Focus
- นายจำกัด พลางกูร จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ปริญญาตรีเกียรตินิยม ทางด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือสามัคคีสารของสมาคมนักเรียนไทยที่อังกฤษ และมีผลงานเขียน เช่น ปรัชญาของสยามใหม่ (2479) ที่เนื้อหาเกี่ยวกับอารยธรรมตะวันตกและไทย ต่อมาทำงานเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์วิพากษ์รัฐบาลเผด็จการ ร่วมสมัยกับนายผี (อัศนี พลจันทร์)
- นายจำกัด พลางกูร เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่เดินทางแบบลับ โดยการมอบหมายของนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อไปประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจุงกิงประเทศจีนให้ทราบว่าในเมืองไทยมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น แต่เมื่อไปถึง ทางการจีนไม่รับรองเขา และต่อมาได้เสียชีวิตที่นั่น
- หนังสือปรัชญาของสยามใหม่ แสดงถึงสาระด้านวัฒนธรรม ปรัชญา และอารยธรรม เป็นต้น มีการวิจารณ์ให้เห็นว่าอารยธรรมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกสลายลงไป อารยธรรมใหม่เพิ่งเริ่มในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงยังขาดการคิดของตนเอง ได้แต่รับมาปรับใช้จากตะวันตก
ตุลาคมย่อมเป็นเดือนสำคัญแห่งชีวิตของ จำกัด พลางกูร เพราะมีทั้งวันเกิดและวันตาย
จำกัด ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2457 โลดแล่นลมหายใจมาได้ราวเกือบ 29 ปีเต็ม เขาก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2486
ย้อนไปหลายปีก่อน เรื่องราวของ จำกัด พลางกูร เป็นที่รับรู้น้อยยิ่งนักจนแทบจะมิค่อยมีคนมักคุ้นเอาเสียเลย หากพอช่วงหลังๆ มา เริ่มมีใครหลายคนสนใจและเอ่ยขานถึงเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้น ภาพจำเกี่ยวกับ จำกัด กลับดูเหมือนถูกจำกัดให้ยึดโยงและวกวนอยู่แค่เพียงบทบาทความเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ผู้เดินทางแบบลับๆ ไปปฏิบัติภารกิจติดต่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองจุงกิง ประเทศจีน เพื่อรายงานและแสดงออกให้ทางฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่าในเมืองไทยมีขบวนการต่อต้านพวกญี่ปุ่นเช่นกัน เขาต้องเผชิญอุปสรรคยากเข็ญ กระทั่งท้ายที่สุดสูญสิ้นลมปราณในต่างแดน นับเป็น “เสรีไทย” คนแรกสุดที่พลีชีพขณะปฏิบัติภารกิจ ปรากฏนามจารึกไว้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และได้รับการยกย่องสรรเสริญจาก นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยว่า
“ถ้าปราศจากจํากัด พลางกูร งานขององค์กรใต้ดินครั้งนี้อาจจะล้มเหลว หรือหากสำเร็จ ก็คงเป็นไปในรูปที่ผิดแผกกว่าที่ได้ปรากฏแก่ตาโลกภายหลัง”
อีกทั้ง นายปรีดี ยังกล่าวถ้อยคำปราศรัยต่อหน้ามวลชน ก่อนประกาศสลายขบวนการกู้ชาติเมื่อวันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 ตอนหนึ่งว่า
“ขอให้ท่านได้สำนึกถึงวีรกรรมของเพื่อนร่วมตาย ซึ่งต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ คือ นายจำกัด พลางกูร, นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และนายสมพงษ์ ศัลยพงษ์ ชีวิตเขาสิ้นไปเพื่อได้มาซึ่งเอกราชและความคงอยู่ของชาติไทย ซึ่งชาวไทยไม่ควรลืม”
ดังเกริ่นมานั้น เราย่อมพบเห็นจากการนำเสนอถึง จำกัด พลางกูร ผ่านสื่อต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ อาจปรากฏผู้พยายามถ่ายทอดข้อมูลเนื้อหาอื่นๆ เกี่ยวกับตัวเขาบ้าง เฉกเช่น ชีวิตส่วนตัวและครอบครัว ชีวิตรัก แนวคิดและการทำงานก่อตั้งโรงเรียนอนุบาล รวมทั้งแนะนำผลงานการเขียนบางส่วน หากถือว่ายังแจกแจงรายละเอียดค่อนข้างน้อยสักนิด
ผมปรารถนาแนะนำให้คุณผู้อ่านลองสัมผัสกับอีกบทบาทหนึ่งของ จำกัด ซึ่งยังมิค่อยได้รับการนำเสนออย่างแพร่หลายเท่าที่ควร นั่นคือ บทบาทความเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์
ก่อนจะไปว่ากันถึงชีวิตนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ชื่อ จำกัด ผมคงจำเป็นต้องสาธยายภูมิหลังของเขาให้คุณผู้อ่านสดับรับฟังด้วย
พระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) เป็นบุคคลผู้สร้างคุณูปการให้แวดวงการศึกษาของไทยในอดีต เคยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตำรา เจ้ากรมสามัญศึกษา และรักษาการอธิบดีกรมศึกษาธิการ ท่านเจ้าคุณมีบุตรชายคนโตกับภริยาคนแรกคือ คุณหญิงเหรียญ คือ จำกัด ต่อมาทั้งสองยังมีบุตรธิดาร่วมกันอีกหลายคน ได้แก่ กำแหง, ตระหนักจิต, บรรเจิด, ลำเพา (ภรรยาของ วิตต์ สุทธเสถียร นักเขียนเลื่องชื่อ), เกรียงเดช และ สลวย
ครั้นภายหลังคุณหญิงเหรียญสิ้นบุญ ท่านเจ้าคุณจึงสมรสใหม่กับคุณหญิงจรูญ มีบุตรธิดา ได้แก่ จรวยรส, กัมปนาท และ เสาวรส
จำกัด เริ่มต้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ แล้วไปเรียนต่อโรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จชั้นมัธยมก็เข้าศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอปี พ.ศ. 2474 เขาสอบชิงทุนกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ โดยเรียนชั้นมัธยมซ้ำที่โรงเรียนบรอมส์โกรฟ (Bromsgrove School) แห่งมณฑลวูร์สเตอร์เชอร์ (Worcestershire) ล่วงถึงปี พ.ศ. 2478 สอบเข้าเรียนวิทยาลัยบอลลิโอล (Balliol College) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) จวบจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม (B.A. Hons.) ทางด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์
ห้วงยามที่ จำกัด ร่ำเรียนอยู่ในอังกฤษ เขานิยมชมชอบการถเถียงทางความรู้ พร้อมทั้งรับเป็นบรรณาธิการหนังสือ สามัคคีสาร ของสมาคมนักเรียนไทยที่นั่น
ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2479 จำกัด ในวัยเพียง 22 ปี เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งด้วยแรงบันดาลใจจากสถานการณ์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วส่งมาจัดพิมพ์เผยแพร่ในเมืองไทย นั่นคือ ปรัชญาของสยามใหม่ เขาสะท้อนเจตนารมณ์ของตนไว้ผ่าน ‘คำนำ’ ความว่า
“ในชั้นต้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะหาคุณค่าแห่งวัฒนธรรมของเราใหม่ (Revalue our own culture) พร้อมกับหาคุณค่าแห่งวัฒนธรรมยุโรปตามหลักแห่งชีวิต เพื่อเป็นเครื่องช่วยให้ท่านทั้งหลายเข้าใจถึงความเจริญและวิธีความเจริญแห่งโลก แต่บัดนี้ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอ จึงเขียนเสร็จแต่ภาคปรัชญา เหลือภาครัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ไว้ ตั้งใจจะเขียนต่อในเมื่อสอบไล่แล้ว ข้าพเจ้าหวังว่าหนังสือ เล่มนี้คงทำให้ท่านคิดบ้างไม่มากก็น้อย
ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบใจศาสตราจารย์อมิยา จ. จักรวรรดิ (Prof. Amiya C. Chakravarty), ศาสตราจารย์ ดร. เสฺตน โคโนว (Prof. Dr. Sten Konow), ศาสตราจารย์ภาษาสันสกฤตแห่งมหาวิทยาลัยออสโล (Oslo), ประเทศนอร์เวย, นายวิทย์ ศิวศริยานนท์ และนายประยูร วิลัยรัตน์ ที่ได้ช่วยแนะนำอภิปรายปัญหาต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้
ข้าพเจ้าขออุททิศหนังสือเล่มนี้ให้ผู้ที่มีบุญคุณแก่ข้าพเจ้ามากที่สุด คือ คุณพ่อของข้าพเจ้า พระยาผดุงวิทยาเสริม ข้าพเจ้าเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องปั้นมนุษย์ ข้าพเจ้าเป็นหนี้วิธีอบรมของบิดาข้าพเจ้าที่ทำให้ข้าพเจ้ามีความคิดทันสมัยอยู่เสมอ.
จำกัด พลางกูร
10ตุล.79
วิทยาลัยเบลลิโอล -- Balliol,
มหาวิทยาลัยออกสฟอรด
ประเทศอังกฤษ”
ปรัชญาของสยามใหม่ มุ่งเน้นเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดุจดั่งยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ของประเทศสยาม จะเป็นการเปิดทางไปสู่โลกใหม่อันมีฐานยึดโยงอยู่กับประชาชน เริ่มจากบท อารัมภกถา ซึ่ง จำกัด แสดงว่า
“สมัยนี้เป็นสมัยที่โลกมาถึงตอนปลายแห่งยุคหนึ่ง ความเจริญของยุโรป ซึ่งได้สร้างตัวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แห่งคฤสตสาสนา กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป แต่จะเจริญขึ้น หรือจะเสื่อมลงนั้น เราก็กล่าวไม่ได้ถนัด แต่เราก็จะเห็นกันเร็วๆ นี้ ความเจริญของยุโรปได้เผยแผ่ไปครอบงำโลกทั้งหมด พวกเราในทวีปเอเซียพากันเอาอย่างยุโรป แต่เราจะไปเอาอย่างเขาโดยไม่เข้าใจถึงปรัชญฐานซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความเจริญนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อตัวเราดุจเราเอายาซึ่งหมอได้ปรุงไว้ให้คนไข้คนอื่นมากิน โดยไม่รู้สรรพคุณของยาขนานนั้นเลย เราย่อมหวังไม่ได้ว่าจะหาย ถ้าหายก็เป็นบุญบังเอิญ แต่น่าจะไม่หายเสียมากกว่า ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่า อารยธรรมแผนตะวันตก ซึ่งพวกเราหลายคนที่ไม่เข้าใจโดยแท้จริง ประฌามกันว่าเป็นอารยธรรมแห่งวัตถุ (material) คืออะไรแน่ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งภายนอกย่อมเป็นเครื่องสำแดงแห่งภาวะของจิตต์ภายใน เราประณามว่า อารยธรรมแห่งยุโรปเป็นอารยธรรมแห่งวัตถุ แต่เราก็นิยมเอาของของเขามาใช้โดยไม่เข้าใจว่าทำไมเขาจึงทำของเหล่านั้นได้ ส่วนเราทำไมทำไม่ได้เอง ต้องไปเรียนจากเขามา
เราจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีก็ด้วยการเปรียบเทียบ เราต้องเปรียบเทียบยุโรปในมัธยมกาล (Middle Ages) กับ ยุโรปในปัจจุบันกาล (Modern Europe) เราจึงจะเข้าใจถึงการวิวัฏฏ์จากสมัยกลางซึ่งเป็นสมัยที่ยุโรปถอยหลังเข้าคลองไปสู่อนารยธรรมมาถึงสมัยใหม่นี้ และเราจะเปรียบเทียบสภาพการในสยามประเทศ กับ สภาพการในทวีปยุโรปสมัยต่างๆ เพื่อเราจะทราบได้ว่า เราอยู่ขีดไหนแห่งความเจริญ.
อารยธรรมของยุโรปเต็มไปด้วยความผิด และข้อกพร่องต่างๆ ซึ่งสะสมกันมานานแล้ว ถ้าข้อบกพร่องเหล่านี้ระเบิดออกมาเมื่อไร อารยธรรมของยุโรปก็เปลี่ยนทางเดินเมื่อนั้น เรามาทีหลังยุโรป ดังนั้นเราควรสังเกตข้อบกพร่องต่างๆ ของยุโรปไว้ เพื่อเราจะไม่ทำผิดตามเขาไป.
ข้อสำคัญ ซึ่งพวกเราทั้งหลายควรจะสำเหนียกไว้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ พวกเราต้องมีความกล้าหาญในทางจรรยา (moral courage) ที่จะรับว่า ความจริงซึ่งเราเห็นประจักษ์อยู่เป็นความจริง เราไม่ควรจะเอาความฝันมาปนกับความจริง คิดว่าตัวเองเป็นเทวดา มีอภินิหารร้อยแปด เราต้องรู้จักวิจารณ์ตัวเอง (Self-critical) รู้ว่าตัวเองผิดบกพร่องที่ไหน แล้วพยายามแก้ไขเสียให้ทันท่วงที การหันหลังให้ต่อความบกพร่องของเรา เป็นเสมือนการหลับตาต่ออันตรายมิได้ทำให้อันตรายหายไปเลย ตรงกันข้าม แทนที่เราจะรอดตัว เรากลับติดบ่วงอันตราย เราไม่ควรทำตัวเป็นอย่างเด็กๆ ที่กลัวสิ่งต่างๆ คิดว่าหลับตาแล้วก็พ้นอันตราย เราควรฝ่าและเอาชะนะอันตราย แก้ความบกพร่องของเราเพื่ออารยธรรมและสันติสุขของเรา และของโลก.”
เนื้อหาในเล่มยังประกอบไปด้วย
บทที่ 1 รากแห่งวัฒนธรรมไทย กล่าวถึงวัฒนธรรมไทย, วัฒนธรรมจีน, วัฒนธรรมอินเดีย, พุทธวัฒนธรรม, พราหมณวัฒนธรรม, ข้อแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมอินเดีย และวัฒนธรรมไทย
บทที่ 2 พระพุทธและพุทธปรัชญา กล่าวถึงความเป็นคนของผู้ตั้งศาสนา, พุทธประวัติ, ทำไมพระพุทธจึงออกบวช, เปรียบเทียบพระพุทธกับโกเต (Goethe), วิศวเวทนา (Weltschwerz) ของพระสิทธัตถะ, ชีวิตเป็นทุกข์หรือเป็นสุข, ความเห็นของ ดร.อัลเบอรฺตไชฺวฺทเซอร์ (Dr. Albert Schweitzer), สงสารวัฏฏ, การฆ่าตัวตาย, เราควรเชื่ออะไรบ้าง, คันท์ (Kant) ว่าด้วยความเชื่อ, “วิจารณ์แห่งปัญญาบริสุทธิ์” (“ Krittik der Reinen Vernunft”), เพลิงแห่งชีวิต (L’ etan vital) , ความเริงรมย์ของพระสิทธัตถะ, พระนิพพาน, ทำไมเทวดาจึงต้องบรรลุนิพพาน และความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับปรัชญา
บทที่ 3 โสคระตีส (Socrates) – เยซูส (Jesus) และบ่อเกิดแห่งจรรยาธรรม กล่าวถึงความเป็นคนของโสคระตีสและเยซูส, มนุษย์เป็นทาสแห่งความเชื่อ, จรรยาธรรมแห่งโสคระตีสและเยซูส, ทำไมท่านทั้งสองจึงถูกสังคมลงโทษ, สังคมน์แคบ, สังคมน์กว้าง และหายนภาพแห่งความเจริญของยุโรป
บทที่ 4 คั่นแห่งอารยธรรม (1) กล่าวถึงสัญชาตญาณ (instinct), อนารยธรรม, ลัทธิเชื่อในวิญญาณสิงสิ่งต่างๆ (animism), ความคล้ายคลึงระหว่างเด็กและคนป่า และมหิทธานุภาพแห่งความคิด
บทที่ 5 คั่นแห่งอารยธรรม (2) กล่าวถึงบ่อเกิดแห่งศาสนา, คั่นแห่งศาสนา, ความหมายของศาสนา, พระเจ้า, ทำไมมนุษย์สร้างพระเจ้า, บ่อเกิดแห่งศาสนา, แบรฺกสอน (Bergson), ปัญญาของมนุษย์, ความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์, ปัญญาย่อมนำความแตกร้าวมาสู่มนุษย์สังคมน์, ความรู้สึกเพื่อสังคมน์ (Social consciousness), การเปรียบเทียบมนุษย์สังคมน์, การที่มนุษย์รู้ถึงความตาย และความไม่เที่ยงแห่งชีวิต
บทที่ 6 คั่นแห่งอารยธรรม (3) กล่าวถึงคั่นวิทยาศาสตร์, ความเจริญ และเดส์การฺตส์ (Descartes)
ปิดท้ายด้วยบท อวสานกถา เรื่อง “คนไทยกับความเจริญสมัยใหม่” ซึ่ง จำกัด แถลงว่า
“ตามประวัติศาสตร์ คนไทยเราได้ควบคุมกันขึ้นเป็นหมู่หลายพันปีมาแล้ว เจริญขึ้นและเสื่อมลงตามกาลสมัย[1] ทีแรกอยู่ในตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาถูกจีนตีแตกพ่าย ร่นลงมาอยู่ในสุวรรณภูมิ ยึดเอาสุวรรณภูมิเป็นที่มั่น สร้างความเจริญขึ้นอีก ว่าตามจริง ไทยเราไม่ได้สร้างอะไรด้วยตนเองมาตั้งเกือบสองร้อยปีแล้ว เว้นแต่วรรณคดีกับศิลปเล็กๆ น้อยๆ ในสมัยกรุงเทพฯ นี้ เราเกือบไม่ได้คิดอะไรด้วยตัวเอง เอาของคนอื่นเขามาทั้งนั้น แต่เคราะห์ดีที่คนไทยมีนิสสัยดัดแปลงง่าย จึงดัดแปลงของต่างชาติมาสู่ความต้องการของตน และดัดแปลงตัวเองเข้าสู่โลกใหม่ พละของคนไทยได้นอนหลับฝังอยู่ในห้วงภวังค์ (unconscious) แห่งดวงจิตต์มานานแล้ว ถึงเวลาที่จะระเบิดออกมาผลิดอกออกผลเป็นวัฒนธรรมไทยใหม่ เช่นในสมัยปุณรุชชีพ (Renaissance) แห่งตะวันตกเป็นต้น
อารยธรรมของไทยแตกสลายลงในเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ถ้ากรุงศรีอยุธยาไม่แตก เราจะเจริญขึ้นกว่านี้มาก แต่นั่นแหละ “ถ้า” ในประวัติศาสตร์ย่อมเป็นไปไม่ได้ เป็นแต่เพียงความนึกฝันเท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าไทยเราจะมีอารยธรรมมานานแล้วก็ตาม เราพึ่งมาสร้างควบคุมกันใหม่ในสมัยกรุงธนฯ และกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงนับว่าอารยธรรมของเรายังเยาว์อยู่
มาในสมัยนี้ อารยธรรมยุโรปพร้อมทั้งวิทยาศาสตร์เข้าครอบงำโลก คนไทยที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นจุดหมายแห่งชีวิต หลงคิดเอาเครื่องมือหรือทางเดิน (means) เป็นวัตถุประสงค์ (end) วิทยาศาสตร์เป็นแต่เพียงเครื่องมือซึ่งเราใช้เท่านั้นเอง ไม่ดี ไม่ชั่ว ประดุจไฟเป็นต้น ถ้าเราเอามาใช้ผิด เราก็ฉิบหายไป ถ้าเราเอามาใช้ถูก เราก็วิเศษไป เครื่องมือของเราดีขึ้นเท่าไร ก็มีคุณหรือมีอันตรายมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการศึกษาในทางปรัชญาและจรรยาธรรม เพื่อจะอบรมให้ใช้เครื่องมือให้ถูกจึงสำคัญ ในเมื่อเรามีเครื่องมือดีใช้
