ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การวิเทโศบายของไทย ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน

30
เมษายน
2568

 

เมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ เกิดความหวั่นเกรงภายในประเทศไทยว่า ญี่ปุ่นอาจจะถือโอกาสเข้ายึดดินแดนเนเธอร์แลนด์อีสต์อินดีส อันมีเกาะชวาและสุมาตราเป็นสำคัญ และเลยยึดสิงคโปร์ของอังกฤษด้วย ภัยสงครามอาจจะใกล้เขตแดนไทยเข้ามา ทางรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารไปประจำการทางภาคใต้เพราะเข้าใจว่าญี่ปุ่นคงจะปฏิบัติการทางภาคนั้น ทางกรุงเทพฯ พูดถึงศูนย์สอดแนมของญี่ปุ่นที่ยะลาอย่างหนาหู ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสต้องยอมจำนนต่อเยอรมัน เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ โดยรัฐบาลฝรั่งเศสย้ายไปตั้งทำการที่เมืองวิชี ปล่อยกรุงปารีสเป็นเมืองเปิดภายใต้การควบคุมของกองทัพนาซี รัฐบาลไทยยิ่งเกรงอีกว่า ในไม่ช้าฝรั่งเศสอาจจะต้องเสียดินแดนอินโดจีนให้แก่ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเริ่มเบนหน้าบ่ายมาทางอินโดจีนแล้ว เริ่มด้วยการขอแกมสั่งให้รัฐบาลอินโดจีนปิดพรมแดนด้านติดต่อกับประเทศจีน เพื่อมิให้มีการส่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสินค้าอื่นจากภายนอกไปให้รัฐบาลจีน ขอเข้าควบคุมเมืองท่าอินโดจีน ตลอดจนขอสิทธิส่งกำลังทหารผ่านอินโดจีน และขอตั้งฐานทัพอากาศในดินแดนอินโดจีน นายกรัฐมนตรีจึงใคร่ขอดินแดนของไทยที่ต้องเสียให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๕ กลับคืนให้แก่ไทย อันได้แก่ดินแดนฝั่งขวาของแม่นํ้าโขง รัฐบาลไทยส่งคณะผู้แทนไปเจรจากับฝรั่งเศสที่อินโดจีน ฝ่ายฝรั่งเศสปัดไม่ยอมรับพิจารณา รัฐบาลไทยจึงจัดส่งคณะทูตทหาร มีพันเอก หลวงพรหมโยธีเป็นหัวหน้าไปเยือนญี่ปุ่น และอีกคณะหนึ่งมีหลวงสินธุสงครามชัยเป็นหัวหน้าไปยุโรป โดยจะผ่านทางไซบีเรีย การเดินทางไปยุโรปตามเส้นทางปกติกระทำไม่ได้โดยเหตุสงคราม เซอร์โจซาย ครอสบี้ อัครราชทูตอังกฤษ เสนอให้คณะแรกเดินทางไปเยือนดินแดนในอาณาเขตบริติช และคณะที่ ๒ เลยไปเยือนประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งหลวงพิบูลสงคราม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตกลงรับหลักการ วัตถุประสงค์ของการส่งคณะผู้แทนสองคณะนี้ นอกจากจะเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังจะเป็นทางให้ไทยได้มีโอกาสแถลงถึงปัญหาเรื่องดินแดนของไทย เพื่อขอความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนจากต่างประเทศ

 


พันโท ม.ล. ขาบ กุญชร
ที่มา: หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร

 

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น นายกรัฐมนตรีส่งพันโท ม.ล.ขาบ กุญชร ออกไปราชการลับที่สิงคโปร์ เพื่อเจรจากับพลโท บอนด์ ผู้บัญชาการสูงสุดของกำลังทหารอังกฤษ ขอให้มีการประสานงานระหว่างกำลังทหารไทยกับกำลังทหารอังกฤษในการป้องกันแหลมมลายู โดยไม่จำต้องมีการทำสัญญาทางการทูตต่อกัน พันโท ขาบชี้แจงว่าหากญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดครองอินโดจีนได้แล้ว ก็จะเป็นการง่ายที่จะเข้าโจมตีประเทศไทย โดยลำพังตนเอง ประเทศไทยไม่สามารถสกัดกั้นการรุกรานของญี่ปุ่น และถ้าไทยต้องยอมจำนน มลายูจะต้องรับภาระหนัก ในขณะนั้นรัฐบาลไทยมีกองทัพเล็กมาก ประกอบด้วย ๖ กองพลเท่านั้น มีอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทันสมัยพอสมควร แต่ไม่มีทางจะปรับปรุงสับเปลี่ยนใหม่ตามความจำเป็น นายกรัฐมนตรีมีความปรารถนาจะให้มีการประสานงานระหว่างสองกองทัพ ซึ่งจะทำให้การป้องกันแหลมมลายูมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้กระทำได้โดยทั้งสองฝ่ายส่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการออกไปพบปะปรึกษาหารือวางแผนเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างลับ ๆ ในบริเวณชายแดน เพราะการเจรจาโดยเปิดเผยทางการทูตเกรงจะขัดต่อนโยบายเป็นกลางของรัฐบาลไทย

พลโท บอนด์เห็นด้วยกับสถานการณ์ตามที่พันโท ขาบพรรณนาให้ฟัง หากแต่ยังสงสัยในความจริงใจของฝ่ายไทย เพราะถ้าไทยประสงค์ให้มีการป้องกันร่วมกันจริงแล้ว เหตุใดรัฐบาลไทยจึงเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ผู้เป็นพันธมิตรของอังกฤษ แต่ต้องพ่ายแพ้สงครามต่อเยอรมัน พันโท ขาบชี้แจงว่า การขอให้มีการปรับปรุงเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนนั้น ได้เริ่มการเจรจากันแล้ว ก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสจะยอมจำนนต่อฝ่ายเยอรมันเป็นเวลานาน

พลโท บอนด์ยืนยันไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยโดยปราศจากการเจรจาทางการทูต พันโท ขาบจึงไปติดต่อกับพลอากาศโท บาร์บิงตัน ผู้บัญชาการทหารอากาศอังกฤษ ซึ่งกล่าวว่า เมื่อพลโท บอนด์มีความเห็นเช่นนั้น พลอากาศโทบาร์บิงตันย่อมจะสั่งการเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะพลโท บอนด์เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอาวุโสกว่า กำลังทหารอากาศอังกฤษก็ใช่จะเข้มแข็งนักไม่ บาร์บิงตันมองเห็นประโยชน์ในการที่จะให้มีการประสานงานระหว่างกองทัพอากาศไทยกับอังกฤษ แต่เมื่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่เห็นด้วย ตนก็ไม่อาจจะปฏิบัติอย่างใดได้

เมื่อต้องผิดหวังถึงสองครั้งเช่นนี้ เวลาไปพบพลเรือโท เลย์ตัน ผู้บัญชาการกองทัพเรือประจำทะเลจีน พันโท ขาบจึงได้ละเว้นที่จะยกเรื่องการประสานงานลับขึ้นพูด พลเรือโท เลย์ตันเองกลับเป็นผู้ปรารภว่า รู้สึกราชนาวีไทยมีอานุภาพสูงกว่าแต่ก่อน ถ้าสามารถร่วมมือกับกองทัพเรืออังกฤษในทวีปเอเชียใต้ จะเป็นกำลังที่แข็งแกร่งพอใช้

 


ดิเรก ชัยนาม

 

วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๘๓ นายแกร็นท์ อัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทยรายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า มีหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลสงครามต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มคณะทหาร ที่ต้องการจะให้ไทยได้ดินแดนที่เสียแก่ฝรั่งเศสคืน แม้จะโดยใช้กำลังก็ตาม และอาจจะปลดนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยออกจากคณะรัฐบาลก็ได้ นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถามนายแกร็นท์ว่า จะยินยอมให้รัฐบาลไทยออกคำแถลงการณ์แสดงความเห็นของนายแกร็นท์ที่ว่าควรจะรักษาสถานะดินแดนไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง และควรงดใช้กำลังเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินแดนได้หรือไม่ ซึ่งนายแกร็นท์ได้ตอบว่า คำขอของไทยที่จะออกคำแถลงการณ์เช่นนั้นไม่เป็นไปตามวิธีปฏิบัติทางการทูตตามปกติ นายแกร็นท์ได้ขอร้องให้ประธานาธิบดีส่งสาส์นถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง ยํ้าในความสำคัญของการรักษาสถานภาพดินแดนไว้ก่อน และขอให้งดความดำริที่จะใช้กำลังเพื่อแก้ปัญหาดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

ครั้นวันที่ ๓๑ สิงหาคม รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของจอมพล เปแตง ที่วิชีได้ทำความตกลงทางการเมืองกับรัฐบาลญี่ปุ่น ยอมรับนับถือความสำคัญของผลประโยชน์ของญี่ปุ่นในอินโดจีนและยอมเจรจาทำข้อตกลงอีก ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจ และอีกฉบับหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาทางทหาร ตามข้อตกลงฉบับแรก ฝรั่งเศสยอมรับสถานะพิเศษของญี่ปุ่นในดินแดนอินโดจีน โดยข้อตกลงทางการเมือง ฝ่ายญี่ปุ่นยอมรับรู้ผลประโยชน์อันถาวรของฝรั่งเศสในอินโดจีน พร้อมกับการเคารพบูรณภาพของอินโดจีนภายใต้อธิปไตยของฝรั่งเศส

ความตกลงทางการเมืองระหว่างญี่ปุ่นกับฝรั่งเศสที่กระทำกันนี้ เมื่ออ่านประกอบข้อตกลงทางเศรษฐกิจและทางทหารย่อมทำให้รู้สึกว่า อิทธิพลของญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองอินโดจีนอย่างสิ้นเชิงในอนาคต ประเทศไทยที่เคยเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส เห็นว่าหากฝรั่งเศสจะต้องสูญเสียดินแดนอินโดจีนให้แก่ญี่ปุ่นแล้ว ก็น่าจะพิจารณาคืนดินแดนเดิมของไทยให้แก่ไทยเสียก่อน และเมื่อฝ่ายฝรั่งเศสคะยั้นคะยอจะให้ใช้บังคับกติกาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยไม่ต้องรอการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน รัฐบาลไทยตอบฝ่ายฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ว่าพร้อมจะสนองความประสงค์ของฝ่ายฝรั่งเศส ถ้าฝรั่งเศสยอมตกลงในหลักการ ๓ ข้อ คือ

๑. ให้เส้นเขตแดนตามลำนํ้าโขงเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยถือร่องนํ้าลึกเป็นเกณฑ์

๒. ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยถือแม่นํ้าโขงเป็นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมาจดทิศใต้ จนถึงเขตแดนกัมพูชา ให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนฝั่งขวาของแม่นํ้าโขงตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซ

และ ๓. ในกรณีที่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยภายในอินโดจีน ฝ่ายฝรั่งเศสจะคืนอาณาเขตลาวและกัมพูชาให้แก่ไทย

วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๘๓ กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันเชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ไปพบ เพื่อแจ้งท่าทีของรัฐบาลอเมริกาเป็นการเตือนให้ทราบด้วยวาจาว่า รัฐบาลอเมริกามีความห่วงใยในข่าวที่ทางรัฐบาลไทยกำลังพิจารณาจะส่งกำลังทหารเข้าไปในอินโดจีนเพื่อเรียกร้องดินแดนคืน ถ้าหากประเทศไทยมีเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากความอ่อนแอของรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น และส่งกำลังทหารเข้าไปในอินโดจีน การกระทำเช่นนั้นจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรุกรานอินโดจีนจากทางอื่น อันจะเป็นการขยายขอบเขตของการศึกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และจะเป็นอันตรายต่อประเทศไทยเองด้วย ทั้งจะกระทบถึงสัมพันธไมตรีอันดีที่มีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รัฐบาลอเมริกาเคยแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบแล้วว่า ต้องการป้องกันมิให้มีการขยายการศึกในเขตแปซิฟิก และเชื่อมั่นว่าการขบปัญหาต่าง ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพึงกระทำด้วยการเจรจาโดยสันติ และไม่พึงอาศัยการบีบบังคับใด ๆ

