ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 3: สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ (ต่อ)

8
กรกฎาคม
2563

ผู้เขียนได้นำเสนอสาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจไปบางส่วนแล้วในบทความก่อน  สำหรับในบทความนี้จะกล่าวถึงสาระสำคัญอีก 2 เรื่อง คือ การกระจายอำนาจเพื่อเป็นฐานในทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ชนบท และการสร้างระบบเศรษฐกิจความมั่นคงของชาติ

ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การศึกษาเค้าโครงการเศรษฐกิจต้องพิจารณาบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยในขณะนั้นประกอบเสมอ ดังได้กล่าวมาแล้วในบทความที่ผ่านมา ประกอบกับเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นปรีดีได้เขียนขึ้นมาภายในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งถ้อยคำหลายประการก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ดังนั้น ในการศึกษาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ผู้เขียนจึงขอให้ความสำคัญกับอุดมการณ์และหลักคิดซึ่งปรีดี พนมยงค์ เคยให้ไว้

 

การกระจายอำนาจเพื่อเป็นฐานในทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ชนบท

จากการศึกษาของคาร์ล ซี ซิมเมอร์แมน (Carle C. Zimmerman) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่สำรวจสภาพปัญหาของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2473 ทำให้เข้าใจสภาพปัญหาต่อเนื่องของประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 2472–2475 นั้นก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจของราษฎรในพื้นที่ชนบทเป็นปัญหาสำคัญ และปัญหาดังกล่าวยังส่งผลถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการสาธารณสุข เป็นต้น ดังนั้น เมื่อคณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว การจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงต้องเริ่มต้นจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาวชนบทซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาวชนบทนี้ ปรีดีเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจให้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมา

ปรีดีเสนอให้สหกรณ์อยู่ในฐานะกลไกในการจัดการทางเศรษฐกิจของรัฐ และเป็นเครื่องมือนำไปสู่การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร  แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจจะไม่ได้ระบุว่า สหกรณ์ของปรีดีคือสหกรณ์ที่ดำเนินการในรูปแบบใด แต่เมื่อพิจารณาสาระสำคัญต่าง ๆ ที่ปรีดีระบุไว้ในแล้ว สามารถสรุปได้ว่า สหกรณ์ในความคิดของปรีดีนั้นเป็น “สหกรณ์สังคมนิยม” (Cooperative Socialiste) ซึ่งเป็นสหกรณ์ครบรูปหรือสหกรณ์อเนกประสงค์อันเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย[1] ซึ่งมองว่า รัฐบาลมีหน้าที่จะต้องตอบสนองความต้องการทางกายภาพ คือ “ชีวปัจจัย” อันจำเป็นแก่การดำรงชีวิตให้กับประชาชน

สหรกรณ์ของปรีดีนี้มีความสำคัญอย่างมากในฐานะหน่วยปฏิบัติตามนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและกลไกในการจัดสรรทรัพยากร[2] กล่าวคือ แม้ตามหลักรัฐบาลจะเป็นผู้เข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็มีข้อจำกัดไม่สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องแบ่งการประกอบเศรษฐกิจนี้เป็นสหกรณ์[3] เมื่อรัฐบาลกำหนดให้ราษฎรเป็นข้าราชทำงานให้กับรัฐบาล การทำงานของข้าราชการนี้จึงเป็นการทำงานกับสหกรณ์ และราษฎรก็จะได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้[4]

สำหรับการดำเนินการของสหกรณ์นั้น เนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าวเป็นสหกรณ์ครบรูปหรือสหกรณ์อเนกประสงค์ การดำเนินการจึงเป็นการดำเนินการทางเศรษฐกิจครบรูปโดยดำเนินกิจการใน 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่[5]

