดหมาย ข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือข้อแนะของท่านสมาชิกเหล่านั้น อาจถือเปนเครื่องวัดความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลได้เปนอย่างดี และเราหวังว่ารัฐบาลไม่ละโอกาสที่จะใช้เครื่องวัดนั้นให้เปนประโยชน์แก่การปรับปรุงท่าทีของรัฐบาลต่อไป

เท่าที่เราจะระลึกทบทวนได้นั้น รัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาไว้แก่รัฐสภา ซึ่งก็หมายถึงว่าให้ไว้แก่ประชาชนเปนจำนวนมาก เราคิดว่าคำมั่นสัญญาที่ประชาชนสนใจอย่างยิ่งนั้นคือ ได้แก่คำมั่นสัญญาที่จะเชิดชูหลักการปกครองประชาธิปไตย โดยจะจัดการมิให้อิทธิพลของทหารและตำรวจเข้ามาพัวพันกับการเมือง จะจัดการทุกประการมิให้ประชาชนหวาดหวั่นภัยจากการกดขี่ทางการเมืองจากผู้ถืออาวุธและ

ถืออำนาจที่ประเทศได้มอบไว้ให้และจะจัดการโดยประการอื่นๆ อีก

การภายหน้ารองประเทศจะดำเนินไปราบรื่นเพียงใดนั้น ชั้นอยู่แก่ปัจจัยหลายอย่าง แต่ในชั้นต้นนี้ ถ้าแต่ละฝ่ายจะพยายามศึกษาถึงหน้าที่ของตน จะศึกษาถึงคุณธรรมที่แต่ละหน้าที่ต้องการ แล้วตั้งหน้าปฏิบัติด้วยความสุจริตจริงใจ แล้วก็พอหวังได้ว่า จะบรรเทาความเดือดร้อนระส่ำระสายในบ้านเมืองให้ลดน้อยลงได้เปนลำดับ

เมื่อถูกรุกเร้าในวุฒิสภาว่ารัฐบาลไม่เปนประชาธิปไตยนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่าตัวท่านได้เล่นกับรัฐธรรมนูญมาถึง 17 - 18 ปีแล้ว ก็จะต้องขอรับว่ายังไม่แตกฉานพอ ก็ท่านมัวไป “เล่น” กับรัฐธรรมนูญเสียนี่ ถ้าท่าน “เอาจริงเอาจัง” กับมันแล้ว ท่านก็คงจะไม่ต้องมาบ่นว่า ท่านยังไม่แตกฉานพอ เราหวังว่าต่อแต่นี้ไปท่านจะเลิก

"เล่น" กับรัฐธรรมนูญซึ่งท่านได้ “เล่น” มาถึง 17 - 18 ปีแล้ว และหันมา “เอาจริงเอาจัง” กับรัฐธรรมนูญเสียที

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2492
คงอักขระเดิมตามต้นฉบับ

 

หมายเหตุบรรณาธิการ
ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน
[พ.ศ. 2492]

สถานการณ์ของการเมืองไทย ช่วงกลางปี พ.ศ. 2492 คือ เสียงสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามในสภาผู้แทนถือเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก แต่จอมพล ป. ก็ยังต้องการกลุ่มพรรคการเมืองทั้งหมดเช่น พรรคประชาธิปัตย์ ของนายควง อภัยวงศ์ และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมกันเป็น “รัฐบาลผสม” จนอาจเรียกได้ว่าจอมพล ป.ไม่ต้องการให้มี “ฝ่ายค้าน” ในสภา

ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2492 ชิ้นนี้ คือการเอ่ยเตือนสติว่า อย่าปล่อยให้รัฐบาลปกครองประเทศอย่างลอยนวล คำว่า “เล่นกับการเมือง” คงจะมีความหมายมาตั้งแต่สมัยนั้น แต่ทว่าสมัยนั้นนายกุหลาบใช้คำว่า “เล่นกับรัฐธรรมนูญ” และเขาได้เรียกร้องให้บรรดา “นักเล่นการเมือง” ทั้งหลายเลิก “เล่นกับรัฐธรรมนูญ” เสียที แต่ควรหันมา “เอาจริงเอาจังกับรัฐธรรมนูญ” เพื่อที่ประเทศชาติจะได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

 

ที่มา :  กุหลาบ สายประดิษฐ์ . “ประโยชน์ของการมีฝ่ายค้าน”, ใน, “มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ” ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ บรรณาธิการและหมายเหตุบรรณาธิการ โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี . : โรงพิมพ์ แอล. ที. เพรส; 2548. น. 271 - 277.