Focus
- บทความนี้เสนอการแข่งขันโต้วาทีครั้งแรกของสยามในวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2478 ด้วยญัตติเรื่อง “ร้อนดีกว่าเย็น” โดยมี พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) เป็นหัวหน้าฝ่ายเสนอ มีผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคือ นายกิมฮวย มลิทอง และนายสิน เฉลิมเผ่า และมีรองอำมาตย์โทวิเชียร ฉายจรรยา เป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน มีผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคือ หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) และนายมงคล รัตนวิจิตร
- การแข่งขันโต้วาทีครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก หลวงวิจิตรวาทการ ได้มีประกาศแจ้งความกรมศิลปากรเรื่องให้รางวัลการแข่งขันโต้วาที และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในตอนนั้นคือ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) ได้สนับสนุนให้จัดการแข่งขันโต้วาทีชิงรางวัลแล้วทางกรมศิลปากรจึงได้วางกฎเกณฑ์ทั่วไปของการแข่งขันขึ้น
- การแข่งขันโต้วาทีชิงรางวัลครั้งแรกของสยามในปี 2478 ณ หอประชุมกรมศิลปากร ไม่เพียงเป็นการเริ่มส่งเสริมกิจกรรมศิลปะการพูดโต้วาทีซึ่งยังคงตกทอดมาตราบจนปัจจุบันเท่านั้น แต่เนื้อหาของการตอบโต้คารมในญัตติ “ร้อนดีกว่าเย็น” ยังสะท้อนบรรยากาศของสังคมไทยในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรช่วงปลายทศวรรษ 2470 ไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย ดังที่ผู้เข้าแข่งขันได้กล่าวถึงบทบาทการบริหารประเทศของแกนนำรัฐบาลคณะราษฎร ทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และที่สำคัญคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
คงจะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่คนทั่วไปว่า การโต้วาทีคือลักษณะการพูดแสดงความคิดเห็นเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่าเหตุผลของผู้พูดฝ่ายหนึ่งมีหลักการและชั้นเชิงเหนือกว่าเหตุผลของผู้พูดอีกฝ่ายหนึ่ง โดยการโต้วาทีนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายจำนวนเท่า ๆ กันเรียกว่าฝ่ายเสนอและฝ่ายค้าน แต่ละฝ่ายจะมีหัวหน้าฝ่ายละหนึ่งคน แล้วก็มีผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอและผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพูดแสดงความคิดเห็นตอบโต้กันใน “ญัตติ” หรือหัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้อย่างน่าสนใจ เช่น “พูดดีกว่าทำ” และ “ตายดีกว่าไม่ตาย” เป็นต้น
ช่วงปลายทศวรรษ 2470 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การโต้วาทีได้รับความนิยมและเฟื่องฟูอย่างมากในสังคมไทย ถึงแม้ก่อนหน้านั้นจะมีการจัดโต้วาทีกันบ้างตามหน่วยงานต่างๆ แต่ก็มิได้กระทำอย่างเป็นทางการ ครั้นต่อมา กรมศิลปากรที่เคยถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2469 ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2476 ช่วงสมัยรัฐบาลคณะราษฎร โดยสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ อีกทั้งเมื่อ หลวงวิจิตรวาทการ เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2477 จึงออกนโยบายส่งเสริมศิลปะการโต้วาที และในที่สุดก็จัดให้มีการแข่งขันโต้วาทีชิงรางวัลขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ณ หอประชุมกรมศิลปากร
การแข่งขันโต้วาทีครั้งแรกสุดนั้น ประเดิมด้วยญัตติเรื่อง “ร้อนดีกว่าเย็น” โดย พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) เป็นหัวหน้าฝ่ายเสนอ มีผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคือ นายกิมฮวย มลิทอง และ นายสิน เฉลิมเผ่า
ส่วน รองอำมาตย์โทวิเชียร ฉายจรรยา เป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน มีผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคือ หลวงวิลาศปริวัตร (เหลี่ยม วินทุพราหมณกุล) และ นายมงคล รัตนวิจิตร
การแข่งขันโต้วาทีครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก หลวงวิจิตรวาทการ ได้มีประกาศแจ้งความกรมศิลปากรเรื่องให้รางวัลการแข่งขันโต้วาที เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ความว่า
