ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ลาก่อนสยาม : “ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่ชาติไม่ต้องการ”

12
เมษายน
2566

เหตุการณ์อันเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรทำได้ผลเพียงไม่ถึงครึ่งก็ต้องล้มครืนลง เพราะการกระทำของพวกขุนนางเก่า ประกอบกับการแตกแยกของบุคคลในคณะราษฎร ซึ่งถ้าจะกล่าวว่า บุคคลเหล่านั้นลืมคำปฏิญาณ ลืมคำสาบาน ร่วมกันต่อสู้ ในอันที่จะนำมาซึ่งความสุขความสมบูรณ์สู่ประชาราษฎรก็เป็นการไม่ผิด

ความหวั่นไหวหลงตามของเพื่อนร่วมสาบานบางคน ที่ได้ลงชื่อในพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการหวั่นไหวอย่างรุนแรงและเกินกว่าเหตุ เพราะเพียงแต่เหตุการณ์เพียงเท่านั้น การยุบสภาก็เป็นการเพียงพอที่จะทำได้ ถ้าหากกรณีเป็นว่าสภามีความผิด คือ ถ้าปล่อยให้สมาชิกรุ่นนั้นยังคงอยู่ จะนำความเสียหายมาให้แก่ชาติบ้านเมือง แต่สภาก็ได้เป็นเช่นนั้น การปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เห็นอย่างถ่องแท้ชัดเจนว่า เป็นการพ่ายแพ้ของคณะราษฎร เป็นการพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง เป็นผลของการต่อสู้ในระยะเวลา 281 วัน ประชาธิปไตยมีอายุเพียงแค่นี้เอง

เป็นการยากที่จะอธิบายชี้แจงให้เพื่อนร่วมคณะเข้าใจกลอุบายและการกระทำทุจริตของพระยามโนฯ แต่ถึงกระนั้นบุคคลที่ยังยึดมั่นในอุดมคติ ยังยืนหยัดสู้ต่อไป แม้จะต้องเป็นอันตรายถึงชีวิต บุคคลเหล่านี้ไม่หลงตามและไม่หวั่นไหวในผลอันเกิดจากการกระทำของพระยามโนฯ บุคคลที่ยืนหยัดสู้นี้คือ รัฐมนตรีที่ไม่ยอมลงนามในพระราชกฤษฎีกา เพื่อนร่วมตายคนอื่นๆ และบรรดาผู้เป็นศิษย์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ร่วมในการปฏิวัติ ปฏิกิริยาจากบุคคลเหล่านี้ได้ทำให้พระยามโนฯ มองเห็นภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและพวกเหมือนกัน แม้เขาเหล่านั้นจะไม่มีกำลังอาวุธ แต่เขาก็พร้อมที่จะตายเพื่ออุดมคติของเขา

พระยามโนฯ ต้องออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง เพื่อเอาใจบุคคลที่พร้อมที่จะตายในการต่อสู้ตามอุดมคตินี้ว่า

 

“รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแถลงให้ทราบทั่วกันว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเคยอยู่ใน คณะรัฐมนตรีชุดก่อน แต่มิได้อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็เพราะว่าความเห็น และวิธีการในทางเศรษฐกิจไม่ถูกกับฝ่ายรัฐมนตรีชุดนี้ ในส่วนตัวหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายและในทางรัฐประศาสน์นับว่าเป็นอย่างดียิ่ง และได้เคยใช้วิชาทั้งสองนี้ให้ประโยชน์แก่ราชการมามาก”

 

แต่คำแถลงนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ผลตามความตั้งใจของพระยามโนฯ และในที่สุดพระยามโนฯ ก็หันเข้าใช้อำนาจเด็ดขาด ใช้กำลังเรียกบุคคลเหล่านั้นไปและบังคับให้เขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ก่อความยุ่งยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ดูจะยังไม่สมหวังอยู่นั้นเอง เพราะบุคคลเหล่านี้ พร้อมที่จะตายเพื่ออุดมคติของตนมากกว่าที่จะยอมและกลัวการขู่ของพระมโนฯ

