ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก สินค้าบางอย่างที่ในปัจจุบันไม่ได้หายากอย่างเช่น ผ้าห่ม และเสื้อผ้า กลับมีค่า มีราคา และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ด้วยน้ำพระทัยของสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน จึงได้พระราชทานผ้าห่มและเสื้อผ้าแก่เหล่าชาวบ้านละแวกพระราชวังบางปะอินที่มาเข้าเฝ้า หาอะไรมาแสดงให้ทอดพระเนตร เพื่อทรงพระสำราญ เพื่อช่วยแบ่งเบาความยากลำบากของราษฎรได้ ทั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้จัดหาบรรดาเครื่องใช้เหล่านี้จากร้านค้าของทางราชการ[1]
การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นปัญหาใหญ่มาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นการทั่วไปในช่วงสงคราม เพราะวัตถุดิบนั้นหายาก ไม่สะดวกในการขนย้าย และหลายสิ่งก็จำเป็นในการใช้เป็นยุทธปัจจัย ผลของการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคนี้มีผลยาวนาน จนกระทั่งแม้สงครามสิ้นสุดลง ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยดีได้
สาเหตุของการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค
ประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2484 ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม สินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตนั้นเป็นสินค้าเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีข้าวเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ประเทศไทยยังละเลยไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จึงต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น ผ้า น้ำตาล น้ำมันเชื้อเพลิง และกระดาษ เป็นต้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นและมาถึงประเทศไทย ทำให้การลำเลียงสินค้าเพื่อการขนส่งทำได้ยากขึ้น ประกอบกับในเวลาต่อมาเมื่อประเทศไทยเข้าเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ทำให้ประเทศไทยต้องตัดขาดความสัมพันธ์และยุติการค้าขายกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ
ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมใดก็ตามที่ผลิตภายในประเทศ ก็จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ผลิตในประเทศ เมื่อสงครามเกิดขึ้นและการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศตะวันตกคู่สงครามยุติลง ทำให้ประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรนั้นก็ไม่สามารถพึ่งพาได้ เพราะในขณะนั้นประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงการผลิตไปโดยเน้นการผลิตยุทธปัจจัยเป็นหลัก ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนเช่นกัน ไม่เพียงพอแก่การส่งออกขายให้กับประเทศไทยได้
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค
การแก้ไขปัญหาความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอื่น ๆ อันจำเป็นแก่การดำรงชีวิตของประชาชน รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดำเนินการแก้ไขการขาดแคลนดังกล่าวโดยใช้วิธีการ 2 ประการ คือ การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชดเชยในส่วนที่ขาดไป และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชดเชยในส่วนที่ขาดไป
การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชดเชยในส่วนที่ขาดไปเป็นความตั้งใจเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของประเทศไทยในเวลาดังกล่าวยังไม่ขาดแคลนเครื่องจักรในระดับอุตสาหกรรม การผลิตด้วยมือและเครื่องจักรที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอแก่การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ดังจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งกล่าวถึงการผลิตผ้าเพื่อชดเชยการขาดแคลนว่า “...เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ยืนยันว่า ประเทศไทยมีเจตจำนงที่จะปลูกฝ้ายให้มากยิ่งขึ้น ประเทศไทยมีที่ดินและกรรมกรเพียงพอที่จะดำเนินการให้สมประสงค์ได้ ทั้งเครื่องปั่นและเครื่องทอที่จำเป็นก็สามารถผลิตเองได้เพียงพอในประเทศ...”[2]
เรื่องดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำในบันทึกการเสด็จไปประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ว่าทรงได้เจรจากับผู้แทนของญี่ปุ่นถึงความจำเป็นที่ต้องการเครื่องจักรโดยระบุตอนหนึ่งว่า “การบำรุงเศรษฐกิจโดยการจัดตั้งโรงงาน เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานท่อผ่านั้น ดำเนินไปถึงไหนแล้ว ฉันตอบว่ายังอยู่ในการเจรจากัน เพราะข้อเรื่องเครื่องจักรในตอนนี้ได้ทำความตกลงกันว่า จะตั้งโรงงานทอผ้าขึ้น เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะราษฎร ชาวนา ไม่มีผ้าจะใช้ บางแห่งต้องเปลือยกายก็มี บางแห่งนักเรียนในครอบครัวเดียวกันต้องผลัดกันไปโรงเรียน เพราะผ้ามีไม่ทั่วถึง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลญี่ปุ่นช่วยให้ประเทศไทยได้เครื่องจักรเกี่ยวกับการทอผ้าจะเป็นการดีมาก...”[3]
แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณามูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศในยามสงคราม ก็ปรากฏว่า จำนวนการนำเข้าเครื่องจักรลดน้อยลงจากปี พ.ศ. 2484 เป็นอย่างมาก (รายละเอียดแสดงดังตารางที่ 1) สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลจะผลิตสินค้าทดแทนความขาดแคลนจึงไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นสภาพปกติของสงครามที่ทรัพยากรจะถูกใช้ไปเพื่อผลิตอาวุธยุทธปัจจัย ประกอบกับการไม่มีแหล่งไฟฟ้าและพลังงานในการผลิตสินค้า
ตารางที่ 1: มูลค่าเครื่องจักรที่นำเข้าประเทศในช่วง พ.ศ. 2484 - 2488
พ.ศ. | มูลค่า/บาท |
---|---|
2484 | 7,280,234 |
2485 | 1,881,521 |
2486 | 4,576,610 |
2487 | 3,764,449 |
2488 | 1,763,843 |
อีกปัจจัยหนึ่งที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขึ้นเพื่อทดแทนความขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในช่วงเวลานั้น ก็ด้วยเหตุที่ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก็เป็นสิ่งขาดแคลนเช่นกัน
สถานการณ์ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มต้น บริษัทไฟฟ้าที่เป็นทุนของไทยและต่างประเทศรวมกัน คือ บริษัทไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงไฟฟ้าสามเสนที่เป็นของรัฐบาล มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 26,000 กิโลวัตต์ ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อประเทศไทยเข้าร่วมสงครามและโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งถูกระเบิดเสียหาย โรงไฟฟ้าทั้งสองได้รับความเสียหาย โรงไฟฟ้าวัดเลียบไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เลย สำหรับโรงไฟฟ้าสามเสนมีกำลังการผลิตลดลง ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2487-2490 ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 22,000 กิโลวัตต์[4]
ส่วนโรงไฟฟ้าต่างจังหวัดมีประมาณ 53 โรง มีกำลังการผลิตประมาณ 6.524 กิโลวัตต์/โรงไฟฟ้า (ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค) เมื่อสงครามเกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้าต่างจังหวัดไม่มีผลต่อการผลิตในทางอุตสาหกรรม เพราะกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้น พลังงานไฟฟ้าซึ่งจำเป็นในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจึงไม่สามารถดำเนินการได้
ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของประเทศนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ด้วยผลของสงคราม ทำให้ประเทศไทยต้องตัดขาดทางการค้ากับต่างประเทศ แม้รัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันโดยการขอซื้อจากญี่ปุ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ประเทศญี่ปุ่นก็ไม่สามารถขายให้กับประเทศไทยได้เต็มที่ เพราะน้ำมันเป็นยุทธปัจจัยที่จำเป็นในการใช้ทำสงคราม จึงไม่สามารถนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมได้เพียงพอแก่ความต้องการ น้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นสินค้าขาดแคลนจำเป็นต้องมีการปันส่วนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปันส่วนน้ำมัน พ.ศ. 2483 เพื่อให้เกิดการแจกจ่ายน้ำมันให้ทั่วถึงครอบคลุม
2. การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า
นอกจากการผลิตสินค้าทดแทนแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่รัฐบาลพยายามนำมาใช้ในช่วงสงคราม คือ การพยายามกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอยู่ในประเทศให้ไปถึงประชาชนที่ต้องการให้มากที่สุด วิธีการที่รัฐบาลนำมาใช้ คือ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้า ซึ่งรัฐบาลดำเนินการโดยอาศัยกฎหมายหลายฉบับเข้าควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยการกำหนดราคาขั้นสูงของสินค้าอุปโภคบริโภค (ซึ่งในช่วงระยะเวลา 6 เดือน มีประกาศควบคุมราคาสินค้าถึง 29 ฉบับ) การห้ามกักตุน การรายงานจำนวน และการห้ามขนย้ายสินค้าอุปโภคบริโภค
บรรดากฎหมายทั้งหลายเหล่านั้น ได้แก่ พระราชบัญญัติการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2480 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเป็นกฎหมายหลักสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินค้าขาดแคลน และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 เป็นกฎหมายฉบับสุดท้าย ซึ่งในบรรดากฎหมายทั้งหลายเหล่านี้หากฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษทางอาญาร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต[5]
