ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ กับบันทึกประวัติศาสตร์เรื่องเสรีไทย

11
สิงหาคม
2565

“ข้าพเจ้าถือว่าขบวนการเสรีไทยเป็นแต่เพียงกองหน้า (Vanguard) ของปวงชนชาวไทยผู้รักชาติเท่านั้น…ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง

ซึ่งแม้ผู้ที่จะไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิธีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี…”

ปรีดี พนมยงค์
ใน โมฆสงครามฯ และสุนทรพจน์ในการชุมนุมเสรีไทย
25 กันยายน พ.ศ. 2488

 

ปรีดี พนมยงค์ ขณะประชุมปรึกษางานกับเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้าง
ปรีดี พนมยงค์ ขณะประชุมปรึกษางานกับเสรีไทยที่ทำเนียบท่าช้าง

 

ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยตัดสินใจในเช้าวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ยินยอมให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้วได้มีองค์การหรือขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นทั้งในไทยและกลุ่มคนไทยในอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา หรือเรียกกันต่อมาว่า ขบวนการเสรีไทย

เนื่องจากการเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งองค์การฯ เหล่านี้ เกิดขึ้นด้วยการปิดเป็นความลับและประสานกันโดยมีผู้รู้แผนการ ขั้นตอนต่างๆ ไม่มากนัก ดังนั้น จุดตั้งต้นของผู้ที่สนใจกำเนิดขบวนการเสรีไทย คือ บันทึกและจดหมายของหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อตั้งเสรีไทย และสมาชิกเสรีไทยสายต่างๆ รวมถึงเอกสารโต้ตอบระหว่างประเทศ ในบทความนี้นำเสนอบันทึกและเอกสารประวัติศาสตร์เรื่องเสรีไทยของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มเสรีไทยในประเทศไว้เบื้องต้น เพื่อปูทางสายเล็กๆ ให้แก่ผู้สนใจขบวนการเสรีไทยได้ตามร่องรอยไปสืบค้นเรื่องราวของเสรีไทยสายอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต่อไป

 

บริบททางประวัติศาสตร์และการก่อตั้งเสรีไทยในประเทศจากบันทึกโมฆสงคราม

 

หนังสือโมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส
หนังสือโมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส

 

ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้ทราบการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นที่จะขอผ่านไทยครั้งแรก ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 23.00 น. จากโทรศัพท์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้มาประชุมเป็นการด่วนที่วังสวนกุหลาบ เมื่อปรีดีไปถึงจึงได้พบกับ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดิเรกรายงานผลที่พบกับฝ่ายทูตญี่ปุ่น และพลตำรวจเอก อดุล ได้ขอให้ปรีดีร่วมกับดิเรกและพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เพื่อไปเจรจากับญี่ปุ่นให้ชะลอการยกพลขึ้นบก และรอให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ไม่อยู่ในเวลานั้นได้กลับมาสั่งการ

ปรีดีบันทึกการสนทนากับฝ่ายทูตญี่ปุ่น ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ไว้ว่า

 

“เมื่อข้าพเจ้าไปถึงห้องรับแขกวังสวนกุหลาบ ฝ่ายทูตญี่ปุ่นได้ขอให้ข้าพเจ้าเห็นในไมตรีระหว่างชาติไทยกับญี่ปุ่น โดยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปยังมลายาและพม่าของอังกฤษ ขออย่าให้ทหารไทยต้านทาน

ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าหรือรัฐมนตรีอื่นใดไม่มีอำนาจสั่งนอกจากจอมพล ป. คนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกใหม่จึงขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นอดใจรอจอมพล ป. ซึ่งเราได้ส่งรัฐมนตรีไปตามอย่างรีบด่วนแล้ว…”

 

คำตอบต่อทูตญี่ปุ่นของปรีดีสอดรับกับคำตอบของพลตำรวจเอก อดุล และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร จนกระทั่งเมื่อเวลา 7.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จอมพล ป. จึงกลับมาเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี[1]

ในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ รัฐมนตรีส่วนมากแสดงความเห็นไปในทางที่ไม่ประสงค์จะร่วมมือกับญี่ปุ่นและไม่ต้องการจะสู้รบกับญี่ปุ่น กระทั่งถกเถียงกันอย่างเข้มข้นแล้วจึงมอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย และเวลา 7.30 น. จอมพล ป. ได้มีคำสั่งให้หยุดยิงและมอบให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร  ดิเรก ชัยนาม และ วนิช ปานะนนท์ เป็นผู้แทนฯ ไปเจรจากับญี่ปุ่น ครั้นเวลา 10.10 น. คณะผู้แทนฯ ที่ไปเจรจาก็กลับมาแจ้งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบว่า ฝ่ายญี่ปุ่นยอมตกลงแต่ยังต้องมีการตกลงกันในทางเศรษฐกิจกับการคลังอีก

เมื่อเรื่องดำเนินมากระทบถึงการคลัง ปรีดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงกล่าวขึ้นว่า

 

“เรื่องเอกราชและอธิปไตยของเรานั้นญี่ปุ่นจะต้องเคารพอย่างเคร่งครัดและที่เราได้ตกลงกับเขานี้ก็เฉพาะเรื่องทหารอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน จะมาเอาเรื่องอื่นเช่นเรื่องเศรษฐกิจและการคลังมาพัวพันด้วยไม่ได้ ขอให้ทำความเข้าใจกับญี่ปุ่นตามนี้ให้เป็นที่แจ่มแจ้งด้วย”

 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับข้อท้วงติงของปรีดี จึงได้มอบหมายให้คณะผู้แทนชุดเดิมกลับไปทำความเข้าใจกับฝ่ายญี่ปุ่นอีกครั้งภายใต้หลักการในการเจรจา 4 ข้อ[2]

เมื่อญี่ปุ่นขึ้นบกแล้วก็เริ่มขอความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น การเจรจาขอกู้เงินจากรัฐบาลไทย และเกิดการโต้แย้งเรื่องการให้ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรทหารใช้ในประเทศไทยขึ้น โดยปรีดีเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า การที่ญี่ปุ่นขอกู้เงินนี้คงจะไม่ใช่งวดเดียว และเป็นการให้กู้เงินเพื่อประโยชน์ในการทำสงครามย่อมไม่มีหลักประกันให้รัฐบาลไทยทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ ปรีดีจึงเสนอให้ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรทหารของตนเองขึ้นใช้ในกรณีพิเศษ เพราะเห็นว่าเมื่อจบสงครามทางรัฐบาลไทยก็ประกาศยกเลิกได้โดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินภายใน

หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับปรีดีเพราะมองว่า การพิมพ์ธนบัตรของญี่ปุ่นในไทยเป็นการเสื่อมเสียต่อเอกราชและอธิปไตย ทางปรีดีจึงแย้งว่า การที่ไทยยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากมายก็เป็นการเสื่อมเสียต่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศอยู่แล้วมิใช่หรือ

 

ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484
ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484

 

เพียงไม่กี่วันหลังจากญี่ปุ่นผ่านไทย ปรีดีได้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายหลังการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 นับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484[3]

ส่วนการจัดตั้งขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่นของปรีดีในไทย เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีปรีดีกลับมาที่บ้านแล้วก็คิดชักชวนผู้รักชาติ รัฐมนตรีที่ไม่ใช่พวกญี่ปุ่น และผู้แทนราษฎรออกจากกรุงเทพฯ เพื่อไปตั้งรัฐบาลเสรีของชาติไทยในภาคเหนือ จึงให้พูนศุขภรรยาโทรศัพท์เชิญชวนมิตรบางคนมาที่บ้าน และปรึกษาวิธีการเดินทางไปภาคเหนือกับ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ อธิบดีกรมทางในขณะนั้น หากต่อมาทางทหารญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมชุมทางรถไฟและทางน้ำที่ปากน้ำโพจึงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจจัดตั้งรัฐบาลเสรีที่ภาคเหนือได้

ปรีดีบันทึกถึงการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศหลังวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ไว้ว่า                 

 

“อีก 2-3 วันต่อมา ข้าพเจ้าได้รับวิทยุสัมพันธมิตรทราบข่าวด้วยความยินดีว่า คนไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษได้จัดตั้งเป็น “เสรีไทย” ขึ้น ซึ่งข้าพเจ้ามีความหวังว่า ขบวนการต่อต้านภายในประเทศจะได้มีโอกาสร่วมมือกับขบวนการของคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งมีอุดมคติตรงกันในการอุทิศตนเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้คงคืนบริบูรณ์”

 

ในช่วงวันที่ 10 ธันวาคม เมื่อปรีดีทราบเรื่องการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของคนไทยขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว จึงได้ส่งตัวแทนเสรีไทยในประเทศไปจีน บางคณะยังไปถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ขณะที่เสรีไทยในต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาปฏิบัติการในไทยด้วยการโดดร่มมาลงในภูมิภาคต่างๆ

ท้ายบันทึกโมฆสงครามเรื่องการก่อตั้งขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่น หรือขบวนการเสรีไทยในประเทศ ปรีดีได้แสดงความเคารพและระลึกถึงเพื่อนเสรีไทยทุกนาม

 

“ขอให้เพื่อนเสรีไทยนิรนามที่ไม่มีชื่ออ้างไว้ในหนังสือเล่มนี้เข้าใจว่า ข้าพเจ้านับถือว่าท่านได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จนั้น พร้อมทั้งผู้ที่ข้าพเจ้าอ้างชื่อไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย”[4]

 

เอกสารประวัติศาสตร์ของปรีดี พนมยงค์ เรื่องเสรีไทยก่อนการประกาศสันติภาพ

 

ปรีดี พนมยงค์ ประชุมงาน​เสรีไทย​กับนายทหารฝ่าย​สัมพันธมิตร​ ที่มา: เพจ Wartime Asia เอเชียยามสงคราม
ปรีดี พนมยงค์ ประชุมงาน​เสรีไทย​กับนายทหารฝ่าย​สัมพันธมิตร​
ที่มา: เพจ Wartime Asia เอเชียยามสงคราม

 

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นเรื่องการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศของปรีดี พนมยงค์ ว่าเริ่มด้วยการสานสัมพันธ์กับเสรีไทยในต่างประเทศคือ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อรัฐบาลของทั้งสองประเทศรับรู้ว่ามีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยจึงเกิดการติดต่อทางการเมืองและการทูตทางลับขึ้นโดยปรีดีได้เก็บรักษาเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญเหล่านี้ไว้และนำมาตีพิมพ์ในหนังสือชื่อว่า จดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากปัจจุบันยังมีงานศึกษาการทูตของขบวนการเสรีไทยค่อนข้างน้อยทั้งในมิติความสัมพันธ์ระหว่างเสรีไทยกับรัฐบาลอังกฤษ และสหรัฐฯ และความคิดของผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยทั้ง 3 สาย ในเบื้องต้นผู้เขียนจึงคัดสรรเอกสารประวัติศาสตร์การทูต 3 ฉบับ เพื่อนำไปสู่การค้นคว้าเรื่องเสรีไทยในมุมมองที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ได้คงตัวสะกด ชื่อบุคคล และสำนวนการแปลไว้ตามต้นฉบับของปรีดี พนมยงค์

1. สำเนาจดหมายจากนายคอร์เดลล์ ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ (กูดเฟลโลว์) ฉบับเลขที่ 892.01/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486)

 

สำเนาจดหมายจากนายคอร์เดลล์ ฮัลล์ ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ (กูดเฟลโลว์) ฉบับเลขที่ 892.01/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486)
สำเนาจดหมายจากนายคอร์เดลล์ ฮัลล์ ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ (กูดเฟลโลว์)
ฉบับเลขที่ 892.01/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486)

 

