ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

คุณแม่ผู้เป็นคู่ชีวิตและคู่คิดของคุณพ่อ

13
มกราคม
2564

เมื่อนึกถึงคุณแม่ ทั้งครูสุดาและครูดุษฎีคิดว่าอะไรเกี่ยวกับคุณแม่ที่อยากจะให้คนรุ่นหลังจดจำหรือสังคมไทยได้เรียนรู้

สุดา: คุณแม่เป็นผู้ที่อยู่ข้างคุณพ่อในเรื่องการงานมาตลอด เป็นที่ปรึกษาที่ดี และเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากที่ไม่หวั่นไหว เพราะว่าได้ยึดหลักว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังประพฤติธรรมอยู่ ก็ไม่เห็นต้องเกรงกลัวอะไร

ดุษฎี: เมื่อพูดถึงคุณแม่ผู้อยู่เคียงข้างคุณพ่อมาตลอด ตั้งแต่แต่งงานกันมาจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ต้องแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 3-4 ข้อ ข้อแรก คือ คุณแม่เป็น ‘คู่ชีวิต’ ของคุณพ่อ คำว่า ‘คู่ชีวิต’ นี้ เมื่อสร้างครอบครัวแล้ว ก็เหมือนเป็นคน ๆ เดียวกัน  การดูแลอบรมเลี้ยงดูลูก ๆ ก็เป็นแนวทางที่ทำให้เราเป็นเราทุกวันนี้  เรื่องที่สองเป็น ‘คู่คิด’ เนื่องจากคุณแม่เอง ได้ผ่านเหตุการณ์ผันผวนของสังคมไทย แม้กระทั่งถูกจับติดคุกที่สันติบาลอยู่ 84 วัน ก็ผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นคุณแม่ก็เป็นคู่คิดในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเสรีไทยหรืออีกหลาย ๆ งาน  อีกประการหนึ่ง คือ คุณแม่เป็น ‘เพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม’ เพราะคุณพ่อเป็นผู้มุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรม รวมถึงเรื่องอื่น ๆ  ซึ่งนับเป็นโชคดีที่ในฐานะลูกได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดและรับสิ่งดี ๆ จากทั้งคุณพ่อและคุณแม่

ในฐานะที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคนสำคัญ ซึ่งเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองอยู่มาก ครอบครัวเองต้องรับมืออย่างไรบ้าง

สุดา: ก็ต้องยอมรับเหตุการณ์ ยอมรับความจริง มันก็รับมือลำบากเหมือนกัน  วันดีคืนดีเราก็มีแต่แม่ พ่อไม่อยู่ กว่าจะได้พบกันอีกที ก็หลายปีมาก

 

 

อยากให้เล่าถึงเหตุการณ์ที่คุณแม่โดนจับขังที่สันติบาลเป็นเวลา 84 วันหน่อยครับ

ดุษฎี: วันนั้นเป็นวันที่คุณแม่ไปเป็นเถ้าแก่สู่ขอคุณเครือพันธ์ ปทุมรส ให้กับคุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ ซึ่งตำรวจนั้นเข้ามาจับกุมคุณเฉลียว และเมื่อหันมาเห็นคุณแม่ ก็บอกว่าคุณแม่ก็มีหมายจับเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไปด้วยกันเลย และพาคุณแม่ขึ้นรถไปสันติบาล

พี่สาวตอนนั้นอยู่ที่ฝรั่งเศส ส่วนพี่ชายคนโต ปาล พนมยงค์ ก็โดนจับเช่นกันในข้อหากบฎสันติภาพ สภาพที่สันติบาลตอนนั้นเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ คุณแม่ขึ้นไปอยู่ชั้นบน หน้าต่างมีกรง ต้องนอนกับพื้น ปูเสื่อ ด้วยความที่คุณแม่มีญาติพี่น้องเยอะ ทุกคนก็เห็นถึงความไม่เป็นธรรม แวะมาเยี่ยมและเอาอาหารใส่ปิ่นโตมาฝาก

นึกย้อนกลับไปตอนนี้ก็สงสารคุณแม่ ในห้องขังมองไปไกลสัก 400-500 เมตร ก็จะเห็นเรือนไม้ที่ขังผู้รักสันติภาพทั้งหลาย รวมทั้งพี่ชาย ปาล พนมยงค์  คุณแม่ก็พยายามโผล่หน้าไปที่หน้าต่างเพื่อมองหาลูกชาย แต่ก็ไม่เจอ เห็นเพียงแต่ผู้คนตัวเล็ก ๆ ไกล ๆ