ดร.ปรีดี พนมยงค์ มองเห็นเหตุการณ์มืดมนอลเวงเช่นนี้ ประกอบกับความเบื่อหน่ายและผิดหวังซึ่งได้ปรากฏมาก่อนแล้ว ทั้งเห็นว่าถ้าตนยังอยู่ในประเทศไทยต่อไป เป็นการแน่ว่าจะต้องมีการต่อสู้กันขึ้น และจะเป็นการต่อสู้ของเพื่อนร่วมตายที่มีกำลังน้อยกับฝ่ายที่มีกำลังมากก็ตาม ก็ต้องมีการต่อสู้กันอย่างแน่นอน แล้วความไม่สงบก็จะเกิดขึ้น ซึ่ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ไม่มีความปรารถนาเช่นนั้น แต่ต้องการให้มีความสงบ และความเรียบร้อยนี้เป็นสิ่งซึ่งฝังลึกอยู่ในจิตต์ใจของท่าน

หลังจากที่ได้สนทนากับหลวงพิบูลสงครามถึงเรื่องสถานะการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อหาทางออกในอันที่จะให้ได้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา ทำความหวังให้เกิดแก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ประการหนึ่งคือพระยามโนฯ ทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่ชัด ไม่เปิดสภาและใช้รัฐธรรมนูญต่อไปแล้ว หลวงพิบูลฯ นี่แหละจะต้องทำให้ระบอบประชาธิปไตยคืนมา

แต่ในระหว่างที่รอเหตุการณ์ต่อไปนั้น ดร.ปรีดีฯ เห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะอยู่ในประเทศไทย ความรู้สึกอันนี้ได้ปรากฏชัดขึ้นเมื่อได้พบกับพระยาราชวังสัน ตามคำแนะนำของหลวงพิบูลฯ คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจออกไปอยู่ในต่างประเทศ เป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปแล้วแต่สถานะการณ์ เพื่อนที่ยังยึดมั่นอยู่ในอุดมคติ จะคิดกันต่อไปอย่างไร ศัตรูทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะคิดอย่างไร และในขั้นนี้คงไม่มีอื่นไกล นอกจากว่า “ไปเสียให้พ้น ไป และไม่ต้องการกลับมาอีก”

สำหรับพระยาพหลนั้น ท่านเป็นผู้ที่รักความสงบเช่นเดียวกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่เห็นแก่ชาติ และยังมีความรักมั่นอยู่ใน ดร.ปรีดี พนมยงค์ อย่างแท้จริง เมื่อผู้แทนหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เรียนถามท่านถึงการที่มีข่าวเล่าลือว่า รัฐบาลพระยามโนฯ จะเนรเทศ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้น ท่านได้ตอบว่า

 

“เรื่องหลวงประดิษฐ์ฯ จะไปนอกนั้น ได้พูดจากันจริง แต่มิใช่เป็นการขับไล่หรือเนรเทศ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ ตัดสินใจเอาเอง รัฐบาลจะจ่ายค่าเดินทางและค่ากินอยู่ให้หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นบำเหน็จแก่หลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งรัฐบาลถือว่าประเทศสยามเป็นหนี้บุญคุณเขาอยู่มาก เวลานี้หลวงประดิษฐ์ฯ กำลังขอรับความเห็นจากบิดาซึ่งมีอายุมากแล้ว ในส่วนตัวผมเห็นว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ควรไปอยู่เมืองนอกเสียชั่วคราว เพื่อให้ห่างไกลจากวงการเมืองของสยาม ซึ่งในเวลานี้หลวงประดิษฐ์ฯ ยังไม่มีโอกาสเกี่ยวข้อง อยู่ที่นั่นหลวงประดิษฐ์ฯ จะได้รับการศึกษาเพิ่มเติม จะได้มองเห็นวิถีทางที่จะดำเนินการเมืองกว้างขวางลึกซึ้งออกไป เมื่อกลับเข้ามาประเทศสยามอีกครั้งหนึ่ง หลวงประดิษฐ์ฯ อาจเข้ารับราชการเป็นกำลังของประเทศสืบไปภายหน้า”

 

หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับได้พาดหัวใหญ่ด้วยข่าวเกี่ยวกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 11 เมษายน ได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกของประชาราษฎรเป็นอย่างดี

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปอยู่ฝรั่งเศสด้วยความจำเป็นอันเป็นกฎสูงสุดของมนุษย์”

แต่ในที่นี้เราจะพูดเฉพาะข่าวลือในตัวหลวงประดิษฐ์ฯ เท่านั้น ท่านทั้งหลายยังคงฝังความจำแห่งการกระทำของหลวงประดิษฐ์ฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ศกก่อนได้เป็นอย่างดีนั้น ให้เป็นการแจ่มแจ้งเสียสักที เพื่อจะได้หายสงสัย และตั้งหน้าประกอบการงานอย่างอื่นต่อไป

