Focus
- บทความนี้ เสนอถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กับปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ที่สอดรับกับบริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาต่าง ๆ และผลงานสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องขบวนการเสรีไทย
- นอกจากนี้ในบทความยังมีการเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 ข้อมูลภายหลังการสละราชสมบัติ และการยึดทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รวมถึงการให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากงานสารคดี
“…บางคนที่เคยเป็นมหาดเล็กชั้นต่ำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และบางคนที่รับทรรศนะที่มหาดเล็กชั้นต่ำบางคนถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่ผิด ๆ โดยไม่รู้ถึงพระราชทรรศนะแท้จริงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยตลอดก็พยายามที่จะฟื้นเอาเรื่องที่มีข้อขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรมาขยายความเพื่อแสดงตนเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าวงศ์พระราชาธิบดี
ชนรุ่นใหม่ที่ต้องการสัจจะแท้จริงนั้นแทนที่จะเชื่อฟังแต่มหาดเล็กชั้นต่ำบางคนก็มีทางที่จะขอพระราชทานพระราชวโรกาสจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และขอเฝ้าเจ้านายบางองค์ที่ทรงอยู่ใกล้ชิดพระปกเกล้าฯ ภายหลังที่พระองค์สละราชย์สมบัติแล้วว่าพระองค์มีทรรศนะต่อคณะราษฎรและบุคคลในคณะราษฎรนั้นอย่างไร…”
ปรีดี พนมยงค์
เนื่องในวาระ 120 ปี ชาตกาล วันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ทางกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จึงเสนอพระราชประวัติ จริยวัตร และผลงานสำคัญของพระองค์และความสัมพันธ์กับสามัญชนทั้งในขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษและกับนายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ รวมถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ช่วงก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยามไว้ดังนี้
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีทรงมีพระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์[1] กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี[2] ต่อมาทรงเข้าพิธีเสกสมรสพระราชทานเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ภายหลังการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพำนักยังประเทศอังกฤษกระทั่งถึง พ.ศ. 2492 ทางรัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เพื่อเชิญเสด็จกลับสู่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราบจนเสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักวังศุโขทัย และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 ณ เมรุมาศ ท้องสนามหลวง[3]
ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และคณะราษฎร ก่อนและหลังการสละราชสมบัติ
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 มีหลากหลายแง่มุมโดยเฉพาะในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคณะราษฎรนั้น มีข้อมูลสำคัญจากนายปรีดี พนมยงค์ ใน ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 ณ สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ในประเด็นสำคัญคือ พระปกเกล้าฯ ท่านได้เคยรับสั่งให้อภัยแก่คณะราษฎรหลายครั้งหลายหนและไม่ได้ทรงโกรธเคืองคณะราษฎร และมีหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญคือ สำเนาโทรเลขของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รวมทั้งในข้อเขียนของนายปรีดีไว้ดังนี้
"พระปกเกล้าท่านได้เคยรับสั่งให้อภัยแก่คณะราษฎรหลายครั้งหลายหนแล้ว ในคราวที่ท่านสละราชสมบัตินี้ ในหลวงเองท่านหาได้โกรธเคืองคณะราษฎรไม่ แต่พวกที่อ้างคำว่ารักพระปกเกล้ายิ่งกว่าพระองค์ก็ทำการสร้างเรื่องใส่ความคณะราษฎรตลอดมา นี่ผมขอความเป็นธรรม นี่จะเห็นได้ว่าเมื่อท่านได้โทรเลขสละราชสมบัติแล้ว เรื่องสละราชสมบัตินั้นมีการพูดถึงกันยืดยาว
เมื่อท่านได้สละแล้วก็มีโทรเลขของเจ้าคุณพระพหลฯ กราบทูลฯ
“สำเนาโทรเลขของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีส่งจากกรุงเทพฯ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477
อัครราชทูตสยาม ลอนดอน โปรดนำข้อความต่อไปนี้กราบบังคมทูลฯ
สมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก รัฐบาลได้รับพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยความโทมนัส รัฐบาลได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 มีนาคม แล้วสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับทราบด้วยความโทมนัส
สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์ สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญ และโดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์อยู่
สภาผู้แทนราษฎรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่งรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ เป็นประธาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช รัฐบาลขอถวายพระพรแก่สมเด็จพระปรมินทร์มหาประชาธิปก และสมเด็จพระนางรำไพพรรณี ขอท่านทรงสำราญอยู่ต่อไป
ลงนามนายพันเอก พระยาพระหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี”
นายปรีดีระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโทรเลขตอบผ่านสถานทูตฯ มาดังนี้
“สำหรับโทรเลขของอัครราชทูตสยาม กรุงลอนดอน ส่งจากลอนดอนวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2477
กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ
ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขลงวันที่ 7 เดือนนี้ ข้าพเจ้าได้นำความกราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว มีรับสั่งให้ข้าพเจ้าแจ้งข้อความดังต่อไปนี้
ข้าพเจ้าและพระชายาขอบใจรัฐบาลที่ได้แสดงความหวังดีมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ข้าพเจ้าและรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้ในปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเรามีความเห็นแตกต่าง ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลมั่นใจว่าข้าพเจ้ามิได้มีความรู้สึกโกรธและเคืองแค้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเลย และขอให้คณะรัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จทุกประการ ประชาธิปก ลงนามพระยาสุพรรณสมบัติ”
จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หลังการสละราชสมบัติข้างต้น นายปรีดีเสนอให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ "ท่านก็ไม่ได้โกรธเคือง" และกล่าวต่อไว้ว่า
"ก็ถูกแล้วล่ะเวลานั้นภายหลังกรณีกบฏท่านก็ได้พูดหลายอย่าง เราก็ได้กราบทูลฯ ไป สิ่งที่จะทำให้ท่านได้ก็ได้ทำ ออกกฎหมายอะไรให้ แต่บางอย่างหลักการก็เป็นไปไม่ได้ แล้วท่านก็ได้ตอบมา แล้วท่านอวยพรให้รัฐบาลได้มีความสำเร็จในการงาน success เป็นภาษาอังกฤษ นี่ก็ขอให้รับทราบว่าพระองค์เองไม่ได้มีโกรธเคืองอะไร
พิสูจน์ว่าระหว่างสงครามท่านก็ได้มีจดหมายถึงรัฐมนตรีเวลานั้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านจะขอกลับมา ก็ยังไม่ทันที่จะได้ตอบกลับไป ท่านจะมาอยู่ที่เมืองตรัง ท่านก็สวรรคตเสีย เป็นเช่นนี้ แต่พวกนอก …หรือพวกที่ใกล้ชิด นี่ปั้นเรื่องเสกสรรสนุกไป ก็ขอให้ความเป็นธรรมแก่คณะราษฎรด้วย เพราะว่าเป็นอย่างนี้ท่านก็จบ game ด้วยดีอย่าง sporting spirit แล้วพอเข้ามาท่านก็ได้ชมเชยมีอยู่นิจตลอดไปเลย แล้วเราก็ไม่มีอะไร
ถึงสำหรับผมนี่ ทั้งปีใหม่ และเฉลิมพระชนมพรรษา ท่านก็ตั้งสมุดเซ็นชื่อไว้ที่วังสุโขทัย เพราะว่าท่านก็เคยรู้จักเป็นส่วนพระองค์นั้นตั้งแต่ครั้งท่านเป็นนักเรียนอยู่ที่นี่ ภรรยาไปเซ็นชื่อถวายพระพรอยู่เสมอ แล้วทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ผมไปอังกฤษ ไปเฝ้าท่าน เป็นเช่นนี้ แต่พวกที่อยู่ห่างไกลไป เอาเรื่องนี้เข้ามาเมื่อไม่นานก่อนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ก็เล่นงานคณะราษฎรเข้าเต็มเปา นั่นเป็นนักเรียนธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักเรียนเตรียมฯ ด้วย บอกว่าที่พระปกเกล้าต้องสละราชสมบัติเป็นเพราะคณะราษฎร อย่างนั้นอย่างนี้เล่นป่นปี้ไปหมด แต่ว่าพวกนั้น …ไม่ใช่พวกธรรมศาสตร์ ถ้าลูกธรรมศาสตร์แท้แล้วไม่ทำอย่างนี้ที่จะต้องพูดไปตามความจริงอย่างที่ผมสอนธรรมศาสตร์ทุก ๆ รุ่น"
นายปรีดียังระบุในข้อเขียนถึงความสัมพันธ์ของรัฐบาลคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ช่วงก่อนที่ท่านจะเสด็จสวรรคต และเพิ่งเริ่มต้นสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในยุโรป โดยเป็นข้อมูลจากหลักฐานประวัติศาสตร์สำคัญในยุคนั้นคือ พระราชหัตถเลขาที่รัฐบาลคณะราษฎรได้รับจากพระองค์และกำลังพิจารณาพระราชประสงค์ที่จะเสด็จกลับมาประทับยังจังหวัดตรังตามฐานะแห่งพระราชอิสริยยศ
"พระองค์ก็เคยได้มีพระราชหัตถเลขาถึงรัฐบาลในขณะนั้นที่มีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับมาประทับที่จังหวัดตรังตามฐานะแห่งพระราชอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกซึ่งพระองค์ได้สงวนไว้ในการสละราชสมบัติ คณะรัฐบาลกําลังพิจารณาพระราชประสงค์นั้นแต่ก็ยังมิทันกราบบังคมทูลไป ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จสวรรคต จึงเป็นที่น่าเสียดายของข้าพเจ้าและเพื่อนหลายคนในคณะราษฎร มหาดเล็กชั้นต่ำที่มิได้ตามเสด็จไปอยู่กับพระองค์ในอังกฤษไม่มีทางรู้เรื่องนี้
ข้าพเจ้าจําได้ว่าพระราชหัตถเลขานั้นเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เองมีถึงจอมพล ป. ที่ได้นํามาอ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี"
จากหลักฐานชั้นต้นและข้อเขียนของนายปรีดีแสดงให้เห็นแง่มุมของความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และรัฐบาลคณะราษฎรภายหลังจากการสละราชสมบัติที่ยังคงมีลักษณะประนีประนอมและไม่ได้แตกหักเช่นที่มีความเข้าใจในกระแสปัจจุบัน
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ : หนึ่งใน 16 ท่านที่สนับสนุนเสรีไทยสายอังกฤษ
หากสิ่งที่ชีวประวัติย่อยังขาดหาย คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระราชกรณียกิจเสรีไทยในอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทรงมีความสัมพันธ์อันดีต่อครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ นับตั้งแต่หลังรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 รวมทั้งยังมีพระราชจริยวัตรและความคิดเกี่ยวกับระบอบใหม่ของพระองค์ที่ควรค่าแก่การรำลึกซึ่งจะกล่าวถึงแง่มุมสำคัญไว้ในบทความชิ้นนี้
เมื่อสิ้นสุดสงคราม ปรีดี พนมยงค์ได้สถาปนาพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้คืนคงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ และพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
มีเนื้อความในจดหมาย ดังต่อไปนี้
BRIDGE HOUSE
TRUMPS GREEN ROAD
VIRGINIA WATER
WENTWORTH 2165
March 10 1946
เรียนคุณหลวงทราบ
พวกเราทุกคนได้มาถึงเมืองอังกฤษแล้วโดยเรียบร้อย. พวกอังกฤษพากันจัดการรับรองกันใหญ่โตหรูหรา. ทั้งกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมอังกฤษได้จัดการมี reception ให้เป็นเกียรติยศ. make speech อธิบายว่าเราเก่งอย่างไรกันบ้าง และขอบใจพวกเรากันใหญ่โต. ผมได้ทำ speech ตอบบอกกับเขาว่า เราก็ขอบใจที่เขาได้ช่วยเหลือ ให้เราได้มีโอกาสแก้กู้หน้าของเรา. และได้กล่าวว่าโดยเฉพาะพวกเราแล้ว ก็คงไม่สามารถจะทำอะไรได้. ที่ทำกันได้สำเร็จก็เพราะคณะต่อต้านในประเทศไทย เป็นบรรทัดฐานที่ได้ทำการอย่างองอาจ ไม่มีความหวาดกลัวภัยอันตรายอันใดเลย. พวกอังกฤษต่างพากันรวมขอบใจคณะต้านของเราในประเทศไทยกันอย่างเห็นอกเห็นใจอย่างจริงจัง. การกระทำต้อนรับต่างๆนี้ ไม่ใช่เพียงแค่จะทำเป็นการเสียไม่ได้. ทุกคนที่พูดเขา appreciate เราจริงๆ. ผมได้อธิบายเล่าเรื่องให้คนทุกคนฟังถึงการกระทำอย่าง [...] ของคณะต่อต้านของพวกเราตั้งคุณหลวงลงมา
พวกผมทุกคนตั้งแต่ สมเด็จลงมา ก็สบายกันอยู่ดี. สมเด็จขอบพระทัยคุณหลวงและคุณพูนศุขมาก ที่ส่งเครื่องสักการะมาถวายพระบรมอัฐิ และพอพระทัยมากที่คุณหลวงได้ช่วยเหลือ ยังพระเกียรติของสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้คืนคงเป็นกษัตริย์ของประเทศเราอย่างเต็มที่. ทั้งความตั้งใจที่คุณหลวงจะพยายาม justify action ของท่านด้วย. เป็นอันว่าพวกเรานั้น appreciate คุณหลวงอย่างที่ผม appreciate ทุกคน. สมเด็จทรงขันสนุกมากที่ทรงทราบว่าเดี๋ยวนี้ ท่านเองก็มีนามสกุลเป็น พนมยงค์ ไปแล้ว หรืออีกประการหนึ่ง ที่คุณหลวงบอกว่า ความจริงนั้นคุณหลวงเป็น สวัสดิวัตน์ ต่างหากนั้น ก็ทรงพอพระทัยมาก และบอกว่าตกลงยอมรับเข้าเป็นสวัสดิวัตน์! หวังว่าคุณหลวงจะออกมาที่นี่ในไม่ช้า. เราจะได้พบกันอีก. ผมคิดถึงคุณหลวงมากเท่าใดนั้น ไม่จำเป็นจะต้องกล่าว. เพราะความรักใคร่นับถือที่ผมมีต่อคุณหลวงนี้ has no bound ความคิดถึงนั้นนอกจากที่พูด ที่จะอธิบายความรู้สึกอันแท้จริงที่ผมมีอยู่
ด้วยความเคารพนับถือและคิดถึงอย่างยิ่ง.
ชิ้น
หลังจากรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงแสดงทัศนคติเกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้นทั้งการให้สัมภาษณ์และบันทึกความทรงจำ ที่สำคัญคือ ทรงเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในประเทศอังกฤษ ขณะนั้นทรงต้องลี้ภัยไปยังแคว้นเวลส์เพราะการทิ้งระเบิดบริเวณเกาะอังกฤษ
และช่วงนี้เองที่ปรีดีเริ่มกระชับสายสัมพันธ์กับพระบรมวงศานุวงศ์และชนชั้นนำต่างๆ มากขึ้นเพื่อสร้างแนวร่วมแก่เสรีไทยและเป็นกำลังสำคัญ ทั้งยังมี ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐา[4] ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ โดยเคยมีการทูลเชิญให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอังกฤษเพราะทรงเป็นที่รู้จักในวงราชการและพระราชวงศ์ของอังกฤษ และทรงเป็นที่เคารพนับถือของคนไทยในอังกฤษ แต่อาจก่อให้เกิดการกังขาในวงการเมืองได้[5]
แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเสรีไทย แต่ทรงเป็นหนึ่งใน 16 คนของเสรีไทยสายอังกฤษที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการทหาร และทรงปฏิบัติภารกิจสำคัญต่อขบวนการเสรีไทย เช่น ทรงประสานความช่วยเหลือแก่บรรดานักเรียนไทยในต่างแดนที่มีแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นหรือฝ่ายอักษะซึ่งนักเรียนไทยในอังกฤษกลุ่มใหญ่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งที่เรียนอยู่ก่อนและถูกย้ายมาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน อาทิ วิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร, ม.ร.ว.กิตินัดดา กิติยากร, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สว่าง สามโกเศศ, ม.จ.ภีศเดช รัชนี, ม.ล.จิรายุ นพวงศ์, เสนาะ ตันบุญยืน และเสนาะ นิลกำแหง เป็นต้น[6]
นอกจากนี้ยังทรงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์ที่ได้จากการสนับสนุนนำมามอบให้แก่ขบวนการเสรีไทย พระองค์ และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐาได้ทรงใช้อิทธิพลที่มีต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้ไทยเสียประโยชน์น้อยที่สุด
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชบริพารฝ่ายหน้าไปเป็นเสรีไทยได้ และเสรีไทยในอังกฤษ จำนวน 36 คน ก่อนไปเข้าค่ายฝึกฯ ก็ได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารเพื่อบำรุงขวัญ และเมื่อลาก็สามารถกลับมาพักที่ตำหนักได้โดยทรงพระราชทานสัมภาษณ์เรื่องเสรีไทยไว้อย่างถ่อมพระองค์ว่า
“ฉันเป็นแต่เพียงไปลงชื่อกับเขา เป็นกำลังใจให้กับคนที่ทำงาน ฉันเองไปช่วยเขาทางด้านกาชาด แต่ฉันทำอย่างไม่เป็นทางการระหว่างที่พวกเสรีไทยฝึกโดดร่มฝึกอาวุธกัน ฉันก็ไปช่วยเขาทำ ตอนนั้นไม่ได้อยู่ลอนดอนหรอก น่ากลัวมากทีเดียว แต่ก็มาลอนดอนอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง”[7]
ในช่วงเวลานี้ในเรื่อคดีการฟ้องร้องเรื่องยึดทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2470 รวมทั้งการยึดวังศุโขไทย ซึ่งเป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ก็ได้สิ้นสุดลงด้วยดี โดยในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ในสมัยรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และการผลักดันของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส จากวิธีการเชิงไกล่เกลี่ย และประนีประนอมยอมความกันระหว่างรัฐบาลฯ กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีจำเลยที่ 2 ซึ่งคำพิพากษาตัดสินให้บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน กล่าวคือไม่มีการริบทรัพย์เพิ่มเติม และได้ถวายวังศุโขทัยคืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เพื่อทรงประทับต่อไป[8]
จากกรณีถวายวังศุโขทัยคืนในสมัยรัฐบาลถวัลย์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวปรีดี-พูนศุข แนบแน่นยิ่งขึ้นสะท้อนให้เห็นทั้งการที่พูนศุขถวายกุ้งแห้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ[9] รวมถึงการส่งบัตรอวยพร และจดหมาย ฯลฯ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กุลสตรีศรีสยามในยามบั้นปลายของชีวิต
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และมีการประกาศสันติภาพขึ้นในไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 การเมืองก็ผันผวนจนกระทั่งปรีดีต้องลี้ภัยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 กระทั่งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 และกระแสอนุรักษนิยมในสังคมไทยพุ่งสูงขึ้นทางรัฐบาลฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ พร้อมด้วยพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กลับมาสู่ไทยใน พ.ศ. 2492[10] และทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระราชดำรัสกล่าวขอบพระทัยปรีดี และพูนศุขผ่านมาทางจดหมาย[11] ว่า
“สมเด็จ (พระองค์เจ้ารำไพพรรณี-ผู้เขียน) ขอบพระทัยคุณหลวงและคุณพูนศุขมากที่ส่งเครื่องสักการะมาถวายพระบรมอัฐิและพอพระทัยมากที่คุณหลวงได้ช่วยเหลือ…”
บั้นปลายชีวิตหลังเสด็จนิวัตไทยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระราชจริยวัตรที่งดงาม และปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเต็มกำลังตราบกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 สิริพระชนมายุ 79 พรรษา
ภาพประกอบ: หนังสืออนุสรณ์พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี หนังสืออนุสรณ์ที่ระลึก และจุลสารหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาคผนวก :
คลิปวิดีโอ ปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงมูลเหตุ จุดเริ่มต้นของการอภิวัฒน์ 2475 ปาฐกถาครบรอบ 50 ปี ประชาธิปไตยไทย 24 มิถุนายน 2525
บรรณานุกรม
หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพและงานศพ :
- สำนักราชเลขาธิการ คณะทำงานฯ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ: อิคารัส, 2528)
- ห้องสมุดเฉพาะสำนักราชเลขาธิการ กองกลาง สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ป, 2531)
หนังสือ :
- ลลิตา พนมยงค์ และคณะฯ, 101 ปีปรีดี-90 ปีพูนศุข (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2545).
- ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (พระนคร: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2515).
- พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560).
- พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., รายงานวิจัยการสังเคราะห์ประวัติศาสตร์บอกเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2559).
- สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2559).
- ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน, ม.จ., 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์: 23 สิงหาคม 2543 (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543).
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กษิดิศ อนันทนาธร. (2 สิงหาคม 2560). เรื่องของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. https://www.the101.world/pridi-in-ww2/?fbclid=IwAR1v8AeVV0_6WVoFPI09cLbrIyR4PaUFAr53Z5hsgyPm-2oqY_Sr2GA0uI4
- ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์. (20 กรกฎาคม 2565). “ป้าหน่อย” ที่ข้าพเจ้ารู้จัก https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1181
- วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี. http://wiki.kpi.ac.th/
- มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี.
- ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน. (20 ธันวาคม 2565). จดหมายลายพระหัตถ์ของท่านชิ้น เรื่อง ขอบคุณนายปรีดีที่สถาปนาคืนพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ. https://pridi.or.th/th/content/2022/12/1368
- สายสิงห์ สวัสดิวัตน ศิริบุตร, ม.ร.ว.. (24 สิงหาคม 2563). บทบาทของเสรีไทยสตรีสายอังกฤษ. https://pridi.or.th/th/content/2020/08/391
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (9 มกราคม 2565). พูนศุขถวายกุ้งแห้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. https://pridi.or.th/th/content/2022/01/944
[1] พระอนุชาในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
[2] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร
[3] สำนักราชเลขาธิการ คณะทำงานฯ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ: อิคารัส, 2528)
[4] ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนหรือท่านชิ้น พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ประกาศว่าปรีดี บริสุทธิ์ในคดีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ใน ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน, ม.จ., 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์: 23 สิงหาคม 2543 (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543), หน้า 26.
[5] ทศ พันธุมเสน, กบฏกู้ชาติ (กรุงเทพฯ: ส่องสยาม, 2531), หน้า 20.
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 21-34.
[7] ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย” (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540), หน้า 125.
[8] สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2559), หน้า 30-32.
[9] อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (9 มกราคม 2565). พูนศุขถวายกุ้งแห้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. https://pridi.or.th/th/content/2022/01/944
[10] ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือท่านชิ้น พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ประกาศว่าปรีดี บริสุทธิ์ในคดีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ใน ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน, ม.จ., 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์: 23 สิงหาคม 2543 (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543), หน้า 26-27.
[11] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (พระนคร: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2515), หน้า 47.