ตัวครูดุษกับน้องวาณีเองก็ต้องไปอยู่โรงเรียนประจำวันจันทร์ถึงศุกร์ จนเมื่อวันศุกร์โรงเรียนปล่อยกลับบ้าน คุณน้าก็ต้องไปรับกลับมาเพื่อมาอยู่กับคุณแม่ในที่คุมขังด้วยในวันเสาร์-อาทิตย์

หากมองย้อนกลับไป ทั้งสองท่านคิดว่า การจับกุมเช่นนั้นกระทำไปเพื่ออะไร เพื่อขมขู่หรือกดดันให้นายปรีดียุติบทบาททางการเมืองหรือเปล่า

สุดา: ตอนที่คุณแม่ถูกจับ เราเข้าใจว่าเป็นการกดดันอย่างหนึ่ง เพราะตอนนั้นคุณพ่อออกไปแล้ว ก็คงจะจับกุมผู้ที่เป็นภรรยาเพื่อให้บอกมาว่า สามีไปไหน อยู่ที่ไหน

อีกข้อหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากการรัฐประหารโดยคณะรัฐประหาร 2490 ได้ยึดอำนาจและบุกเข้ามาที่ทำเนียบท่าช้าง ตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่ปี ยังจำได้ถึงเสียงระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ อย่างสถานีรถไฟบางกอกน้อย ซึ่งอยู่ตรงข้ามทำเนียบท่าช้างได้ในเวลานั้น คืนหนึ่งในขณะที่เด็ก ๆ นอนไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงเช่นนั้นอีก ก็นึกแปลกใจว่า สงครามจบลงไปแล้ว ทำไมยังมีเสียงแบบนั้น จนเช้าจึงได้ทราบเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น … รัฐประหารครั้งนั้นได้อ้างเหตุผลการเข้ายึดอำนาจที่ทำเนียบท่าช้าง มีรถถัง ปืนกลสารพัด ว่าจะมา ‘เปลี่ยนรัฐบาล’ คุณแม่เองก็ตะโกนตอบกลับไปว่า ‘ทำไมมาเปลี่ยนที่นี่ ทำไมไม่เปลี่ยนกันที่สภา’

ปาล พี่ชายเราตอนนั้นที่อายุเพียงไม่ถึง 18 ปี ก็เป็นผู้ใหญ่มาก ดูแลน้อง ๆ ทุกคนและคุณแม่ คอยบอกให้ทุกคนหมอบลงกับพื้น พี่ชายก็คอยช่วยดูแลเราไม่ให้ตกใจ ซึ่งครั้งนั้นก็คงมุ่งจะเอาชีวิตจริง ๆ เนื่องจากกราดยิงเข้าที่กำแพงห้องนอนพอดี

เมื่อรู้ว่ารัฐบาลมองครอบครัวเราอย่างไม่เป็นมิตร ผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะคุณแม่สามารถพาครอบครัวผ่านเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นมาได้อย่างไร

สุดา: ก็คงต้องมาจากจิตใจอันเข้มแข็ง และยิ่งถ้าไม่มีหัวหน้าครอบครัว ท่านก็ยิ่งต้องสวมบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่ คอยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ การกินนอน และให้พวกเราได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 

 

 

ในสมัยที่อาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศนั้น มีคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมิตรสหายหรือคนรู้จักที่พยายามจะช่วยเหลือทางครอบครัวหรือไม่

ดุษฎี: เรื่องนี้มีความลำบากตรงเรื่องการสื่อสาร มีเพื่อนมีญาติที่จะไปกราบไปหาคารวะก็สื่อสารกันลำบาก เพราะเมื่อกลับมาก็ต้องถูกรัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยนั้นออกหมายจับ อย่างเช่นเมื่อพี่สาว (สุดา) ที่อยู่ฝรั่งเศส จะไปเยี่ยมคุณพ่อที่จีนในปี พ.ศ. 2501 และคิดว่าอยู่ด้วยกันที่จีนสักพักก่อนจะกลับมาประเทศไทย แต่กลายเป็นว่าไปไม่ได้แล้ว เพราะโดนออกหมายจับจากไทยด้วยข้อหาไปหาคุณพ่อ ข้อหา “ข้อหากบฎภายในและภายนอกราชอาณาจักร”

เรื่องความช่วยเหลือเอง คุณแม่ก็เคยพูดเสมอว่า ใครช่วยเหลืออะไร เราต้องจดจำไว้  บรรดาญาติมิตรเองก็มีหลายท่านที่ไม่เกรงกลัวอะไร คอยช่วยเหลืออยู่ในทุก ๆ เรื่อง

