ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ "เมื่อตั้งคำถาม จึงแสวงหาคำตอบ และ การอ่านทำให้กะลาที่ครอบอยู่แตกกระจาย"

8
กรกฎาคม
2564

“คณะราษฎร 2475” คือ ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่สำคัญมากและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลงในแง่ของสังคม ในแง่ของการเมือง ในแง่ของอะไรอีกหลายอย่าง รวมทั้งเศรษฐกิจ และเรื่องวัฒนธรรม”

จะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญมากๆ ของประเทศชาติ เพราะว่าในตอนนั้นมีการยึดอำนาจ มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบที่เป็น Absolute Monarchy ให้มาเป็นระบอบซึ่งเป็น ประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ และมีแนวความคิดว่าด้วยเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ผมคิดว่าในแง่นี้มันแปลว่าเป็น “ปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก เป็น Landmark เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศเรา”

ผมเกิดและเติบโตในครอบครัวของความเป็นอนุรักษนิยมที่สูงมากๆ

 

 

ผมเกิดปีเดียวกับที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ปี 2484 (1941) เป็นปีที่ธรรมศาสตร์แพ้ฟุตบอลประเพณีครั้งแรก 2 ประตูต่อ 0 ผู้คุมทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองช็อค ถูกหามเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ และเสียชีวิตในวันนั้น เกร็ดประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมมักจะเล่าให้ฟังเสมอ

พ่อของผมเป็นเทศมนตรีที่บ้านโป่ง ในช่วงปี 2489 ที่เกิดกรณีสวรรคต ผมยังจำความอะไรไม่ได้ ในปี 2490 ที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ก็ยังจำอะไรไม่ค่อยได้ แต่มีความเลือนรางที่เด่นชัดในหัวคือ พ่อผมเนี่ยจะได้รับรูปถ่ายเป็นปึกๆ ให้เอามาเผยแพร่ในอำเภอบ้านโป่ง เป็นรูปของพระราชชนนีศรีสังวาลย์ รูปของโอรสและธิดา 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระพี่นาง ในหลวงรัชกาลที่ 8 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นรูปที่ดูดีมากๆ

หลังจากนั้นในปี 2492 ขบวนการประชาธิปไตยของท่านปรีดี กลับมายึดอำนาจ ปี 2494 เกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ผมว่ามันคือประวัติศาสตร์ในชีวิตของผมที่มีชีวิตอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองที่สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย ปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่

จนอายุ 13 อายุ 14 ก็เข้ามาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ กรุงเทพฯ มาอาศัยอยู่บ้านของคุณป้าที่ซอยสารสิน ครอบครัวที่ผมมาอยู่ด้วยมีความอนุรักษนิยมสูงมากๆ คุณป้าเป็นอาจารย์โรงเรียนราชินี ลูกชายของคุณป้า 3 คนเรียนอัสสัมชัญ ลูกผู้หญิง 3 คนเรียนโรงเรียนราชินีเพราะฉะนั้น ผมโตมาในบรรยากาศของความเป็นอนุรักษนิยม

ผมเข้าธรรมศาสตร์ปี 2503 เป็นปีแรกที่ธรรมศาสตร์กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิด ไม่ได้เป็นตลาดวิชา ต้องสอบเข้า ช่วงปี 2503-2506 มีอธิการบดีชื่อจอมพล ถนอม กิติขจร เราก็มักจะภาคภูมิใจว่านายกรัฐมนตรีเป็นอธิการบดีที่ธรรมศาสตร์ เราไม่เคยรู้ว่าท่านปรีดี หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัย ในเวลานั้นชื่อของท่านถูกทำให้ลืมเลือน นี่คือข้อเสียของวิชาประวัติศาสตร์ มันถูกย้อมแมวขาย คิดแล้วก็น่าเศร้า นี่เราโง่ขนาดนั้นเลยเหรอ

บ้านของผมรับหนังสือแนวไทยรัฐ สยามรัฐรายวัน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหนังสือไปทางแนวอนุรักษนิยมทั้งหมด แต่ ผมก็เริ่มที่จะตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบ เมื่อได้อ่าน สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ในยุคที่ ‘คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์’ เป็นบรรณาธิการ

