ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

'สัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม' ที่มาของตึกโดม มธก. และสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร

9
กรกฎาคม
2567

Focus

  • การอภิวัฒน์ 2475 ได้ก่อกำเนิดระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดและมีระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตยโดยดำเนินนโยบายภายใต้หลัก 6 ประการในทศวรรษแรก และในหลักข้อ 6. ด้านการส่งเสริมการศึกษาแก่ราษฎรยังได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นใน พ.ศ. 2477
  • ตึกโดมซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัยโดยมีการสันนิษฐานว่ามีหลักในการออกแบบมาจากหลัก 6 ประการและสะท้อนรูปแบบของศิลปะสมัยคณะราษฎร
  • ตึกโดมยังมีความสัมพันธ์กับการเมืองทั้งในช่วงที่การเดินขบวนของนักศึกษา เรื่องการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนและเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเป็นที่เก็บอาวุธสงครามที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร

 


ภาพของตึกโดมในวันเปิดตึก 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479

 


ภาพของตึกโดมในวันเปิดตึก 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479

 

ตึกโดมเป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย ออกแบบโดยหมิว อภัยวงศ์ สถาปนิกผู้จบการศึกษาทางสถาปัตยกรรมมาจากประเทศฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงรวมถึงมีผลงานมากที่สุดคนหนึ่งของสมัยคณะราษฎร นอกจากความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ตึกโดมได้มีบทบาทในฉากประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่หลายครั้ง อาทิ การเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่เก็บอาวุธสงครามที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองมากมายเช่นนี้ ทำให้ตึกโดมอยู่ในพื้นที่สัญลักษณ์ที่สำคัญการเมืองโดยเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นพื้นที่สำคัญของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 จนถึงปัจจุบัน 

 

ที่มา การออกแบบตึกโดม มธก. และสถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎร

 


ตึกโดมระหว่างการก่อสร้าง พ.ศ. 2478

 

การออกแบบเพื่อก่อสร้างตึกโดม ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีลักษณะพิเศษคือ ไม่ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารที่มีอยู่เดิม 4 หลัง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 อาคารทั้ง 4 หลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบตะวันตก สูง 2 ชั้น มีขนาดและรูปทรงเหมือนกัน วางเรียงต่อกันเป็นแนวยาวหันหน้าลงแม่น้ำเจ้าพระยา

สถาปนิกและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงอาคารคือ คงอาคารทั้ง 4 หลังไว้โดยสร้างหลังคาเชื่อมอาคารทั้งหมดเข้าด้วยกันให้เป็นอาคารหลังเดียว ทำให้ตึกโดมเมื่อสร้างเสร็จมีความยาวทั้งหมด 235 เมตร ส่วนพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารหลังที่ 2 และ 3 จะถูกออกแบบให้เป็นอาคารสูง 3 ชั้นและสร้างยอดโดมขึ้นเป็นสัญลักษณ์

ตึกโดมได้เริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2479 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จมาเป็นประธานในพิธี

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ นายหมิว อภัยวงศ์ ออกแบบไว้ แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดในการปรับปรุงอาคารเก่ามาสู่การใช้งานใหม่ภายใต้รูปแบบใหม่ที่ลงตัวและสร้างความน่าสนใจได้ไม่แพ้อาคารที่สร้างใหม่ทั้งหลัง

อาคารเดิมทั้ง 4 หลัง ถูกออกแบบให้เป็นอาคารเดียวกันโดยรื้อหลังคาอาคารเดิมลงและสร้างหลังคาใหม่เชื่อมทั้ง 4 หลังเข้าด้วยกัน ช่องว่างระหว่างอาคารทั้ง 4 หลังซึ่งแต่เดิมมีอยู่ 3 ช่อง แต่ละช่องกว้างประมาณ 7 เมตร สถาปนิกออกแบบโดยเก็บรักษาไว้ 2 ช่อง คือ ช่องระหว่างตึก 1 กับตึก 2 และช่องระหว่างตึก 3 และตึก 4 สาเหตุน่าจะเพื่อใช้เป็นช่องทางเดินเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ทางทิศตะวันออกของมหาวิทยาลัย (ต่อมาคือสนามฟุตบอล) และเหนือช่องว่างระหว่างอาคารทั้ง 2 ช่อง สถาปนิกออกแบบชั้นหลังคาให้สูงขึ้น ซึ่งในเชิงความงามแล้วหลังคาส่วนนี้ช่วยลดทอนความยาวของอาคารทางสายตาลง ช่วยให้อาคารดูไม่ยาวมากจนเกินไป และในแง่การใช้สอยยังเป็นการช่วยเน้นช่องทางเดินเข้าให้ดูเด่นขึ้น

ส่วนช่องว่างระหว่างตึก 2 กับตึก 3 ถือเป็นจุดกึ่งกลางของอาคาร สถาปนิกออกแบบให้เป็นส่วนที่เด่นที่สุด โดยสร้างอาคารขึ้นใหม่มีความสูง 3 ชั้นเชื่อมต่อกับปลายมุขของอาคาร 2 และ 3 ทำให้ส่วนกลางของอาคารนี้มีความกว้างถึง 22 เมตร ซึ่งเพียงพอในการทำเป็นโถงทางเข้าและโถงบันไดหลักของอาคาร บนหลังคาออกแบบเป็นโดมยอดแหลมสูงประมาณ 16 เมตร เพื่อเน้นทางเข้าและเป็นสัญลักษณ์ของอาคาร และต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพื่อให้สอดคล้องกับอาคารยอดโดมที่ออกแบบใหม่ ในส่วนพื้นผิวของอาคาร 2 และ 3 จึงมีการปรับเปลี่ยนลวดลายใหม่ทั้งหมด ซึ่งเดิมมีลวดลายแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเปลี่ยนมาเป็นลวดลายที่มีลักษณะเรียบง่ายมากขึ้นตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตามในส่วนของอาคาร 1 และ 4 ยังคงปล่อยให้มีลวดลายบัวหัวเสาแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเดิมอยู่

ใต้ชายคาของยอดโดมด้านหน้า ติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ เป็น “นาฬิกาปารีส” สั่งพิเศษจากห้าง เอส.เอ.บี. ส่วนหลังคาตึกโดมมุงด้วยกระเบื้องไม้สักอย่างดี พื้นอาคารปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน เฟอร์นิเจอร์ภายในทั้งหมดสั่งทำจาก “เกอรสันเฟอนิเจอ” วัสดุประกอบอื่นๆ เช่น กุญแจ ลูกบิด บานพับ ฯลฯ สั่งซื้อชนิดอย่างดีที่สุดจากห้างวินด์เซอร์ แอนด์ โก (ห้างสี่ตา) ซึ่งทั้งหมดได้ทำให้ตึกโดมเป็นตึกที่โดดเด่นและทันสมัยมากที่สุดหลังหนึ่งของยุคสมัย

นอกจากความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ตึกโดมยังมีความโดดเด่นในแง่ของการเข้าไปมีบทบาทในฉากประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่หลายครั้ง อาทิ การเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่เก็บอาวุธสงครามที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร หรือเป็นฉากสำคัญในเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตลอดจนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาหลายต่อหลายครั้ง

ซึ่งการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองมากมายเช่นนี้ ทำให้ตึกโดมในภายหลังได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และนอกไปจากนั้นตึกโดมยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความเป็นตัวตนของคนธรรมศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2503-2515 มหาวิทยาลัยได้ทำการรื้ออาคาร 4 ปีกด้านท่าพระอาทิตย์ลง เพื่อทำการก่อสร้างห้องเอที และใน พ.ศ. 2520 อาคาร 1 ฝั่งท่าพระจันทร์ถูกรื้อเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างตึกอเนกประสงค์ ทำให้ตึกโดมจากที่เคยมีความยาวถึง 235 เมตรเมื่อแรกสร้าง คงเหลือความยาวเพียงประมาณ 115 เมตรในปัจจุบัน

แม้ว่าจะถูกรื้อถอนบางส่วนของอาคารลง แต่ตึกโดมยังคงดำรงสถานะเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสมอมา และไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะขยายวิทยาเขตไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใด สัญลักษณ์โดมก็จะถูกจำลอง นำไปสร้างเป็นอาคารสัญลักษณ์ประจำวิทยาเขตเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตึกโดมบริหารที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา จนอาจกล่าวได้ว่า ตึกโดมคือภาพตัวแทนสำคัญที่สุดของการสื่อความหมายของความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ตึกโดมกับความหมายทางการเมือง

 


นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)

 

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้แนวคิดของการสร้างตึกโดมแก่นายหมิว อภัยวงศ์ไว้ว่า ให้สร้างตึกที่มีความโด่นเด่นและสะท้อนอุดมการณ์ของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 ดังหลักข้อ 6 ในหลักหกประการของคณะราษฎรที่กล่าวว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ซึ่งได้นํามาสู่การออกแบบรูปทรงกรวยยอดแหลม 2 ชั้น หากพิจารณาตึกโดมกับความหมายทางการเมืองโดยเชื่อมโยงกับ “หลักหกประการ” ของคณะราษฎรก็มีความเป็นไปได้ที่อุดมการณ์นี้จะถูกนําเข้ามาผสมผสานเป็นหนึ่งในแนวคิดการออกแบบโดยส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องคือ หน้าต่างเล็ก ๆ ที่ยื่นออกมาจากหลังคาโดมทั้ง 4 ด้านที่มีทั้งหมด 6 ช่อง โดยมีผู้วิเคราะห์ว่าหากนายปรีดีมีโอกาสให้แนวคิดแก่สถาปนิกเรื่องหลักหกประการก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นองค์ประกอบของช่องหน้าต่างทั้ง 6 ช่องนี้ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่อุดมการณ์นั้นและยังสะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่สมัยคณะราษฎรได้เป็นอย่างดี

ส่วนอาคารปีก 2 ปีกด้านท่าพระจันทร์และ ท่าพระอาทิตย์ที่เป็นอาคารเดิมของค่ายทหารอาจจะมีความหมายถึงการศึกษาที่แผ่ขยายวงกว้างในหมู่ราษฎร ดังคํากล่าวรายงานของนายปรีดีเมื่อวันเปิดตึกโดม อย่างเป็นทางการว่า

มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบําบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา

การออกแบบรูปทรงโดมข้างต้นมีความน่าสนใจเพราะเป็นการอธิบายที่เชื่อมโยงให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของคณะราษฎรเรื่อง “หลักหกประการ” ดังที่กล่าวเน้นเนื่องจากการถือกําเนิดขึ้นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งจาก “หลักหกประการ" ของคณะราษฎรที่สําคัญคือตึกอาคารในยุคสมัยนั้นหลายตึก ณ เวลานั้นก็ได้พยายาม ออกแบบรูปทรง และองค์ประกอบต่างให้สะท้อนถึงหลักการปกครองตามนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎร คือ “หลักหกประการ” และระบอบรัฐธรรมนูญ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น 

ในการอธิบายโดยพิจารณาจากบริบททางสังคมไทยกับสากลปรากฏว่ามีความสอดรับกับสถาปัตยกรรมของ ประเทศฝรั่งเศส แบบฟื้นฟูโกธิค ซึ่งให้ความหมายว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเช่นเดียวกัน และเป็นที่นิยมสร้างกันโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นมา ดังนั้นการที่นายหมิวจะออกแบบด้วยรูปทรงดังกล่าวและสะท้อนถึงนัยการเมืองหรือความหมายมาดัดแปลงจนเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็เนื่องด้วยภูมิหลังทางการศึกษาของนายหมิวเป็นสำคัญด้วยว่ามีพื้นฐานการศึกษามาจากโบซาร์ (École des Beaux-Arts) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหลักสูตรการศึกษาของสถาบันนี้มุ่งเน้นการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมแนวทางคลาสสิกและรูปแบบสถาปัตยกรรมแนวทางฟื้นฟูศิลปะทั้งหลายอัน รวมไปถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูโกธิคด้วย

