ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ไตรลักษณ์ทางความคิดของปรีดี พนมยงค์

17
พฤศจิกายน
2563

 

“ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน”

ปรีดี พนมยงค์
“ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1”
24 มิถุนายน พ.ศ.2475

 

ในบรรดาข้อเขียนมากมายหลายหลากของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ชิ้นที่ “มี feeling ที่สุด” -ตามคำบ่นของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ฉายา สิงห์สนามหลวง เจ้าสำนักช่างวรรณกรรม- ก็คือ “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ซึ่งพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร นำออกอ่านต่อแถวทหารหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปัญญาชน สังคมนิยม ยุคหลังสงครามโลก ผู้บุกเบิกรื้อฟื้นเกียรติประวัติและผลงานอาจารย์ปรีดีมาเผยแพร่อย่างแข็งขันจริงจังต่อเนื่องที่สุดหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้นมา เอามาอ่านซ้ำกลางงานชุมนุมช่างวรรณกรรม ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวาระวันเปลี่ยนแปลงการปกครองและวันชาติเวียนมาครบ 68 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน 2543

ในสมัยที่หลัก “นิ้วมือทั้งห้ายาวไม่เท่ากันฉันใด คนเราย่อมไม่เท่ากันฉันนั้น” ยังเป็นแนวคิดและธรรมเนียมปฏิบัติครอบงำสังคม ถ้อยคำที่ยกมาข้างต้นและข้อความอื่น ๆ ใน “ประกาศฯ” ฉบับนั้นนับว่าอหังการและท้าทายอย่างยิ่ง, กบฏและอภิวัฒน์อย่างยิ่ง ด้วยข้อความสั้น ๆ เพียงหนึ่งประโยค 12 คำ ปรีดีได้ยืนยันในหลักความเสมอภาค หลักความเป็นปึกแผ่นเนื้อเดียวเสมอเหมือนกันของคนชาติเดียวกัน และหลักประชาธิปไตยบนแผ่นดินสยาม หลังจากนั้นมา แม้ชาติไทยในความเป็นจริงจะเปลี่ยนแปลงบิดผันกลายรูปไปอย่างไรก็ตาม แต่จินตนาการชาติไทยในฐานะชุมชนของผู้คนที่ล้วนเท่าเทียมกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน และดังนั้นจึงพึงปกครองด้วยเสียงข้างมาก ก็ได้จุติขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการและกลายเป็นวิญญาณแผ่กระจายหยั่งรากฝังลึกอยู่ในใจคนทั้งแผ่นดินชนิดฆ่าไม่ตายทำลายไม่สิ้น

ท่ามกลางยุคสมัยปัจจุบันที่สภาพคนเราไม่เสมอภาคกัน ร่ำรวย-ยากจนเหลื่อมล้ำต่ำสูงกัน กลายเป็นของดี เพราะเชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตโลกาภิวัตน์ จึงน่าที่เราจะฟื้นความจำหวนรำลึกว่า ที่ตรงกำเนิดของชาติไทยสมัยใหม่ ชาติไทยเราถูกฝัน ถูกจินตนาการจากคณะบุคคลผู้ให้กำเนิดมันว่าเป็นชาติที่เสมอภาค เป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นประชาธิปไตย ที่ซึ่งความไม่เสมอภาคกันของคนในชาติเป็นสิ่งอุบาทว์กาลีโลก!

นักคิดนักอภิวัฒน์เจ้าของความฝันแห่งชาติดังกล่าวชื่อ ปรีดี พนมยงค์

บริบท

อาจารย์ปรีดีเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ.2443) นั่นแปลว่า ท่านก่อตัวจนสุกงอมทางความคิดระหว่างสงครามโลกครั้งหนึ่ง (ยุติลงเมื่อท่านอายุได้ 18 ปี) กับสงครามโลกครั้งที่สอง (เริ่มต้นขึ้นเมื่อท่านอายุ 39 ปี)