ก่อนอื่นเราคงจะรู้สึกอยู่เสมอว่า คณะรัฐบาลเวลานี้ก็คือคณะราษฎรนั้นเอง หาได้เปลี่ยนแปลงไม่ แต่เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ก็เป็นหัวแรงผู้หนึ่งในคณะราษฎร ซึ่งมีความคิดในตอนที่จะวางโครงการณ์เศรษฐกิจของชาติแยกกัน ฉะนี้แล้วจึงจำเป็นอยู่เองที่จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายข้างมากดำเนินงานตามความคิดอีกแง่หนึ่ง และระหว่างที่แยกไปแล้วก็มีทางดีอยู่ทางเดียว คือไปเสียให้ห่างจากกันด้วยความละมุนละม่อม ทางรัฐบาลก็ชอบด้วย และความดีของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็มีเป็นตราจารึกอยู่ในชาติไว้แล้วไม่น้อย

รัฐบาลจึงยินดีสละค่าเลี้ยงชีพและค่าใช้สอยทุกอย่างปีละ 1000 ปอนด์ (ราว 1 หมื่น 1 พันบาท) แง่นี้เองจะเป็นครูสอนให้ประชาชนมองเห็นรูปการปกครองประชาธิปไตยว่า การแพ้ชะนะกันด้วยความคิด ไม่ใช่การผูกพยาบาทอาฆาตอย่างใดเลย คงเป็นความปรองดองกันด้วยดีเสมอ ทำนองทนายความว่าความในศาลอย่างหน้าดำหน้าแดง พอออกจากศาลแล้วก็ขึ้นรถยนต์คันเดียวกันกลับสำนักงานของตนๆ ด้วยกันได้

ชั้นเดิมหลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะไปญี่ปุ่น แต่ทางฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไปฝรั่งเศสสมควรกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ จึงยอมไปฝรั่งเศส เวลานี้ได้เตรียมการเดินทางไว้พร้อมมูลภรรยาของท่านก็ไปด้วย แต่บุตรสองคนน้อยๆ ยังไม่นำไปเพราะเกรงจะลำบาก ต่อเมื่อได้ไปอยู่ที่ไหนแน่นอนแล้วจึงค่อยรับไปภายหลัง ท่านตั้งใจจะไปอยู่นอกปารีส เพราะไม่ชอบความเริงรมย์อย่างปัจจุบัน ชอบแต่จะดูหนังสือตำหรับตำราเท่านั้น

เราจึงไม่ต้องสงสัยว่า ผู้ที่มีหัวใจรักชาติแน่วแน่เช่นนี้ คงจะศึกษาความเป็นไปของประเทศเพิ่มเติมตามสมัยเพื่อประโยชน์ต่อชาติภูมิเสมอ การไปของหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นการไปเงียบๆ ในนามเดิม กำหนดจะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือโกล่า จากท่า บี. ไอ. ในวันที่ 12 เดือนนี้

โอกาสนี้เราและประชาชนขอส่งน้ำใจให้หลวงประดิษฐ์ฯ และภรรยาจงมีความสวัสดิภาพตลอดทาง และตลอดเวลาที่อยู่ในต่างประเทศนั้นด้วย

และในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ ได้พิมพ์คำกล่าวลาของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่า

 

“ในการนี้ข้าพเจ้าต้องไปต่างประเทศครั้งนี้ ไม่มีโอกาสที่จะลามิตรสหายได้ทั่วถึงกัน ขอให้หนังสือพิมพ์นี้ช่วยบอกลาต่อๆ ไปด้วย กับขอขอบคุณท่านที่มีหนังสือมาแสดงไมตรีจิตต์

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”

 

ท่านได้อ่านหนังสือพิมพ์เมื่อ 17 ปีมาแล้วตามที่ปรากฏข้างต้นนี้ แม้ข้อเท็จจริงอันเป็นเบื้องหลัง อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจะไม่ปรากฏในข้อความนั้นก็ตาม ท่านผู้อ่านก็ได้ทราบมาเล้วในตอนต้น ศรีกรุงยุคนั้นได้ทำหน้าที่แทนประชาชนเป็นอย่างดี

ก่อนถึงวันกำหนดเดินทางกระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับตัว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ฉบับหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษซึ่งคำแปลมีดังนี้

 

รัฐบาลสยาม
รับรองตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่อรัฐบาลทั่วโลก