คนที่ทำให้ผมตาสว่าง เขาคนนั้นไม่ได้เป็นคนที่มีชาติตระกูลสูง ไม่ได้เป็นนักเรียนนอก อยู่ในแวดวงหนังสือที่ออกหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งราคาเพียงไม่กี่บาท ผมก็ซื้อหนังสือของเขามาอ่าน มาเก็บเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มสะกิดใจว่า เอ๊ะ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราถูกสอน หรือ สิ่งที่เราถูกทำให้เชื่อ ท่านปรีดี ไม่ได้เป็นผู้ร้ายดำมืดอย่างที่เรารับรู้ บุคคลที่ทำให้ผมตาสว่างก็คือ ‘สุพจน์ ด่านตระกูล’ ผู้ซึ่งมีคุณูปการกับผมมาก

หลังจากนั้น ผมได้ทุนไปเรียนต่อแคลิฟอร์เนีย 2 ปี และไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศอังกฤษ อีก 5 ปี ตอนนั้นมันเปิดหูเปิดตาผมมาก ขบวนการของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นบุปผาชน คนรุ่นที่เรียกว่าซ้ายใหม่ ประกอบกับเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด มีทั้งอาจารย์เป็นอนุรักษนิยม อาจารย์ที่เป็นหัวก้าวหน้า อาจารย์ที่เป็นหัวรุนแรง

ทุกอย่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีทางเลือก เราจะเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์สมัยนั้น จากอาจารย์สมัยนั้นและที่สำคัญสำหรับผม คือ “การอ่านหนังสือ”

ห้องสมุดที่มีหนังสือเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คือห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนล เชื่อไหมว่าถ้าคุณไป คุณจะตื่นเต้นตกใจมากเหมือนอย่างผม สตรีสารมีครบชุด หนังสือหายากอะไรก็มีเก็บเอาไว้ มันขนลุก บ้านเมืองเขาไม่ทำลายหนังสือ ไม่เผา ไม่ฉีก ไม่โละทิ้ง ถ้ามันเก่า หรือ มีมากจนล้นห้องสมุด เขาก็ขยายห้องสมุด หรือไม่ก็ไปเช่าโกดังเก็บไว้ที่นอกเมือง ห้องสมุดอยู่บนดินไม่ได้ เขาก็เจาะลงไปใต้ดินทำที่ให้หนังสืออยู่

ผมเห็นหนังสืองานศพของนายเสียง พนมยงค์ บิดาของท่านปรีดีที่ในห้องสมุดคอร์แนล ตอนที่ผมจะเดินทางไปปารีส และผมรู้ว่าท่านปรีดีย้ายมาอยู่ปารีส ผมถ่ายเอกสารหนังสืองานศพของนายเสียง พนมยงค์ ซึ่งเป็นบทความสั้นๆ เล่มเล็กๆเรื่องการทำนา แล้วเอาใบมอบให้ท่านปรีดี ท่านก็ดีอกดีใจใหญ่เลย ยังมีคนเก็บไว้อยู่ด้วยเหรออะไรทำนองนี้

อีกหนึ่งบริบทในชีวิตของผม ทั้งประสบการณ์ของตัวเอง เมื่อย้ายเข้ามาชุบตัวในกรุงเทพฯ เมื่อได้เรียนธรรมศาสตร์ เมื่อได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ มันก็ทำให้เรา ต้องใช้คำสมัยปัจจุบันว่า “ตาสว่าง”

 

เมื่อบริบทของโลกทำให้กะลาที่ครอบอยู่แตกกระจาย

รัฐศาสตร์การทูตทำให้ต้องเรียนประวัติศาสตร์ไปด้วย เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกา ไทยกับสงครามเย็น จีนแดงสหภาพโซเวียต ทำให้เราเอาเรื่องราวต่างๆ ใส่เข้าไปในบริบทของโลกและเราทำให้เห็นว่าถ้าเราเอาบริบทโลกมาเทียบกับประวัติศาสตร์ไทยจะทำให้เราเข้าใจดีขึ้น

มันไม่ได้มองเห็นเพียงแค่ในกรอบของขวานทอง หรือ ภาษาสมัยใหม่ที่บอกว่า “ชีวิตไม่ได้อยู่แค่ในกะลาครอบ”

ทำไมต้องมีประกาศสันติภาพ? ก็เพราะว่า 25 มกราคม 2485  จอมพล ป. ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐ ถ้าไม่ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 โดยท่านปรีดี พนมยงค์ ประเทศไทยก็คงถูกยึดครอง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ดูบริบทโลก เราจะไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจว่าทำไมลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตตัน ทำไม เลดี้ เมาท์แบตตัน จึงมาร่วมโต๊ะอาหารกับท่านปรีดี พนมยงค์ที่ทำเนียบท่าช้าง

