Focus
- “ซำซุดดิน มุสตาฟา” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “แช่ม พรหมยงค์” เพื่อความง่ายในการเรียกชื่อ และความชอบพอต่อท่านปรีดี พนมยงค์ ลุงแช่มเป็นสมาชิกคณะราษฎร (ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายการโฆษณา) และเสรีไทยคนสำคัญที่เป็นคนมุสลิม ในเวลาต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “จุฬาราชมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย (คนที่ 10 ของกรุงรัตนโกสินทร์)”
- แช่ม พรหมยงค์ เมื่อายุได้ 19 “ได้ไปถึงประเทศตุรกี ซึ่งขณะนั้นการเมืองยังคุกรุ่นด้วยกลุ่มนักปฏิวัติหนุ่มประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า “ยังเติร์ก Young Turk” กับระบอบสุลต่านอันจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายแรกภายใต้การนำของ “มุสตาฟา เคมัล (พ.ศ. 2424-2481)” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2466 (อะตาเติร์ก) “ในช่วงหนึ่งของระยะเวลาดังกล่าวนั้น ลุงแช่มได้อยู่ในเหตุการณ์และรู้สึกประทับใจมากที่ประชาชนตุรกีสามารถเลิกล้มระบอบสุลต่านที่สืบทอดมาเป็นเวลาอันยาวนานได้สำเร็จ โดยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเข้าแทนที่” ความประทับใจถึงขั้นนำชื่อผู้นำขบวนการมาตั้งชื่อเป็นลูกชายคนหัวปี”

แช่ม พรหมยงค์
“เมื่อเสร็จการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนาคมปีนั้น (พ.ศ. 2470) แล้วเพื่อนที่อยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะราษฎรต่อไปอีกประมาณ 2-3 เดือน เพื่อนที่ยังอยู่ปารีสได้ชวนนายทวี บุณยเกตุ นักศึกษาวิชาการเกษตร และ นายบรรจง ศรีจรูญ ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีส ซึ่งรับภาระจัดตั้งไทยมุสลิมต่อไป อาทิ นายแช่ม มุสตาฟา (บุตรหัวหน้าศาสนาอิสลามในไทยที่รู้จักในนามว่า ครูฟา ต่อมานายแช่ม เปลี่ยนนามสกุลว่า “พรหมยงค์” คล้ายนามสกุลข้าพเจ้า)”[1]
ปรีดี พนมยงค์
ตลอดประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ชาวมุสลิมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติตลอดมา ดังเช่น สายสกุลของ "เฉกอะหมัด" และ "สุลัยมาน" หรือแม้แต่ตระกูล "บุนนาค" ที่ต่อมาเปลี่ยนมาสมาทานพระพุทธศาสนา ครั้นถึงสมัยธนบุรี เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ได้ร่วมกอบกู้บ้านเมืองกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ก็เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 เนื่องจากเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 จุฬาราชมนตรี (สิน) ก็เป็นที่เคารพนับถือถึงขนาดทรงให้แพทย์หลวงถวายการรักษา และเมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีฝังศพด้วยพระองค์เอง
ครั้นผลัดเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแล้ว ชาวไทยมุสลิมยังคงบทบาทสำคัญในการสถาปนารัฐธรรมนูญและส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างศาสนา ดังปรากฏชาวมุสลิมจำนวน 4 ท่านเข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ “แช่ม พรหมยงค์”[2] และสมาชิกจากตระกูล "ศรีจรูญ" อีกสามท่าน ได้แก่ บรรจง, ประเสริฐ และ การุณ ศรีจรูญ[3]จำเพาะท่านแรก ได้รับเกียรติสูงสุดให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีของประเทศไทยคนแรกผู้นับถือนิกายซุนนี
บทความนี้จึงขออุทิศรำลึกแด่คุณูปการของมุสลิมีนท่านสำคัญนี้ในวาระชาตกาล 124 ปี พ.ศ. 2568 นี้
ชีวประวัติ แช่ม พรหมยงค์

