ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

เตียง ศิริขันธ์ ผลงาน และการต่อสู้ก่อนและหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2

5
ธันวาคม
2567

Focus

  • ในเดือนธันวาคม เป็นทั้งวาระชาตกาล และมรณกรรมของนายเตียง ศิริขันธ์ เจ้าของฉายา “ขุนพลภูพาน” ในช่วงปฏิบัติการเสรีไทย มีบทบาททางการเมืองและสังคมสำคัญให้รำลึกหลากหลายด้านทั้งในด้านองค์การระหว่างประเทศ และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยภูมิหลัง นายเตียง จบการศึกษาอักษรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากเป็น ส.ส. ถึง 5 สมัยแล้ว เขายังเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และรัฐมนตรีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงสนับสนุนให้ขบวนการชาตินิยมและผู้นำให้ประเทศลาวและประเทศเวียดนามสามารถกอบกู้เอกราชและปลดแอกประเทศจากระบอบอาณานิคมหรือประเทศมหาอำนาจผ่านบทบาทในการสนับสนุนให้ก่อตั้ง “องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian League) ภายหลังสงคราม
  • นายเตียงขุนพลแห่งภาคอีสานถูกจับและดำเนินคดีอันเป็นคอมมิวนิสต์สมัยเป็นครู แม้ต่อสู้คดีชนะ แต่ได้ลาออกจากราชการไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสรีราษฎร์  ที่เน้นเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของผู้คน ได้รับความนิยมเป็น สส. ระหว่าง พ.ศ. 2480-2495 แต่ในที่สุดในปีสุดท้าย พ.ศ. 2495 นักประชาธิปไตยผู้นี้ก็ลูกอุ้มหายและสังหารโดยตำรวจ พร้อมคนอื่น ๆ อีก 4 คน

 


เตียง ศิริขันธ์ เมื่อครั้งยังเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ชีวประวัติย่อของเตียง ศิริขันธ์

นายเตียง ศิริขันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2452 ที่บ้านคุ้มวัดศรีสะเกษ ถนนมรรคาลัย ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ ขุนนิเทศพานิช (บุดดี ศิริขันธ์) หรือนายฮ้อยบุดดี เป็นชาวเมืองมหาชัยกองแก้ว ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มารดาชื่อนางอ้ม ศิริขันธ์ บิดามีอาชีพเป็นพ่อค้าเร่ สมัยนั้นเรียกว่า “นายฮ้อย” เป็นหัวหน้าคาราวานรับซื้อวัวควายไปขายที่เมืองมะละแหม่งในพม่า นายฮ้อยบุดดีเป็นน้องชายของพระบริบาลศุภกิจ (คำสาย ศิริขันธ์) กรมการพิเศษ นายเตียงเป็นบุตรคนที่ 6 ในบรรดาพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 9 คน

นายเตียงสมรสกับนางสาวนิวาศน์ พิชิตรณการ บุตรีของ ร.อ.นาถ และนางเวศ พิชิตรณการ เมื่อ พ.ศ. 2482 มีบุตรคนเดียว ชื่อ นายวิฑูรย์ ศิริขันธ์ ครอบครัวของภรรยาเตียงมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในด้านการศึกษานั้น นายเตียงจบการศึกษาสูงสุดระดับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) จากคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยสมัครเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่เรียนไม่จบเพราะไม่ได้ไปสอบ

ด้านชีวิตการทำงาน นายเตียงเริ่มทำงานด้วยการเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกุล จังหวัดอุดรธานี และลาออกจากราชการครูเมื่อ พ.ศ. 2479 เพราะถูกฟ้องร้องว่าฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมกับเพื่อนครูอีก 3 คน คือ นายปั่น แก้วมาตย์  นายญวง เอี่ยมศิลา และนายสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ แม้ต่อมาศาลตัดสินยกฟ้องแต่นายเตียงก็ปลี่ยนอาชีพจากข้าราชการครูไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ และทำงานบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสรีราษฎร์ 