ชาติทุกชาติมีความสามารถเท่ากันหมด[2] แต่หากว่าชาติบางชาติไม่ใช้กำลังใจดึงเอาความสามารถของคนมาใช้จากห้วงภวังค์ (unconscious) ปล่อยให้ความเกียจคร้านและความฝันสะสมกันอยู่เป็นอาสวะ นานๆ เข้าจนใช้ความพยายามเกือบไม่ได้ การที่ฝรั่งดูถูกผิว เพราะเขาถือว่าชาติเขาเจริญกว่า มีความสามารถมากกว่าโดยธรรมชาติ เราต้องสำแดงให้เขาเห็นว่าเรามีความสามารถเท่ากับเขาเหมือนกัน การคุยโวว่าไทยวิเศษอย่างโน้นอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เราต้องทำจริง แสดงให้โลกเห็นด้วยการกระทำอันเป็นชิ้นเป็นอันของเราว่า เราสามารถที่จะสร้างความเจริญเองได้ โดยไม่ต้องลอกเขามาเป็นดุ้นๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีความฮึกเหิม อยากเป็นประเทศมหาอำนาจ เปล่าเลย เราเป็นแต่เพียงจัดบ้านช่องให้เรียบร้อย อยู่กินเป็นสุขไม่เป็นทาสแห่งธรรมชาติ หรือทาสของใคร เหตุการณ์นอกประเทศเรามีผลกระทบถึงภายในประเทศด้วยเสมอ ดังนั้นเราต้องคอยเพ่งดูโลกภายนอกว่า เขาทำอะไรกัน ไม่ใช่หลับตาเอาหัวซุกทรายอย่างนกกระจอกเทศ แล้วคิดว่าพ้นอันตราย เราต้องฝ่าอันตราย เอาชะนะอันตรายนำประเทศสยามเราเข้าสู่สันติสุข และอารยธรรมใหม่ ประเทศสยามจงเจริญ”
จำกัด หมั่นเขียนบทความต่างๆ อีกไม่น้อยชิ้น ทั้งที่ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง และข้อคิดเห็นต่อสังคมไทย มิหนำซ้ำ เขายังดื่มด่ำอารมณ์สุนทรียะแล้วเขียนบทกวี
มีคราวหนึ่ง จำกัด เขียนบทความเรื่อง “Transition in Democracy” ลงใน สามัคคีสาร โดยวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามดำเนินคดีกับ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 ด้วยการตั้งศาลพิเศษนำไปสู่การตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมืองอย่างโหดเหี้ยมถึง 18 ศพ จำกัด น่าจะเป็นคนแรกๆ เลยที่ใช้คำเรียกรัฐบาลหลวงพิบูลฯ ว่าเป็น “ผู้เผด็จการ” เพราะมีพฤติกรรมขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทางรัฐบาลโกรธมาก จะไม่ยอมให้เขาได้บรรจุเข้ารับราชการภายหลังเรียนจบปริญญา
จำกัด เดินทางหวนกลับคืนสู่เมืองไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปลายปี พ.ศ. 2481 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ต้นปี พ.ศ. 2482) พระยาผดุงวิทยาเสริม ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาในแวดวงการศึกษาตัดสินใจฝากบุตรชายคนโตให้เข้าทำงานประจำกระทรวงธรรมการ หาก จำกัด ทำงานอยู่ได้ไม่นานเท่าใดก็มีอันถูกให้ออกจากราชการ เพราะแสดงความคิดเห็นขัดต่อผู้มีอำนาจแห่งกระทรวง ครั้นหลุดพ้นวิถีข้าราชการหนุ่มแล้ว เขาจึงย่างก้าวเข้าไปคลุกคลีและทำงานในแวดวงนักหนังสือพิมพ์
อัศนี พลจันทร์ เจ้าของนามปากกา “นายผี” และ “อินทรายุทธ” นับเป็นมิตรสนิทคนหนึ่งที่เคยร่วมงานกับ จำกัด ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2521-2522 ขณะ อัศนี ใช้ชีวิตกลางป่าดงพงไพรเนื่องจากเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็ได้เขียนจดหมายบอกเล่าให้นักเขียนรุ่นหลังผู้หนึ่งทราบถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มก้อนนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าช่วงทศวรรษ 2480 ซึ่ง เสถียร จันทิมาธร ได้นำเนื้อความจดหมายมาเรียบเรียงเสนอไว้เป็น “บันทึกของ “อินทรายุธ” เกี่ยวกับจำกัด พลางกูร และ น.ส.พ. เอกชน” ในหนังสือ สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย ที่จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2525 โดยตอนหนึ่ง อัศนี เล่าถึงกรณีที่ จำกัด พลางกูร ต้องออกราชการแล้วมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ว่า
“สมัยคุณจำกัด ที่จริงก็คานอยู่ระหว่างสมัยคุณกุหลาบและคุณอิศรา กลุ่มนั้นเป็นกลุ่มหนุ่ม อีกรุ่นหนึ่งที่เผอิญมีความผูกพันฐานเป็นเพื่อนนักเรียนนอกมาด้วยกัน, โดยเฉพาะนักเรียนเก่าทาง ยุโรป. ในนี้มีคุณวิทย์ ศิวศริยานนท์และคุณประยูร วิไลรัตน์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นวิญญรัตน์) ผู้เป็นบิดา ของคุณพันศักดิ์นั่นแหละ. พวกเขามีหัวเป็นประชาธิปไตยกระฎุมพีที่ก้าวหน้า, หรือในยุคเสรีนิยม, คัดค้านระบอบศักดินา ขณะเดียวกันก็คัดค้านระบอบฟาสซิสต์ด้วย. พวกเขาสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์และได้ต้อนรับนายปรีดีตอนถูกเนรเทศเพราะข้อหาคอมมิวนิสต์ด้วยดีก็คุ้นเคยกันมาตั้งแต่นั้น. ต่อมาคุณจำกัดเขียนบทความ (ดูเหมือนบทนำ) ใน สามัคคีสาร ของสามัคคีสมาคมที่อังกฤษ เรื่อง ไซแอม อิน ทรานซิชั่น, เกิดเรื่องใหญ่. พอดีได้ปริญญา บีเอ. (ทางปรัชญา) ก็ต้องกลับประเทศ, เจ้าคุณผดุงฯ ผู้บิดาวิ่งเต้นผ่อนคลาย จึงได้ทำงานกระทรวงศึกษาฯ อยู่พักหนึ่งสั้นๆ ท่วงทำนอง และความคิดเขาเข้ากับพวกหัวโบราณและสอพลอในกระทรวงฯ ขณะนั้นไม่ได้จึงออกมาร่วมกับคุณกุหลาบทำ ประชามิตร, ได้รู้จักคุ้นเคยกับคุณมาลัย และคุณสด.”