นายแช่ม พรหมยงค์
บรรพบุรุษของ “ลุงแช่ม” ตามคำบอกเล่ากันว่าถูกกวาดต้อนมาจากรัฐปัตตานี ในฐานะเชลยสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1[4] แช่ม พรหมยงค์ มีชื่อและนามสกุลเดิมว่า ซำซุดดิน มุสตาฟา เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ที่พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บิดาคือ นายจำปา หรือ มุสตาฟา ที่รู้จักกันในท้องที่ว่า “ครูฟา” เป็นครูสอนศาสนาแห่งมัสยิดพระประแดงและมีอาชีพหลักคือทำไร่ทำสวน มารดาชื่อ นางวัน ที่มาของนามสกุล “พรหมยงค์” ซึ่งออกเสียงคล้ายกับ “พนมยงค์” ของอาจารย์ปรีดี มีที่มาจากคำบอกเล่าของสุพจน์ ด่านตระกูล ว่า
“ปู่ชื่อ อิบราฮิม หรือ อับราฮัม ซึ่งหมายถึง พรหม ย่าชื่อ ตันหยง หรือยง ซึ่งหมายถึงดอกพิกุล จากชื่อของปู่และย่านี้เองที่เป็นที่มาของสกุล พรหมยงค์ ‘แต่เดิมนั้น ยง ไม่มี คอการันต์ แต่เสมียนที่อำเภอใส่ให้ ลุงก็ปล่อยเลยตามเลยก็เลยไปคล้องจองกับสกุล พนมยงค์ ของอาจารย์ (หมายถึงอาจารย์ปรีดีฯ)” ลุงที่สุพจน์อ้างอิงไว้นี้ ก็คือ “ลุงแช่ม” ผู้เล่าเรื่องต้นกำเนิดนามสกุลนี้ให้ฟังด้วยตัวท่านเอง[5]
เด็กชายแช่มเริ่มศึกษาที่โรงเรียนวัดกลาง เขตพระประแดง พอจบระดับประถม บิดาได้ส่งไปเรียนศาสนาที่นครเมกกะ ระหว่างนั้นเดินทางท่องเที่ยวไปในหลายประเทศย่านนั้นเมื่อ พ.ศ. 2464 ขณะอายุเพียง 19 ขวบ ได้ไปถึงประเทศตุรกี ซึ่งขณะนั้นการเมืองยังคุกรุ่นด้วยกลุ่มนักปฏิวัติหนุ่มประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า “ยังเติร์ก Young Turk”[6] กับระบอบสุลต่านอันจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายแรกภายใต้การนำของ “มุสตาฟา เคมัล (พ.ศ. 2424-2481)” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2466 (อะตาเติร์ก) “ในช่วงหนึ่งของระยะเวลาดังกล่าวนั้น ลุงแช่มได้อยู่ในเหตุการณ์และรู้สึกประทับใจมากที่ประชาชนตุรกีสามารถเลิกล้มระบอบสุลต่านที่สืบทอดมาเป็นเวลาอันยาวนานได้สำเร็จ โดยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเข้าแทนที่”[7] ความประทับใจถึงขั้นนำชื่อผู้นำขบวนการมาตั้งชื่อเป็นลูกชายคนหัวปี
หลังจากนั้นไม่นานลุงแช่มได้กลับประเทศสยาม จนเมื่อ พ.ศ. 2469 จึงเดินทางไปศึกษาด้านการศาสนาต่อที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ “โดยมีบรรจง ศรีจรูญ (พ.ศ. 2451-2524) ลูกพ่อค้าร้านขายปืนย่านถนนเจริญกรุงเป็นนักเรียนไคโรร่วมรุ่นคนหนึ่งและสนิทสนมกันมาก”[8] บรรจง ศรีจรูญ ได้รับการชักชวนเข้าร่วมคณะราษฎรขณะที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้พบกับประยูร ภมรมนตรี ที่นั้น ต่อมาเมื่อคณะราษฎรก่อตั้งขึ้นแล้วจึงได้มอบหมายให้ บรรจง ศรีจรูญ เป็นผู้ติดต่อชักชวนคนไทยมุสลิมเข้าร่วมขบวนการ และทันทีที่เขาได้เอ่ยปากชักชวนสหายรัก ลุงแช่มได้ตอบตกลงใจเข้าร่วมด้วยโดยไม่ลังเลเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วแต่ต้น บรรจง ศรีจรูญ ได้ตกลงใจแทนเพื่อนรักโดยเสนอชื่อท่านเข้าร่วมในคณะราษฎรตั้งแต่ที่ ถูกชักชวนเป็นครั้งแรกที่ปารีสแล้ว ด้วยเหตุที่ลุงแช่มเคยเล่าความประทับใจในตุรกีให้ฟังอยู่บ่อย ๆ จน บรรจง ศรีจรูญ อ่านจิตใจลุงออกว่าคิดอย่างไร[9]
แช่ม พรหมยงค์ ได้ถ่ายทอดความประทับใจให้บรรจง ศรีจรูญ ฟังเมื่อครั้งร่วมประสบการณ์โค่นล้มสุลต่านในตุรกี “อะตาเติร์ก” โดยกล่าวว่า “สยามน่าจะมีขบวนการยังเติร์กอย่างตุรกีบ้างนะ”[10] (การปฏิวัติตุรกีครั้งนั้น เล่าขานว่าถูกใช้เป็นหัวกระดาษของประกาศคณะราษฎรที่แจกจ่ายให้ประชาชนเมื่อเช้าวันที่ 24 มิ.ย. 2475)[11]

