ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : เชษฐบุรุษ (ตอนที่ 8)

22
มิถุนายน
2567

หลักใหญ่ของประเทศหลักหนึ่งได้ล้มลงเมื่อเวลาตีสามในคืนวันพุฒ ที่ ๑๓ ประเทศไทยได้เสียอภิชาติบุตรไปอีกคนหนึ่ง

ท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา เปนบุคคลแรกของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงตราเกียรติคุณให้ปรากฏลือชาไว้ในแผ่นดิน และได้ทรงสถาปนายกย่องไว้ในฐานะเชษฐบุรุษ หรือนัยหนึ่งรัฐบุรุษหลักของประเทศ และได้พระราชทานวังปารุสกวันให้เปนที่พำนักของท่านตลอดชั่วชีวิต ถัดจากท่านเจ้าคุณก็มีรัฐบุรุษอีกผู้หนึ่งที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงตราเกียรติคุณและความดีความชอบที่ประกอบให้แก่ประเทศชาติ คือท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้ทรงสถาปนายกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส หรือนัยหนึ่งรัฐบุรุษหลักของประเทศเช่นเดียวกัน

ในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะที่ต้องผะเชิญกับปัณหาหนักนานาประการ อีกทั้งต้องผะเชิญกับคลื่นแห่งความปั่นป่วนทางการเมืองภายใน แลหลักใหญ่ของประเทศหลักหนึ่ง ได้มาล้มลงต่อหน้าวิกฤตกาล ฉะนี้ ความว้าเหว่ก็จะแผ่คลุมไปทั่วประเทศเปนธรรมดา

ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมกราบศพท่านเชษฐบุรุษในเข้าวันอาทิตย์ ร่างของท่านสถิตย์อยู่ในโกษฐทอง แทบโกษฐนั้นมีหรีดงามของคณะสยามนิกร และ พิมพ์ไทย ประดับอยู่ในบรรดาหรีดอื่นๆ และในวันที่ซึ่งเปนวันทำบุญรอบ ๗ วัน หรีดของสำนักหนังสือพิมพ์ต่างๆ ก็คงจะถูกจัดส่งไปคำนับศพท่านเชษฐบุรุษแทบทุกสำนัก ไออากาศในห้องตั้งศพเต็มไปด้วยความเศร้าวังเวงอย่างจับใจ ท่านสุภาพสตรีกลุ่มหนึ่งนั่งปราศรัยกันอยู่เบื้องหน้าโกษฐและเมื่อท่านสุภาพสตรีชะวาผู้หนึ่งปรารรภถึงท่านเจ้าคุณ คุณหญิงบุญหลงผู้เปนเพื่อนร่วมทุกข์และพยาบาลท่านมาตลอดเวลา ๒ ปีเศษก็สอึกสอื้น ท่านสุภาพสตรีแทบทุกคนในที่นั้นก็ยกผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับนัยน์ตา ข้าพเจ้าจึงกราบศพอีกครั้งหนึ่ง บอกลาคุณหญิงแล้วก็ลุกออกมา ในห้องนั้นกำลังเย็นเฉียบด้วยความเศร้า

ทหารยาม ๒ คนยืนยามอยู่ข้างบรรไดตึกด้วยกิริยาสงบสำรวมในเช้าวันอาทิตย์นั้นไม่สู้มีผู้คนไปเยี่ยมคำนับศพ ห้องข้างล่างเปิดหมดทุกห้องและเงียบเชียบ ข้าพเจ้าจึงเดินเข้าไปในห้องรับแขก ชมห้องรับแขกของท่านเชษฐบุรุษ ซึ่งไม่มี และจะไม่มีท่านนั่งอยู่อีกต่อไปแล้ว ภายในห้องมีโต๊ะเก้าอี้บุนวม ๒ หมู่ มีเครื่องประดับเรียบๆ มีภาพสีน้ำมันต่างประเทศแขวนอยู่ ๓ ภาพ และภาพสีน้ำมันจากรูปถ่ายของท่านเอง ๑ ภาพ มีของที่ระลึกจากต่างประเทศตั้งไว้ในตู้หนึ่ง และมีถ้วยเงินใหญ่ส่งมาจากรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครอง ๑ สัปดาห์ที่ถ้วยนั้นมีคำจารึกว่า “.......................”[1]

