ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ (ตอนที่ 9)

30
มิถุนายน
2567

-1-

พณะท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งได้ จากมาตุภูมิไปเยือนมิตรประเทศ ในนามทูตไมตรีของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๙ นั้น ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิแล้ว กำหนดถึงสนามบินคลองเตย[1] บ่ายวันวาน. ขณะเขียนบทความนี้ท่านปรีดียังไม่มาถึง แต่ก็เปนที่คาดหมายได้ว่าท่านทูตไมตรีจะได้รับการต้อนรับจากมิตรสหายและประชาชนอย่างอบอุ่นมโหฬาร ในฐานที่ท่านเปนรัฐบุรุษหลักของประเทศข้อหนึ่ง และในฐานที่ท่านทูตไมตรีได้สำเร็จภาระกิจของท่านอย่างเปนที่พิงพอใจยิ่ง.

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ใช้เวลาเกือบ ๓ เดือนครึ่งปฏิบัติภาระกิจของท่านในต่างประเทศ ท่านทูตไมตรีได้เยือนประเทศจีนเปนแห่งแรกจากนั้นก็ไปสู่ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอรแลนด์ เดนมารค สวีเดน และนอรเวย์ รวมทั้งสิ้น ๙ ประเทศ ท่านทูตไมตรีของไทยได้รับการต้อนรับในฐานเปนแขกเมืองของประเทศเหล่านั้น ได้รับการต้อนรับจากประมุขของประเทศ จากประธานาธิบดีและจากพระมหากษัตริย์. ทุกหนแห่งที่ท่านทูตไมตรีของเราได้ผ่านไปท่านได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและด้วยการให้เกียรติยศสูงสุดเท่าที่มิตรประเทศเหล่านั้นจะได้เคยให้แก่แขกเมืองคนสำคัญมาแล้ว.

ที่สหรัฐอเมริกา ท่านประธานาธิบดีทรูแมนได้ให้การต้อนรับอย่างมโหฬารและรัฐบาลอเมริกันได้ให้เหรียญ “ออเตอร์ ออฟ ฟรีดอม” ประดับใบปาล์มทองคำ ซึ่งเปนอิสสริยาภรณ์สูงสุดที่สหรัฐอเมริกาได้ให้แก่ชาวต่างประเทศพันมิตรเปนคนแรก เปนการรับรองเชิดชูเกียรติยศและความสำเร็จที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ปฏิบัติในระหว่างสงคราม ด้วยการเสี่ยงชีวิต ในฐานเปนหัวหน้าใหญ่ของขบวนต่อต้านศัตรูในประเทศไทย. ที่อังกฤษ สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษได้พระราชทานเลี้ยงอาหารเปนเกียรติยศ ณะ พระราชวังบัคกิงแฮม สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษและท่านประธานสภาได้เลี้ยงต้อนรับ และให้เกียรติยศแก่ท่านรัฐบุรุษ ซึ่งน้อยครั้งที่สภาผู้แทนและประธานสภาผู้แทนอังกฤษจะได้ให้เกียรติยศแก่แขกเมืองถึงปานนั้น. ที่นอรเวย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงนอรเวย์ได้พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน และที่สวีเดนท่านรัฐบุรุษได้รับพระราชทานอิสสริยาภรณ์ “แกรนด์ ครอสวอฟซาวา” ทั้งหมดนี้เปนการเก็บความสั้น ๆ จากรายงานข่าวที่มีมาจากต่างประเทศ.

 


รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเหรียญ “เมดัล ออฟ ฟรีดอม ประดับใบปาล์มทอง” จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

 

นอกจากในฐานะทูตไมตรีแล้ว ท่านรัฐบุรุษยังได้รับมอบหมายภาระกิจจากรัฐบาลอีกหลายประการ ไปปฏิบัติในต่างประเทศตามรายงานข่าวที่ทางประเทศไทยได้รับ ท่านรัฐบุรุษได้ไปดูการชลประทานและกสิกรรมในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา ได้ไปชมเขื่อนชลประทานใหญ่นอริส และยังได้ไปดูกิจการบางอย่างในอังกฤษ และในประเทศอื่น ๆ อีก เพื่อจะได้นำมาประกอบการพิจารณาทำนุบำรุงประเทศให้เจริญวัฒนาต่อไป

