ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เจ้านโรดม สีหนุ กับ ปรีดี พนมยงค์

9
พฤศจิกายน
2563

นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางมาพํานักในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา โดยมีเหมาเจ๋อตง ดํารงตําแหน่งประธานรัฐบาล (เทียบเท่าประธานาธิบดี) และโจวเอินไหล ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี 

ทางการรัฐบาลจีน ซึ่งมีเหมาเจ๋อตง และโจวเอินไหล เป็นผู้นํา ได้ให้การต้อนรับนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ทั้ง ๆ ที่นายปรีดีเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง โดยเฉพาะโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี ก็ได้เชื้อเชิญนายปรีดี ไปรับประทานอาหารเย็น ณ ที่พํานักในกรุงปักกิ่งบ่อยครั้ง นับตั้งแต่แรกเมื่อนายปรีดีได้ไปพํานักในกรุงปักกิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าจะอยู่ในฐานะเจ้าของบ้าน ก็ได้กล่าวต้อนรับและยกย่องนายปรีดีว่า 

“ได้ทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติมามาก จึงมีความสนใจที่จะได้เรียนรู้จากท่าน โดยเฉพาะประสบการณ์ของท่าน” 

สําหรับอาหารที่รับประทานกันนั้น ก็เป็นอาหารที่ปรุงโดยฝีมือเติ้งอิ่งเชา ภรรยาของ โจวเอินไหลนั้นเอง บรรยากาศในการสนทนาและรับประทานอาหารร่วมกัน จึงมีแต่ความเป็นกันเอง เรียบง่าย ในฐานะนักปฏิวัติอาชีพที่นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ของจีนท่านนี้ ได้อุทิศชีวิตมาตั้งแต่วัยหนุ่ม 

ในปี ค.ศ. 1956 เจ้านโรดม สีหนุ ผู้นําคนสําคัญของกัมพูชา ได้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ปรากฏว่า ทางการจีนให้การต้อนรับเจ้านโรดม สีหนุ อย่างมโหฬาร เนื่องจากเจ้านโรดมมีบทบาทอันโดดเด่น ทั้งในการต่อสู้เพื่อให้กัมพูชาได้เป็นเอกราชจากฝรั่งเศส และก็ไม่ยอมเข้าเป็นสมาชิกองค์การซีอาโต้ ซึ่งเป็นองค์การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้งขึ้น โดยรวมเอาประเทศพันธมิตรหรือสมุนของตนเข้าเป็นพันธมิตรทางทหาร โดยมีวัตถุประสงค์แอนตี้คอมมิวนิสต์ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ตรงตัว 

บทบาทของเจ้านโรดม สีหนุ ทั้งในการต่อต้านอํานาจและอิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐ อเมริกา โดยเฉพาะสองพี่น้องดัลเลส ซึ่งได้แก่ นายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายอัลเลน ดัลเลส น้องชายผู้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักประมวลข่าวกลาง (ซีไอเอ) อันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา  ภายหลังเจ้านโรดม สีหนุ ก็ได้ร่วมกับวิลเฟรด เบอร์เชต นักหนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย เขียนหนังสือเล่มสําคัญเปิดโปงซีไอเอใน My War With CIA ไว้ด้วย 

เจ้านโรดม สีหนุ เสด็จมาถึงกรุงปักกิ่งในช่วงกลางฤดูหนาว ปี ค.ศ. 1956 อากาศหนาว เย็นเป็นพิเศษ อุณหภูมิลดลงถึง -10 องศาเซลเซียส น้ําในทะเลสาบเป๋ยไห่ ใจกลางเมืองกลายเป็นน้ําแข็ง จึงเกิดลานสเก็ตน้ําแข็งตามธรรมชาติ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการกีฬาประเภทนี้ได้ลงไปวาดลายกันอย่างสนุกสนาน

การต้อนรับทางเจ้าภาพเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากเจ้าสีหนุมีบทบาทสำคัญและโดดเด่นอยู่ในเวทีการเมือง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศดังกล่าวแล้ว ทรงสามารถต่อสู้ให้กัมพูชาได้รับเอกราชสมบูรณ์จากฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ที่พระองค์เองได้ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ขณะมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษาเท่านั้น โดยฝีมือการจัดฉากจากทางเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมาแท้ ๆ

นอกเหนือจากพิธีการเยี่ยมเยือนพบปะผู้นําจีน การเจรจาร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง และการกระซับสัมพันธไมตรี ฯลฯ เจ้าสีหนุได้แจ้งแก่ทางเจ้าภาพว่า พระองค์ประสงค์ที่จะได้พบกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในจีนด้วย ซึ่งก็ได้รับการสนองจากทางฝ่ายเจ้าของบ้านในการจัดสถานที่ให้บุคคลทั้งสองได้พบปะสนทนากันเป็นการส่วนตัวโดยไม่มีผู้อื่นใดเข้าร่วมฟังการสนทนาด้วย และได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นสื่อ เนื่องจากทั้งสองท่านมีความรู้ภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี 

