กุหลาบ สายประดิษฐ์ ช่วงทศวรรษ 2480
ในระหว่างเดือนสองเดือนมานี้ กระแสร์การเมืองภายในของเราดำเนินเข้าสู่ความอลเวงหนักขึ้น ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็เต็มไปด้วยคำพูดของนักการเมืองที่พูดกระทบกันไปกระทบกันมาแทบมิเว้นแต่ละวัน. เปนของประหลาดที่การเมืองของเราดำเนินไปด้วยการตั้งหน้าแต่จะระบายความรู้สึกของนักการเมือง แทนที่จะเปนการแสดงเหตุผล, สถิติ หรือแผนการ ในอันจะบูรณะสร้างเสริมความไพบูลย์ในทางเศรษฐกิจ, การเงิน และอื่น ๆ ดังที่นานาประเทศเขาบากบั่นดำเนินการกันอยู่ในบัดนี้
ด้วยเหตุการเมืองของเราตกอยู่ในความพลุ่งพล่านดังกล่าวนักการเมืองและรัฐบุรุษบางท่านที่ประสงค์จะหลีกให้ห่างไกลจากความสับสนอลหม่านของกระแสร์การเมือง จึงได้ใช้ความสำรวมอันพิเศษ ดังเช่นนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อจะตอบสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ก็ให้คำตอบเปนลายลักษณ์อักษร แทนที่จะตอบด้วยวาจา. การที่ให้คำตอบเปนลายลักษณ์อักษรนั้น ท่านเจ้าของคำตอบก็ได้ชี้แจงแล้วว่า “เพื่อระมัดระวังให้ประชาชนได้ทราบคำตอบโดยถ้อยคำที่ตรงกับความประสงค์ของผู้ตอบ”
คำตอบสัมภาษณ์ของนายปรีดี ครั้งหลังที่สุดนั้น เปนการยืนยันความดำริในการลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเปนการให้เหตุผลแก่ความดำริข้อนั้น. การลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรของนายปรีดี ซึ่งบัดนี้ก็ได้มีประกาศเปนทางการแล้วนั้น ย่อมจะเปนที่เสียดายกันอย่างยิ่ง ไม่แต่ในวงราษฎรชาวอยุธยา ซึ่งนายปรีดีได้เปนผู้แทนของเขาอยู่เท่านั้น หากจะแผ่คลุมไปในวงของราษฎรทั่ว ๆ ไปด้วย. กรณียกิจของนายปรีดีที่ได้ปฏิบัติต่อประเทศชาติ นับแต่ได้เข้าร่วมในการสถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตย, ได้เปนกำลังสำคัญของระบอบนั้น และได้ยึดมั่นอยู่ในอุดมคติของการปฏิวัติตลอดมา จนถึงได้ประกอบกิจเอาชีวิตเข้าฝ่าภยันตรายกอบกู้เอกราชให้แก่ประเทศเปนที่สุด เกียรติคุณของท่านผู้นั้นที่แจ่มจรัสอยู่ในสายตาของประชาราษฎร
ด้วยเหตุที่นายปรีดีมีความสนใจเปนพิเศษ ในการจำเริญเกษตรกรรมอันเปนศูนย์ความไพบูลย์แห่งเศรษฐกิจของประเทศ และมีความใส่ใจที่จะยกมาตรฐานการครองชีพของมวลชนกสิกรเปนอย่างยิ่ง การลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองของนายปรีดี จึงย่อมจะเรียกความเสียดายอาลัยจากปวงกสิกรเปนพิเศษ. อย่างไรก็ดี โครงการจำเริญเกษตรกรรมที่นายปรีดีได้ริเริ่มไว้แล้ว เช่นโครงการสร้างเขื่อนชัยนาทนั้น ก็คงจะได้รับการบริหารให้ลุล่วงสำเร็จไป
ในการลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรนั้น นายปรีดีได้กล่าวเหตุผลไว้ว่า มีความเหน็ดเหนื่อย ใคร่จะได้พักผ่อน. นอกจากที่กล่าวให้ปรากฏแล้ว นายปรีดีอาจจะมีเหตุอย่างอื่นอีก แต่แม้อาศัยเหตุผลเพียงเท่าที่แสดงออก เราก็เห็นว่าพอแล้ว. เมื่อคน ๆ หนึ่งได้อุทิศชีวิตและความสำราญส่วนตัว รับใช้ประเทศชาติด้วยตรากตรำงานหนักและเสี่ยงภัยชีวิตมาถึง ๑๕ ปี และในที่สุดได้ร้องขอแต่เพียงการพัก
ผ่อน เพื่อที่จะด้รับความสงบทางจิตต์ใจบ้าง เราคิดว่านั่นเปนคำร้องขอที่เพียงแต่จะขอเสรีภาพในการจะได้เลือกใช้ชีวิตตามที่ประสงค์จะใช้ โดยความเปนธรรมของเสรีชนคนหนึ่งเท่านั้น.
เราเชื่อแน่ว่า นายปรีดีจะไม่ละทิ้งการของประเทศไปเลย ดังที่ท่านผู้นั้นก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า “ส่วนหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อราษฎรและประเทศชาตินั้น ข้าพเจ้าไม่ละทิ้ง” เมื่อนายปรีดีได้พักผ่อนพอสมควรและเมื่อใดเปนที่ประจักษ์ชัดว่าบริการของท่านจักเปนคุณประโยชน์สาระสำคัญแก่ประเทศแล้ว นายปรีดีก็คงจะสนองบริการของท่านต่อประเทศเปนแน่
ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : พ.ศ. 2490
หมายเหตุ:
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “การลาออกของนายปรีดี ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), 147-148.
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - มนุษยภาพ
- ตอนที่ 2 - ชีวิตของประชาชาติ
- ตอนที่ 3 - ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย
- ตอนที่ 4 - ระบบหัวโขน
- ตอนที่ 5 - เสรีภาพ
- ตอนที่ 6 - ความกาลีแห่งอำนาจ
- ตอนที่ 7 - การวางยาแก้โรคเงินเฟ้อ
- ตอนที่ 8 - เชรษฐบุรุษ
- ตอนที่ 9 - รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