“ด้วยตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งกองแผนกในกรมศิลปากร บัญญัติให้มีแผนกวาทีขึ้นในกรมนี้ เพื่อทำหน้าที่บำรุงศิลปทางวาทีสุนทรพจน์ อนึ่ง โดยที่เห็นว่าประเทศทั้งหลายที่เจริญแล้ว ย่อมจัดการบำรุงศิลปประเภทนี้คู่กันไปกับศิลปทางวรรณคดี เพราะศิลปทั้งสองนี้เป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกัน ประโยชน์อันจะพึงเกิดแก่ประชาชนเนื่องจากการบำรุงศิลปประเภทนี้นั้น นอกจากจะได้ฟังคารมโวหารให้ได้รับความรู้และปลูกปฏิภาณขึ้นแล้ว ยังเป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนหยั่งทราบว่า ผู้ใดมีฝีปากดีควรเลือกเข้าเป็นผู้แทนรักษาผลประโยชน์ของเขาในสภาหรือในที่ประชุมต่าง ๆ ทนายความคนใดมีโวหารและปฏิภาณเฉียบแหลมที่ควรไว้วางใจให้ว่าคดี นักประพันธ์คนใดมีสํานวนดีแม้ในเชิงพูด ฯลฯ ส่วนผู้ที่เข้าแข่งขันนั้น แม้จะมิได้ชะนะจนถึงได้รับรางวัล ก็ยังได้มีโอกาสแสดงคุณสมบัติของตนให้ปรากฏ นับเป็นบันไดขั้นต้นที่จะก้าวขึ้นสู่ความมีชื่อเสียงในอนาคต
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการจึงอนุมัติให้กรมศิลปากรจัดการแข่งขันโต้วาที โดยให้มีรางวัล ๒ รางวัล รางวัลหนึ่งเป็นจํานวน ๑,๕๐๐ บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน) อีกรางวัลหนึ่งเป็นจํานวน ๒๐๐ บาท (สองร้อยบาทถ้วน)”
ครั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในตอนนั้นคือ พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) ได้สนับสนุนให้จัดการแข่งขันโต้วาทีชิงรางวัลแล้ว ทางกรมศิลปากรจึงได้วางกฎเกณฑ์ทั่วไปของการแข่งขันดังนี้
ข้อ ๑ บุคคลทุกคนไม่เลือกเพศไม่เลือกวัย มีสิทธิ์เข้าแข่งขันการโต้วาที เว้นแต่:-
(ก) บรรพชิตจะเข้าแข่งขันได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกรมธรรมการ
(ข) ราชบัณฑิตหรือภาคีสมาชิกแห่งราชบัณฑิตยสถาน พ้นจากสิทธิที่จะเข้าแข่งขัน
ข้อ ๒ ผู้สมัครเข้าแข่งขัน ต้องแสดงความจํานงเป็นหนังสือบอกนาม ที่อยู่ อายุ อาชีพ และวิทยะฐานะ ยื่นต่อหัวหน้ากองศิลปวิทยาการ กรมศิลปากร ภายในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ศกนี้
ข้อ ๓ ถ้าผู้สมัครเข้าแข่งขันมีจํานวนน้อย และกรมศิลปากรเห็นว่าการแข่งขันจะไม่เป็นผลสําเร็จดี กรมศิลปากรอาจงดการแข่งขันสําหรับปีนี้ ถ้ามีจํานวนผู้สมัครเข้าแข่งขันเพียงพอ ก็จะได้เริ่มการแข่งขันในเดือนสิงหาคม
ข้อ ๔ การแข่งขันจะได้จัดเป็น ๓ รอบ คือ : -
รอบที่ ๑ จัดแบ่งผู้แข่งขันออกเป็นพวก ๆ ให้ได้พบโต้กันทุกคนในพวกของตน จะแบ่งเป็นกี่พวกสุดแต่จํานวนผู้เข้าแข่งขันจะมีมากน้อยเท่าใด ในการแบ่งพวกนี้ทางการจะได้พยายามจัดให้ผู้ที่เคยปรากฏเกียรติในศิลปการวาทีสุนทรพจน์มาแล้ว อยู่ต่างพวกกัน เพื่อมิให้พบกันเสียแต่รอบแรก
รอบที่ ๒ จัดให้ผู้ชะนะเลิศในพวกหนึ่ง ๆ เข้าแข่งขันกัน ในรอบนี้จะจัดให้เป็นการแข่งขันอย่างพบกันทั้งหมด หรือเป็นการแข่งขันอย่างคัดออก ก็สุดแต่จํานวนผู้แข่งขันจะมีมากน้อยเท่าใด
รอบที่ ๓ ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย จัดให้ผู้มีคะแนนการชะนะมากที่สุดสองคน เข้าแข่งขันเพื่อชิงรางวัลที่ตั้งไว้ ผู้ชะนะรอบสุดท้ายนี้จะได้รับรางวัลที่ ๑ และผู้แพ้จะได้รับรางวัลที่ ๒
ข้อ ๕ นอกจากรางวัลในรอบสุดท้ายนี้แล้ว กรมศิลปากรอาจจัดให้มีรางวัลในรอบที่ ๒ บ้าง ตามที่สามารถจะจัดได้
ข้อ ๖ การวินิจฉัยแพ้ชะนะ จะได้ถือเอามติข้างมากของผู้เข้าฟังเป็นคะแนนวินิจฉัย
ข้อ ๗ เป็นหน้าที่ของผู้สมัครจะแสวงหาผู้สนับสนุนมาเอง สําหรับรอบแรกไม่เกิน ๓ คน สําหรับรอบที่ ๒ ไม่เกิน ๕ คน และสําหรับรอบที่ ๓ ไม่เกิน ๗ คน
ข้อ ๘ เรื่องที่จะโต้วาทีกันนั้น กรมศิลปากรจะได้คิดหัวข้อตั้งไว้ให้มาก และจะจับสลากแจ้งให้ผู้แข่งขันทราบหัวข้อเรื่องของตนอย่างน้อย ๗ วันก่อนเข้าแข่งขัน
ข้อ ๙ ระเบียบการละเอียดนอกจากนี้ กรมศิลปากรจะได้จัดทำขึ้นแล้วประกาศให้ทราบภายหลัง
ล่วงมาถึงวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งมีการจัดแข่งขันโต้วาทีครั้งแรกสุด หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวแถลงเปิดงานว่า
ท่านทั้งหลาย
ตามข้อบังคับของการโต้วาที่มีอยู่ในข้อ ๔ ว่า กรมศิลปากรจะได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในการโต้วาทีมานั่งเป็นประธานในการแข่งขัน แต่สําหรับวันนี้ซึ่งเป็นวันเริ่มการ ข้าพเจ้าได้พยายามที่จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในการโต้วาทีมาเป็นประธาน แต่เผอิญเป็นคราวเคราะห์ร้าย ท่านเหล่านี้ ไม่สามารถจะมาเป็นประธานได้ โดยเหตุนี้เมื่อหาคนอื่นไม่ได้ แต่ได้ประกาศไว้แล้ว ข้าพเจ้าซึ่งมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิจึงต้องนั่งเป็นประธานเอง ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมากที่ได้แลเห็นว่าการโต้วาทีนี้เป็นที่ใส่ใจของมหาชนทั่วกัน มีท่านทั้งหลายมาฟังในที่นี้เป็นจำนวนมาก เรื่องการโต้วาทีนี้แต่ก่อนมากระทํากันเป็นของเล่น ๆ แต่มาถึงบัดนี้รัฐบาลได้เห็นความจําเป็นที่จะจัดให้เป็นการเป็นงานจริงจังขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรตั้งรางวัลและเชื้อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาฟังในการโต้วาที