เจ้าสีหนุได้แจ้งแก่นายปรีดี เป็นการบอกกล่าวรวมไปกับการฟ้องว่า เขาพระวิหารนั้น ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม เป็นของกัมพูชา ซึ่งได้รับมอบสิทธิต่อจากฝรั่งเศส แต่รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ส่งทหารเข้าไปยึดครอง การกระทําเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อสัมพันธภาพของ ไทย-กัมพูชาเลย และถ้าไม่มีหนทางอื่นใด พระองค์ก็อาจนําเรื่องนี้ขึ้นฟ้องต่อศาลโลกเพื่อชี้ขาดต่อไป 

นายปรีดีก็ได้รับฟังด้วยท่าที่สงบ เพราะทราบดีว่า สนธิสัญญาที่ทําในสมัยนั้นเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเอาเปรียบ ในความคิดของนายปรีดี ก็คือ น่าจะมีการเจรจาข้อยุติให้ดีที่สุด ส่วนการนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลโลกนั้น เห็นทีว่า ฝ่ายไทยจะชนะคดีเป็นเรื่องยาก เพราะถือตามสนธิสัญญาที่ได้ลงนามกันไว้เป็นหลักฐาน และเหตุการณ์ต่อมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คำตัดสินของศาลเป็นเช่นไร 

มิวายที่รัฐบาลสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะได้แต่งตั้งทนายฝ่ายไทย ซึ่งถือว่าเป็นปรมาจารย์ทางกฎหมายชั้นเอก ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และพรรคการเมืองพรรคนี้ยังถือว่าท่านผู้นี้เป็นปูชนียบุคคลของพวกเขา ทั้ง ๆ ที่นักกฎหมายผู้นี้ก่อนสู้ความในศาล มีความเพี้ยนถึงขนาดคุยว่า มีดดาบโบราณของบรรพบุรุษได้กระเด็นกระดอนจากที่ตั้ง แสดงว่าเฮี้ยนเต็มที่ ถึงกับทําให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลงเชื่อว่า ไทยจะชนะคดีแน่ 

ก่อนที่จะอําลาจากกัน เจ้านโรดม สีหนุ ในฐานะประมุขของรัฐกัมพูชาเอกราช ก็ได้กล่าวเชื้อเชิญนายปรีดี พนมยงค์ ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ลี้ภัยการเมืองธรรมดา ๆ คนหนึ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ไปเยือนกัมพูชา คําพูดภาษาฝรั่งเศสประโยคสุดท้ายของเจ้านโรดม สีหนุ มีความว่า 

“La porte de Phnom Penh est tou jours ouverte pour vous, excellence.” 

“ประตูของพนมเปญเปิดต้อนรับ ฯพณฯ อยู่ตลอดเวลา” 

เข้าใจว่า คําพูดประโยคนี้ของประมุขรัฐกัมพูชา คงจะประทับใจรัฐอาวุโสไทยอยู่ชั่วชีวิตของท่าน 

ก่อนที่จอมพล ป. จะถูกจอมพล สฤษดิ์โค่นล้มในปี ค.ศ. 1957 นั้น จอมพล ป. ได้เริ่มมองเห็นความจำเป็นในการเตรียมเปิดสัมพันธ์กับจีน แทนที่จะหลับตาตามก้นอเมริกา และก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้อเมริกาหันไปสนับสนุนจอมพล สฤษดิ์ทำรัฐประหาร 

ผู้ใกล้ชิดกับจอมพล ป. ท่านหนึ่ง คือ นายสังข์ พัฒโนทัย ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการส่งแผนการติดต่อจีน โดยมีพ่อค้าไทยเชื้อสายจีนบางคนทําหน้าที่เป็นสื่อกลาง คณะผู้แทนชุดแรกที่เดินทางไปจีนตามภาระกิจดังกล่าว มีอาจารย์กรุณา กุศลาศัย ร่วมด้วย  เมื่อถึงปักกิ่ง อาจารย์กรุณาอยากเข้าเยี่ยมคารวะนายปรีดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องด้วยความเหมาะสมหลายประการจากหลายฝ่ายไม่เปิดโอกาส อาจารย์กรุณาจึงเพียงเขียนหนังสือถึงนายปรีดี รายงานวัตถุประสงค์ของการเดินทาง และได้ขอฝากความเคารพอย่างสูงมาด้วย แม้ว่าจะไม่ได้พบกันในการเดินทางมาจีนครั้งนี้ก็ตาม 

ถึงแม้จะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนลี้ภัยการเมืองในต่างแดน แต่การได้รับการแสดง น้ําใจไมตรีจิตจากมิตรสหายทั้งหลายตามส่วนหนึ่งที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมทําให้นายปรีดี มีกําลังใจอดทนต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตลอดระยะเวลา 21 ปี ในประเทศจีน และอีก 13 ปี ในฝรั่งเศส จวบจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ณ กรุงปารีส 

บรรดาสมาชิกทุกคนในครอบครัวพนมยงค์ทราบกันดีอยู่เสมอว่า ชั่วชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม ยังคงยึดมั่นในพุทธธรรมตามที่ท่านเคยกล่าวให้โอวาทแก่นักศึกษาโรงเรียนเตรียมปริญญาแห่งหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เนื่องในวันไหว้ครูเปิดสมัยการศึกษาของนักเรียนเตรียมปริญญาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2486 ที่ว่า

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

 

ที่มา: ปรีดีสาร พฤษภาคม 2546, น. 5-7.