เนื้อความสำคัญในจดหมายเกี่ยวเนื่องกับปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกากับขบวนการเสรีไทย โดยสหรัฐฯ ถือว่าประเทศไทยเป็นรัฐเอกราชที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารของญี่ปุ่น รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่รับรองรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ยับยั้งการประกาศสงครามต่อประเทศไทยไว้และยังคงรับรอง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เป็นอัครราชทูตของประเทศไทยต่อไปเพราะ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้ประณามความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น ในสำเนาจดหมายฉบับนี้ยังกล่าวถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ ว่ามีส่วนสำคัญในขบวนการเสรีไทยไว้ดังนี้

 

“...ในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็ยังมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่าในบรรดาข้าราชการดังกล่าวนี้มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (หรือที่รู้จักกันในนามนายปรีดี พนมยงค์) ผู้สำเร็จในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง และยังได้ทราบต่อไปอีกว่าผู้นี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญร่วมมือในขบวนการลับที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นขึ้นซึ่งรัฐบาลไทยที่เคยเป็นอยู่ก่อนการรุกรานของญี่ปุ่น

ด้วยความกระจ่างแจ้งเช่นนี้ รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลแห่งประเทศตามที่เป็นอยู่ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า (หลวงประดิษฐ์) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย ด้วยเหตุนี้ ตราบเท่าที่รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) มิได้รับแจ้งการตรงข้ามจากประชาชนไทย จึงเป็นประกันได้โดยไม่ผูกมัดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในอนาคต ในการถือว่าหลวงประดิษฐ์เป็นผู้แทนชั้นนำคนหนึ่งของประชาชนไทยในประเทศไทย…”

 

ในจดหมายข้างต้นทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยังชี้ว่ารัฐบาลไทยระหว่างสงครามเมื่อ พ.ศ. 2486 นั้นมี 2 รัฐบาลคือรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์[5]

2. โทรเลขลับด่วนมากของรู้ธ[6] ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และลอร์ด เมาน์แบทเตน ลงวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) ซึ่งโทรเลขทั้งสองฉบับมีข้อความตรงกันและได้รับคำตอบจากรัฐมนตรีฯ สหรัฐฯ ในบันทึกฉบับเลขที่ 740.0011 พี.ดับบลิว./5-2948 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1945

 

โทรเลขลับด่วนมากของรู้ธถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และลอร์ดเมาน์แบทเตน ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488
โทรเลขลับด่วนมากของรู้ธถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และลอร์ด เมาน์แบทเตน ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488

 

บริบททางการเมืองก่อนจะส่งโทรเลขฉบับนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อ พ.ศ. 2487 ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ปรารถนาจะพบบุคคลที่ทราบสถานการณ์ในประเทศไทยและเป็นตัวแทนขบวนการเสรีไทยเดินทางไปชี้แจงสถานการณ์ ทางปรีดีจึงส่ง พระพิศาลสุขุมวิท และ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ [7] ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทราบสถานการณ์ในประเทศหลายด้านและสนิทสนมกับอัครราชทูตและเลขานุการสถานทูตอเมริกันในกรุงเทพฯ มาก่อนสงครามไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อปฏิบัติภารกิจเสรีไทยให้ลุล่วงใน 2 การ ได้แก่

1. ในการแก้ไขสถานะสงครามและการผ่อนหนักเป็นเบา

2. ติดต่อหาช่องทางที่จะบรรเทาทุกข์และบูรณะประเทศที่จะต้องประสบภัยสงคราม[8]

หลังจากส่งตัวแทนเสรีไทยไปยังสหรัฐอเมริกาแล้ว รู้ธ หรือ ปรีดี พนมยงค์ ก็ส่งโทรเลขลับด่วนมากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และลอร์ด เมาน์แบทเตน โดยมีเนื้อความตรงกันเพื่อชี้แจงและประนีประนอมวิธีปฏิบัติของสหรัฐอเมริกากับขบวนการเสรีไทย โดยหวังผลให้สถานะสงครามระหว่างไทยกับสหรัฐฯ สิ้นสุดลงอย่างราบรื่นในอนาคต ดังข้อความวรรคสุดท้ายของโทรเลขฉบับนี้ที่ปรีดีเขียนไว้ว่า

 

“...แม้ว่าข้าพเจ้าตระหนักว่า สหรัฐอเมริกามีเจตนาดีเกี่ยวกับเอกราชของประเทศไทยและมีความนับถือประชาชนไทยอย่างสุดซึ้ง ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฏิบัติการนั้น สหรัฐอเมริกาจะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกหนึ่งของสหประชาชาติและไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทยซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใดๆ

ข้าพเจ้าได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสัมพันธมิตรภาคอาเซียอาคเนย์ (ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเตน) ด้วยแล้ว”[9]

 

3. โทรเลขของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร ฉบับเลขที่ 740.0011 พี.ดับบลิว./เอส-1545 ลงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เวลาบ่าย 3 โมง (ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 กรุงเทพฯ)

 

โทรเลขรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร ลงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945
โทรเลขรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร ลงวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945

 

โทรเลขฉบับนี้ส่งถึง ปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร โดยรัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้ ลอร์ด เมาน์แบทเตน ส่งสาส์นถึงปรีดีด่วน เนื้อความสำคัญในโทรเลข คือ แนะนำให้รีบประกาศว่าการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาของไทยนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งโทรเลขของรัฐบาลอังกฤษฉบับดังกล่าวมีเนื้อความตรงกันกับโทรเลขรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488[10] และเป็นโทรเลขฉบับสำคัญอันเป็นที่มาของการประกาศสันติภาพ ผู้เขียนจึงขอคัดลอกเอกสารประวัติศาสตร์และสำนวนการแปลของปรีดี พนมยงค์ ทั้งฉบับ[11] มาไว้ดังต่อไปนี้

 

เลขที่ 740.0011 PW/S-1545 : โทรเลข

ร.ม.ต. การต่างประเทศถึงเอกอัครรัฐทูตในสหราชอาณาจักร
(ไวแนนห์)

วอชิงตัน, 15 สิงหาคม 1945 เวลาบ่ายสามโมง
(ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 1945 เวลา 3 น. กรุงเทพฯ)

6922. สถานเอกอัครราชทูตบริติชแจ้งเราว่า

(ก) กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้อนุญาตเมาน์ทแบทเตน แนะนําเป็นส่วนตัวมายัง “รูธ” ให้ประกาศโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ภายหลังญี่ปุ่นยอมจํานนในที่สุดแล้วนั้น บอกปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่อบริเตนใหญ่และ ส.ร.อ. อีกทั้งมาตรการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการนั้นที่ดําเนินไปเป็นที่เสียหายแก่สัมพันธมิตร ยกเลิกการเป็นพันธมิตรและข้อตกลงอย่างอื่นทั้งสิ้นกับญี่ปุ่น ให้ประเทศไทยและกองกําลังทหารไทยบริการสัมพันธมิตรและแถลงว่าพร้อมที่จะส่งผู้แทนไปยังนครแคนดีทันทีเพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตร บริติชได้เสนอว่าประกาศนั้นอาจกล่าวด้วยว่า “รูธ” ได้แจ้งแก่รัฐบาลบริติชและอเมริกาตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ แล้วว่าขบวนต่อต้านต้องการริเริ่มปฏิบัติการต่อสู้ศัตรูอย่างเปิดเผยและยับยั้งไว้ก็เพราะคําร้องขอโดยเฉพาะเจาะจงของสัมพันธมิตรเพื่อการปฏิบัติทางการทหาร