ในเวลาต่อมาเมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2488 บรรดากฎหมายทั้งหลายเหล่านี้ได้ถูกทยอยยกเลิกไปตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการเปิดให้มีการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเสรี อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้หายไปในทันที รัฐบาลจึงจำเป็นต้องอาศัยวิธีการอื่นเข้าร่วมด้วยในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน
ปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแก้ไข
แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคก็ยังคงอยู่ สาเหตุสำคัญมาจากการที่การค้าระหว่างประเทศไม่สามารถดำเนินการไปได้ตามปกติ เพราะประเทศต้องพึ่งพาสินค้าทางอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดตลอดมา[6] ดังนั้น เมื่อสงครามยุติลงรัฐบาลจำเป็นต้องฟื้นฟูการค้าขายระหว่างประเทศให้เข้าสู่สภาพปกติ แต่ปัญหาของรัฐบาลในการซื้อขายสินค้าจากต่างประเทศ คือ รัฐบาลขาดเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้าควบคุมการค้าระหว่างประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกและนำเข้าในพระราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. 2482 โดยรัฐบาลจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภทว่าสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม
รัฐบาลจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการนำเข้าและการส่งออกสินค้าทุกชนิด เพราะรัฐบาลต้องการสงวนเงินตราต่างประเทศกับการป้องกันการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ แต่เมื่อรัฐบาลกำหนดให้การนำเข้าส่งออกต้องขออนุญาตทำให้เกิความล่าช้า เพราะต้องผ่านขั้นตอนการอนุญาตต่าง ๆ มากมาย ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคยังคงมีความขาดแคลน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนผันโดยอนุญาตการนำสินค้าเข้าได้บางประเภท เฉพาะสินค้าที่ไม่เสียเงินตราต่างประเทศ
สำหรับการบรรเทาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลดำเนินการโดยการเข้ามาจัดสรรการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐเพื่อประกอบการค้า โดยจัดตั้งองค์การจัดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (อ.จ.ส.) ขึ้นมา[7] เพื่อทำหน้าที่จัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทย และเป็นตัวแทนกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคนี้ต่อไปยังประชาชนอีกทีหนึ่ง[8]
องค์การนี้มีสถานะเป็นวิสาหกิจมหาชนดำเนินการโดยรัฐ ดำเนินการซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายให้ตัวแทนขององค์การที่อยู่ในกรุงเทพฯ และตัวแทนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็จะนำมาจำหน่ายสินค้าไปยังตัวแทนไปในส่วนกลาง ส่วนตามต่างจังหวัด บริษัทพาณิชย์จังหวัดจะเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด[9] นำสินค้าจำหน่ายให้ประชาชนอีกทอดหนึ่ง[10] แม้เจตนาของ อ.จ.ส. จะทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยการจัดจำหน่ายสินค้าในราคาถูก แต่ปรากฏว่า องค์การจำหน่ายสินค้าขายสินค้าที่ไม่จำเป็นแก่การครองชีพ เช่น เสื้อผ้าที่มีราคาแพง ตุ๊กตา เครื่องกระป๋อง และเครื่องสำอาง เป็นต้น[11] เพราะเป็นสินค้าที่ขายสะดวกและสะอาด สินค้าที่จำเป็นในการครองชีพขายแต่เพียงข้าวสารกับน้ำตาลเท่านั้น ประกอบกับการบริหารงานของ อ.จ.ส. กระทำโดยข้าราชการที่ไม่ชำนาญในเรื่องทางธุรกิจ และที่มีขั้นตอนปฏิบัติมาก ทำให้สินค้าของ อ.จ.ส. มีราคาที่ไม่สมเหตุสมผล เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าในท้องตลาด ทำให้ในที่สุดการประกอบการของ อ.จ.ส. มีแต่ขาดทุน และยกเลิก อ.จ.ส. ไปในปี พ.ศ. 2497 โดยรัฐบาลต้องจ่ายหนี้สินที่ อ.จ.ส. ค้างชำระเป็นเงินถึง 20 ล้านบาท[12] และทำให้บริษัทพาณิชย์จังหวัดล้มเลิกกิจการลงไปด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากการจัดตั้ง อ.จ.ส. แล้ว รัฐบาลได้จัดตั้งร้านค้าสหกรณ์ผู้บริโภคขึ้นมาในรูปแบบต่าง ๆ กัน โดยมีกรมสหกรณ์พาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ออกทุนดำเนินการทั้งหมด และให้เจ้าหน้าที่ในกรมสหกรณ์พาณิชย์หาสมาชิก ปรากฏว่า ในช่วง พ.ศ. 2493-2497 มีร้านสหกรณ์รูปแบบต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 257 ร้าน จำแนกประเภทได้ดังแสดงตามตารางที่ 2
ตารางที่ 2: แสดงสัดส่วนร้านสหกรณ์ที่รัฐบาลเปิดในช่วงปี พ.ศ. 2493 - 2497
ประเภท | จำนวน |
---|---|
ร้านสหกรณ์ | 252 ร้าน |
ร้านสหกรณ์กลาง | 1 ร้าน |
ร้านสหกรณ์ขายส่ง | 1 ร้าน |
ร้านสหกรณ์สาธารณูปโภค | 3 ร้าน |
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสหกรณ์จำนวนมากถึง 257 ร้านก็ตาม แต่การประกอบกิจการสหกรณ์ดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องมาจากการดำเนินการของสหกรณ์ไม่ได้เกิดจากความคิดริเริ่มของสมาชิกสหกรณ์ แต่เกิดมาจากการริเริ่มของรัฐบาล ซึ่งเมื่อรัฐบาลเป็นผู้คิดริเริ่มและดำเนินการเองจึงมีปัญหาในเรื่องการหาสมาชิกของสหกรณ์ ราษฎรที่มีรายได้ต่ำไม่มีความรู้ จึงไม่สนใจเป็นสมาชิก ในขณะที่ผู้มีการศึกษาดีมีรายได้สูง เข้าใจถึงผลประโยชน์ของสหกรณ์ดี ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์[13] ทำให้สินค้าที่ขายในสหกรณ์ไม่ตรงกับความต้องการของราษฎร
กล่าวโดยสรุป นอกจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงกลไกตลาดอันเป็นเครื่องมือที่สะดวกที่สุดแล้ว การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคของรัฐบาลภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยวิธีการอื่น ๆ นั้นไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้ผลตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ ซึ่งในท้ายที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปและเศรษฐกิจได้ค่อย ๆ ฟื้นฟูตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงหลังความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบในปี พ.ศ. 2491 สิ้นสุดลง[14]
สถานการณ์ความขาดแคลนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแต่เพียงสาเหตุหนึ่งของปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาการขาดดุลทางการค้า และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ปัญหาเหล่านี้ก็ยังดำเนินต่อไปเป็นอีกระยะเวลาหนึ่ง และถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการส่งข้าวให้กับสหประชาชาติตามความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบ
[1] กษิดิศ อนันทนาธร, “เรื่องของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2,” the 101 world (17 สิงหาคม 2560) เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563, จาก https://www.the101.world/pridi-in-ww2/.
[2] “การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีต่อนายคาร์ล เมลเธอร์ ผู้แทนผู้สื่อข่าวทรานสโอชั่นเยอรมัน,” ไทยนิกร, (3 กันยายน 2485), น. 8; อ้างอิงจาก สมศักดิ์ นิลนพคุณ, “ปัญหาเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการแก้ไขของรัฐบาลระหว่าง พ.ศ. 2488-2489,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557), น. 47-48.
[3] เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ส.ร. 0201.24/46 เรื่อง การประชุมนานาชาติแห่งมหาเอเชียบูรพาที่โตเกียว (พ.ศ. 2486 – 2487); อ้างอิงจาก สมศักดิ์ นิลนพคุณ, เพิ่งอ้าง, น. 48.
[4] สมศักดิ์ นิลนพคุณ, เพิ่งอ้าง, น. 50.
[5] พระราชบัญญัติมอบอำนาจให้รัฐบาลในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2485, มาตรา 3.
[6] สมศักดิ์ นิลนพคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 121.
[7] พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดซื้อและจำหน่ายสินค้า พ.ศ. 2497, มาตรา 4.
[8] พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดซื้อและจำหน่ายสินค้า พ.ศ. 2497, มาตรา 6.
[9] บริษัทพาณิชย์จังหวัดเป็นบริษัที่จัดตั้งขึ้นโดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวั2ด โดยรับซื้อพืชผลและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนทุกประเภท และเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นทุกประเภทแก่ร้านค้ารายย่อยที่รัฐบาลให้การสนับสนุนให้ตั้งขึ้น และทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือนของแต่ละจังหวัด.
[10] สมศักดิ์ นิลนพคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 118.
[11] เรื่องเดียวกัน.
[12] สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สมุดสถิติรายปีของประเทศไทย พ.ศ. 2488-2498, น. 403; อ้างอิงจาก สมศักดิ์ นิลนพคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 118.
[13] สมศักดิ์ นิลนพคุณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 119.
[14] ความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งมีความสำคัญมากในทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในเนื้อหาส่วนนี้จะได้อธิบายต่อไปในบทความถัดไป; ธารทอง ทองสวัสดิ์, “เศรษฐกิจไทยในช่วง พ.ศ. 2488–2504,” ใน เศรษฐกิจไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2553), น. 290.