ข้าพเจ้ามองดูเก้าอี้หมู่ที่ท่านเคยนั่ง เวลานานที่สุดที่ท่านได้สนทนากับข้าพเจ้าก็คือ เมื่อท่านได้นั่งลงที่เก้าอี้ตัวหนึ่งในห้องนั้น ในเช้าวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๔[2] และได้ใช้เวลาเกือบ ๔ ชั่วโมงบรรยายเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติให้ฟังแต่เริ่มแรกเริ่มคิดการ จนถึงวันลงมือชุมนุมกำลังเปลี่ยนการปกครอง. ในห้องนั้น ท่านเชษฐบุรุษได้รับเยี่ยมและสนทนากับข้าพเจ้าเปนครั้งสุดท้าย ภายหลังที่รัฐบาลผู้นำจอมพลพิบูลสงครามต้องลาออก และในวงการเมืองกำลังติดต่อขอให้ท่านเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป. หลังจากนั้นอีกไม่นานวันท่านก็ได้ล้มป่วยเปนอัมพาทในขณะที่ได้ตกลงยอมรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่สืบแทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งจอมพลพิบูลสงครามดำรงอยู่และได้มีประกาศยุบ. จากนั้นท่านก็มิได้มีโอกาสใช้ห้องรับแขกนั้นรับเยี่ยมอีกเลย เมื่อท่านป่วยทุพลภาพแล้ว ท่านได้รับเยี่ยมข้าพเจ้าเปนครั้งสุดท้ายในสวนข้างตึก ในเวลานั้นเปนเวลาปลายเดือนธันวาคมนี่เอง ท่านเชษฐบุรุษนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเก่าๆ นุ่งโสร่ง ไม่ห่มคลุมส่วนบน เห็นกระดูกชายโครงท่านฝ่ายผอมไปมาก มือช้ายงอพับอยู่ใช้การไม่ได้ตลอดลำแขน จะพูดก็ไม่สู้ถนัด พิศดูรูปกายท่านแล้วที่เศร้าสลดใจนัก เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๗๖ ข้าพเจ้าอยู่ต่อหน้าท่าน ได้ยินเสือร้องคำรามขึ้น และในเช้าตรู่วันที่ ๒๐ มิถุนายนรัฐบาลชุดพระยามโนฯ ซึ่งประกาศงดใช้มาตราสำคัญของรัฐธรรมนูญก็ถูกจับเหวี่ยงออกไปจากวังปารุสกวัน. แต่ต่อหน้าข้าพเจ้าในวันปลายเดือนธันวาคม เมื่อ ๖ สัปดาห์นี่เอง กำลังความพ่วงพีของเสือแห่งวันที่ ๒๔ มิถุนายนได้อันตรธานไปหมด ข้าพเจ้ารำพึงอยู่ในใจว่าในยามคับขันที่สุด และประเทศชาติต้องการ เสือก็จะคำรามอีกต่อไปไม่ได้แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ดี วิญญาณ “จ้าวป่า” ของเสือทุพลภาพนั้นก็ยังได้รับใช้เปนประโยชน์ใหญ่ยิ่งแก่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๘๗ ซึ่งจะได้บรรยายให้ท่านฟังในเวลาต่อไป[3]

ถึงแม้เปนยามป่วยทุพลภาพอยู่ ท่านเจ้าคุณก็ได้รับเยี่ยมด้วยดวงหน้ายิ้มแย้มและดวงตาแจ่มใส ท่านกล่าวให้ฟังว่า ในเวลานั้นอาการค่อยดีขึ้นมาก ออกเดินเล่นได้บ้างในระยะทางสั้นๆ ความทรงจำไม่สู้ดี และการใช้ความคิดก็เปนของแสลง ข้าพเจ้าไม่กล่าวเรื่องการบ้านเมืองให้ท่านฟังเลย เคยทราบว่าท่านชอบอ่านเรื่องพงศาวดารจีน จึงเรียนถามว่าท่านยังคงอ่านพงศาวดารจีนอยู่หรือ

“หยุดอ่านแล้วคุณ” ท่านพูดช้าๆ “เพราะอ่านแล้วมันชวนให้คิดถึงการบ้านเมือง โรคก็กำเริบขึ้น”

“อาหารหรือคุณ” ท่านกล่าวต่อไป “รับประทานได้มาก”

เพื่อจะชวนให้ท่านสำราญ ข้าพเจ้าเรียนถามว่า ท่านยังสูบบุหรี่ออกรสดีอยู่หรือ

“ยังสูบอร่อยดีอยู่” ท่านยิ้มแย้ม “แต่ว่ามันแพงนักคุณ ผมต้องสูบโดยประหยัด”

ข้าพเจ้าต้องกับหน้าด้วยความสลดใจ

ขณะนั้น ท่านหัวเราะขึ้น และกล่าวถ้อยคำต่อไปด้วยความเบิกบานใจ

“ผมได้ลองดื่มสุราบ้างนิดหน่อย และก็รู้สึกว่าออกรสดี”

ข้าพเจ้าก็เงยหน้าขึ้นยิ้มรับความเบิกบานใจของท่าน

ขณะหนึ่ง ท่านเจ้าคุณได้ชี้ไปที่คุณหญิง ซึ่งเปนผู้พยาบาลและร่วมสนทนาอยู่ในที่นั้น พลางกล่าวถ้อยคำเปนที่จับใจว่า

“แต่ก่อนผมเปนผู้อุปการะเขา เดี๋ยวนี้เขากลับมาเปนผู้อุปการะผม -ดูเถิด ชีวิตเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอนนะคุณ” .

แววตาของท่านแสดงความรู้สึกระลึกคุณของผู้พยาบาล

ข้าพเจ้าเข้าไปเดินชมห้องรับแขกของท่านเชษฐบุรุษในเช้าวันอาทิตย์นั้น เพื่อจะทบทวนระลึกถ้อยคำที่ท่านได้เคยกล่าวให้ฟังในวาระต่างๆ ซึ่งแสดงถึงลักษณะนิสสัยของท่าน เมื่อครั้งท่านได้ตอบปฏิเสธวงการเมืองในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อรัฐบาลผู้นำนั้น ท่านได้แสดงความกังวลของท่านออกมาว่า วงการเมืองเขาจะเข้าใจความคิดจิตต์ใจของท่านหรือไม่หนอ

“ข้อที่เจ็บป่วยนั้นก็เปนความจริงสำคัญข้อหนึ่ง ที่ทำให้ผมไม่เต็มใจรับตำแหน่ง” ท่านชี้แจงให้ข้าพเจ้าฟัง “พวกที่มาติดต่อ เขาอาจไม่เข้าใจ และอาจคิดไปว่า ผมเล่นตัว หรือไม่เข้าช่วยกันรับแบกภาระของประเทศ. แต่ความจริงผมป่วยและหย่อนกำลังวังชาจริงๆ แต่อ้ายโรคของผมมันก็ไม่ถึงแก่ล้มหมอนนอนเสื่อเสียด้วย มันยังไปไหนมาไหนได้ นั้นแหละที่อาจทำให้พวกที่มาติดต่อเข้าใจผิดไปได้ แต่ความจริงนั้น ผมทำงานตรากตรำไม่ได้ เพียงเดินมากก็เหนื่อยหอบ อ้ายจะเข้ารับตำแหน่งโดยตัวเองทำการไม่ได้เต็มที่นั้น ผมก็ไม่เต็มใจรับ เมื่อรับแล้วก็อยากทำการให้เต็มกำลังของตน”

ท่านกล่าวคำลงท้ายในเรื่องนี้ว่า “ผมก็เจ็บใจตัวเองเหมือนกันที่ต้องมาเจ็บออดแอดแรมปีอยู่ เมื่อมีการสำคัญของประเทศมาถึงตัวก็รับทำให้เขาไม่ได้ มันช่างเปนกรรมเสียจริงเทียวคุณ”

แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า “นอกจากความป่วยเจ็บซึ่งเปนเหตุสำคัญข้อหนึ่งแล้ว ผมยังมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่มิได้กล่าวเปิดเผยแก่คนทั่วไป และจะได้บอกให้คุณทราบไว้ คือว่าเมื่อตอนที่ผมบอกสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและปล่อยตำแหน่งนั้นแก่คุณหลวงพิบูลนั้น ผมได้บอกแก่คุณหลวงพิบูลว่า ผมสละตำแหน่งนั้นโดยเด็ดขาด และโดยเต็มใจ ฉะนั้นขอคุณหลวงพิบูลอย่ามีกังวลว่าผมจะกลับมาครองตำแหน่งนั้นอีก นี่แหละคุณ เมื่อผมได้ลั่นวาจาเช่นนั้นไว้แก่เขาแล้ว ผมจะกลับเข้ามารับตำแหน่งนั้นสืบต่อจากเขา เขาก็อาจคิดไปว่าผมมาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากเขาไป และวาจาของผมก็จะไม่เปนวาจาสัตย์ ผมอยู่ในที่เปนผู้ใหญ่ ก็ตั้งใจจะไม่ให้ผู้มาทีหลังเขาดูแคลนวาจาของเราได้ นี่แหละคุณที่เปนเหตุผลประกอบที่ทำให้ผมจำต้องปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมตรีสืบต่อคุณหลวงพิบูล.”

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : พ.ศ.2490

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “เชรษฐบุรุษ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), น. 125-134.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 


[1] เครื่องหมายที่ปรากฎไม่มีข้อความเขียนไว้ในต้นฉบับ -บก.

[2] หมายถึงเวลานัดสัมภาษณ์ ซึ่งต่อมาได้นำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 -บก.

[3] พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ .2475และต่อมาได้ถูกพลเอกพระยาพหลฯ ทำรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 -บก.