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอันมากที่สถานที่นี้ยังไม่สู้เรียบร้อยพอที่จะรับรองท่านทั้งหลาย เมื่อวานนี้ก็ได้พยายามหาเครื่องกระจายเสียงมาเพื่อให้ความสะดวกแก่ท่านทั้งหลายสำหรับการฟังโต้วาทีได้ถนัดถนี่ เผอิญเครื่องกระจายเสียงของทางราชการติดขัด ไม่สามารถส่งให้ได้ในวันนี้ แต่วันต่อไปข้าพเจ้าจะได้จัดให้มีเครื่องกระจายเสียงเพื่อความสะดวกแก่ท่านทั้งหลาย สําหรับการโต้วาทีที่จะเริ่มต้นในวันนี้ เรื่องที่ ๑ เรื่องร้อนดีกว่าเย็น ผู้เสนอคือ พระยาโอวาทฯ ซึ่งเป็นผู้ได้ปรากฏเกียรติในการโต้วาทีมาแล้ว ฝ่ายค้าน คือ รองอํามาตย์โท วิเชียร ฉายจรรยา ท่านผู้นี้ถึงแม้จะยังไม่เคยปรากฏชื่อเสียงในการโต้วาที ก็เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่า ในการที่หาญต่อสู้กับเจ้าคุณโอวาทนั้น จะต้องมีความสามารถอยู่เป็นแน่นอน คู่ที่ ๒, ๓ ได้เขียนชื่อไว้แล้ว อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่าการโต้วาทีในคราวนี้มีการบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ได้โปรดให้อภัยโดยเหตุครั้งแรก และเครื่องต่าง ๆ ยังจัดไม่ทัน เช่น เครื่องกระจายเสียง ซึ่งควรจะต้องมี ก็ยังมีในวันนี้ไม่ได้ อีกประการหนึ่ง สําหรับการลงมติ ลงคะแนนโหวดนั้น ตามที่ได้ประกาศแล้ว วางระเบียบไว้ว่า จะให้มหาชนลงมติด้วยการลงคะแนนลับ แต่เครื่องมือที่จะทําสําหรับใช้คะแนนลับก็ยังไม่เพียงพอสําหรับวันนี้ ด้วยเหตุนี้ สำหรับการลงคะแนนจึงจำต้องขอความกรุณาให้ท่านยกมือให้นับเป็นการเริ่มต้นก่อน ต่อไปนี้เราจะได้เชิญผู้แข่งขันขึ้นโต้วาทีต่อไป
พระยาโอวาทวรกิจ หัวหน้าฝ่ายเสนอนั้น ถือเป็นนักโต้วาทีผู้ครองชื่อเสียงมานาน ทั้งยังเป็นครูที่มีความสามารถสูงในยุคบุกเบิกการศึกษาของไทย เคยเรียนหนังสือที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังจนสอบไล่ได้ประโยคสองซึ่งเป็นประโยคสูงสุดสมัยนั้น ก่อนจะเข้าโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เป็นรุ่นแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2435 ครั้นสำเร็จการศึกษาก็สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถมเมื่อปลาย พ.ศ. 2437 จึงเริ่มรับราชการเป็นครูฝึกหัดที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โดยสอนวิชาภาษาไทย ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสายสวลีสัณฐาคาร ทั้งยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่โรงเรียนแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบกย่านสระปทุม และโรงเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง
พอปี พ.ศ. 2445 ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมัธยมเทพศิรินทร์ กระทั่งปีถัดมากระทรวงธรรมการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตกขึ้นที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเดิมที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งใหม่ ชีวิตราชการก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ จนได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการโรงเรียนแขวงมัธยมของกรมศึกษาธิการ และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนราชแพทยาลัย มีบรรดาศักดิ์คือ พระโอวาทวรกิจ
ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น จึงให้โอนย้าย พระโอวาทวรกิจ มาสังกัดกรมมหาดเล็กโดยให้รั้งตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นคนแรก ก่อนที่ปลายปี พ.ศ. 2455 ทางกระทรวงธรรมการได้ขอตัวกลับและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่
ช่วงปลายทศวรรษ 2450 พระยาโอวาทวรกิจ ได้เป็นพนักงานสอบไล่ในกรมศึกษาธิการและทำงานด้านบริหารการศึกษา จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคหนึ่ง ดูแลการศึกษาในห้ามณฑลคือ มณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลปราจิณ และมณฑลจันทบุรี พอปี พ.ศ. 2460 ทก็เลื่อนขึ้นเป็นเจ้ากรมวิสามัญศึกษา ดูแลจัดการด้านอาชีวศึกษาและโรงเรียนสตรี นอกจากนี้ ยังปฏิบัติหน้าที่ธรรมการมณฑลกรุงเทพฯ สังกัดในกระทรวงนครบาลเมื่อครั้งที่ยังไม่ได้รวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทย กระทั่งในที่สุดก็ได้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอย่างผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ. 2468 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจนจำเป็นต้องดุลยภาพข้าราชการ
พระยาโอวาทวรกิจ เป็นผู้มีความสามารถรอบด้าน ได้รับการร่ำลือว่าแสดงละครเก่งคนหนึ่งและแต่งบทละครไว้หลายเรื่อง นอกจากนี้ ยังชอบเขียนบทความและแต่งหนังสือ รวมถึงอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงอย่างยิ่งคือการเป็นนักโต้วาที ครั้นปลายทศวรรษ 2470 เมื่อทางรัฐบาลคณะราษฎรส่งเสริมให้มีการจัดแข่งขันการโต้วาทีชิงรางวัลขึ้น ท่านเจ้าคุณจึงถือเป็นคนสำคัญที่ได้มาร่วมกิจกรรม ทั้งยังเป็นที่จับตามองและดึงดูดใจให้คนจำนวนมากอยากเข้ามาร่วมฟังการโต้วาทีในครั้งนั้น
สำหรับการโต้วาทีในญัตติ “ร้อนดีกว่าเย็น” นั้น เริ่มต้นที่ พระยาโอวาทวรกิจ หัวหน้าฝ่ายเสนอ เป็นผู้กล่าวขึ้นก่อนว่า
“ข้าพเจ้ามาโต้วาทีตามความเชื้อเชิญของกรมศิลปากร แต่ผู้แข่งขันข้าพเจ้ายังไม่รู้จัก อยากจะให้ท่านอธิบดีแนะนําสักหน่อย ไหน ๆ ก็จะโต้กันแล้ว
ในการโต้วาทีซึ่งได้เคยมีกันมาแล้ว ไม่ใช่ในครั้งนี้ มีกันมานานมากทีเดียว แต่ว่าพึ่งจัดเป็นล่ำเป็นสันเข้าคราวนี้เท่านั้น การที่ผู้จะสมัครโต้วาที ตามที่กรมศิลปากรเชื้อเชิญนั้น มีผู้คิดกันไปหลายแง่หลายทาง คิดกันว่าถ้าไปโต้กันเกิดแพ้ขึ้น จะเสียหายอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะหาคนโต้ยาก แต่ส่วนข้าพเจ้าไม่เป็นไร ถึงจะแพ้จะชะนะก็เหมือนควายแก่ วันนี้ขอโต้วาทีที่ท่านให้ไว้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอว่า ร้อนดีกว่าเย็น ผลของการโต้วาที ถ้าว่าข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าไปแข่งขัน ได้ชัยชะนะเป็นที่หนึ่งก็ดี ที่ ๒ ก็ดี ข้าพเจ้าได้เจตนาไว้แล้วว่า ถ้าได้รางวัลด้วยความเหน็ดเหนื่อยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะทําความกุศล ไม่รับเป็นส่วนบุคคล นี่เป็นกุศลของข้าพเจ้าอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ประกาศที่ว่าร้อนดีกว่าเย็น ท่านให้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของร้อน ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อข้าพเจ้าลงจากรถเมื่อตะกี้นี้ ฝนตก และเวลานี้ฝนก็ตกอยู่ภายนอก เรียกว่าเย็น แต่ท่านผู้ฟังทั้งหลายอาจไม่ชอบ เพราะได้ยินเสียงข้าพเจ้าน้อยไป หรือไม่พอเพียง
นั่นคือความร้อนใจไม่ใช่หรือ? เวลาลงจากรถต้องวิ่งหนีฝนกันกราว อะไร? ท่านหนีความเย็นใช่ไหม? ร้อนเป็นของที่ประเทศทั่วโลกต้องการ เราเกิดในประเทศสยามเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่อยู่ในฝ่ายร้อน ถ้าเราจะกลับเสียและเปลี่ยนเป็นฝ่ายเย็นก็อาจจะผิดปกติไป เราจะเดือดร้อน เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายอยู่ในที่นี้แล้วเรียกว่าอยู่ในที่ร้อน จะเป็นฝ่ายเย็นไม่สมควรเลยทีเดียว เท่ากับฝืนธรรมดาของเรา เราอยู่ในที่ใดที่เป็นความสุขผาสุกแล้ว ไม่ควรจะกะเสือกะสนไปอยู่ในที่ไม่ผาสุข”
ท่านเจ้าคุณโอวาทฯ ยังได้ยกเหตุผลอันน่ารับฟังหลายประการมาสนับสนุนข้อดีของ “ความร้อน” ดังเช่น
“ธรรมดาความร้อนย่อมเป็นเครื่องอุปกรณ์ของกิจการต่างๆทั่วโลก วิทยาศาสตร์อาศัยความร้อนทั้งนั้น ความร้อนทำให้เป็นความสำเร็จดีกว่าความเย็น เป็นต้นว่า รถยนต์ เรือไฟ วิทยุ ปืนใหญ่ อะไรเหล่านี้ ใช้ความร้อนทั้งนั้น ถ้าขืนเอาความเย็นมาใช้แล้ว จะไม่มีประโยชน์เลย”
“เราทำการใด ๆ ถ้าเราไม่มีความร้อนใจ ทำใจเย็นเฉื่อยชาไปแล้ว งานนั้นก็ต้องถูกตำหนิติเตียนว่าเหลวไหลเฉื่อยช้าไม่เป็นเรื่อง สมมุติง่าย ๆ ถ้าเราจะชอบผู้หญิงคนใดเข้า ถ้าเราไม่ร้อนใจกระตือรือร้น เขาก็แย่งเอาไปกินเสียเงียบ ตัวอย่างมองเห็นได้ง่ายๆทีเดียวว่า ทุกอย่างหมดความร้อนนั่นแหละทำให้เกิดความขยัน ความเย็นทำให้เกิดความเกียจคร้าน สังเกตดูหน้าร้อนกับหน้าหนาว เวลาเรานอนอยู่ที่บ้านเรา ความหนาวนั้นทำให้ขี้เกียจไม่ใช่หรือ? แต่ความร้อนมาทำให้ขยัน”
“ในประเทศเรานี้ มีสุภาษิตอยู่บทหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่เคยนึกถึงเลยแต่ก่อนนี้ เมื่อมาเถียงปัญหาข้าพเจ้าก็มานึกสุภาษิตบทนี้ขึ้นได้ว่า ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน ท่านทั้งหลายที่มาฟังจะชอบดูช้างมากหรือสาวมาก ทำไมจึ่งให้ดูหน้าร้อน? หน้าร้อนเครื่องปกปิดร่างกายใช้เครื่องบางๆทั้งนั้น และยิ่งแถมสมัยนี้เข้าด้วยแล้ว ยิ่งร้ายใหญ่ เมื่อเดือนเมษายน ข้าพเจ้าไปที่หัวหิน เครื่องปกปิดร่างกายของเจ้าหล่อนบางเต็มทน...”