มันมีบริบทของของโลกในอยู่ในแง่ของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกแต่เรามักจะเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยการบีบให้มันเหลืออยู่เพียงแค่อาณาเขตขวานทอง เหมือนกันกับปรากฏการณ์โบว์ขาว ถ้ามันไม่มีบริบทของ สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง สิ่งที่มันเกิดขึ้นในไต้หวัน สิ่งที่มันเกิดขึ้นในเกาหลี สิ่งที่มันเกิดขึ้นในยุโรป หรือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในอเมริกา เราก็จะไม่เข้าใจ และก็จะคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์พิเศษเฉพาะของเมืองไทย ซึ่งไม่ใช่ มันมี Connection กันหมด มันมีความเชื่อมโยง มันให้ความบันดาลใจซึ่งกันและกัน มันกลายเป็นชานมอะไรอย่างที่ที่เรารู้จักกันนะ เรามองแค่ในนี้ไม่ได้

 

“การยึดอำนาจ” ริเริ่มมานานแล้ว จากคณะบุคคลหัวก้าวหน้าที่หวังจะนำพาสยามประเทศให้เป็น “ประชาธิปไตย” 

ถ้าเราดูลำดับเหตุการณ์ก่อน “คณะราษฎร 2475” เกิดปรากฏการณ์ของ “กบฏ ร.ศ. 130” ในต้นรัชกาลที่ 6 ในขณะที่ “คณะราษฎร 2475” อยู่ในสมัยของรัชกาลที่ 7  แล้วย้อนกลับไปยัง “ร.ศ. 103” เป็นสมัยกลางของรัชกาลที่ 5 มองกลับไปจนปลายรัชกาลที่ 4 คนจำนวนมากมักจะไม่ค่อยนึกถึงเท่าไหร่

 

ภาพ: ‘หมอบรัดเลย์’ ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ: ‘หมอบรัดเลย์’
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

‘หมอบรัดเลย์’ มิชชันนารีที่มาจากสหรัฐอเมริกา เรามักจะรู้จักว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสยาม เป็นผู้นำวัคซีนไข้ทรพิษมาฉีดให้ เป็นผู้ที่เสนอให้การแพทย์ของไทยในสมัยนั้นยกเลิกการที่สตรีเมื่อคลอดลูกแล้วต้องอยู่ไฟ  ซึ่งในแง่ของการแพทย์สมัยใหม่ บอกว่านี่เป็นวิธีการที่ล้าสมัยมาก และยังเป็นผลร้ายกับคนที่เป็นแม่เพิ่งคลอดลูกด้วยซ้ำไป

บทบาทของ ‘หมอบรัดเลย์’ ที่สำคัญมากๆ คือ “หมอบรัดเลย์ เป็นผู้แปลรัฐธรรมนูญอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกเป็นภาษาไทย” ตรงกับปลายรัชกาลที่ 4 

ผู้ที่ได้อ่านคำแปล คือ  1) พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4  2) พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 3) เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นมกุฎราชกุมาร รวมทั้งบรรดากลุ่มเจ้านายระดับสูง บรรดาขุนนางระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นตระกูลบุนนาค ไม่ว่าจะเป็นตระกูลอมาตยกุล ต่างก็ได้อ่านคำแปลซึ่งลงในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์คือ บางกอกรีคอร์ดเดอร์ 

ในแง่บริบททางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการกำเนิดของคณะราษฎรก็ดี ปฏิบัติการของคณะราษฎรก็ดี การดำรงอยู่ของคณะราษฎรในช่วงระยะเวลาประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่ของศตวรรษ ในด้านหนึ่งการปรากฏตัวของคณะราษฎร ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แต่มันมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ 

คือปัจจุบันเรามักจะพูดถึงเรื่องปรากฏการณ์สำคัญอยู่ 2 ปรากฏการณ์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นใน “รัตนโกสินทร์ศก 103” กับสิ่งที่เกิดขึ้นใน “รัตนโกสินทร์ศก 130” 

