ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ชาญ บุนนาค ช่างเสียงมือหนึ่ง เสรีไทยหัวหิน สู่เหยื่อฆาตกรรมการเมือง

12
ธันวาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเกร็ดประวัติศาสตร์บันทึกบทบาทช่วงหนึ่งของนายชาญ บุนนาค กับบทบาทสมาชิกขบวนการเสรีไทยในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • ชีวประวัติย่อของนายชาญ บุนนาค มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิทยุและการบันทึกเสียง เป็นถูกเกณฑ์ทหารเป็นสิบตรีทหารสื่อสารนอกกอง ทำอาชีพพนักงานฉายหนังที่ศาลาเฉลิมกรุง เป็นช่างบันทึกเสียงให้กับบริษัทแผ่นเสียงและภาพยนตร์สำคัญแห่งยุค เช่น บริษัทสหศินิมา บริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด (ไทยฟิล์ม) ของพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๓ (ค.ศ. 1937 -1940) ซึ่งทิ้งมรดกเพลงอมตะให้แก่สังคมไทย เช่น บัวขาว ดอกไม้ วันเพ็ญ ลมหวน ฯลฯ และกองอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยนายปรีดี พนมยงค์ อันเป็นภาพยนตร์สื่อสารความปรารถนาสันติภาพจากชนชาวไทยสู่โลกสากล นอกจากนี้เป็นช่างซ่อมวิทยุสอบได้ใบอนุญาตจากกรมโฆษณาการ

 


นายชาญ บุนนาค

 

ภูมิหลังและอาชีพนายช่าง

นายชาญ บุนนาค บุคคลผู้นี้มีเชื้อสายตระกูลบุนนาค เป็นบุตรจมื่นสวัสดิ์วินิจฉัย (ชด บุนนาค) และนางสง่า บุนนาค (นามะสนธิ) ทั้งได้สมรสกับนางสาวปิ่มปลื้ม สุจริตกุล พระขนิษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ ๖ และพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖ จึงนับเป็นพระญาติวงศ์ไปด้วย แล้วสร้างบ้านในบริเวณเดียวกับบ้านของพระสุจริตสุดา ที่ถนนพระราม ๕ จากภูมิหลังครอบครัวจึงมีความใกล้ชิดกับเจ้านาย ขุนนาง นักการเมือง ข้าราชการผู้ใหญ่จำนวนมาก แม้แต่ขั้วตรงข้ามกับผู้ดีเก่า เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน นายชาญ บุนนาคก็ได้มีโอกาสใกล้ชิดด้วยเช่นกัน

 


รูปหน้าแผ่นเสียงเพลงบัวขาว (พ.ศ. ๒๔๘๑) บริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด (ไทยฟิล์ม) ของพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งนายชาญ บุนนาคมีบทบาทเป็นช่างบันทึกเสียง ที่มา: ช่อง YouTube คนฝั่งธน

 


โปสเตอร์ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกซึ่งนายชาญ บุนนาคมีบทบาทร่วมบันทึกเสียง ที่มา : https://www.fapot.or.th/main/cinema/view/1015

 

นายชาญผู้นี้มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิทยุและการบันทึกเสียง เป็นถูกเกณฑ์ทหารเป็นสิบตรีทหารสื่อสารนอกกอง ทำอาชีพพนักงานฉายหนังที่ศาลาเฉลิมกรุง เป็นช่างบันทึกเสียงให้กับบริษัทแผ่นเสียงและภาพยนตร์สำคัญแห่งยุค เช่น บริษัทสหศินิมา บริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด (ไทยฟิล์ม) ของพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๓ (ค.ศ. 1937 -1940) ซึ่งทิ้งมรดกเพลงอมตะให้แก่สังคมไทย เช่น บัวขาว ดอกไม้ วันเพ็ญ ลมหวน ฯลฯ และกองอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยนายปรีดี พนมยงค์ อันเป็นภาพยนตร์สื่อสารความปรารถนาสันติภาพจากชนชาวไทยสู่โลกสากล นอกจากนี้เป็นช่างซ่อมวิทยุสอบได้ใบอนุญาตจากกรมโฆษณาการ