และ
“มารดาเราเมื่อเวลาคลอดเราออกมา ต้องใช้ความร้อนอยู่ไฟชุดให้ร่างกายบริบูรณ์ แล้วเมื่อท่านแก่เฒ่าตายไปแล้ว เราจะเผาท่านต้องเอาไฟเผา”
ท่านเจ้าคุณยังกล่าวปิดท้ายอย่างคมคาย
“ทีนี้จะกล่าวถึงว่า งานทั้งหลายของประเทศก็ดี ของบุคคลก็ดี ของบริษัทก็ดี ถ้างานนั้นทำด้วยใจเย็นแล้ว ก็ไม่เป็นผล เป็นต้นว่า พ่อค้าเป็นคนใจเย็นเนิบนาบทำเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้น ไม่ทันกิน งานฝ่ายบริหารของราชการก็เหมือนกัน ถ้าไม่ทำด้วยความใจร้อนแล้ว มัวเฉื่อยเสียเรียกว่ามัวไม่ร้อนเสียทำให้เสื่อมทรามลง เวลานี้เรารู้สึกตัวอยู่แล้วว่า งานต้องรีบร้อนทำ ตัวอย่างโดยมาก ผู้ที่เป็นผู้บริหารที่เป็นใหญ่เป็นโตของเรา ไม่เป็นอันกินอันนอนทีเดียว เราจะเห็นเวลาท่านทำงาน ๓ โมงเช้าเหล่านี้ ไปเลิกเอา ๒๓ นาฬิกาก็มี หรือ ๒๔ นาฬิกาก็มี ธุระของท่านมันยุ่งไปหมดด้วยเรื่องอะไร? ด้วยเรื่องความร้อนใจอยากจะให้พวกเรา หรือประเทศเราเจริญ รีบทำการเหล่านั้นให้ทันสมัย อย่ามัวนอนคลุมโปงอยู่”
หลังจากหัวหน้าฝ่ายเสนอกล่าวจบลง ทางหัวหน้าฝ่ายค้านคือ รองอำมาตย์โทวิเชียร ฉายจรรยา ก็ขึ้นมาโต้คารม
“ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าวันนี้มาด้วยความเย็นอกเย็นใจ แต่ผู้สนับสนุนข้าพเจ้าไม่สามารถจะมาได้ ท่านทั้งหลายจะมาช่วยสนับสนุนฝ่ายค้านด้วยความเย็นของข้าพเจ้า ขอเชิญท่านทั้งหลายเพียงสองท่าน เพื่อจะดูความเย็น ฝนตกวันนี้ต้องเย็น ภายในเย็นอกเย็นใจ ข้าพเจ้าได้รับสิทธิ์วันนี้ เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเป็นฝ่ายค้าน คือความเย็น เพราะฉะนั้นในโอกาศนี้ ขอท่านทั้งหลายจงนึกว่าความเย็นมีประโยชน์ เพราะมนุษย์เราเกิดมาด้วยความเย็น ความเย็นอันนี้ ท่านก็เข้าใจได้ดีแล้วว่า น้ำแข็งรับประทานหนีน้ำร้อน ให้มันพอดี หลวงวิเชียร ท่านทั้งหลายคงเห็นแล้วว่า ปกครองคนในสถานของท่าน ซึ่งเป็นโรคเกิดด้วยความร้อน เพราะฉะนั้นความร้อนอันนี้เป็นเครื่องทําลายความสุขของมนุษย์ แม้แต่ท่านไปไหน หรือเมื่อท่านถูกความร้อนเข้าแล้ว เราต้องรับประทานน้ำเพื่อบําบัดความร้อนฉันใด ประเทศชาติเดี๋ยวนี้มีความร้อน ก็ต้องหาหนทางปรองดองสามัคคีซึ่งกันและกัน จุนเจือกันดีกว่าร้อนหลายเท่า ท่านทั้งหลายออกจะไม่ชอบความร้อน คงชอบความเย็น ท่านคงไม่ชอบความร้อน เพราะความร้อนผิดธรรมดาของเรา เป็นสิ่งซึ่งไม่มี เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึ่งได้กล่าวว่า อาศัยความเย็น เช่นท่านจะไปไหนมาไหน ท่านคงร้อนมาก เพราะทำให้ท่านเหงื่อออก เพราะฉะนั้นความเย็นเหล่านี้ไปต้านทานความร้อนไว้...”
รองอำมาตย์โทวิเชียร ยังสาธยายคุณค่าของความเยือกเย็นมาเป็นเหตุผลในการค้าน ดังที่กล่าวถึง หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร ตูวิเชียร) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ย่านปากคลองสาน ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยทางจิต ก็ต้องอาศัยความใจเย็นเพื่อปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ ก็เอ่ยถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีขณะนั้นและเป็นหัวหน้าของรัฐบาลคณะราษฎร
“เช่นเจ้าคุณนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศของเรา ท่านผู้นี้ไม่เคยเสียเลย ท่านจะทำอะไรท่านไม่รีบทำ ท่านต้องได้รับคำรับรองจากสภาเสียก่อนแล้วจึ่งจะทำ สิ่งไรท่านไม่รู้ยังไม่มีความชำนาญสุขุมพอ ท่านก็รับรองไม่ได้ในสิ่งนั้น ต้องมาปรึกษาหารือออกความคิดเห็นไปให้สุขุมเพื่อนำกิจการนั้น ๆ ไปใช้ในทางที่ถูก ไม่ใช่ผิด”
ไม่เพียงเท่านั้น หัวหน้าฝ่ายค้านอ้างถึงพุทธศาสนาว่าเกี่ยวข้องกับความเย็นมากกว่าความร้อน
“แต่ขอให้ท่านทั้งหลายนึกว่าหลักพระพุทธศาสนานั้นเป็นเครื่องบำบัดความทุกข์หมายความสุข คือความเย็นมุ่งหนีความร้อนหรือความทุกข์ ได้นับถือกันมาจนทุกวันนี้ ท่านคงจะไม่ได้ยินว่าหนีร้อนมาพึ่งร้อน มีอยู่อย่างเดียวก็คงได้ยินว่า “หนีร้อนไปพึ่งเย็น” เพราะร้อนเป็นเครื่องทำลายสังขาร ทำลายกิจการงาน ทำลายทรัพย์ทุกๆอย่าง”
ที่สำคัญคือ รองอำมาตย์โทวิเชียร ยังได้กล่าวถึงบทบาทของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับความเย็น
“เช่น หลวงประดิษฐ์ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้ทำราชการงานเมือง ให้ท่านมีความสุข ให้เทียมทันนานาประเทศ ก็ทำด้วยความเย็นสุขุม แต่สิ่งเหล่านั้น ผู้เสนอมิได้กล่าวเสียเลย ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอกล่าวชมเชยท่าน เพราะท่านเองเป็นผู้นำประเทศโดยมีความใจเย็น เพื่อจะยังประเทศให้ถึงซึ่งความสุขความเจริญในภายหน้า...”
