ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

หากประเทศไทยไม่เคยมีการนำเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ: ว่าด้วยฉากทัศน์และจินตนาการสังคม

29
สิงหาคม
2567

Focus

  • ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี มีมุมมองว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นปฐมบทของการก่อร่างสร้างตนของ “รัฐสวัสดิการ” ในประเทศไทยโดยเสนอสมมติฐานไว้ 3 ข้อ
  • ในประเด็นเหตุชนวนความขัดแย้งกับฝ่ายอนุรักษนิยม ผู้เขียนมองว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งดังกล่าวกับฝ่ายอนุรักษนิยม
  • แม้ว่านายปรีดีไม่ได้นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตามพลวัตทางการเมืองในอนาคตก่อเกิดแนวคิดการพัฒนา “รัฐสวัสดิการ” ขึ้น

 

ในวาระ 92 ปี การอภิวัฒน์สยามปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีการถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งถือเป็นปกติของทุกปี ข้อถกเถียงเรื่อง 2475 ผันแปรไปตามยุคสมัยและกระแสทางการเมืองของช่วงปีต่าง ๆ เช่นหากเป็นช่วงที่คลื่นกระแสฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นสูง การตีความ 2475 ก็เป็นไปในสภาพของการสนับสนุน เช่นเดียวกันในช่วงที่กระแสอนุรักษนิยมขึ้นสูงก็ทำให้การตีความต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ออกมาในทางโจมตีหรือด้อยค่าเป็นแบบนี้มาหลายทศวรรษ กล่าวคือเรื่องราว 2475 ห่างไกลจากตัวเนื้อหาหรือเหตุการณ์ แต่เป็นการให้ความหมายของคนปัจจุบันตามแต่ละช่วงเวลาเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เรามิควรละทิ้งการวิเคราะห์รายละเอียดสำคัญของเหตุการณ์ 2475 ถึงการวิเคราะห์สถานการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นโดยผู้เขียนอยากชวนวิเคราะห์ถึงการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ในช่วงเบื้องแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งนับเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงจากทั้งนักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือทั้งนักรัฐศาสตร์ต่อฉากทัศน์ของการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยผู้เขียนขอสรุปประเด็นดังนี้

สมมติฐานที่ 1 หากไม่เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว ความขัดแย้งทางการเมืองคงไม่พุ่งสูงขึ้นและคณะราษฎรอาจสามารถเจรจากับฝ่ายอนุรักษนิยมจนสำเร็จ หรือเกิดการเปลี่ยนผ่านให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในกระบวนการประชาธิปไตย และอาจสามารถเลี่ยงรัฐประหารเบื้องแรกได้

 


เค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลือง โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

คำถามสำคัญคือเป็นฉากทัศน์ที่เป็นไปได้และสมจริงเพียงใด เพราะหากพิจารณาแล้ว เราจะพบว่า ความขัดแย้งของคณะราษฎรกับฝั่งอนุรักษนิยม มีมาก่อนหน้าแล้ว ดังนั้น สำหรับผู้เขียน การนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจจึงไม่ได้เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้ง หรือทำให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นอันนำสู่การรัฐประหารครั้งแรก และทำให้คณะราษฎรต้องประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษนิยมมากขึ้นแต่อย่างใด

สมมติฐานที่ 2 หาก ‘ปรีดี พนมยงค์’ ไม่นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ก็จะไม่ถูกทำรัฐประหาร เช่นนั้นหมายความว่าปรีดี พนมยงค์ก็จะมีโอกาสวางรากฐานการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องยาวนานและอาจทำให้แนวคิดประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้ดีกว่าการที่ต้องถูกจำกัดอำนาจทางการเมือง อันเป็นการเสียโอกาสการผลักดันประเด็นด้านรัฐสวัสดิการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งซึ่งหากเค้าโครงการเศรษฐกิจค่อย ๆ ผลักดันคงเป็นประโยชน์ต่อประเด็นนี้ในระยะยาว การกล่าวเช่นนี้ก็อาจถือเป็นเพียงการพิจารณาหลังเหตุการณ์ทุกอย่างจบไปแล้ว ประการแรกการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการถือเป็นประเด็นระยะยาว อันไม่สามารถหวังผลการเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงระยะสั้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีซึ่งดีกว่าการรอระยะเวลาและขาดการสนับสนุนลงไปเรื่อย ๆ

 

 