ในช่วงเวลาพักผ่อนนายชาญ บุนนาคและครอบครัวมักจะมาพักผ่อนตากอากาศที่หัวหินเป็นประจำ อาศัยบ้านสุจริตเวศน์ที่ชายหาดหัวหินของพระสุจริตสุดา (พี่สาวภรรยา) จึงมีความสนิทสนมกับคนสำคัญท้องถิ่นหัวหิน-ปราณบุรี เช่น นายใช้ ห้วงน้ำ พ่อค้าไม้และพรานท้องถิ่น และนายโตมร ลางคุลเสน กำนันตำบลปากน้ำปราณ เชื้อสายผู้ดีบางกอก

 

เสรีไทยในหัวหิน

เมื่อเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา นายชาญ บุนนาคได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมปรึกษาใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยนับแต่เริ่มต้นสงคราม ได้อาศัยพันโท สำเริง เนตรายน ญาติที่เป็นนายทหารไทยประจำกรมประสานงานพันธมิตร เพื่อสืบข่าวทหารญี่ปุ่นเบื้องต้นให้แก่เสรีไทย

ในระยะที่เสรีไทยในประเทศยังไม่สามารถติดต่อกับนอกประเทศ นายชาญได้ออกสำรวจภูมิประเทศด้านเพชรบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ แฝงกับการล่าสัตว์ในป่าเขาทั่วท้องที่ ออกเรือเที่ยวชายฝั่งและเกาะแก่งต่าง ๆ และสร้างไร่ฝ้ายทางหัวหินและบางเบิด เพื่อเตรียมการแสวงหาทางติดต่อต่างประเทศ เพื่อกำหนดจุดรับพลร่มที่หัวหิน และพื้นที่สำหรับตั้งค่ายพลพรรคหัวหิน

พื้นที่ปราณบุรี - หัวหินในยามสงครามมหาเอเชียบูรพานี้ อยู่ในเส้นทางรถไฟที่กองทหารญี่ปุ่นเคลื่อนที่ผ่านอยู่เสมอ มีสถานีส่งกำลังบำรุงย่อยของทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ตามแนวต่าง ๆ มีเพียงเวรยามญี่ปุ่นเฝ้ารักษา นับว่ามีกองทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่เบาบางกว่าอีกหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ลำปาง กรุงเทพฯ เป็นต้น หัวหินจึงเป็นพื้นที่ห่างสายตาทหารญี่ปุ่น

ภายหลังจากการประสานงานเสรีไทยในและนอกประเทศได้กระทำสำเร็จ ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ชุดปฏิบัติการเสรีไทยสายอังกฤษนำโดย ร.อ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และชุดปฏิบัติการเสรีไทยสายอเมริกานำโดย ร.อ. วิมล วิริยะวิทย์ สามารถประสานความร่วมมือกับผู้นำเสรีไทยในประเทศ เช่น นายปรีดี พนมยงค์ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส นายดิเรก ชัยนาม นายทวี บุณยเกตุ พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ ฯลฯ

หลังจากนั้นทางด้านเสรีไทยสายอังกฤษได้ตกลงใจร่วมมือกับเสรีไทยในประเทศ จัดตั้งหน่วยพลพรรคเสรีไทยบุกเบิก ๓ หน่วย ได้แก่กรมสารวัตรทหาร (พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ) หน่วยพลพรรคสกลนคร (นายเตียง ศิริขันธ์) และหน่วยพลพรรคหัวหิน (นายชาญ บุนนาค และนายใช้ ห้วงน้ำ)

เมื่อเช้ามืดวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ และ ร.ต. กฤษณ์ โตษยานนท์ (ยศกองทัพบกอังกฤษ) เสรีไทยสายอังกฤษ ในชุดปฏิบัติการบริลลิก (BRILLIG) ได้โดยสารเครื่องบินกองทัพอากาศอังกฤษ ทำการกระโดดร่มที่ช่องเขาด่าง ส่วนหนึ่งของเขาหินเหล็กไฟ หัวหิน พร้อมทิ้งร่มอาวุธ วิทยุสื่อสาร และยุทธภัณฑ์อื่น ๆ อีก ๑๑ ร่ม มีนายชาญ บุนนาคและพรรคพวกมารอรับ ในพื้นที่ห่างออกไป  พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ สารวัตรใหญ่ทหารได้นำกำลังสารวัตรทหารคุ้มครองห่าง ๆ จากจุดรับร่ม