ส่วนชีวิตทางการเมืองในระบบรัฐสภานั้น นายเตียงได้เข้าสู่การเมืองในการเลือกตั้งทางตรงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2480 โดยสมัครลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดสกลนคร และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรกโดยนับจากนั้นส่งผลให้นายเตียงได้รู้จักกับนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่ม ส.ส.ในภาคอีสาน ทั้งในการอภิรายในสภาผู้แทนราษฎรและการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยโดยเป็นกำลังสำคัญของเสรีไทยสายอีสานในเวลาต่อมา

 

บทบาททางการเมืองในและนอกระบบรัฐสภา

เส้นทางและบทบาททางการเมืองของนายเตียงที่กล่าวถึงในชีวประวัติย่อฯ ข้างต้นคือ การเป็น ส.ส. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนครั้งแรก นายเตียงสนใจทางการเมืองมาก่อนตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2476 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม จึงไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หลวงวรนิติปรีชา (วรดี พรหมสาขา ณ สกลนคร) อดีตผู้พิพากษา ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดสกลนครอย่างไม่มีคู่แข่ง

นายเตียงได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรกด้วยวัยเพียง 27 ปี ต่อมาได้รับเลือกตั้งทุกสมัย จนกระทั่งครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2495 รวมเป็น ส.ส. 5 สมัย (2480, 2481, 2489, 2492 และ 2495) และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 3 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 1 นายกรัฐมนตรีทวี บุณยเกตุ  สมัยที่ 2 นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และสมัยที่ 3 นายกรัฐมนตรีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

นายเตียงทำหน้าที่ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างโดดเด่นเป็นนักการเมืองหนุ่มฝีปากกล้า เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนเมื่อกลับไปสกลนครก็ออกเยี่ยมเยือนประชาชนในพื้นที่อยู่เสมอ เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีเป็นกันเองกับชาวบ้านไม่ถือตัว มีวาทศิลป์ในการพูด จนอาจกล่าวได้ว่า นายเตียง ศิริขันธ์ นั่งอยู่ในหัวใจของชาวสกลนคร อย่างแท้จริง และเมื่อมี พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับแรกใน พ.ศ. 2489 นายเตียงได้เป็นแกนนำสำคัญร่วมกับเพื่อนตั้งพรรคสหชีพ ที่สนับสนุนแนวทางทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์

นายเตียงได้ทุ่มเทเสียสละทำหน้าที่ ส.ส. เพื่อประเทศชาติและประชาชนด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังที่นักเขียนอาวุโส ศรีบูรพา นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้กล่าวยกย่องไว้ในหนังสือพิมพ์ประชามิตร ว่า “บุคคลที่มีความสุจริต จริงใจ และบากบั่นในการทำหน้าที่ของตนนั้น เป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรเป็นผู้แทนราษฎรอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าแน่ใจว่าข้าพเจ้าได้พบคุณสมบัติสาระสำคัญนี้ในเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนของชาวสกลนคร”

ทำนองเดียวกับที่ นายสุภา ศิริมานนท์ ยกย่องในหนังสือพิมพ์สยามนิกร ว่า “ในจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมด...เตียง ศิริขันธ์ เป็นบุคคลที่ดี ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน เตียง ศิริขันธ์ เป็นนักรัฐธรรมนูญที่แท้จริงเขาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรชาวสยามสมหน้าที่โดยสมบูรณ์”

อย่างไรก็ตาม บทบาททางการเมืองของนายเตียง ศิริขันธ์ต้องผลิกผันนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ร่วมกับพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผู้กุมอำนาจในกรมตำรวจ ประกาศจับนายปรีดี พนมยงค์ และกวาดล้างจับกุมสมาชิกพรรคสหชีพ รวมทั้งกลุ่มเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดี

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นายปรีดีร่วมกับพวกและทหารเรือในนาม “ขบวนการประชาธิปไตย” กระทำการยึดอำนาจรัฐคืนจากคณะรัฐประหาร และจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ไม่สำเร็จ จึงกลายเป็น “กบฏวังหลวง” ความพ่ายแพ้ของพลังประชาธิปไตยสายปรีดีถือเป็นการยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิงของนายปรีดี และนำไปสู่การกวาดล้างจับกุมนักการเมืองสายปรีดีครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

