จาก ตอนที่แล้ว ซึ่งพิจารณาการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐสภาและสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบใหม่ หลังการเปลี่ยนการปกครอง 2475 โดยพบว่า ปรากฏความสำเร็จอย่างน้อย 2 ประการคือ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และสร้างรัฐธรรมนูญให้เป็นกติกาสูงสุดที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะหลังจากโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถาบันกษัตริย์ก็ทรงอยู่ดำรงอยู่ในฐานะ “ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง”
ตัวอย่างรูปธรรม เช่น ในรัฐธรรมนูญ 2475 กำหนดให้ “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิด หรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง” ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้การใช้อำนาจใดๆ ขององค์พระมหากษัตริย์จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทำให้การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นแม้จะกระทำภายใต้พระปรมาภิไธย แต่ก็ถือว่าหากมีผลประการใดติดตามมา ผู้ที่จะมีความรับผิดชอบคือบุคคลที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมิใช่องค์พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้มิได้หมายความว่ากษัตริย์จะปราศจากอำนาจใดๆ อย่างสิ้นเชิง
ดังเช่น ยังคงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย ที่เสนอโดยรัฐสภาก่อนที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่อำนาจนั้นก็ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะหากรัฐสภายังยืนยันในร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลให้สามารถประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวได้
คุณประโยชน์ของระบอบนี้ทำให้ระเบียบการเมืองไทยเกิดสมดุลใหม่ ซึ่งทัศนะของ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ยืนยันให้เห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้ได้ว่า
หัวใจของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ “เริ่มทรงราชย์ต่อเมื่อเลิกทรงรัฐ”
แต่ก็ดังเช่นประวัติศาสตร์การเมืองทุกบท เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ผู้มีอำนาจเปลี่ยน ความหมายทางการเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตตามไปเช่นกัน ในบางครั้งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งหลุดลอยจากบริบทเดิม
จากสละราชย์สู่พระราชทานรัฐธรรมนูญ
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
(ตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ในเดือนมีนาคม 2477)
แม้ว่าจะมีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ด้วยสถานะบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลคณะราษฎร จากการค้นคว้าของ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ และ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ พบว่า ประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัชกาลที่ 7 รวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ
โดยรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นว่ามาตรการหลายประการของคณะราษฎรนั้นรุกล้ำก้ำเกินสิทธิที่เคยถือเป็นสิทธิดั้งเดิมของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญมากกว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการเมืองจึงทรงเสนอแนะข้อเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญหลายข้อ ที่จะมีผลในการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มากขึ้น
อาทิ อำนาจในการเลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกแต่งตั้งของรัฐสภาจำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมดและอำนาจในการวีโต้ (ยับยั้ง) กฎหมายที่ผ่านสภาแล้ว (ทรงเสนอว่า “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับใดลงมา สภาผู้แทนราษฎรเป็นอันต้องยุบไปเองในคราวเดียวกัน” ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นข้อเสนอที่รัฐบาลคณะราษฎรมิอาจยอมรับได้เพราะเห็นว่าขัดกับหลักการในระบอบรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ทรงต้องอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ
การสละราชย์จึงเกิดขึ้น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 2 ปี 8 เดือน ในวันที่ 2 มีนาคม 2478 ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่สละราชสมบัติ และยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สิ่งที่น่าสนใจคือ พระราชหัตถเลขาดังกล่าว กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการพระราชทานธรรมนูญ และความเป็นประชาธิปไตย ในเวลาที่คณะราษฎรหมดอำนาจลงหลังการรัฐประหาร 2490 อย่างไร
การรื้อฟื้นบทบาทรัชกาลที่ 7 ในฐานะ “กษัตริย์นักประชาธิปไตย”
หลังการรัฐประหารล้มอำนาจคณะราษฎรอย่างถาวรได้ในปี 2490 อุดมการณ์อนุรักษนิยมถูกผลิตขึ้นในรูปแบบสารคดีทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 2490 โดยนักเขียนซึ่งส่วนใหญ่คืออดีตนักโทษการเมืองและผู้ลี้ภัยในเหตุการณ์กบฏบวรเดช เช่น ‘พระยาศราภัยพิพัฒ’ ‘หลุย คีรีวัต’ ‘หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน’ ‘ว.ช.ประสังสิต’ ‘นายหนหวย’ เป็นต้น ซึ่งเคยถูกคุมขังและได้รับการนิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในช่วงเวลาเช่นนี้ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอว่า การรื้อฟื้นเรื่องราวของรัชกาลที่ 7 เริ่มมีงานเขียนยกย่องเชิดชูพระองค์ไม่ใช่ในฐานะในฐานผู้พยายามปกป้องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาก หากแต่ดำรงในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย ปรากฏให้เห็นรางๆ ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในงานสารคดีทางการเมืองของ ‘เปรมจิตร วัชรางกูร’ เรื่อง “พระปกเกล้ากับชาติไทย” ตีพิมพ์ในปี 2489
ก่อนจะขยายตัวอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งมาพร้อมกับกระแสการเชิดชูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ข้อความที่เคยเขียนเพื่อตั้งใจโจมตีรัฐบาลคณะราษฎรในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เป็นส่วนสำคัญที่ถูกอ้างอิงอย่างมากในงานเขียนกลุ่มนี้
เช่น ในปี 2508 ‘จงกล ไกรฤกษ์’ ตีพิมพ์ ตัวตายแต่ชื่อยัง โดยมี พระยาศราภัยพิพัฒน์เขียนคำนำให้ ในคำนำนี้เองที่ข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ….โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” ได้ถูกหยิบยกแยกออกมาจากตัวพระราชหัตถเลขาสละราชย์ทั้งฉบับเป็นครั้งแรก พระยาศราภัยฯ เขียนว่า (การเน้นข้อความเป็นของพระยาศราภัยฯ เองทั้งหมด)
“ข้าพเจ้ายังต้องขอบคุณอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวด…ที่นำเอาพระราชหัตถเลขาสละราชบัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาพิมพ์ไว้ ด้วย ข้าพเจ้าอ่านหลายครั้งแล้วมีความตื้นตันและขนลุกซ่าทุกครั้ง เมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลไทยในสมัยนั้นมิได้ปฏิบัติถูกต้องตามทำนองคลองธรรมประชาธิปไตย อาศัยแต่พระราชกฤดาภินิหารเป็นเครื่องกำบังหน้าบริหารราชการประเทศ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเท่านั้น จึงทรงสละราชสมบัติเสียดีกว่า ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ทรงไว้ว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาล และพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯลฯ”
ผู้ที่ได้อ่านพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เป็นครั้งแรก ตื้นตันและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถึงน้ำตาไหลเป็นจำนวนมาก ยิ่งกว่าเวลาเสด็จสวรรคตที่ประเทศอังกฤษเสียอีก”
การให้ความหมายของพระราชหัตถเลขาที่เน้นไปทางคุณค่าประชาธิปไตยมากกว่ากล่าวถึงรูปธรรมของความขัดแย้งกับคณะราษฎรในประเด็นพระราชอำนาจ จึงกลายเป็นแนวทางหลักในการนำเสนอของนักเขียนกลุ่มนี้
สำหรับการคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าว หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในปี 2477 (ปฏิทินแบบเก่า) รัฐบาลที่มีปรีดีเป็นมันสมองก็ขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลสืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ต่อ เพื่อรักษารูปแบบรัฐราชอาณาจักรต่อไป
และเมื่อประเทศชาติผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ไป ปรีดี พนมยงค์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติประเทศไทยเพื่อทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองต่อไป โดยได้เสด็จกลับถึงพระนครวันที่ 5 ธันวาคม 2488 แต่ให้หลังเพียง 2 ปี การรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งปิดฉากอำนาจคณะราษฎรลง ก็นำมาซึ่งการให้ความหมายต่อพระราชหัตถเลขานั้นเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล
ในตอนหน้าจะแสดงให้เห็นถึงพลังของการเปลี่ยนแปลงความหมายของพระราชหัตถเลขาว่า ส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการประชาธิปไตยในไทย หลังคณะราษฎรสิ้นอำนาจลงไปแล้วกว่า 4 ทศวรรษ
เอกสารอ้างอิง
- ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2558. การเมืองวัฒนธรรมไทย: ว่าด้วย ความทรงจำ วาทกรรม อำนาจ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน
- อิทธิพล โคตะมี
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- รัชกาลที่ 7
- ประจักษ์ ก้องกีรติ
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
- กบฏบวรเดช
- พระยาศราภัยพิพัฒ
- หลุย คีรีวัต
- หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน
- ว.ช.ประสังสิต
- นายหนหวย
- ปรีดี พนมยงค์
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- เปรมจิตร วัชรางกูร
- พระปกเกล้ากับชาติไทย
- จงกล ไกรฤกษ์
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- รัชกาลที่ 8
- รัฐประหาร 2490