หากมองเปรียบเทียบกว้างออกไป ท่านมีชีวิตร่วมรุ่นร่วมบริบทร่วมกระแสประสบการณ์ระดับภูมิภาค กับผู้นำชาตินิยมที่ต่อสู้กู้เอกราชในประเทศเมืองขึ้นกึ่งเมืองขึ้นอื่น ๆ ของเอเซีย เช่น เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย (เกิด ค.ศ. 1889), โฮจิมินห์ ประธานาธิบดีคนแรกของเวียดนามเหนือ (1890), ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย (1901) และอูอองซาน ผู้กอบกู้อิสรภาพของพม่าจากจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และอังกฤษ (เกิด ค.ศ. 1916) บิดาของนางอองซานซูจี ผู้นำประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการพม่าในปัจจุบัน

บุคลิกร่วมทางความคิดกว้าง ๆ ของผู้นำยุคกู้ชาติเหล่านี้ คือ ไม่เชื่อทุนนิยมตลาดเสรี เป็นนักชาตินิยม และมีจุดยืนทางการเมืองแบบประชาธิปไตยถึงที่สุด (radical democrat) ไปจนถึงสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์

บริบทและประสบการณ์ใหญ่ ๆ ร่วมกันของพวกเขานอกเหนือจากสงครามโลกสองครั้ง ได้แก่ การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ล้มราชวงศ์แมนจูเรียในจีนเมื่อ ค.ศ.1911, การอภิวัฒน์สังคมนิยมบอลเชวิคในรัสเซีย ปี ค.ศ. 1917, ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่มเมื่อปี ค.ศ. 1929 ซึ่งลุกลามกลายเป็นเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก (The Great Depression) ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ฯลฯ

หากกล่าวให้เป็นระบบและเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น บริบททางความคิดของอาจารย์ปรีดีคือ :-

1.ระบอบล่าอาณานิคมในระดับโลกจักรวรรดินิยมตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ แผ่อำนาจล่าดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกมาเป็นเมืองขึ้น สำหรับทวีปเอเชีย มีเพียงสยามกับญี่ปุ่นที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น ทางการจีนนั้นแม้ยังมีรัฐบาลของตนเองปกครอง แต่ก็แตกแยกระส่ำระส่าย เต็มไปด้วยเขตเช่าเขตอิทธิพลและที่ปรึกษาข้าราชการต่างชาติ ตกอยู่ในสภาพกึ่งเมืองขึ้นชัดเจน

2.ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในระดับประเทศ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า “เป็นตุ้มถ่วงความเจริญ” เป็นบ่อเกิดอภิสิทธิ์และความไม่เสมอภาค ทำให้การเมืองอยู่ในสภาวะก่อนชาติ คือคนถูกแบ่งแยกออกเป็นฐานันดรตามชาติกำเนิดระหว่างเจ้า-ขุนนาง-สามัญชน จนไม่บังเกิดชาติที่เสมอภาคและเป็นอันหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง ทั้งที่ระบอบนี้กำลังทยอยล้มระเนระนาดลงในจีน ตุรกี เยอรมนี ออสโตร-ฮังการี รัสเซีย เป็นต้น

3.ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งกำลังก่อวิกฤตแผ่กว้างครอบคลุมกระทบทั่วถึงกันจากระดับโลกสู่ประเทศและจากเมืองสู่ชนบท ทำให้ผู้คนชาติต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงผลร้ายด้านลบของระบบทุนนิยมเสรี เห็นชัดกับตาว่าขืนปล่อยเศรษฐกิจให้เป็นไปตามตลาดอย่างเดียวรังแต่จะเกิดวิกฤติ จำต้องหาทางแทรกแซง กำกับควบคุมตลาดด้วยพลังอำนาจสาธารณะส่วนรวมนอกตลาดเพื่อแก้ไขและป้องกันวิกฤต รัฐพึงมีบทบาทวางแผนและจัดการเศรษฐกิจ ให้หลักประกันความมั่นคงในชีวิตแก่ราษฎรจากความผันผวนขึ้นลงของตลาดด้วยวิถีทางและลักษณะต่าง ๆ นานา  อาทิ ในแบบซ้าย-สังคมนิยมของโซเวียตรัสเซีย ในแบบขวา-ลัทธิทหารรุกรานขยายอำนาจของฟัสซิสต์อิตาลีและนาซี เยอรมัน และแบบเดินสายกลาง-รัฐสวัสดิการเคนเซี่ยนของอังกฤษและอเมริกาซึ่งต่างก็มีจุดร่วมเหมือนกันลองให้ขยายบทบาทรับทางเศรษฐกิจและจำกัดหรือจำกัดกลไกทางตลาดทุนนิยมเสรีแล้วแต่กรณี