4 มีนาคม พ.ศ. 2492 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายจำลอง ดาวเรือง  นายถวิล อุดล และนายทองเปลว ชลภูมิ ถูก “วิสามัญฆาตกรรมทางการเมือง” ด้วยการยิงทิ้งที่กิโลเมตร 14-15 ถนนพหลโยธิน บางเขน โดยผู้นำของ “รัฐตำรวจ” ของคณะรัฐประหาร

หลังจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์ถูกสังหารอย่างทารุณ ได้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ นายเตียง ศิริขันธ์ มีโอกาสกลับมาเป็น ส.ส. อีกแต่การกลับมาเป็น ส.ส. ของนายเตียงสมัยที่ 4 (พ.ศ. 2492) และสมัยที่ 5 (พ.ศ. 2495) เขาต้องลดบทบาททางการเมืองไปอย่างมากเพราะภัยคุกคามจากฝ่ายเผด็จการยังมีตลอดเวลา ภายใต้รัฐบาลของนายกฯจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ฐานสนับสนุนจากกองทัพ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายเตียงคงเห็นว่าสถานการณ์การเมืองพอจะไว้ใจได้ จึงกลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้งโดยลงสมัครเข้ารับเลือกตั้ง และก็ได้รับเลือก แต่การที่เป็นนักการเมืองหัวแข็ง แม้จะร่วมอยู่ในพรรครัฐบาลคือพรรคเสรีมนังคศิลา นายเตียงและพวกถูกจับตัวไปฆ่าที่กรุงเทพฯและนำศพไปเผาเพื่ออำพรางคดีในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2495 อีกเจ็ดปีต่อมาจึงได้มีการสอบสวนและฟ้องร้องต่อศาล และต่อสู้กันถึงศาลอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยได้พ้นข้อหาไป

ในที่สุด วาระสุดท้ายของนายเตียงก็มาถึง เขาได้ “หายตัวไป” อย่างลึกลับในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2495 โดยมาปรากฏภายหลังถูกอำนาจเถื่อนสังหารโหดด้วยการ “รัดคอตาย” และนำไป “เผาย่างศพ” ฝังทิ้งที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีพร้อมกับอดีตเสรีไทย และคนขับรถ คือ นายชาญ บุนนาค  นายเล็ก บุนนาค  นายผ่อง เขียววิจิตร และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ รวมอายุของนายเตียงได้ 43 ปี

 

บทบาทผู้นำเสรีไทยสายอีสาน เจ้าของฉายา ‘ขุนพลภูพาน’

นอกจากนายเตียง ศิริขันธ์ จะมีบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาดังกล่าวมาแล้ว บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การเป็นผู้นำเสรีไทยภาคอีสานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายเตียงมิใช่แค่เพียงผู้นำเสรีไทยภาคอีสานและสกลนครเท่านั้น เขาเป็นแกนหลักในระดับ “ผู้ก่อการ” จัดตั้งขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ กล่าวคือ นายเตียงเป็นหนึ่งในแกนนำ “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ และก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับนายจำกัด พลางกูร และเพื่อน ส.ส. ภาคอีสาน จัดตั้ง “คณะกู้ชาติ” ต่อต้านญี่ปุ่นและพยายามโค่นอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต่อมา “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น” และ “คณะกู้ชาติ” ได้รวมตัวกันเป็น “ขบวนการเสรีไทย” ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ ในปลายปี พ.ศ. 2484

หากจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์ภายในคณะกู้ชาติของนายจำกัด พลางกูร กับนายเตียง ศิริขันธ์ จะเห็นว่า ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหารด้วยกัน และถ้าจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับนายเตียง ศิริขันธ์  นายจำลอง ดาวเรือง  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายถวิล อุดล แล้ว กล่าวได้ว่า ส.ส. อีสานทั้ง 4 คน อยู่ในฐานะลูกศิษย์ลูกหาของปรีดี พนมยงค์ ทั้งสิ้น ประการสำคัญเคยร่วมงานด้วยกันในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ โดยเฉพาะช่วง พ.ศ. 2483 - 2484 ในขณะที่ปรีดีดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ มีนายถวิลเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ

ดังนั้น หลังจากที่นายจำกัดยินยอมให้คณะกู้ชาติของตนอยู่ภายใต้การนำของนายปรีดีแล้ว นายจำกัดได้รับหน้าที่เดินทางไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่จุงกิง ประเทศจีน เพื่อยื่นข้อเสนอต่อฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ให้ถือว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นเป็น “โมฆะ” พร้อมกับขอให้ทั้งสองประเทศนี้สนับสนุนองค์การใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในรูปของการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นนอกประเทศ

ในเวลาเดียวกัน นายเตียงได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากนายปรีดีในการบุกเบิกจัดตั้งค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทย โดยได้จัดตั้งเป็นแห่งแรกในเขตภาคอีสานที่จังหวัดสกลนคร แล้วจึงขยายไปสู่จังหวัดใกล้เคียงที่มีพรรคพวกสนิทเป็นผู้ดำเนินการ

นายเตียงได้จัดตั้งกองบัญชาการใหญ่ของกลุ่มเสรีไทยอีสานที่สกลนครอันมีเทือกเขาภูพานเป็นศูนย์กลางแห่งการเคลื่อนไหว เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ ประกอบกับพื้นที่ในจังหวัดสกลนครนี้ นายเตียงคุ้นเคยและรู้จักดีที่สุด อันเป็นผลมาจากเคยออกไปหาคะแนนเสียงมาแล้วทุกตำบลหมู่บ้านนั้นเอง รายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยสกลนคร จะได้กล่าวในบทต่อไป

การจัดตั้งค่ายเสรีไทยในภาคอีสาน นอกจากที่จังหวัดสกลนครแล้วยังมีจังหวัดอื่นๆ อีก ดังนี้

เขตมหาสารคามและกาฬสินธุ์ อยู่ในความรับผิดชอบของ นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส. จังหวัดมหาสารคาม มีแกนนำที่สำคัญ เช่น ขุนไมตรีประชารักษ์ (ข้าหลวงประจำจังหวัด) นายกว้าง ทองทวี (ศึกษาธิการจังหวัด) นายไสว ถีนานนท์ (แขวงการทางจังหวัด) นายดิลก บุญเสริม (ครูโรงเรียนฝึกหัดครูมหาสารคาม) นายมาบ ภูมาศ และนายดิลก มะลิมาศ ได้จัดตั้งค่ายเสรีไทยที่ป่าเชิงเขาภูพานใกล้ๆ บ้านนาคู อำเภอกุฉินารายณ์ บริเวณนั้นมีสนามบินเก่าอยู่ด้วย ซึ่งได้รับการปรับปรุงจนใช้การได้เป็นอย่างดีในเวลาต่อมา นายจำลองได้ส่งแกนนำ คือ นายดิลก บุญเสริม  นายดิลก มะลิมาศ  นายมาบ ภูมาศ เดินทางไปรับการฝึกอาวุธที่ค่ายบ้านโนนหอม จังหวัดสกลนคร ค่ายบ้านนาคูแห่งนี้จึงมีความใกล้ชิดกับหน่วยเสรีไทยในจังหวัดสกลนครเป็นอย่างมาก และนายเตียงก็เดินทางไปมาระหว่างบ้านนาคู จังหวัดมหาสารคาม กับค่ายเต่างอยและค่ายโนนหอม จังหวัดสกลนคร บ่อยครั้ง

เขตอุดรธานี นายเตียงมอบหมายให้ "เพื่อนสนิท" คือ นายอ้วน นาครทรรพ และคณะ ได้แก่ นายเพ่ง โพธิจินดา  นายมี ศรีทองสุก และนายจันทร วชิระภักดิ์ จัดตั้งค่ายเสรีไทยขึ้นที่บ้านสามพร้าว อำเภอเมือง และบ้านไชยวาร อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เสรีไทยเขตอุดรธานีส่วนหนึ่งผ่านการฝึกอบรมจากค่ายเสรีไทยในจังหวัดสกลนคร เช่น ค่ายบ้านโนนหอม ค่ายบ้านเต่างอย ค่ายดงพระเจ้า