(ข) ให้เมาน์แบทเตนแจ้งด้วยว่า ถ้า “รูธ” ริเริ่มที่จําเป็นตามคำแนะนำนั้น บริเตนก็พร้อมแล้วเพราะความอุปการะของขบวนการต่อต้านของไทยและคําร้องขอของสัมพันธมิตรที่มิให้ลงมือปฏิบัติการเปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่แล้วมา ในการที่ (บริติช) ไม่ดําเนินต่อไปซึ่งการบังคับให้ (ไทย) ทําเอกสารการยอมจํานน (ยอมแพ้) โดยไม่มีเงื่อนไขซึ่งตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ก็เป็นวิธีธรรมดา (ที่ต้องทําเช่นนั้น) และ (บริติช) จะปรับปรุงนโยบายของตนตามที่ไทยพร้อมจะคืนให้ซึ่งสิ่งที่แล้วมาในอดีตและที่จะร่วมมือในภายหน้า

(ค) ถ้า “รูธ” ทำตามคําแนะนำและส่งผู้แทนไปยังนครแคนดี บริติชเสนอที่จะติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันก่อนที่จะตั้งต้นเจรจาเกี่ยวกับข้อความที่เขา (ไทย) เตรียมทำให้สถานะสงครามสุดสิ้นลง

(ลงนาม) เบิร์นส์
(ร.ม.ต. กระทรวงการต่างประเทศ)

หมายเหตุ : ส.ร.อ. ย่อมาจากสหรัฐอเมริกา

 

ทันทีที่ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้รับโทรเลขฉบับนี้แล้วได้เชิญ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี และ ทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีสั่งราชการนายกรัฐมนตรีเข้ามาปรึกษาเพื่อจะประกาศสันติภาพ ปรีดียังเห็นควรว่าทวีเป็นผู้เหมาะสมที่จะลงนามสนองพระบรมราชโองการในประกาศสันติภาพ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และตามทัศนะของปรีดี การประกาศสันติภาพที่ทำให้เกิดผลโมฆสงครามต่อบริเตนใหญ่ สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องนั้นมิใช่ “การตีหัวเขาแล้วเห็นท่าว่าสู้เขาไม่ได้ก็วิ่งหลบเข้าบ้าน” แต่เป็นผลจากที่เสรีไทยทั้งหลายได้เสียสละชีวิตและความเหนื่อยยากในการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของขบวนการเสรีไทย[12]

 

ที่มาของภาพ : หนังสือโมฆสงครามฯ หนังสือจดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทฯ และเพจ  Wartime Asia เอเชียยามสงคราม

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, เล่มที่ 58, หน้า 1821-1823.

หนังสือภาษาไทย:

  • กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการกึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, 2527)
  • นายฉันทนา, X.O. Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: เชษฐบุรุษ, 2522)
  • ปรีดี พนมยงค์, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: สันติธรรม, 2516)
  • ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522)
  • ปรีดี พนมยงค์, จดหมายเหตุจากหัวหน้าเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: วารสารหมอความยุติธรรม, 2531)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • ไพศาล ตระกูลลี้, วีรบุรุษนิรนาม, (กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2521)
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการ, เสรีไทย: อุดมการณ์ที่ไม่ตาย, (คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก คณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์, 2546)
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546)
  • แสงประทีป, ขบวนการเสรีไทยของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, (กรุงเทพฯ: ทวีการพิมพ์, 2516)

วิทยานิพนธ์ :

  • อัญชลี สุขดี. ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2525.
 

[1] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), หน้า 137-140.

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 146-147.

[3] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, (กรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการเอกสารและหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการกึ่งศตวรรษธรรมศาสตร์, 2527), หน้า 57.

[4] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), หน้า 167-173.

[5] ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522), หน้า 24-28.

[6] นามในขบวนการเสรีไทยของปรีดี พนมยงค์

[7] พระพิศาลสุขุมวิทและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ใช้เวลา 27 วัน เดินทางโดยเสี่ยงอันตรายถึงยังสหรัฐอเมริกาในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2488 และได้พิจารณาแผนการที่จะดำเนินตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้นอย่างถูกต้องเหมาะสม โปรดดูเพิ่มเติม ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522), หน้า 47.

[8] ปรีดี พนมยงค์, จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องหนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2522), หน้า 36-40.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 41.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 49.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 50-51.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 54.