อย่างคุณอัญชนา โอบอ้อม ซึ่งเคยเป็นคนที่มาอาศัยอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ คอยช่วยงานที่บ้าน เป็นคนที่คุณแม่ไว้ใจ และส่งเสริมอยากจะให้ได้รับความรู้จึงส่งให้ไปร่ำเรียนการเรือนที่ราชภัฏพระนครใต้ในปัจจุบัน ต่อมาได้แต่งงานกับคุณสุธี โอบอ้อม (ในภายหลังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และปทุมธานี) ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือตอนที่คุณพ่อต้องหลบหนีหลังความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492  โดยได้ติดต่อคุณอุดร รักษมณี เพื่อนรักของคุณสุธี ซึ่งไม่เคยรู้จักกับเรามาก่อน ให้คุณพ่อหลบพักอยู่ที่บ้านฉางเกลือ ที่พักอาศัยของตน อยู่เป็นเวลา 6 เดือน ในภายหลังได้ทราบว่า คุณอุดรเป็นคนที่ติดตามการเมืองและศรัทธาคุณพ่อนับตั้งแต่เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เพื่อนหรือคุณครูที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ว่ามีส่วนช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

ดุษฎี: ทางโรงเรียนช่วยเหลือดีมาก ตอนที่ยังเล็ก และคุณแม่ต้องเอาลูกไปฝากโรงเรียนประจำ ในช่วงที่ไม่ใช่โรงเรียนเปิดเทอม แม่ชีใหญ่ซึ่งเข้าอกเข้าใจครอบครัวเราเป็นอย่างดี ก็ยินดีรับไว้ เรื่องกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ก็เข้าใจพวกเรา

นอกจากคุณแม่ซึ่งเป็นศิษย์เก่าแล้ว คุณพ่อก็ยังเกี่ยวข้องกับทางโรงเรียนด้วย คือ ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายอักษะ แต่ก็มีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทางแม่ชีที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ นั้นเป็นชาวฝรั่งเศส ก็ได้เดินทางไปหาคุณพ่อที่ทำเนียบท่าช้าง เพื่อแสดงความเข้าใจว่าถึงฝรั่งเศสจะไปเข้าร่วมกับฝ่ายนาซี แต่ก็มีชาวฝรั่งเศสบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน

ในยุคนั้นไม่มี Facebook หรือ LINE แล้วติดต่อกันอย่างไร

ดุษฎี: ไม่มีการติดต่อกัน แต่ในยุคนั้นมีเรื่องน่ารักอยู่ คือ ในช่วงที่คุณพ่อไม่อยู่ เมื่อจับตัวไม่ได้ ก็จับเมียจับลูกแทน จนคุณแม่บอกว่าอยู่ประเทศไทยไม่ได้แล้ว ต้องไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งความคิดหนึ่ง คือ การไปอยู่กับปาล ลูกชายคนโต และอีกความคิดหนึ่งนั้น คือ การไปตามหาคุณพ่อ

จนวันหนึ่ง เมื่อไปอยู่ฝรั่งเศสไม่กี่เดือน มีคนเอาจดหมายมาให้ เขียนสั้น ๆ และลงท้ายชื่อว่า Félix ที่แผลงมาจาก Félicitation แปลว่า ปรีดี หมายถึงคุณพ่อนั่นเอง หลังจากนั้นก็เริ่มมีการติดต่อกัน และในที่สุดก็ได้เดินทางไปหาที่ประเทศจีน

 

 

ในขณะที่อาจารย์ปรีดีหายไปและไม่ได้ติดต่อกัน ครอบครัวตอนนั้นเป็นอย่างไร รู้สึกกังวลกันอย่างไรบ้าง

สุดา: จะมีช่วงที่คุณพ่อยังอยู่ในประเทศไทยและแอบหลบซ่อนอาศัยอยู่ในบ้านผู้หวังดีที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่ให้พักพิง ซึ่งเวลาจะติดต่อกันก็ต้องอาศัยคนที่ไว้ใจได้คอยส่งข่าวให้เท่านั้น

บทบาทของท่านผู้หญิงพูนศุขในการใช้ชีวิตอยู่ที่จีนและฝรั่งเศส

ดุษฎี: ย้อนกลับมาตอนอยู่เมืองไทย เมื่อไม่มีหัวหน้าครอบครัว ไม่มีเงินเดือนแล้วเท่ากับไม่มีรายได้ ต้องอาศัยรายได้จากคุณแม่ที่มาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน จากทรัพย์สินที่บิดามารดาของท่านให้ไว้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

ตอนที่ไปอยู่ประเทศจีนตอนนั้น เขาเห็นว่าเป็นผู้ที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ มีอุดมการณ์ที่รักชาติและสันติภาพ เขาจึงต้อนรับเช่นแขกต่างประเทศ ซึ่งในช่วงนั้นก็ไม่มีการติดตามตัวจากรัฐบาลไทย เนื่องจากจีนปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลไทยในเวลานั้นไม่ยอมรับ จึงมิได้มีการขอความร่วมมือกัน

ด้านกายภาพก็อยู่ด้วยความสบายมาก เนื่องจากเขามีผู้ติดตามคอยช่วยดูแลอยู่ แม้แต่อาหารเองก็ได้รับการจัดเตรียมในฐานะชาวต่างชาติ มากกว่าผู้อื่นที่ต้องจัดสรรปันส่วนเท่า ๆ กันทุกคน รวมถึงเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลเราก็ได้รับเป็นพิเศษ

แต่ตอนไปอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ด้วยคุณงามความดีที่สร้างไว้ เขาก็ยินดีต้อนรับ แต่ก็มิได้มีการให้อะไรพิเศษ คือ ให้พักอาศัยอยู่ได้ แต่เรื่องการเงินนั้นต้องดูแลตัวเอง คุณพ่อต้องเรียกร้องเงินบำนาญอยู่หลายปี หลังจากที่ไม่มีการจ่ายให้มานาน จนมีการฟ้องร้องกระทรวงการคลัง และในที่สุดก็ชนะความ คุณแม่ก็อาศัยจากดอกเบี้ยเงินฝากบ้างอะไรบ้างคอยส่งให้เรียน 

 

 

คุณพ่อเคยบังคับให้ลูก ๆ เล่นการเมืองบ้างหรือไม่

สุดา: คุณพ่อไม่เคยยุให้เราทั้งสองเล่นการเมือง แต่ถ้าพูดเรื่องการเมืองก็คงจะมีบ้าง ในความหมายที่ให้เข้าใจในการเมือง เข้าใจในระบบประชาธิปไตย เข้าใจในการต่อสู้เพื่อสันติภาพ แต่นอกจากนี้พี่ปาลของเราก็เคยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงเคยเป็นพลทหาร (ทหารเกณฑ์) ซึ่งเขาก็รู้สึกดีใจและเต็มใจในการเข้ารับหน้าที่

อยากให้เล่าเรื่องโรแมนติกระหว่างคุณพ่อและคุณแม่หน่อย

ดุษฎี: ในสมัยนั้นเป็นยุคศักดินา ถึงแม้ว่าผู้ชายและผู้หญิงจะหมั้นหมายกันแล้ว ก็ยังไม่สามารถออกไปเที่ยวด้วยกันได้เหมือนอย่างสมัยนี้ ในช่วงหมั้นและก่อนแต่งงาน คุณพ่อเคยพาคุณแม่ไปดูละคร ซึ่งโรแมนติกมากสมัยก่อน เนื่องจากหนุ่มสาวจะไม่ได้ไปไหนด้วยกัน จำได้ว่าเล่นอยู่แถว ๆ ศาลหลักเมือง สนามไชยในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเรื่องอะไร นั่นเป็นครั้งเดียวที่ทั้งสองท่านไปดูละครด้วยกันก่อนแต่งงาน

ความสัมพันธ์ของทั้งสองท่านนั้นเท่าเทียมกันจริง ๆ และผู้ชายเองยกย่องฝ่ายภรรยาซึ่งในสมัยนั้นหาได้ยาก เวลาพูดถึงก็จะพูดถึงในแง่ดี พูดแต่เรื่องดี ๆ หรือเวลาขอความเห็นอะไร พวกเราคุยกันก็จะบอกว่าให้ถามคุณแม่สิ เพื่อยกให้เห็นว่า ความเห็นของคุณแม่ก็สำคัญ และที่สำคัญมีความเกรงใจคุณแม่ เช่น ความชอบในการรับประทานอาหารอาจจะไม่เหมือนกัน คุณพ่อนั้นชอบรับประทานทุเรียน ส่วนคุณแม่นั้นเหม็นกลิ่นทุเรียนเป็นที่สุด  ในเวลาที่อยู่ฝรั่งเศส มีเพื่อนพ้องส่งทุเรียนไปให้ คุณพ่อก็จัดให้หลานอีกคนหนึ่งไปตั้งโต๊ะในสนามหลังบ้านนั่งรับประทาน เพื่อจะได้ไม่มีกลิ่นมารบกวนคุณแม่ คือ มีความเกรงใจคุณแม่ เคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงคอยดูแลกันอยู่เสมอ

 

ที่มา: เรียบเรียงจากงาน PRIDI Talks ครั้งที่ 8 “บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ” เนื่องในวาระครบรอบ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 ซึ่งมีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ) ประกอบไปด้วย

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ)

1. เสื้อยืด “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” มูลค่า 350 บาท

2. หนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 300 บาท

3. หนังสือ “หวนอาลัยพูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 500 บาท

สั่งซื้อได้ทาง https://shop.pridi.or.th/th