 


ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน บริเวณช่องเขาด่าง ตำบลเขาหินเหล็กไฟ หัวหิน จุดรับร่มและที่ตั้งค่ายเสรีไทยหัวหิน
ที่มา : ภาพส่วนบุคคลของนายวันใหม่ นิยม

 

เมื่อมาถึงหัวหิน นายชาญได้พาเสรีไทยสายอังกฤษทั้งสองได้ขึ้นเรือศุลกากร ภายใต้การควบคุมของหลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) อธิบดีกรมศุลกากร นายสินธุ์ อุทัยศรีเป็นนายเรือ ล่องไปที่จังหวัดสมุทรสงคราม  ขึ้นรถไฟสายแม่กลองเข้ากรุงเทพฯ ได้นำสาส์นจาก พล.ร.อ. ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบตเตน (Louis Mountbatten) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการและหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

หลังจากนั้นไม่นานอังกฤษได้ทิ้งร่มอาวุธยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมที่หาดทรายหน้าเขาสามร้อยยอด ชุดปฏิบัติการบริลลิกและพลพรรคในประเทศไปรับและนำไปเก็บรักษาที่กรุงเทพฯ

 


ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์

 

ร้อยตรี ประเสริฐ ปทุมานนท์ นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ สังกัดกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ผู้กระโดดร่มและตั้งค่ายเสรีไทยหัวหิน-ปราณบุรี

ในระยะเวลาต่อมา ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ร.ต. กฤษณ์ โตษยานนท์ (รหัส คง) ได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่ค่ายเสรีไทยภูพาน สกลนคร ส่วน ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ (รหัส เป๋า) รับมอบภารกิจตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยที่หัวหิน

 

หัวหน้าสืบราชการลับและวิทยุสื่อสาร

เมื่อเสรีไทยในประเทศมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น จึงได้ตั้งระบบกองบัญชาการเสรีไทย ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้าสูงสุด นายชาญ บุนนาค ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าสืบราชการลับและวิทยุสื่อสาร ด้วยภูมิหลังเป็นนายช่างวิทยุและนายช่างบันทึกเสียง จึงได้รับผิดชอบตั้งสถานีวิทยุลับที่กองบัญชาการใหญ่เสรีไทย สื่อสารกับกองบัญชาการสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (South - East Asia Command - SEAC) และหน่วยรองที่ศรีลังกาและอินเดีย และกระจายสถานีย่อยสำรองต่าง ๆ ในพระนคร ที่แห่งหนึ่งคือบ้านพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖ ผู้เป็นพี่สาวภรรยา นายชาญได้ยืมบ้านหลังนี้สำหรับตั้งสถานีวิทยุลับทั้งฝ่ายอังกฤษและอเมริกัน

 


บ้านนายชาญ บุนนาค บริเวณเดียวกับบ้านพระสุจริตสุดา ใช้เป็นที่ตั้งสถานีวิทยุลับเสรีไทยอีกแห่งหนึ่ง ที่มา : Thailand’s Secret War; The Free Thai, OSS, and SOE during World War II. โดย E. Bruce Reynolds, Cambridge University Press, 2004

 

ในด้านการสืบราชการลับและข่าวต่าง ๆ นอกจากแหล่งข่าวจากกรมประสานงานพันธมิตร (ไทย - ญี่ปุ่น) ผ่านพันโท สำเริง เนตรายน ญาติของนายชาญแล้ว นายชาญยังมีเครือข่ายข่าวจากสถานีขนส่งรถไฟ ท่าเรือต่าง ๆ ถึงกับในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ได้เคยรายงานถึงกำหนดการเดินเรือของเรือดำน้ำเยอรมันบรรทุกทังสเตน (ที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้มอบให้) จากท่าเรือที่กรุงเทพฯ ไปแวะจอดที่ท่าเรือเมืองปีนัง ในมลายา (ที่ญี่ปุ่นกำลังยึดครอง) ส่งข่าวให้กองบัญชาการสัมพันธมิตร จนกองบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรได้โจมตีทิ้งระเบิดเมืองท่าปีนังอย่างย่อยยับ พร้อมกับจมเรือดำน้ำเยอรมันลำนั้นไปด้วย