ด้วยการเสียสละความผาสุกในชีวิต ประกอบการงานให้แก่ประเทศชาติ นับแต่ได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย สืบต่อมาจนถึงได้ทำการต่อต้านอริราชศัตรูจนสงครามสิ้นสุดลง เปนเวลาประมาณ ๑๕ ปีแห่งความตรากตรำคร่ำเคร่งต่อการงานของประเทศ ด้วยบุคคลิกภาพและด้วยชื่อเสียงเกียรติคุณฉะเพาะตัวของท่านเอง เมื่อประเทศไทยได้เลือกท่านปรีดีเปนทูตไมตรี จำเริญสัมพันธภาพกับบรรดามิตรประเทศ และเมื่อการปฏิบัติภาระกิจของท่านได้เสร็จสิ้นลงดังนี้ ใครๆ ก็จะเห็นว่าประเทศไทยเลือกได้ทูตไมตรีที่เหมาะสมที่สุดและเปนอย่างหนึ่งไม่มีสองแล้ว

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ออกไปราชการต่างประเทศในฐานเปนทูตไมตรีครั้งนี้ ได้ไปในฐานเปนผู้แทนของประเทศและชาติไทย เกียรติยศและความยกย่องเชิดชูใดๆ ที่ทูตไมตรีซองเราได้รับจากบรรดามิตรประเทศ ก็ย่อมถือได้ว่าเปนเกียรติยศแก่ประเทศและชาติของเรา ซึ่งประชาชาวไทยจะได้ร่วมชื่นชมและรับไว้ด้วยความภาคภูมิใจ และพร้อมกันนี้ประชาชาวไทยก็คงใคร่สำแดงความระลึกคุณในไมตรีจิตต์ลึกซึ้งของบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ฉะเพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ที่ได้แสดงต่อทูตไมตรีของเรา และต่อประเทศชาติของเรา.

 

-2-

การกลับคืนมาตุภูมิของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ได้ประสพการต้อนรับจากมิตรสหายและประชาชนอย่างอบอุ่นมโหฬารเปนประวัติการณ์ ภาพการต้อนรับที่ท่าเรือเมื่อวันที่ ๒๑ เปนภาพตรึงใจและชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมใสศรัทธาแท้จริง ที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มีต่อท่านรัฐบุรุษหลักของประเทศผู้นี้ เช่นเดียวกับที่ พิมพ์ไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “จากจำนวนคนหลายหมื่นที่ไปคอยต้อนรับท่านย่อมชี้ให้เห็นว่า ประชาชนทั้งไทยและชาวต่างชาติต่างถือเสมือนนายปรีดีเปนขวัญของประชาชนส่วนมากทั้งในเวลานี้และในเวลาข้างหน้า” และได้กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า “เปนธรรมดาอยู่เองที่พรพึงได้แก่ผู้ควรรับความสรรเสริญ” หนังสือพิมพ์มากฉบับได้แสดงบทความต้อนรับจับใจและจัดทำฉบับพิเศษแทบทุกฉบับ ได้รายงานข่าวการมาถึงและการต้อนรับอย่างละเอียด และเต็มไปด้วยไมตรีจิตต์ต่อรัฐบุรุษอาวุโส

แม้ว่าต้องตรากตรำต่อการปฏิบัติหน้าที่และการเดินทางไกล และทั้งที่กำลังป่วยอยู่ นับแต่ชั่วโมงแรกที่มาถึง นายปรีดีที่แทบจะมิได้ประสพการพักผ่อนเลย ในค่ำวันที่มาถึง นายปรีดีได้ตรงไปกราบศพท่านเชษฐบุรุษ[2] ผู้เปนหัวหน้าของท่าน และอยู่เปนเพื่อนศพ ๒ ชั่วโมง ในวันรุ่งขึ้นกี่ต้อนรับการเยี่ยมของญาติมิตร และในบ่ายวันเดียวกันนั้นได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เปนเวลาชั่วโมงครึ่ง

สีหน้าของนายปรีดีแช่มชื่นและแสดงถึงจิตต์ใจผ่องแผ้วก็จริง แต่สีหน้านั้นเอง ก็แสดงความอิดโรยกำลังด้วยในขณะเดียวกัน นายปรีดีได้กล่าวให้ที่ประชุมหนังสือพิมพ์ฟังว่า การเดินทางไปจำเริญสัมพันธไมตรีกับบรรดามิตรประเทศแทบทั่วโลกนั้น ทำให้ต้องอยู่ในกำหนดการต้อนรับอันหนักอึ้ง ประกอบกับอากาศหนาวจัดทำให้สุขภาพเสื่อมลงจนกะเพาะอาหารและลำไส้ไม่ทำการ จึงต้องงดการเดินทางเพื่อรับการพยาบาล และจำต้องปฏิเสธด้วยความเสียใจยิ่งต่อคำเชิญของรัฐบาลอีก ๕ ประเทศ มีรัสเชีย อินเดีย อิหร่าน อียิปต์ และพม่า