วันที่ ๑๓ กันยายน สภาผู้แทนราษฎรไทยมีมติเห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลในการเจรจากับฝ่ายฝรั่งเศส และในวันเดียวกันนั้น นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งข้อเสนอของประเทศไทยให้นายแกร็นท์อัครราชทูตอเมริกาทราบ โดยยํ้าว่า รัฐบาลไทยไม่ประสงค์จะใช้กำลังในการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส แต่เชื่อว่า ญี่ปุ่นอาจจะเข้าควบคุมรัฐบาลอินโดจีนในไม่ช้าไทยจึงปรารถนาขอให้ฝรั่งเศสพิจารณาคืนดินแดนของไทยเดิมให้แก่ไทย หวังว่ารัฐบาลอเมริกาคงจะมองเห็นเหตุผล และความจำเป็นของไทย

 

 

นายแกร็นท์ยืนยันต่อนายดิเรก ชัยนาม ว่า ในทัศนะของรัฐบาลอเมริกา ควรจะรักษาสถานะทางดินแดนปัจจุบันในอินโดจีนไว้ก่อน เพื่อมิให้ภาวการณ์ของโลกโดยทั่วไปต้องเลวร้ายลงไปอีก นายแกร็นท์หวังว่า ไทยคงจะช่วยรักษาภาวการณ์ดังกล่าวด้วยการงดเว้นไม่ดำเนินการใด ๆ ที่อาจจะกลายเป็นการรุกรานโดยไม่เจตนา หรืออาจจะส่งเสริมสนับสนุนการรุกรานของประเทศที่สาม ประเทศไทยกำลังดำเนินการสร้างสรรค์ภายในอาณาเขตปัจจุบันของไทยได้ผลดีอยู่แล้ว หากจะคิดขยายดินแดนออกไปในภาวะอันไม่เป็นปกติของอินโดจีน จะก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่รัฐบาลและประชาชนชาวไทย การงดเว้นไม่ถือโอกาสของรัฐบาลไทยจะได้รับการแซ่ซ้องสาธุการจากบรรดาประเทศที่พยายามแสวงหาทางป้องกันมิให้การขัดกันขยายตัวออกไปในโลก ประเทศไทยจะอยู่ในฐานะที่มั่นคงมากขึ้นเมื่อถึงเวลาที่จะเจรจาปัญหาเรื่องดินแดนภายหลังสงคราม

ต่อมานายแกร็นท์ได้รายงานกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า ได้ทราบจากอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๘๓ รัฐบาลวิชียินยอมให้ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารผ่านดินแดนตอนเหนือของอินโดจีนเพื่อเข้าไปทำการศึกในประเทศจีน ทำให้เห็นว่า สถานะเดิมของอินโดจีนต้องถูกทลายไปแล้ว เป็นการเพิ่มนํ้าหนักให้แก่คำเรียกร้องดินแดนของไทยยิ่งขึ้น และนายกรัฐมนตรีไทยเคยแจ้งต่ออัครราชทูตฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ว่า ญี่ปุ่นจะพยายามจัดให้ไทยได้รับดินแดนคืนจากฝรั่งเศส แต่รัฐบาลไทยเลือกที่จะเจรจาทำความตกลงกับฝรั่งเศสเองมากกว่าที่จะอาศัยญี่ปุ่น

วันที่ ๑๘ กันยายน รัฐบาลวิชีตอบปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่จะให้พิจารณาปรับปรุงเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีน โดยจะขอรับพิจารณาเฉพาะปัญหาเกาะแก่งในแม่นํ้าโขงเท่านั้น กระนั้นก็ตาม นายดิเรก ชัยนาม ยังยืนยันต่อนายแกร็นท์ว่า รัฐบาลไทยยังคงหาทางเจรจาทำการตกลงกับฝรั่งเศสต่อไป

ในวันเดียวกันนั้น เซอร์โจซาย ครอสบี้ แจ้งต่อนายแกร็นท์ว่า ข้อเรียกร้องดินแดนคืนของไทยที่ยื่นต่อรัฐบาลวิชีนั้น มีความสำคัญน้อย เป็นเรื่องที่น่าจะปล่อยให้ไทยเจรจาตกลงกับฝรั่งเศสด้วยตนเอง จะดีกว่าที่ฝ่ายอื่นจะเข้าไปแทรกแซง ทำให้นายแกร็นท์รู้สึกไม่พอใจที่ฝ่ายอังกฤษจะปลีกตัวไม่สนับสนุนท่าทีอันแข็งแกร่งของอเมริกา

คณะรัฐมนตรีไทยได้พิจารณาคำตอบของรัฐบาลวิชี ใช้เวลาอภิปรายกันกว่า ๔ ชั่วโมง โดยไม่สามารถจะมีมติชัดแจ้งอย่างใดได้ นอกจากจะยืนยันอีกว่า ไทยต้องการจะเจรจากับฝ่ายฝรั่งเศสในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ภายในประเทศไทยเริ่มมีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนบ้างประปรายแล้ว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความต้องการเจรจาของรัฐบาลไทย อัครราชทูตฝรั่งเศสรายงานไปยังรัฐบาลวิชีว่า สถานการณ์จะร้ายแรงยิ่งขึ้น เกรงว่าอาจจะมีการสู้รบระหว่างกันภายในระยะเวลา ๖ สัปดาห์หลังฤดูฝน และได้ขอให้นายกรัฐมนตรีไทยเห็นใจในความจำเป็นของฝ่ายฝรั่งเศสบ้าง เพราะถ้าหากฝ่ายฝรั่งเศสผ่อนยินยอมตามข้อเรียกร้องของไทยในอินโดจีน อาจจะกระทบกระเทือนถึงดินแดนอื่นในจักรวรรดิฝรั่งเศสด้วย ไทยน่าจะยินยอมให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อพิจารณาเขตแดนในลำนํ้าโขงเกี่ยวกับเกาะบางเกาะไปพลางก่อน เพื่อทุเลาการกดดันจากภายนอกได้