ราวๆ ตอนกลางของรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งขึ้นคือมีกลุ่มเจ้านายระดับสูงทีเดียวนะครับ จำนวนหนึ่งสักประมาณ 10 กว่าคน ร่วมมือกันจัดทำ คำกราบบังคมทูลต่อในหลวงรัชกาลที่ 5 คิงจุฬาลงกรณ์บอกว่า เมืองสยามเนี่ย ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีคณะรัฐมนตรี หรือว่าคณะเสนาบดี บริหารราชการแทนพระเจ้าแผ่นดิน ให้มีรูปแบบเดียวกับของญี่ปุ่นในสมัยจักรพรรดิเมจิ

 

ภาพ: หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
ภาพ: หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

เราคงทราบกันดีและมักจะพูดว่าการปฏิรูปของไทยเริ่มต้นในสมัยเดียวกันกับการปฏิรูปของจักรพรรดิเมจิ แต่ว่าเมจิไปไกลมากๆ ในขณะที่สยามเหมือนกับเพิ่งจะตั้งต้น 

 

ภาพ: ‘พระชินวรวงศ์’ หรือ ‘พระภิกษุพระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ (ประทับนั่งตรงกลาง) ขณะเสด็จไปจาริกแสวงบุญที่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2442 ในรูปนี้ทรงฉายพระรูปร่วมกับ ‘พันเอกเฮนรี สตีล โอลคอตต์’ พุทธศาสนิกชนชาวอเมริกัน (ยืนข้างหลังพระชินวรวงศ์) ที่มา: wikiwand
ภาพ: ‘พระชินวรวงศ์’ หรือ ‘พระภิกษุพระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ (ประทับนั่งตรงกลาง)
ขณะเสด็จไปจาริกแสวงบุญที่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2442 ในรูปนี้ทรงฉายพระรูปร่วมกับ ‘พันเอกเฮนรี สตีล โอลคอตต์’ พุทธศาสนิกชนชาวอเมริกัน (ยืนข้างหลังพระชินวรวงศ์)
ที่มา: wikiwand

 

ในตอนนั้นคำกราบบังคมทูลของเจ้านายกลุ่มนี้ ซึ่งนำโดย ‘พระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ ผู้ที่เป็นตระกูลชุมสาย ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถจะเปลี่ยนให้สยามกลายเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับกรณีของญี่ปุ่นในสมัยจักรพรรดิเมจิ นี่เป็นสิ่งที่เอาเข้าจริงก็น่าเสียดาย ก็คือว่าในสมัยนั้นผู้ปกครองในระดับสูงสุดของสยาม ก็คือ พระมหากษัตริย์และบรรดาราชสำนัก บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ยังไม่เห็นด้วย มองว่าสยามยังไม่พร้อม ดังนั้นควรจะรอ 

ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญมากๆ เพราะฉะนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือมีหนทางไหนที่จะไปสู่ระบบที่มีประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคนะครับ มีรัฐธรรมนูญอย่างในกรณีของญี่ปุ่น

 

ภาพ: คณะผู้ก่อการ รศ. 130
ภาพ: คณะผู้ก่อการ รศ. 130

 

เหตุการณ์ผ่านมาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างที่ผมได้เกริ่นไว้ว่ามีอีกเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “กบฏร.ศ. 130” ถ้าคิดเป็นพุทธศักราชก็คือสมัยรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2453 พอปี 2454- 2455 ก็เกิดการกบฏ กลุ่มนี้เป็นข้าราชการทหารอายุน้อยมากๆ ราวๆ 20 บวกลบ ผมเข้าใจว่ากรณีของหมอเหล็ง ตอนนั้นท่านน่าจะราว 30 ต้นๆ และคนที่อยู่ในทีมของท่าน ประมาณเกือบร้อยคนก็อายุประมาณ 20 ต้นๆ

 

ภาพ: ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หรือ หมอเหล็ง ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์
ภาพ: ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หรือ หมอเหล็ง
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์

 

ตอนนั้นให้เราจะดูประวัติศาสตร์ในระดับสากล ไม่ใช่ว่ามีตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงแล้วในญี่ปุ่น แต่มันมีตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงแล้วในประเทศจีน คือมีการปฏิวัติ ‘ซุนยัดเซ็น’ โค่นล้มราชวงศ์ชิงของพระนางซูสีไทเฮา กระแสในขณะนั้น ถือได้ว่าคือระดับสากล ทั้งญี่ปุ่นซึ่งปฏิรูปไปแล้ว และจีนซึ่งกำลังเกิดการปฏิวัติส่งผลกระทบต่อประเทศสยามในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 อย่างมากๆ เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีกบฏร.ศ. 130 หรือที่เราอาจจะรู้จักกันในนามของ ‘กบฏหมอเหล็ง’ หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ซอยหมอเหล็งที่เรารู้จักกันดี และการก่อการครั้งนั้นไม่เกิดผลสำเร็จ หลายต่อหลายท่านโดนจับกุม โดนตัดสินโทษประหารชีวิต แล้วหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคของ “คณะราษฎร”