แช่ม พรหมยงค์
ครั้นเมื่อนายแช่มจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์แล้ว ได้กลับมาเปิดร้านขายกาแฟที่บ้านพระประแดง และรับซื้อทองเก่าและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด ณ มัสยิดพระประแดง เป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลายที่รู้จัก เพราะนอกจากท่านจะเป็นบุตรของครูฟา อันเป็นที่เคารพของคนทั้งหลายแล้ว ท่านยังได้เคยไปเข้าพิธีฮาจย์ (ฮัจญ์) ที่ซาอุดิอาระเบียหลายครั้ง จนได้รับสมญานามว่า ฮัจยีร์อุดดามา หรือฮัจยีร์ใหญ่

4 มุสลิมีนคณะราษฎร (นั่งจากซ้าย) แช่ม พรหมยงค์ บรรจง ศรีจรูญ (ยืนจากซ้าย) ประเสริฐ ศรีจรูญ การุณ ศรีจรูญ และประวัติ ศรีจรูญ พี่ชายคนโต
ที่มา :https://www.silpa-mag.com/history/article_46618
เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

สุพจน์ ด่านตระกูล
ในปี พ.ศ. 2547 สุพจน์ ด่านตระกูล ได้ฉายภาพเรื่องราวปฏิบัติการสำคัญแห่งชีวิตของลุงแช่ม คือเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไว้อย่างละเอียดว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองหนึ่งวัน เมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ลุงแช่มได้รับจดหมายจาก บรรจง ศรีจรูญ ให้คนถือไปให้ที่พระประแดงเขียนเป็นรหัสลับภาษาอาหรับ มีใจความว่า “สินค้าที่สั่งมาถึงแล้ว ให้ไปรับภายในวันนี้”
“จากข้อความในจดหมายดังกล่าว ลุงแช่มก็รู้ได้ทันทีว่าวันสำคัญที่รอคอยมานานสำหรับลุง นับแต่ความประทับใจที่ได้ประสบมาจากตุรกีเมื่อ 10 กว่าปีก่อนได้มาถึงแล้ว ลุงจึงรีบลงเรือจากพระประแดงเดินทางมาพบเจ้าของจดหมาย บรรจง ศรีจรูญ ที่ร้านขายปืน ถนนเจริญกรุงใกล้โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เวลานั้นการเดินจากพระประแดงเข้ากรุงเทพฯ ต้องมาทางเรือ
ที่ร้านปืนศรีจรูญ นอกจากลุงแช่มจะพบกับ บรรจง ศรีจรูญ แล้วยังได้พบกับ ศรีจรูญ พี่น้องของบรรจงอีก 2 คน คือ ประเสริฐ ศรีจรูญ และการิม ศรีจรูญ พวกเขาทั้งหมดได้พักอยู่ที่ร้านปืนศรีจรูญด้วยกัน ในคืนวันนั้น จนเวลานาฬิกาตีบอกว่าวันใหม่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มาถึงแล้ว พวกเขาจึงเตรียมตัวไปยังจุดหมายที่นัดพบ คือพระที่นั่งอนันตสมาคม ความจริงคืนนั้นพวกเขาไม่ได้นอนกันเลย เพราะนอกจากจะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว พวกเขายังได้ร่วมกันทำละหมาด (หรือนมาซในภาษาเขียนที่มาจากคำนมัสการะของอินเดีย แลไทยพุทธมาแผลงเป็นนมัสการ) เป็นการเคารพและขอพรพระเจ้า ตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืนจนล่วงเข้าวันใหม่
เมื่อไปถึงจุดนัดพบตามนัดหมาย พร้อมด้วยปืนลูกซองและกระสุนที่เบิกไปจากร้านปืนของบรรจง ศรีจรูญ นั้นเอง พวกเขาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถวายความอารักขาเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ที่ได้ถูกอัญเชิญไปประทับอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
โดยที่พวกเขาทั้ง 4 เป็นคนแปลกหน้าสำหรับท่านที่ถูกถวายความอารักขา และยังความแปลกใจให้กับท่านเหล่านั้น เพราะหน้าตาของพวกเขาเข้มข้นเป็นพิเศษ รวมทั้งหนวดเคราที่ประดับอยู่บนริมปากและคางของแต่ละคนที่อยู่ในเครื่องแต่งกายพลเรือน จึงได้สร้างความไม่สบายพระทัยแก่เจ้านายบางพระองค์ ถึงกับเรียกร้องให้มีการผลัดเปลี่ยนผู้อารักขาที่เป็นพลเรือนเหล่านั้นมาเป็นทหาร (*ย่อหน้านี้ของสุพจน์น่าพิจารณา หากพินิจจากรูปถ่ายของตระกูลศรีจรูญ จะพบว่าล้วนเป็นสุภาพบุรษหน้าตาหล่อเหลาไร้หนวดเครา-ผู้เขียน)