 


สถานีรถไฟหัวหินแหล่งสืบข่าวทหารญี่ปุ่น และเส้นทางคมนาคมหลักด้านหัวหิน
ที่มา: ภาพส่วนบุคคลของนายวันใหม่ นิยม

 

ต่อมางานสืบข่าวทหารญี่ปุ่นได้รับความร่วมมือจากฝ่ายตำรวจอย่างเข้มแข็ง ภายใต้ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และผู้บังคับการตำรวจสนาม เครือข่ายการข่าวจึงกว้างขวางมากขึ้น

 

ค่ายพลพรรคเสรีไทยในหัวหิน - ปราณบุรี

ค่ายพลพรรคเสรีไทยที่หัวหิน มีหัวหน้าได้แก่นายชาญ บุนนาค นายเล็ก บุนนาค น้องชาย นายชวน บุนนาค น้องชายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการศุลกากรที่หัวหิน นายใช้ ห้วงน้ำ พรานป่าและนายหน้าค้าไม้ ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ (รหัส เป๋า) เสรีไทยสายอังกฤษเป็นครูฝึก ใช้อาวุธอังกฤษเป็นหลัก

ค่ายฝึกแห่งแรก บ้านพักราชการใกล้กำแพงทางทิศเหนือของวังไกลกังวลนายชวนได้จัดให้ ร.ต.ประเสริฐ ในตำแหน่งที่ห่างจากชุมชน ท่านหญิงพรพิลาศ บุนนาค (ดิศกุล) ภรรยานายชวนได้จัดคนรับใช้และเตรียมอาหารส่งเสมอ มีเรือนแถวใกล้กันใช้เป็นคลังอาวุธยุทธภัณฑ์ พื้นที่ว่างใช้เป็นสนามฝึกพลพรรค

 


นายใช้ ห้วงน้ำ คหบดี นายหน้าค้าไม้ และพรานใหญ่ แกนนำค่ายเสรีไทยหัวหิน (คนที่ ๒ จากขวา) ชุดสีออกดำ

 

ด้านกำลังพลพรรค นายชาญ บุนนาค นายปุ๊ บุนนาค และนายใช้ ห้วงน้ำได้รวบรวมข้าราชการมหาดไทย ตำรวจ กรมทาง รถไฟ ครูประชาบาล และประชาชนที่ไว้วางใจได้ ฝึกคราวละ ๔ - ๖ คน มีทั้งปืนกลมือสะเตน ปืนเล็กคาร์ไบน์ ระเบิดขว้าง ระเบิดทำลาย เป็นต้น

ค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทยหัวหินแห่งที่สอง ตั้งที่ช่องเขาด่าง ตำบลเขาหินเหล็กไฟ แล้วจึงได้ตั้งค่ายฝึกพลพรรคเสรีไทยพร้อมสถานีวิทยุที่นั่น ซึ่งมีพื้นที่ราบหลังช่องเขาด่างรับร่มได้และเป็นสนามฝึกที่ดี ได้สร้างโรงเรือนไม้ไผ่หลังคาจากสำหรับพลพรรค มีป่าละเมาะและเต็งรังปกคลุมอำพรางการฝึกจากสายตาทหารญี่ปุ่นได้ โดยเมื่อมีพลพรรคเพิ่มจำนวนจึงได้ตั้งค่ายแห่งใหม่ที่นี่ มีพื้นที่กว้างขวางกว่าเดิม แล้วได้ติดต่อฝ่ายอังกฤษที่แผนกประเทศสยาม กองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ที่อินเดีย ให้ส่งอาวุธยุทธภัณฑ์เพิ่มเติม ได้รับมาจำนวน ๘ ร่มที่ค่ายแห่งนี้

ค่ายพลพรรคเสรีไทยที่ปราณบุรี นายโตมร ลางคุละเสน กำนันตำบลปากน้ำปราณเป็นหัวหน้าค่ายท้องถิ่น ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ไปช่วยงานจัดตั้ง ตั้งค่ายที่เนินเขาห่างจากชุมชนปากน้ำปราณประมาณ ๔ - ๕ กิโลเมตร บริเวณปากน้ำปราณบุรี มีชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งค่ายกองโจร มีทั้งเขาสามร้อยยอด ชายหาด ทะเล เหมาะแก่การซ่อนพรางและมีทางหนีได้ ในการนี้ ร.ต.ประเสริฐได้ไปเบิกอาวุธยุทธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ แล้วล่องเรือจากศรีราชาตัดข้ามอ่าวไทยมาหัวหิน ค่ายที่ปราณบุรีนี้ตั้งขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๘  (ค.ศ. 1945)

 


นายโตมร ลางคุลเสน กำนันตำบลปากน้ำปราณ หัวหน้าค่ายพลพรรคเสรีไทยปราณบุรี
ที่มา: ภาพจากนางเพช ลางคุลเสน ลูกสะใภ้นายโตมร ลางคุลเสน

 

ในช่วงเดือนสุดท้ายของสงคราม ประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ค่ายพลพรรคเสรีไทยที่หัวหิน - ปราณบุรีมีความเข้มแข็ง ผู้นำเช่น นายชาญ บุนนาค นายชวน บุนนาค นายใช้ ห้วงน้ำ นายโตมร ลางคุละเสน เป็นต้น สามารถดำเนินงานได้เอง กองบัญชาการเสรีไทยจึงได้ให้ ร.อ.ประเสริฐ ปทุมานนท์ (เลื่อนยศระหว่างปฏิบัติงาน) ไปช่วยปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกลางที่กรุงเทพฯ

 


แนวเขาใกล้ชุมชนปากน้ำปราณ ที่สภาพใกล้เคียงกับพื้นที่ตั้งค่ายเสรีไทยปราณบุรี
ที่มา: ภาพส่วนบุคคลของนายวันใหม่ นิยม

 

นอกจากงานเสรีไทยด้านหัวหิน - ปราณบุรีแล้ว เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) นายชาญ และนายเล็ก บุนนาค สองพี่น้องเสรีไทย และ ร.ต. ประเสริฐ ปทุมานนท์ได้ช่วยเหลือรับ ร.ต. สวัสดิ์ ศรีศุข เพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ Force 136 เมื่อกระโดดร่มที่หัวหิน แล้วนายชาญพา ร.ต.สวัสดิ์ไปรายงานตัวต่อ “รู้ธ” นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าใหญ่เสรีไทยที่กรุงเทพฯ ต่อมาในเดือนมิถุนายน นายปรีดีสั่งให้ ร.ต.สวัสดิ์ไปตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ แต่ต้องรอให้ตั้งข้าหลวงประจำจังหวัดและผู้กำกับตำรวจภูธรเสียก่อน นายชาญ บุนนาคก็ได้เป็นธุระในการประสานข่าวการรับตำแหน่งของข้าหลวงและผู้กำกับตำรวจ รวมทั้งได้จัดการรับ ร.ต.สวัสดิ์เดินทางจากกรุงเทพฯ - หัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ให้สะดวกและปลอดภัยจากทหารญี่ปุ่น แม้จะโดยสารรถขบวนเดียวกับกองทหารญี่ปุ่น

เมื่อสิ้นสงครามประมาณว่าค่ายพลพรรคเสรีไทยที่หัวหิน - ปราณบุรี มีกำลังพล ๓๐๐ นาย พร้อมอาวุธกองโจรทันสมัย เมื่อรวมจำนวนกับพลพรรคเสรีไทยทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกประมาณ ๗๐๐ นาย ภายใต้บังคับของข้าหลวงประจำจังหวัด กองบินทหารอากาศ และกองตำรวจภูธร ทั้งจังหวัดจึงมีกำลังพลพรรคทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ นาย

ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา นายชาญ บุนนาคได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภา ได้รับสัมปทานป่าไม้ และยังคงเป็นช่างบันทึกเสียงบริษัทนำไทย ได้ร่วมบันทึกเสียงเพลงจากวงดนตรีสำคัญของยุคสมัย เช่น วงดนตรีกรมโฆษณาการ (สุนทราภรณ์) วงศิวารมณ์ (ครูสง่า อารมภีร) วงดนตรีทหารเรือ วงดุริยะโยธิน (ทหารบก) เป็นต้น ที่สำคัญได้ร่วมงานบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๙ บรรเลงและขับร้องโดยวงดนตรีต่าง ๆ นอกจากนี้ได้อัดเสียงภาพยนตร์เผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้บันทึกเสียงคือเรื่อง “ทะเลรัก” ของบริษัทภาพนิมิต อำนวยการสร้างโดยเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ และกำกับโดยขุนวิจิตรมาตรา ฉายปี พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. 1953)

 


รูปหน้าแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่ง โดยบริษัทนำไทย ซึ่งนายชาญ บุนนาคเป็นช่างบันทึกเสียง พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่มา : ช่อง YouTube การบันทึกเสียงในสยาม Sound Recording in Siam

 

แต่แล้วในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. 1952) นายชาญ บุนนาคได้ถึงแก่กรรม เพราะถูกฆาตกรรมอำพราง พร้อมกับนายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร อดีตขุนพลเสรีไทยภูพาน นายเล็ก บุนนาค น้องชาย นายผ่อง เขียววิจิตร โดยตำรวจไทยในยุคอัศวิน พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เนื่องด้วยบุคคลเหล่านี้มีความใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์มาก่อน โดยศพคนเหล่านี้ได้ถูกขนไปเผาทิ้งอย่างป่าเถื่อนทารุณในป่าจังหวัดกาญจนบุรี แม้ภรรยาคือนางปิ่มปลื้ม บุนนาค รวมทั้งพระสุจริตสุดา (พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๖) พี่สาวภรรยาที่มีบ้านในบริเวณเดียวกับนายชาญ ยังถูกสอบสวน ติดตาม และคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะเวลาหนึ่ง ถึงกับพระสุจริตสุดาต้องย้ายบ้านออกไป

พลอากาศจัตวา ดร.สวัสดิ์ ศรีศุข อดีตเสรีไทยสายอังกฤษบันทึกว่า “คุณประเสริฐ และ ผม เป็นหนี้บุญคุณคุณชาญ บุนนาคและ คุณเล็ก บุนนาค ที่ได้จัดการรับการกระโดดร่มของเราทั้งสองต่างวาระกัน อำนวยความสะดวกที่พักพิงและคุ้มครองให้มีความปลอดภัย น่าเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ความไม่ปลอดภัยเกิดต่อตัวท่านทั้งสอง ............... ทั้งคุณชาญและคุณเล็กหายสาบสูญไปตั้งแต่บัดนั้นในยุคอันมืดมน เป็นที่น่าเสียดายและน่าเสียใจต่อครอบครัวและญาติมิตรของท่านทั้งสอง ช่างเวรกรรมอะไรกันหนอบ้านเรานี้”

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม

  • ประเสริฐ ปทุมานนท์, เรื่องของขบวนการเสรีไทย ปฏิบัติการใต้ดินของประเสริฐ ปทุมานนท์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ๒๕๓๘)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ๒๕๕๘)
  • โสมนัส สุจริตกุล, สมเด็จอินทร์และพระสุจริตสุดา สองราชนารีข้างบัลลังก์ ร.๖ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พรินท์ติ้ง, ๒๕๖๐)
  • ชมรมสายสกุลบุนนาค, สาแหรกสกุลบุนนาค จัดทำโดย กรุงเทพฯ, ๒๕๔๒
  • X.O.Group เรื่องภายในขบวนเสรีไทย. โดย นายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ) พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กระท่อม ป.ล., ๒๕๔๔)
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, ปฏิบัติการฆาตกรรมทางการเมือง: สองพี่น้อง ชาญ และ เล็ก บุนนาค. สืบค้นเมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๗ https://pridi.or.th/th/content/2021/03/628