ต้นเดือนตุลาคม ลอร์ดแฮลิแฟ็กซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษส่งสาส์นถึงหลวงพิบูลสงคราม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า รัฐบาลอังกฤษเห็นควรจะรักษาสถานะเดิมของดินแดนในอินโดจีนไว้ แต่ในกรณีที่ญี่ปุ่นเข้าควบคุมอินโดจีนทั้งหมด และประเทศไทยมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำความตกลงกับญี่ปุ่นเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของไทยแล้ว รัฐบาลอังกฤษหวังว่าฝ่ายไทยจะไม่ดำเนินการอย่างใดอันจะขัดต่อผลประโยชน์ของอังกฤษในภูมิภาคนี้ อาทิ การยินยอมให้ฝ่ายญี่ปุ่นมีฐานทัพอากาศในประเทศไทยที่อาจจะใช้ต่อดินแดนของอังกฤษ ทั้งนี้ ทำให้นายแกร็นท์ถึงกับปรารภต่อเซอร์โจซาย ครอสบี้ แสดงความไม่เห็นด้วยกับท่าทีของอังกฤษว่า การที่อังกฤษผ่อนเพื่อเอาใจไทยเช่นนั้นจะเป็นการกระตุ้นให้ไทยหันไปหาญี่ปุ่นมากขึ้น เป็นการเตรียมมูนิคอีกแห่งหนึ่งซึ่งอังกฤษเองจะเสียใจภายหลัง อังกฤษมีอิทธิพลในไทยมากอยู่แล้ว น่าจะพยายามใช้ประโยชน์จากอิทธิพลนั้น ไม่ควรพูดให้ไทยมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำความตกลงกับญี่ปุ่นเลย และถ้าไทยทำความตกลงกับญี่ปุ่นในปัญหาเรื่องดินแดนทางอินโดจีนแล้ว ก็เป็นที่แน่ว่าญี่ปุ่นจะต้องขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบแทนจากฝ่ายไทยผลจะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นสามารถเข้าควบคุมประเทศไทยเองในที่สุดจัดตั้งรัฐบาลหุ่นในประเทศไทยขึ้น แล้วการรับรองของนายกรัฐมนตรีพิบูลสงครามที่ว่าจะไม่ดำเนินการใด ๆ อันจะกระทบถึงผลประโยชน์ของอังกฤษในภูมิภาคจะมีความหมายอย่างใด อังกฤษควรจะร่วมกับสหรัฐฯ อย่างเข้มแข็งที่จะป้องกันมิให้ไทยต้องตกเข้าไปอยู่ในอิทธิพลของญี่ปุ่นมากกว่า

วันที่ ๔ ตุลาคม ภายหลังที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีไทยแล้ว นายแกร็นท์ได้รายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า เข้าใจว่าไทยอาจจะเข้าข้างญี่ปุ่นเพื่อให้ได้ดินแดนอินโดจีนคืน กลุ่มทหารมีอิทธิพลเหนือนายกรัฐมนตรีมากขึ้น เพราะทั้ง ๆ ที่ยืนยันกับนายแกร็นท์ว่า ไทยจะไม่ใช้กำลังเพื่อให้ได้รับดินแดนคืน แต่ความต้องการดินแดนคืนนั้นเป็นความรู้สึกของประชาชนชาวไทย ซึ่งมีการตื่นตัวเดินขบวนกันแล้วแต่นายแกร็นท์คิดว่า ทั้งนี้มิใช่ความต้องการอันแท้จริงของคนไทย หากเป็นความประสงค์ของกลุ่มปัญญาชนกลุ่มน้อยเท่านั้น

วันที่ ๑๑ ตุลาคม นายแกร็นท์รายงานรัฐบาลอเมริกาอีกว่า ได้ทราบจากทูตฝรั่งเศสว่า ทูตเยอรมันในประเทศไทยแนะให้ไทยคงเรียกร้องดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าโขงต่อรัฐบาลวิชีต่อไป โดยรัฐบาลเยอรมันจะหาทางบีบบังคับให้รัฐบาลยินยอม

วันที่ ๑๔ ตุลาคม รัฐบาลไทยตกลงส่งพันเอก ประยูร ภมรมนตรี เดินทางไปยุโรปเพื่อจัดการเรื่องนักเรียนไทยที่ต้องตกค้างอยู่ในยุโรป จะหาทางให้กลับประเทศไทยหรือไปศึกษาต่อในประเทศอื่น ในขณะเดียวกันได้มอบหมายให้หยั่งฟังท่าทีของเยอรมันและอิตาลีเกี่ยวกับการเรียกร้องดินแดนในอินโดจีนคืนประเทศไทย

วันที่ ๒๐ ตุลาคม นายกรัฐมนตรีกล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนชาวไทยทางวิทยุกระจายเสียงอย่างยืดยาว ชี้แจงให้ทราบถึงสาเหตุในการที่ฝ่ายไทยได้เสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนเพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติและความยุติธรรม โดยได้เริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๗๙ สมัยที่ไทยเจรจาสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฝ่ายไทยขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงเขตแดนด้วย หากแต่รัฐบาลฝรั่งเศสขอให้รอไว้เจรจากันเมื่อจะทำอนุสัญญาใหม่เกี่ยวกับอินโดจีน แต่แล้วก็มิได้มีการดำเนินการอย่างใด จนกระทั่งก่อนเกิดสงครามในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ฝ่ายฝรั่งเศสทาบทามจะขอทำสัญญาไม่รุกรานกับประเทศไทยหลายครั้งหลายหน ซึ่งฝ่ายไทยมองไม่เห็นความจำเป็นในด้านนี้ เมื่อสงครามในยุโรปใกล้เข้ามาเต็มที เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาติไทยรักสันติภาพอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงได้ตกลงในหลักการที่จะเจรจาด้วย โดยขอให้รวมการพิจารณาปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนเสียด้วย ฝ่ายฝรั่งเศสรับจะปรับปรุงเส้นเขตแดนในลำนํ้าโขงโดยจะยึดร่องนํ้าลึกเป็นเกณฑ์ ส่วนเส้นเขตแดนช่วงอื่นจะได้พิจารณากันในโอกาสต่อไป รัฐบาลไทยและฝรั่งเศสได้ลงนามในสัญญาไม่รุกรานต่อกัน แต่ฝ่ายฝรั่งเศสยังไม่ยอมให้มีการพิจารณาเรื่องเขตแดนโดยทั่วไป นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ในการขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนนี้ รัฐบาลได้รับการสนับสนุนเป็นเอกฉันท์จากมวลชนชาวไทยทุกหมู่ ทุกคณะ ทุกเพศ ทุกวัย ดังจะเห็นได้จากการอาสาสมัครพลีชีพเพื่อชาติ การสละทรัพย์สิน การเดินขบวนเรียกร้องสนับสนุนรัฐบาล โดยรัฐบาลมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดให้มีขึ้นเลย เป็นการปฏิบัติโดยสมัครใจของประชาชนทั่วราชอาณาจักรอย่างไม่เคยปรากฏในประวัติการณ์ของชาติไทย แม้พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในแคว้นลาวและเขมรก็ได้สำแดงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะได้เห็นความเป็นอิสระของคนไทยส่วนน้อยในเขตนั้น เพราะเมื่อตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ต่างได้รับความทุกข์ยากลำบากจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศสไม่น้อย พี่น้องชาวเอเชียด้วยกันก็ได้สนับสนุนรัฐบาลไทยด้วยความเห็นอกเห็นใจ แม้ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในประเทศไทยบางคนก็ได้ขอร้องต่อรัฐบาลฝรั่งเศสให้ธำรงความยุติธรรมโดยตกลงตามข้อเสนอของไทยเสีย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องการปรับปรุงเส้นเขตแดนกับอินโดจีนฝรั่งเศสให้เป็นผลสำเร็จโดยไม่ยอมถอยหลัง ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ฝรั่งเศสคงไม่สามารถปกครองอินโดจีนต่อไป พี่น้องชาวไทยในแคว้นเขมร ลาว และญวน ต้องได้อิสรภาพ ต่างชาติต่างจะได้ปกครองตนเอง ปัญหามีอยู่เพียงว่าจะเป็นได้เมื่อใดเท่านั้น ซึ่งทั้งนี้จะช้าหรือเร็วย่อมสุดแล้วแต่เหตุการณ์จะผันแปรไป นายกรัฐมนตรีเตือนประชาชนชาวไทยมิให้หลวมตัวในการขอดินแดนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่กลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อชาติ