ความคิด

โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อบริบทสามประการข้างต้น อาจารย์ปรีดีในฐานะนักคิดจึงมีบุคลิกลักษณะ 3 ด้านที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงแนบแน่นเป็นเงื่อนไขเสริมเติมกันและกันให้สมบูรณ์ ไตรลักษณ์ทางความคิดของอาจารย์ปรีดีดังกล่าวได้แก่ความเป็นนักชาตินิยม นักประชาธิปไตยและนักสังคมนิยม

1.อาจารย์ปรีดีเป็นนักชาตินิยม (nationalist) ไม่ใช่เชื้อชาตินิยม (racist) ท่านเห็นว่า ภาษาไทยประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติศาสนาที่ต่างก็เป็นเจ้าของรัฐชาติไทยเท่ากัน มีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้ากันในฐานะราษฎร มีด้านการระหว่างประเทศ ท่านต่อสู้เพื่อยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับมหาอำนาจนานาประเทศ เพื่อให้สยามเป็นภาคีสมาชิกเอกราชที่เสมอภาคทางการเมืองและกฎหมายกับนานาอารยะประเทศในประชาคมโลกอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปรีดียังเห็นต่อไปว่า เอกราชของชาติจะบริบูรณ์ได้ต้องครบพร้อมทุกย่านรวมทั้งเศรษฐกิจ ฉะนั้น สยามต้องดำเนินชาตินิยมทางเศรษฐกิจลดการพึ่งพาต่างชาติ พยายามพึ่งพาตัวเองเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองในด้านนี้ด้วย นั่นหมายถึงการพัฒนาพลังการผลิต สร้างอุตสาหกรรมแบบพึ่งตนเอง แต่ในกระบวนการสร้างศรัทธาเศรษฐกิจนี้ท่านไม่เอา-ไม่เลือกเดินหนทางทุนนิยมหรือตลาดเสรี เพราะได้เห็นบทเรียนความฉิบหายล้มเหลวมาแล้วจากโลกตะวันตกและประสบการณ์ของสยามเองก่อนพ.ศ. 2475 ท่านจึงพยายามแสวงหาทางออกของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทุนนิยม (non-capitalist path of economic development) แบบไทยดังปรากฏในเค้าโครงการเศรษฐกิจพ.ศ. 2475

2.อาจารย์ปรีดีเป็นนักประชาธิปไตย (democrat) ที่มุ่งล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างการปกครองตามหลักนิติธรรม (the rule of law) และรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาใช้อำนาจอธิปไตยในการออกกฎหมายและบริหารบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” สำหรับอาจารย์ปรีดีกินความกว้างไกลกว่าแค่สถาบันการเมือง และกฏหมายหากรวมถึงความอยู่รอด พ้นยากจน เสมอภาค มั่นคง และมั่งมีศรีสุขทางเศรษฐกิจของราษฎรด้วย เพราะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว นั่นต่างหากคือหลักประกันประชาธิปไตย ฉะนั้น ท่านจึงพยายามผลักดันกระบวนการอภิวัฒน์ต่อเนื่องจากภาคกฎหมายและการเมืองสู่สังคมเศรษฐกิจ เพื่อขยายหลักการประชาธิปไตยไปให้ถึงภาคเศรษฐกิจด้วย นี่นับเป็นท่าทีของนักประชาธิปไตยถึงที่สุด (radical democrat) ที่มุ่งบรรลุความเจริญเติบโตและมั่งมีศรีสุขทางเศรษฐกิจโดยถึงพร้อมและเน้นหนักที่ความเสมอภาค หมายความว่า ถ้าให้เศรษฐกิจเติบโตไปโดยไร้เอกราชไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เสมอภาค ก็ไม่เอาเสียดีกว่า