นอกจากนี้นายปรีดีผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และ ดร.เดือน บุนนาค ผู้ชักชวนนายหมิวมาออกแบบตึกโดมนั้น ทั้งสองท่านก็เป็นนักเรียนฝรั่งเศสดังนี้จึงมีความเป็นไปได้ว่าทั้ง 3 ท่านเกิดความประทับใจในการออกแบบรูปทรงสถาปัตยกรรมโดมแบบฟื้นฟูโกธิคของประเทศฝรั่งเศสและอาจเป็นเหตุผลสําคัญที่นํามาสู่การออกแบบอาคารมหาวิทยาลัยฯ ให้เป็นรูปโดมแต่มีการออกแบบในแบบประยุกต์ไม่ใช่การลอกเลียนแบบมาทั้งหมดเพราะสถาปัตยกรรมรูปโดมเช่นนี้ไม่ปรากฏให้เห็นในศิลปะร่วมสมัยของยุโรปยุคนั้นหรือก่อนหน้านั้น

 


ตึกโดมกับบัณฑิตยุคแรกของ มธก.

ทั้งการออกแบบตึกโดมก็มีความโดดเด่นของการออกแบบที่แตกต่างจากจารีตสถาปัตยกรรมไทยในช่วงก่อนหน้านั้น คือส่งเสริมให้ตึกโดมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งระบอบใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สอดรับกับการสร้างระบอบการปกครอง ศิลปะ และสถาปัตยกรรมรวมถึงวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้มีความเป็นสากลของนโยบายรัฐในยุคคณะราษฎร นับจากนั้นเป็นต้นมาตึกโดมได้ดำรงสถานะของสัญลักษณ์สำคัญเคียงคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางอุดมการณ์เคียงข้างกับนักศึกษาและเป็นมรดกชิ้นสำคัญของยุคคณะราษฎรที่ตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการศึกษาตามหลัก 6 ประการ

 

โดมคือ ‘สัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม’

กว่า 8 ทศวรรษที่ตึกโดมถูกใช้ในกิจกรรมที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองและเพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในยุคแรกโดยปีกอาคารฝั่งท่าพระจันทร์เคยใช้เป็นหอพักนักศึกษายากจนจากต่างจังหวัด เรียกว่า 'นิคมนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง'

 


นักศึกษา มธก. และเตรียม มธก. เรียกร้องดินแดนคืนจากรัฐบาล ประเทศฝรั่งเศส

 

และในการชุมนุมเรียกร้องที่นำโดยนิสิตนักศึกษาครั้งแรกของประเทศไทยซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 สมัยรัฐบาลแบบชาตินิยมโดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และประชาชนทั่วไปรวมตัวกันชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง ก่อนจะเดินขบวนไปชุมนุมเรียกร้องที่หน้ากระทรวงกลาโหม การชุมนุมครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกรณีพิพาทอินโดจีนซึ่งต่อมาได้นำไปสู่ “สงครามอินโดจีน”  นักศึกษาและประชาชนมีข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้คือ ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กองกำลังทหารเข้าสู้รบเพื่อช่วงชิงดินแดนที่ไทยสูญเสียให้ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 สมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมาเป็นและในวันนั้นทางนายกรัฐมนตรีกับคณะฯ ได้ปราศรัยต้อนรับและชื่นชมสรรเสริญความรักชาติของคณะผู้ชุมนุม

จากนั้นกองทัพไทยก็ได้เตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่การรบโดยมีการประกาศสงครามอินโดจีนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2484 ผลของสงครามที่ไทยเข้าร่วมแล้วชนะในครั้งนี้ทำให้ไทยได้ดินแดนคืนซึ่งประกอบด้วย เสียมราฐ พระตะบอง จำปาศักดิ์ และหลวงพระบาง ทว่าดินแดนที่ช่วงชิงผ่านการรบมาทั้ง 4 แขวงก็เป็นส่วนหนึ่งของไทยอยู่เพียงไม่นานและต่อมาต้องเสียทั้ง 4 แขวงไปอย่างถาวร 

 


ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกเสรีไทย

 

หลังจากนั้นในปีเดียวกันทางจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีก็ประกาศเป็นพันธมิตรสงครามกับญี่ปุ่นโดยนายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการเสรีไทย ชั้นสองของตึกโดมถูกใช้เป็นกองบัญชาการเสรีไทย ปีกอาคาร 4 ด้านท่าพระอาทิตย์ยังใช้เป็นที่เก็บอาวุธสงครามที่ได้จากฝ่ายสัมพันธมิตร เหตุการณ์นี้ส่งผลให้นายปรีดีตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นและเป็นหนึ่งในผู้นําของขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ ด้วยมีเป้าหมายสําคัญคือการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นแบบปิดลับ

ทั้งนี้นายปรีดีหรือ ณ ขณะนั้นคือ ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็ได้ใช้ห้องบริเวณชั้น 2 ของตึกโดมธรรมศาสตร์เป็น 'ศูนย์บัญชาการเสรีไทย' ตลอดช่วงเวลาที่เกิดสงคราม และใน พ.ศ. 2488 ตึกโดมยังได้ถูกแบ่งพื้นที่ในส่วนปีกอาคาร 4 ของตึกโดมฝั่งท่าพระอาทิตย์ไว้เพื่อเป็นสถานที่เก็บอาวุธสงครามที่ได้รับการสนับสนุนมาจากฝ่ายสัมพันธมิตร อาทิ ปืนกลเอ็มทรี ปืนคาร์บิน ปืนทอมป์สัน ปืนสั้น 11 มม. ปืนบาซูก้า และลูกปืนนับแสนนัด ซึ่งอาวุธเหล่านี้ได้ถูกกระจายต่อไปยังหน่วยเสรีไทยในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง

 

เมื่อสงครามโลก ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและฝ่ายอักษะที่นำโดยกองทัพของญี่ปุ่นได้พ่ายแพ้ส่งผลให้สถานภาพของประเทศไทยที่รัฐบาลเลือกอยู่ข้างฝ่ายอักษะและเกือบต้องกลายเป็นประเทศแพ้สงครามซึ่งต้องชดใช้ค่าปฏิมากรรมสงครามราคาแพงแต่ด้วยผลงานของขบวนการเสรีไทยจึงทําให้ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสถานภาพประเทศแพ้สงคราม หรือถือเป็น 'โมฆสงคราม' ที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้ส่งผลให้บทบาทและสถานะของนายปรีดีในฐานะผู้นําเสรีไทย ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่มีฐานะเป็นศูนย์บัญชาการเสรีไทยกลับมีความโดดเด่นและมีบทบาทสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยได้รับการยอมรับทั้งทางการเมืองและทางสังคม

 


ประกาศกฎอัยการศึก พ.ศ. 2494
 

การเมืองภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเชื่อมต่อมาถึงหลังกรณีกบฏแมนฮัตตันใน พ.ศ. 2494 ที่ทหารได้เข้ายึดครองพื้นที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยฯ ด้วยเหตุผลว่า 'ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย' หากในการยึดครองครั้งนี้ก็ทำได้แค่เพียง 4 เดือนเท่านั้น เพราะนักศึกษาได้เดินขบวนเรียกร้องและเข้ายึดมหาวิทยาลัยกลับคืน ทั้งจากวิกฤติการณ์และสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกอํานาจจากรัฐคุกคามอย่างต่อเนื่อง และประกอบกับบริบทการเมืองระหว่างประเทศหลังสงครามทําให้ สัญลักษณ์ของตึกโดมเริ่มเข้ามามีบทบาทต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและต่อความรู้สึกนึกคิดของคนหนุ่มสาว

 

ในทศวรรษ 2490 เป็นต้นมาจึงมีการใช้ “โดม” เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมการเมืองมากขึ้นโดยเฉพาะในการต่อสู้ของนักศึกษาธรรมศาสตร์และใน พ.ศ. 2493 นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ได้ชุมนุมหน้าตึกโดม มีการร้องไห้ การขู่ทำร้ายตนเองทางด้านหน้าตึกโดมเพื่อประท้วงความอยุติธรรมต่อกระทรวงมหาดไทยที่ให้โอกาสแก่บัณฑิตรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ต่ํากว่าบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในการสมัครสอบเข้ารับราชการ จนนำไปสู่เหตุการณ์ลุกลามและในที่สุดกระทรวงมหาดไทยได้แก้ไขกฎหมายให้บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งมีศักดิ์และสิทธิเสมอภาคกัน