“ผมกลับมานี้เพื่อการรักษาตัว เพราะทนอากาศหนาวจัดไม่ได้” นายปรีดีกล่าว “ผมได้ตอบผู้แทนของประเทศเหล่านั้นไปแล้วว่า ต่อเข้าฤดูร้อนและผมคลายป่วยแล้ว ก็จะกลับไปเยี่ยมเยียนทั้ง ๕ ประเทศ”

นายปรีดีกล่าวต่อไปว่า “โลกปัจจุบันเปนโลกที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นกี่เปนกิจสำคัญที่เราจะต้องทำให้นานามิตรประเทศเขาเข้าใจ เห็นใจ และเชื่อถือเรา เราจึงจะได้รับความพึ่งพาอาศัยจากเขา โดยเหตุนั้นจึงได้รับภาระออกไปจำเริญไมตรี เพื่อจะให้นานาประเทศเขาเข้าใจ และเห็นใจเรา”

โดยที่ได้เปนทูตไมตรีไปในนามของประเทศและชาวไทย ฉะนั้นท่านทูตไมตรีก็ได้ตั้งใจจะรายงานถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายไปให้ประชาชนทราบ การให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์จะทำโดยละเอียดก็ไม่ได้ ข้อความโดยละเอียดนั้น จะรายงานต่อประชาชนโดยทางปาฐกถาในไม่ช้า เพื่อประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริงถี่ถ้วนและพิจารณาด้วยตนเอง จะพอใจเลือกปฏิบัติการอย่างใดต่อไป นายปรีดีกล่าวตอนท้ายว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างก็ย่อมแล้วแต่ประชาชนจะตัดสินเอาเอง”

เมื่อถูกถามถึงเครดิตที่จะได้รับจากต่างประเทศนั้น นายปรีดีกล่าวว่า เรื่องเช่นนี้เปนเรื่องที่จะต้องพูดกันโดยละเอียดและขอเอาไว้รายงานต่อประชาชนทางปาฐกถา และเมื่อถูกรุกเร้าให้ตอบว่าได้รับผลเพียงใด นายปรีดีก็ขอตัวด้วยวาจาอันสงบเงี่ยม “อย่าให้กล่าวถึงผลเลย จะดูเปนอวดงานของตัวไป ผมอยากจะกล่าวแต่ข้อเท็จจริงส่วนผลนั้นก็จะละไว้ให้ผู้อื่นพิจารณา จะตอบคุณแต่สั้น ๆ สักคำสองคำว่า เรื่องเครดิตนั้นเรามีหวังอยู่มาก แต่ก็ประกอบด้วยเงื่อนไขหลายประการ ความสำเร็จในการเจรจากับต่างประเทศนั้นต้องประกอบด้วยกำลังสองทาง คือกำลังความไมตรีกับกำลังความมั่นคงภายในประเทศของเราเอง ถ้าในประเทศมีความปั่นป่วนระส่ำระสาย จนถึงเสียความมั่นคงแล้ว เราจะหวังให้ต่างประเทศเขาเชื่อถือเราได้อย่างไร ฉะนั้นขอพวกเราจงช่วยกันสร้างกำลังความมั่นคงขึ้นภายในประเทศเถิด”

นายปรีดีได้ฝากข้อเตือนใจประชาชนโดยผ่านทางหนังสือพิมพ์ว่า “เวลานี้นานาประเทศเขาลงมือก่อร่างสร้างตัวกันเปนการใหญ่แล้ว ส่วนประเทศของเราอยู่ข้างจะช้าไปหน่อยในการลงมือ แต่ก็ยังไม่สายเกินไป ถ้าได้รีบเร่งลงมือเสียในเวลานี้ ซึ่งกล่าวได้ว่าเปน ‘โอกาสทอง’ ของเรา และถ้าเราไม่รับเอาโอกาสนี้ ประเทศก็จะหลีกเลี่ยงความมืดมนต์ในอนาคตไปไม่ได้ ขอเราจงรับ ‘โอกาสทอง’ ลงมือปฏิสังขรณ์ประเทศชาติทุกวิถีทาง”

เมื่อมีผู้ถามถึงว่า ขณะอยู่ในต่างประเทศได้รับรายงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในอยู่เสมอหรือไม่ นายปรีดีตอบว่าท่านต้องเดินทางอยู่เสมอ ฉะนั้นก็นับว่าไม่ได้รับรายงานอะไร นอกจากในเรื่องสำคัญ ๆ เช่น มรณะกรรมของ ม.ล.กรี[3] และท่านเชษฐบุรุษ และเมื่อถูกถามถึงข้อปัณหาการเมืองภายใน เช่นการเปลี่ยนรัฐบาล การใส่ความร้ายต่อกัน และเรื่องอื่นๆ อีก ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้แต่โบกมือ และขอร้องว่า “ขออย่าให้ผมล่วงล้ำเข้าไปพูดถึงเรื่องการเมืองภายในเลย ผมประสงค์แต่จะรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของผมในต่างประเทศเท่านั้น” เมื่อถูกรุกเร้าอีก ๒-๓ ครั้ง ท่านกี่ยิ้มละมัยและตอบว่า “ผมได้ผ่านเมืองของพระพุทธเจ้ามาแล้ว ก็ตั้งใจจะขอรับและให้อโหสิกรรมในทางการเมืองกันเสียที.

ในส่วนหนังสือพิมพ์นั้น ถ้าผมได้ทำการล่วงเกินอะไรไปบ้างก็จงอโหสิให้ผม และในส่วนที่หนังสือพิมพ์ฉบับใดคนใดล่วงเกินผม ผมก็อโหสิให้ เปนอันจบสิ้นข้อขุ่นข้องใจกันเสียที แล้วเรามาช่วยกันคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองของเราต่อไป” ท่านกล่าวคำลงท้ายขอความเห็นใจว่า “คุณเอ๋ย เมื่อผมเปนนายกรัฐมนตรีนั้น ผมต้องทำงานเกือบ ๒๔ ชั่วโมง ต้องแบกภาระหนักเหลือเกิน ก็อาจจะหงุดหงิดในบางคราว และในเวลาเช่นนั้นก็อาจจะทำอะไรพลาดพลั้งเกินเลยไปบ้าง ขอให้อโหสิกันเสียเถิด”

เมื่อมีผู้ปรารภให้นายปรีดีฟังว่า ได้มีผู้กล่าวถึงความเปนไปในต่างประเทศของท่านโดยไม่ตรงกับความเปนจริงตามที่ท่านได้แถลงให้ฟังหลายอย่างนั้น นายปรีดีได้กล่าวว่า “ข้อนั้นก็ช่างเขาเถิด เมื่อคุณได้ทราบความจริงตามที่ผมแถลงก็นับว่าพอแล้ว ส่วนที่ผู้ใดได้พูดหรือจะพูดในทางที่ไม่เปนการดีต่อผมและไม่เปนความจริงนั้น เขาก็จะได้รับวินิจฉัยจากผู้ที่รู้ความจริงเองว่าเขาเปนคนอย่างไร ส่วนผมก็จะไม่เอาธุระกับเรื่องเช่นนั้นแล้ว” ท่านกล่าวคำลงท้ายว่า “ผมตั้งใจว่าจะเพ่งเล็งศึกษาและประกอบการต่างๆ ที่จะบังเกิดผลเปนคุณประโยชน์แท้จริงแก่ส่วนรวม และประเทศชาติเท่านั้น จงปล่อยผมไว้ทำการในเรื่องเช่นนี้เถิด”

การที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้จากประเทศไทยไป ๓ เดือนครึ่ง และได้ออกไปอยู่ห่างไกลจากกลิ่นไอความผันผวนทางการเมืองภายในครั้นเมื่อกลับเข้ามา ถึงแม้ได้รับความเสื่อมทางสุขภาพติดตัวมาก็ตาม แต่ในสวนจิตต์ใจแล้ว เราเห็นว่าท่านรัฐบุรุษมีจิตต์ใจผ่องแผ้วจำรัสจำรูญยิ่งกว่าเมื่อตอนจากไป จิตต์ใจเช่นนี้เปนจิตต์ใจที่แยกออกไม่ได้จากกายของรัฐบุรุษหลักของประเทศ ขอจิตต์ใจจำรัสจำรูญซึ่งทนทานต่อการพิสูจน์สัจจะและความบริสุทธิ์ จงยืนยงคงอยู่ในการบำเพ็ญกรณียกิจของท่านรัฐบุรุษอาวุโสสืบต่อไปชั่วกาลนาน

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : พ.ศ. 2490

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), 135-138.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

 

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] คำว่า “สนามบินคลองเตย” ที่ปรากฏในต้นฉบับ หมายถึงนายปรีดีได้โดยสารเครื่องบินน้ำมาลงที่ท่าเรือคลองเตย -บก.

[2] คำว่า “เชษฐบุรุษ” แปลว่า “บุรุษผู้อยู่ในฐานะเสมือนพี่ผู้ใหญ่” คำนี้เป็นคำที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงตราเกียรติคุณให้ปรากฏ เป็นคำยกย่องที่มอบให้กับพลเอก พระยาพหลพลพยุทเสนา หนึ่งในคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารของ “คณะราษฎร” เหมือนเช่นเดียวกับที่ทรงโปรดเกล้าให้นายปรีดี พนมยงค์เป็น “รัฐบุรุษอาวุโส”-บก.

[3] ม.ล.กรี ไม่ทราบเป็นผู้ใด-บก.