ปากคำของ “นายผี” แจ้งให้คนรุ่นหลังแบบพวกเรารับทราบว่า จำกัด เองเคยร่วมงานกับนักเขียนใหญ่เยี่ยง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” อันเป็นช่วงเวลาที่ กุหลาบ และเพื่อนพ้องกำลังจัดทำหนังสือพิมพ์ ประชามิตร จึงไม่แปลกถ้า จำกัด จะได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับ มาลัย ชูพินิจ และ สด กูรมะโรหิต ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมทำหนังสือพิมพ์กับ ศรีบูรพา
บุตรชายคนโตของท่านเจ้าคุณผดุงวิทยาเสริมมีหรือจะทอดทิ้งลวดลายการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ยิ่งช่วงนั้น หลวงพิบูลสงคราม กำลังเถลิงอำนาจและดูเหมือนจะทวีความเป็นนายกรัฐมนตรีผู้เผด็จการขึ้นทุกวัน จำกัด จึงอาศัยหน้ากระดาษของ ประชามิตร เขียนโจมตีหลวงพิบูลฯ แต่ก็ไม่สามารถกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้คล่องๆ ดังน้ำเสียงของ อัศนี ที่ว่า
“ตอนทำ ประชามิตร เขาได้เขียนต่อต้านหลวงพิบูลฯ ด้วยความยากลำบาก เพราะพูดตรงนักไม่ได้. พอพูดอ้อมค้อมหน่อยคนก็ไม่เข้าใจ. เราได้คุยกันมากในเรื่องนี้. ในที่สุดก็ได้แยกตัวออกมาทำเอกชน โดยมีคุณสดตามมาด้วย (หรือพูดว่าร่วมด้วยจะเหมาะกว่า).”
ช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้นในเมืองไทย จำกัด ยังเคยใช้นามปากกาว่า “โอษฐฤทธิ์” เขียนงานวิจารณ์ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ลงในหนังสือพิมพ์ เสียงไทย ที่ สุรีย์ ทองวานิช รั้งตำแหน่งบรรณาธิการ อันเป็นสื่อที่มุ่งมั่นต่อสู้กับระบอบศักดินานิยมและจักรพรรดินิยม รวมถึงระบอบเผด็จการ (ช่วงหลังสงครามโลกปิดฉากลง สุรีย์ ยังเคยถูกลอบสังหารจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด) ซึ่งบรรณาธิการชอบใจอย่างมาก หากเข้าใจไปว่าผู้เขียนงานคงจะเป็น อัศนี พลจันทร์
“ก่อนญี่ปุ่นขึ้น, เขาก็แอนตี้ฟาสซิสต์และแอนตี้ญี่ปุ่น. เขาเคยเขียน เสียงไทย ของสุรีย์ ยุคแรกๆ โดยใช้นามว่า “โอษฐฤทธิ์” เป็นบทนำหนังสือพิมพ์ที่ดีมากทีเดียวในยุคนั้น. สุรีย์ชื่นชมมาก, แต่เขากลับไม่รู้ว่าคุณจำกัดเขียน, คิดว่าผมเป็นผู้เขียน, จนทุกวันนี้. ทั้งนี้เพราะผมเป็นคนติดต่อให้ คุณจำกัด และคุณจำกัดเองก็ไม่ต้องการแสดงตัว.”
นิตยสารรายสัปดาห์ เอกชน ก่อเกิดขึ้นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทย เป็นการรวมกลุ่มกันของพวกนักเรียนนอกและปัญญาชนหัวสมัยใหม่ที่ไม่พึงพอใจการปกครองด้วยอำนาจนิยมของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งพยายามโฆษณาการและเรียกร้องให้ประชาชนต้องทำงานเพื่อชาติและเพื่อมหาชน แต่พวกตนเองกลับแกมโกงฉ้อฉลและเผด็จการฟาสซิสต์ กลุ่มของ จำกัด พลางกูร, สด กูรมะโรหิต, อัศนี พลจันทร์ และ วิทย์ ศิวศริยานนท์ จึงช่วยกันนำเสนอสิ่งพิมพ์ในชื่อ “เอกชน” เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านกับ “มหาชน” สำหรับเรื่องนี้ “อินทรายุทธ” หรือ อัศนี อธิบายว่า
“คุณจำกัดเป็นต้นคิดของ เอกชน, ชื่อนี้เขาก็ตั้งเพราะจะให้ตรงข้ามกับคำเรียกร้องของนาย แปลก ขณะนั้นที่ว่า ต้องมหาชน. สมัยนั้นนายแปลกเอะอะก็เรียกร้องให้ถือ “มหาชน” เป็นสำคัญ. คุณสดว่าจะเรียกอะไรถึงจะ “ต้าน” มันตรงๆ, คุณจำกัดเลยว่า “ก็เอกชนนะซิถึงจะตรง” “มันเอามหาชน เราเอาเอกชนจะเป็นไร” เราก็เห็นพร้อมกันเอา “เอกชน” สนุกดีอยู่. แต่พวกเราแล้วที่เป็นเอกชนจริงๆ คือคุณสด, แม้แต่คุณเนียนก็ไม่เป็นเอกชน. บรรณาธิการของเราก็คือ จำนง สิงหเสนี และคุณทำดี มีเรือช่วย นั่นแหละ. อย่างไรก็ดี, ยังเป็นหนังสือของพวกชนชั้นกระฎุมพีที่ก้าวหน้า, ที่คัดค้านฟาสซิสต์เท่านั้น. เราพยายามทำให้มันเป็นของประชาชน เอาพวกหัวเก่ามาปนกับพวกหัวใหม่แล้วดัดมาทางสังคมนิยม. เราได้คัดค้านสงครามเมืองขึ้นของพวกจักรพรรดินิยมฝรั่งเศสในอิน โดจีนด้วย, ได้คัดค้านระบอบศักดินานิยมและระบอบกษัตริย์สุดตัว โดยอาศัยลักษณะที่ก้าวหน้าของชนชั้นกระฎุมพีที่ร่วมงาน.”
เอกชน ออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2484 ในนิตยสารฉบับนี้ จำกัด เขียนบทความเรื่อง “รากฐานของปรัชญา” ลงตีพิมพ์
แม้จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เริ่มริโดยคณะของคนหนุ่มหัวก้าวหน้า แต่ครั้นจะนำเสนอแนวคิดและน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเก่าและฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเดียว เห็นทีจะประคองกิจการของนิตยสารให้ดำรงอยู่รอดได้ค่อนข้างยาก เพราะเผยแพร่ออกมาไม่กี่ฉบับก็ยินเสียงด่าแหลกลาญ ทาง เอกชน จึงจำเป็นต้องชักชวนนักเขียนมาหลากหลาย สด ถึงกับขอให้ภรรยาคือ เนียน แปลงานจากภาษาจีนมาช่วยสมทบ ฝ่าย อัศนี ก็ยินดีไปชวนพวกนักเขียนหัวเก่ามาร่วมเขียนงานลงตีพิมพ์ด้วย แม้เขาเองจะเคยตกเป็นเป้าให้นักเขียนเหล่านั้นด่ามาก่อน มิหนำซ้ำ หลายคนที่จัดทำหนังสือพิมพ์ ประชามิตร ซึ่ง อัศนี และ จำกัด เคยร่วมงานด้วย แต่ตัดสินใจอำลาออกมาก็ยังสบประมาทว่านิตยสาร เอกชน คงอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน น่าจะปิดตัว ดังที่ “นายผี” ย้อนรำลึกให้ฟัง
“พวกประชามิตรคาดว่าฝีมืออย่างนั้นไม่เคยทำหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน, แล้วเขียนหนังสือลายแทงไว้ว่าจะเลี้ยงกันว่าจริงหรือไม่. พวกเขาไม่มาช่วยเขียน เอกชน เลย. แต่ต่อมาคุณกุหลาบเป็นผู้มีคุณธรรมสูง, เห็นว่า เอกชน เดินทิศไหนก็มาเขียนเรื่องของ “สุนทรี” ให้, ถัดจากนั้นก็ร่วมมือกับเราตลอด, ความสัมพันธ์ระหว่างเขาก็งามขึ้น. ยาขอบก็มาช่วยเรา. เอกชน รวมนักเรียนนอกหัวใหม่รุ่นหนุ่มมาช่วยกันเขียน เช่น คุณวิทย์ ศิวศริยานนท์, คุณสมัคร บุราวาสก็มาเขียนเรื่อง ถนนเหล็ก จนโด่งดัง. ที่นั่น, คุณเนียนตามคุณสดมา, เราเสนอให้ช่วยเขียนแนะนำวัฒนธรรมและวรรณคดีจีนซึ่งคุณเนียนถนัด, คุณเนียนก็ช่วย เอกชน เป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่นั้น. ในที่สุดคุณเนียนก็แปล สุยหู่จ้วน (ซ้องกัง) ให้ เอกชน รวมทั้งเขียนเรื่องของจีนให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีอิทธิพลมาก. ผมยังจำ ร.จันทพิมพะ ได้ดีในระยะนั้น, เป็นนักเขียนสตรีที่น่าชื่นชมมาก. การจากโลกนี้ไปของคุณ ร. ยังทำให้สะเทือนใจอยู่จนทุกวันนี้.
ลำพังนักเรียนนอกนักเขียนหน้าใหม่, เอกชน คงจะขายไม่ออก. เราจึงไปรวบรวมนักเขียนรุ่นเก่ามาประสาน. ปัญญาชนรุ่นเก่านั้นเป็นพื้นฐานของ เอกชน, ไม่มีเขาก็ยืนไม่ติด...”
บรรดานักเขียนรุ่นเก่าที่พวกคนหนุ่มแห่ง เอกชน เชื้อเชิญมาร่วมเขียนงานให้ก็เฉกเช่น พระยาอนุมานราชธน เจ้าของนามปากกา “เสฐียรโกเศศ”, ขุนวิจิตรมาตรา เจ้าของนามปากกา “กาญจนาคพันธุ์”, หลวงบุณยมานพพาณิชย์ เจ้าของนามปากกา “แสงทอง” และ หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) เป็นต้น
ความจริงแท้ที่มิอาจปฏิเสธคือ ชีวิตของนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนคงมิพ้นประสบปัญหาด้านการเงินมาหล่อเลี้ยงชีพ จำกัด พลางกูร ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากข่ายนี้ นับตั้งแต่ก้าวเข้ามาครองบทบาทนักหนังสือพิมพ์อย่างแข็งขันช่วงต้นทศวรรษ 2480 เขามิวายประสบปัญหาค่าใช้จ่ายนานา จึงบังเกิดความคิดที่จะก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลสำหรับเด็กเล็กหรือ Kindergarten ขึ้นมาแสวงหารายได้อีกทางและเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม สืบเนื่องจาก ฉลบชลัยย์ ภรรยาของเขาได้สำเร็จประกาศนียบัตรวิชาการอนุบาล (A.M.I.A.) มาจากประเทศอังกฤษ จำกัด ไม่เพียงอยากจะส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ แต่จะต้องปลูกฝังให้เด็กๆ รักประชาธิปไตยและเป็นกำลังที่ดีของบ้านเมืองด้วย
ฉลบชลัยย์ เป็นบุตรีของ ขุนสมานสมุทกรรม (บุญหนุน มหานีรานนท์) กับนางแฉล้ม นามของเธอได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีนัยยะหมายถึงแม่น้ำแม่กลอง เหตุเพราะขุนสมานฯผู้บิดาของเธอเคยรับราชการในละแวกย่านแม่น้ำแห่งนั้น
ฉลบชลัยย์ เคยเรียนที่โรงเรียนราชินี และเคยเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ไปศึกษาต่อด้านอนุบาลในประเทศอังกฤษ อีกทั้งปีนั้นเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่สอบได้ หนังสือพิมพ์จึงนำภาพของเธอไปลงเผยแพร่ให้ประชาชนได้รู้จักหน้าค่าตา
ฉลบชลัยย์ พบรักกับ จำกัด ขณะพำนักในอังกฤษ มาดหมายว่าพอหวนกลับคืนเมืองไทย ทั้งสองจะแต่งงานกันในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2482 จำกัด และ ฉลบชลัยย์ จดทะเบียนสมรสกัน และได้เข้าพิธีวิวาห์กันเมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2482
ช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 จำกัด และ ฉลบชลัยย์ ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลบริเวณสะพานหัวช้าง ให้ชื่อโรงเรียนว่า “ดรุโณทยาน” โดยผู้ตั้งชื่อนี้คือ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เดิมที จำกัด ขอให้ อัศนี หรือ “นายผี” เพื่อนนักเขียนร่วมจัดทำนิตยสาร เอกชน ช่วยตั้งชื่อโรงเรียนเช่นกัน ซึ่ง อัศนี ตั้งว่า “ดรุณกานน” แต่ จำกัด ไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่ ครั้นพอเห็นชื่อที่คุณพระสารประเสริฐตั้งกลับชอบอย่างมาก
นักเรียนคนแรกสุดที่เข้าเรียนโรงเรียนดรุโณทยาน จนได้รับเลขประจำตัวหมายเลขหนึ่งก็เป็นบุตรสาวคนโตของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อย่าง “ศรีบูรพา” คือ เด็กหญิงสุรภิน สายประดิษฐ์
ต่อให้การเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์จะสร้างความฝืดเคืองแก่ชีวิต แต่สำหรับคนที่รักหนังสือมากๆ เยี่ยง จำกัด จะมีอะไรเป็นความสุขเลิศล้ำไปกว่าการได้จัดทำหนังสือ
ยามว่าง จำกัด มักจะชอบไปเลือกซื้อหนังสือในเวิ้งนาครเขษม ใช้เวลาเสาะหาหนังสืออยู่เป็นเวลาหลายนาน เขาเป็นนักสะสมหนังสือตัวยงและจะดูแลจัดเก็บหนังสืออย่างพิถีพิถัน
จำกัด ยังชื่นชอบการสนทนาเรื่องความรู้ต่างๆ กับผองเพื่อน โดยเฉพาะเรื่องปรัชญาและแนวความคิดของลัทธิต่างๆ อัศนี เคยพูดคุยและรับฟังที่ จำกัด เอ่ยถึงแนวคิดและทฤษฎีแบบมาร์กซิสต์ (Marxism)
“แม้ว่าดูเขาจะเป็นคนคิดแค่ประชาธิปไตยกระฎุมพี, แต่เขาอ่านหนังสือลัทธิมาร์กซมากทีเดียว. เขาเคยเดินพลางพูดเรื่องข้อเขียนของมาร์กซให้ผมฟังไปพลางเป็นเวลาตั้งชั่วโมงๆ ได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย. เวลานี้ผมมานึกดู, ที่เขาเคยเล่าให้ผมฟังดังกล่าวนั้นก็เป็นเรื่องที่มาร์กซได้เขียนไว้จริงทั้งสิ้น”
ครั้นกองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้ามายึดครองเมืองไทยเมื่อวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถเดินทางผ่านประเทศได้ กลุ่มของผู้จัดทำนิตยสาร เอกชน มักจะมารวมตัวกันประชุม ณ บ้านสะพานหัวช้างของ จำกัด เพื่อคิดหาหนทางที่จะก่อตั้งขบวนการต่อต้านพวกญี่ปุ่น สอดคล้องกับที่ “นายผี” แจกแจงรายละเอียดว่า
“ต่อมาญี่ปุ่นขึ้น, ในวันแรกนั้นเองกลุ่มนักเรียนนอกนี้ได้ประชุมกันคิดงานต่อต้านญี่ปุ่นที่บ้านสะพานหัวช้างของคุณจำกัด โดยคุณจำกัดเป็นตัวชักนำ. เนื่องจากเกิดสภาพผันผวนบางอย่างจึงยุติไปชั่วคราว.”
แม้กลุ่มของผู้จัดทำนิตยสาร เอกชน จะมิได้ร่วมดำเนินงานที่จะตั้งขบวนการกู้ชาติและต้านญี่ปุ่นต่อไปอีก แต่ตัวของ จำกัด ยังไม่ลดละความพยายามในเรื่องนี้ เขาติดต่อกับมิตรอีกรายที่เคยเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศมาด้วยกันคือ เตียง ศิริขันธ์ ทั้งสองคนลงความเห็นพ้องกันว่า จะต้องหาทางออกไปนอกประเทศเพื่อปฏิบัติการอะไรสักอย่างต่อต้านพวกทหารญี่ปุ่นหรือไปตั้ง “คณะกู้ชาติ” ขึ้น แต่ก็นึกทบทวนว่า การเดินทางออกไปนอกประเทศห้วงยามนั้นเป็นสิ่งยากยิ่งเหลือเกิน ไหนจะต้องมีเงินทุน ไหนจะต้องเสี่ยงภัยอันตราย จำกัด เลยตัดสินใจชวนนายเตียงไปเข้าพบ นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อปรึกษาหารือ
เตียง ศิริขันธ์ ถึงจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ก็หาใช่คนที่ได้ใกล้ชิด นายปรีดี ฉะนั้น คนที่ชักนำให้ เตียง มารู้จักคุ้นเคยกับ นายปรีดี ย่อมมิแคล้ว จำกัด เพราะคนหนุ่มผู้นี้ได้คลุกคลีและฝากตัวเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของ “อาจารย์ปรีดี” มาตั้งแต่ครั้งเขายังพำนักอยู่ในอังกฤ แล้ว นายปรีดี ถูกเนรเทศด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์จนระหกระเหินไปอยู่ฝรั่งเศสนานหลายเดือน
ผมเคยเขียนบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง นายปรีดี กับ จำกัด ห้วงเวลาดังกล่าวไว้ในบทความ “เมื่อจำกัด พลางกูร น้อยใจ ปรีดี พนมยงค์” https://pridi.or.th/th/content/2021/10/867
ในปี พ.ศ. 2486 นายปรีดี ตัดสินใจที่จะส่งผู้แทนจากเมืองไทยไปติดต่อประสานงานกับ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน โดยจะต้องเดินทางไปยังเมืองจุงกิง ประเทศจีน จึงเล็งเห็นว่าผู้ที่จะสามารถปฏิบัติภารกิจนี้ได้อย่างดีที่สุดคือ จำกัด เพราะเป็นนักเรียนอังกฤษ น่าจะทำให้ทางฝ่ายอังกฤษเชื่อถือ และเขาก็สนิทสนมกับ หม่อมราชวงศ์เสนีย์
ตามแผนการ จำกัด จะต้องออกไปทางชายแดนไทยที่จังหวัดนครพนมแล้วข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งท่าแขกของลาว เดินทางต่อผ่านไปทางเวียดนาม แวะฮานอยในเขตอินโดจีน เขาจะต้องไปพบ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและประวัติศาสตร์เอเชีย ทั้งยังเคยมาช่วยเหลืองานด้านหอสมุดของรัฐบาลสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่ออำนวยความสะดวกราบรื่น แล้วเดินทางเข้าสู่แผ่นดินจีนทางตอนใต้ เพื่อจะไปขอเข้าพบ ประธานาธิบดี เจียงไคเช็ค ที่เมืองจุงกิง เขามีล่ามภาษาจีนประจำตัวคือ ไพศาล ตระกูลลี้ เส้นทางนี้ถือว่าเป็นการเดินทางที่อ้อมไกลและต้องฝ่าฟันอย่างยากลำบาก ต้องเสี่ยงภัยต่อชีวิตเหลือแสนและระวังมิให้ถูกทหารญี่ปุ่นจับกุมตัวได้
จำกัด ออกเดินทางจากรุงเทพมหานครเมื่อวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ปีนั้น ตอนเขาไปเข้าพบอำลาต่อ นายปรีดี ที่ทำเนียบท่าช้าง นายปรีดี ได้มอบธนบัตรสำหรับใช้ในจุงกิง และยังสอบทองคำให้ เผื่อจะนำไปขายกลางทางยามขัดสนเข้าตาจน ก่อนจะจากกัน หัวหน้าขบวนการเสรีไทยเดินตามมาส่งถึงบันไดตึก พร้อมกล่าวว่า
“เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก 45 วันก็ได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก 2 ปีก็ได้พบกัน และเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป”
ผู้ฟังถึงกับตื้นตันจนน้ำตาคลอเบ้า
ใครเล่าจะคาดนึกว่า จำกัด พลางกูร จะมิได้หวนย้อนกลับมาเมืองไทยอีกเลย
เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ผู้ร่วมจัดทำ เอกชน อย่าง “นายผี” ซึ่งเคยประชุมกันเรื่องขบวนการกู้ชาติ ณ บ้านสะพานหัวช้าง เปิดเผยอีกว่า
“แต่คุณจำกัดแต่ผู้เดียวได้ติดต่อไปจนกระทั่งไปปรึกษานายปรีดีแล้วรับอาสาออกนอกประเทศจะไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยผ่านอินโดจีน (ไปพบเซเดส์ก่อน) แล้วไปจีน พบเจียงไคเช็คที่จุงกิงขอให้ช่วยติดต่อ. ณ ที่จุงกิงนั้นเขาได้สนใจการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาก, ได้หาเอกสารมาศึกษาค้นคว้าและทำบันทึกไว้เรียบร้อย. เขาจบบันทึกว่า “ในที่สุดคอมมิวนิสต์จะต้องชะนะแน่นอน” หลังจากนั้นก็ไม่มีบันทึกต่อแม้แต่ตัวเดียวของอักษร. เรารู้ว่าไต้หลีหรือนายเผ่าจีนได้ทำลายเขาเสียหลังจากเสนีย์ปฏิเสธไม่รับรู้เขา.”