ดังนั้น สำหรับผู้เขียนการตัดสินใจผลักดันประเด็นนี้ในขวบปีแรกของปรีดี พนมยงค์ จึงนับเป็นความถูกต้องทางการเมืองที่สำคัญ เพราะอย่าลืมว่า แนวคิดประชาธิปไตยหลายประเด็นที่มีความซับซ้อนยากที่จะทำความเข้าใจในชั่วระยะเวลาที่จำกัดดังนั้น การพยายามนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจภายใต้อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย อันนำสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญจึงเป็นหัวใจสำคัญในการบอกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นนั้น “มีความสำคัญอย่างไรในระดับชีวิตประจำวัน” แน่นอนที่สุดเงื่อนไขเวลาทางการเมืองรอไม่ได้ แต่การผลักดันสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เป็นสิ่งที่เกินปัจเจกชน 1 คนจะสามารถควบคุมได้

สมมติฐานที่ 3 ถึงแม้ปรีดี พนมยงค์ หรือคณะราษฎรจะไม่ผลักดันประเด็นในเค้าโครงการเศรษฐกิจสุดท้ายเงื่อนไขนี้ก็จะถูกพูดถึงในอนาคตอยู่ดี

ดังจะเห็นได้ว่าหลากหลายนโยบายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์ การกล่าวเช่นนี้ถือเป็นการมองพัฒนาการของประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมในลักษณะคับแคบเพราะพัฒนาการทางสังคมล้วนมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปรัฐสวัสดิการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ แต่ก็วางรากฐานความคิดสำคัญว่าด้วยการปฏิรูปทางสังคม การสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอันเป็นจุดที่ทำให้ในช่วงเวลาต่อมานำสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งโดยตรงโดยอ้อม การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องประกันสังคม สวัสดิการ และการคุ้มครองแรงงานไล่มา

จนกระทั่ง การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็มีความเกี่ยวพันกับข้อเสนอปฏิรูปความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา ดังนี้ ก็น่าคิดในทางกลับกันว่าหากไม่เคยมีหมุดหมายในเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือปรีดี พนมยงค์ เลือกที่จะลดทอนข้อเสนอของตัวเองตั้งแต่แรก แรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อมาอีกหลายทศวรรษย่อมอาจถูกลดทอนลงไปด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาในลักษณะนี้แล้วจึงจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่แม้อาจจะไม่สำเร็จในตัวเองในยุคสมัยนั้น แต่ก็ได้ส่งต่อและสร้างการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายทศวรรษถัดมา กระทั่งกระแสการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในปี 2563-2564 ก็ยังมีการพูดถึงข้อเสนอเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หากผู้เขียนจะสรุปคำถามสำคัญว่าหากเรามีไทม์แมชชีน ย้อนกลับย้อนเวลาไปได้ เราจะบอกอะไรแก่ปรีดี พนมยงค์ ในขวบปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งที่ผมคงทำน่าจะไม่ต่างไปนัก ก็คือบอกแก่ปรีดี พนมยงค์ว่า สิ่งที่ท่านได้ริเริ่มแล้วทำ แม้จะมีอุปสรรค และส่งผลกระทบต่อตัวท่านและครอบครัว อย่างไรก็แล้วแต่มันได้สร้างแรงบันดาลใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอีกยุคสมัยต่อมา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการ ไม่มีสิ่งใดที่ต้องแก้ไขจากอดีตแม้แต่น้อย ประวัติศาสตร์และความสำเร็จในเรื่องนี้เป็นหนี้บุญคุณทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการต่อสู้และลงหลักปักฐานทางความคิดของคนรุ่นก่อนหน้า

 

ภาคผนวก

ปฐมบทของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มากกว่าเพียงแค่ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่พูดถึงความเท่าเทียมในทางเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ปฐมบทของการต่อสู้ครั้งนี้เริ่มต้นที่ปี พ.ศ.2475 “เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์” และ “พระราชบัญญัติการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” พระราชบัญญัตินี้ได้นำเสนอสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุด แม้จะใช้มาตรวัดของสังคมไทยหรือสังคมโลกในปัจจุบัน

ข้อเสนอที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ นั้น ถ้าวัดตามมาตรฐานปัจจุบันแล้ว เราเรียกว่า “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ผนวกรวมด้วยเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า การทำให้ทุกคนมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต การวางนโยบายที่ง่ายและตรงจุดที่สุด การที่จะทำให้ผู้คนในประเทศนี้คงอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็จะทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิต

 

 

เรื่องที่น่าเสียดายที่สำคัญก็คือ พระราชบัญญัติตัวนี้ไม่เคยถูกประกาศใช้ นโยบายเศรษฐกิจที่นำเสนอในปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้ถูกนำมาใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการโต้แย้งของฝั่งอนุรักษนิยม ทั้งในคณะราษฎรเอง และฝั่งอนุรักษนิยมจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิมเอง พยายามโต้แย้งว่า “ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ ประเทศไทยแม้จะไม่ได้มั่งคั่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เดือดร้อนยากจน”