 

มายาคติที่ว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” ของคณะราษฎร

ผมไม่ได้มองว่าเป็นอย่างนั้น ประวัติศาสตร์มันมี 2 ด้าน และผมมองว่า คณะเจ้าใจเย็น ปรับตัวไม่ทัน อย่างที่เล่าให้ฟังว่าได้มีการเกิดขึ้นเรื่อยๆ ของการก่อการในอดีตเรื่อยมาจนถึงคณะราษฎร จึงเกิดการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เราไปมองด้านเดียว คือ ความใจร้อนของคณะราษฎร 

“การชิงสุกก่อนห่าม” ของคณะราษฎร ของคนแบบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ของคนแบบปรีดี พนมยงค์ ซึ่งผมว่ามองอีกด้านก็คือความใจเย็น คือการที่ “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” ผมมองอย่างนี้ จึงไม่ได้มองว่าชิงสุกก่อนห่าม ไม่ได้มองว่าใจร้อน อันนี้ต้องดูนะ ไม่งั้นเราจะมองประวัติศาสตร์การเมืองไทยบิดเบี้ยว ซึ่งนี่เป็นทัศนะของผมในแง่ของวิชาประวัติศาสตร์ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังไปข้างต้น ว่าความเป็นประชาธิปไตยค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้นมานานแล้ว

 

 

การเกิดขึ้นอีกครั้งของคณะราษฎร โบว์ขาว และ ประชาธิปไตย

การเกิดของคณะราษฎรรุ่นปัจจุบัน รุ่น Generation Z รุ่นเพนกวิน รุ่นของรุ้ง รุ่นของอานนท์ รุ่นของโตโต้ที่กำลังเกิดขึ้นมันเหมือนกับคนรุ่นเก่า อาจจะรุ่นประมาณ Baby Boomer ขึ้นไปมาถึงประมาณรุ่นผมซึ่งอายุประมาณ 80 เป็นรุ่นที่เขาเรียกว่า Builder 

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ รุ่น Generation Z หรืออาจจะเป็นรุ่นที่อาจารย์ นักวิชาการบางคนเรียกว่า “รุ่นโบว์ขาว” เพราะผูกโบว์สีขาว เขาคิด เขาฝันเป็นสิ่งที่คนอายุมากขึ้นไปไม่ค่อยเข้าใจ 

การไม่เข้าใจแล้วยังมีอำนาจ มีอิทธิพลทางการเมืองอยู่จึงทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่เราเห็น คนที่อยู่ในวุฒิสมาชิกคือคนที่ถูกคัดสรรมาแล้วว่า รับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวไม่ทัน แต่ เมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว ผมเชื่ออย่างนั้น ถึงแม้เราจะวัดไม่ได้ด้วยสถิติที่แน่นอน และในแง่ที่ผมศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง รับรองเลยว่ายังไงก็เปลี่ยน สิ่งซึ่งเป็นความฝันความบันดาลใจของคณะราษฎร 2475 สิ่งซึ่งเป็นความฝันความบันดาลใจของคณะกบฏ ร.ศ.130 ของคณะเจ้านาย ร.ศ. 103 ผมว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

 

ท่านปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข ที่ผมเคารพด้วยหัวใจ

ท่านปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศนานมากๆ ท่านไปอยู่เมืองจีน 21 ปี ในปี 1970 (2513) ท่านย้ายจากเมืองจีนไปอยู่ปารีส ถ้าใครที่ติดตามงานของผมก็คงจะเห็นว่าผมบังเอิญไปเที่ยวอยู่ที่ปารีสช่วงนั้น พอรู้ข่าวว่าท่านปรีดีมาถึงปารีสผมก็ทำเรื่องขอเสนอเข้าไปสัมภาษณ์ท่านเลยนะ 