  • ร่วมกันในการประดิษฐ์ (Production) โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและเงินทุน สมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง
  • ร่วมกันในการจำหน่ายและขนส่ง (Circulation) กล่าวคือ ผลที่สหกรณ์ทำได้นั้น สหกรณ์ย่อมทำการจำหน่ายและขนส่งในความควบคุมของรัฐบาล
  • ร่วมกันในการจัดหาของอุปโภคและบริโภค คือ สหกรณ์จะเป็นผู้จัดจำหน่ายของอุปโภคและบริโภคแก่สมาชิก เช่น อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
  • ร่วมกันในการสร้างที่อยู่ คือ สหกรณ์จะได้จัดสร้างสถานที่อยู่อาศัยโดยครอบครัวหนึ่งจะมีบ้านสำหรับอยู่อาศัย และปลูกตามแผนผังของสหกรณ์ให้ถูกต้องตามอนามัยและสะดวกในการที่จะจัดการปกครองและระวังเหตุภยันตราย

ซึ่งการดำเนินกิจการใน 4 เรื่องดังกล่าวนี้เป็นไปเพื่อตอบสนอง “ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต” ของราษฎรในเรื่องต่างๆ

สำหรับการจัดตั้งสหกรณ์นั้น จะจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในเทศบาล (Municipality)[6] ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ในทรรศนะของปรีดี สหกรณ์จึงไม่ได้เป็นเพียงแต่หน่วยในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ภารกิจของสหกรณ์ยังขยายไปถึงภารกิจในการอำนวยความสะดวก การความมั่นคง และการอนามัยและสาธาณสุขสำหรับราษฎรในเขตเทศบาล เช่น สหกรณ์อาจจะจัดให้มีแพทย์ออกข้อบังคับว่าด้วยการรักษาอนามัย เป็นต้น  การใช้เทศบาลเป็นฐานของสหกรณ์นั้นมีประโยชน์ เพราะเทศบาลนั้นใกล้ชิดกับประชาชน โดยส่วนรัฐบาลที่ส่วนกลางจะได้ส่งที่ปรึกษาเทศบาลไปช่วยอบรมและแนะนำแก่เทศบาลและสหกรณ์[7]

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สหกรณ์ตามแนวทางของปรีดีตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นเป็นการรวมเอาหน่วยในทางเศรษฐกิจและหน่วยในทางปกครองเข้าไว้ด้วยกัน โดยหน่วยทั้งสองนั้นจะทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการสหกรณ์นั้นกระทำผ่านการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดทิศทางการบริหารเทศบาล และในขณะเดียวกันการรวมกันของหน่วยทางเศรษฐกิจและหน่วยการปกครองก็ส่งเสริมให้เทศบาลมีความมั่นคงแข็งแรง อันจะทำให้ฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแข็งแรงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ในท้ายที่สุดเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ตาม แต่ความพยายามของปรีดีในการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นยังคงดำเนินต่อไป เพราะด้วยภารกิจของรัฐบาลที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนรัฐบาลไม่อาจจะลงไปควบคุมดูแลได้ ซึ่งหากพิจารณาจากคำกล่าวของปรีดีที่ว่า

“ในประเทศไทยที่มีอาณาเขตกว้างขวางและมีพลเมืองมาก พลเมืองทั้งหมดในประเทศนั้น ๆ อาจมีส่วนได้เสียเหมือนกันก็มี และกิจการบางอย่างพลเมืองอันอยู่ในท้องถิ่นหนึ่ง อาจมีส่วนได้เสียกับพลเมืองอีกท้องถิ่นหนึ่ง เหตุฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอยู่เองที่จะรวมอำนาจบริหารมาไว้ที่ศูนย์กลาง...แห่งเดียวย่อมจะทำไปไม่ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มความติดขัดและไม่สะดวกแก่ราชการ”[8]

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีหน่วยงานเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ต่าง ๆ และทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณะจากภาครัฐได้สะดวกรวดเร็วและทั่วถึง ซึ่งในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยได้มีทั้งจำนวนและรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

 

การสร้างระบบเศรษฐกิจความมั่นคงของชาติ

ในตอนท้ายของเค้าโครงการเศรษฐกิจปรีดีได้ชี้แจงว่า “การที่รัฐบาลจัดการประกอบเศรษฐกิจเสียเองโดยการแบ่งเศรษฐกิจออกเป็นสหกรณ์นั้น ย่อมทำให้วัตถุที่ประสงค์อื่น ๆ ของคณะราษฎรได้สำเร็จได้อย่างดียิ่งกว่าที่จะปล่อยการเศรษฐกิจให้เอกชนต่างคนต่างทำ...”[9] ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญนั้น ก็คือ การรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศ โดยเมื่อรัฐบาลได้เข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจแล้วจะเสริมสร้างความเป็นเอกราชของประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง และในทางสังคมของประเทศโดยมีการศึกษาเป็นพื้นฐาน หากรัฐบาลดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจได้ครบถ้วนแล้วผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ “ระบบเศรษฐกิจความมั่นคงของชาติ”

ระบบเศรษฐกิจความมั่นคงของชาตินั้นประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง และความมั่นคงทางสังคม

ประการแรก ในด้านเศรษฐกิจนั้นเมื่อรัฐบาลเข้าจัดการเศรษฐกิจโดยจัดให้มีสิ่งอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการดำรงชีวิตได้เองแล้ว และรัฐบาลสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการกดราคาหรือขึ้นราคากันในหมู่ราษฎรได้ ราษฎรย่อมเป็นเอกราชไม่ถูกบีบคั้นหรือกดขี่จากผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ ซึ่งตราบใดที่เอกชนยังต่างคนต่างทำอยู่แล้วตราบนั้นเราจะสลัดจากแอกแห่งความกดขี่ในทางเศรษฐกิจไม่ได้[10] นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้หลักการของเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้จะมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยมโดยยึดการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ทั้งเพื่อป้องกันผลกระทบจากการปิดประตูทางการค้า[11] และเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของประเทศทำให้ประเทศไทยสามารถลดการพึ่งพาจากต่างประเทศได้เช่นกัน[12]  อย่างไรก็ตาม การลดการพึ่งพาจากต่างประเทศนั้นอาจไม่ถึงขนาดเป็นการกีดกันการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเลย เพราะประเทศไทยนั้นยังจำเป็นต้องใช้เงินทุนจากต่างประเทศ และจะต้องนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ[13]

ประการที่สอง ในด้านการเมืองนั้นเมื่อรัฐบาลเข้าจัดการเศรษฐกิจโดยจัดให้มีสิ่งอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการดำรงชีวิตได้เองแล้ว เมื่อราษฎรมีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจเพียงพอและประเทศมีเงินเหลือเพียงพอแก่การสะสมอาวุธเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศแล้ว ประกอบกับประเทศไทยได้ดำเนินวิธีการเพื่อรักษาเอกราชทั้งหลายแล้ว เช่น การจัดทำประมวลกฎหมายให้ครบถ้วน เพื่อให้ไทยได้รับเอกราชทางการศาล และทางเศรษฐกิจกลับคืนมา เป็นต้น ด้วยวิธีการเหล่านี้ทั้งหมดประเทศไทยจะกลับมามีสถานะทัดเทียมกับนานาประเทศ ประเทศไทยไม่ต้องกลัวใครจะมาข่มเหงได้อีกต่อไป เพราะเราได้ทัดเทียมกับนานาประเทศแล้ว และเมื่อประเทศไทยได้ทำการค้ากับต่างประเทศ ประเทศไทยไม่ได้เบียดเบียนหรือกีดกันอาชีพของคนต่างชาติในประเทศไทยและไม่ได้ผิดสัญญาหรือข้อตกลงใด ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวประเทศไทยมาลาวีหรือทำสงคราม ประกอบกับบริบทของประชาคมโลกในขณะนั้นได้มีการจัดตั้งสันนิบาตชาติขึ้นมาแล้ว แม้ปรีดีจะเชื่อว่าสันนิบาตชาติจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่ปรีดีก็เห็นว่า แนวโน้มของโลกจะไปในทางที่สันติขึ้นโดยยกกรณีพิพาทระหว่างอังกฤษกับเปอร์เซีย ซึ่งเปอร์เซียได้ยกเลิกสัมปทานบริษัทน้ำมันของอังกฤษทำให้อังกฤษเลือกที่จะนำข้อพิพาทดังกล่าวมาว่ากล่าวในที่ประชุมสันนิบาตชาติแทนจะทำสงคราม[14]

ประการที่สาม ในด้านสังคมนั้นเมื่อรัฐบาลเข้ามาจัดการเศรษฐกิจโดยจัดให้มีสิ่งอุปโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการดำรงชีวิตได้เองแล้ว ราษฎรก็สามารถจะเข้าถึงปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตต่าง ๆ ได้แล้ว การจะใช้สิทธิและเสรีภาพในระบอบการปกครองประชาธิปไตยจึงจะเป็นไปได้จริง เพราะราษฎรไม่ต้องกังวลดิ้นรนเพื่อสร้างความแน่นอนในชีวิตก็ด้วยมีประกันความสุขสมบูรณ์ที่รัฐบาลจัดไว้ให้แล้ว การมีประกันความสุขสมบูรณ์นี้นอกจากจะช่วยสร้างทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ราษฎรเกิดความรักชาติมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศด้วย กล่าวคือ เหตุอันเนื่องจากเศรษฐกิจนั้นเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระทำความผิดอาชญากรรม แต่เมื่อราษฎรได้มีความสุขสมบูรณ์มีอาหารการกิน มีเครื่องนุ่งห่ม และสถานที่อยู่อาศัยแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องประทุษร้ายเบียดเบียนกันอีกต่อไป[15] ซึ่งหากสังคมใดมนุษย์ในสังคมประทุษร้ายกันด้วยวิธีการต่างๆ เพราะด้วยจำกัดไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตแล้ว สังคมเช่นนั้นย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข และท้ายที่สุดนี้เมื่อราษฎรได้รับการประกันความสุขสมบูรณ์แล้วไม่ต้องพะวงว่าทรัยพ์สินจะต้องอันตรายสาบสูญหาย และรัฐบาลได้กำหนดให้

 

สาระสำคัญเหล่านี้ที่ผู้เขียนได้นำมาสู่ผู้อ่านนี้เป็นหลักใหญ่ใจความของเค้าโครงการเศรษฐกิจเท่านั้น สำหรับเนื้อหาในส่วนอื่นของเค้าโครงการเศรษฐกิจ เช่น การจัดหาแหล่งเงินทุนด้วยวิธีการจัดเก็บภาษีทางอ้อมต่าง ๆ ภาษีมรดก และการจัดตั้งธนาคารชาติ เป็นต้น ก็เป็นแต่วิธีการที่จะนำไปสู่สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจเท่านั้น  สำหรับในบทความต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึงการนำเค้าโครงการเศรษฐกิจมาปรับใช้ในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง

 

[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2542), น. 75.

[2] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2552), น. 51.

[3] เพิ่งอ้าง, น. 51.

[4] เพิ่งอ้าง, น. 52.

[5] เพิ่งอ้าง, น. 53.

[6] เพิ่งอ้าง, น.53.

[7] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น.73.

[8] มรุต วันทนาการ และดรุณี หมั่นสมัคร, “ประวัติและความเป็นมาของเทศบาล,” สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎภาคม 2563, จาก wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ประวัติและความเป็นมาของเทศบาล#cite_note-1.

[9] ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 61.

[10] เพิ่งอ้าง, น. 61.

[11] เพิ่งอ้าง, น. 54.

[12] เพิ่งอ้าง, น. 49.

[13] เพิ่งอ้าง, น. 46 และ 49.

[14] เพิ่งอ้าง, น.62.

[15] เพิ่งอ้าง, น.63.