ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

ชีวิตและงานของจำลอง ดาวเรือง ส.ส.อีสาน ผู้เสียสละเพื่อประชาชน

9
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอชีวิตและงานของจำลอง ดาวเรือง ในวาระ 114 ปีชาตกาลที่ได้มีบทบาทสำคัญมากมาย อาทิ เสรีไทยสายอีสาน รัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยคณะราษฎร และช่วงขบวนการประชาธิปไตย พ.ศ. 2492 โดยบทบาทที่โดดเด่นคือ บทบาททางการเมือง ทั้งเสนอกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องเก็บเงินอากรค่านาที่ไม่เป็นธรรม  กระทู้ถามเรื่องการชลประทานหรือการศึกษาที่รัฐเน้นเฉพาะที่ส่วนกลาง รวมทั้งการเสนอร่างพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2481 การคัดค้านงบประมาณทางทหาร การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการปกครองในระบอบเผด็จการกระทำกัน รวมถึงการเสนอออกกฎพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนข้าวและสินค้าราคาแพงในช่วงหลังสงครามโลก เป็นต้น

 


จำลอง ดาวเรือง (9 ตุลาคม พ.ศ. 2453-4 มีนาคม พ.ศ. 2492)

 


อนุสรณ์งานศพจำลอง ดาวเรือง
ที่มา: หัด ดาวเรือง ,ชีวิต-อนิจจัง พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ คุณจำลอง ดาวเรือง ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2505. (พระนคร: บุญส่งการพิมพ์, 2505) https://digital.library.tu.ac.th

 

ฉากชีวิตวัยเยาว์จนถึงวัยหนุ่ม

ในฐานะที่คุณจำลอง ดาวเรือง เป็นผู้ที่มีกำเนิดพื้นเพมาจากชนบทอันห่างไกลความเจริญ จากบิดามารดาผู้มีอาชีพในการทำนา แต่ก็สามารถดิ้นรนสร้างตัวเอง ไต่เต้าจากเด็กท่ามกลางท้องทุ่งขึ้นมาจนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้บริหารประเทศได้นั้นย่อมจะเป็นบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่ง ซึ่งควรจะได้ศึกษาถึงชีวประวัติของท่าน ตามควรดังนี้

คุณจำลอง ดาวเรือง เกิดวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เป็นบุตรของนายมา-นางสอน ดาวเรือง ที่บ้านหนองคู ตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวน ๖ คนของครอบครัวดาวเรือง

เมื่ออายุ ๗ ขวบ ได้เข้าศึกษาชั้นประถมในโรงเรียนประชาบาลตำบลงัวบา และสำเร็จประโยคประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔

เมื่ออายุ ๑๑ ขวบ ได้ไปเข้าศึกษาต่อที่ชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงแรียนประจำจังหวัดมหาสารคาม “สารคามพิทยา” และสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเด็กที่เรียนดีเป็นพิเศษ ภายใน ๒ ปีจึงเรียนสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๓

พ.ศ. ๒๔๖๘ สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๕ จากโรงเรียนประจำจังหวัดร้อยเอ็ด “ร้อยเอ็ด วิทยาลัย” ซึ่งสมัยนั้นมีแค่ชั้นมัธยมปีที่ ๕ เท่านั้น

 

ก้าวแรกแห่งการทำงาน

หลังจากสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๕ แล้ว เนื่องจากมีใจรักทางเครื่องยนต์กลไกเป็นทุนอยู่แล้ว และประกอบกับบิดามารดาไม่มีทุนพอที่จะส่งบุตรของตนให้เข้าศึกษาในชั้นสูงต่อไปได้ คุณจำลอง ดาวเรือง จึงตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนช่างกลที่กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนจากหลวงพิศิษฐ์ศุภกร (เจ๊กหยงนี) เจ้าของบริษัทรถยนต์ฮั่วเซ่งเฮง แห่งจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ก็ออกไปทำงานประจำบริษัทรถยนต์ของหลวงพิศิษฐ์ และขับรถยนต์ส่งคนโดยสารและพัสดุ สายร้อยเอ็ด-สุรินทร์ ต่อมาอีกไม่กี่ปีก็สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ และประกอบอาชีพอิสระ

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศรัดตัว จึงจำต้องขายรถยนต์นั้นเสีย แล้วเร่รอนกับเพื่อนอีกคนหนึ่งพากันไปหากิน ณ ต่างแดนทั้งสองคนมุ่งหน้าสู่นครจำปาศักดิ์ ดินแดนในครอบครองของฝรั่งเศส (ประเทศลาวปัจจุบัน) เร่ร่อนไปมาเงินหมดเกลี้ยงกระเป๋า จนต้องขึ้นชกมวยบนเวทีเลี้ยงชีพ จนเป็นเหตุให้รู้จักกับราชดนัยน้อย บุตรเจ้าราชดนัยผู้ครองนครจำปาศักดิ์ อันเป็นผลให้ได้งานทำคือ เป็นนายท้ายเรือเดินตามลำน้ำโขงระหว่างนครจำปาศักดิ์ เมืองโขลงและปากเซ ในระหว่างที่เดินเรืออยู่นี้ เนื่องจากคุณจำลอง ดาวเรือง เป็นคนที่ใฝ่ใจต่อการศึกษา จึงศึกษาภาษาญวน เขมร และฝรั่งเศส จึงสามารถพูดได้คล่องแคล่ว

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ คุณจำลอง ดาวเรือง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสจับขังไว้ เนื่องจากเป็นคนต่างด้าวจากเมืองไทย ซึ่งเขาอ้างว่า เพื่อความปลอดภัยต่อรัฐบาลประเทศไทย เพราะเป็นระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและขบถ เมื่อถูกปลดปล่อยแล้วก็จำต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน มาสมัครเป็นครูประชาบาลที่อำเภอวาปีปทุม โดยได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๒๐ บาท

พอรุ่งขึ้นอีกปีคุณจำลอง ก็สละโสด แต่งงานกับคุณทองดำ และเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากตลอดมา วาระสุดท้ายแห่งชีวิต ในระหว่างเป็นครูประชาบาลนั้น คุณจำลองก็ตั้งหน้าศึกษาวิชาครูบ้าง จนสอบได้ประกาศนียบัตรครู และศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสอบได้สำเร็จเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต

คุณจำลอง มีนิสัยไม่ชอบชีวิตอันจำเจ ทื่อ ๆ ด้าน ๆ ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้ลาออกจากครูประชาบาล มาจัดตั้งโรงเรียนเรืองวิทยาขึ้น ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของจังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่อำเภอวาปีปทุม และได้ดำเนินกิจการเจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบันนี้

ในระหว่างเป็นครูประชาบาล และเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ และครูใหญ่โรงเรียนเรืองวิทยานี้เอง ทางราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้กำหนดให้อำเภอต่าง ๆ จัดตัวแทนเข้าไปโต้วาทีเพื่อเป็นการแข่งขันชิงรางวัล กิจกรรมโต้วาทีนี้เอง ทำให้ประชาชนทั้งจังหวัดมหาสารคาม รู้จักจำลอง ดาวเรือง ในฐานะนักโต้วาทีผู้ฉกาจ และเป็นนักพูดที่คารมคมคาย หาตัวจับได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากคุณจำลอง เป็นคนที่รักการศึกษา ความจำเก่ง ปฏิภาณไว และเป็นคนมีนิสัยในการคบค้าสมาคมกับคนไม่เลือกชั้นวรรณะ จนสามารถโน้มน้าวให้แทบทุกคนรักและชอบเป็นอันดี

 

เริ่มต้นชีวิตนักการเมือง

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ นั้นเอง เมื่อรัฐบาลได้ประกาศสมัครรับเลือกตั้งแทนราษฎร คุณจำลอง ก็ได้โดดเข้าสมัครรับเลือกตั้งด้วย และเป็นผลให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง ๒๗ ปีเท่านั้นเอง

ในการปฏิบัติภารกิจของการเป็นนักการเมือง คุณจำลองได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง ร่วมกับนักการเมืองอีกหลายท่าน อาทิ คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส. อุบลฯ คุณถวิล อุดล ส.ส. ร้อยเอ็ด คุณเตียง ศิริขันธ์ ส.ส. สกลนคร เป็นต้น และการเป็น  ส.ส. สมัยแรกเพียง ๙ เดือน สภาก็ยุบ แต่ครั้นมีการเลือกตั้ง คุณจำลองก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีก รวมทั้งคณะ ส.ส. ผู้กล่าวนามมาข้างต้น และการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ มา คุณจำลองก็ได้รับการเลือกตั้งเรื่อยมา

 

ภารกิจเพื่อชาติในบทบาทเสรีไทยสายอีสาน

นอกจากนั้น ในตอนท้ายของสงครามโลกครั้งที่ ๒ คุณจำลอง ก็ได้รับภารกิจเพื่อชาติไทยอย่างหนึ่ง คือเป็นหัวหน้าหน่วยเสรีไทยค่ายนาคู อำเภอกุฉินารายณ์ ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการทุกข์ทรมาน นอกกลางดินกินกลางทราย ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒ ปี โดยไม่มีการติดต่อกับลูกเมียเลย และโดยการดำเนินการของขบวนเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศของบุคคลสำคัญหลายฝ่าย เป็นผลทำให้ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะเป็นประเทศแพ้สงคราม ร่วมกับพันธมิตรฝ่ายอักษะประเทศ เช่นประเทศอื่นหลายประเทศ ไทยจึงพ้นจากการยึดครองของฝ่ายพันธมิตร ดังเช่นประเทศพันธมิตรอื่น ๆ

 

รัฐมนตรีฝีปากคม

เมื่อสงครามครั้งที่ ๒ สงบลง ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ คุณจำลองก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในชีวิต ร่วมในคณะรัฐบาล ฯพณฯ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้นต่อมา เมื่อได้มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้ว คุณจำลองก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภา เเละเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลตามวิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญ คุณจำลองก็ได้รับพระราชโองการให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ในคณะรัฐบาลชุด พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ขบถเพื่อประชาธิปไตย