ก่อนจะปิดท้ายว่า
“ท่านทั้งหลาย ในสิ่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวสำหรับสิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องแสดงน้ำใจของท่าน เพราะถ้าเราไม่รู้เรื่องแล้ว ท่านทั้งหลายก็ยังจะเข้าใจไม่ได้ เพราะใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าใจของเราเป็นไปตามอารมณ์ที่ไม่ดี ท่านก็หารู้ว่าอารมณ์นั้นร้ายมากระทบ ถ้าท่านทราบ ท่านก็ไม่พอใจ ถ้าท่านได้ฟังวาจาหวานไพเราะ ท่านก็พอใจ แต่หน้าร้อนทำไมท่านจึ่งต้องรับประทานน้ำแข็ง? เพราะท่านเห็นว่า เป็นเครื่องบำบัดความร้อน ท่านจึงรับประทาน ร่างกายมีความร้อน ท่านรับประทานน้ำแข็งเพื่อบำบัด ทำความร้อนให้กลับมาเป็นความเย็น ดังได้ยกตัวอย่างเช่นนี้ว่า ในประเทศใดประเทศหนึ่งก็ตาม เขาคิดการงานของประเทศนั้นความละเอียดสุขุมก่อนที่จะทำไป แต่ไม่ใช่ร้อนใจทำ ใจนั้นสุขุม เช่นข้าพเจ้าเป็นนักเรียนครูสั่งว่า วันนี้ให้การบ้านมาทำพีชคณิต พรุ่งนี้ต้องมาส่ง และครูอีกคนหนึ่งท่านสั่งว่ามะรืนนี้ให้ทำเลขมาส่ง ข้าพเจ้าไม่ได้ร้อนใจทำ ข้าพเจ้าจะใช้ดุลยพินิจว่า พีชคณิตควรทำก่อนพรุ่งนี้ เลขต้องส่งมะรืนนี้ไว้มะรืนนี้จึ่งทำ แต่สิ่งทั้งหลายนี้เป็นเครื่องวัดระดับความร้อนความเย็น ท่านไม่ชอบความร้อนใจ ถึงในครอบครัวท่าน ถ้าท่านได้รับความร้อนท่านก็จะอยู่ในบ้านไม่ได้ ต้องออกไปตากอากาศ”
ถัดต่อมา ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนแรกคือ นายกิมฮวย มลิทอง จึงแสดงฝีปาก
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าสนับสนุนว่าเรื่องร้อนดีกว่าเย็น ก็โดยเห็นคุณานิสงส์ของความร้อนว่า อำนวยประโยชน์ให้มากกว่าความเย็น เบื้องต้นขอให้ท่านกำหนดในใจว่า บรรดาสรรพสิ่งในโลกเกิดด้วยความร้อนทั้งนั้น เราท่านทุกคนที่มานั่งอยู่นี้ ถ้าหากเราไร้ความร้อนแล้ว เราก็คงไม่มีโอกาสมานั่งในที่นี้ได้เป็นแน่ บรรดากามารมณ์ ๕ ประการ รูป, เสียง, กลิ่น,รส, สัมผัส สัมผัสคือความสอดรัดต้องการความร้อนเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากว่า มือเย็นตัวเย็นมาสัมผัสไม่เกิดรสชาติอย่างใดเลย ประดุจความสอดรัดในฤดูร้อน เราก็ไม่ต้องการสอดรัดสัมผัสใคร ท่านผู้ค้านอ้างเอาเรื่องการศาสนาขึ้นมาว่า ความร้อนใจเป็นของไม่ดี ส่วนความเย็นใจเป็นส่วนดี ข้าพเจ้าจะขอให้ท่านผู้ค้านรำลึกว่า ถ้าหากว่าไม่มีความร้อนแล้ว การศาสนาก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าศาสนาทั้งหลายเกิดขึ้นด้วยความร้อนทั้งนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็เพราะมีความเร่าร้อนพระทัยอยากจะแสวงหาทางตรัสรู้จึ่งได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ในครอบครัวถ้าหากไม่มีความร้อนจะเอาไฟที่ไหนหุงข้ามต้มแกง ท่านกินข้าวแช่น้ำแข็งได้หรือ? กินไม่ได้เป็นแน่ๆ
ในเรื่องความร้อนใจ ความจริงสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกสำเร็จด้วยความร้อนใจทั้งสิ้น ถ้าหากว่าไม่มีความร้อนใจ ก็ไม่มีโอกาสจะมานั่งที่นี่ได้ ป่านนี้ท่านคงจะเย็นชาอยู่บ้านมิดีกว่าหรือ นี่เพราะความร้อนใจอยากจะได้ฟังการโต้วาที ถึงได้เร่งมาให้ทันเวลา นี่ก็เป็นอานิสงส์ให้เห็นความร้อนว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร ถ้าหากว่าท่านไม่มีความร้อนใจ มัวมืออ่อนตีนอ่อน จะเอาที่ไหนกิน จำเป็นต้องเล่าเรียนแสวงหาเงินทรัพย์สินมาเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ นี่ก็ส่อให้เห็นว่า ความร้อนใจเป็นของดี ไม่ใช่ของเย็น...”