ผมไปสัมภาษณ์ท่านในฐานะเป็นนักศึกษาที่ห้องพักแถวมงต์ปาร์นาส ท่านยังไม่ได้ย้ายไปอยู่อองโตนี ท่านปรีดีกรุณาต้อนรับอย่างดี ประทับใจผมมาก (ยิ้ม) จำได้ว่าท่านผู้หญิงพูนศุขทําข้าวคลุกกะปิให้กิน ดีใจมากได้กินข้าวคลุกกะปิที่ปารีส (หัวเราะ) มันจะจำอยู่ในหัวเรา อยู่ในความทรงจำ 

วันนั้นก็ได้สัมภาษณ์ค่อนข้างยาว ผมเขียนเอาไว้และตีพิมพ์หลายครั้ง ได้พูดกับท่านหลายเรื่องที่เกี่ยวกับกรณี 2475 รวมทั้งกรณี 2489 กรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 

สัมภาษณ์ท่านปรีดีที่ปารีส แล้วสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายท่านผู้หญิงพูนศุข ผมก็ถามตรงๆ เลยเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ท่านผู้หญิงบอกว่าคำอธิบายที่ดีที่สุดคือเกิดอุบัติเหตุ ผมพยายามซักต่อ แต่ท่านผู้หญิงบอกว่า ก็จบแล้วล่ะไม่ต้องถามต่อ แปลว่าผมต้องไปคิดเอาเอง

 

ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร และ ความทรงจำที่ถูกตั้งใจทำให้เลือนหายไป

ความทรงจำแรกเกี่ยวกับคณะราษฎร เคยจำได้ว่าเราเรียกว่า “คณะราษ” แล้วตอนหลังมีคนบอกว่า ไม่ใช่ เขาเรียกว่า “คณะราษฎร” อันนี้เป็นความทรงจำ ผมเริ่มสนใจคณะราษฎรเมื่อตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์ บังเอิญไปอ่าน “บันทึกความทรงจำของพระยาทรงสุรเดช” เรื่องการปฏิวัติปี 2475 ท่านเขียนเมื่อท่านเกิดความขัดแย้งกับคณะราษฎรของท่านเอง แล้วท่านต้องลี้ภัยการเมืองไปในอินโดจีนของฝรั่งเศส 

ผมคิดว่าท่านลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่เวียดนาม แล้วมาอยู่พนมเปญ ค่อยเขียนบันทึกความทรงจำ ผมกับเพื่อนได้รับบทความจึงเอามาตีพิมพ์ในชื่อของ “บันทึกพระยาทรงสุรเดช” 

สิ่งนี้คงสะกิดใจเราว่ามันเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เราไม่รู้จักมาก่อน เราถูกสะกิดใจด้วยพระยาทรงสุรเดช ก่อนที่จะถูกสะกิดใจด้วยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เพราะฉะนั้นผมจะบอกว่าหนังสือหนังหาสำคัญมากนะ เหมือนอย่างที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี พูดว่า นายไม่อ่านหนังสือ นายจะไปรู้อะไร

ส่วนอีกเรื่องที่อยากจะพูดถึงคือ “มรดกคณะราษฎร” ผมว่านี่เป็นทฤษฎีมูมเมอแรงเห็นๆ เลยนะ ยิ่งไปลบเลือนมากเท่าไหร่ ผู้คนก็ยิ่งพากันไปค้นหาเท่านั้น อย่าง “หมุดคณะราษฎร” เขาอยู่ของเขานิ่งๆ อย่างนั้นมาตั้งนาน บางคนไม่รู้จักด้วยซ้ำ ว่ากลมๆ นี่คืออะไร พอไปถอนออกมาเท่านั้น “หมุดคณะราษฎร” ผุดขึ้นใหม่เต็มบ้านเต็มเมือง 

สถานที่ต่างๆ หรือ หนังสือต้องห้ามหลายๆ เล่ม พอไปห้ามเข้าเท่านั้น กลับกลายเป็นที่สนใจ ซื้อหากันยากก็ทำเป็น PDF โหลดแจกออนไลน์ ทีนี้ควบคุมไม่ได้ อย่างที่ผมบอก โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สังคมในยุคนี้ก้าวไปไวกว่าที่ผมคิดไว้มาก พวกหัวเก่า ซากทัศนะเก่าๆ เขายังคงคิดว่าจะใช้วิธีเก่าๆ หล่อหลอมเด็กรุ่นนี้ให้เป็นไปตามที่เขาวางไว้เหมือนคนยุคผม เหมือนอย่างที่เป็นมา ผมบอกไว้เลย ว่าทำแบบนั้นไม่ได้อีกต่อแล้ว