นายแกร็นท์รายงานรัฐบาลว่า คำปราศรัยนี้ส่งกลิ่นไอมาจากกรุงโตเกียว ข้อเรียกร้องของไทยที่เสนอต่อรัฐบาลวิชีนั้น เป็นเพียงเพื่อเหตุเป้าหมายสำคัญอยู่ที่จะต้องตีอินโดจีนให้แตกสลายให้จงได้ตามแผนการขยายตัวลงใต้ของฝ่ายญี่ปุ่น ในสายตาของนายกรัฐมนตรีไทยและสมัครพรรคพวกเชื่อกันว่า เยอรมันจะได้ชัยชนะในสงครามยุโรปอย่างไม่น่าสงสัย อังกฤษจะพ่ายแพ้ สหรัฐฯ จะไม่มีอำนาจในตะวันออกไกล และไม่มีประเทศใดที่จะสามารถเหนี่ยวรั้งการคืบหน้าของฝ่ายญี่ปุ่นได้

 


Ink/pencil drawing illustrating the strengthening of ties between Great Britain and the United States vis-a-vis the conflict with Japan which was intensified with the Japanese occupation of French Indochina
ที่มา: National Archives Singapore

 

ระหว่างนั้นกรณีเหตุชายแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนค่อย ๆ ปะทุขึ้น มีการโจมตีซึ่งกันและกันหนาหู การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนเพิ่มขึ้น วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน นายเนวิลล์ เอ็ม. บัตเลอร์ อุปทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน เข้าพบนายแมกแวลล์ เอ็ม. แฮมิลตัน หัวหน้ากองกิจการตะวันออกไกล กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน นายบัตเลอร์กล่าวถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลอังกฤษว่า ญี่ปุ่นคงจะเข้ายึดจุดบางจุดในอินโดจีนในเร็ววัน และหลังจากนั้นอาจจะถือโอกาสเข้าโจมตีสิงคโปร์ โดยขอทำความตกลงกับประเทศไทย ขอใช้ฐานทัพบางแห่งในประเทศไทย จะควรปล่อยให้ฝ่ายไทยเข้ายึดดินแดนบางส่วนในอินโดจีนที่เคยเป็นของไทยมาก่อน หรือควรจะขัดขวางไว้โดยอาศัยท่าทีอันเข้มแข็งของอังกฤษร่วมกับอเมริกา ถ้าไทยได้ดินแดนคืน ไทยอาจจะขัดขืนญี่ปุ่น และอาจจะไม่ยอมให้ญี่ปุ่นมีฐานทัพในประเทศไทยก็ได้ แต่ถ้าอังกฤษและอเมริกาสามารถยับยั้งมิให้ไทยดำเนินการเรียกร้องดินแดนคืนได้สำเร็จ ไทยจะไม่ยินยอมให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารญี่ปุ่น หรือไทยอาจจะให้ก็ได้ รัฐบาลไทยรู้สึกว่า รัฐบาลอเมริกาพูดกับรัฐบาลไทยเข้มงวดเสมือนหนึ่งพูดกับรัฐบาลญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้รุกรานประเทศอื่นเป็นเวลานานปีแล้ว ส่วนรัฐบาลไทยยังไม่เคย น่าที่รัฐบาลอเมริกาจะได้ใคร่ครวญดูให้ดี นายแฮมิลตันตอบอุปทูตอังกฤษว่า รัฐบาลอเมริกาเคยแจ้งท่าทีของรัฐบาลอเมริกาให้ฝ่ายไทยทราบหลายหนแล้วว่า ถ้าประเทศไทยใช้วิธีการทหารเพื่อเรียกร้องดินแดนคืน จะเป็นการยั่วยุให้เกิดการรุกรานทางดินแดนในส่วนอื่น ๆ ของโลก และจะเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงแก่ประเทศไทยในภายหลังเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่รัฐบาลอเมริกาโดยการเสนอแนะของทูตแกร็นท์ ได้ดำเนินการบางอย่างเพื่อจูงใจมิให้ไทยใช้กำลังในการเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนรวมตลอดทั้งการยึดเครื่องบินที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และได้จ่ายเงินครบถ้วนแล้วไว้เมื่อส่งมาถึงกรุงมนิลา ย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่รัฐบาลไทย ผลักดันให้ฝ่ายไทยต้องหันเข้าหาญี่ปุ่น ซึ่งถือโอกาสเสนอขายเครื่องบินรบให้แก่ฝ่ายไทยแทนที่ถูกยึด เป็นการผูกมิตรให้ไทยจำต้องพึ่งพาอาศัยญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น