 

จากบริบทการเมืองในยุคนี้ส่งผลให้ พ.ศ. 2493 ทวีป วรดิลก แต่งเพลงโดมในดวงใจเพื่อบรรยายบรรยากาศความงามและความสำคัญของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองไว้ว่า

 

“เพลงโดมในดวงใจ

ฟากฟ้าครามงามประกายเฉิดฉายโดม
รับแสงโสมส่องหล้ารุ่งราศรี
เหนือลำน้ำเจ้าพระยาพราชีวี
เริงฤดีคลื่นกล่อมยิ่งน้อมใจ


ทิวสนมวลล้วนสล้างเป็นทางแถว
ลมกระซิบเสียงแผ่วกิ่งก้านไหว
คำรำพันนั้นว่าโดมในดวงใจ
ยืนยงไปตราบสิ้นสุดดินฟ้า


โดมดำรงคงไว้ในดวงจิต
ชั่วชิวิตรักจะมั่นสุดหรรษา
มอบดวงใจให้แก่กันนิรันดร์มา
โดมคู่ฟ้ารักจะอยู่คู่ดวงใจ”

 

และใน พ.ศ. 2495 เปลื้อง วรรณศรี ยังแต่งบทกวีโดม...ผู้พิทักษ์ธรรมเพื่อสะท้อนการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาในเวลานั้นโดยมีวรรคสำคัญคือ

 

สิ่งเหล่านี้ ที่โดม โหมจิตข้า
ให้แกร่งกล้า เดือนปี ไม่มีหวั่น
ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์
ก็เหมือนขาด สัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม

 

ใต้ยอดโดมมี “นาฬิกาปารีส” ซึ่งเป็นนาฬิกาลูกตุ้มเหล็ก 7 ชิ้น มูลค่า 1,250 บาท
ที่ห้าง เอส.เอ.บี. ตั้งใจจะขายให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ภายหลังเปลี่ยนใจยกให้เป็นของขวัญโดยไม่คิดเงิน

 

จากบริบททางสังคมการเมืองจึงส่งผลให้ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพลวัตที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยนับตั้งแต่แรกตั้งจนกระทั่งถึงในปัจจุบัน

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  ทม.๔.๑.๑.๓/๕. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (๒๔๙๓-๑๙ ธันวาคม ๒๔๙๔)
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.  สร.๐๒๐๑.๕.๙.๒/๖. เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เปิดตึกใหม่เปิดสมัยการศึกษาและประสาทปริญญา (๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๗-๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖)

 

หนังสือภาษาไทย :

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคนอื่น ๆ,  สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2477-2511, (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2535)
  • ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ: มติชน; 2563)
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ธรรมศาสตร์การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2547)
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวการศึกษาขั้นปริญญาตรี, โท และเอก แห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, (ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ศรีกรุง, 2477)
  • วารุณี โอสถารมย์, บรรณาธิการ. “ตึกโดม,” ใน นามานุกรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 77 ปี 77 คำ (กรุงเทพฯ : หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554). น. 83-87
  • สมาน สุวรรณโชติ, ประวัติการต่อสู้ของนักศึกษา ม.ธ.ก., (กรุงเทพฯ: นกฮูก, 2540)
  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, 78 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2555) มองธรรมศาสตร์ผ่านเอกสารจดหมายเหตุ, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555)
  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ บรรณาธิการ, ธรรมศาสตรานุกรม 80 ปี (2477-2557), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557)
  • สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2477, (ม.ป.ท.: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2477)

 

บทความในหนังสือและวารสาร :

  • วารสารธรรมจักร, มกราคม พ.ศ. 2493

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (26 มิถุนายน 2563). “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (1),” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2020/06/318  
  • เปลื้อง วรรณศรี. (28 ตุลาคม 2565). “โดม” คือ ท่านปรีดี พนมยงค์,” [online] สืบค้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567. https://pridi.or.th/th/content/2022/10/1306