จำกัด เดินทางไปถึงเมืองจุงกิงประมาณเดือนเมษายน แล้วต้องรอคอยอยู่เนิ่นนานและผิดหวังแล้วผิดหวังเล่า เพราะระยะแรกๆ ทางฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ค่อยอยากจะรับรองขบวนการเสรีไทยที่อยู่ในเมืองไทย กว่าเขาจะได้เข้าพบ ประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค ก็ล่วงถึงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2486
จำกัด พยายามโทรเลขติดต่อไปยัง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แต่ทางนั้นไม่ได้ให้การตอบรับสักที รัฐบาลจีนจึงไม่ยอมอนุญาตให้เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกา จวบกระทั่งในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ทางการจีนส่งคนมาแจ้งต่อ จำกัด ว่าได้อนุญาตให้เขาเดินทางไปสหรัฐฯ แล้ว เพียงแค่ต้องรอเครื่องบินสำหรับโดยสาร
ความที่ จำกัด หายเงียบไปนานหลายเดือน ทาง นายปรีดี จึงได้ส่ง สงวน ตุลารักษ์, แดง คุณะดิลก และ วิบูลวงศ์ วิมลประภา เดินทางมาถึงเมืองจุงกิงเมื่อเดือนกันยายนเพื่อติดตามข่าวคราว โดยทางจีนแจ้งรับรู้ทั้ง จำกัด และ สงวน แต่ช่วงนั้น จำกัด อยู่ในโรงพยาบาลเพราะมีอาการป่วยและทรุดหนักลงเรื่อยๆ
สงวน ได้ติดต่อขอให้ทางการจีนส่งตัว จำกัด ไปรักษาที่อินเดีย แต่ไม่ทันกาลเสียแล้ว ในที่สุด เขาถึงแก่กรรมในวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2486 แพทย์ลงความเห็นว่าสาเหตุมาจากมะเร็งตับและกระเพาะอาหาร แต่ความตายของ จำกัด ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่า บางทีเขาอาจจะถูกฝ่ายจีนหรือฝ่ายญี่ปุ่นวางยาพิษ
ดูเหมือน อัศนี หรือ “นายผี” จะเป็นคนหนึ่งที่เชื่อมั่นว่า จำกัด เพื่อนของเขาถูกฝ่ายจีนสังหาร มิได้ตายเพราะโรค ขณะที่คนรุ่นถัดมาอย่าง ฉัตรทิพย์ นาถสุภา มีความเห็นว่าการสังหารน่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายญี่ปุ่นมากกว่า เพราะผู้คอยดูแล จำกัด รายหนึ่ง ต่อมาถูกจับได้ว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น
การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจขบวนการเสรีไทยที่เมืองจุงกิงของ จำกัด พลางกูร ได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก นำไปสู่การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเพื่อช่วยให้ไทยรอดพ้นสถานะผู้พ่ายแพ้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลง ทว่าเขาต้องนำชีวิตไปทิ้งไว้ในต่างแดนตั้งแต่ยังวัยหนุ่มแน่น หวนย้อนคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนเพียงแค่เถ้ากระดูก
จำกัด ไม่ได้กลับมาทำงานเกี่ยวกับหนังสือในฐานะนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อีกหน อันเป็นบทบาทที่เขาหลงรักเป็นนักหนา ไม่ได้กลับมาคลุกคลีกับผองเพื่อนที่ร่วมจัดทำ เอกชน อีก และไม่ได้กลับมาพบหน้า ฉลบชลัยย์ หญิงผู้เป็นยอดรัก
หากเขาก็คงภาคภูมิใจที่ได้พลีชีพของตน “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”
อ้างอิง
- กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยพานิช, 2490.
- จำกัด พลางกูร. ปรัชญาของสยามใหม่. พระนคร: โรงพิมพ์กรุงเทพบรรณาคาร, 2479.
- จำกัด พลางกูร. รวมงานเขียนคัดสรร ของ จำกัด พลางกูร. ปิยศิลป์ บุลสถาพร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2557.
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. เพื่อชาติ เพื่อ humanity : ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2549.
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The FreeThai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546.
- ภูริ ฟูวงศ์เจริญ บรรณาธิการและออกแบบ. จำกัด พลางกูร : บทบันทึกงานครบรอบ 68 ปี วันสันติภาพไทย. กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557.
- สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, พันเอก ดร.. จากแฟ้มเอกสารลับที่สุด : เผย “ข้อมูลใหม่” ทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NARA). กรุงเทพฯ: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), 2564.
- เสถียร จันทิมาธร. สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย. กรุงเทพฯ : เจ้าพระยา, 2525.
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเนตร เขมะโยธิน. ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2528. นครปฐม: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2528.
- เอกชน. 1(1). (11 มกราคม 2484).
- 73 ปี วันสันติภาพไทย ผู้ปิดทองใต้ฐานพระ. กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561.
[1] ดูหนังสือ “หลักไทย” โดย ขุนวิจิตรมาตรา
[2] ดู William James : “Energies of Men ใน “Psychological Studies.”
William McDougall : “The Energies of MenW”
Golden Weiser : Culture, History and Psychology.”
- จำกัด พลางกูร
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- โอษฐฤทธิ์
- เสรีไทย
- นายปรีดี พนมยงค์
- ขบวนการเสรีไทย
- พระยาผดุงวิทยาเสริม
- คุณหญิงเหรียญ
- วิตต์ สุทธเสถียร
- สามัคคีสาร
- ปรัชญาของสยามใหม่
- Transition in Democracy
- กบฏพระยาทรงสุรเดช
- ผู้เผด็จการ
- รัฐบาลหลวงพิบูลฯ
- ระบอบประชาธิปไตย
- อัศนี พลจันทร์
- นายผี
- อินทรายุทธ
- เสถียร จันทิมาธร
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- ประชามิตร
- ศรีบูรพา
- นิตยสารรายสัปดาห์ เอกชน
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- เผด็จการฟาสซิสต์
- ฉลบชลัยย์ พลางกูร
- ดรุโณทยาน
- มาร์กซิสต์
- บ้านสะพานหัวช้าง
- ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น
- คณะกู้ชาติ
- เตียง ศิริขันธ์
- เสนีย์ ปราโมช
- เจียงไคเช็ค
- ไพศาล ตระกูลลี้
- เพื่อชาติ เพื่อ Humanity
- สงวน ตุลารักษ์
- แดง คุณะดิลก
- วิบูลวงศ์ วิมลประภา