เมื่อเหตุการณ์ทางชายแดนรุนแรงขึ้น ถึงกับมีการใช้กำลังเข้าทำการรบหลายด้าน รัฐบาลไทยได้สั่งให้พระพหิทธานุกร อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ย้ายออกไปประจำที่กรุงลิสบอน ปล่อยให้มีข้าราชการชั้นเลขานุการโทไว้ที่กรุงปารีสเพียงคนเดียว และพร้อมกันได้สั่งให้นักเรียนและคนไทยในประเทศฝรั่งเศสเดินทางออกจากดินแดนฝรั่งเศสทุกคน ส่วนนายเลปิซิเอ ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ถูกรัฐบาลวิชีเรียกตัวกลับ แล้วถูกสั่งปลดออกจากราชการ เพราะเห็นว่าทูตเอาใจช่วยประเทศไทยมากเกินไป ขัดต่อท่าทีของฝ่ายฝรั่งเศสในอินโดจีน รัฐบาลวิชีส่งนายโรเจการ์โร มาเป็นผู้รักษาการสถานทูต ซึ่งในชั้นแรกฝ่ายไทยไม่ยอมรับนับถือและไม่ยอมติดต่อด้วย

วันที่ ๑๐ ธันวาคม นายมัตสุโอกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงเป็นการเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะวางตัวเป็นกลางในข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนอินโดจีน ฝ่ายอังกฤษเข้าใจว่า ญี่ปุ่นต้องการจะให้ไทยแข็งพอที่จะเอาชนะฝรั่งเศสได้ โดยจะช่วยส่งอาวุธเข้าเสริมกำลังทหารไทย ก่อให้เกิดความรู้สึกในฝ่ายไทยที่จะต้องผูกพันกับญี่ปุ่น และเมื่อถึงเวลาที่ญี่ปุ่นจะเข้าโจมตีมลายูหรือพม่า ก็จะได้ใช้อาวุธที่ส่งให้ไทยนั้น และในขณะเดียวกัน อาจจะได้รับการสนับสนุนจากไทยด้วย

วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๔ รัฐบาลไทยประกาศสถานะสงครามกับอินโดจีนฝรั่งเศสโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสล่วงลํ้าอธิปไตยของไทยจนไม่สามารถจะทนนิ่งอยู่ได้ ในตอนนั้นกำลังทหารไทยสามารถเข้ายึดพื้นที่ในอินโดจีนฝรั่งเศสได้เมืองหลวงพระบาง นครจำปาศักดิ์ และที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง และกำลังคืบหน้าต่อไป

เมื่อเห็นว่าการศึกระหว่างไทยกับฝรั่งเศสทางชายแดนอินโดจีนมีท่าทีจะลุกลามเป็นภัยต่อความสงบในภูมิภาค รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งสองฝ่ายตกลงรับข้อเสนอของญี่ปุ่น และส่งคณะผู้แทนไปเจรจาทำความตกลงพักรบที่ไซ่ง่อน และไปเจรจาสันติภาพที่กรุงโตเกียว การเจรจาพักรบเริ่มเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ ตกลงกันได้ในสาระสำคัญดังต่อไปนี้

๑. ให้กองทัพบกของแต่ละฝ่ายถอนไป ๑๐ กิโลเมตร จากที่มั่นอันแท้จริงที่ยึดได้ไว้ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธก่อนที่จะได้ทำการตกลงเด็ดขาดเพื่อระงับข้อพิพาทนี้ ตามข้อตกลงนี้ ฝ่ายกองทัพไทยคงยึดอยู่ในแนวพอประมาณ คือ เริ่มแต่ด้านไพลินขึ้นไปจนถึงแคว้นหลวงพระบางในแนวและจุด ดังนี้

ด้านจันทบุรี บ้านบ่อตั้งสู้ บ้านกุมเรียงกรม จดทิศตะวันตก บ้านดง ๓๐ กิโลเมตรบ้านวังสมัคร ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองศรีโสภณ

ด้านปราจีนบุรี ต่อจากบ้านวังสมัคร คงถือแนวซึ่งกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพบูรพายึดอยู่ระหว่างบ้านสำโรงกันดัลกับบ้านสวายจิก

ด้านบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ จากบ้านสวายจิกตรงไปยังเขตแดนบริเวณระลมเบง ครั้นแล้วแนวตัดตรงไปยังเขตแดนทิศเหนือบ้านอำบล แล้วแนวหักตรงไปบ้านสำโรง (เหนือจงกัล) จากบ้านสำโรงไปจดเขตแดนทิศเหนือบ้านอัลลองเวง ต่อจากนั้นแนวขนานกับแนวอัลลองเวง-เจียมกะสาน ไปจนจดเขตแดนทิศเหนือเจียมกะสาน

ด้านอุบลราชธานี จากช่องเปรียจำบัก เป็นแนวตรงไปจนมูลป่าโมกข์ ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาลำนํ้าโขง จากมูลป่าโมกข์ถือลำนํ้าโขงเป็นเขตจนจดแม่นํ้าปุย ถึงในแคว้นหลวงพระบางแล้วถือแม่นํ้าปุยเป็นแนวจนจดเขตแดนของเราในจังหวัดน่าน

๒. ในทางทะเล จะมีเส้นแบ่งเขตซึ่งเรือรบของประเทศที่เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายมิอาจล่วงลํ้าเข้าไปได้

๓. ในทางอากาศ จะมีเส้นแบ่งเขตซึ่งเครื่องบินทหารของแต่ละฝ่ายไม่อาจบินล่วงลํ้าเข้าไปได้

๔. การถอยของกองทัพบกของแต่ละฝ่าย จะต้องกระทำให้เสร็จสิ้นภายใน ๗๒ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้ลงนามในข้อตกลงพักรบ

การเจรจาสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว เริ่มเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ ทั้งสองฝ่ายตกลงรับแผนการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น ตกลงลงนามย่อในแผนนั้นเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม และลงนามในอนุสัญญาเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ปีเดียวกัน ยังผลให้ประเทศไทยได้รับดินแดนแคว้นหลวงพระบางฝั่งขวาแม่นํ้าโขง แคว้นนครจำปาศักดิ์ และแคว้นเขมรกลับคืน ทางสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ความเห็นชอบอนุสัญญากรุงโตเกียวเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๘๔

เมื่อทำอนุสัญญาลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยหลักประกันและความเข้าใจทางการเมืองฉบับหนึ่งมีข้อความสำคัญว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้หลักประกันแก่รัฐบาลไทยในการใช้บังคับอนุสัญญาอย่างเด็ดขาดและไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนรัฐบาลไทยรับจะช่วยรักษาสันติภาพในเอเชียตะวันออก โดยกระชับสัมพันธไมตรีฐานเพื่อนบ้านที่ดีและส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์อันสนิทระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น และรับว่าจะไม่ทำความตกลงหรือความเข้าใจใด ๆ กับประเทศอื่นในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือการทหาร ที่อาจจะขัดกับญี่ปุ่นโดยตรงหรือโดยปริยาย

โดยผลแห่งความสำเร็จในการได้ดินแดนอื่นจากฝ่ายฝรั่งเศสคราวนั้น ทางกระทรวงกลาโหมได้เสนอขอความดีความชอบให้เลื่อนยศพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ ขึ้นเป็นพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อันประกอบด้วย พลตรีพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว เห็นสมควรพระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศให้พลตรี หลวงพิบูลสงคราม เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์แก่กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔ และในวันเดียวกันนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยสร้อยทองคำให้แก่จอมพล หลวงพิบูลสงครามด้วย

รัฐบาลอเมริกาไม่ได้ดำเนินมาตรการใด ๆ ที่จะถือว่าการโอนดินแดนนั้นไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๗ คณะกรรมการโครงการหลังสงครามจึงได้กำหนดว่า การโอนดินแดนโดยอาศัยญี่ปุ่นไม่สมบูรณ์

เกี่ยวกับการเรียกร้องดินแดนเดิมของไทยคืนนี้ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๘๔ เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้มีรายงานลับถึงนายแอนโทนี อีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ให้ภูมิหลังไว้ว่า กระบวนการเรียกร้องดินแดนคืนในประเทศไทยพอแบ่งออกได้เป็น ๒ สาย สายหนึ่ง ได้แก่ พวกที่ต้องการจะได้ดินแดนที่ประเทศไทยต้องสูญเสียให้แก่ฝ่ายฝรั่งเศส ด้วยการที่ฝรั่งเศสใช้อำนาจบังคับเอาในระยะประมาณ ๕๐ ปีที่ล่วงแล้วมา อีกสายหนึ่งมุ่งถึงดินแดนที่ประเทศไทยโอนให้แก่ฝ่ายอังกฤษโดยสนธิสัญญาปี ๒๔๕๒ การเรียกร้องทั้งสองสายนี้มีความเข้มข้นต่างกันมาก รัฐเกดาห์ ปะลิส กลันตัน และตรังกานู ไม่เคยถือเป็นส่วนหนึ่งของราชการอาณาจักรไทยเลย หากเป็นเพียงประเทศราชที่ส่งบรรณาการประจำปีมาให้ราชสำนักไทยเท่านั้น ปวงชนที่พำนักอาศัยอยู่ก็ล้วนนับถือศาสนาอิสลาม ต่างกับชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนา แตกต่างกันทั้งในด้านเชื้อชาติและภาษาอีกด้วย นอกจากนั้น การโอนอธิปไตยในปี ๒๔๕๒ เป็นไปด้วยความสมัครใจของรัฐบาลไทย เพื่อแลกกับการสละสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่คนชาติบริติชเสวยอยู่ในประเทศไทยตามสัญญาสมัยก่อน การทำความตกลงปี ๒๔๕๒ ไม่มีสัญญาณแห่งการขู่เข็ญบังคับแต่อย่างใด ฉะนั้น กรณีจึงต่างกับขบวนการเรียกร้องดินแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส

เซอร์โจซายกล่าวต่อไปว่า ขบวนการเรียกร้องดินแดนของไทยเพิ่งจะเริ่มไหวตัวขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๘ โดยกระทรวงกลาโหมไทยพิมพ์แผนที่แสดงบรรดาดินแดนที่ประเทศไทยเคยเสียให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ ทั้งทูตอังกฤษและอุปทูตฝรั่งเศสในตอนนั้นได้ทำการประท้วงอย่างหนักแน่น ทางกระทรวงกลาโหมแก้ตัวว่า เจตนามีเพียงเพื่อประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเท่านั้น แล้วแผนที่เหล่านั้นก็อันตรธานหายไป มาปรากฏออกเวียนแจกใหม่เมื่อมีการยุยงให้เรียกร้องดินแดนทางอินโดจีนคืนภายหลังที่ประเทศฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้สงครามในยุโรป นายกรัฐมนตรีไทยได้ยืนยันต่อเซอร์โจซายหลายครั้งหลายหนว่า ไม่มีเจตนาที่จะเรียกร้องสิทธิที่ประเทศไทยได้ให้แก่ฝ่ายอังกฤษเมื่อปี ๒๔๕๒ เกี่ยวด้วยรัฐมลายูทั้ง ๔ เพราะความแตกต่างระหว่างทั้งสองฝ่ายมีมากมาย เซอร์โจซายเชื่อในคำรับรองของนายกรัฐมนตรี เพราะคงไม่อยากจะให้เกิดปัญหากับฝ่ายอังกฤษในขณะที่กำลังต้องยุ่งยากกับฝ่ายฝรั่งเศสอยู่ นายกรัฐมนตรีแจ้งด้วยว่า ได้สอดส่องมิให้การโจมตีฝรั่งเศสในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ไทยขยายตัวไปถึงดินแดนในมลายู ต่อมา ทางกรมการค้าไทยภายใต้นายวนิช ปานะนนท์ ผู้นิยมญี่ปุ่น ได้พิมพ์แผนที่ทำนองเดียวกันอีก อ้างว่าเป็นแผนที่แสดงสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ออกจำหน่ายฉบับละ ๑๐ สตางค์ เซอร์โจซายได้ประท้วงอย่างรุนแรงต่อนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งชี้แจงว่า การพิมพ์แผนที่นั้นออกจำหน่าย รัฐบาลไม่ได้ทราบและให้ความยินยอมแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีมีความไม่พอใจเป็นอย่างมากได้สั่งให้ระงับการจำหน่าย ก่อนที่ทูตจะยกเรื่องขึ้นพูดเสียอีก นายกรัฐมนตรีเองก็ได้ยํ้าข้อความนี้ต่อเซอร์โจซาย และต่อมานายดิเรก ชัยนาม ได้มีหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร

เซอร์โจซายกล่าวในรายงานฉบับนั้นต่อไปว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาราชการต่างประเทศของรัฐบาลไทย ยืนยันต่อทูตว่า ไม่มีผู้ใดในคณะรัฐบาลไทยจะคิดถึงการที่จะให้อังกฤษคืนดินแดนให้แก่ประเทศไทยเลย แต่ก็ยอมรับว่าอาจมีบุคคลบางคนคำนึงถึงเรื่องนี้ เซอร์โจซายเข้าใจว่า คนหนึ่งที่อาจจะคิดถึง ได้แก่ หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยในคณะรัฐบาลไทยด้วย แม้จะมิได้เป็นผู้คิดจัดพิมพ์ขึ้นเอง หลวงวิจิตรวาทการก็คงยินดีในการที่มีแผนที่เช่นนั้นพิมพ์ออกโฆษณา สำนักข่าวโดเมอิจากกรุงโตเกียวถือโอกาสตั้งเป็นปัญหาขึ้นว่า อังกฤษจะยินยอมคืนดินแดนเดิมของประเทศไทยให้แก่ไทยหรือไม่ และต่อมาได้ออกข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๓ ตอบคำถามของนักหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นว่า ในปัจจุบันไทยไม่แสวงหาการเรียกคืนดินแดนจากฝ่ายอังกฤษ

เซอร์โจซายสรุปในตอนท้ายของรายงานว่า ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนในส่วนที่เกี่ยวกับอังกฤษ แม้จะยังไม่มีความสำคัญในตัวเองและในจำนวนของผู้ที่เห็นด้วย แต่อังกฤษย่อมไม่อาจจะหลับหูหลับตาได้ เพราะเมื่อโอกาสเอื้ออำนวยญี่ปุ่นก็คงจะใช้เป็นอาวุธต่อฝ่ายอังกฤษอย่างไม่น่าสงสัย ความอยากได้ของไทยอาจจะขยายตัวออกไปอย่างไม่น่าเชื่อ อังกฤษจะอยู่ในฐานะที่ยากลำบาก หากญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการปลุกปั่นให้ประชาชนชาวไทยมองเห็นความเป็นไปได้ของจักรวรรดิไทย ที่เริ่มจากประเทศจีนในตอนเหนือเรื่อยลงไปถึงเกาะปีนังหรือใต้ยิ่งกว่านั้นตามความเพ้อฝันของหลวงวิจิตรวาทการ

ข้าพเจ้าใคร่จะขอเปิดวงเล็บในตอนนี้ว่า เมื่อรัฐบาลไทยตกลงรับการเสนอไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นในกรณีข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เซอร์โจซาย ครอสบี้ ถือเป็นการล้มเหลวแห่งการดำเนินงานของท่านในประเทศไทย ท่านได้มีหนังสือลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ ถึงเซอร์อเล็กซานเดอร์ คาโดเกิล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ขอลาออกจากตำแหน่งทูตอังกฤษประจำประเทศไทย โดยท่านได้เริ่มหนังสือฉบับนั้นว่า แม้เหตุการณ์จะคลี่คลายไปเช่นนั้นก็ตาม ท่านยังคงเชื่อมั่นว่า อังกฤษจำต้องดำเนินนโยบายฉันมิตรกับประเทศไทยต่อไป เพื่อป้องกันมิให้ประเทศไทยกลายเป็นนิยมญี่ปุ่นเต็มตัว ทั้งนี้ เป็นนโยบายที่ถูกต้อง แต่อาจจะต้องเพิ่มความระแวดระวังมากยิ่งขึ้น ไม่หลงเชื่อในสิ่งใด ๆ จนเกินไป ท่านเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่อังกฤษควรจะมีทูตใหม่มาทำหน้าที่แทนท่าน ซึ่งจะไม่อยู่ในความผูกมัดของสายสัมพันธ์อันยืนนานกับคนไทยอย่างท่าน ทูตใหม่จะสามารถมองเห็นแนวป่าพนาสัณฑ์ มิใช่จะจดจ้องเพ่งแต่ต้นไม้แต่ละต้น จะสามารถวางตนให้เหินห่างจากเหตุการณ์ และมีท่าทีอันเข้มแข็งขึ้นต่อคนไทยมากกว่าท่าน เซอร์โจซายปรารภต่อไปว่า ท่านก็ใกล้จะครบเกษียณอายุทางราชการอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ท่านควรจะพ้นตำแหน่งอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ก่อนที่อัครราชทูตญี่ปุ่นจะได้รับเลื่อนชั้นเป็นเอกอัครราชทูต ข้ามหน้าท่านไปในฐานะคณบดีคณะทูต ทูตใหม่จะมีอาวุโสตํ่ากว่าทูตญี่ปุ่น จะกระอักกระอ่วนน้อยกว่าท่านเมื่อญี่ปุ่นยกฐานะผู้แทนในเร็ววัน อนึ่ง การที่ท่านต้องจากไปจะทำให้รัฐบาลไทยเกิดความยับยั้งชั่งใจ ตระหนักในภัยที่กำลังวิ่งเข้ามาหา เซอร์โจซายเน้นขอให้ปลัดกระทรวงอย่าได้คิดไปว่า ท่านเป็นคนขี้แพ้ หรือต้องการจะหลบหนีภารกิจที่ง่ายน้อยกว่าแต่ก่อน ท่านยังคงพร้อมที่จะรับใช้รัฐบาลอังกฤษตามแต่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมอบหมายให้

ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษใช้เวลาพิจารณาคำขอของเซอร์โจซายนานพอสมควร ปลัดกระทรวงมีโทรเลขของวันที่ ๑ มีนาคม ตอบว่า กระทรวงการต่างประเทศเห็นด้วยกับทูตว่า รัฐบาลอังกฤษจะต้องคงรักษานโยบายเป็นมิตรกับไทยต่อไปมากที่สุดที่จะกระทำได้ ด้วยเหตุนี้เอง นอกจากจะไม่มีผู้ใดสามารถเจริญรอยตามนี้ดีกว่าเซอร์โจซายแล้ว ถ้าหากโยกย้ายทูตในขณะนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจว่า อังกฤษจะเปลี่ยนนโยบายเป็นมิตรต่อไทย หรือมิฉะนั้นก็หมายความว่ารัฐบาลไม่ไว้วางใจทูตเสียแล้ว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่เป็นความจริงและจะมีแต่ผลเสีย ฉะนั้นจึงขอให้เซอร์โจซายอย่าได้ติดตามเรื่องนี้ต่อไปอย่างน้อยก็อีก ๖ เดือน

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การเรียกร้องดินแดนคืน”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), 42-58 น.

บรรณานุกรม :

  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “การเรียกร้องดินแดนคืน”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), 42-58 น.

บทความที่เกี่ยวข้อง :