โดยเฉพาะตอนท้าย นายกิมฮวย ได้ตอบโต้ต่อประเด็นที่หัวหน้าฝ่ายค้านเอ่ยถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม คณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่า
“ท่านอ้างเรื่องราวโบราณมากมาย และว่า ท่านรัฐมนตรีผู้บริหารงานของประเทศ ได้ทำการด้วยความเยือกเย็นสุขุม ข้าพเจ้าขอค้านเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากมีแต่ความเยือกเย็นใจแล้ว บัดนี้เราคงไม่ได้การปกครองแบบอารยประเทศเป็นแน่ ๆ นี่เพราะท่านทั้งหลายเป็นผู้ก่อกำเนิดการปกครองในปัจจุบันเป็นผู้มีความเร่าร้อนใจอยู่ ท่านอ้างโรงเรียนประชาบาลว่าตั้งขึ้นได้ด้วยความสุขุมเยือกเย็น ข้าพเจ้าเห็นตรงกันข้าม โรงเรียนประชาบาลควรจะเกิดมาก่อนเปลี่ยนการปกครองแล้ว แต่เพราะเหตุว่าเรามีแต่ความเยือกเย็น จึ่งพึ่งได้มีโรงเรียนประชาบาลในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลังเปลี่ยนการปกครอง”
นายกิมฮวยผู้นี้ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น นายพร มะลิทอง และกลายเป็นนักการเมืองฝีปากกล้า มีบทบาทโดดเด่นช่วงทศวรรษ 2490 โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์คณะทหารผู้ยึดอำนาจในเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อีกทั้งยังเคยต่อว่า พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กลางสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2497 นายพร จึงถูกอุ้มฆ่าแล้วนำร่างไปถ่วงทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้าน หลวงวิลาศปริวัตร หรือ ครูเหลี่ยม นักประพันธ์เลื่องชื่อ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนแรก ก็ได้ยืนยันหนักแน่นว่า “เย็นดีกว่าร้อน” ซึ่งกล่าวเปิดฉากขึ้นมาด้วยอารมณ์ขัน และโต้คารมว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ตนเองเคยไปต่างประเทศมาแล้ว จึงไม่ชอบความร้อน แต่ชอบความเย็นเพราะทำให้มีความสุขกว่า ถ้าใครชอบความร้อนก็คงต้องไปอยู่พระอาทิตย์ ถ้าเกิดว่ารู้สึกหนาวก็ยังสามารถสวมเสื้อหลาย ๆ ชั้นได้ แต่ถ้ารู้สึกร้อน ต่อให้ถอดเสื้อที่สวมออกหมดจนเหลือแต่หนังกำพร้าก็ยังไม่หายร้อน
จากนั้น ผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอคนที่สองคือ นายสิน เฉลิมเผ่า ก็ออกมายืนยันอีกเสียงว่าความร้อนมีประโยชน์มากกว่าความเย็น
“ถ้าชอบร้อนก็ให้ไปอยู่พระอาทิตย์ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นคำท้าทายที่ขบขันมาก ผู้สนับสนุนเคยไปแล้วหรือยัง? และอีกประการหนึ่ง ถ้าท่านชอบเย็น ฉะนั้นเชิญไปอยู่ใต้บาดาลในมหาสมุทร มันเย็นดี นั่นเป็นอีกข้อหนึ่งซึ่งเห็นว่าท่านไม่ชอบหนาวจริง ๆ ซึ่งถ้าชอบแล้ว คงลงไปแล้ว ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านได้พูดว่าได้ไปอยู่ในลอนดอน ได้ไปอยู่ที่เมืองนอก แลต่าง ๆ เหล่านั้น ก็พยายามชมว่าที่นั่นดี แต่ว่าไม่จริง ท่านฝ่ายค้านไม่อยู่ กลับมาอยู่เมืองไทยนี้เอง แสดงให้เห็นว่า ถึงหากอากาศหนาวก็ดี หรือเย็นก็ดี ทางฝ่ายสนับสนุน ท่านก็ไม่ได้ทำตามความจริงใจของท่านเลย ความจริงใจของท่าน ชอบร้อน แต่ท่านพูดออกมาไม่ได้ เพราะท่านอยู่ฝ่ายค้าน”
ส่วน นายมงคล รัตนวิจิตร ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านคนที่สอง และเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเมืองไทย ก็ลุกขึ้นมาโต้แย้งว่า ถึงอย่างไรเหตุผลของฝ่ายค้านที่เน้นย้ำว่าความเย็นดีกว่าความร้อน ก็น่าจะทำให้ได้รับชัยชนะในการโต้วาทีครั้งนี้อยู่แล้ว
ในรอบที่สอง พระยาโอวาทวรกิจ หัวหน้าฝ่ายเสนอ ยังคงหยิบยกข้อดีของความร้อนมากล่าวอ้าง
“และแม้แต่กรรมกรคนขายขนมยังบอกเราว่า “ขนมจีนน้ำยาร้อนๆแม่เอ๊ย” แต่ก็มีขนมบางอย่างเย็น ๆ อ้อยแช่เย็น ๆ จัดซึ่งเราไม่กล้ากิน กลัวฟันหลุด แต่ว่าร้อน ๆ นี้ชอบ แม้แต่ว่าแกงเย็นชืดไม่ร้อนก็ดี แต่ยังใช้คำว่าร้อนอยู่ เช่นแกงร้อน ให้เย็นอย่างไรก็ใช้ร้อนอยู่ เพราะอะไร? เพราะเราชอบร้อน พูดว่าร้อนแล้วซดโฮก คล่องคอ”
“ความร้อนนี่ ถ้าจะอุประมาอุประไมแล้ว มันเป็นหลักของโลก ที่เราจะอยู่ได้ เวลาเช้าตื่นขึ้น พอเห็นแสง ไม่ว่าแต่เรา สัตว์ทั้งหลายก็ลงจากรังปร๋อ แต่พอเย็นแล้วง่วง กลับรังนอน นอนเท่านั้น นี่ความร้อน เมื่อมีแสงมาส่องอยู่ เราเป็นที่พอใจ แต่ตกกลางคืน เรายังใช้แสงอีก ถ้าใครยังไม่ใช้แสงก็เห็นจะโง่สักหน่อย มืดไปเย็นไป เป็นของไม่น่าสมควรเลย”
รองอำมาตย์โทวิเชียร หัวหน้าฝ่ายค้าน ก็ยังตอบโต้ด้วยการยืนยันถึงคุณูปการของความเย็น
“ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นผู้ค้านฝ่ายข้างเย็น แต่ในเรื่องที่ข้าพเจ้าได้กล่าวนี้ ท่านทั้งหลายคงมองเห็นด้วยสายตาของท่านเสมอคือโรงพยาบาล ซึ่งบำบัดทุกข์คือความร้อน ผู้ที่ไปยังโรงพยาบาลนั้น ท่านก็คงเห็นแต่คนเจ็บ ถูกฟัน ถูกตี แข้งขาหัก โรงพยาบาลต้องอุดหนุนอยู่ทุกวันนี้ นั่นกระทำด้วยความร้อนไม่ใช่หรือ? แต่โดยความร้อนอันนี้ จึ่งต้องเดือดร้อนถึงรัฐบาลแห่งชาติของเรา ให้บำบัดความร้อนให้กลับเป็นความเย็น หายแล้วกลับมาหาความเย็นที่บ้าน มีความสุขความเจริญ”
ข้อน่าสนใจก็คือ รองอำมาตย์โทวิเชียร ดูเหมือนจะชอบอ้างถึงบทบาทของรัฐบาลคณะราษฎร ดังที่เอ่ยถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ซึ่งก็คือ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