ในเอกสารโต้แย้งของรัชกาลที่ 7 ต่อ ปรีดี พนมยงค์ มีคำพูดหนึ่งที่น่าคิดและกลายเป็นข้ออ้างที่ยังคงปรากฏอยู่ในเมืองไทย แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 90 ปีก็ดี ข้ออ้างกับคำอธิบายนี้คือบอกว่า

ประการแรก ที่สำคัญ ประเทศไทยยังไม่พร้อมกับเรื่องนี้
ประการที่ 2 เรื่องเหล่านี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย

โดยอ้างว่าปรีดี พนมยงค์ ชอบใช้คำว่า “อดตาย” แต่รัชกาลที่ 7 ก็พยายามที่จะอธิบายว่า “ประเทศไทยไม่มีคนอดตาย แม้แต่สุนัขจรจัดที่ไม่มีข้าวกิน หากเดินเข้าไปในวัด เดินเข้าไปหาพระ พระยังหาอาหารให้กินได้ ประเทศเรา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่มีใครที่จะสามารถอดตายได้ เว้นแต่คนที่ไม่สามารถ  อ้าปากกินข้าวได้เท่านั้นเอง”

“เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของปรีดีนี้ นำไปสู่ความขัดแย้งฉากแรกระหว่าง “คณะราษฎร” กับ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” และความพยายามในการที่จะลดบทบาทของปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างมาก

ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เรียบง่ายแต่ชัดเจน การจัดรัฐสวัสดิการและเงินเดือนพื้นฐานให้คนไทยทุกคน เริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาทต่อเดือน คิดเป็นมาตรฐานของค่าครองชีพปัจจุบันแล้วประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน สิ่งเหล่านี้ภาคประชาชนกำลังพูดถึง “เรื่องบำนาญ” กำลังพูดถึง “เรื่องเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า” พูดกันมา 80 - 90 ปี นี่คือสิ่งที่ถูกนำเสนอในรอบแรกของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ผ่านมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองราว 15 ปี เมื่อปรีดี พนมยงค์ มีโอกาสในการที่จะเป็นรัฐบาลและผลักดันประเด็นทางการเมือง การต่อสู้ของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย การต่อสู้ของนักการเมืองที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ถูกขานรับอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสากลโลก อังกฤษก็ดี เยอรมนี หรือแม้กระทั่งฝรั่งเศส รวมถึงกลุ่มประเทศนอร์ดิก สแกนดิเนเวีย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศบอบช้ำในสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการสถาปนารัฐสวัสดิการ และการปกครองตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเปลี่ยนประเทศและสร้างความเสมอภาค ธำรงซึ่งประชาธิปไตยอย่างยาวนาน

สำหรับประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือ นักการเมืองสายปรีดี พนมยงค์ หลายท่านที่ต้องถูกให้จบชีวิตด้วยการพยายามผลักดันประเด็นที่ก้าวหน้า อย่างเช่น คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ การพยายามนำเสนอพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายในสภาวะคับขัน พระราชบัญญัติตัวนี้มีนัยยะก็คือการลดอำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลให้ ควง อภัยวงศ์ ต้องทำการลาออก เป็นที่มาของการตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการปูทางสู่การทำรัฐประหารในเวลาต่อมา

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในปี พ.ศ. 2489 ประเทศไทยมี “รัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด” และเชื่อกันว่าน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่นำสู่การวางรากฐานรัฐสวัสดิการ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นภายใต้การพยายามผลักดันและการร่างของปรีดี พนมยงค์ ในมาตรา 12 ได้เขียนไว้ว่า

“บุคคลทุกคนมีฐานะเสมอภาคกันตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีฐานันดรโดยกำเนิดก็ดีหรือฐานันดรสถานะทางเศรษฐกิจที่ได้มาแต่หนหลังก็ดี ไม่ทำให้บุคคลนั้นมีเอกสิทธิ์เหนือผู้ใดเลย” นั่นคือจิตวิญญาณของรัฐสวัสดิการที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489

แต่น่าเสียดาย อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าความพยายามของปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มการเมืองที่ก้าวหน้าได้ถูกใช้ข้อกล่าวหาอันไม่เป็นธรรม นั่นก็คือเหตุการณ์การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ที่ถูกใช้มาเป็นข้ออ้างในการทำลายความก้าวหน้าของกระบวนการการต่อสู้ ซึ่งเราเชื่อกันว่าในห้วงเวลานั้นน่าจะเป็นโอกาสที่สำคัญในการผลักดันรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้น และแน่นอนที่สุด เมื่อเกิดการรัฐประหารจึงมีการกวาดล้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งซีกของนายปรีดี พนมยงค์ อาทิเช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่ถูกปลิดชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

 

เอกสารอ้างอิง:

  • ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. “รัฐสวัสดิการเพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” (กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2564), น. 11-14.