นี่คือความแตกต่างท่านมูลฐานโดยธาตุแท้ระหว่าง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มปกครองประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งยินดีหยิบยื่นเอกราชอธิปไตยของชาติ ลิดรอนอำนาจและเสียงของประชาชน และให้คนในชาติรวย-จนเหลื่อมล้ำถ่างห่างกันออกไปอย่างไม่แยแส เพียงเพื่อแลกกับเศรษฐกิจฟองสบู่โป่งพองแบบไม่ยังยืน

3.สุดท้าย อาจารย์ปรีดียังเป็นนักสังคมนิยม เพราะท่านเห็นว่าเพื่อบรรลุเอกราชและประชาธิปไตยบริบูรณ์ สยามไม่อาจเป็นหนทางพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม ตลาดเสรีแบบตะวันตกได้ หนทางพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ทุนนิยมที่ท่านเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ 2475 คือลัทธิสหกรณ์ โดยรัฐแบบสมานฉันท์ (Solidarist state co-operativism) คือให้รวมหมู่เกษตรกรเข้าด้วยกันเป็นสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยรัฐราชการเป็นองค์กรกลางวางแผนจัดการ เศรษฐกิจหลักแทนตลาดเสรีทั้งในแง่การผลิตและจำหน่ายจ่ายแจก แนวคิดของท่านในเค้าโครงฯ นี้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาวนารายย่อยและเกษตรกรรมขนาดเล็ก

โดยเสนอทางออกให้รวมหมู่เป็นสหกรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเพื่ออยู่รอดทนทานความผันผวนขึ้นลงของตลาดได้

สรุป

กล่าวโดยรวม แม้มรดกความคิดของอาจารย์ปรีดีอาจจะมีจุดอ่อน จุดบอดตรงมองไม่เห็นหรือประเมินต่ำไป ซึ่งปัญหาและแนวโน้มเผด็จการของระบอบรัฐราชการรวมศูนย์, มองไม่ขึ้นหรือประเมินต่ำไปซึ่งพลวัตในการเปลี่ยนแปลงการเมืองของพลังเศรษฐกิจสังคมทุนนิยมไทยยึดติดกับแบบวิธีการพูดการเขียนทางราชการ-กฎหมายเกินไป ฯลฯ แต่ในท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่

1.ประเทศไทยถูกโลกาภิวัตน์และลัทธิเสรีนิยมใหม่ ทางเศรษฐกิจรุกคืบเข้าตาจน

2.ประเทศไทยต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยและสิทธิอัตวินิจฉัยทางเศรษฐกิจที่จะจัดการเปิดประเทศของตัวเองอย่างเหมาะสม (managed openness) และ

3.ชาวนาย่อยและเกษตรกรรมขนาดเล็กถูกทยอยยึดฐานต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ สังคมและความรู้ของเศรษฐกิจพอเพียง ถูกผลักไสเข้าสู่เวทีแข่งขันเสรีให้พลังตลาดบทขยี้ นับวันทำแต่เศรษฐกิจติดลบ (negative economy) จนค่อยล้มละลายตายหมู่เช่นนี้

ความคิดของปรีดีดูจะสะท้อนส่องชะตากรรมชาติไทยร่วมสมัยได้อย่างกระจะจ่างหน้าอัศจรรย์!

 

ที่มา: "ไตรลักษณ์ทางความคิดของดร.ปรีดี พนมยงค์," ใน ปรีดีสาร พฤษภาคม 2544, น. 15-19.