“แต่กิจการงานที่ท่านเสนอว่า ท่านผู้บริหารกิจการแห่งประเทศชาติของเรา ท่านมิได้บริหารด้วยความร้อน มุ่งเพื่อเย็นทั้งนั้น ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแนะนำว่า รั้วของเราไม่มี บ้านเราไม่มีรั้ว ขโมยจะเข้าไปตลอดบ้านของท่านทันที เช่นนี้เป็นต้น แสดงว่าท่านเห็นแล้วว่า ความร้อนจะไม่ดี”
และอีกตอนหนึ่งยังกล่าวว่า
“ท่านรับราชการท่านต้องหวังต่อเงินเดือน เพราะฉะนั้นท่านต้องทำความดิบความดีให้แก่ประเทศชาติ ประเทศชาติก็ต้องรักท่านเหมือนกัน ฉันใดก็ดี บิดารักบุตร บุตรก็ต้องรักบิดา ถ้าข้างหนึ่งไปร้อนเสีย จะมีความสุขอย่างไร ฝ่ายท่านผู้บริหารคงจะไม่นำความทุกข์มาให้ท่านถ้าท่านไม่ทำความผิด เพราะได้มีความจริงกล่าวว่า ให้ทุกข์ท่านทุกข์นั้นถึงตัว เป็นความจริง ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความร้อน เมื่อท่านรู้ว่าร้อนแล้วคงไม่ทำ เพราะความร้อนนำมาซึ่งความไม่สบายอกสบายใจ”
อย่างไรก็ดี ในตอนที่ รองอำมาตย์โทวิเชียร กล่าวทิ้งท้าย เขากลับเกิดความสับสนและเผลอพลั้งพูดผิดจนกลายเป็นว่าไปสนับสนุนให้ความร้อนดีกว่าความเย็น
ความเย็นใจเป็นสิ่งประกอบให้มนุษย์เรามีความรู้สึกนึกคิดให้แก่ประเทศชาติของเรา และเราอยู่ทุกวันนี้ด้วยความเย็นใจ คิดไตร่ตรอง สิ่งอะไรไม่ดี รวมความว่า สิ่งทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนี้ ท่านทั้งหลายคงเห็นว่าความเย็นต้องดีกว่าความร้อน ความร้อนจะดีกว่าความเย็นไม่ได้ ท่านทั้งหลายมานี่ก็มาด้วยความเย็น ท่านต้องการรู้ความเห็นจากข้าพเจ้า หรือท่านผู้เสนอ ข้าพเจ้าขอสรุปความว่า “ความร้อนต้องดีกว่าความเย็นเป็นแน่”
ในรอบสุดท้ายที่หัวหน้าฝ่ายเสนอต้องกล่าวปิด ท่านเจ้าคุณโอวาทวรกิจเล็งเห็นว่าฝ่ายของตนได้เปรียบแล้ว จึงอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 มา “ปรูฟ” (พิสูจน์) และยืนยันความจำเป็นที่คนเราจะต้องมี “ความร้อนอกร้อนใจ” ในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ
“เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา
ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย
แม้ใครตั้งจิตต์คิดรักตัว จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน
ควรจะร้อนอกร้อนใจ เพื่อให้พรั่งพร้อมเพื่อตน
ชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล
แม้นชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร”
ก่อนที่จะทิ้งท้ายด้วยชั้นเชิงเฉียบคมว่า
อย่ามาแนะนำให้เย็นอกเย็นใจเลย เมื่อเป็นเหตุเช่นนี้แล้ว ผลของการปรูฟ ก็เห็นได้ว่า ท่านเองก็บอกว่า “ร้อนดีกว่าเย็น”
ผลของการแข่งขันโต้วาทีครั้งนั้น ฝ่ายเสนอได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากบรรดาผู้ฟังในหอประชุมกรมศิลปากรเกือบสี่ร้อยคนมากถึง 349 คะแนน ขณะที่ฝ่ายค้านได้เพียง 10 คะแนน ส่วนกรรมการกลางตัดสินทั้งเก้าคนก็ให้คะแนนฝ่ายเสนอเหนือกว่าฝ่ายค้าน 6 ต่อ 3 ขณะที่คณะของพวกนักหนังสือพิมพ์ที่มาร่วมฟังก็ยกให้ฝ่ายเสนอเป็นผู้ชนะเลิศ 5 ต่อ 1
พระยาโอวาทวรกิจ ยกเงินรางวัลทั้งหมดซึ่งได้รับจากการชนะเลิศในการแข่งขันโต้วาทีที่จัดขึ้นโดยกรมศิลปากร ให้เป็นทุนบำรุงกองทัพอากาศเพื่อเสริมสร้างการป้องกันบ้านเมือง
การแข่งขันโต้วาทีชิงรางวัลครั้งแรกสุดของเมืองไทยในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2478 ณ หอประชุมกรมศิลปากร นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญเลยทีเดียว ไม่เพียงเป็นการเริ่มส่งเสริมกิจกรรมศิลปะการพูดโต้วาทีซึ่งยังคงตกทอดมาตราบจนปัจจุบันเท่านั้น แต่เนื้อหาของการตอบโต้คารมในญัตติ “ร้อนดีกว่าเย็น” ยังสะท้อนบรรยากาศของสังคมไทยในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรช่วงปลายทศวรรษ 2470 ไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย ดังที่ผู้เข้าแข่งขันได้เอ่ยถึงบทบาทการบริหารประเทศของแกนนำรัฐบาลคณะราษฎร ทั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และที่สำคัญคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการปฏิบัติงานของเขาได้สร้างภาพจำในความรับรู้ของประชาชนว่าเป็นผู้มีความสุขุมเยือกเย็น แต่ก็มีความกระตือรือร้นต่อการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับบ้านเมืองอย่างแข็งขัน
หมายเหตุ:
- คงอักขร การสะกดคำ และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
- ผู้เขียนขอขอบคุณ นายปัณณธร ตังเซ่งกี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมาฝึกงานประจำห้องหนังสือหายากแห่งหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ท่าพระจันทร์ สำหรับการช่วยเหลือด้านเอกสาร
เอกสารอ้างอิง
- คารมโต้วาทีของกรมศิลปากร เรื่อง ร้อนดีกว่าเย็น. พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2477
- รอง ศยามานนท์. “พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน).” ใน ประวัติครู 16 มกราคม 2501. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2501
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. นักเขียน ศิลปินและสังคมไทย. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2542
- อนันต์ อมรรตัย. ยิงทิ้งผู้การสันติบาล และ ฆ่าถ่วงน้ำ ส.ส. พร มะลิทอง. กรุงเทพฯ: ศิริสาส์น, 2517