ลุงแช่มจึงเปลี่ยนหน้าที่ผู้ถวายความอารักขามาเป็นฝ่ายโฆษณา โดยนำแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองไปแจกจ่ายให้ประชาชนย่านต่าง ๆ ในขอบเขตกรุงเทพมหานครได้รับทราบ เพราะเครื่องมือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นก็มีเพียงวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปก็ไม่มีเครื่องรับวิทยุ จึงต้องใช้วิธีการพิมพ์ใบปลิวออกแจกจ่ายเช่นเดียวกับการโฆษณาภาพยนตร์ในเวลานั้น
จากการออกแจกจ่ายใบแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองของลุงแช่ม ทำให้เกิดเหตุใหญ่ขึ้นในเมื่อคนพระประแดงเพื่อนบ้านของลุงแช่มคนหนึ่ง ได้มาพบเห็นลุงแช่มกำลังเดินแจกใบแถลงการณ์อยู่ใกล้ ๆ โรงหนังแห่งหนึ่ง ได้นำความไปบอกเล่ามุสตาฟา ผู้บิดา เท่านั้นแหละ มุสตาฟา ผู้บิดาถึงกับเต้นผาง โดยที่ขณะนั้นท่านยังไม่รู้เลยว่าเป็นใบปลิวอะไร รู้แต่เพียงว่าเป็นใบปลิว ท่านก็คงจะนึกภาพใบปลิวที่แจกกันตามหน้าโรงหนังที่ท่านเคยเห็นมา เพราะข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะนั้นยังไปไม่ถึงท่าน
‘อุตส่าห์ส่งไปเรียนถึงไคโร เพื่อหวังว่าจะกลับมาเป็นโต๊ะครู แต่ที่ไหนได้ กลับไปเดินแจกใบปลิวเสียนี่’ มุสตาฟาผู้เป็นบิดาบ่นและประกาศด้วยความโกรธจัดว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเข้าบ้าน คำบ่นและคำประกาศไม่ให้เข้าบ้านรู้ไปถึงลุงแช่มในเวลาต่อมา บรรจง ศรีจรูญ ผู้ที่ชักนำลุงแช่มเข้าร่วมคณะราษฎรได้รับคำปรารภจากลุงแช่มว่า จะทำอย่างไรดี จึงจะให้พ่อหายโกรธ จึงได้ไปขอความเห็นท่านปรีดี ท่านปรีดีจึงได้ขอร้อง พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นหัวหน้าคณะราษฎร ได้มีจดหมายชี้แจงไปให้มุสตาฟาผู้เป็นบิดาทราบ ซึ่งเจ้าคุณพหลฯ ก็ได้ดำเนินตามนั้น โดยมอบให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสาลิกาลิ้นทอง และหลวงอดุลเดชจรัส เป็นผู้ถือไปพร้อมด้วยหน่วยกำลังจำนวนหนึ่ง
ด้วยความตั้งใจว่าไหน ๆ ก็ออกไปแล้วก็จะได้เอาใบแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ลุงแช่มเดินแจกนั้น ไปอ่านให้ชาวบ้านฟังและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และในที่สุดเรื่องจึงยุติลงได้ด้วยความเข้าใจและภูมิใจของมุสตาฟาผู้เป็นบิดา ที่ลูกชายได้เข้าร่วมปฏิบัติภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างกล้าหาญ ยอมสละชีพเพื่อแผ่นดินเกิดสมกับที่เป็นมุสลิม ร่วมกับคณะราษฎรเพราะถ้าหากภาระหน้าที่ไม่ประสบความสำเร็จ หัวก็จะหลุดจากบ่าอย่างแน่นอน แต่ลึก ๆ แล้ว มุสตาฟาผู้เป็นบิดาก็แอบนิยมชมชอบมุสตาฟา เคมัล อะตาเติร์ก ที่มีชื่อขึ้นต้นเหมือนกับชื่อของท่านอยู่เช่นกัน และสำหรับชาวบ้านที่มาล้อมวงฟังหลวงธำรงฯ อ่านแถลงการณ์ ก็แสดงออกด้วยการไชโยโห่ร้องแสดงความยินดีปรีดีอย่างออกหน้า เมื่อหลวงธำรงฯ อ่านแถลงการณ์จบลงด้วยประโยคที่ว่า “ความสุข ความเจริญ อย่างประเสริฐที่เรียกกันเป็นศัพท์ว่า ‘ศรีอารยะ’ นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า” เพราะในความเชื่อถือของมุสลิม ศรีอารยะก็คือมะฮะดี ที่พวกเขาปรารถนาจะให้ถึงเช่นกัน...”[12]
ชีวิตภายใต้ระบอบใหม่

รัชกาลที่ 8 และนายแช่ม พรหมยงค์

ประมวลภาพล้นเกล้าฯ สองพระองค์ เสด็จเยือนสมาคมฯ ครั้งอดีต
หลังปฏิวัติท่านได้เปลี่ยนชื่อจาก “ซัมซุดดิน” เป็น “แช่ม” เพราะชาวคณะราษฎรเห็นว่าเรียกชื่อยาก ถึงเพื่อนมุสลิมจะเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า “ซำ” แต่ปรีดีบอกว่า “ถ้างั้นเอา แช่ม ก็แล้วกัน ซึ่งหมายถึงแช่มชื่นเบิกบาน ซึ่งก็ตรงกับอุปนิสัยใจคอของลุง”[13] ส่วนนามสกุล “มุสตาฟา” เป็น “พรหมยงค์” ก็เป็นไปดังเรื่องเล่าข้างต้นของเจ้าตัวที่
ถ่ายทอดผ่านสุพจน์ ด่านตระกูล



รัฐธรรมนูญจำแลงในภาคใต้
ภายหลังประเทศสยามเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยเพียงหนึ่งปี รัฐบาลได้จัดการเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ถึงแม้ในการเลือกตั้งของ 3 จังหวัดซึ่งเดิมเคยเรียกว่ามณฑลปัตตานี คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ยังไม่มีชาวมุสลิมได้รับเลือกเข้าสภา ขณะที่ทางฟากจังหวัดสตูล พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์ พ.ศ. 2414-2506) เป็นมุสลิมเพียงท่านเดียวที่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกนั้นอีกทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ระหว่างนั้นความสัมพันธ์ระหว่างคณะผู้ก่อการกับผู้นำศาสนาดูจะเริ่มต้นด้วยดีเมื่อหะยีสุหลง (พ.ศ. 2438-2497) โต๊ะอิหม่ามปัญญาชนคนสำคัญชาวไทยมุสลิมชายแดนใต้ได้เดินทางเข้าพระนครเพื่อรับเงินสนับสนุนการสร้างโรงเรียนในปัตตานีจากพระยาพหลฯ หัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรและนายกรัฐมนตรีขณะนั้น จำนวน 3,200 บาท อีกทั้งผู้นำประเทศท่านนี้ยังเดินทางล่องใต้ไปร่วมงานเปิดโรงเรียนพร้อมถ่ายรูปร่วมเป็นที่ระลึก และถือโอกาสเยี่ยมเยียนชาวจังหวัดปัตตานี[14] (เสียดายว่าภาพดังว่าถูกขโมยไปหลังการจับกุมหะยีสุหลงเมื่อ พ.ศ. 2491[15]) เมื่อถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นการหย่อนบัตรโดยตรงในปี พ.ศ. 2480 และ พ.ศ. 2481 ทั้ง 3 จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นมุสลิมได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด คือ พระพิพิธภักดี (ตนกูมุกดา อับดุลบุตร), วิไล เบญจลักษณ์ (แวและ เบญอาบัชร์) และ นายอดุลย์ ณ สายบุรี (ตนกูอับดุลยาลาล์ นาเซร์)[16] ตามลำดับ ระหว่างปี พ.ศ. 2482 -2485 ความขัดแย้งต่อชาวมลายูมุสลิมขยายตัวออกไปมากขึ้นจากการขึ้นสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีของหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.) ช่วงแรก พ.ศ. 2481 พร้อมประกาศใช้นโยบาย “รัฐนิยม” รวม 12 ฉบับ ปรากฏว่าหลายข้อขัดต่อประเพณีปฏิบัติของชาวมลายูมุสลิม เช่น การจัดการศึกษาภาคบังคับการใช้ภาษาและระเบียบปฏิบัติ จนล่วงถึงสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2484 รัฐไทยเริ่มสร้างวาทกรรมเรื่อง “การแบ่งแยกดินแดน”[17] ขึ้นมาจนพัฒนาเป็นปัญหาที่ซับซ้อนทับทวี

แช่ม พรหมยงค์ (ขวา) กับปรีดี พนมยงค์ (ซ้าย) ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ระหว่างสงครามใหญ่นี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจที่อาจารย์ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่มีต่อลุงแช่มได้ถูกเน้นย้ำด้วยการชักชวนเข้าร่วมงานใต้ดิน “เสรีไทย” อีกทั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเพียงไม่ถึงเดือน รัฐบาลก็ได้สถาปนาท่านขึ้นสู่ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนที่ 14 (คนที่ 10 ของกรุงรัตนโกสินทร์) และนับเป็นอิสลามิกชนนิกายซุนนีท่านแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังจากที่ตำแหน่งนี้อยู่คู่เคียงกับมุสลิมสาย “เฉกอะหมัด” นิกายชีอะฮ์ร่วมสังคมนี้มากกว่า 3 ศตวรรษ! อีกทั้งภายหลังสงครามยุติ แช่ม พรหมยงค์ ยังได้ประสานงานรวบรวมอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เหลือจากการรบเสรีไทยส่งเข้าไปยังอินโดนีเซียเพื่อช่วยซูกาโนผู้นำขณะนั้นกู้ชาติ ผ่านการรับผิดชอบของ “หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ)”

แช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย ร.8 กับท่านต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี ในรัชสมัย ร.9
ที่มา: https://www.facebook.com/permalink.php/?story_fbid=3985825968123632&id=705291642843764
ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีท่านที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“คุณแช่ม (พรหมยงค์) นั้นเป็นคนที่น่าเคารพนับถือมาก เป็นมุสลิมที่เคร่งในทางศาสนาอิสลาม แต่ขณะเดียวกันก็มีความใจกว้าง…อย่างเวลาที่มีงานเผาศพนั้น เขาเชิญคุณแช่มไปทอดผ้าบังสุกุลแกก็ทอด บอกว่าไม่เป็นเสียหายอะไร พระเจ้าไม่ได้บังคับ และเป็นคนกว้างขวางมากในบรรดามุสลิมทั้งหลาย ฉะนั้นอาจารย์ปรีดีจึงเอาตำแหน่งจุฬาราชมนตรีมาตั้งอีก แต่ก่อนสมัยโบราณจะมีกรมท่าขวา กรมท่าซ้าย กรมท่าซ้ายเป็นเรื่องของพวกจีน หัวหน้าใหญ่ของฝ่ายกรมท่าซ้ายเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ส่วนกรมท่าขวาเป็นของแขก จะเป็นออกญาจุฬาราชมนตรี ทีหลังจอมพล ป. ยกเลิกบรรดาศักดิ์ทั้งหมด ทีหลังอาจารย์ปรีดีก็เอาตำแหน่งนี้มาใช้ใหม่ ไม่ได้เป็นบรรดาศักดิ์ แต่เป็นตำแหน่งผู้นำของศาสนาอิสลาม เป็นคนที่กว้างขวาง ใจกว้าง อยู่ฝ่ายคณะราษฎรจริง ๆ ชอบพออาจารย์ปรีดีมาก เมื่อจอมพล ป. บังคับให้ใช้นามสกุล อาจารย์ปรีดีก็แต่งตั้งว่า “พรหมยงค์” คล้าย ๆ ของท่านว่า “พนมยงค์” รักใคร่กันถึงขนาดนั้น” ส. ศิวรักษ์[18]

ประมวลภาพล้นเกล้าฯ สองพระองค์ เสด็จเยือนสมาคมฯ ครั้งอดีต
ตำแหน่งผู้นำศาสนาอิสลามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจากฟากนิกายชีอะฮ์ต้องยุติลงในปี พ.ศ. 2479 หลังการอสัญกรรมของ “สอน อหะหมัดจุฬา” นับเป็นการสิ้นสุดการครองตำแหน่งนี้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 337 ปี (นับแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2145 ) จากสาย “เฉกอะหมัด” จำนวน 13 ท่าน การเปลี่ยนแปลงนี้มีความคล้ายคลึงกับฟากพุทธจักรเมื่อสังฆราชฝ่ายธรรมยุตที่ครอบครองตำแหน่งมาเกือบศตวรรษสิ้นสุดลงจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ในอีก 1 ปี ถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2480 และสลับปรับเปลี่ยนให้ฟากฝั่งมหานิกายขึ้นดำรงตำแหน่งแทนเพียงปีถัดมา[19] เช่นเดียวกับวงการอิสลามในตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เพียงแต่ตำแหน่งแห่งหนนี้ได้ถูกว่างเว้นกว่า 9 ปี จึงได้สถาปนา “จุฬาราชมนตรีที่มาจากสายซุนนีท่านแรก” และยังเป็น “สมาชิกผู้ก่อการ 2475” ผู้นั้นคือนายแช่ม พรหมยงค์ (หะยีซำชุดดิน มุสตาฟา) ได้รับเลือกโดยกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 จาก พระราชกฤษฎีกา 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2488[20]
เมื่อบั้นปลายของปฏิบัติการเสรีไทยหรือก่อนสงครามโลกกำลังจะยุติลงเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน ระหว่างนั้นยังได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกประเภทที่ 2 ช่วง 28 ก.ค. 87-9 พ.ค. 89 จนกระทั่งจำต้องสิ้นสุดเส้นทางการเมืองหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. พ.ศ. 2490 ธีรัชย์ พูลท้วม ผู้รวบรวมประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองบรรยายการหลบหนีครั้งนั้นไว้ว่า
“...นาย ปรีดี พนมยงค์ ได้หลบภัยการเมืองเข้าไปอาศัยอยู่ในสถานทูตอังกฤษที่ถนนวิทยุ มุมถนนสุขุมวิทขณะนั้น นายแช่ม พรหมยงค์ ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี มีสำนักงานและบ้านพักอยู่ที่ถนนราชดำริ (ตรงข้ามสนามม้าปทุมวัน) ทางฝ่ายทหารเรือได้ทำหน้าที่ประสานให้นายแช่ม กับนายปรีดี พนมยงค์ ได้พบกันและนายแช่ม พรหมยงค์ ได้อาสาเป็นผู้นำทางพานายปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกจากประเทศไทยทางทะเล ไปหลบภัยอยู่ในสิงคโปร์และจีน ส่วนตัวนายแช่ม พรหมยงค์ เข้ามาอาศัยลี้ภัยการเมืองอยู่ในรัฐกลันตัน อำเภอปาซีร์ปูเต๊ะ ประเทศมาเลเซีย และได้กลับเข้าประเทศไทยเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2496”[21]
แช่ม พรหมยงค์ กลับมาไทยแล้วก็ไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงอีก ท่านได้มีชีวิตอยู่สืบมาอีก 30 กว่าปี และมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมคารวะ “ปรีดี พนมยงค์” ในวาระอายุครบ 80 ปีของมันสมองผู้ก่อการ 2475 ณ กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2523 พร้อมด้วย “สุพจน์ ด่านตระกูล” (ปรีดีฯปรารภกับสุพจน์ให้เขียนประวัติลุงแช่ม-คำขึ้นต้น) หลังจากนั้นอีก 3 ปี ปรีดีฯ ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรม ณ ที่นั้น และอีก 5 ปีถัดมา คือ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ลุงแช่มก็ลาจากโลกนี้ไปด้วยอายุยืนยาวถึง 88 ปี[22]
ชุมพล พรหมยงค์ บุตรชายคนโตของแช่ม พรหมยงค์ แสดงความเห็นต่อบิดาของเขาไว้ว่า
"ตำแหน่งนี้มีคนเดียวในประเทศไทย พ่อผมเป็นคนเดียวแล้วเลิกเลย เพราะจุฬาราชมนตรีตอนนี้ไม่เหมือนตอนนั้น ตอนนั้นจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งชั้นเอก สังกัดสำนักราชเลขา ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ พอพ่อผมลี้ภัยไปก็โดนเต็ม ๆ ละทิ้งหน้าที่ กบฏ ตำแหน่งนี้ว่างเขาก็เอาตำแหน่งนี้โอนไปอยู่กรมการศาสนา ท่านปรีดีเอามาจากไหนรู้หรือเปล่าตำแหน่งนี้สมัยอยุธยา 13 คน คนสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเลิกไป ถึงบอกว่า อาจารย์ปรีดีฉลาด ปัญหาปักษ์ใต้นี่ต้องแขกเนื้อ ๆ ถึงจะรู้เรื่อง อย่ามาคุยเลยว่าจะร่มเย็นเป็นสุข รับความจริงกันซะมั่ง วิธีแก้ปัญหาสมัยก่อนไม่ต้องไปรบหรอก ที่จริงแล้วมันเรื่องเดียวกันจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ตัวแปรต่าง ๆ ตัวที่เอาน้ำมันไปหยอดให้สีสันมันเปลี่ยน แต่เรื่องน่ะเรื่องเดียวกัน คุณไปถามชาวบ้าน 7 ชั่วโคตรก็เรื่องเดียวกัน"[23]
ด้าน ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ เจ้าของหนังสือมุสลิมในประเทศไทย ให้ภาพของลุงแช่มอย่างกระชับผ่านย่อหน้าหนึ่งไว้ว่า
“...ลุงแช่มนี้ ถ้าให้แกพูดในเรื่องศาสนา แกจะพูดไปสักพักก็จะกลายเป็นการเมืองไปทันที แกจะพูดถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม การต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของมุสลิม คือ วิญญาณของท่านเป็นวิญญาณของนักการเมืองมากกว่านักการศาสนา”[24]
[1] สุพจน์ ด่านตระกูล,อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2547,(โรงพิมพ์ธรรมสาร), น.15.
[2] PRIDI interview: ไพศาล พรหมยงค์ เล่าเรื่องคุณพ่อ ‘แช่ม พรหมยงค์’. ดู https://pridi.or.th/th/content/2021/08/816
[3] นริศ จรัสจรรยาวงศ์. 3+1 มุสลิมีน คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติ 24 มิ.ย.2475 ใน 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน. พ.ศ.2564. มติชน. น.127-184.
[4] สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก 2547. โรงพิมพ์ธรรมสาร. น.15.
[5] สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก 2547. โรงพิมพ์ธรรมสาร. น.15.
[6] สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก 2547. โรงพิมพ์ธรรมสาร. น. 22-23.
[7] สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก 2547. โรงพิมพ์ธรรมสาร. น.26.
[8] สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก 2547. โรงพิมพ์ธรรมสาร. น. 27.
[9] สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก 2547. โรงพิมพ์ธรรมสาร, น. 29.
[10] สุพจน์ ด่านตระกูล. อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้. พิมพ์ครั้งแรก 2547. โรงพิมพ์ธรรมสาร, น. 28.
[11] อนุสรณ์งานศพ พลโท กานต์ รัตนวราหะ ดังอ้างในบทความนี้ข้างต้น และ เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง, พิมพ์ครั้งแรก 2508, (เกื้อกูลการพิมพ์),น.109.
[12] สุพจน์ ด่านตระกูล, อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2547,(โรงพิมพ์ธรรมสาร), น.33-36.
[13] สุพจน์ ด่านตระกูล, อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2547,(โรงพิมพ์ธรรมสาร), น.32.
[14] เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2447,(สนพ.มติชน), น.21.
[15] อ้างแล้ว, น.26.
[16] บุคคลท่านนี้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับปรีดี พนมยงค์ ดูเพิ่มเติม ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ,มุสลิมในประเทศไทย,น.67-68.
[17] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ทำความเข้าใจปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, นิตยสารสารคดี ปีที่ 20 ฉบับที่ 240 กุมภาพันธ์ 2548, น.79.
[18] ส.ศิวรักษ์ และ นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปฏิทิน 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2565 เดือนกุมภาพันธ์ แช่ม พรหมยงค์ : จากมุสลิมในคณะราษฎรสู่จุฬาราชมนตรี (ตอนที่ 3/13) ดู https://www.youtube.com/watch?v=7phHNhx1SiE
[19] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลอมนิกาย มหาสังฆกรรมคณะราษฎร อุปสมบทพระยาพหลฯ พ.ศ.2484,นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2561.
[20] เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร, หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ...หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2447,(สนพ.มติชน),น.64.
[21] ธีรัชย์ พูลท้วม, ประวัติคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายธีรัชย์ พูลท้วม ณ ฌาปนสถานคุรุสภา วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร 11 มีนาคม 2539,(โรงพิมพ์สหธรรมิก), น.616.
[22] สุพจน์ ด่านตระกูล, อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2547,(โรงพิมพ์ธรรมสาร), น.101.
[23] สัมภาษณ์ ชุมพล พรหมยงค์ ดู ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ ทายาท ‘24 มิถุนา5’ ตอน 2https://prachatai.com/journal/2009/06/24895 (เข้าถึง 25 ม.ค.2564)
[24] ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, อดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ (ซำซุดดิน มุสตาฟา) กับ 4 จังหวัดภาคใต้, พิมพ์ครั้งแรก 2547,(สุขภาพใจ), น.22.