เขตนครพนม อยู่ในความรับผิดชอบของนายถวิล สุนทรศารทูล (ข้าหลวงประจำจังหวัด) และนายสัมฤทธิ์ ขุนเมือง (ศึกษาธิการจังหวัด) ช่วงแรกตั้งค่ายที่บ้านกุดเผือกยางคำ ต่อมาย้ายไปที่บ้านปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ครูฝึกเสรีไทยต่างได้รับการฝึกอาวุธจากค่ายโนนหอม จังหวัดสกลนคร

เขตอุบลราชธานี อยู่ภายใต้การดูแลของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์กับนายเตียง ศิริขันธ์  นายจำลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล การตั้งค่ายเสรีไทยในเขตอุบลราชธานี คาดว่าน่าจะเริ่มขึ้นช่วงต้นปี พ.ศ. 2488 เช่นเดียวกับค่ายเสรีไทยเขตมหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี และนครพนม

เขตหนองคาย มีแกนนำผู้รับผิดชอบ คือ นายอ้วน นาครทรรพ และนายปกรณ์ อังคสิงห์ (ข้าหลวงประจำจังหวัด) มีทั้งค่ายอยู่ที่บ้านเก่าน้อยดอนหมู อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งค่ายเสรีไทยในจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น ทั้งสองแห่งไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายเตียง แต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเสรีไทยส่วนกลาง เป็นเสรีไทยสายหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ

 

บทบาทของเตียง ศิริขันธ์ ใน “องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian League)

ข่าวการประชุม องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian League) ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ The Singapore Free Press เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีชื่อของ เตียง ศิริขันธ์ เป็นประธานองค์กรสันนิบาตฯ เจ้าสุภานุวงศ์ เป็นรองประธาน และ นาย Le Hi เป็นเลขานุการ
ที่มา: NewspaperSG - PLAN AIMS AT INCLUSION (nlb.gov.sg) และ องค์กรสันนิบาตฯ: ปณิธานของปรีดี พนมยงค์ที่มาถึงอีก 4 ทศวรรษ.

 

ความคิดริเริ่มการก่อตั้ง “องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian League) ปรากฏตัวขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือการรวมตัวของประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียวันตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ได้เกิดขบวนการชาตินิยมปลดแอกจากมหาอำนาจอาณานิคมหลายประเทศ โดยมุ่งรักษาเสถียรภาพและความเป็นมิตรกันของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

แต่ความพยายามครั้งนั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เพราะภายใต้ระเบียบทางการเมืองโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ถูกชูขึ้นมาเป็นธงนำในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ส่งผลให้ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และอุดมการณ์ทางการเมืองนี้ ความหลากหลายซึ่งน่าจะเป็นโอกาสก็กลายเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งองค์กร ในเวลาต่อมา

นายปรีดีเคยกล่าวถึงปณิธานการก่อตั้งว่ามาจากอะไร โดยพบว่าความคิดการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian League) ที่เกิดขึ้น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ต้องการปลดแอกและนำไปสู่การคิดก่อตั้ง “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่ปรีดีกล่าวว่าไม่ได้อ้างเรื่องสันนิบาตนี้ว่าเป็นความคิดริเริ่มของท่านเองโดยเฉพาะ

โดยปรีดีมีความเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่กลางระหว่างจีนและอินเดีย ถ้าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแยกกันก็จะอยู่ได้ลำบากถ้ารวมกันสมานกันได้ก็จะเป็นพลังอันหนึ่ง จึงได้ตกลงกันเรื่องสมาคม (สันนิบาต) มีลาว เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย มอญ และไทยใหญ่มาร่วมประชุมกัน แต่ยังมิได้ลองลงมือตั้งให้เป็นทางการ

ดังนั้นจึงยังคงเป็นแต่ความคิดริเริ่ม ‘เตียง ศิริขันธ์’ นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นคนที่ได้ช่วยเหลือและมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวกับเอกราชของลาวและเวียดนามมาก

‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ถาม และ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ตอบแสดงให้เห็นถึงปณิธานตั้งต้นของปรีดีว่ามาจากอะไร โดยพบว่าความคิดการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian League) ที่เกิดขึ้น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ต้องการปลดแอกและนำไปสู่การคิดก่อตั้ง “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่ปรีดีกล่าวว่าไม่ได้อ้างเรื่องสันนิบาตนี้ว่าเป็นความคิดริเริ่มของท่านเองโดยเฉพาะ

โดยปรีดีมีความเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่กลางระหว่างจีนและอินเดีย ถ้าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแยกกันก็จะอยู่ได้ลำบากถ้ารวมกันสมานกันได้ก็จะเป็นพลังอันหนึ่ง จึงได้ตกลงกันเรื่องสมาคม (สันนิบาต) มีลาว เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย มอญ และไทยใหญ่มาร่วมประชุมกัน แต่ยังมิได้ลองลงมือตั้งให้เป็นทางการ

ดังนั้นจึงยังคงเป็นแต่ความคิดริเริ่ม ‘เตียง ศิริขันธ์’ นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นคนที่ได้ช่วยเหลือและมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวกับเอกราชของลาวและเวียดนามมาก โดบความคิดในเรื่องสันนิบาตและความเป็นกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันบางพวกไม่พอใจและไม่สนับสนุนปรีดี โดยเฉพาะพวกที่เข้ามามีอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ถึงตรงนี้มีประเด็นที่สำคัญที่พอจะชี้ให้เห็นอุปสรรคบางประการ จนทำให้เห็นได้ว่าอะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้องค์กรที่ดูมีใบหน้าเป็นมิตรเกี่ยวร้อยผู้คนในภูมิภาคนี้ให้สมานสามัคคีจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ในช่วงสงครามโลกปรีดี พนมยงค์ และขบวนการเสรีไทย ล้วนปฏิบัติการอย่างแข็งขันในการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่สหรัฐในภาคพื้นทวีป

ขณะเดียวกันอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ทันทีที่ ‘แฮรี่ เอส. ทรูแมน’ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1945 นโยบายต่างประเทศก็เปลี่ยนไป จากที่สหรัฐเคยเห็นใจขบวนการชาตินิยมต่อต้านอาณานิคม ก็หันไปสู่การให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและป้องกันมิให้เกิดการปฏิวัติเกิดขึ้นในโลก โวหารการต่อต้านคอมมิวนิสต์และสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบนับจากนั้น

กรณีเช่นนี้ส่งผลต่อรัฐบาลปรีดีโดยตรง แม้ว่าในช่วงสงครามโลกสหรัฐจะเคยให้ความช่วยเหลือปรีดีในการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. และญี่ปุ่น รวมถึงช่วยให้ไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม แต่เมื่อมาถึงยุคทรูแมนแล้ว การสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในเวียดนามของปรีดีและความพยายามก่อตั้งองค์กรสันนิบาตฯ ก็นับเป็นสิ่งที่สหรัฐไม่เห็นด้วย แต่ปรีดีก็พยายามต่อไป ดังจะพบได้ในเดือนกันยายนปี 2490 ก่อนการรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน จะมาถึงไม่นาน ความเห็นอกเห็นใจของปรีดีต่อรัฐบาลชาตินิยมเวียดนามก็มิได้รับการตอบรับจากดี.ซี. เหมือนเช่นที่เป็นมา

แง่มุมชีวิตของนายเตียง ศิริขันธ์ ปรากฏให้เห็นบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปลดแอกให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้รับเอกราชจากประเทศอาณานิคมและประเทศมหาอำนาจ คือ  เป็นผู้หนึ่งคิดและผลักดันให้ก่อตั้ง “องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian League) ขึ้น

 

บรรณานุกรม

หนังสือ

  • ปรีชา ธรรมวินทร, การเกิดขบวนการเสรีไทยสกลนคร, ใน 77 ปี วันสันติภาพไทย : เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565), หน้า 22-37.
  • วิสุทธ์ บุษยกุล, เตียง ศิริขันธ์ วีรชนนักประชาธิปไตย ขุนพลภูพาน พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553)
  • อุดร วงษ์ทับทิม, ปรีดี พนมยงค์กับขบวนการกู้เอกราชในลาว (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2543)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :