ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 19)

22
ตุลาคม
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 19) ของนายปรีดี พนมยงค์ เสนอให้เห็นข้อบิดเบือนในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินฯ 2 ประการคือ การบิดเบือนเรื่องแผลงสมาคมสามัคยานุเคราะห์เป็นสหภาพแรงงาน และผลของการต่อสู้กับอัครราชทูตไทยตัวแทนของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของนักเรียนนอกในยุโรปก่อนการอภิวัฒน์สยาม
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

16.6.

การแผลงมาเป็นสหภาพแรงงานและการต่อสู้ท่านอัครราชทูตสยามซึ่งเป็นตัวแทนระบบสมบูรณาฯ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยถูกต้องแล้วว่า ปรีดีต้องรับผิดชอบในการในการแผลงสมาคมของนักศึกษาให้มีสภาพเป็นสหภาพแรงงาน (Syndicate) ดังปรากฏในเอกสารที่ลงพิมพ์เปิดเผยแล้วในหนังสือของข้าพเจ้าที่อ้างถึงแล้ว พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2515

(1) โทรเลขของพระองค์เจ้าไตรทศ(กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย) สำเนาฉบับที่ 14080 รับที่สถานทูตเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1926 ฉบับภาษาอังกฤษมีความตามที่ถ่ายภาพจากต้นฉบับสำเนาที่สถานทูตได้รับ ดังต่อไปนี้

 

 

(2) สำเนาโทรเลขจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ถึงอัครราชทูตสยามที่ปารีส โทรเลขส่งจากกรุงเทพฯ วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1926 ได้รับที่ปารีสในวันรุ่งขึ้น

 

 

(3) ตามวิธีปกติธรรมดานั้น ถ้านักเรียนทุนรัฐบาลที่ศึกษาในต่างประเทศกระทําความผิด กระทรวงเจ้าสังกัดก็เพียงแต่ส่งโทรเลขหรือหนังสือราชการธรรมดาถึงสถานทูตให้ส่งตัวนักเรียนคนนั้น ๆ กลับสู่สยาม

แต่ในกรณีความขัดแย้งระหว่างท่านอัครราชทูตสยามประจํากรุงปารีสกับสามัคยานุเคราะห์สมาคมซึ่งปรีดีต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นสภานายกสมาคมนั้น ทางรัฐบาลสยามสมัยนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องวิสามัญเรื่องหนึ่ง ฉนั้นนอกจากกระทรวงการต่างประเทศสยามได้ส่งโทรเลขถึงท่านอัครราชทูตดังที่ ข้าพเจ้าได้ลงพิมพ์ไว้ใน (1) และ (2) แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสยามได้ทําหนังสือราชการชั้น “สารตราบัวแก้วน้อย” (นักอักษรศาสตร์สมัยนั้นทราบระเบียบหนังสือราชการแล้วว่า “สารตรา” มีน้ําหนักกว่าหนังสือราชการธรรมดา) ถึงท่านอัครราชทูตสยามยืนยันโทรเลขที่กระทรวงฯ ส่งมาพร้อมทั้งส่งสําเนาพระราชหัตถเลขาและหนังสือของราชเลขาธิการด้วย ดังที่ข้าพเจ้าได้นําภาพถ่ายลงพิมพ์ไว้ต่อไปนี้

 

 

16.7.

ผลแห่งวิธีการต่อสู้กับท่านอัครราชทูตตัวแทนระบบสมบูรณาฯ

 

 

ข้าพเจ้าขอเสนอท่านผู้มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาผลแห่งวิธีต่อสู้ท่านอัครราชทูตตัวและสมบูรณาฯ ดังต่อไปนี้

(1)

การ “ชักจูง” เพื่อนต่อสู้ระบบสมบูรณาฯ นั้นเป็นการเสี่ยงต่อคอขาดบาดตาย จึงไม่อาจทําได้ง่าย ๆ เหมือนชวนเพื่อนไปหาผู้หญิงนั่งรถเที่ยวเล่นด้วยกัน

สามัคยานุเคราะห์สมาคมได้ลงมือต่อสู้ท่านอัครราชทูตซึ่งเป็นตัวแทนระบบสมบูรณานั้น ซึ่งเป็นการต่อสู้พื้นฐานเบื้องต้นคนแล้วจึงจะพัฒนาขึ้นทีละขั้น ๆ

(2)

ผลส่วนรวมที่ได้รับจากการต่อสู้ครั้งนั้น คือ

(ก) แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ยุบสามัคยานุเคราะห์สมาคม แต่พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านอัครราชทูตกราบบังคมทูลชี้แจงเกี่ยวกับฎีกาของนักศึกษาเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือน ซึ่งต่อมาก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือนเพิ่มให้แก่นักศึกษา อันเป็นประวัติการณ์ที่องค์การคนงานในสยามยังไม่เคยได้รับความสําเร็จในการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นในสมัยก่อนนั้น

(ข) ผลที่ได้ใหญ่ว่านักศึกษาได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นนั้นก็คือ ก่อนเพิ่มขึ้นนั้นก็คือ นักศึกษาได้บทเรียนว่าความสามัคคีร่วมกัน เป็นปึกแผ่นสามารถต่อสู้ระบบสมบูรณาฯ ได้ ซึ่งเป็นการ “ก่อหวอด” อันใหญ่ที่สําคัญที่จะทําให้เพื่อนจํานวนหนึ่ง จัดตั้ง “ปาร์ตี้” หรือ “คณะ” ที่จะเป็นกองหน้าในการต่อสู้ระบบสมบูรณาฯ นั้นขึ้นสูงขึ้นไปตามลําดับ

(3)

ก่อนที่สมาคมจะลงมือดําเนินการดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้าคาดการณ์ไว้แล้วว่าผู้ที่จะต้องถูกทางราชการลงโทษนั้นคือ ข้าพเจ้าในฐานะเป็นสภานายกของสมาคม ซึ่งจะต้องถูกเรียกตัวกลับไปสยามก่อนสําเร็จปริญญาเอก

เมื่อเพื่อนสมาชิกหลายคนได้ทราบความตามโทรเลขฉบับแรกของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศถึงสถานทูตให้ส่งตัวข้าพเจ้ากลับสยามนั้น เพื่อนสมาชิกหลายคนก็ได้แสดงความเป็นปึกแผ่น “Solidarity” ร่วมกันที่จะสละเงินเดือนส่วนหนึ่งของตนเพื่อให้ข้าพเจ้าได้เรียนจนสําเร็จขั้นปริญญาเอก

แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระมหากรุณาฯ ตามฎีกาของนายเสียงบิดาข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้าได้ศึกษาต่อไปจนสําเร็จปริญญาเอกแล้ว จึงให้ข้าพเจ้าเดินทางกลับสู่สยาม

อนึ่ง สมัยนั้นสถานทูตสยามประจำกรุงปารีสมีระเบียบว่า นักเรียนที่มีผลการศึกษาดีก็จะได้เดินทางกลับสยามอัตราคนโดยสารขั้นที่ 1 แต่สถานทูตเห็นว่าข้าพเจ้ายังมีความผิดติดค้างอยู่จึงให้ข้าพเจ้าเดินทางอัตราขั้นที่ 2 เพื่อนสมาชิกสมาคมทราบเรื่องเช่นนั้น จึงได้สละเงินคนละเล็กคนละน้อยเพื่อให้ข้าพเจ้าเพิ่มตั๋วขั้นที่ 2 เป็นขั้นที่ 1 ซึ่งแสดงถึงความเป็นปึกแผ่นร่วมกับข้าพเจ้าที่ได้อุทิศตนเพื่อส่วนรวมของสมาคมฯ ข้าพเจ้าจึงนึกถึงความปรารถนาดีและพระคุณของเพื่อนสมาชิกทั้งหลายตลอดมา

 

โปรดติดตามอ่านต่อในบันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 20)

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :