องค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นประชาธิปไตย คือ ต้องมีอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยมีรัฐบาลที่มาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐในการบริหารประเทศแทนพวกเราผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง (โดยการเลือกตั้งต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเสรี และมีกระบวนการเลือกตั้งที่ชอบธรรม) มีการปกครองด้วยเสียงส่วนใหญ่และเคารพสิทธิของเสียงส่วนน้อย มีการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ (ซึ่งอย่างน้อยต้องมีเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย เสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ การแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการรวมกลุ่ม สิทธิในการได้รับการปกป้องดูแลอย่างเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ)
นอกจากนี้ ความเป็นประชาธิปไตยยังเรียกร้องให้มีการปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย การใช้อำนาจรัฐอยู่ภายใต้นิติรัฐ (ที่กฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่คนเป็นใหญ่ และกฎหมายต้องมีที่มาและกระบวนการตราที่ถูกต้องชอบธรรม) มีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งกำหนดโครงสร้างองค์กรผู้ใช้อำนาจ มีการจำกัดการใช้อำนาจรวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นด้วย
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว เส้นทางแห่งการดำเนินไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยประการหนึ่ง คือ “การทำให้การใช้อำนาจรัฐนั้นได้สมดุลหรือมีดุลยภาพกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน” การทำให้เกิดดุลยภาพนี้ต้องอาศัยการดำเนินการหลายอย่างที่จำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญคือการทำให้รัฐนั้นนั้นอยู่ภายใต้ “นิติรัฐ” อย่างแท้จริง
รัฐภายใต้ “นิติรัฐ” จึงหมายถึงการที่รัฐจำกัดอำนาจของตนให้อยู่ภายใต้กฎหมาย รัฐที่ปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่โดยคน (Government of law and not of men) ผู้ใช้อำนาจรัฐจะกระทำใด ๆ ได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้และภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด กฎหมายที่ว่านี้ต้องเป็นกฎหมายที่มีที่มาจากผู้ออกกฎหมายที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีกระบวนการตรากฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อหัวใจที่สำคัญภายใต้ “นิติรัฐ” คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการปกป้องคุ้มครอง นอกจากนี้ การกระทำต่าง ๆ ของการใช้อำนาจรัฐต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบขององค์กรตุลาการ (ไม่มีการใช้อำนาจใดปราศจากการตรวจสอบ)
นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่จะทำให้ดุลยภาพของการใช้อำนาจรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นได้จริงจำเป็นต้องมีการกำหนดกรอบกติกาสูงสุดร่วมกันที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ที่กำหนดหลักการที่สำคัญ (fundamental constitutional concepts) ซึ่งไม่ว่าประเทศไหน มีระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ก็ต้องกำหนด คือ รูปแบบการปกครองของรัฐการก่อตั้งขององค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย การได้มาซึ่งอำนาจของระบบรัฐสภา การจัดสรรอำนาจระหว่างองค์กร การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อทำให้การใช้อำนาจเหล่านั้นเกิดดุลยภาพ รวมทั้งรับรองสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคของประชาชน รัฐธรรมนูญในความหมายทั่วไปที่เข้าใจกัน หมายถึงกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งคำว่า “ความเป็นกฎหมายสูงสุด” หมายถึงสภาวะสูงสุดของกฎหมายที่อยู่เหนือกฎหมายอื่น ๆ มี “ศักดิ์” หรือ “ชั้น” ของกฎหมายสูงสุด โดยที่กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญนั้นมิได้
เพราะอะไร “ รัฐธรรมนูญ” จึงมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุด?
เราจะพบว่า มีหลายหลายคำอธิบายที่กล่าวถึงเหตุผลของความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ เช่น คำอธิบายเชิง “อุดมการณ์ทางการเมือง” แบบเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งอธิบายว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเพราะรัฐธรรมนูญเป็น “สัญญาประชาคม” ที่สมาชิกในสังคมทุกคนร่วมตกลงกันสร้างขึ้นเป็นกฎเกณฑ์สูงสุดที่ใช้ในการปกครองสังคมนั้น
คำอธิบายเชิง “ กระบวนการ” ในการตรารัฐธรรมนูญที่อธิบายว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะกระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นมีข้อแตกต่างไปจากกฎหมายอื่น ๆ กล่าวคือ กฎหมายทั่วไปอาจตราขึ้นโดยรัฐสภาหรือฝ่ายบริหาร แต่การจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีกระบวนการจัดทำที่ระดมความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งโดยมากแล้วมักจะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญโดยอาศัยกระบวนการพิเศษ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ลักษณะหรือกระบวนการตรากฎหมายรัฐธรรมนูญนี้กลับไม่ปรากฏพบในการตรากฎหมายธรรมดาทั่วไป นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นกฎหมายสูงสุด
คำอธิบายเชิง “ที่มา” ของอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะอำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองซึ่งจัดให้มีรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้นเป็นอำนาจสูงสุด หมายถึงอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นของผู้มีอำนาจอธิปไตยภายในรัฐ นั้นคือ “ประชาชน” ซึ่งก่อนมีรัฐธรรมนูญ ไม่มีเกณฑ์ทางกฎหมายใด ๆ ที่อยู่เหนือ และผูกมัดอำนาจในการก่อตั้งระบบกฎหมายและระบบองค์กรทางการเมืองอยู่เลย ดังนั้น อำนาจในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองและให้กำเนิดรัฐธรรมนูญของประชาชนจึงเป็นที่มาโดยตรงของการจัดทำรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญจะสร้างองค์กรทางการเมือง (ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ) และกำหนดให้องค์กรเหล่านั้น มีอำนาจเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
คำอธิบายเชิง “เนื้อหา” ของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะเนื้อหาสาระของตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องที่สำคัญ เป็นที่ก่อตั้งองค์กรผู้ใช้อำนาจ และแบ่งสรรอำนาจระหว่างองค์กรเหล่านั้นต่อกัน อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้มีการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองต่าง ๆ ขึ้น มีการแบ่งแยกตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจทำให้เกิดดุลยภาพของอำนาจ เพื่อจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้มีมากเกินไป เพื่อรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนเป็นสำคัญ
เมื่อเราถือว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ผลที่ตามมาก็คือกฎหมายอื่นใดในระบบกฎหมายจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะหากยอมให้กฎหมายอื่นใดในระบบกฎหมายมีสถานะเหนือกว่าหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ ย่อมเท่ากับเป็นการขยายอำนาจให้กับฝ่ายนิติบัญญัติให้สามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจโดยไม่มีขอบเขต ซึ่งหากพิจารณาจากสถานะของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว จะเห็นได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นองค์กรที่จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายให้ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญได้ย่อมเป็นการขัดต่อหลักการใช้อำนาจ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญได้
นอกจากนี้เพื่อเป็นการปกปักรักษารัฐธรรมนูญไว้ให้เป็นกฎหมายสูงสุดได้จริง จึงเกิดการควบคุมมิให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Judical review) ซึ่งหมายถึงการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำต่าง ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบการออกกฎหมายที่อาจขัดหรือแย้งต่อสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ โดยมีองค์กรพิเศษที่มีความเป็นอิสระ ที่ประเทศไทยใช้ นั่นคือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เมื่อ “รัฐธรรมนูญ” มีความสำคัญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดกรอบกติกากำหนดโครงสร้างอำนาจทางการเมืองกำหนดการรองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ ดังนั้น การจัดทำหรือการออกแบบรัฐธรรมนูญต้องมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ อำนาจรัฐผ่านองค์กรทางการเมืองกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง เพื่อให้เกิดดุลยภาพและสามารถนำพาสังคมไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้หนทางหนึ่ง
สำหรับการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเครื่องมือ หรือกลไกในการสร้างสมดุลของการใช้อำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเพื่อเป็นหนทาง ของการลดความขัดแย้งในสังคมได้นั้นรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีลักษณะดังนี้[1]
- รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งของคนในสังคม โดยมีการออกแบบสร้างดุลยภาพของการใช้อำนาจผ่านองค์กรทางการเมือง ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และอำนาจของประชาชนให้มีความสอดคล้องกัน และหากการไม่สมดุลของการใช้อำนาจรัฐที่ผ่านมา คือ ความไม่เป็นประชาธิปไตยขององค์กรหรือการใช้อำนาจขององค์กรรัฐ ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญหรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ดี ก็ต้องไม่นำเอาต้นตอของความขัดแย้งความไม่สมดุลเหล่านี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาบัญญัติไว้อีก ที่ซึ่งจะเป็นปัญหาของวิกฤติความขัดแย้งต่อไป
- รัฐธรรมนูญที่ดีจำเป็นต้องสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ เมื่อมีการทำรัฐประหารและมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้นั้น สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ต้องสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งในอดีตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ขึ้นอยู่กับองค์กรผู้รับมอบอำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเนื้อหาโดยสามารถเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้อย่างแท้จริง และร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมิให้เกิดปัญหาหรือความขัดแย้งขึ้นได้อีก
- รัฐธรรมนูญที่ดีไม่เพียงแต่เฉพาะมุ่งแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งในอดีตเท่านั้น แต่ต้องเป็นรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นเครื่องมือบริหารจัดการวิกฤติ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยตัวอย่างของการหาทางออกได้ คือ การใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังรัดกุม เพื่อกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และต้องสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้เครื่องมือที่สำคัญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างดี คือ “การออกเสียงประชามติ”
แน่นอนว่า การออกเสียงประชามติจะเป็นหนึ่งในกลไกเครื่องมือที่สำคัญของระบบการเมืองการปกครอง (Governing referendum) ดังนั้น การออกเสียงประชามติมีขึ้นก็เพื่อกำหนดความเป็นไปของรัฐ (State-defining referendum) การออกเสียงประชามติเพื่อกำหนดความเป็นไปของรัฐนั้น จะเป็นกลไกที่มีหน้าที่สร้างความชอบธรรมแก่การตัดสินใจของรัฐ เช่น การเปลี่ยนแปลงเขตอธิปไตยของรัฐ การแยกตัวเป็นอิสระจากการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอื่น เป็นการออกเสียงประชามติ ที่จัดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความจำเป็น นอกจากนี้ การออกเสียงประชามติก็ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อหาข้อยุติข้อขัดแย้งในประเด็นการตัดสินใจทางการเมือง (Deadlock-breaking referendum) การออกเสียงประชามติแบบนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นกลไกในการหาข้อยุติข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาล ในกรณีที่รัฐบาลต้องเผชิญกับประเด็นข้อโต้แย้งถกเถียงอย่างกว้างขวาง และไม่สามารถเลือกทางใดทางหนึ่งได้อย่างง่ายดาย การจัดให้มีการลงประชามติจึงเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด และเป็นการนำประเด็นดังกล่าวเสนอให้ประชาชนทั้งที่เป็นผู้ตัดสินโดยตรง
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การออกเสียงประชามติจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการหาทางออกของความไม่สมดุลของการใช้อำนาจรัฐ โดยประชามติจะเป็นการสร้างเจตจำนงร่วมกันของคนในชาติ ประชามติจะเป็นการหาฉันทามติร่วมกันของคนในชาติ หรือประชามติจะเป็นทางออกของความขัดแย้งของคนในชาติที่สามารถตกลงร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่จะเป็นที่น่าเสียดาย หากว่า “ประชามติ” จะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการและนั่นกลับทำให้คุณค่าของประชามติในนามของประชาธิปไตยสูญเสียคุณค่าไปอย่างน่าเสียดาย
สำหรับการจัดทำ การร่าง “รัฐธรรมนูญ” ก็เพื่อให้มีการออกแบบโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง รวมทั้งการแบ่งสรรอำนาจรัฐแก่องค์กรต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นสามารถเข้ามาจัดการเข้ามาทำหน้าที่ในการสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการกำหนดเจตจำนงของประชาชนผ่านการออกกฎหมาย องค์กรศาลที่ทำหน้าที่ในการตัดสินวินิจฉัยสร้างความยุติธรรม เพื่อให้การใช้อำนาจรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีดุลยภาพเกิดขึ้น รวมถึงการมีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เฉพาะเรื่องเฉพาะทางที่ทำการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อการใช้อำนาจรัฐที่เกินเลยที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพ และมีกระบวนการสำหรับการเยียวยาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงหลักความรับผิดชอบของการใช้อำนาจรัฐ
อย่างไรก็ดี เมื่อเราพิจารณาการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ในฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำกับดูแลสังคมการเมืองวางกรอบกติกาที่สำคัญที่ผ่านมาของประเทศไทย บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็อาจมีคุณค่าเป็นได้แค่เพียงกฎหมายสูงสุดในทางนิตินัย (de jure) เท่านั้น แต่หาได้มี “คุณค่า” สูงสุดของสังคมอย่างแท้จริงในทางพฤตินัย (de facto) ไม่ หากเพราะสังคมนั้นยังยึดติดกับอำนาจที่กำกับความคิดหรือคติความเชื่อเดิม แต่ปราศจากความคิดพื้นฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคที่เท่าเทียมกัน การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และตระหนักถึงว่า อำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน โดยไม่มีผู้ใดหรือวิธีการใด ๆ ที่จะพรากอำนาจสูงสุดนี้ไปจากประชาชนได้ ซึ่งความคิดพื้นฐานนี้ถือว่าเป็นปทัสถาน (Norms) ที่มี “คุณค่า” และถือเป็นหัวใจหรือสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยร่วมกันของคนในสังคม และปทัสถานที่มี “คุณค่า” นี้ ก็จะย่อมไม่มีวันถูกทำลายลงหรือถูกยกเลิกเพิกถอนโดยองค์กรใดหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งได้เลย
หากเมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมไทยเห็นพ้องต้องกันในทางพฤตินัยกับ “คุณค่า” ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเจตจำนงร่วมกันสูงสุดของคนในชาติในการธำรงไว้และปกป้องรักษาหลักการพื้นฐานดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญจะมี “คุณค่า” หรือไม่ หาใช่มีบทบัญญัติที่สวยหรูที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เท่านั้น หากแต่ “คุณค่า” ของรัฐธรรมนูญที่สูงที่สุดกลับจะอยู่ที่จิตใจที่มั่นคงที่จะตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของเจตจำนงร่วมกันของคนในกลุ่มต่อความเป็นสูงสุดของหลักการที่ยิ่งไปกว่า เหนือไปกว่าบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยวิธีทางใด ๆ ก็ตาม ย่อมไม่มีผู้ใดสามารถ “ทำลาย” คุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในสังคมนี้ได้เลย
ที่มา: วรรณภา ติระสังขะ. สังคมที่เป็นประชาธิปไตย: คุณค่า ความหวัง. ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี พ.ศ. 2559 ซึ่งวางจำหน่ายแล้วที่ https://shop.pridi.or.th/th/product/645041/product-645041
[1] Prof. Dominique Rousseau ศาสตราจารย์วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยปารีสที่ 1 สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของรัฐธรรมนูญในการคลี่คลายวิกฤติการณ์ทางการเมือง” วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2558 ณ กระทรวงต่างประเทศ