ครั้น พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น คุณจำลองกับคณะต้องหลบหลีกจากการจับกุม แต่กระนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ก็ถูกจับในข้อหาขบถแยกดินแดนร่วมกับคณะ คุณทองอินทร์ คุณถวิล และคุณเตียง แต่เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอจึงถูกปล่อยตัวพ้นข้อกล่าวหาไป เมื่อเกิดขบถวังหลวงขึ้น ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ คุณจำลองก็ถูกจับในข้อหาขบถอีก ถูกสอบสวนและกักขังเรื่อยมา แต่ก็ไม่ได้หลักฐานพอที่จะถือเป็นการกระทำผิดได้

 


ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง
ที่มา: https://www.trueplookpanya.com/blog/content/51341/-timhis-tim-

 

วาระสุดท้ายของชีวิต

จนวันที่ ๓ มีนาคม ๒๔๙๒ เวลาประมาณตีสอง พลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ในฐานะรองอธิบดีกรมตำรวจ ได้มีคำสั่งด่วนให้ย้ายสี่อดีตรัฐมนตรี ผู้ถูกคุมขังรวมกันคือ คุณจำลอง ดาวเรือง คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ คุณถวิล อุดล และทองเปลว ชลภูมิ ไปฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจบางเขน โดยเหตุผลอย่างไรไม่ทราบในขณะที่รถนำส่งสี่อดีตรัฐมนตรีผู้ต้องหา แล่นไปถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔ ของถนนพหลโยธิน ก็ปรากฏเสียงปืนดังสนั่นขึ้นในกลางดึก ปรากฏว่า รถคันที่บรรทุกผู้ต้องหานั้นพรุนไปทั้งคันและร่างของสี่อดีตรัฐมนตรีก็พรุนไปทั้งร่าง ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของคุณจำลอง ดาวเรือง ท่ามกลางความวิปโยคของลูกเมียและญาติมิตร โดยเฉพาะก็เป็นการกระชากชะตากรรมของลูกเมียและลูก ๆ ผู้ไม่รู้ไม่ชี้อะไรเลยให้ตกสู่เหวลึกแห่งความยากไร้

 


หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2492
ที่มา: ภาพจาก 2500 สฤษดิ์-เผ่า: เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

 

ทั้งนี้ เพราะคุณจำลอง ดาวเรือง เป็นนักการเมืองที่ทำหน้าด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละ และมุมานะ ที่จะทำทุกอย่างเพื่อความผาสุกของปวงชนและความเจริญของประเทศ ไม่ได้ใฝ่ในทางที่จะสร้างหลักฐานของตัวเองเพื่อตัวและลูกเมียแต่อย่างใด จนคุณจำลอง ดาวเรือง ได้มรณกรรมลง ทรัพย์สมบัติใด ๆ แม้แต่เพียงเล็กน้อยจะเป็นทุนสำหรับดำรงชีวิตของลูกเมีย และการศึกษาของลูก ๆ ก็ไม่มี คุณทองดำ ต้องหอบลูกหาพึ่งพาญาติมิตรตามมีตามเกิด และอาศัยการอุปการะของญาติมิตรผู้อารีจนได้รับความสุขตามสภาพ เลี้ยงลูกตลอดมาจนปัจจุบัน

เราได้ติดตามชีวประวัติของคุณจำลอง มาโดยย่อแล้วจะเห็นได้ว่าเต็มไปด้วยชีวิตการต่อสู้ตลอดเวลา ในขั้นต้นของชีวิตได้ต่อสู้เพื่อชีวิตตนเอง และในบั้นปลายของชีวิตได้ต่อสู้เพื่อความผาสุกของปวงชน เพื่อความเป็นธรรม และประเทศชาติ จนกระทั่งตัวเองต้องสิ้นชีวิตลงอย่างน่าสยดสยอง ซึ่งสมตามเจตนาและคติประจำใจของคุณจำลองเองว่า “ความเป็นธรรมและความผาสุกของส่วนรวม เป็นสิ่งที่จะต้องเทิดทูนและต่อสู้ แม้ตัวตายก็มีความสุข” ก็เกิดและมีขึ้นแล้วอย่างจะหลีกเลี่ยงมิได้ แต่ขอให้วิญญาณของคุณจำลอง จงภูมิใจเถิดว่า วีรกรรมอันได้ทำมา ประชาชนได้ซ้องสรรเสริญ และจงไปสู่สุคติเถิด

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกด เลขไทย และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง:

  • หัด ดาวเรือง, ชีวประวัติของคุณจำลอง ดาวเรือง อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ ใน ชีวิตอนิจจัง พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ คุณจำลอง ดาวเรือง ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2505. (พระนคร: บุญส่งการพิมพ์,2505), น.ก-ซ.

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์:

  • กษิดิศ พรมรัตน์. (26 กรกฎาคม 2563). จากโชเฟอร์สู่เสรีไทยลูกอีสาน จำลอง ดาวเรือง. เว็บไซต์ https://pridi.or.th/th/content/2020/07/356