รัฐบาลขอรับรองว่า

ผู้ถือเอกสารนี้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม สัญชาติไทย เดิมเป็นข้าราชการของรัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บัดนี้เดินทางไปต่างประเทศ ในฐานะพลเมืองสามัญผู้หนึ่ง เพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ขอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับความเอื้อเฟื้อและความสะดวกทุกอย่างตามอัธยาศัย จะขอบคุณ

(ลงนาม ) พระยาศรีวิสารวาจา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กรุงเทพฯ 10 เมษายน 2476

 

แล้ววันที่นักการเมืองอันเป็นสมองของคณะปฏิวัตินักการเมืองผู้ยึดมั่นอยู่ในอุดมคติต้องจากบ้านเกิดเมืองมารดร ก็มาถึงที่ท่าเรือบีไอ วันที่ 12 เมษายน

 

พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์จูบลากันคนส่งนับพันใจหายถึงกับร้องไห้

รัฐมนตรีเป็นอันมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ พลเรือน พ่อค้า คหบดี นักเรียน ลูกเสือไทย ลูกเสือแขก พระภิกษุสามเณรไทย นักบวชฝรั่ง ประชาชนทุกชั้นทุกภาษา ทั้งหญิงชายผู้ใหญ่และเด็ก ประมาณ 2,000 คน ไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ด้วยน้ำตาอันไหลพรากไปตามๆ กันเป็นส่วนมาก เสียงไชโยก้องกังสดานนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกลาเคลื่อนออกลับตาไป

การส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกจากกรุงเทพฯ ไปประเทศฝรั่งเศส ณ วันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2476 นั้นเป็นประวัติการแห่งการส่งได้ครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ได้มีการส่งอำลาซึ่งกันและกันมา การส่งกันเขาย่อมว่าถึงหากจะมีการร้องไห้ก็เฉพาะในวงศาคณาญาติและมิตรที่รักสนิทสนมกันเท่านั้น แต่การส่งคราวนี้ มองดูหน้าใครๆ เกือบเห็นน้ำตาไหลหรือหล่อหน่วยหรือดวงตาแดงก่ำไปเกือบทุกคน บางคนถึงกับสอึกสอื้นฟูมฟายก็มี แม้พระยาพหลฯ ผู้เป็นประธานในที่นั้นและตัวหลวงประดิษฐ์ฯ เอง ก็กล้ำกลืนน้ำตาไว้ไม่อยู่ ผู้ที่ไปกับหลวงประดิษฐ์ฯ คือนางประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ภรรยากับมีผู้ไปส่งถึงสิงคโปร์สามคนคือ หลวงทัศนัยนิยมศึก ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ และนายจรูญ สืบแสง

ถนนเจริญกรุงตอนท่า บี ไอ ตั้งแต่เวลา 15 น. มีรถยนต์จอดสองข้างถนนยาวยืด และบางแห่งถึงกับจอดซ้อนกันแทบจะกั้นถนนมิให้เป็นทางสาธารณะ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยที่จอดรถยนต์ในบริเวณท่าเรือนั้นยัดเยียดไปด้วยรถยนต์และมหาชนที่ไปส่ง ทั้งประตูท่าเรือได้ปิดเสียครู่หนึ่ง โดยกลัวคนจะเข้าไปยุ่มยามทำความไม่เรียบร้อย จึงเกิดรอกันอย่างแออัด ครั้นเมื่อผู้ใหญ่ขอให้เปิดประตูได้แล้ว ก็พากันไหลหลั่งประดุจน้ำไหลเข้าไปที่สพานชานชลาท่าเรือ

ทันใดนั้น พระยาพหลฯ พร้อมด้วยคุณหญิงตรงเข้าไปส่งกระเช้าผลไม้ให้นางประดิษฐ์มนูธรรม และพระยาพหลฯ ได้สวมพวงมาลัยอันร้อยกรองอย่างวิจิตรให้แก่หลวงประดิษฐ์ฯ แล้วทั้งสองก็จูบลากันกลมไปก็กลมมาราว 5 วินาที เสียงไชโยก็ระเบิดออกมาอย่างสนั่นก้อง เสียงร้องไห้ของสตรีเข้าแทรกแทรงประดุจฆ้องไชย เสียงสอึกสอื้นของหลายคนประดุจดนตรีบรรเลงพร้อมกันนั้นต่างชูหมวกและผ้าเช็ดหน้ากวัดแกว่งประดุจธงสบัด กล้องถ่ายรูปรอบข้างได้กระทำหน้าที่กันจ้าละหวั่น ครั้นแล้วพวกก่อการเปลี่ยนเปลงการปกครอง ซึ่งร่วมตายมากับหลวงประดิษฐ์ฯ ทั้งทหารบก ทหารเรือและพลเรือนก็เข้ากอดจูบ และจับมือบีบด้วยความอาลัย ทั้งๆ ที่มีน้ำตาบ้าง ไม่มีบ้าง

ต่อนี้ไปหลวงประดิษฐ์ฯ ก็เดินขึ้นสพานเรือจับมือสำแดงความอาลัยกับผู้ไปส่งตลอดทาง เสียงไชโยไม่ขาดสายจนกระทั่งเข้าไปห้องอาหาร ซึ่งมิตรสหายได้จัดของว่างไว้รับ ตอนนี้ก็ได้จับมือกันพักใหญ่อีก บางคนได้สวมกอดจูบกับหลวงประดิษฐ์ฯ เช่น หลวงวิจิตรวาทการ พระสารสาสน์ประพันธ์ เป็นอาทิ บางคนขอจูบมือด้วยความศรัทธา เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบลามารดาของท่านอีก แล้วก็ออกจากห้องอาหารขึ้นไปบนห้องโถงบนเรือได้มีโอกาศจูบลากันกับคณะราษฎรผู้ก่อการทั่วหน้า และพอพระยาพหลฯ ตามขึ้นไปจูบสั่งลาเป็นครั้งสุดท้าย ก็พอดีอาณัติสัญณาณเรือออก

ต่อไปนี้มหาชนก็ยืนรอกันที่สะพานชานชลา เพื่อรอส่งเวลาเรือกลับลำแล่นผ่านท่าอีกครั้ง เวลา 16.30 น. เศษ เรือโกล่าก็แล่นผ่านท่าเรือ บี ไอ หลวงประดิษฐ์ฯ และคณะที่ไปก็แกว่งโบกด้วยผ้าเช็ดหน้า พูดขอลาก่อน ฝ่ายผู้ส่งก็โบกตอบและเปล่งเสียงไชโยกึกก้อง จนกระทั่งเรือลับตาหายไป

พระยาพหลฯ ได้สนทนาปราสัยแก่บรรดาผู้ที่ไปส่งตามสมควร ท่านหวังเสมอว่าความสงบจะได้อยู่เป็นมิ่งขวัญของชาติสืบไป

คณะรัฐมนตรีที่ไปส่งในวาระนั้นเท่าที่จำได้คือ พระยาพหลฯ, พระยาฤทธิอัคเนย์, พระยามานนวราชเสวี, พระประศาสน์พิทยายุทธ, หลวงศุภชลาศัย ส่วนผู้ใหญ่ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็คือ พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภา นอกจากนี้ยังมีกองลูกเสือโรงเรียนอัสศลพียะวิทยาลัย ตำบลบางคอแหลมได้ไปตั้งแถวส่งตลอดเวลา มีเสียงกล่าวคล้ายๆ กันว่า ทั้งนี้ประหนึ่งส่งมหาตมะคานธีออกจากประเทศอินเดียทีเดียว

โอกาสนี้เราและประชาชนขอส่งความสวัสดีมีชัย แด่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและภรรยากับคณะอีกครั้งหนึ่งด้วยไชโยสามครั้ง

ข้อความที่กล่าวเกี่ยวกับการส่ง ดร.ปรีดี พนมยงค์ที่ท่าเรือบี ไอ ในวันที่ 12 เมษายน ข้างต้นนี้เป็นข้อความที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ศรีกรุงฉบับวันต่อมา เหตุการณ์ในวันนั้น และการแสดงออกของประชาชนหรือหนังสือพิมพ์ทั่วๆ ไป ย่อมเป็นพยานได้แล้วว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้รับความนิยมนับถือจากประชาชนเพียงไร บุคคลที่ไปส่งในวันนั้นต่างก็ได้ไปด้วยความรู้สึกรัก มิใช่รักในตัว ดร.ปรีดี พนมยงค์ แต่อย่างเดียว แต่เพราะเขารักความยุตติธรรม และชิงชังต่อความอยุตติธรรมที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้รับ เขาเหล่านั้นได้ไปส่ง ได้แสดงความอาลัยอาวรณ์ด้วยความรู้สึกอันจริงใจของเขา ไม่มีใครชักชวนหรือบังคับให้เขาไปส่งแม้แต่สักคนเดียว นี่หรือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่ชาติไม่ต้องการ

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์, ลาก่อนสยาม, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ, (ม.ป.พ.: สิริธรรมนคร, 2493), หน้า 271 – 283.

หมายเหตุ :

  • คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